ราษฎรปูพรมแดง เปลี่ยนสีลมเป็นถนนศิลปะแห่งประชาธิปไตย

#ม็อบ29ตุลา

ความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมกลุ่ม ‘ราษฎร 2563’ เริ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ได้เดินขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนีเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ตรวจสอบการใช้พระราชอำนาจเหนือดินแดนเยอรมนี ก่อนจะแยกย้ายสลายตัวด้วยการเปล่งข้อความ “กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” เป็นการทิ้งท้าย

ศาลออกหมายเรียก 5 แกนนำหน้าสถานทูตเยอรมนี

หลังหยุดพักการชุมนุมตลอดช่วง 2 วันที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ยังไม่มีเสียงตอบรับจากรัฐบาล อีกทั้งการประชุมสภาสมัยวิสามัญเมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคม ยังไม่สามารถหาทางแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองได้ ขณะที่แกนนำนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว 

ล่าสุดศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุมัติการออกหมายเรียก 5 แกนนำที่จัดการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ในคดียุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ประกอบด้วย 1) ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ ‘มายด์’ อายุ 25 ปี 2) กรกช แสงเย็นพันธ์ อายุ 28 ปี 3) ชนินทร์ วงษ์ศรี อายุ 20 ปี 4) ชลธิศ โชติสวัสดิ์ อายุ 21 ปี และ 5) เบนจา อะปัญ อายุ 21 ปี

ม็อบ 29 ตุลา ชุมนุม 3 จุดใหญ่

29 ตุลาคม 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมนัดหมายรวมตัวกันที่บริเวณถนนสีลม อันเป็นใจกลางย่านเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งของกรุงเทพฯ พร้อมนัดเดินขบวนจากวัดแขกยาวไปตลอดถนนสีลม นอกจากนี้ยังมีสถานที่นัดชุมนุมอีก 2 จุดหลัก ได้แก่ สกายวอล์คปทุมวัน และสถานีโทรทัศน์เนชั่น ย่านบางนา โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า ‘ปาร์ตี้หน้าเนชั่น’

  • เนชั่น บางนา

16.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางมาถึงบริเวณอาคารเนชั่น ทาวเวอร์ พร้อมด้วยรถขยายเสียงและมีการตั้งเต็นท์ปฐมพยาบาล ส่วนบริเวณหน้าอาคารมีการวางรั้วเหล็กเป็นแนวกั้น โดยติดป้ายข้อความว่า “พื้นที่ส่วนบุคคล ห้ามบุกรุก” และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังคุ้มกัน 

ต่อมา ผู้ชุมนุมได้ย้ายสถานที่จากบริเวณหน้าอาคารเนชั่น ไปยังบริเวณถนนบางนา-ตราดขาออก ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม จากนั้นผู้ชุมนุมที่ประกอบไปด้วยนักเรียน นักศึกษา อาชีวะ แรงงาน และประชาชนทั่วไป ได้เปิดปราศรัยโจมตีสำนักข่าวเนชั่น ในฐานะเป็นกระบอกเสียงของระบอบเผด็จการ และขอให้หยุดการเผยแพร่ข่าวสารที่บิดเบือน

18.30 น. ‘ตั้ง อาชีวะ’ หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 โฟนอินเข้ามาร่วมพูดคุยกับผู้ชุมนุมและให้กำลังใจการต่อสู้ของคณะราษฎร 2563

ทั้งนี้ แกนนำได้ประกาศว่าจะยุติการชุมนุมในเวลา 20.00 น.

  • สกายวอล์คปทุมวัน

กลุ่มนักศึกษาในนาม ‘คณะจุฬาฯ’ จัดชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์คปทุมวัน โดยเน้นจุดยืนต่อต้านการใช้ความรุนแรงและการใช้กำลังสลายการชุมนุม 

นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งฉบับ รวมถึงให้ปล่อยตัวแกนนำและประชาชนที่ถูกจับกุมตัวไปก่อนหน้านี้

  • สีลม 

16.30 น. ที่บริเวณถนนสีลม ผู้ชุมนุมทยอยเดินทางมาถึงพื้นที่ เช่นเดียวกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้ารถเข็น หรือที่ถูกเรียกขานว่าหน่วยสืบราชการลับ (CIA) ได้เข้ามาจับจองพื้นที่ค้าขายล่วงหน้าก่อนแล้ว บรรยากาศในภาพรวมมีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะแนว street art ตลอดเส้นทาง รวมทั้งการแสดงดนตรีสด ทั้งโฟล์คซอง เฮฟวี่เมทัล ลูกทุ่ง และการเต้นเพลงทูบีนัมเบอร์วัน

17.00 น. มวลชนเริ่มรวมตัวกันหนาแน่นบนถนนสีลม บริเวณหน้าวัดแขก มีการขึงป้ายไวนิลรูป รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขนาดใหญ่ ในลักษณะเหมือน pop icon ของยุคสมัย พร้อมกับมีป้ายไวนิลขนาดใหญ่เขียนว่า “กระทรวงพาณิชย์ใช้งบ 13 ล้าน หนุนกิจการ SIRIVANNAVARI”

17.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำเอกสารแจ้งเตือนผู้ชุมนุมว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการรุกล้ำพื้นผิวจราจรและมิได้แจ้งล่วงหน้า ขอให้ทุกคนแยกย้ายภายใน 19.00 น. ทำให้ฝูงชนตะโกนแสดงความไม่พอใจ แต่ไม่มีเหตุรุนแรงหรือการปะทะ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงกลับไป

18.00 น. มวลชนคณะราษฎร 2563 ปูพรมแดงบนพื้นถนน จัดกิจกรรมเดินแฟชั่นโชว์ในคอนเซ็ปท์ ‘ใครๆ ก็สามารถเดินบนพรมแดงได้’ โดยมีซาวด์ประกอบคือเพลงมาร์ชราชวัลลภ เวอร์ชันรีมิกซ์ เรียกเสียงฮือฮาของมวลชนได้เป็นอย่างดี

ทางด้าน ‘อั๋ว’ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า

“เราเลือกจัดชุมนุมกันที่นี่ เพราะใกล้กับสถานที่จัดแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ SIRIVANNAVARI ในงานเรามีการนำเสนอให้ความรู้เรื่องตัวเลขงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์นั้นเพิ่มขึ้นทุกปี มีซุ้มเฉลิมพระเกียรติมากมาย ทั้งที่ขณะนั้นกษัตริย์ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย พระองค์ได้ซื้อวิลล่าหรูไว้ที่เยอรมัน เพื่อพักผ่อนหลังจากทรงงานหนักทั้งวันทั้งคืน ทั้งหมดนี้ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเงินนั้นไม่ใช่เงินจากภาษีประชาชน”

กิจกรรม street art และการแสดงแฟชั่นโชว์บนถนนสีลมสิ้นสุดลง นับเป็นอีกครั้งที่การชุมนุมของราษฎร 2563 ยุติลงอย่างสงบโดยไม่เกิดเหตุรุนแรง ขณะที่มวลชนเตรียมรอสัญญาณนัดหมายการชุมนุมในวันถัดไปจนกว่าชัยชนะของประชาชนจะมาถึง

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า