พม่าวันนี้: สันติภาพอันริบหรี่ เมื่อทุนสีเทาผนึกเผด็จการคอร์รัปชัน

การรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองในพม่า (เมียนมา) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นับเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่กองกำลังของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจการปกครองโดยอ้างช่องว่างในรัฐธรรมนูญประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นำกำลังกองทัพเข้าควบคุมตัวนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State Counsellor) และผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ประธานาธิบดี วิน มยิ้น และผู้นำระดับสูงในพรรคอีกหลายคน นำมาสู่การปราบปรามประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอย่างรุนแรง 

การรัฐประหารนำไปสู่สงครามกลางเมืองและเกิดแนวรบตามแนวชายแดนมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากขบวนการเยาวชน นักศึกษา ปัญญาชน และประชาชนทั่วไปในเมืองใหญ่แล้ว ยังเกิดการผนึกกำลังลุกขึ้นต่อต้านของชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ยอมรับการยึดอำนาจการปกครองของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และพวก

หลังการปราบปรามอย่างหนัก ประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารหลายกลุ่มหนีออกจากหัวเมืองต่างๆ ไปเข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ และตั้งเป็นกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defence Force: PDF) จนเกิดกลุ่มพันธมิตรระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ขึ้น โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง คะฉิ่น และฉิ่น เป็นต้น ปฏิบัติการของ PDF และพันธมิตรสร้างความเสียหายให้กับกองกำลังของ มิน อ่อง หล่าย อย่างมาก จนเกิดการเปิดฉากโจมตีฐานปฏิบัติการของ PDF และกองกำลังกลุ่มอื่นๆ เรื่อยมา ตั้งแต่รัฐคะฉิ่นในภาคเหนือ-รัฐกะเหรี่ยงทางตอนกลาง ภัยสงครามและการสู้รบที่รุนแรงขึ้นทำให้มีผู้อพยพที่หนีภัยสงครามเข้ามาตามแนวชายแดนไทยจำนวนมาก

การต่อสู้ของรัฐบาลพลัดถิ่นและกองกำลังพันธมิตรชนกลุ่มน้อย

หลังเกิดรัฐประหาร แกนนำสมาชิกพรรค NLD และแนวร่วม โดยเฉพาะคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw: CRPH) 17 คน ซึ่งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งสหภาพ สภานิติบัญญัติของพม่าที่ถูกยึดอำนาจ ได้ประกาศตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นโดยใช้ชื่อว่า ‘คณะรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ (National Unity Government: NUG) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 เรียกร้องนานาชาติให้การยอมรับรัฐบาลพลัดถิ่นแทนที่รัฐบาลของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย โดยมีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี รองประธานาธิบดีจากชาติพันธุ์คะฉิ่น นายกรัฐมนตรีชาติพันธุ์กะเหรี่ยง รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสหพันธรัฐ ที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ฉิ่น เป็นต้น

รายชื่อคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพลัดถิ่น ประกอบด้วย

อูวินหมิ่น ประธานาธิบดี
อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ
ดูว่า ละฉี รองประธานาธิบดี และ มันวิน ไข่ตัน นายกรัฐมนตรี

  1. กระทรวงกลาโหม: รมว. อูเหย่มุ่น / รมช. ด่อขิ่นมะมะเมียว และไหน่กองยอด
  2. กระทรวงศึกษาธิการ: รมว. ส่อเหว่โส่ / รมช. จ่าถ่อยป่าน
  3. กระทรวงสาธารณสุข: รมว. ส่อเหว่โส่ / รมช. ดร.ส่วยโป่ง
  4. กระทรวงกิจการสหพันธรัฐของสหภาพ: รมว. เลียนหม่อสาข่อง / รมช. อูชิดทุน และไมวินทุน
  5. กระทรวงการต่างประเทศ: รมว. ต่อสิ่น ม่านอ่อง / รมช. อูโมส่ออู
  6. กระทรวงกิจการภายในประเทศและตรวจคนเข้าเมือง: รมว. อูละหวิ่น / รมช. ขู่แทบู
  7. กระทรวงมนุษยธรรมและการบริหารจัดการภัยอันตราย: รมว. วินเมียตเอ / รมช. หน่อทูพอ
  8. กระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ: รมว. ดร.ซาซา
  9. กระทรวงทรัพยากรและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม: รมว. คาเลนทูฮอง / รมช. คุนบีทู​
  10. กระทรวงวางแผน การคลัง และการลงทุน: รมว. ทินทุนไหน / รมช. มินเส่ย่าอู
  11. กระทรวงกิจการสตรี วัยรุ่น และเด็ก: รมว. หน่อ ซูซานนา / รมช. ด่ออิติ่นส่าหม่อง

วิกฤตที่เกิดจากการรัฐประหารโดยกองทัพของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในครั้งนี้ ในด้านหนึ่งทำให้เกิดการสามัคคีปรองดองระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ขึ้น เพื่อยืนหยัดต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าที่ถือเป็นศัตรูร่วมในสถานการณ์ แม้ว่าพม่ามีกลุ่มชาติพันธุ์หลักคือคนพม่าประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ราว 135 กลุ่ม แต่มีกลุ่มใหญ่ๆ คือ ชาวโรฮิงญา ชาวยะไข่ ชาวมอญ ชาวไทใหญ่ ชาวกะเหรี่ยง คะฉิ่น คะยา ฉิ่น เป็นต้น โดยแต่ละชนกลุ่มน้อยก็มีสมาชิกจำนวนมากนับล้านคน พวกเขาอยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนรัฐบาลทหารจะสถาปนาสหภาพพม่าหลังได้รับเอกราชเสียอีก และที่ผ่านมามีสัญญาสงบศึกร่วมกัน


แต่ต่อมาสัญญาสงบศึกก็ถูกฉีกทิ้ง เมื่อหลายกลุ่มปฏิเสธคำสั่งกองทัพทหารพม่า ที่เรียกว่า ‘ตัตมาดอว์’ ซึ่งสั่งให้กลุ่มชาติพันธุ์หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังป้องกันชายแดน (Border Guard Force) ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ปี 2551 ที่กองทัพเป็นผู้ร่างขึ้น คะฉิ่นเป็นกลุ่มแรกที่ตัดสินใจฉีกสัญญาสงบศึก และจับอาวุธต่อสู้รอบใหม่ในปี 2554 รัฐบาลของ พลเอกเต็ง เส่ง ที่กองทัพให้การหนุนหลัง จึงเริ่มสัญญาสงบศึกรอบใหม่ขึ้นในปี 2556 และเจรจาจนกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม (จาก 15 กลุ่ม) ยอมลงนามในเดือนพฤศจิกายนปี 2558 โดยสัญญาสงบศึกครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลอองซานซูจี ปี 2561 เมื่อพรรคมอญใหม่ และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (Lahu Democratic Union: LDU) ประกาศเข้าร่วมด้วย มีการเปิดประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 ขึ้นและเชิญกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาสงบศึกเข้าร่วม โดยมีนายบัน คีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติในเวลานั้นร่วมเป็นสักขีพยาน

แม้ในช่วงเวลา 5 ปีของรัฐบาลอองซานซูจี ที่กำกับโดยกองทัพตัตมาดอว์อยู่ข้างหลังตามรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุมปางโหลงเพียง 4 ครั้ง เพื่อนำไปสู่สหพันธรัฐ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างก็มีความหวังว่า หลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2563 จะเป็นโอกาสสานต่อการประชุมให้ไปสู่กระบวนการสร้างสันติภาพต่อไปได้ แต่ก็มาเกิดการยึดอำนาจโดย มิน อ่อง หล่าย และกองทัพทหารพม่าเสียก่อน


แม้ว่าหลายกลุ่มชาติพันธุ์จะยังมีความสงสัยคลางแคลงในความจริงใจของกลุ่มการเมือง เช่น พรรค NLD ของนางอองซานซูจีอยู่บ้าง จากการเป็นรัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีนโยบายรุกรานรัฐยะไข่และนำไปสู่การฆ่าล้างชาวโรฮิงญา ตามที่ ‘เจ้ายอดศึก’ ผู้นำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในรัฐฉาน บอกกับนักข่าวว่า เขาให้การสนับสนุน CRPH ในระดับหนึ่งเท่านั้นแต่ไม่ใช่ทั้งหมด โดยเรียกร้องให้กองทัพพม่าหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาประท้วง และพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของการก่อตั้งระบอบการเมืองใหม่หากสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ แต่หลายกลุ่มก็พร้อมเข้าร่วมกระบวนการประสานงานกัน แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างเพื่อร่วมกันต่อสู้กับกองทัพพม่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (Karen National Union: KNU) สภาฟื้นฟูรัฐฉาน (Restoration Council of Shan State: RCSS) กองทัพคะฉิ่นอิสระ (Kachin Independence Army: KIA) เป็นต้น โดย ดร.ซาซา ทูตพิเศษประจำสหประชาชาติของ CRPH ได้ออกมายืนยันว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้เกิดความสามัคคีเพิ่มขึ้นอย่างมากในผู้คนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอ ครู นักศึกษา วิศวกร และแรงงานทั้งหลาย

สงครามยืดเยื้อ แต่คนหนุ่มสาวยังไม่สิ้นความหวัง

ปัจจุบันนี้ พม่ามีกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่ประมาณ 25 กลุ่ม โดยมีกองกำลังอาวุธตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จนถึง 30,000 คน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดน่าจะมีกองกำลังที่พร้อมสู้รบรวมกันประมาณ 70,000-100,000 คน ขณะที่กองทัพตัตมาดอว์ของพม่ามีกำลังพลอยู่มากกว่า 400,000 คน รวมถึงพลเรือนติดอาวุธหรือกองกำลังอาสาสมัครที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของกองทัพที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครันอีกกว่า 100,000 คน ความขัดแย้งครั้งนี้จึงอาจยืดเยื้อและสู้รบกันอีกยาวนาน หากไร้ซึ่งเวทีเจรจาระหว่างประเทศและหนทางสร้างสันติภาพร่วมกัน

หลังรัฐประหารไม่นาน มีการประท้วงติดต่อกันโดยคณะกรรมการเพื่อการประท้วงหยุดงานทั่วประเทศ (GSCN) ซึ่งจัดตั้งโดยเยาวชนที่เป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ 27 กลุ่มในพม่า ขบวนการนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ผู้ประท้วงส่วนใหญ่มาจากชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่หลากหลาย รวมตัวกันเพื่อเป้าหมายในการขับไล่ระบอบเผด็จการของ มิน อ่อง หล่าย และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2551 เรียกร้องสหพันธรัฐประชาธิปไตยพม่า รวมถึงให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมทางการเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ยังมองไปถึงเรื่องการมีระบอบการเมืองในแบบที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมและอิสระในการปกครองตนเอง ขณะที่สมาชิก NLD ส่วนใหญ่ยังคงเน้นข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำพรรคและให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นี่คือความต่างของกลุ่มชาติพันธ์กับพรรคการเมืองในระดับแนวทางเชิงโครงสร้าง-สถาบันทางการเมืองในพม่าในห้วงเวลาตั้งแต่ก่อนหน้านี้มาถึงปัจจุบัน

ระหว่างการต่อสู้ยืนหยัดของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF ในห้วงที่ผ่านมา กองทัพทหารพม่าเปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มฝ่ายต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะหมู่บ้านในฐานที่มั่นของสหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNU) อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พลเรือนจำนวนมากเสียชีวิต และอีกนับหมื่นชีวิตอพยพหนีภัยสงครามข้ามแดนมายังฝั่งไทย และถูกผลักดันกลับไปหลายครั้ง ทำให้สถานการณ์แนวรบด้านตะวันตกของประเทศไทยไม่เปลี่ยนแปลง

ความขัดแย้งครั้งนี้ได้ทำลายความหวังอันริบหรี่ที่จะเห็นสันติภาพของพม่าให้มอดดับลงเรื่อยๆ กองทัพคะฉิ่นอิสระ (KIA) บอกกับสำนักข่าว Myanmar Now ว่า ในเมื่อกองทัพพม่าไม่ได้หยุดปฏิบัติการปราบปรามผู้ประท้วง พวกเขาก็จำเป็นต้องเปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลบ้างเพื่อเป็นการตอบโต้ กองทัพพม่าจึงตัดสินใจเปิดศึกกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นทางการและเกิดการสู้รบอย่างดุเดือดในหลายพื้นที่

โดยเฉพาะแถบเมืองเมียวดี บริเวณพรมแดนที่ติดกับจังหวัดตาก โดยองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทัพกะเหรี่ยงภายใต้ KNU และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ยาวไปจนถึงบริเวณจังหวัดผาปูน ตรงข้ามอำเภอสบเมย และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย เจ้าหน้าที่ KNU ให้ข่าวกับสื่อมวลชนไทยว่า อีกสาเหตุหนึ่งของการโจมตีรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญเกิดจากการที่ KNU ไม่ยอมเปิดเส้นทางให้กองทัพพม่าส่งเสบียงไปให้ทหารตัตมาดอว์ ขณะที่พื้นที่ชั้นในอันเป็นที่ตั้งกองทัพและชุมชนชาติพันธุ์ มีคนหนุ่มสาวจากหัวเมืองใหญ่จำนวนมาก รวมถึงศิลปิน ดารา นางแบบ นักร้อง ต่างเดินทางเข้ามาร่วมฝึกอาวุธและตั้งใจที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ทุนสีเทา ธุรกิจค้ายา และเครือข่ายอุปถัมภ์

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าของรัฐบาลพลัดถิ่นและกองกำลังพันธมิตรชนกลุ่มน้อยยังคงดำเนินต่อไป สงครามภายในพม่ายังคงคุกรุ่นไปด้วยกลิ่นควันปืนตามแนวรบริมชายแดนและแนวป่าไม่ต่างจากเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ท่ามกลางการปราบปรามของกองทัพตัตมาดอว์ที่นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นหลังพิงของเผด็จการทหารพม่า และฝ่ายประชาธิปไตย เช่น จีน รัสเซีย สหรัฐ และประเทศซีกโลกตะวันตก ซึ่งสุดท้ายสงครามภายในของพม่าอาจจะกลายเป็นสงครามตัวแทนของมหาอำนาจภายนอกไปด้วย ท่ามกลางความคาดหวังที่ประเทศไทยและอาเซียนควรมีบทบาททางการทูตในการสร้างสันติภาพและประชาธิปไตยในพม่า โดยยืนหยัดหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด

หลังพิงส่วนหนึ่งของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และผู้นำกองทัพพม่า คือ กลุ่มทุนธุรกิจและพันธมิตรที่สำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจของพ่อค้ายาเสพติดข้ามชาติในแผ่นดินพม่าที่มีเครือข่ายใหญ่โตและอุปถัมภ์รัฐบาลทหารพม่าเสมอมา และในปัจจุบันพม่ายังคงเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากอัฟกานิสถาน หรือมีสัดส่วนเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตทั้งหมดในโลก ตามรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ

สตีเวน ลอว์ (Steven Law) บุตรชายของ โล ซิง ฮัน อดีตราชายาเสพติดโลกผู้ล่วงลับ กลายมาเป็นผู้มีบารมีที่สุดคนหนึ่งที่คอยเดินตามคณะรัฐมนตรีและผู้นำกองทัพ เขาเป็นผู้อำนวยการบริหารกลุ่มธุรกิจ Asia World แทนพ่อ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดของพม่าในปัจจุบันที่เติบโตขึ้นจากสัญญาสัมปทานจำนวนมากมายจากรัฐบาลทหารพม่า ทั้งการก่อสร้างท่าเรือ ทางหลวง สนามบิน และอาคารสำนักงานของรัฐบาล ขณะเดียวกัน Asia World ก็เป็นนายทุนสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าไปในตัว ขณะเดียวกันก็เข้าหาพรรค NLD ในช่วงที่ร่วมเป็นรัฐบาลด้วย

ต่อมาเขาแต่งงานกับซีซิเลีย อึง (Cecilia Ng) นักธุรกิจหญิงชาวสิงคโปร์ เงินทุนจากการค้ายาเสพติดบางส่วนได้ผนวกกับเงินทุนใหม่ ก่อนจะถูกยักย้ายถ่ายเทสู่โลกธุรกิจตะวันตก รวมทั้งสู่ตลาดหุ้นของประเทศต่างๆ สิงคโปร์ซึ่งพัฒนาตัวเองสู่ความเป็นศูนย์กลางตลาดทุนในเอเชียถูกวิจารณ์ว่าเป็นแหล่งฟอกเงินให้กับพ่อค้ายาเสพติดและเผด็จการคอร์รัปชันในภูมิภาคไปโดยปริยาย จนกระทั่งในปี 2551 จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศคว่ำบาตรบริษัทธุรกิจ 10 แห่งของชาวสิงคโปร์ ที่มีสายสัมพันธ์โยงใยกับราชายาเสพติดที่โลกรู้จักดี และเป็นฐานการเงินให้แก่คณะรัฐบาลเผด็จการทหารที่ปกครองพม่า

สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ (Office of Foreign Assets Control: OFAC) กล่าวหาว่า บริษัทธุรกิจ 10 แห่ง รวมทั้งบริษัทการค้าและการลงทุนที่มีชื่อเสียงอย่าง Golden Aaron Pte Ltd ซึ่งมี ซีซิเลีย อึง พลเมืองสิงคโปร์เป็นเจ้าของ เป็นฐานสนับสนุนทางการเงินสำคัญแก่ระบอบเผด็จการทหารพม่า นอกจากนั้น กลุ่มบริษัทดังกล่าวยังมีชื่อร่วมอยู่ในกลุ่มบริษัทที่เซ็นสัญญาเพื่อสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกับรัฐบาลทหารพม่าด้วยเช่นกัน

กระทรวงการคลังของสหรัฐยังระบุชื่ออีก 9 บริษัทของ ซีซิเลีย อึง ซึ่งครอบคลุมธุรกิจ อุตสาหกรรมและบริการอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ด้านบริการการเงิน อสังหาริมทรัพย์ อาหาร จนถึงการค้าทั่วไป ได้แก่ บริษัท G A Ardmore Pte. Ltd., G A Capital Pte. Ltd., G A Foodstuffs Pte. Ltd., G A Land Pte. Ltd., G A Resort Pte. Ltd., G A Sentosa Pte. Ltd., G A Treasure Pte. Ltd., G A Whitehouse Pte. Ltd. และ S H Ng Trading Pte. Ltd.

นอกจากมาตรการขึ้นบัญชีดำ สตีเวน ลอว์ และซีซิเลีย อึง ยังมีการขึ้นบัญชีดำบริษัทโรงแรมและการท่องเที่ยวอีก 2 แห่ง คือ Aureum Palace Hotels and Resorts กับ Myanmar Treasure Resorts ของกลุ่มตู๋ (Htoo Group) อันเป็นอาณาจักรธุรกิจของนายเทย์ซา (TayZa) ซึ่งเป็นเจ้าของสายการบินแอร์พุกาม หรือ แอร์บากาน (Air Bagan) ด้วย โดยช่วงปลายปี 2550 มีการขึ้นบัญชีดำนายเทย์ซา กับบริษัทธุรกิจของกลุ่มตู๋จำนวน 3 แห่งที่มีสำนักงานในสิงคโปร์ จนสายการบินแอร์พุกามต้องยุติการบินเส้นทางย่างกุ้ง-สิงคโปร์

ข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิลีกส์ยังได้เปิดเผยเอกสารจากทางการสหรัฐที่ระบุถึง สตีเวน ลอว์ ว่า เป็นบุคคลที่รู้จักกันในแวดวงธุรกิจของพม่า ในฐานะเจ้าพ่อธุรกิจรายใหญ่ (Regime’s Top Crony) โดยบริษัท Asia World ของเขาประสบความสำเร็จในด้านการก่อสร้างและค้าขายมากที่สุดในประเทศ เขาและภรรยายังถือหุ้นจำนวนมากให้อาคารสำนักงาน โรงแรม และซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวนมากในนครย่างกุ้ง และยังมีธุรกิจที่มีผลประโยชน์ในสิงคโปร์ ไทย และจีน โดยเฉพาะท่าเรือ Asia World ที่อยู่ใกล้กับนครย่างกุ้ง ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังได้สัมปทานจากรัฐบาลพม่ามูลค่าเกือบหมื่นล้านบาทให้เข้ามาพัฒนาสนามบินนานาชาติ ประจำนครย่างกุ้ง นอกจากนี้ยังได้สัมปทานเส้นทางด่วนในประเทศ และเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ร่วมลงทุนสร้างเมืองใหม่อย่างเมืองเนย์ปิดอว์ ให้กับรัฐบาลเพื่อเป็นศูนย์กลางประเทศในปัจจุบัน

ทุนไทยในต่างแดน ผลประโยชน์บนข้อถกเถียงถึงหลักสิทธิมนุษยชน

การเติบโตของธุรกิจสีเทาเหล่านี้ หลายคนอาจนึกถึงกลุ่มทุนจีนสีเทาที่เข้ามาเติบโตและสร้างอาณาจักรเศรษฐกิจสีเทาในประเทศไทยไม่มากก็น้อย และอาจมีวิถีการเติบใหญ่ไม่แตกต่างกัน จากการเข้าหาผู้มีอำนาจทางการเมือง คนมีสีในกองทัพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีอำนาจ และอาจไม่ต่างจากกลุ่มทุนไทยหลายกลุ่มที่เข้าไปมีธุรกิจภายในพม่าด้วยเช่นกัน โดยอาจมีทั้งธุรกิจสีเทาที่ทุจริตและ/หรือธุรกิจที่ทำอย่างโปร่งใสตามกฎหมายระหว่างประเทศ ยึดหลักธรรมาภิบาล แต่ไม่สนใจการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใน

ดังกรณีที่มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา กรณีสมาชิกวุฒิสภาไทยบางคนเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาในฝั่งพม่า โดยหลายคนถูกตั้งข้อหาค้ายาเสพติดและฟอกเงินร่วมกันกับนายตุน มิน ลัต (Tun Min Latt) นักธุรกิจชื่อดังชาวพม่า ที่ทำธุรกิจเหมืองแร่ พลังงานไฟฟ้า ก่อสร้าง การเงิน อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และกาสิโน ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ริมชายแดนไทยฝั่งอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

มีข้อมูลยืนยันว่า ตุน มิน ลัต เป็นคนสนิทของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหารในพม่า องค์การสหประชาชาติระบุว่าเขามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนรัฐบาลทหารของมิน อ่อง หล่าย ทั้งบริจาคเงิน เป็นนายหน้าจัดหาอาวุธ เอื้อผลประโยชน์สร้างความร่ำรวยให้กับบรรดานายพลและพวกพ้องบริวาร ทำให้ระบอบทหารในพม่าเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ตุน มิน ลัต ถูกจับในไทยเมื่อเดือนกันยายน 2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ขยายผลการจับยาเสพติดล็อตใหญ่จนพบว่าเส้นทางการเงินเชื่อมโยงถึง เขาถูกตั้งข้อหาค้ายาเสพติดและฟอกเงิน สามารถอายัดทรัพย์สินในเครือข่ายของเขาได้กว่า 1,800 ล้านบาท

กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่รณรงค์เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในพม่า (Justice For Myanmar) ได้เผยแพร่ภาพถ่ายและแผนผังความสัมพันธ์ของเขากับสมาชิกวุฒิสภาไทยผู้หนึ่งซึ่งถูกแต่งตั้งเป็น 1 ใน 250 ส.ว. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องในขบวนการค้ายาเสพติด โดยจัดตั้งบริษัทขึ้นมา 3 แห่ง เพื่อฟอกเงินที่ได้จากการค้ายา แต่ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดีที่จับกุมตุน มิน ลัต ถูกสั่งย้ายไปต่างจังหวัด ทั้งที่ได้รางวัลปราบปรามยาเสพติดดีเด่น และก่อนหน้านั้น พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย นำคณะทหารไทยเข้าร่วมหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า ในการประชุมคณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee-HLC) ไทย-พม่า ครั้งที่ 8 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2566 ณ เมืองงาปาลี รัฐยะไข่

นอกจากนี้ อาจมีธุรกิจร่วมกันอีกหลายอย่างระหว่างบรรดานายพลทั้ง 2 แผ่นดิน ตั้งแต่ภายหลังที่ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เริ่มนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าในอินโดจีน และยังคงมีธุรกิจการลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐ และบริษัทมหาชนต่างๆ อีกหลายโครงการด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจผลิตและสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งควรเป็นทรัพยากรส่วนรวมของคนไทยและคนพม่าร่วมกันไม่มากก็น้อย แต่วันนี้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ทรัพยากรต่างๆ ของชาติทั้งสองกลายเป็นผลประโยชน์ร่วมกันจากความร่วมมือของกลุ่มทุนไทยกับนายพลอาวุโสของพม่าเท่านั้นหรือไม่ ประชาชนได้ส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจอย่างไรภายใต้ความขัดแย้งในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา คณะกรรมการเคลื่อนไหวประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในทวาย (Democracy Movement Strike Committee-Dawei: DDMSC) ได้เดินรณรงค์แจกใบปลิวชักชวนประชาชนที่อยู่ในเมืองต่างๆ ของจังหวัดทวาย ภาคตะนาวศรี โดยเฉพาะในเมืองลองโลง ประเทศพม่า ให้ออกมาร่วมประท้วงการทำธุรกิจ บอยคอตสินค้าและแบรนด์ของบริษัท ปตท. (PTT) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ซึ่งเป็นกิจการพลังงานยักษ์ใหญ่จากประเทศไทย

เนื้อหาในใบปลิว ระบุว่า เงินค่าสัมปทานในแหล่งก๊าซเหล่านี้จะถูกจ่ายให้รัฐบาลทหาร ทำให้กองทัพพม่ามีเงินไปใช้ซื้ออาวุธ เครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์ที่นำมาใช้โจมตีกลุ่มผู้ต่อต้าน

(อย่างไรก็ตาม นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เคยตอบคำถามสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 เกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ‘โออาร์’ มอบของขวัญปีใหม่ไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมัน 11 วัน) โดยยืนยันว่าการลงทุนของ OR มุ่งสร้างและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนชาวเมียนมา รวมทั้งยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักการสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล และไม่ได้มีส่วนสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเมียนมาแต่อย่างใด)

รูปแบบความเคลื่อนไหวของ DDMSC ตลอด 3 วันที่ผ่านมานั้น เป็นเหมือนกันในทุกเมือง โดยกลุ่มนำจะชูสามนิ้ว ถือธงรูปนกยูงสีเหลืองบนพื้นสีแดง อันเป็นสัญลักษณ์ของพรรค NLD เดินไปยังย่านชุมชนตามเมืองต่างๆ เช่น ในตลาดสด จากนั้นให้ทีมงานเดินแจกใบปลิว ทีมงานอีกส่วนหนึ่งจะชักชวนให้ประชาชนออกมาร่วมเดินประท้วงบนท้องถนน อีกส่วนหนึ่งเดินนำใบปลิวไปติดไว้ตามจุดต่างๆ ที่มีผู้คนมองเห็นได้ชัด

ขณะที่ฝั่งจังหวัดท่าขี้เหล็ก ชายแดนไทยตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดกลางเมืองท่าขี้เหล็กกลางดึก 3 จุด รวม 5 ลูก ใกล้ที่ตั้งสำนักงานพรรคสหสามัคคีและพัฒนา (USDP) ที่สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน โดยคาดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มประชาชนผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าที่กำลังสู้รบกันอยู่

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินเบื้องต้นทราบว่าระเบิดที่ปะทุเป็นแบบแสวงเครื่อง หรือวางลูกระเบิดเอาไว้แล้วกดรีโมตจากกลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่าย แต่คาดว่ามาจากกลุ่มกองกำลังปกป้องประชาชน PDF ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

วันนี้การต่อสู้ของรัฐบาลพลัดถิ่นและกองกำลังพันธมิตรชนกลุ่มน้อย กับรัฐบาลทหารพม่ายังคงไร้ซึ่งหนทางไปสู่สันติภาพ ฝ่ายต่อต้านไม่อาจยอมรับการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กองทัพที่อาจจะมีขึ้นในปีนี้ และเรียกร้องให้ยอมรับผลการเลือกตั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2563 สถานการณ์สู้รบและสงครามกลางเมืองในพม่าจะยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้อีกนาน ตราบใดที่ประชาคมโลกยังคงยึดถือเพียงผลประโยชน์ของตนเองจากหลังพิงของอำนาจและเงินตรา และมองนโยบายความมั่นคงภายในของตนเองจากภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยละเลยการปกป้องหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนร่วมกันอย่างเข้มแข็ง

แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง…

เมธา มาสขาว
เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และนักวิชาการอิสระที่สนใจด้านประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า