ครบรอบ 2 ปี ‘WEVO’ การ์ดอาสาด่านหน้า ผู้พิทักษ์ความหวังแห่งมวลชน

ไม่ว่าคุณจะมีความคิดเห็นทางการเมืองเช่นไร คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงระยะเวลาร่วม 3 ปี ที่ผ่านมา การชุมนุมทางการเมืองนับเป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยสำคัญของยุคสมัย การแสดงออกและข้อเรียกร้องของประชาชนกลายเป็นแรงกระเพื่อมระลอกใหญ่ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ดังที่กล่าวไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะมีความคิดเห็นทางการเมืองเช่นไร การชุมนุมโดยยึดหลักสันติยังคงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

ในการชุมนุมทางการเมืองแต่ละครั้ง จะพบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่คอยทำงานอยู่เบื้องหลังตั้งแต่ก่อนม็อบจะเริ่ม จนถึงการเคลื่อนขบวน กระทั่งยุติการชุมนุมและผู้คนทยอยกลับ บุคคลเหล่านี้จะคอยดูแลความปลอดภัย เจรจา ประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คลับคล้ายว่าพวกเขานำความหวังที่พกติดตัวมาเป็นพลังในการทำงานเพื่อมวลชน เราเรียกพวกเขาว่า ‘การ์ดอาสา’ กระนั้นท่ามกลางสถานการณ์ความหลายหลากทางความคิด อาจทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้ง โดยเฉพาะในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ

วันที่ 13-14 สิงหาคม 2565 กลุ่ม We Volunteer หรือที่เรียกกันว่า ‘WEVO’ จัดกิจกรรมครบรอบ 2 ปี ณ The Jam Factory เขตคลองสาน ภายในงานมีการออกร้านของสมาชิกในกลุ่ม การแสดงผลงานศิลปะ ดนตรี เวทีเสวนา และการจัดแสดงอุปกรณ์ของการ์ดอาสาที่ผ่านการใช้งานจริง รวมถึงของฝากจากเจ้าหน้าที่รัฐ จำพวกปลอกกระสุน กระบอกแก๊สน้ำตา

ตามรายงานข่าวการชุมนุม เราอาจมักคุ้นกับเสียงของผู้ร่วมชุมนุมหรือคำปราศรัยของแกนนำ ในขณะที่การ์ดอาสายังคงทำหน้าที่อยู่รอบบริเวณ และมักจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้เห็นต่าง นั่นอาจทำให้พื้นที่ในการส่งเสียงของพวกเขามีไม่มาก การได้นั่งลงพูดคุยไถ่ถามถึงความคิดเห็นในมุมมองของตัวบุคคล ทั้งในฐานะการ์ดอาสา และในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จึงเป็นอีกมุมมองที่สมควรได้รับการส่งต่อ

แดดบ่ายวันอาทิตย์อาจไม่แรงนัก แต่บรรยากาศทางการเมืองยังคงอบอ้าว เรานัดพูดคุยกับ ‘เก้า’ หญิงสาวผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม We Volunteer เราเลือกนั่งใต้ร่มเงาไม้ มีโกโก้เย็นหวานๆ ขมๆ เป็นเครื่องเคียงบทสนทนา

ช่วยเล่าเรื่องของคุณให้ฟังหน่อย เป็นใคร ทำอะไรอยู่

เก้าเป็นช่างสัก รับงานวาดภาพฟรีแลนซ์ด้วย และเป็นการ์ด WEVO เข้ามาทำหน้าที่นี้ได้ประมาณ 1 ปีกว่าแล้ว

ก่อนมาเป็นการ์ดอาสา มีความสนใจปัญหาการเมืองอย่างไรบ้าง

เก้าสนใจทั้งประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ ปากท้อง และยิ่งมีกรณีอุ้มหาย หรือการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 พอไปศึกษาข้อมูลก็รู้สึกว่ามันไม่โอเคมากๆ ก่อนหน้านั้นเก้าก็เจอกับตัวเองด้วย โดนกดทับมาตลอด เก้าเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยที่อาจารย์เป็นสลิ่มค่อนข้างเยอะ เก้าแทบไม่ได้เขียนงานเกี่ยวกับการเมืองเลย ช่วงนั้นม็อบมาพอดี และเก้าสนใจเรื่องนี้ แต่พอสเก็ตซ์ออกมาแล้วนำไปเสนออาจารย์ก็หาว่านั่งเทียนเขียน แล้วให้เปลี่ยนเป็นหัวข้ออื่น ทั้งที่ศิลปะมันควรจะอิสระมากกว่านี้ เก้าเลยคิดว่า โอเค ลาออก แล้วก็มาทำม็อบเลย

มีเหตุผลอื่นด้วยไหมที่ทำให้ตัดสินใจมาเป็นการ์ด

ที่เข้าร่วมชุมนุมเพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ อยากทำประโยชน์ให้ขบวนการต่อสู้ไปต่อได้ ทุกวันนี้โครงสร้างของทุกสถาบัน เก้าคิดว่ามันกำลังเสื่อมโทรม ทั้งสถาบันครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย และทัศนคติของคนในสังคมเอง จริงที่ว่าการต่อสู้มีหลายรูปแบบ แต่การลงถนนก็เป็นอีกหนึ่งทางที่ควรทำ

รู้จักใครในกลุ่ม WEVO ก่อนที่จะเข้าไปเป็นการ์ดไหม

ไม่รู้จักเลย เก้าเห็นเขาเปิดรับ เลยลองสมัครเอง

การชุมนุมในช่วงระยะเวลาเกือบ 3 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากขึ้น ทั้งเรื่องปากท้อง เรื่องรัฐสวัสดิการ เรื่องสิทธิมนุษยชน กระทั่งเรื่องสถาบัน บางคนอาจมองว่าเปลี่ยนไม่เยอะ แต่อย่างน้อยก็ทำให้หลายคนฉุกคิด แม้ตอนนี้กฎหมายจะยังไม่เป็นธรรมและยิ่งทวีความเลวร้ายมากขึ้น เก้ามองว่าตราบใดที่สังคมและประเทศชาติยังเป็นแบบนี้ ก็คงต้องสู้กันต่อไปจนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน

คิดยังไงกับการที่มีคนพูดว่าม็อบแผ่วแล้ว คนน้อยแล้ว

มันอาจเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ อย่างบางคนเขาอยากมา แต่ไม่มีเงิน การจะทำอะไรมันมีค่าใช้จ่าย อย่างเก้าเองก็แห้งเหมือนกัน แต่เรามาทำตรงนี้ก็ต้องเอาใจลงไปเลย เพราะมันไม่ได้สิ่งตอบแทนเป็นตัวเงินอยู่แล้ว

การที่รัฐทำทุกวิถีทางในการจัดการผู้เห็นต่าง ทั้งการใช้ความรุนแรงและยัดเยียดข้อกล่าวหา ส่งผลให้คนออกมาน้อยลงด้วยหรือเปล่า

มีผลมาก ทั้งตำรวจและตุลาการ เก้าว่าไม่ปกติ อย่างตำรวจถ้าเขาทำตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น มันจะไม่เกิดการคุกคาม การตามถ่ายรูป บางคนโดนตามถึงบ้าน มันทำให้หลายคนรู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้หลายคนเฟดตัวออกไป ทั้งที่เราไม่ได้ไปทำร้ายใคร เราแค่ออกมาพูด ออกมาแสดงความคิดเห็น แต่เจ้าหน้าที่เยอะไปมาก

เคยเจอกับกลุ่มคนเห็นต่างไหม แล้วจัดการยังไง

อย่างถ้าเห็นอยู่ห่างๆ เราก็ต้องคอยดูสถานการณ์ คอยเตือนกัน พยายามกันคนไม่ให้เข้าใกล้ เพราะคนอยากปะทะมันมีอยู่แล้ว เราต้องหลีกเลี่ยง ลดความเสี่ยง เพราะการยั่วยุมันมีตลอด เราไม่รู้ว่าฝ่ายโน้นเขามีอะไรหรือเปล่า เก้าว่าบางทีมันอาจมีความพยายามให้เกิดการปะทะ พยายามให้ม็อบดูไม่ดี

เคยได้ยินว่า ถ้าไม่มีตำรวจมายุ่งก็คงไม่มีความรุนแรง เป็นเรื่องจริงไหม และทำไมถึงเป็นแบบนั้น

ตำรวจกับผู้ชุมนุมเปรียบเหมือนแม่เหล็กต่างขั้ว เพราะเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในพื้นที่ชุมนุม เขาไม่ได้เข้ามาอำนวยความสะดวกหรือดูแลความปลอดภัยในรูปแบบปกติ อย่างที่บอกมันมีการคุกคาม ถ่ายรูปเจาะจงผู้ชุมนุม ยั่วให้โมโห ยั่วให้โกรธ บางทีตั้งแนวอยู่ตรงข้ามกัน แล้วเขาก็ตะโกน “มึงมาดิไอ้สัตว์” พอคนฝั่งเราได้ยินก็ไม่พอใจ

เหตุการณ์รุนแรงที่เคยเจอหนักที่สุดคืออะไร

มีหลายเคสอยู่นะ ยกตัวอย่างหน้าบริษัทบุญรอด มีป้าคนหนึ่งขายก๋วยจั๊บ เก้ากำลังช่วยแกเก็บร้าน แต่พอดีเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม ทั้งยิงแก๊สน้ำตา ยิงน้ำจากรถจีโน่ แป๊บเดียว หันมาดูอีกทีร้านแกพังไปแล้ว แต่เก้าก็ช่วยแกเก็บร้านต่อ แล้วจู่ๆ กระสุนยางก็ถูกยิงออกมาจากรั้วแถวนั้น ไปโดนขาอีกคนที่ยืนข้างกันเลย ระยะที่เก้าอยู่มั่นใจว่ามันไม่ได้ใกล้แนวปะทะ อาจจะรุนแรงไม่มาก แต่รับรู้ได้ทันทีว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปรานีผู้ชุมนุม สักแต่ว่ายิงไป อีกเคสคือลูกนัท (ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย) เก้าเป็นคนประคองพี่ผู้หญิงที่มากับลูกนัท วันนั้นเลือดเต็มไปหมด เจ้าหน้าที่ขึ้นไปยิงจากบนสะพาน ซึ่งมันใช่เหรอ

เวลาออกไปทำหน้าที่การ์ด เซฟตัวเองยังไงบ้าง

เอาจริงๆ เราไม่รู้หรอกว่าเจ้าหน้าที่จะจัดสรรอะไรมาให้เราบ้าง แต่ถ้างานไหนคิดว่าน่าจะรุนแรง หมวกกันน็อกลืมได้ แต่หน้ากากกันแก๊สห้ามลืมเด็ดขาด เช็คเส้นทางเข้า-ออกให้เรียบร้อย และพยายามเช็กข่าวอยู่เสมอ เพื่อนๆ ในขบวนพร้อมช่วยกันส่งข่าวอยู่แล้ว ดูได้จากการรีทวิต

อะไรคือความยากหรือปัญหาที่พบเจอในระหว่างปฏิบัติหน้าที่

บางทีอาจมีการกระทบกระทั่งกับผู้ใช้ถนนบ้าง แต่ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ พ่อๆ แม่ๆ บางคนก็เข้าใจ แต่บางคนก็ขับรถบีบแตรด่า จะพุ่งมาชนก็มี อีกอย่างคือการควบคุมภาพรวม คือคนที่เขามาก็มีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีเรื่องที่อยากจะพูด เรื่องที่อยากแสดงออก เราต้องคอยเดินดูตลอด หรือถ้ามีตำรวจเริ่มตั้งแถวกดดัน แล้วน้องๆ ฝั่งเราจะปาของ เราก็จะบอกให้ใจเย็น ใจเย็นก่อนน้อง ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็จะฟัง

กลุ่ม WEVO มีท่อน้ำเลี้ยงหรือมีผู้สนับสนุนไหม แล้วค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งมาจากไหน

ถ้าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางทีเราก็ออกเงินกันเอง แต่หลักๆ มาจากพี่น้องประชาชนที่ช่วยซัพพอร์ต อีกส่วนก็มาจากการขายสินค้าที่ WEVO ผลิตขึ้นมา เช่น เสื้อ น้ำปลาร้า กุ้งเผา มาซื้อกันได้เลยจ้า

คิดว่าตอนนี้ขบวนการชุมนุมยังแข็งแรงหรือมีเอกภาพมากพอไหม ถ้าการต่อสู้ยังต้องเดินทางต่อในระยะยาว

ถ้าใครมองว่าไม่แข็งแรง เก้าคิดว่าอยากให้มองตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นใหม่เลย จริงอยู่ว่าอาจจะมีคนหลายกลุ่มที่เรียกร้องในประเด็นและวิธีที่เขาถนัด แต่เก้ามองว่ามันยังไปต่อได้ มันอาจจะมีจังหวะหนัก จังหวะแผ่ว แต่จะไม่หายไป

ความมุ่งหวังในอนาคต

อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง มีความหวังว่ามันจะดีขึ้น ชีวิตทุกคนจะดีขึ้น อะไรต่างๆ นานาที่คนควรได้รับมันจะดีขึ้น อยากเห็นประชาธิปไตยที่เป็นของจริง อยากเห็นการใช้กฎหมายที่เป็นธรรม ซึ่งมันอาจจะนาน แต่เราก็ต้องค่อยๆ ช่วยกัน

แล้วความมุ่งหวังที่ว่ายังเข้มข้นอยู่ไหม

เก้าว่าเก้าเข้มข้นนะ อย่างเวลาดูข่าวสารเห็นคนลำบาก คนนั้นจน คนนี้ผูกคอตาย เด็กไปออกรายการร้องเพลงเพราะติดหนี้ มองแค่นี้ก็รู้ว่าสังคมมันมีปัญหา ทำไมเราไม่ได้เรียนฟรี ทำไมเราต้องร้องเพลงปลดหนี้ ทำไมพ่อแม่แก่แล้วไม่ได้รับสวัสดิการ ทำไมคนที่ยังไม่ถูกศาลตัดสินต้องถูกขัง

คิดเห็นอย่างไรต่อความขัดแย้งทางความคิดในฟากประชาธิปไตยด้วยกันเอง

ถ้าเราอยู่รวมกัน เราต้องคุยกัน ถกกันเรื่องแนวทาง ปรับให้มันสมดุลที่สุด ใดๆ คือต้องคุยกัน ขบวนประชาธิปไตยต้องคุยกันได้

มีเรื่องอะไรอีกบ้างที่อยากฝาก อยากสื่อสารกับสังคม

อยากให้ทุกคนออกมาช่วยกัน อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องอ้าปากพูด ถ้าเราไม่พูด เราก็จะไม่ได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับ ไม่ได้เห็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่ควรจะเป็น เราจะไม่ได้รับหรือเห็นสิ่งเหล่านั้นอีกเลย เลิกหวังกับแกนนำ เลิกโยนให้เป็นหน้าที่ของคนเก่าที่กล้าออกมาพูด เพราะแทนที่จะฝากความหวังไว้กับคนอื่น ลุกขึ้นมาทำด้วยตัวเองจะดีกว่า ช่วยกันเพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม เพื่อเพื่อนพี่น้อง ท้ายที่สุดปลายทางทุกคนก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน แล้วทำไมเราถึงต้องมาหวังพึ่งคนคนเดียวหรือกลุ่มเดียว แทนที่จะออกมาช่วยกันตอนนี้เลย

จะทำหน้าที่นี้ไปอีกนานแค่ไหน

จนกว่าจะชนะเลย

ถ้าอีก 10-20 ปี ยังไม่ชนะ?

ถ้ายังมีแรงก็จะทำต่อไปเรื่อยๆ ถ้าจะให้ทิ้ง มันทิ้งได้เหรอ เราก็ทิ้งไม่ได้แล้วพี่ เรามีความรู้สึกร่วมไปแล้ว อย่างถ้ามีม็อบ เราก็จะรู้แล้วว่ามีใครไปบ้าง อย่างป้าๆ หรือน้าอาเล็ก (อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ – ศิลปินราษฎร) ถ้าวันไหนได้เห็นข่าวความรุนแรง แล้วเราไปไม่ทันจะทำยังไง หนูคงไม่รอให้เหตุเกิดขึ้นก่อน ถ้าหนูป้องกันมันได้

จรณ์ ยวนเจริญ
มนุษย์ขี้กลัว ผู้ที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตอีกครั้ง ทาสหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า