- ราชวงศ์ที่สนับสนุนอาหรับสปริงในปี 2011 และให้ทุนกับสำนักข่าวประชาธิปไตยอย่าง Al-Jazeera ทว่ายังคงไร้ประชาธิปไตยในชาติ
- การเมืองในภูมิภาคอาหรับทำให้ราชวงศ์กาตาร์ถูกโดดเดี่ยว แต่การเข้าหาสหรัฐอเมริกา ทำให้กาตาร์ได้รับความเกรงขามจากเพื่อนบ้าน
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจกาตาร์มองภาพไปไกลถึงปี 2030 แต่โลกความเป็นจริงประชาชนยังคงถูกจับกุมและใช้กฎหมายปิดปาก
สำนักข่าว Global Finance รายงานการจัดอันดับประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ปี 2021 ที่ผ่านมาจำนวน 10 อันดับ พบว่านอกเหนือไปจากประเทศกลุ่มยุโรปและคาบสมุทรจีนแล้ว ‘กาตาร์’ ดินแดนทะเลทรายที่มีประชากรกาตาร์จริงๆ เพียงร้อยละ 12 จากประชากรทั้งหมด ถูกจัดให้เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 4[1] ของโลก ถึงแม้ระบอบการปกครองจะไม่ใช่ทุนนิยมเสรีหรือประชาธิปไตยเสรีดังที่เชื่อกันว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจก็ตาม
กาตาร์ปกครองโดย ‘เอมีร์’ (Emir) อันเป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดและมีอำนาจเด็ดขาด ปัจจุบันสถาบันกษัตริย์กาตาร์ถูกปกครองโดยราชวงศ์ Al-Thani ที่มีรากฐานมาจากตระกูลเก่าแก่ในยุคศตวรรษที่ 17 อาณาจักรกาตาร์ก่อตั้งขึ้นที่บริเวณคาบสมุทรอาระเบีย จนเมื่อจักรวรรดิออตโตมันล่มสลายลงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้สหราชอาณาจักรเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้น ก่อนที่กาตาร์จะประกาศเอกราชเมื่อปี 1917 ในเวลาต่อมา[2]
ถึงแม้ว่าระบอบการปกครองภายใต้เอมีร์ที่มีอำนาจสูงสุดในแทบจะทุกด้านของกาตาร์จะฟังดูไม่เป็นประชาธิปไตยมากนัก แต่สถาบันกษัตริย์กาตาร์กลับเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญต่อประชาธิปไตยในระดับโลก โดยเฉพาะการเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนทุนให้แก่สำนักข่าวอย่าง Al-Jazeera ซึ่งเป็นสื่อที่อยู่เคียงข้างการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาธิปไตยที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งสถาบันกษัตริย์กาตาร์ยังสนับสนุนความเคลื่อนไหวของมวลชนสายปฏิวัติในช่วงเหตุการณ์ ‘ปฏิวัติอาหรับ’ (Arab Spring) ผิดแผกไปจากสถาบันกษัตริย์ในภูมิภาคโดยรอบ จนทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศตามมาอีกเป็นจำนวนมาก
เอมีร์แห่งกาตาร์กำลังคิดอะไรอยู่ สถาบันกษัตริย์กาตาร์มีบทบาทต่อผู้คนภายในชาติไปจนถึงนอกเส้นพรมแดนแห่งคาบสมุทรอาระเบียอย่างไร ถือเป็นเรื่องสำคัญที่น่าทำความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เมื่อสถาบันกษัตริย์ที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่กลับมีบทบาทสูงขึ้นในโลกที่กำลังให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของมนุษย์
กษัตริย์ผู้ทรงอำนาจแห่งคาบสมุทรอาระเบีย
จากคลังข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of State) ช่วงปี 2009-2017 ระบุว่า กาตาร์เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่เอมีร์มีอำนาจในการผ่านหรือปฏิเสธร่างกฎหมายได้หลังจากการปรึกษาหารือกับสภาที่ปรึกษาทั้ง 45 คน อันมีที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 30 คน และผ่านการแต่งตั้งโดยเอมีร์อีก 15 คน[3] [4]
กาตาร์ไม่มีการเลือกตั้งผู้นำระดับชาติ เนื่องจากมีกฎหมายห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียงระดับท้องถิ่นคือเทศบาล ซึ่งมีอำนาจเพียงแค่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรี และการเลือกตั้งสภาที่ปรึกษาเพื่อถ่วงดุลกับกลุ่มที่มาจากการแต่งตั้งเท่านั้น
อำนาจของสถาบันกษัตริย์นอกจากจะมีบทบาทอย่างสูงต่อกระบวนการทางการเมือง ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการแล้ว ยังรวมไปถึงอำนาจเหนือเสรีภาพในการแสดงออกอีกด้วย อ้างอิงจากบันทึกในคลังข้อมูลเกี่ยวกับประเทศกาตาร์ของกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐ ที่ระบุว่า สื่อมวลชนในกาตาร์มัก ‘เซ็นเซอร์ตนเอง’ (self-censor) เมื่อต้องรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม อำนาจหรือความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องด้วยความหวั่นเกรงต่อแรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจ แม้ว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อจะถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญก็ตาม
ในแง่อำนาจและบทบาทนอกราชอาณาจักรของกาตาร์ก็มีอิทธิพลไม่น้อย โดยในปี 2012 กาตาร์ได้อนุญาตให้กลุ่มตาลีบัน (Taliban) สามารถเปิด ‘ที่ทำการ’ ในกรุงโดฮา (Doha) เมืองหลวงของกาตาร์ เพื่อประสานงานกิจการที่เกี่ยวข้องกับตาลีบัน อัฟกานิสถาน และความสัมพันธ์กับนานาชาติได้ จนกระทั่งกลายเป็นสถานที่สำหรับลงนามสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างสหรัฐกับกลุ่มตาลีบัน ในชื่อ ‘Doha Agreement’ เมื่อปี 2020[5]
ในยุคสมัยของการลุกฮือในเหตุการณ์อาหรับสปริง ปี 2011 กาตาร์ได้สนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะสำนักข่าว Al-Jazeera ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกาตาร์ด้วยการขยายเรื่องเล่าทางการเมือง (political narative) ของกลุ่มผู้ชุมนุมออกไป จนทำให้ ฮาเหม็ด บิน คาลีฟา อัล ธานี (Hamad bin Khalifa Al Thani) เอมีร์แห่งกาตาร์ ผู้เป็นบิดาของเอมีร์องค์ปัจจุบัน ตะมีม บิน ฮาเหม็ด อัล ธานี (Tamim bin Hamad Al Thani) ถูกราชวงศ์ในภูมิภาคอย่างซาอุดีอาระเบียและกลุ่มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประท้วง ไปจนถึงการกีดกันทางการค้าด้วยการยื่นข้อเสนอให้กาตาร์หยุดการสนับสนุนทุนแก่สำนักข่าว Al-Jazeera ในปี 2017[6]
ท่าทีของเชื้อพระวงศ์ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแห่งกาตาร์ อย่าง โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลราห์มัน บิน จัซซิม อัล ธานี (Mohammed bin Abdulrahman bin Jassim Al Thani) ระบุถึงความขัดแย้งในกรณีดังกล่าวว่า “ประเด็นการยุติบทบาทของสำนักข่าว Al-Jazeera ไม่ได้ถูกยกขึ้นมาหารือบนเวทีคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวดังกล่าวเป็นสถาบันสื่อที่เราภาคภูมิใจ ด้วยความเป็นมืออาชีพ และตั้งมั่นอยู่บนแผ่นดินกาตาร์”
จากความขัดแย้งที่พยายามจะสมาน จนถึงปัจจุบันกาตาร์ก็ยังคงแสวงหาพันธมิตรทางการทหารเพื่อเสริมความมั่นคงอยู่เสมอ เนื่องจากรายล้อมไปด้วยประเทศเพื่อนบ้านที่มีกองกำลังแข็งแกร่ง โดยกาตาร์มีฐานทัพอากาศอัล ลาดีด (Al Udeid) ที่เป็นศูนย์บัญชาการกองบัญชาการกลางแห่งสหรัฐ (CENTCOM) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงภูมิภาคนี้ของสหรัฐ[7] ดังนั้นสหรัฐจึงเป็นหนึ่งในมหามิตรที่สำคัญของกาตาร์ท่ามกลางคู่ขัดแย้งจำนวนมากในภูมิภาค
ภายใต้ความไม่แน่นอนของการเมืองในภูมิภาคและความหวาดกลัวด้านความมั่นคง กาตาร์ได้หาทางเพิ่มจำนวนเครื่องบินรบให้มากขึ้นอีก 9 เท่า ถึงแม้ว่าจะนำมาซึ่งปัญหาด้านกำลังคนที่อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้ยุทโธปกรณ์ต่างๆ ก็ตาม[8]
กาตาร์ยุคใหม่ ภายใต้พระราชาธิบดี Tamim bin Hamad Al Thani
การสละราชบัลลังก์ของอดีตพระราชาธิบดี ฮาเหม็ด บิน คาลีฟา อัล ธานี เพื่อเปิดทางให้พระราชโอรส ตะมีม บิน ฮาเหม็ด อัล ธานี ได้ขึ้นครองราชย์ นับได้ว่าเป็นก้าวแรกของความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสถาบันกษัตริย์กาตาร์ เนื่องจากประมุขสูงสุดของบรรดารัฐอิสลามในภูมิภาคมักจะครองราชย์ยาวนานจนสิ้นอายุขัย ซึ่งการขึ้นครองราชย์ของพระราชาธิบดี ตะมีม บิน ฮาเหม็ด อัล ธานี นับได้ว่าเป็นการเร่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก
การสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามในหลายชาติ ตั้งแต่หลังการเกิดขึ้นของอาหรับสปริงนอกจากจะเป็นการกระทำเพื่ออุดมการณ์แล้ว มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ายังเป็นไปในฐานะของการ ‘ฉวยโอกาส’ (opportunism) หรือไม่ เนื่องจากการสนับสนุนดังกล่าวทำให้กาตาร์สามารถเพิ่มเกียรติภูมิของราชวงศ์ตนเองในหมู่ประชาชน และตัดสภาวะพึ่งพิงทางศาสนาออกจากผู้นำโลกอาหรับอย่างซาอุดีอาระเบียได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวยังช่วยให้กาตาร์ได้รับความนิยมจากกลุ่มประชานิยม (populist) มากขึ้น โดยไม่ได้สูญเสียความเป็นอนุรักษนิยมไปอีกด้วย[9]
ภายหลังวิกฤตการณ์ 11 กันยายน 2001 กาตาร์ยังตัดสินใจเร่งกระบวนการปฏิรูปด้านสังคมและศาสนาเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้ และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษามากกว่าเดิม
ในงานเปิดตัวแผนพัฒนาเศรษฐกิจกาตาร์ ‘Qatar’s National Vision 2030’ เมื่อปี 2008 พระราชาธิบดี ตะมีม บิน ฮาเหม็ด อัล ธานี ได้มีพระราโชวาทถึงบทบาทต่อไปของกาตาร์ในการเมืองระดับภูมิภาคว่า “กาตาร์ต้องไม่หยิ่งผยอง เนื่องจากความอ่อนน้อมถ่อมตนคือสัญญะของผู้แข็งแกร่ง” เพื่อสะท้อนให้เห็นว่ากาตาร์จะไม่สนับสนุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับที่ซาอุดีอาระเบียหรืออิหร่านทำ “เราเป็นประเทศ ผู้คน และสังคมแบบยึดเหนี่ยวซึ่งกันและกัน ไม่ใช่แค่กลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”
“เราไม่สนับสนุนการปะทะกัน เราเคารพผู้อื่นอย่างจริงใจ เราคือมุสลิมและอาหรับที่เคารพความหลากหลาย เคารพศาสนาที่แตกต่างทั้งในและนอกประเทศของเรา ในฐานะอาหรับ เราปฏิเสธการแบ่งแยกสังคมอาหรับด้วยเส้นแบ่งของความแตกต่างหลากหลาย”
อย่างไรก็ตาม รอยร้าวในหมู่ชนชั้นนำเริ่มปรากฏออกมาผ่านโซเชียลมีเดีย เมื่อสำนักข่าว Arab News รายงานว่า ชีค ฟาฮัด บิน อับดุลลาห์ อัล ธานี (Sheikh Fahad bin Abdullah Al Thani) สมาชิกราชวงศ์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายทั้งภายในและภายนอกของกาตาร์ผ่านทวิตเตอร์ว่า เป็นความผิดพลาดด้านการบริหาร และส่งผลให้สมาชิกราชวงศ์หลายพระองค์ถูกจัดเข้ากลุ่มรายชื่อต้องห้ามในการเดินทางเข้าประเทศอื่นๆ[10] สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการถูกโดดเดี่ยวจากหลายชาติในภูมิภาคอาหรับ
นอกจากจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศเอง ในระดับนานาชาติก็พบว่ากาตาร์มีข้อครหาเรื่องการซื้อเสียงคณะกรรมการบริหาร FIFA เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงสำหรับการจัดฟุตบอลโลกประจำปี 2022 โดยข้อครดังกล่าวเริ่มจากการประชุมลับระหว่างอดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโกลาส์ ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ประธานสมาคมฟุตบอลยุโรปและรองประธาน FIFA มิแชล ปลาตินี (Michel François Platini) ร่วมกับ ตะมีม บิน ฮาเหม็ด อัล ธานี ที่ขณะนั้นยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการสอบสวนอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา[11]
ในปี 2019 องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ออกแถลงการณ์ประท้วงกฎหมายควบคุมการแสดงออกฉบับใหม่ของพระราชาธิบดี ชีค ฟาฮัด บิน อับดุลลาห์ อัล ธานี ที่ครอบคลุมเรื่องการกระจายข้อมูล ข่าวลือ ข่าว หรืองานสื่อสารใดๆ ทั้งในและนอกประเทศ โดยภาครัฐอธิบายว่าเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ไม่ให้ผู้ไม่หวังดีมาก่อกวนความคิดเห็นสาธารณะ และปกป้องระบบสังคมกาตาร์ ซึ่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาขององค์กรนิรโทษกรรมสากลประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง ลินน์ มาลูฟ (Lynn Maalouf) ระบุว่า กฎหมายนี้จะทำให้พระราชาธิบดีแห่งกาตาร์สามารถปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์ได้ และทางการกาตาร์ควรที่จะเพิกถอนกฎหมายเหล่านี้ ไม่ใช่เพิ่มกฎหมายที่อันตรายต่อการแสดงออกเช่นนี้เข้าไปอีก[12]
ในปี 2019 องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ออกแถลงการณ์ประท้วงกฎหมายควบคุมการแสดงออกฉบับใหม่ของพระราชาธิบดี ชีค ฟาฮัด บิน อับดุลลาห์ อัล ธานี ที่ครอบคลุมเรื่องการกระจายข้อมูล ข่าวลือ ข่าว หรืองานสื่อสารใดๆ ทั้งในและนอกประเทศ โดยภาครัฐอธิบายว่าเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ไม่ให้ผู้ไม่หวังดีมาก่อกวนความคิดเห็นสาธารณะ และปกป้องระบบสังคมกาตาร์ ซึ่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาขององค์กรนิรโทษกรรมสากลประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง ลินน์ มาลูฟ (Lynn Maalouf) ระบุว่า กฎหมายนี้จะทำให้พระราชาธิบดีแห่งกาตาร์สามารถปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์ได้ และทางการกาตาร์ควรที่จะเพิกถอนกฎหมายเหล่านี้ ไม่ใช่เพิ่มกฎหมายที่อันตรายต่อการแสดงออกเช่นนี้เข้าไปอีก
เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนบนความเลือนรางเหนือผืนทราย
การพยายามหันเข้าหายุคสมัยและค่านิยมสมัยใหม่ไม่เพียงสะท้อนได้จากพระราโชวาท หรือท่าทีในการปกป้องสำนักข่าว Al-Jazeera เท่านั้น แต่ยังแสดงออกผ่านการกระทำด้วยการแต่งตั้ง คาลีด บิน โมฮัมเหม็ด อัล อัตตียาห์ (Khalid bin Mohammad Al Attiyah) ขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในปี 2013 ซึ่งแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติที่มักหวงแหนตำแหน่งสำคัญเช่นนี้เอาไว้สำหรับเชื้อพระวงศ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การพยายามแสดงให้สังคมเห็นถึงระบบการทำงานแบบ ‘ระบบคุณธรรม’ (Merit System) เช่นนี้ก็ยังมีความคลุมเครืออยู่บ้าง เพราะแม้ว่า โมฮัมเหม็ด อัล อัตตียาห์ จะไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ก็ตาม แต่เขาก็ยังคงมาจากตระกูลดังที่เป็นพันธมิตรกับราชวงศ์อยู่ดี
ท่ามกลางหน้าฉากที่มีการสนับสนุนความแตกต่างหลากหลายและการเคลื่อนไหวบนท้องถนนของหลายประเทศ กาตาร์ในช่วงปี 2011 กลับมีการจับกุมกวีที่มีความสำคัญต่อการปฏิวัติอาหรับสปริงอย่าง โมฮัมเหม็ด อัล-ลาจามี(Mohammed al-Ajami) เนื่องจากแต่งบทกวีและผลิตเนื้อหาจำนวนมากบนแพลตฟอร์ม YouTube ซึ่งเป็นการล้อเลียนเสียดสีบรรดาราชวงศ์ในภูมิภาค (ถึงแม้จะไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงว่ากำลังเสียดสีใครเป็นพิเศษก็ตาม) แม้ภายหลังการขึ้นครองราชย์ของพระราชาธิบดี ตะมีม บิน ฮาเหม็ด อัล ธานี ที่ผู้คนเริ่มมองเห็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ทางการกาตาร์ก็ยังไม่ให้การพระราชทานอภัยโทษกวีคนดังกล่าวจนกระทั่งปี 2016 ทำให้นานาชาติต่างวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก
ท้ายที่สุดแล้ว กาตาร์ก็ได้มีการพระราชทานอภัยโทษให้แก่กวีคนดังกล่าว มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะกาตาร์ได้รับเลือกเป็นผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022[13] และต้องการจะแสดงความเป็นประเทศเสรีมากยิ่งขึ้น
ในด้านเสรีภาพ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Freedom House ที่มีการจัดอันดับเสรีภาพของแต่ละประเทศทั่วโลกเป็นประจำทุกปี ระบุว่า กาตาร์เป็นประเทศที่ ‘ไม่มีเสรีภาพ’ ในการประเมินปี 2021 โดยได้คะแนนไปเพียง 25 คะแนน จากทั้งหมด 100 คะแนนเต็ม[14] แบ่งเป็นคะแนนด้านสิทธิทางการเมืองของประชาชน 7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 40 และเสรีภาพของพลเมือง 18 คะแนน จากคะแนนเต็ม 60
ตัวชี้วัดอีกส่วนหนึ่งคือ กระบวนการเลือกตั้งสภาที่ปรึกษาตามรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาเช่นกัน เมื่อตำแหน่งทั้ง 45 ที่นั่ง จะต้องมาจากการเลือกตั้ง 30 ที่นั่ง กลายเป็นว่าตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา พระราชาธิบดีกลับ ‘เลื่อน’ การเลือกตั้งทั่วไปนี้ออกไปเรื่อยๆ และในปี 2017 ก็ได้มีการต่ออายุสมาชิกจำนวนมากที่ถูกแต่งตั้ง จนกระทั่งปี 2019 พระราชาธิบดีได้ให้คำมั่นว่า การเลือกตั้งจะมาถึงภายใน 2 ปีข้างหน้า ทว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2021 ก็ถูกนักวิชาการจำนวนหนึ่งมองว่าไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ในกาตาร์ได้ เนื่องจากอำนาจการบริหารสำคัญๆ อย่างเรื่องความมั่นคงไปจนถึงเศรษฐกิจยังคงอยู่ใต้อำนาจของพระราชาธิบดีและรัฐบาลที่พระองค์แต่งตั้งขึ้นมาทั้งสิ้น[15]
สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ กาตาร์มีจำนวนประชากรที่ไม่ใช่พลเมืองกาตาร์อยู่มากกว่าครึ่ง และจะได้สิทธิในการเป็นพลเมืองต่อเมื่ออยู่อาศัยมานานเกิน 25 ปี ดังนั้นสิทธิในการเลือกตั้ง รวมไปถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอื่นๆ จึงถือว่าเกิดขึ้นน้อยมากในทางปฏิบัติเมื่อเทียบกับการกำหนดทิศทางของประเทศ
วันที่ 10 ธันวาคม 2021 กรมสิทธิมนุษยชน กระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ จัดงานเฉลิมฉลองวันสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ อาห์เหม็ด บิน ฮัซซัน อัล ฮัมมาดี (Ahmed bin Hassan Al Hammadi) กล่าวเน้นย้ำถึงสิ่งที่สมเด็จพระราชาธิบดีได้ตรัสในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 ใจความว่า กาตาร์ยังคงยึดมั่นในการปกป้องสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานของวิถีชีวิตแบบอาหรับและชุดคุณค่าตามหลักศาสนาอิสลาม และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นกระดูกสันหลังหลักของกระบวนการ ‘ปฏิรูป’ ระบบการเมืองของกาตาร์เสมอมา รวมถึงถูกบรรจุเอาไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจกาตาร์ ‘Qatar’s National Vision 2030’ มาตลอดอีกด้วย[16]
ดูเหมือนว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่มองไปถึงอนาคตของพระราชาธิบดีและรัฐบาลของพระองค์จะสวนทางกับภาพที่นานาประเทศมองเห็น ท่ามกลางการเมืองระดับภูมิภาคและเกมแห่งอำนาจของบรรดาราชวงศ์ในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนระอุไม่ต่างจากทะเลทรายของพวกเขา ประชาชนกาตาร์บางส่วนจึงยังคงคาดหวังว่าจะได้เห็น ‘การปฏิรูป’ ที่แท้จริง แม้ว่าการต่อสู้กระแสสูงในยุคสมัยอาหรับสปริงจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม
เชิงอรรถ
[1] LUCA VENTURA. (2021). Richest Countries in the World 2021. Economic Data. Global Finance, From https://www.gfmag.com/global-data/economic-data/richest-countries-in-the-world
[2] Martin Hannan. (2021). Looking back over 50 years since Qatar declared independence from the UK. News, The National, From https://www.thenational.scot/news/19555652.looking-back-50-years-since-qatar-declared-independence-uk/
[3] Qatar. Government and Society. U.S. Department of State, From https://2009-2017.state.gov/documents/organization/160077.pdf
[4] Shura Council. Government Communications Office, From https://www.gco.gov.qa/en/about-qatar/shura-council/
[5] Francesco Lefebvre D’Ovidio. (2021). Reading the Doha agreement, literally. Aspenia Online, From https://aspeniaonline.it/reading-the-doha-agreement-literally/
[6] Qatar FM: Shutting down Al Jazeera not discussed in GCC talks. (2021). Al-jazeera, From https://www.aljazeera.com/news/2021/1/7/qatar-says-shutting-down-of-al-jazeera-not-raised-in-talks
[7] Alex Gatopoulos. (2021). How the Gulf crisis spurred Qatar to expand its military. Al-Jazeera, From https://www.aljazeera.com/news/2021/1/5/the-dramatic-expansion-of-qatars-military
[8] RIAD KAHWAJI. (2021). Qatar’s Massive Increase In Military Power Comes With Political, Logistical Headaches. Breaking Defense, From https://breakingdefense.com/2021/07/qatars-massive-increase-in-military-power-comes-with-political-logistics-headaches/
[9] Andrew Hammond. (2014). Qatar’s leadership transition: like father, like son. Policy Brief. European Council on Foreign Relations (ecfr.eu), From https://web.archive.org/web/20140327081212/http://ecfr.eu/page/-/ECFR95_QATAR_BRIEF_AW.pdf
[10] Qatari royal takes to Twitter to condemn ‘unbearable’ conditions under Sheikh Tamim. (2018) Arab News, From https://www.arabnews.com/node/1390596/middle-east
[11] TIMELINE: The trail of corruption allegations and scandal surrounding the 2022 FIFA World Cup in Qatar. (2019). Arab News, From https://www.arabnews.com/node/1512661/sport
[12] Amnesty International slams new Qatari law restricting freedom of expression. (2020). Arab News, From https://www.arabnews.com/node/1616276/middle-east
[13] Qatar poet Mohammed al-Ajami released after pardon. (2016). BBC, From https://www.bbc.com/news/world-middle-east-35830372
[14] Freedom House. (2021). Qatar. Freedom in the World. Freedom House, From https://freedomhouse.org/country/qatar/freedom-world/2021
[15] Qataris vote in first-ever legislative elections for advisory council. (2021). 24 France, From https://www.france24.com/en/middle-east/20211002-qataris-vote-in-first-ever-legislative-elections-for-subdued-advisory-council
[16] Information office. (2021). The State of Qatar Celebrates International Human Rights Day. Human Rights Department. Ministry of Foreign Affairs, From https://mofa.gov.qa/en/all-mofa-news/details/1443/05/03/the-state-of-qatar-celebrates-international-human-rights-day