เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (16 สิงหาคม 2566) ณ อาคารรัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้แถลงขอเสนอญัตติด่วนให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบการจัดทำประชามติ ตามพระราชบัญญัติประชามติ พ.ศ. 2564 ด้วยคำถามในการทำประชามติ ครั้งที่ 1 ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรจัดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
หากผลประชามติออกมาว่า ประชาชนมีความต้องการให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะถือว่าประชาชนได้แสดงเจตจำนงที่ชัดเจน ซึ่งสมาชิกรัฐสภาย่อมไม่สามารถขัดขวางเจตจำนงนี้ได้ ด้วยการยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 มาปัดตกเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
นายพริษฐ์ เน้นยํ้าว่า “การจัดทำประชามติ ครั้งที่ 1 จะเป็นกระดุมเม็ดแรกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เราต้องรีบติดให้เร็ว แต่ที่ผมต้องมาแถลงข่าวในวันนี้ก็เพราะว่า ‘ปิศาจ’ มันอยู่ในรายละเอียด และรายละเอียดสำคัญของประชามติที่จะเกิดขึ้นนั้นก็คือตัว ‘คำถาม’ ที่เราจะถามพี่น้องประชาชนในประชามติครั้งนั้น ดังนั้นหากเราต้องการให้ประชามติดังกล่าวนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สามารถสะท้อนฉันทามติของสังคมได้จริง พรรคก้าวไกลจึงเสนอว่า คำถามที่ควรจะถูกใช้ในประชามติครั้งที่ 1 นั้นเป็นดังนี้ อีกทั้งที่มาของ สสร. จะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
นอกจากนี้ นายพริษฐ์ยังได้ให้เหตุผล 4 ประการว่า ทำไมคำถามประชามตินี้จะนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สะท้อนฉันทามติใหม่ของสังคมได้
- เพื่อยืนยันหลักการสำคัญว่าควรมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะพรรคก้าวไกลมีจุดยืนถึงสิ่งนี้มาโดยตลอด เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาตั้งแต่ที่มา กระบวนการ และเนื้อหาสาระ ดังนั้น จึงเป็นคำถามที่มีความสำคัญต่ออนาคตการเมืองไทยและควรถูกบรรจุเป็นคำถามในการทำประชามติ ครั้งที่ 1
- ยืนยันหลักการสำคัญว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยประชาชน
- คำถามประชามติที่เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำหรือสร้างความสับสนเหมือนกับ ‘คำถามพ่วง’ ในการทำประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 เกี่ยวกับอำนาจ สว. ในการโหวตนายกรัฐมนตรี
- คำถามที่มีต่อพรรคการเมือง หลังจากสภาฯ ชุดที่แล้วที่เคยลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในญัตติด่วนที่เสนอคำถามประชามติดังกล่าว ดังนั้นคำถามที่เสนอในครั้งนี้จึงไม่ใช่คำถามใหม่แต่อย่างใด
การเสนอให้ทำประชามติและการเสนอคำถาม อิงอยู่บน พ.ร.บ.ประชามติ 2564 ที่สามารถกระทำได้ 3 ช่องทางผ่านมติของ 1) ครม. 2) ประชาชน 50,000 รายชื่อ 3) รัฐสภา ซึ่งการเสนอของพรรคก้าวไกลนั้นจะเป็นการดำเนินการบนมาตรา 9 (4) ของ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ภาคประชาชนนำโดย ‘กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ’ ได้เสนอให้มีการทำประชามติและเสนอคำถามประชามติ พร้อมทั้งรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อ ส่วนทางพรรคก้าวไกลจะใช้กลไกรัฐสภาในการเสนอญัตติ ซึ่งสามารถทำได้พร้อมๆ กัน เพื่อความรวดเร็ว
พริษฐ์ทิ้งท้ายว่า ขอความร่วมมือจากทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ประกาศเห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาร่วมมือกับก้าวไกลในการพิจารณาญัตตินี้โดยเร็วที่สุด ทันทีที่มีการบรรจุเข้าระเบียบวาระสัปดาห์หน้า และมาร่วมเห็นด้วยกับเราในการยึดคำถามประชามติที่ทุกพรรคเคยลงมติเห็นชอบมาแล้ว