แม่ในเพลง จากผู้มีพระคุณสูงสุดสู่ผู้ทวงบุญคุณไม่หยุดหย่อน

ต้อนรับวันแม่ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่นทางการเมืองและสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่จะอยู่คู่กับชีวิตเราไปอีกพักใหญ่ๆ ในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ได้สร้างช่องไฟน้อยๆ ให้หวนคิดถึงคนใกล้ชิดอย่างแม่ขึ้นมาบ้าง และถึงแม้จะไม่ตรงกับวันเกิดของแม่เราก็ตาม แต่เชื่อว่าเสียงเพลงค่าน้ำนมระทมใจก็ยังบรรเลงช้าเชือนในสักซอกหลืบของความทรงจำแน่ๆ

มีเพลงเกี่ยวกับแม่มากมายที่สร้างภาพประทับให้แม่เป็นคนที่ควรค่าแก่การเคารพรักบูชาดั่งพระมารดาผู้มาโปรด ยอมลำบากตรากตรำเพื่อให้ลูกน้อยของเธอได้รับสิ่งที่ดีที่สุด หากแต่ก็มีเพลงอีกจำนวนหนึ่งที่กล่าวถึงแม่ในมิติอื่นนอกเหนือจากภาพจำลักษณะนั้น โดย ‘แม่’ อาจเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่ประสบความล้มเหลวในการเลี้ยงดูลูก อาจไม่ได้เป็นผู้เบ่งคลอด หรืออาจเป็นคนจู้จี้จุกจิกชวนโมโหก็ย่อมได้

‘แม่’ ผู้มีพระคุณ

แน่นอนว่าสายใยระหว่างแม่ (ผู้ให้กำเนิด) ที่มีต่อลูกนั้น เป็นสายใยที่ถักทอจากความทรหดตลอด 9 เดือนที่ตั้งครรภ์ ไม่มีใครปฏิเสธความเสียสละและความรักที่แม่มีต่อลูกในแง่นี้ได้ เฉกเช่นบทเพลงอมตะที่เทิดทูนให้ความเสียสละของแม่คือบุญคุณอันใหญ่หลวง โดยที่ความกตัญญูและความเป็นคนดีของลูก คือมาตรฐานของรางวัลที่ผู้เป็นแม่ควรได้รับ ดั่งที่ปรากฏในเพลง ‘ค่าน้ำนม’ ของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ในท่อนสุดท้ายที่กำกับและกัดกินหัวใจในคราวเดียวกัน

ค่าน้ำนมควรชวนให้ลูกฝัง
แต่เมื่อหลังเปรียบดังผืนฟ้าหนักกว่าแผ่นดิน 
บวช เรียนพากเพียรจนสิ้น 
หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้น พระคุณแม่เอย
2Pac – Dear Mama

ซึ่งพระคุณของแม่ที่ทดแทนไม่หมดไม่สิ้น ดูจะสอดคล้องต้องกันจนเป็นลักษณะร่วมของมนุษย์ที่ร่วมแบ่งปันความหมายของแม่ว่า แม่นั้นสุดยอดเกินพรรณนาขนาดไหน อย่างแร็ปเปอร์ระดับตำนานอย่าง 2Pac ก็เคยปล่อยเพลง ‘Dear Mama’ ที่กล่าวถึงช่วงชีวิตที่ยากลำบากและมีแต่แม่ที่คอยอยู่เคียงข้างเขาเสมอ

You always was committed
A poor single mother on welfare, tell me how you did it
There's no way I can pay you back
But the plan is to show you that I understand
You are appreciated

‘แม่’ ผู้ขูดรีดฉัน

แม้พระคุณของแม่จะยิ่งใหญ่เหลือคณานับ แต่ประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกันก็อาจเผยถึงมุมมองที่มีต่อแม่ต่างกันออกไป เหมือนกรณีของ Eminem กับเพลง ‘Cleanin’ Out My Closet’ ที่ไม่ได้พูดถึงแม่ในฐานะบุคคลที่น่าเคารพรักสักเท่าไร โดยเดโบราห์ (Deborah) แม่ของ Eminem เคยฟ้องร้องเขากว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เหตุเพราะเธอถูกใส่ร้ายในเพลงของเขา เธอปฏิเสธว่านั่นไม่ใช่ความจริงและถึงกับแต่งเพลง ‘Dear Marshall’ เพื่ออธิบายว่าเธอเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี ขณะที่ทนายของ Eminem ก็บอกว่า ทุกเพลงของ Eminem มาจากเรื่องราวในชีวิตจริงทั้งสิ้น ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์แม่ลูกคู่นี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งดุเดือด

Eminem – Cleaning’ Out My Closet
Goin’ through public housing systems, victim of Munchausen’s Syndrome
My whole life I was made to believe I was sick when I wasn’t
’til I grew up, now I blew up, it makes you sick to ya stomach
Doesn’t it? Wasn’t it the reason you made that CD for me Ma?

ในท่อนดังกล่าว Eminem พูดถึงว่าเขาเป็นเหยื่อของแม่ผู้มีอาการ Munchausen Syndrome By Proxy (MSBP) ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยจะสร้างปัญหาทางสุขภาพให้ลูกของตนเพื่อเรียกร้องความสนใจ Cleanin’ Out My Closet จึงเป็นเพลงชนิดที่ ‘แฉแม่’ และระบายความอัดอั้นตันใจของเขาได้อย่างหนักหน่วงล้างผลาญ

แต่หลังจากคดีสิ้นสุดลง และเดโบราห์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม ความสัมพันธ์ของทั้งสองก็ลดความตึงเครียดลงและพัฒนาไปในทิศทางบวกมากขึ้น เห็นได้ชัดจากเพลง ‘Headlights’ ที่ Eminem ร่วมงานกับ Nate Ruess โดยเขาขอโทษแม่อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงให้อภัยกับเรื่องราวเลวร้ายทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นในวัยเด็ก

But I’m sorry Mama for ‘Cleaning Out My Closet’,
at the time I was angry, rightfully, maybe so
Never meant that far to take it though,
cause now I know it’s not your fault, and I’m not making jokes
That song I’ll no longer play at shows 
and I cringe every time it’s on the radio
Eminem – Headlights ft. Nate Ruess

‘แม่’ ผู้บอกให้เล่นใหญ่เข้าไว้

อย่างไรก็ตาม ‘แม่’ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในพรมแดนความซาบซึ้งในพระคุณที่ยิ่งใหญ่เสมอไป อย่างในซิงเกิลล่าสุดของ Tsunari และ MILLI ในเพลง ‘ฟาด (Whip it)’ ที่เผยให้เห็น ‘แม่’ ในฐานะที่ไม่ใช่ผู้ให้กำเนิด แต่เป็นคนที่คอย empower ให้คนลุกขึ้นมาสู้กับความ fucked up ในชีวิตตัวเอง สรุปสั้นๆ ว่า ชีวิตยิ่งแย่ ยิ่งต้องเล่นใหญ่

แม่บอกเล่นใหญ่เข้าไว้
เล่นใหญ่กว่า รัชดาลัย
ไปให้ไกลที่สุดจำไว้ 
Don’t let nun hold ya
Tsunari, MILLI – ฟาด (Whip it)
ฟาด มาก แม่ สุดฤทธิ์...
Whip it (ay) whip it buss it ฟาดไปทั่วทุกทิศ 
ธรรมดา attitude กูไม่เคยธรรมดา 
Tell me now ... พริกทั้งสวนก็ไม่เผ็ดเท่า me now

‘แม่’ ผู้ใช้ล้างจาน

ขณะที่ ‘แม่ให้ล้างถ้วย’ ของ มาริโอ้ โจ๊ก ft. รำไพ แสงทอง แม้จะพูดถึงแม่ในฐานะของคนที่ออกคำสั่งควบคู่ไปกับการย้ำเรื่องความบริสุทธิ์ของความรักที่มีต่อลูก แต่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนกลับไม่ขานรับที่จะปฏิบัติตามคำสั่ง ก็เพราะขึ้นชื่อว่าวัยรุ่นมันก็อดรำคาญใจไม่ได้ที่แม่ใช้ให้ไปล้างจานอยู่นั่นแหละ ใช้มันทั้งวี่ทั้งวัน จึงบังเกิดความยอกย้อน กวนประสาท จิกกัด และชวนฉุกคิดถึงความหมายของความเป็นลูกที่ดีคนหนึ่ง

ตั้งแต่แม่อุ้มท้องคองเจ้า บ่เคยจ่มเว้า 
ป้อนข้าวป้อนน้ำดูแล แม่ใช้ล้างจาน เจ้าคือขี้ค้าน ขี้ค้านคักแหน่
ควรคิดแทนบุญคุณแม่ ล้างถ้วยให้แหน่ เด้อลูกหล่าเอ้ย...
แม่จักสิอยู่ ได้ฮอดมื้อได๋ ไม้แก่ใกล้ตาย 
เหลือใจลูกชายใช้ยาก บ่เห็นโลงแม่ เจ้าคงบ่แคร์คำแม่ที่ฝาก
ถ้วยสิบใบกับซันไลต์ลูกรัก คันบ่ลำบาก ล้างให้แม่แหน่...
มาริโอ้ โจ๊ก ft. รำไพ แสงทอง – แม่ใช้ล้างถ้วย

หงายการ์ดอุ้มท้องก็แล้ว อ้อนวอนก็แล้ว แต่ลูกก็ยังขี้เกียจและไม่ยอมล้างจานสักที และถึงแม้ตาของมาริโอ้จะเริ่มแดงก่ำด้วยความตื้นตันสำนึกพระคุณแม่ (เหรอ?) แต่มาริโอ้กลับหยิบจานในอ่างใส่ครก ทุบขยี้จานกระเบื้องจนแหลกแตกหัก ก่อนโดนกระสุนเกือกบาทาของแม่ตอบโต้ทันควัน ดูเหมือนการใช้บุญคุณ ความเป็นแม่ และบรรทัดฐานของการเป็นลูกที่ดี ในการจัดวางแกมบีบบังคับให้มาริโอ้ล้างจานนั้น จะยิ่งทำให้เขาต่อต้านไปเรื่อยๆ และยืนหยัดยึดมั่นในอุดมการณ์ (บางอย่าง) ของตัวเองต่อไป ขณะที่ผู้เป็นแม่เมื่อหมดมุกอ้างนั่นอ้างนี่ ก็ใช้กำลังซัดลูกชายขี้คร้านผู้นี้หมายให้ลุกขึ้นมาทำงานบ้านบ้าง

จากที่ไล่เลียงมา ดูเหมือนความเป็นแม่จะตีความไปได้หลากหลาย และไม่ยึดติดกับฟอร์มรูปแบบของ ‘ผู้ให้’ ขณะที่ลูกหรือคนที่ได้อิทธิพลจากความเป็นแม่ ก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับฟอร์มของ ‘ผู้รับ’ หรือผู้ที่ต้องตอบแทนบุญคุณ เพราะเราต่างมีสิทธิที่จะเรียนรู้และผิดพลาดกันได้ โดยที่ไม่ต้องให้ใครหรือคุณค่าชนิดใดมาตัดสินชี้วัดอยู่ร่ำไป

ไม่ว่าผู้คนจะคิดถึงแม่ในฐานะของอะไรก็ตาม แต่วันแม่แห่งชาติปีนี้ เราคงพบเห็นเมสเสจหลายหลากที่อยากสื่อสารกับ ‘แม่’ กันอย่างลึกซึ้ง งดงาม และแฝงนัยความรักกันแบบถึงแก่นโคน

อ้างอิง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า