กรณีการสลายการชุมนุมที่ทำให้มีผู้สื่อข่าวถูกกระสุนยางหรือถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่อยู่บ่อยครั้ง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564 มีแถลงการณ์จาก 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแสดงถึงความห่วงใยเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 11 เดือนกันยายน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้คนทั้งในและนอกวงการสื่อมวลชนยังคงถกเถียงกัน
ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมและการใช้กำลังสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในการลงพื้นที่ทำข่าวของนักข่าวภาคสนามทั้งที่มีสังกัด ไปจนถึงสื่อพลเมืองที่ไร้สังกัด
ด้วยเหตุนี้ WAY จึงได้ร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์ที่ทั้งเกิดขึ้นไปแล้วและยังดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบันกับนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มงคล บางประภา เพื่อมุ่งหาคำอธิบายต่อสภาพการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกการปะทะตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
นิยามของคำว่าสื่อและหลักเกณฑ์ในการจำแนก
“นิยามกว้างคือ การสื่อสารไปยังบุคคลจำนวนมาก นิยามแคบคือ ผู้สื่อข่าวอาชีพและที่ไม่ได้เป็นอาชีพ”
มงคลกล่าวอย่างรัดกุมเมื่อถูกถามถึงนิยามของการเป็นสื่อในความคิดของตน เขากล่าวว่า ความจริงแล้วเราจะเรียกบุคคลที่สามารถส่งข้อความออกไปยังสังคมเป็นวงกว้างว่าสื่อก็ย่อมทำได้ในบางครั้งเช่นกัน
“บางครั้งจำเป็นต้องจำแนก แต่บางครั้งก็ไม่ต้อง”
เมื่อถูกถามถึงตัวตนของสื่อว่า ในปัจจุบันนี้ใครบ้างที่จะถูกเรียกได้ว่าเป็นสื่อมวลชน มงคลกล่าวว่า โดยส่วนใหญ่แล้วแทบไม่ต้องจำแนกระหว่างสื่ออาชีพและผู้ที่ไม่ได้ทำสื่อเป็นอาชีพ แต่ในบางสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงลงไปมากๆ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องจำแนกว่า ใครคือผู้สื่อข่าวอาชีพ ใครที่ไม่ใช่ผู้สื่อข่าวอาชีพ และใครคือบุคคลธรรมดา
แต่หากมองไปยังสถานะของสิทธิระหว่างผู้สื่อข่าวอาชีพและผู้ที่ไม่ใช่ผู้สื่อข่าวอาชีพนั้น เขาตอบว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจำแนกออกจากกัน เนื่องจากทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสื่อสารที่ไม่ใช่การละเมิด หลอกลวง หรือยุยงปลุกปั่น ซึ่งไม่มีกฎหมายใดห้ามการสื่อสารในลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือเป็นสื่อมวลชนก็ตาม
เมื่อถูกถามถึงกรณีการละเมิดสิทธิจากการจับกุมผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวราษฎร มงคลได้ตอบว่า เขาได้เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ในรายการ ‘มาเถอะจะคุย’ ของ The MATTER ไปแล้วหนหนึ่ง แต่หากจะกล่าวโดยสรุปแล้วถือเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความสามารถขององค์กรวิชาชีพสื่อที่จะรับรองได้ว่าเขากระทำหรือไม่กระทำอะไร อย่างไรก็ตาม มงคลยืนยันสิทธิของพลเมืองในการเข้าไปถ่ายทำหรือเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ได้
“มันไม่ได้ผิดกฎหมายและไม่มีกฎข้อไหนห้าม ผมได้แนะนำไปว่าให้ต่อสู้ในฐานะสิทธิพลเมือง ตรงนี้เราต่อสู้กันไปตามข้อเท็จจริงว่า ถ้าคุณสื่อข่าวโดยไม่ได้ละเมิดใครหรือสร้างความเดือดร้อนให้ใคร คุณก็กระทำได้ และเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิที่จะตั้งข้อหาเกินกว่าเหตุ”
ปลอกแขนสื่อและความคุ้มครองในพื้นที่ปะทะ
มงคลเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงพัฒนาการของปลอกแขนผู้สื่อข่าว โดยกล่าวว่าในอดีตผู้สื่อข่าวการเมืองมักที่จะใช้สัญลักษณ์บ่งบอกต้นสังกัดของตนเองเมื่อต้องไปทำข่าวภาคสนามเสมอ จนกระทั่งเริ่มเกิดความไม่พอใจจากฝั่งผู้ชุมนุม เนื่องจากผู้สื่อข่าวเสนอข่าวไม่ตรงใจกับมวลชน เช่น การคำนวณตัวเลขของผู้ร่วมชุมนุมไม่ตรงกัน เป็นต้น จนผู้ชุมนุมเริ่มเกิดอคติกับผู้สื่อข่าว ทำให้ไม่สามารถใช้สัญลักษณ์บ่งบอกต้นสังกัดได้ ปลอกแขนจึงเริ่มถูกนำมาใช้แทน
ปลอกแขนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า ผู้สวมใส่ไม่ใช่ผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก็ถูกใช้กันเรื่อยมาอย่างไม่เกิดปัญหาอะไร มงคลกล่าวต่อไปอีกว่า ในอดีตแม้แต่ผู้ที่ไม่มีปลอกแขนก็สามารถเข้าไปทำข่าวในพื้นที่ได้ตามปกติเหมือนนักข่าวที่สวมปลอกแขนด้วย
“มันไม่มีปัญหามาตลอด จนกระทั่งมีกติกาเข้ามาจำกัดสิทธิอย่างเคอร์ฟิว ถ้าสังเกตตอนก่อนเคอร์ฟิวคือไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลย”
มงคลอธิบายถึงเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามแบ่งแยก ‘สื่อแท้-สื่อเทียม’ ด้วยการกำหนดว่าต้องมีปลอกแขนเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาเคอร์ฟิว ขณะเดียวกันองค์กรสื่อเองก็พยายามชี้ให้เห็นว่า การรายงานข่าวในช่วงเวลาดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะอาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้
“ทางองค์กรวิชาชีพสื่อจึงไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ว่า หากสังคมปล่อยให้พื้นที่ชุมนุมมีแค่ตำรวจกับผู้ชุมนุมจะทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่มีพยานที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องมีผู้สื่อข่าวที่เรารับรองได้ว่าเป็นผู้สื่อข่าวจริงๆ เข้าไปอยู่ในพื้นที่ด้วย”
มงคลอธิบายถึงที่มาของข้อตกลงระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อและเจ้าหน้าที่เรื่องปลอกแขนสื่อว่า มีความจำเป็นที่สื่อต้องอยู่ในพื้นที่การชุมนุมต่อไปหลังช่วงเวลาเคอร์ฟิว เพื่อจะเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่ายในการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ เนื่องจากสื่อมวลชนจะสามารถเป็นพยานหากเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง แต่ขณะเดียวกันเขาเน้นย้ำว่า เหตุที่จำเป็นต้องให้เป็นสื่อที่มีต้นสังกัดชัดเจนสวมปลอกแขนเข้าไปในพื้นที่นั้น พราะหากเป็นผู้อื่นเข้าไปทำหน้าที่สื่อก็จะอยู่เหนือความดูแลของสมาคมนักข่าวฯ และไม่สามารถทราบได้ว่าบุคคลนั้นจะเข้าไปทำหน้าที่สื่อจริงๆ หรือเอาสถานะสื่อไปทำอย่างอื่นหรือไม่
“แต่เราก็ต้องต่อสู้กันบนหลักฐานข้อเท็จจริง”
มงคลตอบเมื่อถูกถามถึงกรณีนักข่าวและช่างภาพอิสระเข้าไปทำงานอยู่ในจุดปะทะ โดยเขาอธิบายว่าหากมีบุคคลที่ไม่มีปลอกแขนเข้าไปทำหน้าที่สื่อ แต่มีหลักฐานว่าเขาได้บันทึก ได้เผยแพร่ และทำหน้าที่เสมือนสื่อมวลชนมาตลอดนั้น ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการปกป้องตัวของเขาเองได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้สื่อทุกคนเก็บหลักฐานการทำหน้าที่สื่อของตนเองเอาไว้ เพราะมันคือข้อเท็จจริงในการยืนยันตนเอง
“การออกปลอกแขนขององค์กรสื่อเป็นการออกภายใต้สถานการณ์ที่เราไม่สามารถกำหนดกติกาเองได้ เราอยู่ในเกมรับเหมือนกับผู้ชุมนุม แต่เราพยายามต่อสู้ให้มีพื้นที่ของสื่อมวลชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ชุมนุม เพราะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง และเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดีว่ามีภาพเป็นพยานในเหตุการณ์ต่างๆ ได้ด้วย”
ส่วนเรื่องการสวมใส่ปลอกแขนแล้ว แต่ยังถูกยิงด้วยกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตาจนได้รับบาดเจ็บนั้น เขากล่าวว่าที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลายกรณี บางกรณีคือถูกลูกหลงหลังจากผู้ชุมนุมขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่แต่วิ่งมาทางสื่อ
“มันเป็นความเสี่ยงที่ผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์เขาก็รู้ว่าเสี่ยง การจะบอกว่าเข้าไปในสถานที่ชุมนุมหรือพื้นที่สงครามในฐานะผู้สื่อข่าวแล้วจะไม่โดนกระสุนปืนหรือสะเก็ดระเบิด มันเป็นไปไม่ได้ แต่คุณต้องมีองค์กร มีเครือข่าย หรือประสบการณ์ที่เพียงพอว่าช่วงไหนควรถอย ช่วงไหนควรเข้า”
ท่าทีในภาคสนาม ทั้งนักข่าวและเจ้าหน้าที่
มงคลกล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องพูดถึงสำนักข่าวที่มีสังกัดในพื้นที่แล้ว เพราะพวกเขาเหล่านั้นค่อนข้างจัดเจนสนามข่าว ผ่านมาแล้วหลายการชุมนุม รวมไปถึงยังมีองค์กรทางกฎหมายคอยสนับสนุนอยู่
“ผู้ต้องการจะเข้าไปสื่อข่าวในพื้นที่ชุมนุม แต่ไม่ได้มีสังกัดชัดเจน ขอให้รวบรวมหลักฐานของตนเองเป็นเครื่องมือต่อสู้ว่า ตนเองไม่ได้เข้าไปทำอะไรผิดกฎหมาย เพราะหลักฐานบนโลกโซเชียลมีเดียนั้นเป็นหลักฐานที่คงทนถาวร สื่อแล้วมันสื่อเลย”
เขายังคงเน้นย้ำถึงการเก็บหลักฐานของการทำหน้าที่สื่อเอาไว้ใช้ยืนยันและเป็นหลักประกันให้แก่สื่ออิสระในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็กล่าวต่อไปว่า ตราบใดสิ่งที่ถูกสื่อสารออกไปนั้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อน หมิ่นประมาท หรือยุยงให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง สังคมก็ย่อมเข้าใจว่านี่เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้
ส่วนทางฝั่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้น มงคลกล่าวเน้นย้ำว่า ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตั้งข้อหาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ เนื่องจากหากเป็นเช่นนั้นแล้วเจ้าหน้าที่จะถูกเล่นงานเสียเองว่ากระทำการเกินกว่าเหตุ
“ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายกติกา เพียงแต่ว่าเจ้าหน้าที่อาจจะต้องอดทนมากกว่าผู้ชุมนุมเล็กน้อย ต้องทำความเข้าใจว่าเจตนาของผู้ชุมนุมคือ การสื่อสารไปยังสังคม การชุมนุมเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งเท่านั้น”