Myanmar Film Nights 2023 แง้มสมุดบันทึกเพื่อนบ้าน ฝันยังไม่สมบูรณ์ ไฟปฏิวัติจึงยังไม่มอดดับ

photo: SEM

เดินเลาะไปตามถนนเจริญนคร ร้านรวงติดไฟประดิษฐ์ส่งสัญญาณผลัดเปลี่ยนโมงยาม โปสเตอร์ผ้าฝ้ายเปื้อนภาพผีเสื้อแดงและตัวอักษร ‘Myanmar Film Nights 2023’ ห้อยประดับทางเดินขนาดกะทัดรัดระหว่างตึกคูหา

เราเดินเข้าไปโดยมีแมวส้มนำทาง มีแมวขาวลายดำเป็นพนักงานต้อนรับ เราพบใบหน้านายพลมิน อ่อง หล่าย บนกระดาษเขรอะๆ แนบไปกับพื้นราวแผ่นหินในสวน แมกไม้จำนวนพอเหมาะถูกจัดวางเพื่อกำหนดขอบเขตของลานโล่งเล็กๆ กลางถิ่นแถบกรุงธนบุรี

ผืนผ้าใบขนาดใหญ่ตั้งฉากกับพื้นคอนกรีต ผู้คนคลาคล่ำ อาหารต่างถิ่น สำเนียงแปลกหู เสื่อสาดถูกปูจับจองเป็นที่นั่งสำหรับเทศกาลภาพยนตร์สัญชาติเมียนมา ซึ่งเล่าเรื่องการต่อสู้ของประชาชนภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 หรือ 2 ปีที่แล้ว

ฟ้ามืด ไฟหรี่ลง จอหนังสว่าง ชาร้อนในมือ ยำทวายเต้นระริกในกระเพาะ สายตาทุกคู่จับจ้องพ้องกันที่ผ้าใบสี่เหลี่ยม  

-1-

“ดีใจไหมที่ไม่มีขา” เด็กชายเอ่ย

“ดีใจไหมที่สวมหน้ากาก” ยักษ์ตอบด้วยคำถาม

“แม่บอกว่า เราถอดหน้ากากออกไม่ได้ในประเทศที่ห้ามเปล่งเสียง” เด็กชายว่า

“การปฏิวัติที่นายพูดถึงคงอีกนานกว่าจะสำเร็จ อย่าเอาชีวิตไปทิ้งในป่าเลย” เสียงหญิงสาวจากดาวรัฐประหารติดต่ออดีตคนรัก

ส่วนหนึ่งของบทสนทนาอันไม่ปะติดปะต่อจาก Belue Gadone (2022)

-2-

“ทำไมเธออยากเป็นผีเสื้อล่ะ”

“ฉันชอบที่หนอนหน้าตาอัปลักษณ์ กลายร่างเป็นผีเสื้อหลากสีสันได้”

หลังทหารครองอำนาจไม่นาน คนเมียนมาล้วนมีกลวิธีต่อสู้และต่อรองกับชีวิตของตนเอง ผลคือ พวกเขาหลายคนถูกจับตาและจับกุม

แม่พรากจากเรือน พ่อพรากจากลูก คู่รักเลิกรา ตำรวจบางรายละทิ้งเครื่องแบบ เสียงเคาะถ้วยชามรามไหปลุกคนที่หลับใหลคาจอซีรี่ส์ Big Bang Theory (2007-2019) คนหนุ่มสาวหนีเข้าป่าจับอาวุธแนบกาย บ้างหนีเข้าประเทศเพื่อนบ้านเพื่อฝากฝังชีวิตไว้กับโชคชะตาอันไม่เชื่อง

หลากหลายเส้นเรื่องยังค้างเติ่ง ไร้บทสรุป และการต่อสู้กำลังดำเนินต่อไปใน Myanmar Diaries (2022)

-3-

“ฉันสูบบุหรี่เยอะมาก”

“ทีแรกสูบเพราะอยากเท่”

“ตอนนี้สูบเพราะอยากสูบ”

“เขาว่าสูบแล้วจะหนีพ้น”

“แต่ฉันสูบทีไรก็หนีไม่พ้นซะที”

“ขณะที่หมู่บ้านในภูมิภาคซะไกง์กำลังถูกเผา”

“เรายังนั่งสูบบุหรี่กันอยู่ตรงนี้”

เธอคิดถึงบ้าน รู้สึกผิด และอ่อนล้า ในหมู่บ้านห่างไกลตามตะเข็บชายแดน เธอทำได้เพียงสร้างไดอะล็อกกับโลกเก่าที่ตายไปแล้ว นี่เป็นส่วนหนึ่งของบทรำพึงใน My Lost Nation (2022)

-4-

“ฉันสักลาย ‘การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ’ ไว้บนไหล่”

“พวกมันจับหน้าอกฉันขณะพูดว่า ‘กล้าดียังไงถึงสักลายปฏิวัติ’”

“ที่บัดซบที่สุดคือ พวกมันถามฉันว่า ‘อยากเป็นนักปฏิวัติเหรอ’ ‘อยากจับปืนเหรอ’” 

“พวกมันบอกว่า ‘อย่าจับปืนเลย มาจับค*ยกูดีกว่า’”

“พวกมันบอกว่า ถ้าอยากออกไปจากสถานที่ไต่สวน ให้นอนกับพวกมัน”

ทหารคิดผิดถนัดที่จะดับไฟปฏิวัติในใจเธอ เพราะเธอหนีจากขุมนรกสำเร็จ และด้วยหัวใจที่ไม่อาจบุบสลาย การปฏิวัติยังคงลุกโชนต่อไป นี่คือบทบันทึกคำให้การของเหยื่อใน The Red (2022)

ถัดจากการฉายภาพยนตร์ วงเสวนาเล็กๆ ถูกจัดขึ้นเพื่อทบทวน แลกเปลี่ยน และหาลู่ทางเดินต่อไปในโลกนอกจอหนังที่ความรุนแรงยังไม่มอดดับ

“พอครบรอบ 2 ปี รัฐประหารเมียนมา สำนักข่าวหรือโซเชียลมีเดียจะพูดถึงประเด็นรัฐประหารในเมียนมาเยอะมากๆ แต่ที่ผ่านมา เราไม่ค่อยเห็นโซเชียลมีเดียพูดถึงประเด็นความรุนแรงในเมียนมา ทั้งที่มันมีประเด็นตลอดและไม่เคยหยุดนิ่ง” ปานเว นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน และศิลปินชาวเมียนมาที่อาศัยในไทย ตั้งคำถามว่า ควรทำอย่างไรเพื่อให้ประเด็นเหล่านี้ถูกหล่อเลี้ยงร่วมกันในสองสังคม

“ผมเข้าใจดีว่านักเคลื่อนไหวทั้งในไทยและเมียนมาต่างมีข้อจำกัด ตอนนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ต้องถอดบทเรียน

“เราถูกล้างสมองด้วยประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เราไม่ชอบกัน แต่ในยุคนี้ เราสามารถมีประวัติศาสตร์ฉบับประชาชนที่ทุกคนสามารถร่วมสร้างได้” ปานเวกล่าว

“สิ่งที่เราทำได้คือ อย่าปล่อยให้คนเมียนมาสู้อย่างเดียวดาย เรามีพี่น้องทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาอยู่ในประเทศไทย เราจึงควรเป็นกำลังใจให้กันและกัน สู้ไปด้วยกันเพื่อให้ประชาธิปไตยทั้งในไทยและเมียนมากลับคืนมาในเร็ววัน” ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พุทธณี กางกั้น ผู้อำนวยการ The Fort องค์กรไม่แสวงผลกำไรและพื้นที่สำหรับนักสร้างการเปลี่ยนแปลง (changemakers) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์โรฮิงญาจนถึงการรัฐประหาร อาเซียนได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน ถึงอย่างไร ในฐานะภาคประชาสังคม พุทธณีสรุปข้อเสนอ 4 ประการต่อรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไขวิกฤตรัฐประหารเมียนมา

หนึ่ง-รัฐบาลไทยไม่ควรผลักผู้ลี้ภัยกลับประเทศ และไม่ควรขัดขวางการทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขององค์กรภาคประชาสังคม สอง-รัฐบาลไทยควรออกใบอนุญาตชั่วคราวให้ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา สาม-รัฐบาลไทยต้องยกเลิกข้อสงวนข้อที่ 22 ‘ไม่คุ้มครองผู้ลี้ภัยเด็ก’ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก สี่-หากรัฐบาลไทยจะสมัครคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ไทยย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงการแก้ไขวิกฤตในเมียนมาได้

“ไม่ว่าจะสู้กับเผด็จการประเทศไหน เราสู้กับปิศาจตัวเดียวกันอยู่ ถ้าประเทศหนึ่งบรรลุประชาธิปไตยได้ อีกประเทศหนึ่งก็จะบรรลุได้เช่นกัน ดังนั้น เราต้องจับมือกันให้แน่นยิ่งกว่าเดิม ให้แน่นยิ่งกว่าเผด็จการจับมือกันเอง” เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรม

สารจากภาพยนตร์ก็ดี หรือสารจากวงเสวนาก็ดี ไม่เพียงแต่หล่อเลี้ยงเชื้อไฟในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ยังเป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่ง ความแตกต่างทางวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากเส้นสมมุติรัฐชาติ ไม่สามารถตัดแบ่งบรรยากาศของยุคสมัยและลมหายใจของเพื่อนมนุษย์ได้

ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรมฉายภาพยนตร์และเสวนา ภายในงานยังมีศิลปะการแสดงสด อ่านบทกวี และมีอาหารเมียนมาฟรีสำหรับผู้เข้าร่วมงาน 

Myanmar Film Nights จัดแสดงไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่กรุงเทพฯ และจะจัดแสดงอีกครั้งในวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2023 ณ สนามบาส คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่เสียค่าใช้จ่าย

รายละเอียดเพิ่มเติม

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า