ตกลงเราด่าประเทศได้ไหม? ฟัง ‘ประเทศกูมี’ ผ่านโสตประสาทและสายตาของ ไชยันต์ ไชยพร

อาจไม่ต้องเท้าความมากกับเนื้อหาในเพลง ‘ประเทศกูมี’ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง แต่ท่ามกลางกระแสที่ถกเถียงกัน เราพบความเห็นบางอย่างต่อเพลงนี้มีหัวข้อน่าสนใจโดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง ‘การด่าประเทศ’ ซึ่งทำให้คนจำนวนไม่น้อยท้วงติงแรงๆ บ้างว่านี่คือการล้างสมองด้วยเสียงเพลงก็มี ยังไม่นับเรื่องอื่นรายทางทั้งเรื่องฉากในเหตุการณ์ 6 ตุลา รวมถึงท่าทีของฝ่ายรัฐที่จะเอาอย่างไรดีกับแร็พเพอร์ฝีปากกล้าเหล่านั้น

ท่ามกลางฝุ่นตลบบนหน้าฟีด เรานำเรื่องนี้ไปคุยกับ ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงเรื่องแนวเพลง บีท จังหวะ แต่หมายรวมถึงศิลปะดนตรีที่เกี่ยวพันกับการเมือง

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เปลี่ยนเร็ว บางคำถามที่เราป้อนเข้าไปก่อนได้รับคำตอบออกมาจึงไม่ทันสมัยเสียทีเดียว เพราะจากเมื่อวานที่ฝ่ายรัฐบาลฮึ่มๆ ว่าจะจัดการอย่างไรดีกับกลุ่ม RAP AGAINST DICTATORSHIP วันนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ออกมาพูดเองว่า “ฟังได้ ร้องได้ แชร์ได้ ไม่ผิด” แต่ไหนๆ ก็ทุ่มเถียงอย่างเกรี้ยวกราดมาตลอดหลายวัน เราจึงคิดว่าถ้อยคำความเห็นของ ศ.ดร.ไชยันต์ ควรได้รับการสื่อสารว่าเขาคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

…..

เริ่มต้นเลย อาจารย์เห็นด้วยกับเพลงนี้ไหม

เห็นด้วยในแง่ไหน ถ้าเห็นด้วยในแง่ของการเป็นเพลงแร็พ ก็คิดว่าเขาทำเพลงแร็พออกมาได้น่าสนใจ ผมนึกถึงเพลงที่คล้ายๆ แร็พเหมือนกัน ชื่อเพลง This Is America (โดย Childish Gambino) ท่วงทำนอง จังหวะ อาจจะไม่ใช่ แต่ว่าเนื้อหามันจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือนำเสนอเรื่องราวของประเทศสหรัฐอเมริกาในทำนองเดียวกับที่ทีมแร็พ (RAP AGAINST DICTATORSHIP) เขานำเสนอเรื่องราวของประเทศไทยเหมือนกัน ซึ่งเนื้อหาพูดในทำนองที่ว่า อเมริกาแย่ เปิดฉากมาก็มีคนแก่นั่งอยู่ แล้วมีคนเอาปืนมายิงข้างหลังหัว ก็รุนแรงเลย

ถ้าว่าด้วยเนื้อหาของเพลง ‘ประเทศกูมี’ มันมีท่อนไหนที่ฟังแล้วเข้าหูหรือไม่เข้าหูไหม

ผมฟังได้ เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นข้อเท็จจริงในมุมหนึ่งซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอย่างนี้จริงๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริง คือไม่ได้เป็นเรื่องเสกสรรค์ปั้นแต่งอะไร จึงไม่น่าจะต้องตระหนกอะไรกันมาก

แน่นอนว่าฝั่งที่ชอบก็พอใจอยู่แล้ว แต่ฝั่งที่เห็นแย้งก็บอกว่า ทำไมคุณต้องด่าประเทศด้วย

ต้องเข้าใจก่อนนะว่ามันเป็นเพลง แล้วเขาเป็นนักร้อง แม้กระทั่งเพลงธรรมดาๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองมันก็ยังมีคนชอบคนไม่ชอบเลย แล้วถ้าเป็นเพลงการเมืองมันก็จะต้องมีคนชอบคนไม่ชอบเยอะ เพราะฉะนั้นชื่อเขาบอกอยู่แล้วว่าเขาเป็นนักร้อง เขาก็ร้องไป เขาก็ชี้ให้เห็นสิ่งที่เขาคิดว่าเขาไม่พอใจ อันนี้มันก็ควรจะรับฟัง ถ้าใครคิดว่าอยากจะแต่งเพลงแร็พที่ออกมาอีกแนวหนึ่งก็แต่งสิ ก็เปิดพื้นที่ไง เหมือนกับดารา BNK (เฌอปราง อารีย์กุล) ที่เข้าไป (รายการเดินหน้าประเทศไทย) ก็มีคนชอบและไม่ชอบ ไม่เห็นจะต้องตื่นเต้นตกใจอะไรกันมากมาย อีกอย่างเขาเป็นนักร้อง คุณจะไปคาดหวังให้เขาทำอะไร เขาก็มีกิจกรรมในแบบของเขา เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่า ถ้าเราต้องการอะไรที่มากกว่าการเป็นนักร้อง ก็คือเราต้องการเห็นคนที่เห็นสิ่งเหล่านี้แล้วกระตือรือร้น หรือมีความ active

ตกลงเราควรด่าประเทศได้หรือเปล่า

คือด่าประเทศตัวเองมันก็หมายความว่า คนเหล่านี้เขาไม่อยากให้มันมีอยู่ เขาต้องการคำอธิบาย เขาไม่ต้องการอยู่กับข้อเท็จจริงที่เขาเห็นด้านเดียวแบบนี้ เขาไม่ได้หมายความว่าเขาเกลียดประเทศนะ ผมคิดว่าคนเหล่านี้ดีไม่ดีรักผืนแผ่นดิน แต่อาจไม่ได้รักชาติเหมือนกับที่คนอีกพวกหนึ่งเข้าใจคำว่า ‘ชาติ’ แบบเดียวกัน

ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องรับฟังอีกแง่มุมหนึ่ง ว่ามันวิพากษ์วิจารณ์เพื่ออะไร วิพากษ์วิจารณ์เพื่อทำให้เราปรับปรุง แต่ถ้าบางคณะ บางวงที่ตั้งหน้าตั้งตาทำเสน่ห์ของวงตัวเองด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ไปตลอด ถึงเวลาหนึ่งคนก็อาจจะคิดว่านี่คือจุดขายใช่ไหม แล้วพอถึงเวลา อิทธิพลทางการเมืองของเขา (ผ่านบทเพลง) ก็จะหมดไป คือฟังเอามันเท่านั้นแหละ

คำว่า ‘จุดขาย’ เราจะเห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะแร็พหรอก คือพวกทอล์คโชว์เดี่ยวไมโครโฟน เขาก็จะด่าไปเรื่อยนะ มันก็เป็นจุดขาย ก็ไปฟังเพื่อความเพลิดเพลินเอามัน แต่อิมแพ็คทางการเมืองจริงๆ นั้น ในที่สุดเมื่อเขารู้ว่านี่มันคือการขายเท่านั้นแหละ มันก็จบแล้ว

ไชยันต์ ไชยพร

การแสดงความไม่พอใจของประชาชนด้วยกันเองเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไหม

พอเข้าใจได้ คือในสังคมอเมริกันก็คงจะมีคนไม่พอใจ แต่เขาก็เข้าใจถึงเสรีภาพที่จะแสดงออก ถ้ามันเป็นการนำเสนอที่บิดเบือน โกหก ปั้นแต่ง ผมคิดว่าอันนั้นก็เป็นเรื่องทางกฎหมายที่ผู้เสียหายหรือผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนต้องไปฟ้องร้องเอา แต่เท่าที่ผมดูเนื้อหามันไม่ได้มีอะไรที่ไปบิดเบือน มันอาจจะเป็นความจริงด้านเดียว แต่มันก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เขาเห็นของเขาแบบนั้น ซึ่งในฐานะนักวิชาการก็เห็นว่านี่คือเสรีภาพของการแสดงออก ผมไม่ได้พูดถึงเสรีภาพทางวิชาการนะ เพราะถ้าเป็นเสรีภาพทางวิชาการนั้น สิ่งที่เขาพูดบางทีมันก็ต้องอธิบายทุกแง่มุม แต่ว่าเสรีภาพในการแสดงออกอันนี้ผมก็ยังคิดว่ามันไม่ได้ไปบิดเบือนข้อเท็จจริงอะไรจนกระทั่งสร้างความเสียหาย

รัฐเองก็ดูเหมือนจะพยายามเอาผิด?

มันน่าจะเป็นคนระดับล่างที่เขาทำหน้าที่ของเขา คืออย่างสมัยก่อนที่ไปแจ้งความว่าใครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตรา 112 ตำรวจก็ไปไม่เป็น ต้องรับแจ้ง คือจะมีตำรวจคนไหนที่บอกว่า นี่หลักฐานคุณไม่เข้า ก็ไม่มี ก็กลัว เพราะฉะนั้นนายทหารระดับล่างที่เขามีหน้าที่ดูแลตรงนี้ เขาก็คงจะต้องเต้นไปตามนั้น ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางข้างบนเขาควรจะอ่อนไหวขนาดไหนหรือเขาควรจะหนักแน่นขนาดไหนกับเรื่องนี้

บางคนบอกว่า การนำฉากเหตุการณ์ 6 ตุลา มาอยู่ใน MV เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้?

มันก็เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดีย เปิดไป 6 ตุลา มันก็มีภาพแบบนี้อยู่ทั่วไป เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอะไร

ฉากตีคน แขวนคอคนใน 6 ตุลา นั้น ผมคิดว่ามันเป็นการนำมาสร้างอารมณ์เพื่อเป็นจุดขายมากกว่าจะจริงจังกับมัน ผมคิดว่าเขาพยายามที่จะดึงอะไรที่มันเร้าอารมณ์ เพราะฉะนั้นคนที่มีประวัติศาสตร์กับ 6 ตุลา ก็อาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย! คุณใช้ผมนะ คุณเอามาขายนะ แต่ทีนี้มันก็อย่างว่านะ ปกติการนำเสนอ พรีเซนเตอร์ การขายของมันก็เอาจุดแบบนี้มา แต่พอมันเป็นการเมือง มันเป็นแร็พทางการเมือง การเอาจุดนี้มาขายมันก็กระทบจิตใจคนเยอะ ซึ่งอันนี้ก็เป็นประเด็นที่เขามีประสบการณ์ 6 ตุลา เขาก็มีสิทธิที่จะไม่พอใจ เพราะผมคิดว่ามันเป็นการขาย แต่ว่าเนื้อหาอื่นๆ มันค่อนข้างร่วมสมัยนะ เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจคนที่เขาคิดว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ก็ต้องมองอีกมุมหนึ่งนะว่ามันเป็นการขายของ ซึ่งพอขายเรื่องการเมืองมันก็เลยเป็นประเด็นมาก

ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เป็นของคน 6 ตุลา?

ก็ไม่ใช่เป็นของเขา แต่เขาก็มีส่วน ฉะนั้นประวัติศาสตร์นี้มันก็ต้องมีการชำระเสียทีไง มันจะเป็นปมปัญหาไปตลอดแหละ แล้วประเทศไทยก็ชอบกวาดอะไรไว้ใต้พรม ก็เลยทำให้เพลงนี้เวลาใช้พร็อพ ฉากนี้ มันก็เลยกลายเป็นว่าคนที่เขาร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลา พวกหนึ่งเขาก็อาจไม่พอใจ

อาจารย์พอใจไหม

ผมเฉยๆ นะ ผมคิดว่ามันเป็นข้อเท็จจริง

ใช้ได้?

ใช้ได้ แต่ผมไม่ได้เป็นคน 6 ตุลา ผมเป็นเด็กอยู่ ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไร

ทำไมดูอาจารย์ไม่ค่อยตื่นเต้น ตกลงเราควรตื่นเต้นกับเพลงนี้ไหม

ผมเฉยๆ นะ ถ้าใช้คำว่า ‘ตื่นเต้น’ อาจจะเป็นลักษณะน่ายินดีนะ ที่คนรุ่นใหม่เขามีปฏิกิริยาแบบนี้ออกมาผ่านการทำเพลง ลองคิดสิว่าถ้าเขาเก็บกด หรือว่าเขาไปใช้กำลัง อันนั้นก็จะไม่ถูก

มันเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ต้องฝากไปที่คนเสพพวกนี้ว่า ให้คิดหลายๆ ด้าน เพราะว่ามันเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริง แต่ว่ามันอาจจะเสนอได้ไม่หมดครบถ้วน ซึ่งมันก็เสนอครบถ้วนไม่ได้หรอก เวลาคนร้องเพลงอกหักอะไรอย่างนี้ ด่าฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง มันก็เป็นการนำเสนอด้านเดียว ไม่ได้ดูอีกมุมหนึ่งว่าที่คุณไปมีคนอื่นหรือว่าอะไรแล้วตัวเองดีแค่ไหน อะไรอย่างนี้ มันก็เพลง

ศิลปะมันเป็นการเร้าอารมณ์ อันนี้พูดมาตั้งแต่สมัยเพลโตแล้วว่า เวลาเราเสพงานพวกนี้เราก็ต้องรู้ว่า จุดประสงค์หลักของพวกที่เป็นศิลปินเขาต้องการเร้าอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด เสียง เพลง หรือเนื้อหา มันเป็นการสร้างอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นรัก โกรธ ชื่นชม เสียใจ มันเป็นเรื่องของการปลุกอารมณ์ ซึ่งศิลปะมันต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ เพราะฉะนั้นนักวิชาการอย่างผมก็มีหน้าที่บอกว่า ฟังนะ มันเป็นเรื่องของอารมณ์ ถ้าคุณอยากรู้ความจริงคุณก็ต้องไปศึกษาหาอ่าน เพราะฉะนั้นก็อย่าไปตื่นเต้นอะไรมาก

ไชยันต์ ไชยพร

ทำไมการเร้าอารมณ์ครั้งนี้กระแสมันจุดติด

ผมคิดว่าแบบฟอร์มของการนำเสนอมันน่าตื่นเต้นดี มีคนเยอะ มีคนหลายคนออกมาร้อง แล้วภาพที่ใช้ก็เป็นภาพขาวดำอะไรแบบนี้นะ ผมคิดว่ามันก็ดึงความสนใจได้ พูดง่ายๆ คือ โปรดักชั่นเขาดี

เข้าใจถูกไหมว่ากระแสสังคมที่มันปูมาตลอด ทุกเรื่องที่เอามาเล่าจึงดูเหมือนโดนๆๆๆ หมดเลย

ก็มีส่วนในการที่ว่ารัฐบาลไปทำอะไรที่ปิดกั้น แล้วก็ยังไม่ปลดล็อค แล้วบางครั้งก็ดูไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ มันก็เลยทำให้เป็นจุดอ่อนของฝ่ายรัฐบาล เพราะว่าถ้ารัฐบาลมีเหตุมีผลพอ เปิดพื้นที่ให้มันเหมาะสมกับช่วงเวลา อารมณ์ร่วมมันอาจไม่ได้มากขนาดนี้ แต่ว่านี่คือเพลง ผมก็ไม่คิดว่ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้เยอะ ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้หมายถึง คนบางคนอาจจะคิดว่าจะกลายเป็น 14 ตุลา อีกหรือเปล่า ที่ผู้คนจะออกมา ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะว่า 14 ตุลา มันไม่มีเลือกตั้ง แล้วรัฐธรรมนูญก็ไม่มี แต่ตอนนี้เรามีกึ่งๆ รัฐธรรมนูญ แต่ว่าก็มีปัญหาว่าระหว่างรัฐธรรมนูญกับมาตรา 44 อะไรจะเหนือกว่าอะไร

ขณะเดียวกันการเลือกตั้งที่รอคอยอยู่ที่ทุกคนจะออกมาเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาล ก็จะประท้วงเพื่ออะไร ในเมื่อมันจะเลือกตั้งอยู่แล้ว คุณจะใช้ความพอใจไม่พอใจใครผ่านการกาบัตรก็ทำได้ พรรคการเมืองที่น่าจะมีจุดยืนใกล้เคียงกับกลุ่มแร็พนี้ก็มี เพราะฉะนั้นก็เป็นช่องทางที่จะไปตรงนั้นได้

ถ้ามีการกดดันตัวศิลปินถึงขั้นจะแจ้งจับจริงๆ อาจารย์คิดว่าจะวางท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร

อ้าว ผมก็จะยืนยันอย่างที่พูดว่า มันเป็นเสรีภาพในการแสดงออก แต่มันคงไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ เพราะผมไม่ได้คิดว่ามันมีเนื้อหาที่เป็นวิชาการ แล้วผมก็ยืนยันว่า เสรีภาพในวิชาการก็ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยนักวิชาการ หมายความว่าประชาชนธรรมดาที่นำเสนออะไรที่เป็นเหตุเป็นผลพยายามมองอย่างรอบด้านก็เป็นวิชาการได้ ทีนี้จุดยืนของผมก็เห็นว่ามันไม่ได้เสียหายอะไร ผมคิดว่ารัฐบาลก็ไม่ควรจะไปแจ้งจับอะไรเขา ก็เปิดพื้นที่ไป ก็เฉยๆ บางทีก็ควรจะยอมรับความจริงที่อยู่ในเนื้อหานั้นที่เขาตั้งข้อสงสัย เช่น เรื่องนาฬิกา ก็น่าจะต้องอธิบาย ส่วนเสือดำก็เป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย มันยังไม่ถึงขั้นที่ว่ายิงแล้วหาคนผิดอะไรไม่ได้ เราก็ต้องคอยจับตาดูไป เพราะคดีความมันใช้เวลานาน

คิดว่าเพลงนี้จะพาสถานการณ์ที่ถกเถียงกันอยู่นี้ไปสู่จุดไหนได้บ้าง

ผมไม่คิดว่ามันจะพาไปสู่จุดไหนได้บ้างหรอก เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะไปบ้าจี้กับตรงนี้ขนาดไหน ผมเคยคิดว่าสิ่งที่เคยน่าห่วงเมื่อต้นปีสำหรับคนบางกลุ่มที่บอกว่า กระแส บุพเพสันนิวาส มาแรงมาก แล้วประเทศจะย้อนถอยหลังอะไร ก็จะเห็นว่าตอนนี้มันก็จบไปแล้ว คนก็ไม่ได้ใส่ชุดแต่งอะไรแบบนั้นอยู่แล้ว มันเป็นศิลปะ มันป๊อป มันเป็นเพลง คำว่าป๊อปมันก็ไม่ใช่ว่าเพลงป๊อปนะ มันคือวัฒนธรรมที่ป๊อปปูลาร์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเร็วดับเร็ว

ไชยันต์ ไชยพร

การต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมา เพลงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเพลงเพื่อชีวิต

เพลงมันไม่ได้มีใครผูกขาดได้ เพลงคืนความสุข ทำตามสัญญา มันก็เป็นเพลงที่รัฐผลิตออกมา นั่นหมายความว่าภาคส่วนของประชาชนก็มีสิทธิเสรีภาพที่เขาจะผลิตออกมาเช่นกัน ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องดีนะ ฝ่ายรัฐบาลก็ดีหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย (กับเพลง ‘ประเทศกูมี’) ก็น่าจะรับฟังว่าขณะนี้คนเขามีความรู้สึกอะไรอยู่ คนที่มีหน้าที่ที่จะต้องไปสร้างความเข้าใจก็ไปสร้าง คนที่มีหน้าที่ที่เห็นแล้วว่ามันเป็นปัญหาแล้วจะแก้ไขอย่างไรก็ทำกันไป ผมก็ยังยืนยันว่าเขาเป็นนักร้อง เขาก็ร้อง อาจจะเป็นแนวอย่างที่เมื่อกี้ว่า มันก็เพลงเพื่อชีวิต เพลงการเมือง ก็ต้องรับฟังไป

อาจารย์เห็นการเคลื่อนไหวผ่านเสียงเพลงจากยุคเพื่อชีวิตมาเป็นแร็พแบบนี้อย่างไรบ้าง

มันก็เป็นไปตามยุคสมัยนะ เพลงพวกนี้สมัยก่อนเป็นเพลงเพื่อชีวิต สมัยนี้ก็เป็นเพลงแร็พ เพลงแร็พก็มีทุกอย่างแหละ มีทั้งความรัก เรื่องโน้นเรื่องนี้สารพัดก็มี แต่ว่าโดยธรรมชาติของแร็พมันก็ก้าวร้าวรุนแรงอยู่แล้วแหละ มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เพราะว่าแฟนคลับของพวกแร็พ พวกใต้ดินมันก็ใช้ภาษาที่แรงขึ้น หยาบคายขึ้น ซึ่งอันนี้โดยรสนิยมส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบหรอก แล้วอย่างมีรายการโชว์อะไรบางอย่างที่โชว์ด่ากัน ถ้าโชว์อยู่ในวงแคบๆ ที่เป็นแฟนคลับกันเองแล้วก็ต้องสมัครสมาชิกที่ไม่เปิดสาธารณะอันนั้นก็น่าจะทำได้ แต่ว่าถ้าเปิดสาธารณะมันจะมีอิทธิพลที่ไม่ดีต่อการแสดงออก แล้วมันก็จะทำให้ง่ายต่อการที่จะทำให้… เมื่อเราใช้วาจาที่รุนแรงได้นะ มันจะทำให้การใช้ความรุนแรงทางร่างกายตามมาไม่ยาก

ที่สุดเราควรตั้งหลักอย่างไร ในภาวะที่กำลังถกเถียงกันอยู่

เรานี่ใครล่ะ

ประเทศ

คือถ้าประเทศ ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ผมก็บอกให้ฟังว่าผมคิดเห็นอย่างไร ผมก็ไม่คิดว่าทุกคนจะเห็นด้วยอย่างผม แต่ผมก็เป็นเสียงหนึ่ง ผมก็มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือว่าประเมินแร็พประเทศกูมีในจุดยืนของผม คนฟังก็น่าจะลองไปคิดรอบด้านถ้าจะแปลงสารนี้ไปสู่การขับเคลื่อนทางการเมือง คิดให้ดีๆ ประมาณนี้ ก็ยังยืนยันว่าเป็นปรากฏการณ์ทางศิลปะ ศิลปิน ดนตรี ที่น่าจะไม่ต้องกังวลตื่นเต้นอะไรมาก

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า