‘MODERN ROMANCE: ถอดรหัสรักออนไลน์’ สุดท้ายความรักก็เป็นเรื่องของคนสองคน

เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์

MODERN ROMANCE  #ถอดรหัสรักออนไลน์ / อาซีส อันซารี เขียน / สุนันทา วรรณสิทธิ์ แปล / สำนักพิมพ์ openworlds

 

“ทำไมมนุษย์เราต้องลงทุนต่างๆ เพื่อตามหาคนที่ใช่อะไรขนาดนั้น?”

เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวหลังจากที่เราเริ่มอ่านหนังสือเรื่อง #ถอดรหัสรักออนไลน์ (ช่างเป็นชื่อที่แจ่มใสเสียจริงๆ)
MODERN ROMANCE #ถอดรหัสรักออนไลน์ เป็นหนังสือที่ถูกจัดหมวดอยู่ในความรักและจิตวิทยา แต่ผู้เขียนคือ อาซีส อันซารี (Aziz Ansari) เขาเป็นนักแสดงตลกเดี่ยวไมโครโฟนชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียและหนังสือเล่มนี้เป็นงานวิจัยของเขาร่วมกับ เอริค ไคลเนนเบิร์ก (Eric Klinenberg) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค

ถึงแม้จะเป็นงานวิจัยแต่เมื่อมันถูกถ่ายทอดโดยนักแสดงตลกเดี่ยวไมโครโฟน เราจึงสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้จบโดยใช้เวลาไม่นาน

อาซีสเป็นตัวแทนชายอเมริกันที่เล่าเรื่องราวความรักโดยนำงานวิจัยมาแสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง แต่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า หนังสือเล่มนี้มีแนวคิดแบบ American Dream สูงมาก คือ เราจะรักและแต่งงานกับแค่คนที่เราเลือกเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าคนที่เราเลือกจะต้องดีพอหรือพอดีตามแบบอุดมคติของเราด้วย

“ในงานวิจัยส่วนใหญ่ เราพูดคุยกับคนชนชั้นกลางที่เรียนจบมหาวิทยาลัยและยังไม่คิดมีลูกจนกว่าจะอายุ 20 ปลายๆ หรือ 30 กว่า และปัจจุบันมีความสนิทสนมแน่นแฟ้นกับสมาร์ทโฟนราคาแพงของพวกเขา”

อาซีสรู้ว่ารูปแบบความรักและความโรแมนติกแตกต่างกันมากระหว่างกลุ่มคนจนและคนรวย ซึ่งเรื่องราวความหลากหลายทางชนชั้นที่มากมายมหาศาล ทำให้เขาเลือกศึกษาและวิจัยเฉพาะคนกลุ่มข้างต้น

อย่างไรก็ตาม เรามองว่ามันเป็นจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้ ยิ่งไปกว่านั้นแล้วชนชั้นกลางเองยังแบ่งระดับได้อีกหลากหลาย อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ยังมีลักษณะการมองผ่านแว่นผู้ชายอเมริกัน (แบบคนเท่ๆ) แทบจะไม่มีการกล่าวถึง LGBT (กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ) หรือในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งหากต้องการกล่าวถึงเรื่องโรแมนติกให้ครอบคลุมอย่างแท้จริง ก็น่าจะขยายเรื่องราวความรักระหว่างชาย-ชายเพิ่มเติม ที่สมัยนี้เรียกว่า Bromance ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องราวความรักของชนชั้นสูงตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ

Until We’re Grey and Old

ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนการตามหา ‘คนที่ใช่’ ก็ช่างยากเย็นแสนเข็ญ สมัยก่อนการตามหาคนที่ใช่ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ประสบการณ์การหาคู่และเวลาของคนต่างรุ่น ก็สั้นยาวต่างกัน

สาวโสดชาวอเมริกันในยุค 1960 จำนวนมากที่อาซีสได้พูดคุย มักจะยังอาศัยอยู่กับครอบครัว ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด

“คุณไม่ได้แต่งงานกันเพราะตกหลุมรักอย่างหัวปักหัวปำ คุณแต่งงานเพราะสามารถสร้างครอบครัวด้วยกันได้ แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งบอกว่าตนแต่งงานเพราะความรัก แต่ขณะเดียวกันความกดดันให้แต่งงานและสร้างครอบครัวก็สูงเสียจนคู่สมรสทุกคู่ไม่สามารถแต่งงานกันด้วยความรักเสมอไป จึงเกิดการแต่งงานที่ดีพอขึ้นมาแทนที่”

ในต้นทศวรรษ 1960 ความรักกลายเป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อและเพ้อฝัน สาวอเมริกันโหยหาอิสระ ความเป็นผู้ใหญ่ และคาดหวังว่าการแต่งงานกับใครสักคนที่จะช่วยให้พวกเธอหลุดพ้นจากสิ่งที่ฉุดรั้งขาเอาไว้

ไม่ค่อยต่างจากบ้านเรา ความรักและความโรแมนติกในประเทศไทยยังไม่ได้ก้าวข้ามไปสู่ Modern Romance แม้กระบวนการและเครื่องมือในการค้นหารักแท้จะทันสมัยและหลากหลายขึ้นตามเวลา แต่สุดท้ายแล้วเราก็ยังหนีไม่พ้นค่านิยมดังกล่าว และแม้ว่าหนุ่มสาวชาวไทยจะมีช่วงเวลา Pre-adult ที่ยาวขึ้นในการค้นหาตัวเองและสั่งสมประสบการณ์ในการเลือกคนที่ใช่ แต่สุดท้ายขนบธรรมเนียมและค่านิยมของไทยก็ยังไม่หลุดพ้นจากค่านิยมดั้งเดิม

แน่นอนว่าคนเราแต่งงานเพราะรักกัน แต่ความรักไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะทำให้มีอนาคตมั่นคงได้ อาซีสเปรียบเทียบความรักกับน้ำ ความรักของคนรุ่นใหม่เหมือนกับน้ำเดือดที่เร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา และเราจะไม่สานสัมพันธ์ต่อถึงขั้นแต่งงานหากความสัมพันธ์นั้นไม่เร่าร้อน ตรงข้ามกับคนรุ่นเก่าที่ค่อยๆ สานสัมพันธ์กันเรื่อยๆ และค่อยๆ ปรับอุณหภูมิน้ำให้เป็นเร่าร้อนดุจน้ำเดือดหลังแต่งงาน

นอกจากนั้นแล้ว อาซีสมองว่าคนโสดปัจจุบันนั้นได้เปรียบกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นปู่รุ่นย่า เพราะตัวเลือกด้านความรักของคนรุ่นหลังเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตามคนรุ่นปู่ย่าของเราก็บอกว่าไม่ได้เสียใจเลยสักนิดที่พวกเขามีตัวเลือกน้อยกว่าเด็กสมัยนี้

“คุณไม่ได้คิดหรอกว่าคุณมีตัวเลือกใดบ้าง เมื่อคุณชอบใครสักคนไปแล้ว คุณก็จะกระโจนเข้าร่วมความสัมพันธ์ เราเห็นประตูที่ถูกใจและเปิดมันเข้าไป”

เปรียบเทียบกับสมัยนี้ การที่คุณท่องเฟซบุ๊ค ก็เหมือนคุณเดินอยู่ในห้องโถงขนาดใหญ่ที่มีประตูหลายร้อยบานรอให้คุณเปิด แล้วคุณจะเปิดบานเดียวหรือเปล่าล่ะ?

อาซีสอธิบายต่อว่าแม้เราจะมีประตูหลากหลายบานให้เลือกเปิดได้ตามใจชอบ แต่ท้ายสุดแล้วคุณก็จะเติบโตโดยมีวุฒิภาวะและเจอประตูที่เหมาะกับคุณเมื่อคุณพร้อม

Let Me Love You

เราอยู่ในยุคที่ใครต่อใครพูดกันนักหนาว่า โทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33

ความจริงข้อนี้มันดูจะจริงขึ้นทุกวันๆ ทุกอย่างที่เรากระทำเชิงกายภาพสอดคล้องกับโลกเสมือนจริงเข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ

“ตัวตนในโลกแห่งความจริงและตัวตนในโลกทางโทรศัพท์ของเราเดินคล้องแขนไปด้วยกัน ลองให้ตัวตนในโทรศัพท์ทำตัวโง่เง่าและส่งข้อความไร้ความคิดที่เต็มไปด้วยคำสะกดผิดดูสิ แล้วตัวตนในโลกแห่งความเป็นจริงของคุณจะต้องชดใช้กรรม”

อาซีสยกตัวอย่างจากการที่เขาได้ไปสัมภาษณ์ทั้งหญิงและชายชาวอเมริกัน ระหว่างที่พวกเขาและเธอกำลังคุยกันอย่างออกรสและสนุกสนานแต่เมื่ออีกฝ่ายพิมพ์คำว่า ‘งุงิ’ หรือ ‘คิกคิก’ หรือคำสะกดผิดบ่อยๆ ล่ะก็ ทุกอย่างมันจะเริ่มดิ่งเหว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในยุคที่ความรักมันช่างฉาบฉวย เรารู้จักกันอย่างผิวเผินเห็นทุกอย่างผ่านหน้าโปรไฟล์เฟซบุ๊ค รูปในอินสตาแกรม หรือการเขียนคำเกริ่นแนะนำตัวใน Tinder แค่นั้นเราก็ตัดสินใจแล้วว่าเราจะเข้าหา สานสัมพันธ์ หรือเพิกเฉย

อาซีสอ้างถึงงานของ อีไล ฟิงเคิล (Eli Finkel) และทีมของเธอซึ่งเป็นงานวิจัยจากปี 2012 ตีพิมพ์บทความในวารสารศาสตร์จิตวิทยาเพื่อความสนใจของสาธารณชน ซึ่งอธิบายว่า การหาคู่ออนไลน์นั้นมีพื้นฐานแนวคิดที่ผิด ที่ว่าข้อมูลบนหน้าโปรไฟล์จะช่วยให้สามารถตัดสินได้ว่าคนคนนั้นเหมาะสมที่จะเป็นคู่รักได้หรือไม่ แม้จะเป็นข้อมูลพื้นฐาน แต่เราก็ให้คุณค่ากับมันมากเกินไป ยิ่งไปกว่านั้นโปรไฟล์ดังกล่าวยังเป็นการลดทอนความเป็นสามถึงสี่มิติของมนุษย์ให้เหลือเพียงการแสดงหน้าจอสองมิติ ไม่ต่างอะไรกับการเลือกซื้อสินค้าโดยการอ่านฉลากแล้วตัดสินใจหยิบมันลงตะกร้า

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคนที่ลงทุนและลองทุกวิถีทางเพื่อตามหารักแท้ในอุดมคติที่สวยหรูผ่านโลกออนไลน์ หลายคนประสบความสำเร็จจนลงท้ายด้วยการแต่งงาน แต่อีกหลายคู่จบลงที่ต้องเลิกราจากปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมอย่างมากมายและซับซ้อน และอีกหลายคนจบลงด้วยการลบแอพพลิเคชั่นหาคู่มากมายนั้นทิ้ง เหลือไว้เพียงความเหนื่อยล้าจากการพยายามมากเกินไป

มนุษย์เราต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิตเสมอ เช่นกัน การเลือกใครสักคนมาเป็นคู่รักยิ่งยากกว่า ยังไม่ต้องไปไกลถึงขั้นว่า คนคนนั้นตรงกับสเป็คในฝันของตัวเองหรือไม่

อาซีสไม่แปลกใจว่าทำไมใครหลายคนถึงเหนื่อยล้ากับการตามหารักแท้บนโลกออนไลน์ มันไม่ได้ช่วยให้เราหาสิ่งที่ดีที่สุดแต่ช่วยสร้างมโนคติที่ว่า มีสิ่งที่ดีที่สุด ยิ่งมีตัวเลือกเข้ามามากมายแค่ไหน คุณก็ยิ่งคิดหนักมากขึ้นในการตกลงปลงใจกับใครสักคน เพราะไม่รู้ว่าจะมีคนที่ดีกว่านี้หรือเปล่า ความคิดแบบนี้เองที่วนเวียนไปเรื่อยๆ จนไม่จบสิ้น

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมเราถึงเหนื่อยล้ากันขนาดนี้

ข้อแนะนำจากอาซีสก็คือ เราไม่ควรจะหลงลืมว่าเบื้องหลังข้อความที่พวกเราโต้ตอบผ่านข้อความสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตก็คือมนุษย์ เราควรใช้เวลาอย่างมีค่าเพื่อทำความรู้จักกับใครสักคนจริงๆ แทนที่จะใช้เวลาหลายชั่วโมงในการมองหาคนที่ใช่ผ่านการกวาดสายตาดูรูปและสแกนข้อความสั้นๆ บนหน้าโปรไฟล์เฟซบุ๊ค

Just So You Know

ดูเหมือนว่าความรักมันช่างซับซ้อน (กล่าวอย่างสัตย์จริงแล้วทุกอย่างบนโลกใบนี้มันซับซ้อนหมดนั่นล่ะ) และการมีเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการหารักแท้ของคุณมันยิ่งสร้างความซับซ้อนมากขึ้นหรือเปล่า?

อาซีสอธิบายว่า ความรักมันซับซ้อนในตัวของมันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าใครในยุคไหนก็จะต้องเจอประสบการณ์เช่นเดียวกัน เพียงแต่รูปแบบที่พวกเราเผชิญหน้าในขณะนี้มันเป็นรูปใหม่ก็เท่านั้น

“เทคโนโลยีไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิธีค้นหาความรักแต่มันยังพลิกผันความท้าทายไร้กาลเวลาที่เราต่างเผชิญเมื่อคบใครสักคน”

ปัจจุบันคู่รักมีพื้นที่บนโลกออนไลน์ พวกเขาจะแชร์ร่วมกันทุกอย่าง สุดท้ายแล้วมันก็กลายเป็นแหล่งกำเนิดความหึงหวงรูปแบบใหม่ นำมาสู่การสอดแนม หลายคนเช็ค timeline ในเฟซบุ๊คแฟนแทบจะทุกชั่วโมงว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ ทำไมถึงไม่ตอบแชท…

ความรุ่มร้อนของความรักระอุไปทั่วโลกออนไลน์

ใช่ว่าเทคโนโลยีจะเป็นฝันร้ายไปเสียทีเดียว อีกมุมหนึ่งมันยังได้มอบพื้นที่ให้คุณสามารถเก็บรักษา จดจำ และแบ่งปันความรักระหว่างกันได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิมด้วย ลองกลับไปอ่านข้อความแชทระหว่างคุณกับแฟนสมัยจีบกันดูสิ มันคือการนั่งไทม์แมชีนกลับไปหาความสุข สนุกสนานและตื่นเต้นในตอนนั้น ที่ยังทำให้ความรักกระปรี้กระเปร่ามาจนถึงทุกวันนี้

We Belong Together

ความท้าทายของคู่รักนั้นไม่เคยสิ้นสุด แม้คุณจะรักกันมากขนาดไหน สัญญาว่าเราจะรักกันจนชั่วฟ้าดินสลายอย่างไร แต่เราต่างหนีความจริงอันโหดร้ายไม่พ้น

“ไม่ว่าพวกเขาจะรักกันมากน้อยเพียงใด พิธีสมรสจะงดงามมากขนาดไหน คำสาบานไพเราะราวกับบทกวีและเปี่ยมรักปานใด แต่เมื่อพวกเขาเสร็จสิ้นพิธีแต่งงาน คุณรู้ว่าความรักของพวกเขาจะเร่าร้อนน้อยลง ชีวิตจะยุ่งยากและไม่สนุกมากขึ้น”

เราสังเกตเห็นว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ในกลุ่มประเทศพัฒนาส่วนใหญ่แล้วมีอัตราการแต่งงานลดลงอย่างน่าใจหาย อาซีสได้นำคำอธิบายของ ฟิลิป โคเฮน (Philip Cohen) นักประชากรศาสตร์ครอบครัวที่กล่าวว่า อัตราการแต่งงานได้ลดอย่างถดถอยตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 และผู้ที่อยู่ในยุโรปและญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก

สอดคล้องกับในช่วงทศวรรษนั้นระบบการเงินทั่วโลกได้ปั่นป่วนอย่างหนักจนเป็นวิกฤติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เราคงไม่ขอเล่าเรื่องประวัติศาสตร์มากนัก แต่สุดท้ายแล้วสถาบันการแต่งงานก็หลุดไม่พ้นจากการเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางเศรษฐกิจอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม อาซีสยังได้ชี้ให้เราเห็นว่า นอกจากเรื่องของเศรษฐกิจแล้ว ในตอนนี้มนุษย์โลกกำลังอยู่ในยุคแห่งการทดลอง เรามีรูปแบบของการลงหลักปักฐานมากกว่ารูปแบบเดียวที่เรียกว่าแต่งงาน การอยู่กินกับคู่รักโดยที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นแล้วเมืองใหญ่ๆ ในแทบทุกประเทศ คนหนุ่มสาวใช้ชีวิตอยู่เป็นโสดในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

The Heart Wants What It Wants

เราอ่านหนังสือเล่มนี้จบก่อนเดือนแห่งความรักจะมาถึงในไม่กี่วัน แม้แง่มุมประวัติศาสตร์ของหนังสือเล่มนี้จะถูกอธิบายออกมาไม่ครบถ้วน และการนำความรักแบบอุดมคติอย่าง American Dream มาใส่เพื่ออธิบายทับความรักของประเทศอื่นๆ ซึ่งมีบริบททางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่แตกต่างกันสุดๆ อย่างไรก็ตามเมื่ออ่านจบ ความรู้สึกของเราในการหาตามหารักแท้ในโลกออนไลน์ยังคงเหมือนเดิม เรายังคงนั่งมองเพื่อนหลายคน ไขว่คว้าและตามหาความรักอย่างไม่สิ้นสุด

แทบทุกคนลงทุนมหาศาลเพื่อตามหาความรัก ไม่ว่าความรักที่เขาเจอจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราก็พอสรุปได้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่โดยลำพังไม่ได้ (ถ้าเลือกได้นะ)

ไม่มีใครอยากอยู่คนเดียวจนชีวิตสิ้นสูญ แม้จะปากแข็งขนาดไหน มนุษย์ก็อยากมีใครสักคนไว้พึ่งพิง ร่วมสุขร่วมทุกข์และแบ่งปันประสบการณ์อยู่ดี

ถึงแม้ว่ารูปแบบการตามหารักแท้จะเปลี่ยนจากการเดินเข้าไปทักใครสักคนจริงๆ กลายเป็นทักผ่านโปรแกรมแชทต่างๆ แต่เรื่องราวของความรักมันยังคงงดงามและซับซ้อนเสมอไม่ว่าจะยุคสมัยใด รวมถึงปัญหาของความรักยังคงดำเนินไม่เปลี่ยนแปลงเพียงรูปแบบของมันเท่านั้น

และแม้ความรักจะถูกอธิบายออกมาด้วยรูปแบบงานวิจัยหรือเชิงวิชาการขนาดไหน มันก็เป็นเรื่องของคนสองคนอยู่ดี

สุดท้าย… ขอให้คุณโชคดีในความรักบนโลกออนไลน์

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า