9 มีนาคม 2564 ราว 16.00 น. มวลชนราษฎรสวมชุดดำ รวมตัวกันประมาณ 200-300 คน นำโบว์สีดำ-สีขาว ผูกรั้วศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เขียนความคิดเห็นที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมบนแผ่นกระดาษ ติดริมรั้วศาลเป็นทางยาวกว่า 50 เมตร และนำพวงหรีดที่มีข้อความว่า ‘ความยุติธรรม’ มาวางหน้าประตูศาล ภายในอาคารมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนยืนตั้งแถวรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา
บรรยากาศหน้าศาลอาญา ประชาชนสวมชุดดำนำโบว์สีดำ-สีขาว ผูกกับรั้ว เขียนความคิดเห็นที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมบนกระดาษแปะบนรั้วเป็นทางยาวกว่า 50 เมตร และนำพวงหรีดมีข้อความว่า ‘ความยุติธรรม’ มาวางหน้าประตูศาล รวมถึงช่อดอกไม้สีขาวที่เป็นสัญลักษณ์ของการไว้อาลัย เบื้องหลังพวงหรีดและช่อดอกไม้ภายในประตูทางเข้าศาลอาญาที่ปิดสนิท มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน และตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวน 1 กองร้อย มาประจำการ
เบญจา อะปัญ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และแนวร่วมกลุ่มราษฎร ได้อ่านแถลงการณ์ของ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่เขียนขึ้นก่อนที่จะถูกควบคุมตัวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง ขณะที่ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำธนบุรี ขณะที่ โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ หัวหน้ากลุ่มการ์ด WEVO ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ก็ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำธนบุรีเช่นกัน
หลังจากนั้น เบญจา ได้อ่านบทกวีที่ชื่อ ‘บทกวีถึงมหาตุลาการ’ ของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนผู้ตกเป็นผู้ต้องหาคดี 112 และไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเช่นกัน หลังวรรคสุดท้ายของบทกวีสิ้นสุดลง ประชาชนพร้อมใจกันเปล่งวรรคสุดท้ายราวไม่จบสิ้น
เถิด ‘ตุลาการ’ จงคิด อย่างอิสระ
รับภาระ อันหนักหนา ทำหน้าที่
หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี
ตุลาการ เช่นนี้ อย่ามีเลย!
การชุมนุมในวันนี้มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยในคดีอาญาที่ศาลยังไม่พิพากษาว่ามีความผิด
เหตุการณ์ชุมนุมครั้งนี้ก่อตัวขึ้นภายหลังจากเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 อัยการสั่งฟ้องดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มราษฎร ได้แก่ รุ้ง-ปนัสยา, ไผ่-จตุภัทร์ และ ไมค์-ภาณุพงศ์ จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จึงนัดรวมตัวหน้าศาลอาญา เพื่อแสดงความอาลัยแด่กระบวนการยุติธรรม โดยมวลชนพร้อมใจกันแต่งชุดดำเพื่อทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศเตือนผ่านเครื่องขยายเสียง ขอให้ประชาชนอย่าละเมิดอำนาจศาล รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ประชาชนยังคงปักหลักทำกิจกรรมต่อไป โดยแกนนำยืนยันว่าการชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้กรอบสิทธิเสรีภาพ และเป็นการชุมนุมอย่างสันติ
การที่ศาลปฏิเสธการให้ประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มราษฎร สร้างความผิดหวังให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ขัดแย้งกับก่อนหน้านี้ที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวแกนนำ กปปส. 8 ราย ด้วยเหตุผลที่ยากจะเทียบเคียงด้วยมาตรฐานเดียวกันได้
นับจากนี้ไป กระบวนการยุติธรรมและสถาบันศาลจะถูกตั้งคำถามจากประชาชนไม่สิ้นสุด และการเคลื่อนไหวของมวลชนจะยิ่งโหมกระพือ ตราบใดที่เสาหลักของระบอบประชาธิปไตยยังไม่อาจผดุงไว้ซึ่งหลักการได้
กิจกรรมสิ้นสุดโดยการจุดเทียนไว้อาลัยแด่ศาล ในเวลา 18.00 น. แกนนำประกาศยุติการชุมนุม ประชาชนเปล่งเสียงตะโกนพร้อมกันดังกึกก้อง – ‘ปล่อยเพื่อนเรา’
เปลวเทียนบางดวงต้องลมจวนดับ แต่มีบางมือมาป้องไว้เสียก่อน