‘แม่’ ระหว่างบรรทัด

 

ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุไว้ว่า วันที่ 12 สิงหาคม คือวันแม่แห่งชาติ แต่แท้จริงแล้ว ‘วันแม่แห่งชาติ’ เคยถูกจัดในวันอื่นๆ บนปฏิทินมาก่อน

วันแม่ครั้งแรกจัดขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2488 ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา แต่เพียงปีเดียวก็เปลี่ยนวันในครั้งที่ 2 คือ 15 เมษายน 2493 โดยสภาวัฒนธรรม จัดอยู่ได้หลายปีก็ถูกยกเลิก เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมที่เป็น ‘แม่’ ของสภาวัฒนธรรมถูกยุบ

วันแม่ครั้งที่ 3 จัดขึ้นโดยสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ในวันที่ 4 ตุลาคม 2515 เพียง 1 ปี 10 วันก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ก็จัดได้เพียงปีเดียว ก่อนจะเว้นว่างไปจวบจนสี่ปีต่อมา คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม อันเป็นวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นวันแม่แห่งชาตินับตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา และถูกจัดขึ้นทุกปีเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

 

ความเป็น ‘แม่’ ในวรรณกรรม

ในวาระวันแม่แห่งชาติปีนี้ การพูดถึงแม่ของตนเองอาจเป็นวาระที่ขัดเขินเกินไป จึงขอเล่าถึงแม่ในมิติของวรรณกรรมที่ถนัด โดยจะกล่าวถึงแม่ในขอบเขตต่างๆ จากวรรณกรรมสี่เรื่องด้วยกัน ซึ่งกล่าวอย่างสัตย์ซื่อ อยากมีเวลาค้นคว้ามากพอเพื่อจะบอกว่า ตั้งแต่เมื่อใด ที่ตัวตนความเป็นแม่ถูกบอกเล่าเป็นครั้งแรก ดังนั้นเพื่อให้ง่ายเข้าว่า – และได้โปรดอย่าได้ถือสาในความเกียจคร้านนี้ ผู้เขียนจึงขอเลือกหยิบเอาวรรณกรรมที่มีในมือ ซึ่งเนื้อหาบอกเล่าความเป็นแม่ ทั้งแม่ในฐานะผู้ปกครอง แม่ในฐานะตัวแทนของชนชั้นล่างของสังคม แม่ในฐานะผู้หญิงที่ต้องการปลดแอกจากสามีจารีตประเพณี และแม่ในฐานะผู้ต้องผจญห้วงทุกข์ของการสูญเสียที่นำไปสู่การแหลกสลายของความเป็นแม่ มาเป็นตัวแทนของการบอกเล่าเรื่อง ‘แม่’ ระหว่างบรรทัด

 

แม่นาค

ดินหญ้าอยู่ล่าง ฟ้าแถนอยู่บน ผีกับคนด้นแดนแล่นไป มาหากันไม่ขาดหาย เหมือนลมปลายไม้กับลมยอดหญ้า

ข้อความจากบทเปิดของ แม่นาค นิยายซึ่งฉายภาพวิถีชีวิตบรรพชนคนไทย ไม่ได้มีเรื่องราวของบูรพมหากษัตริยาธิราช หรือวีรกรรมนักรบในหลายยุคสมัยเหมือนเรื่องเล่าอื่นๆ แต่เป็นเรื่องราวของแม่นาย หญิงผู้เป็นใหญ่เหนือชายของลุ่มแม่น้ำบ้านพานเมืองแพน อุดมไปด้วยข้อมูลทางโบราณคดี ที่มาที่ไปของคำบางคำ ไม่ว่าจะเป็นหีนะ คุยหะ วาณิชะ ปาปะ นาตะ และที่ขาดไม่ได้ คือ สอดแทรกการแซะจารีตของสังคมที่ทำให้หวนกลับมาพินิจปัจจุบันของลูกๆ หลานๆ แม่นาย

คนพวกนั้นเริ่มลักทรัพย์ข้าวของคนอื่นมาเป็นของตนก็เกิดทะเลาะเบาะแว้งกัน แล้วโกหกพกลมกัน กล่าวหาด่าตีลงโทษกัน นานเข้าก็ตกลงกันให้ยกคนดีมีกิริยาขึ้นเป็นใหญ่ ได้ส่วนแบ่งข้าวเป็นสิ่งตอบแทน คนดีได้ชื่อมหาสมุทร ก่อนต่อมาได้ชื่อกษัตริย์เป็นหัวหน้าเขตแห่งข้าว นานไปอีกเรียกว่าราชา…

บทบาทของแม่นาคไม่ได้จำกัดแค่ในแง่ของ ‘นาย’ แต่ยังรวมถึงการเป็นมือประสาน ทำหน้าที่แม่สื่อแม่ชักเพื่อสร้างสานไมตรี ใช่หักด้ามพร้าจนเป็นความบาดหมาง แม้การกระทำนั้นจะหมายรวมถึงการยกบุตรสาวให้คนที่ตนไม่ชอบ คนที่อาจจะกลับมาทิ่มแทงได้ในภายหลัง ไม่นับรวมการทำหน้าที่ประหนึ่งศาลไต่สวน ทั้งรับฟ้อง ลงโทษ และไกล่เกลี่ยในทุกๆ ข้อพิพาท ทุกคนต่างต้องวิ่งมาฟ้องแม่นาค ในทุกๆ การผิดผี การขอขมาต่อแม่นาค และผี ทุกคนรู้ดีกว่า ใครกันที่พวกตนต้องขอขมาก่อนผี

เมื่อเป็นเรื่องราวของการปกครอง จึงเป็นธรรมดาที่จะเกิดการล้มล้างผู้ปกครองเดิม การเกิดขึ้นของผู้ปกครองใหม่ ในแม่นาค การเกิดขึ้นของผู้ปกครองใหม่มาในนามของศาสนาพุทธ มาในนามของสมณะ ผู้แทนตัวว่าเจริญกว่า เปี่ยมด้วยคุณธรรม ศีลธรรมมากกว่า (จะว่าไปก็คุ้นเคยไม่ใช่น้อย) จากนั้นยืมมือยืมไม้ของผู้คนในปกครองแม่นาคมาเป็นฝักฝ่ายตน ถอนกำลังคนมาสู่ฟากฝั่งของความดี แล้วชี้ประณามกลับไปยังแม่นาคในฐานะของความเลวทราม ในฐานะตัวแทนของผีฟ้า ผีแถน ที่การสยบสมยอม คือ การบูชายัญ

สมณะ ชีปะขาว ในฐานะตัวแทนของพุทธศาสนาที่ไม่อาจปฏิเสธว่าซอกซ้อนลงไปนั้น คือ บทบาทของผู้ชายที่พยายามเข้ามาแทนที่บทบาทของผู้หญิง ผ่านการเกณฑ์บุตรชายของหญิงทั้งหลายในเมืองแพนเข้าสู่เพศของนักบวช เพื่อเลี่ยงการถูกแทงเลือดถวายผีแถน เมื่อแม่นาคได้รู้ว่าสิ่งที่เคยมีกำลังจะหมดไป จึงตะโกนยืนยันได้เพียงว่า

กูไม่เชื่อ กูไม่ยอม ผีหลวงยังอยู่ กูไม่กลัวมึง

แม้ที่สุดแล้ว แม่นาคจำต้องเสียทั้งบุตรชายและหลานชายให้กับการบวช ผ่านพิธีรับขวัญนาคด้วยเสียงโหยหวนคราญครางของแม่นาค

นาคเยอย
เมื่อเจ้าจะเกิดเป็นคน
แม่ปวดท้องทุรนทุราย
หันซ้ายไม่เห็นหน้า
หันขวาไม่เห็นตัว
มองผัวไม่ได้พึ่ง
มองเพื่อนไม่ได้พา
ผีฟ้า มาช่วยผ่อน
หัวเจ้าออกมาก่อนจนหมดขา
เป็นตัวเป็นตนนาคออกมาจากท้องแม่นี้
นาคเยอย

แม่นาค: สุจิตต์ วงษ์เทศ
สำนักพิมพ์: สามัญชน

 

การฟื้นตื่น

อาจไม่ใช่เรื่องราวที่ขับเน้นความเป็นแม่ให้เด่นชัดนัก แต่ก่อนเป็น ‘แม่’ แม่ทุกคนเคยเป็นหญิงสาวมาก่อน เคยเป็นผู้ใฝ่ฝันสู่อิสรภาพที่ไม่ได้ถูกจองจำจาก ‘พ่อ’ ในนามของสามีให้เป็นได้แค่แม่บ้าน – ด้วยความเคารพ หาได้มีเจตนาหมิ่นแคลนหลักอันสำคัญนี้ของทุกครอบครัว – เป็นที่รองรับอารมณ์สามี เป็นแม่ที่ไม่อาจผัดผ่อนต่อลูก แม้จะมีหนังสือเล่มนั้นที่อ่านค้างไว้นานแล้วไม่จบเสียที บทบาทของ เอ็ดน่า ปองติเยร์ เป็นเช่นนั้น

“เอ็ดน่าที่รัก ยังไม่เข้ามาอีกหรือ?” เขาขอร้องอีกครั้ง แต่คราวนี้น้ำเสียงของเขาออดอ้อนวิงวอนอย่างรักใคร่

“ยัง ฉันยังอยากนั่งอยู่ที่นี่อีกสักพัก”

“นี่จะบ้าหรือยังไง” เขาตวาดออกมา “ผมไม่อนุญาตให้คุณนั่งอยู่อย่างนี้ทั้งคืนนะ คุณจะต้องเข้ามาข้างในเดี๋ยวนี้”

ในยุคสมัยที่เรื่องราวของเอ็ดน่าได้ถือกำเนิดเกิดขึ้น อเมริกายังอยู่ในช่วงต้นของยุคอุตสาหกรรม ตัวเอ็ดน่าเป็นผู้หญิงที่อยู่ในฐานะชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง มีสามีร่ำรวย มีลูกสองคน อายุ 5 และ 4 ขวบตามลำดับ

นายปองติเยร์ ผู้สามีค่อนข้างละเลยความรู้สึกของภรรยา ซึ่งการละเลยกับการให้อิสระค่อนข้างมีเส้นบางคั่นอยู่ และหากให้ความยุติธรรม อาจมองได้ว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเขาช่างเต็มไปด้วยงานยุ่งขิง ในขณะที่เขาผิดสัญญากับลูกได้ เขากลับโทษภรรยาที่อยู่กับลูกทั้งวันว่าไม่ใส่ใจและละเลยหน้าที่ความเป็นแม่

เขากล่าวโทษเธอว่าไม่สนใจ และไม่ดูแลเอาใจใส่ลูกเท่าที่ควร ถ้าไม่ใช่หน้าที่ของแม่ที่ต้องดูแลลูกแล้ว มันจะเป็นหน้าที่ของใครกัน ตัวเขาเองมีธุรกิจล้นมือ

เหมือนผู้ชายทั่วไปที่มักเลือกง้อด้วยวัตถุมากกว่าขอโทษจากใจจริง นายปองติเยร์ขอโทษนางปองติเยร์ด้วยการให้เงิน เพราะคิดว่า เธอชอบเงินเช่นเดียวกับผู้หญิงคนอื่นๆ แม้จะเสียใจกับสิ่งที่ทำลงไปทุกๆ ครั้ง แต่นายปองติเยร์ก็คิดว่า นางปองติเยร์ไม่ใช่สตรีที่เกิดมาเพื่อจะเป็นมารดา แน่นอนว่าการตัดสินใครสักคนให้เป็นหรือไม่เป็นคนแบบไหน ไม่ใช่ความยุติธรรมที่จะใช้เพียงกรอบของความเป็นสามีและพ่อมาตัดสินได้

สตรีที่เกิดมาเป็นมารดาจะรักลูกอย่างทูนหัวเกล้า และจะเคารพบูชาสามีเหนือสิ่งอื่นใดในชีวิต พวกเธอจะรู้สึกภูมิใจในภาระอันยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเอกสิทธิ์ของพวกเธออย่างยิ่ง จนยอมลดความสำคัญของตัวเองในฐานะปัจเจกลง

การฟื้นตื่นของเอ็ดน่า จึงเปรียบได้กับการหวนคืนสู่ฐานะที่ควรเป็น ก่อนสถานะความเป็นแม่จะถูกแปะป้ายให้กับผู้หญิง ก่อนสถานะของผู้หญิงจะได้รับการเคารพ ไม่ใช่ในฐานะของผู้หญิงหรือแม่ แต่ในฐานะของมนุษย์

บัดนี้ เธอเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วถึงความหมายของสิ่งที่เธอเคยพูดกับ อาเดล ราตินญอล ครั้งหนึ่งนานมาแล้วว่า เธอจะยอมยกทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เป็นแก่นสารของชีวิตให้แก่ลูกๆ แต่เธอจะไม่ยอมยกชีวิตของตัวเองให้ลูกๆ เป็นอันขาด

 

The Awakening การฟื้นตื่นของเอ็ดน่า: เคท โชแปง
สำนักพิมพ์: สมมติ

 

 

แม่สาลู

เรานิยามความเป็นแม่จากเลือดเนื้อเชื้อไข หรือในฐานะผู้โอบอุ้มคุ้มชู นิยามแบบไหนสำคัญกว่าในหัวใจเด็กกำพร้า กระทั่งในหัวใจลูกผู้ถูกทอดทิ้ง

พี่บอกแม่เรียกเธอว่า ‘แม่สาลู’ แต่ผมไม่สนหรอก เพราะผมชอบเรียกเธอว่า ‘แม่’ แทนตัวแม่ที่จากเราไปตั้งแต่ผมยังจำหน้าไม่ได้

เรื่องราวใน ‘แม่สาลู’ หนึ่งในเรื่องสั้นจาก บรรพสตรี เป็นเรื่องราวของเด็กชายชื่อ จีม ที่ติดแม่เป็นอย่างมาก แม้จะรู้ว่าแม่สาลูไม่ใช่แม่แท้ๆ เป็นแต่เพียงเด็กสาวที่แม่แท้ๆ ของจีม ‘ซื้อ’ มาจากตลาดให้ทำหน้าที่ให้ความอบอุ่นแก่จีม คอยห่มผ้า อาบน้ำ กระทั่งเช็ดก้นเช็ดอึ ในฐานะของแม่ที่ตนเองไม่สามารถทำได้ ก่อเกิดเป็นความผูกผันระหว่างสาลูกับจีมจนเด็กชายเรียกเธอว่าแม่ แทนแม่แท้ๆ กระทั่งอนุญาตให้เข้ามาครอบครองส่วนสำคัญของความรักและความทรงจำที่มีต่อแม่แท้ๆ ที่จีมได้ลืมไปแล้วตั้งแต่แม่จากไปในตอนอายุ 6 ขวบ แล้วให้แม่สาลูเข้ามาแทน

แม่สาลูเป็นใครกัน? นั่นเป็นคำถามที่แทรกเข้ามาระหว่างอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ไปจนกระทั่งจบ ไปจนถึงคำถามต่อการเลือกที่จะจากไปของแม่สาลู ก่อนจะกลับมาหลังติดเชื้อ HIV ตรงกับช่วงเวลาที่จีมเข้าสู่วัยรุ่น

เวลาผ่านไประยะหนึ่ง และแล้วแม่ก็กลับมา

สีสันของแม่ดูสกปรกและยับย่น กลิ่นตัวก็ต่างไป แต่ยังไงๆ ผมก็จำแม่ได้ ไม่ว่าอะไรจะไรเกิดขึ้นกับแม่ ผมก็ไม่มีวันลืม

ถึงจุดนี้ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเดาว่าสาลูไปไหนมา และไปทำอะไร หากแต่เรื่องราวที่ไม่ได้เผยถึงสาเหตุก็กลับทำให้นึกถึงผู้หญิงอีกหลายคนในประเทศที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก นึกถึงแม่ที่จำต้องกล้ำกลืนบางสิ่งเพื่อเลี้ยงตนเองให้พ้นผ่านไปในแต่ละวัน และทนจำรับคำครหาแม่ใจร้าย ทิ้งลูกได้ลงคอ ไว้ในอกเพียงลำพัง

มากไปกว่านั้น การที่สาลูเป็นทั้งอาชีพและโรคที่สังคมรังเกียจ ซึ่งไม่มากก็น้อยล้วนเกิดจากโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำ และเบียดขับผู้คนจำนวนหนึ่งไปสู่ชายขอบที่เหล่าคนดีไม่อยากจะปรายตามอง ในที่สุดก็ผลักผู้หญิงคนหนึ่งไปสู่ความตายเพราะไม่มีเงินซื้อยามารักษา

ใครๆ ก็ว่าผมโตแล้ว และเป็นคนเข้มแข็งมากๆ ผมต้องจำไว้ให้ดี

ผมวางแม่สาลูอย่างระมัดระวังบนผ้าสีขาวสะอาดที่รองก้นหลุม ผ้าสีขาวเหมือนแม่สาลูตอนแรกที่นอนกอดผมมาตั้งแต่แรกเกิด ผมห่มผ้าให้แม่จนมิดชิดเหมือนในหนัง

แล้วเดี๋ยวผมจะค่อยๆ กลบดิน…

‘แม่สาลู’ จากรวมเรื่องสั้น บรรพสตรี: ศรีดาวเรือง
สำนักพิมพ์: สามัญชน

 

เดียวดาย

เมื่อเจ้าเกิดมาเพียงกายเปล่า ตายแล้วจะหวังนำสิ่งใดติดตาม

ถ้อยคำในความหมายอย่าได้ยึดติดอันใดกับชีวิต เป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่จำความได้ หากในความจริง เงื่อนไขของชีวิตไม่ได้อนุญาตให้คนเราเกิดมาโดยไม่ผูกพันกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือคนใดคนหนึ่งโดยไร้อาวรณ์ของความรู้สึก

ยิ่งเมื่ออาวรณ์นั้น คือคนที่รัก คือคนที่ห่วงใย คือลูกในอุทรด้วยแล้ว

ณ ที่ตรงนั้น ดิฉันหมดอาลัยตายอยากโดยสิ้นเชิง แต่ดิฉันก็เดินเข้าไปหามัน ช้าๆ ทีละก้าว ทีละก้าว ดิฉันพูดกับมัน (ดิฉันพูดในใจกับตนเอง) “เสือ ข้าหยุดไม่ได้ และข้าจะไม่หยุดด้วย” และดิฉันก็พูดกับเวฬุ (ดิฉันพูดในใจกับตนเอง) “เวฬุ แม่หยุดไม่ได้ และแม่ก็จะไม่หยุดด้วย” กลิ่นศพมนุษย์เรานี่น่าสะอิดสะเอียนยิ่งกว่าสัตว์ชนิดใดในโลก

ณ เวลานั้น เมียของ เศรษฐีไพรี หารู้ไม่ว่าลูกของตนตายเป็นศพแล้วในอ้อมกอดของ ‘เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง’ แม่ของเวฬุเที่ยววิ่งหาคนที่จะช่วยเหลือไปทั่วทั้งป่า จมดิ่งอยู่ในอาณาเขตของความทรงจำในตนเอง

เด็กคนนี้ใคร ลูกชายของน้องหญิงใช่ไหม ชายคนนั้นพูดอีก ประคองร่างของเวฬุขึ้น เขาตายแล้วนี่ เผาเขาเสียที่นี่เถิด[…]เขายังไม่ตาย ดิฉันจะยังไม่เผาเขาหรอก ดิฉันมองดูฟ้า ฟ้ามืดคำรามโครมครืนราวกับจะพังลงมา

เราอาจจะอหังการมากไป กระทั่งไม่เคยหยุดมองในสิ่งมีชีวิตกะจิริดตั้งแต่ผีเสื้อปีกบางที่อุ้มฝนมาเกินตัวแล้วร่วงหล่น จนคิดว่ามีแต่มนุษย์นี้แหละที่ประสบแล้วซึ่งภูมิปัญญา และนั่นอาจชอบแล้ว ถูกต้องเป็นที่สุด เราจึงคิดว่ามีแต่เราที่มีความรู้สึก

รักและผูกพัน

ซึ่งคงจะจริง เพราะต่อให้องค์ศาสดาสอนเราถึงวิถีหวนคืนกลับไปสู่พระองค์ เรายังคงพอใจในปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกัน มากกว่าปรารถนาเป็นส่วนหนึ่งของชาวประชาเมืองฟ้าเมืองสวรรค์

กี่ร้อยกี่พันปีแล้วที่แม่และลูกหมุนเวียนแปรเปลี่ยน

การเกิดและตายแนบแน่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเหมือนในห้วงความคิดของเมียเศรษฐีไพรี ก่อนบวชเป็นภิกษุณีรำพึง

แท้จริงแล้วเจ้าเป็นใครกันแน่หนอ เจ้ามาจากแห่งหนใดหนอ เจ้าจะไปสู่หนใดของเจ้าหนอ เมื่อตอนที่เจ้าจะมาหาแม่ เจ้าก็ไม่ได้บอกกล่าว แม้แต่ในความฝัน ไม่เคยบอก ครั้นถึงเวลาเจ้าจะจากแม่ไป เจ้าก็ไม่เคยเอ่ยคำลา แม้แต่ในความฝันเช่นกัน ดิฉันกลับเชตวันด้วยมือที่ว่างเปล่า ดิฉันหาไม่ได้เลยแม้แต่สักหยิบมือหนึ่งเมล็ดพันธุ์ผักกาด จากหมู่บ้านที่ไม่เคยมีคนตาย

 

เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง: แดนอรัญ แสงทอง
สำนักพิมพ์: สามัญชน

 

ผ่านมาถึงบรรทัดนี้ ความหมายของวันแม่แห่งชาติสำคัญอย่างไร อาจไม่สำคัญเท่านิยามความหมายของคำว่า ‘แม่’ ที่ไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่จำเป็นว่าแม่นั้นจะเป็นแม่ของเจ้าฟ้า นายหญิง หรือเพียงแม่ที่ถูกซื้อมาจากตลาดข้างถนน

รอวันกลบฝังเพื่อเกิดใหม่ในใจลูก


ขอบคุณ: สำนักพิมพ์ สามัญชน
สำนักพิมพ์ สมมติ

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า