- เป็นสถาบันกษัตริย์ในอาณาจักรขนาดเล็ก แต่ทรงอำนาจสูงสุดในทวีปยุโรป
- ประชาชนเห็นพ้องให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจเหนือรัฐบาล รัฐสภา และตุลาการ จนชนะประชามติถึง 2 ครั้ง
- ด้วยระบบ ‘Dualistic’ ทำให้ประชาชนและสถาบันกษัตริย์ต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน (mumual benefit)
ในโลกยุคใหม่ที่สถาบันกษัตริย์หลายประเทศจำต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดตามยุคสมัย ทว่ายังมีอีกบางประเทศที่สถาบันกษัตริย์ยังคงยึดโยงอยู่กับบริบททางประวัติศาสตร์โบราณได้อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะในบริบททางประวัติศาสตร์สมัยยุคศักดินาเก่าแก่ของยุโรปอย่างสถาบันกษัตริย์ลิกเตนสไตน์
ความเป็นมาของสถาบันกษัตริย์แห่งลิกเตนสไตน์สามารถสืบย้อนกลับไปได้ไกลถึง ค.ศ. 1140 ในดินแดนซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่พิพาทด้านการปกครองอันยาวนานตลอดระยะเวลาของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์สมัยยุคกลาง จนกระทั่งประกาศเอกราชอย่างเต็มตัวหลังการก่อร่างสร้างตัวของสาธารณรัฐเยอรมนีหลังจบสงคราม Austro-Prussian ในปี ค.ศ. 1866 ที่ทำให้ลิกเตนสไตน์หลุดออกจากการสร้างรัฐเยอรมนีใหม่ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปจากอาณาเขตเดิม ขณะที่ออสเตรียก็ไม่ต้องการผนวกลิกเตนสไตน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตของตน อย่างไรก็ตามผลสืบเนื่องจากยุคสมัยของการอยู่ภายใต้ระบบศักดินาที่มีจักรพรรดิเป็นองค์ประมุข ก็ทำให้สถาบันกษัตริย์ลิกเตนสไตน์มี ‘เจ้าชาย’ หรือ Prince อยู่ในสถานะประมุขของรัฐ จนกระทั่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ปกครองโดยจักรพรรดิเป็นประมุขสูงสุดล่มสลายไปแล้ว แต่ลิกเตนสไตน์ก็ยังคงหลงเหลือตำแหน่ง ‘เจ้าชาย’ ตามระบอบการปกครองแบบศักดินาเช่นเดิมอยู่
กระนั้น สถาบันกษัตริย์ลิกเตนสไตน์ที่ดำรงอยู่รอดมาได้จนถึงยุคปัจจุบันก็ไม่อาจหลีกหนีข้อครหาจากการสืบทอดอำนาจอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ยุคศักดินา ถึงแม้จะประกาศว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่การขับเคี่ยวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุดจนถึงปัจจุบัน
ประชากร 4 หมื่น ใต้การปกครองของเจ้าชายพระองค์เดียว
‘เพื่อพระผู้เป็นเจ้า เจ้าชาย และปิตุภูมิ’ (Für Gott, Fürst und Vaterland) คำขวัญของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ลิกเตนสไตน์ ดูจะสะท้อนความสัมพันธ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมภายในของประเทศนี้ได้อย่างครบถ้วนที่สุด โดยได้พิสูจน์แล้วผ่านผลการลงประชามติที่เกี่ยวข้องกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ถึง 2 ครั้ง
ลิกเตนสไตน์เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรไม่ถึง 40,000 คน แต่กลับมีราชวงศ์ที่ทรงอำนาจและร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาราชวงศ์ทั้งหลายบนทวีปยุโรป เหตุผลหนึ่งเพราะการลงประชามติในปี 2003 ได้เปิดช่องทางให้สถาบันกษัตริย์ลิกเตนสไตน์สามารถธำรงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองยิ่งกว่าสถาบันกษัตริย์อื่นๆ ในยุโรป
ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เจ้าชายฮันส์ อาดัม ที่ 2 (Hans-Adam II) ได้ออกมาให้ความเห็นในเชิงขู่ว่า หากผลของการทำประชามติจะนำมาซึ่งการจำกัดอำนาจที่พระองค์เคยมี พระองค์จะทำการลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรียทันที ซึ่งต่อมาผลจากการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญลิกเตนสไตน์ปี 2003 ปรากฏว่า คนในชาติยินยอมพร้อมใจให้เจ้าชายในฐานะประมุขของรัฐมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการยับยั้ง (veto) กฎหมายที่มาจากรัฐสภาได้[1]
ผลประชามติในครั้งนั้นทำให้บทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ลิกเตนสไตน์เพิ่มสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม เจ้าชายฮันส์ อาดัม ที่ 2 ก็ได้ยกความรับผิดชอบในหน้าที่สาธารณะให้แก่องค์ชายรัชทายาท เจ้าชายอาล็อยส์ (Alois) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนมาจนถึงปัจจุบัน ทว่าด้วยอำนาจอันล้นพ้นของสถาบันกษัตริย์ในการยุบรัฐสภา การ veto กฎหมาย การแต่งตั้งตุลาการ และอำนาจในการขับไล่รัฐบาล ก็ทำให้ถูกฝ่ายนิยมประชาธิปไตยโจมตีว่า ระบอบการปกครองเช่นนี้กำลังทำให้ประเทศมีความเป็น ‘รัฐเผด็จการ’ มากขึ้น[2]
ด้วยระบบสภาเดี่ยวที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนทำให้มีเพียงไม่กี่พรรคที่ได้เข้าไปครองเก้าอี้ในรัฐสภา และพรรครัฐบาลมักเป็นพรรคใหญ่ที่ขับเคี่ยวกันมานานระหว่างพรรค Progressive Citizens’ Party (Fortschrittliche Bürgerpartei) และพรรค The Patriotic Union (Vaterländische Union) ซึ่งก็ยังคงอยู่ใต้อำนาจของเจ้าชาย จนอาจจะทำให้ความเป็นประชาธิปไตยดูหมิ่นเหม่อยู่บนปากเหวของการเป็นรัฐเผด็จการ แต่ก็อีกเช่นกัน ผลการทำประชามติในปี 2012 กลับพบว่าร้อยละ 76 ของผู้มาลงประชามติไม่ต้องการให้ลดอำนาจของเจ้าชายอาล็อยส์ลง และเจ้าชายอาล็อยส์ทรงตอบกลับสิ่งนี้ด้วยความปลื้มปีติว่า “มิตรภาพอันยาวนาน 300 ปี ระหว่างประชาชนและราชวงศ์นั้น ยังคงสถาพรจวบจนปัจจุบัน”[3]
สภาพการเมืองและสังคมของลิกเตนสไตน์จึงดูเหมือนยืนอยู่บนความเห็นร่วม (consensus) เป็นหลัก โดยเฉพาะความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและสถาบันกษัตริย์ที่หลอมรวมจนกลายเป็น ‘อัตลักษณ์’ (identities) ของความเป็นชาติ ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์กับเหล่านักการเมือง ‘คณาธิปไตย’ (The Oligarchy) ตามที่เจ้าชายฮันส์ อาดัม ที่ 2 เรียกขาน ทำให้ผู้เห็นต่างจากสังคมส่วนมากถูกมองว่าเป็นคนนอกและแปลกแยกจากสังคม[4]
ถึงแม้จะมีการทักท้วงเรื่องระบบการเมืองของลิกเตนสไตน์จากสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) อยู่บ่อยครั้ง แต่ผลการทำประชามติทั้ง 2 ครั้ง ในหัวข้อเกี่ยวกับพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ลิกเตนสไตน์ก็กลายเป็นคำถามอันยากที่จะตอบได้ว่า หากประชาชนในประเทศ ‘เลือก’ ที่จะมอบอำนาจให้แก่ผู้ปกครองที่ ‘ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง’ แล้ว ยังจะสามารถนับว่าประเทศนี้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อยู่หรือไม่?
กระแสต้านเทียบไม่ได้กับกระแสนิยม
ความนิยมในสถาบันกษัตริย์ของชาวลิกเตนสไตน์ คือส่วนสำคัญที่ทำให้การมีอำนาจอยู่เหนือทุกกลไกทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ยังดำรงอยู่ได้ โดยสมาชิกรัฐสภาอย่าง เรนาเทอ โวห์ลเวนด์ (Renate Wohlwend) จากพรรค Progressive Citizens’ Party ถึงกับกล่าวว่า “ฉันเชื่อว่าเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประเทศ เจ้าชายควรธำรงไว้ซึ่งสิทธิเหล่านี้ ฉันจะไม่เรียกมันว่าอำนาจ เพราะมันคือสิทธิและความรับผิดชอบ สถาบันกษัตริย์กับสมดุลเช่นนี้ คือทางเดียวที่ประเทศเล็กๆ ของเราจะจัดการการเมืองกับวิถีชีวิตประจำวันได้”[5]
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ลิกเตนสไตน์ยังมีอยู่บ้าง แม้จะเป็นจำนวนน้อยนิด (เมื่อวัดจากผลการลงประชามติทั้ง 2 ครั้ง) โดยครั้งสำคัญคือการรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อทำประชามติหักล้างอำนาจ veto ของสถาบันกษัตริย์ ซึ่ง ซิกวาร์ด โวห์ลเวนด์ (Sigvard Wohlwend) ในฐานะโฆษกของกลุ่มรณรงค์ดังกล่าวระบุว่า ประชาชนจำนวนหนึ่งในลิกเตนสไตน์ไม่ต้องการให้ตนเองถูกมองว่าเป็นผู้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากสภาพสังคมที่มีประชากรเพียงน้อยนิดย่อมทำให้เกือบทุกการกระทำของคนใดคนหนึ่งสามารถรับรู้ได้โดยคนจำนวนมาก เขายังบอกอีกว่า การออกมาข่มขู่ของเจ้าชายอาล็อยส์ที่จะทรงใช้สิทธิ veto กฎหมายทำแท้งนั้น ถือเป็นการกระทำที่ล้ำเส้น และทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าเสียงของพวกเขาไร้ความหมาย[6]
ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งผู้จงรักภักดีที่มีคำขวัญว่า ‘เพื่อพระผู้เป็นเจ้า เจ้าชาย และปิตุภูมิ’ ต่างระบุถึงความจำเป็นในการมีสถาบันกษัตริย์ว่า การคำนึงถึงความมั่นคงของสถาบัน เป็นการมองการณ์ไกลมากกว่ากลุ่มนักการเมืองที่มองเห็นเพียงอนาคตแค่ 4 ปี และยังยกความดีความชอบให้แก่สถาบันกษัตริย์อีกด้วยว่า เป็นสาเหตุของการพัฒนาประเทศลิกเตนสไตน์จากพื้นที่ซบเซาสู่การเป็นศูนย์กลางของแหล่งการเงินการธนาคารที่สำคัญ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งหมดให้ดียิ่งขึ้น
หากมองแง่มุมด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เจริญรุดหน้าของลิกเตนสไตน์ อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องคุณภาพของประชาธิปไตยมากนัก โดยเฉพาะในแง่ของการแบ่งแยกกลไกอำนาจ เว็บไซต์ด้านเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง Trading Economics ระบุว่า GDP ของลิกเตนสไตน์คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 0.1 ของเศรษฐกิจโลก และมีสัดส่วนของผู้ว่างงานอยู่เพียงร้อยละ 1.9 จากประชากรทั้งหมด[7] และบริษัท S&P Global Rating ยังประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของลิกเตนสไตน์เอาไว้ที่ระดับ AAA ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาไม่เปลี่ยนแปลง[8]
อย่างไรก็ตาม ลิกเตนสไตน์ยังคงมีข้อครหาจากหลายประเทศทั่วโลกว่า เป็นสวรรค์ของการฟอกเงินและเส้นทางการเงินของหลายธุรกิจที่ผิดกฎหมาย โดยหน่วยงานด้านการสืบสวนมีการกล่าวหาลิกเตนสไตน์ในกรณีดังกล่าวช่วงปี 2007-2008 และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลิกเตนสไตน์และเยอรมนีบาดหมางกันอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่เจ้าชายฮันส์ อาดัม ที่ 2 ทรงกล่าวว่า “ลิกเตนสไตน์รอดพ้นจากจักรวรรดิไรซ์ที่ 3 มาแล้วตลอด 200 ปีที่ผ่านมา เราหวังว่าจะรอดพ้นจากจักรวรรดิไรซ์ที่ 4 นี้เช่นกัน”[9]
ในสายตาของประชากรในประเทศเล็กๆ ที่มีจำนวนไม่มากและไม่มีแม้แต่สกุลเงินหรือภาษาเป็นของตนเอง การชูข้อโดดเด่นด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเงินดูจะเป็นสิ่งที่ชาวลิกเตนสไตน์ภาคภูมิใจ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขามองว่า สถาบันกษัตริย์คือที่มาอย่างหนึ่งของความมั่นคงทางสังคมเศรษฐกิจ ทำให้แม้จะมีกลุ่มต่อต้านที่สามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อทำประชามติใดๆ ก็ตามที่เป็นผลร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ พวกเขาก็ย่อมจะพ่ายแพ้อยู่เสมอเมื่อต้องวัดคะแนนกันที่หน้าคูหาประชามติ
เป็นประชาธิปไตย ตราบใดที่ทุกคนเห็นด้วยกับสถาบันกษัตริย์
ด้วยระบอบการปกครองที่รวมความหลากหลายเอาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบประชาธิปไตยทางตรงอย่างการเสนอกฎหมายหรือจัดประชามติ ระบบการเมืองผู้แทนในรัฐสภาทั้ง 25 คน ไปจนถึงระบบการเมืองที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุข สภาพการเมืองและสังคมของลิกเตนสไตน์ยังสามารถถูกอธิบายได้ว่าเป็นระบบ ‘Dualistic’ หรือ การมีสถาบันกษัตริย์ยืนคู่ไปกับประชาชนเสมอ[10]
“ในลิกเตนสไตน์ รากฐานของอำนาจรัฐอย่างสถาบันกษัตริย์และประชาชนไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่คือผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Advantage)”
ศาสตราจารย์ด้านประชาธิปไตยทางตรง วิลฟรีด มาร์กเซอร์ (Wilfried Marxer) จากสถาบันลิกเตนสไตน์ (Liechtenstein-Institut) กล่าวถึงระบบ Dualistic ในลิกเตนสไตน์เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอข้อกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายด้วยประชามติได้เอง ในขณะที่รัฐสภาก็มีอำนาจด้วยการยึดโยงกับประชาชน และไม่ได้มีกฎหมายข้อใดห้ามให้ประชาชนพยายามทำประชามติในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหรือสถานะของสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นตราบใดก็ตามที่ประชาชนจำนวนมากยังคงให้ความนิยมในสถาบันกษัตริย์อยู่ และอำนาจของเจ้าชายแห่งลิกเตนสไตน์ยังคงมีเหนือรัฐบาลและรัฐสภาอย่างเด็ดขาด ความมั่นคงทางการเมืองก็ยากที่จะถูกทำให้สั่นคลอนได้[11]
นอกเหนือไปจากการสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ด้วยความเชื่อมั่น เพื่อธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชาติ หรือเพราะเป็นผู้ก่อร่างสร้างเศรษฐกิจของลิกเตนสไตน์ในอดีตแล้ว สถาบันกษัตริย์ลิกเตนสไตน์ยังยึดกุมหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศเอาไว้อย่างเครือธนาคาร LGT (The Liechtenstein Global Trust) อันถูกนับว่าเป็นธนาคารเอกชนที่ถือครองโดยตระกูลเดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีที่มาจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารนี้ก่อนจะตกไปอยู่ในมือของเยอรมนี[12] ด้วยเหตุนี้จึงเปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์เข้ามามีอำนาจเหนือธนาคารที่สำคัญที่สุดของชาติได้อย่างยาวนานจนปัจจุบัน และหากสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันสูญเสียอำนาจหรือล่มสลายไปก็ย่อมมีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจและการเงินของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นไม่ว่าจะในแง่มุมทางการเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ สถาบันกษัตริย์ลิกเตนสไตน์นับได้ว่าทรงอำนาจอย่างมาก โดยที่ประชาชนยังคงความนิยมในสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากสถาบันกษัตริย์สามารถมอบความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นติดอันดับโลกให้แก่ประชาชนได้ แต่หากวันใดวันหนึ่งประชาชนอยากเลือกหนทางอื่นทั้งทางการเมือง วัฒนธรรม หรือเศรษฐกิจ ที่ไม่ใช่ทางเดียวกันกับสถาบันกษัตริย์แห่งลิกเตนสไตน์ ประชาชนก็จะพบความยากลำบากในการดึงบังเหียนควบคุมทิศทางสังคม เพราะประชาชนกว่าครึ่งได้ยินยอมมอบบังเหียนเหล่านั้นไว้ในมือของราชวงศ์แห่งประเทศเล็กๆ นี้เสียเกือบหมดแล้วในเกือบทุกแง่มุมแห่งชีวิต
เชิงอรรถ
[1] Freedom House. Liechtenstein. Freedom in the world 2020, From https://freedomhouse.org/country/liechtenstein/freedom-world/2020
[2] BBC. (2003). Liechtenstein prince wins powers, From http://news.bbc.co.uk/2/hi/europe/2853991.stm
[3] Imogen Foulkes. (2012). Liechtenstein referendum rejects curbs on royal powers. BBC, From https://www.bbc.com/news/world-europe-18649156
[4] Wouter Veenendaal. (2017). The curious case of Liechtenstein: A country caught between a prince and democracy. European Politics and Policy. London School of Economics and Political Science, From https://blogs.lse.ac.uk/europpblog/2017/01/30/the-curious-case-of-liechtenstein/
[5] Imogen Foulkes. Liechtenstein’s Alois – a modern-day Leviathan. Deutsche Welle (DW), From https://www.dw.com/en/liechtensteins-alois-a-modern-day-leviathan/a-16083485
[6] Emma Thomasson. (2012). Insight: Liechtenstein prince faces vote over veto power. Reuters, From https://www.reuters.com/article/us-liechtenstein-prince-idUKBRE85A0C420120611
[7] Trading Economics. (2021). Liechtenstein GDP. From https://tradingeconomics.com/liechtenstein/gdp
[8] S&P. Rating: Liechtenstein Credit Rating. Country Economy, From https://countryeconomy.com/ratings/liechtenstein
[9] Emma Thomasson. (2008). Liechtenstein prince calls Germany a “Fourth Reich”. Reuters, From https://www.reuters.com/article/us-liechtenstein-germany-idUSLB16606820080911
[10] Wilfried Marxer. (2007). Direct Democracy in Liechtenstein. International Conference Direct Democracy in Latin America 14-15 March 2007, Buenos Aires, Argentina, From https://www.liechtenstein-institut.li/application/files/2115/7435/0264/Marxer_Direct_Democracy_Buenos_Aires.pdf
[11] Wilfried Marxer. (2020).IN LIECHTENSTEIN, POWER TO THE PEOPLE—AND THE PRINCE. Zócalo Public Square, From https://www.zocalopublicsquare.org/2020/09/25/liechtenstein-governed-monarchy-direct-democracy/ideas/essay/
[12] The Bank’s evolution. LGT vestra, From https://www.lgtvestra.com/en/about-us/100-year-success-story/the-banks-evolution/#button2