ป้ายข้อความบนเวที ‘ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112’ คือใจความสำคัญของกิจกรรมการชุมนุมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่ผู้ชุมนุมบนท้องถนนพยายามส่งสารไปถึงคนเบื้องบน
เวลาย่ำค่ำ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ขึ้นอ่านแถลงการณ์ เนื้อความจากบรรทัดแรกถึงบรรทัดสุดท้าย มีดังนี้
แถลงการณ์คณะราษฎรยกเลิก 112
เรื่อง ปล่อยนักโทษการเมือง – ยกเลิก ม.112
ตั้งแต่ปี 2563 คณะราษฎรได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ 1. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพต้องลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นฉบับของประชาชน 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยทั้งสามข้อนี้ คือข้อเรียกร้องที่จะนำไปสู่หลักการประชาธิปไตยที่ว่า ‘อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ เพราะเมื่อได้ชื่อว่ามนุษย์ ย่อมไม่มีใครอยู่เหนือกว่าใคร หากแต่ทุกคนคือประชาชนผู้เสมอภาคและเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน
ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ประการ ที่ถูกเสนอเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นข้อเสนอด้วยความห่วงใยเพื่อมุ่งหวังที่จะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองจากระดับฐานราก เป็นการตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมเชิดชูตัวบุคคล โดยความมุ่งหวังที่จะให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสากลอารยประเทศ และสามารถถูกตรวจสอบได้อย่างสุจริตและโดยชอบด้วยกฎหมายในฐานะหนึ่งในสถาบันหลักที่สำคัญของชาติ
ปัจจุบันมีปัญหาทางการเมืองหลายประการที่ต้องถูกกล่าวถึง โดยการวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่าราษฎรนั้น ก็เพื่อให้ปัญหาทั้งหลายได้ดำเนินไปสู่การแก้ไข แต่บรรดาผู้เรียกร้องทางการเมืองมากมายที่ออกมากระทำการดังกล่าว กลับถูกกฏหมายอาญามาตรา 112 จับกุมคุมขังและดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทนายความ ศิลปิน นักการเมือง พยาบาล แม่ค้าและราษฎรอีกมากมายนับไม่สิ้น เพียงเพราะแค่พวกเขาเหล่านั้นมุ่งหวังถึงอนาคตที่ดีกว่า
ปัญหาทางการเมืองที่ถูกหมักหมมเอาไว้หลายทศวรรษ บัดนี้ ได้เริ่มเป็นปัญหาที่มากขึ้น จนไม่สามารถปิดบังไว้ได้อีกต่อไป ณ เวลานี้ มีราษฎรที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งในทางจำนวนมากถึง 159 คดี และจำนวนคดีต่อคนคือ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ถึง 21 คดีและยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
ทำให้เห็นได้ว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่อนารยะล้าหลัง เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นการทำลายการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาอำนาจการปกครองของเหล่าอภิสิทธิ์ชนและอำนาจนอกระบบที่ครอบงำการเมืองไทยมาแสนยาวนาน และเป็นปราการด่านแรกที่ใหญ่และสำคัญอย่างยิ่งที่ราษฎรทุกหมู่เหล่าจำเป็นต้องร่วมแรงร่วมใจกันเดินหน้ายกเลิกกฎหมายนี้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า
พวกเราคณะราษฎรยกเลิก 112 จึงขอเรียกร้องต่อคณะตุลาการผู้ผดุงซึ่ง สิทธิ เสรีภาพและความยุติธรรมของราษฎรทั้งหลาย และต่อรัฐสภาที่ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชน ดังต่อไปนี้
- ให้สิทธิในการประกันตัว และปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคนออกมาจากเรือนจำ
- แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112
ณ เวลานี้เป็นเวลาที่สมควรแล้ว พวกเราคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) จะเริ่มทำการผนึกกำลังของราษฎร ทุกสาขาทุกอาชีพ ทุกกลุ่มองค์กรและบุคคลต่างๆ พวกเราจะทำการต่อสู้ด้วยด้วยแรงใจ แรงกาย ในการรวบรวมราษฎรเพื่อเรียกร้องเข้าชื่อเสนอกฎหมายและการประกันตัวของนักต่อสู้ทางการเมือง เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
“ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”
คณะราษฎรยกเลิก112 (ครย.112)
31 ตุลาคม 2564
สิ้นสุดคำแถลงการณ์ รุ้ง-ปนัสยา กรีดเลือดประทับรอยตัวเลข 112 เพื่อบอกให้รู้ว่า ราษฎรจะไม่ยอมทนทุกข์กับความอยุติธรรมอีกต่อไป
ไม่ว่าเสียงของพวกเขาจะถูกกลบด้วยเสียงปืนและแก๊สน้ำตา
ไม่ว่าป้ายข้อความเหล่านี้จะถูกฉีกทิ้งจนไม่เหลือชิ้นดี
พวกเขาจะยังคงกู่ร้องต่อไป จนกว่าวันนั้นจะมาถึง