นัยนา สุภาพึ่ง: สมรสเท่าเทียม ก้าวแรกของความเสมอภาคทางเพศที่ต้องไปให้สุดเพดาน

ท่ามกลางบรรยากาศ Pride Month และการเฉลิมฉลองกฎหมายสมรสเท่าเทียมในสังคมไทย มีอย่างน้อยสองสิ่งที่น่าจับตามองไปพร้อมๆ กับการดื่มด่ำรสชาติของความก้าวหน้าไปอีกขั้น หลังจากต่อสู้เรียกร้องการคืนสิทธิพึงมีให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกว่า 20 ปี

สิ่งแรกคือเรื่องความเป็นกลางทางเพศที่ยังคงต้องสู้รบปรบมือกับระบบกฎหมายที่ยังผูกติดกับระบบสองเพศ ทำให้การสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่เกิดความเท่าเทียม ‘โดยสมบูรณ์’ อย่างที่ควรจะเป็น ราวกับว่าทัศนคติทางเพศและแบบแผนคร่ำครึนั้นเป็นตัวฉุดรั้งเอาไว้อย่างไรอย่างนั้น

สิ่งที่สองเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันมา เมื่อสังคมทุกวันนี้มีข้อตกลงที่สำคัญร่วมกันอย่างชัดเจนมากขึ้นว่าความเสมอภาคและเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นแล้วจะทำอย่างไรให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ใกล้เคียงกับคำว่าเสมอภาคมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เรานั่งสนทนากับ นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สัดส่วนภาคประชาชน อยู่ราวเกือบ 2 ชั่วโมงเต็มอิ่ม ด้วยความเป็นเฟมินิสต์อย่างเข้มข้นของนัยนาที่ผลักดันประเด็นสิทธิสตรีมายาวนาน ทำให้มองเห็นความไม่เป็นธรรมของระบบกฎหมาย ที่แม้หลักการจะบอกว่าบุคคลย่อมเสมอกันและต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน แต่แท้จริงแล้วเราถูกระบบกฎหมายที่ออกแบบมาภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่เลือกปฏิบัติอยู่เสมอ

ในแง่การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ นัยนาเริ่มเล่าให้เราฟังตั้งแต่จุดเริ่มต้นของตัวเองในการเข้าไปทำงานขับเคลื่อนสิทธิของกลุ่ม LGBTQIA+ และการเดินทางของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไปจนถึงความใฝ่ฝันถึงสังคมที่มีความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดผ่านมุมมองในฐานะผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนกฎหมายในหน้าประวัติศาสตร์สังคมไทย

– 1 –

เส้นทางการเรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียม

จะเห็นว่าชื่อของนัยนา สุภาพึ่ง ทำงานขับเคลื่อนสิทธิสตรีมาโดยตลอด อะไรที่เป็นจุดสำคัญให้หันมาขับเคลื่อนประเด็นสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

พอเราพบว่ามีความไม่เป็นธรรมของกฎหมาย ก็จำเป็นต้องเข้าไปทำงานในสถาบันนิติบัญญัติ แล้วในยุคหนึ่งมีการใช้คำว่า ‘ปฏิรูปประเทศ’ เพราะว่าบรรดาคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นธรรมทั้งหลายเขาพบว่า กติกาบ้านเรามันไม่เป็นธรรม ต้องรื้อสร้างใหม่ ก็เลยต้องมีการปฏิรูประบบการเมือง

ช่วงการปฏิรูประบบการเมืองก็มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเห็นว่ากติกามันไม่ถูกต้อง ตัวเองก็เลยสมัครเข้าไปทำงานเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในฐานะภาคีภาคประชาชน และเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) รับฟังความคิดเห็นประชาชน

ช่วงนั้นเราทำงานอยู่กับองค์กรผู้หญิงที่รวมตัวกัน 40 กว่าองค์กรทั่วประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ ชื่อว่า ‘เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ’ เพราะเรามองว่าถ้ากฎหมายแม่บทไม่เป็นธรรมตั้งแต่แรก เราจะไปแก้ไขกฎหมายลำดับรองยาก ก็เลยต้องผลักดันให้เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 

เราเคลื่อนไหวจนกระทั่งมีประเด็นที่ถูกเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ เช่น ชายหญิงต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน ห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ หรือมาตรการที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงและผู้ชายได้ใช้สิทธิเท่าเทียมกัน

อย่างที่ทราบกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของประเทศไทยฉบับหนึ่ง ในหมวดที่ให้มีการตรวจสอบอำนาจรัฐ จะมีองค์อิสระเกิดขึ้นเยอะมาก และองค์กรอิสระสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนั้นก็คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และก็มีการพูดถึงการกำหนดสัดส่วนของผู้หญิงผู้ชายที่เหมาะสมในคณะกรรมการสิทธิฯ ด้วย เพราะถ้าคุณไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ เวลาที่เราพูดถึงสิทธิของผู้หญิงโดยที่มีแต่ผู้ชาย มันก็ไม่มีความละเอียดอ่อน และอาจจะไม่คำนึงถึงเรื่องเพศได้ดีพอ 

เพราะฉะนั้นองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงกำหนดว่าเราต้องมีองค์กรตรวจสอบที่สำคัญคือ คณะกรรมการสิทธิฯ ถือเป็นการตั้งขึ้นมาครั้งแรกในประเทศไทย แต่ถึงแม้ว่ามีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มันก็ไม่ง่ายที่จะตั้งขึ้นมาทันที กว่าจะมี พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยยชนแห่งชาติ ขึ้นมาจริงๆ ก็คือปี 2544 และกระบวนการสรรหาก็เกิดขึ้นในปี 2546  

ในกรรมการสิทธิฯ ชุดแรก มีการกำหนดสัดส่วนหญิงชายที่เหมาะสม มีผู้ชาย 6 คน ผู้หญิง 5 คน ถือว่าเป็นองค์กรอิสระองค์กรเดียวที่มีผู้หญิงจำนวนมากขนาดนั้น ซึ่งพอเข้าไปทำงานเขาก็เลยมอบหมายให้เราทำหน้าที่อนุกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียม แล้วประเด็นหนึ่งซึ่งยังไม่มีกรรมการท่านใดสนใจหรือไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน คือประเด็นเรื่องของความหลากหลายทางเพศ 

ในยุคนั้นมีคนร้องเรียนเรื่องความหลากหลายทางเพศ เช่น กระทรวงวัฒนธรรมออกระเบียบมาว่า ห้ามไม่ให้บุคคลหลากหลายทางเพศออกทีวี เพราะกลัวว่าเด็กๆ จะเลียนแบบ ซึ่งเราก็เห็นว่าการออกระเบียบแบบนี้มันไม่ถูกต้อง 

อีกระเบียบหนึ่งที่อยากยกตัวอย่างให้เห็นคือ การออกระเบียบว่านักศึกษาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นสถาบันที่ผลิตครู ก็จะไม่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศมาเรียน เพราะเดี๋ยวกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีของเด็ก นี่คือสิ่งที่ประกาศสู่สาธารณะ เราก็เห็นเลยว่ามันไม่เป็นธรรม มันละเมิดสิทธิ ก็เลยหยิบยกเรื่องพวกนี้มาพิจารณา 

อีกสิ่งที่สำคัญมากๆ ในตอนนั้นก็คือ กระทรวงกลาโหมเกณฑ์ทหารทุกปี ปรากฏว่ามีน้องๆ ที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ไปเกณฑ์ทหาร แล้วถูกระบุในเอกสาร สด.43 ว่า เป็นโรคจิตถาวร เป็นบุคคลที่กองทัพไม่ต้องการให้เป็นทหาร ซึ่งการระบุแบบนี้ในทางกฎหมาย คนที่เป็นโรคจิตถาวรหมายถึงคนที่เสมือนไร้ความสามารถ ไม่สามารถทำนิติกรรมอะไรต่างๆ ได้ 

แต่ว่าพลเมืองที่เป็นเพศกำเนิดชายทุกคนในประเทศนี้ต้องผ่านการเกณฑ์ทหาร แล้วก็ต้องถือเอกสาร สด.43 ไปในทุกที่ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องการทำหนังสือเดินทาง การสมัครงาน ซึ่งจะระบุเลยว่าจะต้องผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว ยกเว้นคนที่เรียน รด. เพราะฉะนั้นคนที่ถูกระบุไว้ว่าเป็นโรคจิตถาวร ก็เท่ากับไปกระทบสิทธิของเขา

ตอนนั้นกรรมการสิทธิฯ ได้ตรวจสอบเรื่องพวกนี้ และเสนอแนะไปยังหน่วยงานว่า การมีข้อสรุปแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจะต้องแก้ไข ซึ่งเป็นที่มาที่ตัวเราเองเห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

ในช่วงแรกเริ่มของการทำงานในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศมีข้อค้นพบอะไรบ้างสำหรับตัวเอง

ต้องขอเล่าเท้าความก่อนว่า สืบเนื่องมาจากตัวเองเป็นคณะกรรมการสิทธิฯ จึงจำเป็นที่เราต้องสนใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแตกต่างจากงานทนายความและนักกฎหมายด้านสิทธิสตรี ความเป็นเฟมินิสต์มันมาจากข้างในของเรา เราคับข้องใจว่าทำไมความเป็นผู้หญิงของเราถึงทำให้เราเรียนรู้และก้าวหน้าในฐานะนักกฎหมายได้แตกต่างจากผู้ชาย 

พอได้มาทำประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ก็พบว่าสิ่งที่เป็นปัญหาภายในของเราคือความเข้าใจ เพราะว่าเราไม่ได้รับผลกระทบแบบเขา ไม่ได้เดือดร้อนแบบเขา เพราะฉะนั้นก็มีหลายอย่างที่เราเข้าใจผิด เราคิดว่าการที่เราผ่านประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือคนที่เขายากลำบากมาเยอะ เพราะฉะนั้นเวลาที่เจอน้องที่เป็น LGBTQIA+ ถูกละเมิด เราก็คิดว่าตัวเองแสนจะเข้าอกเข้าใจเขาเลย เราเคารพสิทธิของเขาอย่างดีแล้ว โดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าความเข้าใจของเรามันยังไม่มากพอ

เราเห็นเพื่อนๆ หรือคนรอบตัวที่เป็น LGBTQIA+ เขาเก่งมากเลย ตอนนั้นมีหลักการยอกยาการ์ตา (Yogyakarta Principles – หลักการว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ) ซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ ใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความเป็นธรรม พวกเราก็แปลหลักการนี้เป็นภาษาไทยเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เอาไปใช้ และเราก็เห็นว่าคนที่เข้าใจเรื่องนี้ได้ดีก็ต้องเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และมีความสามารถ ตัวเองชื่มชมเขามากว่าเก่งอย่างนั้นอย่างนี้

เราบอกกับเขาว่า เราเพิ่งจะมีลูกคนเดียว อยากมีลูกอีกสักคนให้เก่งแบบเขา เป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยนก็ได้ เพราะ ณ เวลานั้นเริ่มมีการพูดกันว่า เรายอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่เอาเข้าจริงถ้าคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นลูกหลานเรา เรายังไม่แน่ใจว่าจะยอมรับได้จริงไหม ยังมีความเป็นห่วงเขา กลัวว่าเขาจะลำบาก ตัวเราเองเลยจะพยายามแสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจน้องๆ LGBTQIA+ ด้วยการบอกว่าเรามีลูกแล้วคนหนึ่ง เราอยากมีอีกสักคนที่เป็นแบบเขา เก่งอย่างเขา

น้องเขาพูดกับเราว่า “พี่เล็กไม่ต้องไปมีลูกอีกคนหรอก ลูกพี่เล็กเขายังไม่รู้เลยนะว่าเขาจะเป็นอะไร เขาอาจจะเป็นผู้ชายอย่างที่พี่เล็กคิดว่าเขาเป็น เพราะเขามีอวัยวะเพศชาย หรือเขาอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะฉะนั้นพี่เล็กไม่ต้องไปมีลูกอีกคนหรอก มีคนเดียวนี่แหละ แล้วให้เขาเลือกที่จะเป็นด้วยตัวเขาเอง” ตอนนั้นจึงเพิ่งเข้าใจว่าเรานี่ยังมีความอ่อนด้อยที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับเรื่องนี้นะ 

ย้อนกลับมามองตัวเองแล้วคิดว่า แม้แต่ตัวเราเองจะรู้ได้อย่างไรว่าพรุ่งนี้เราจะเจอกับอะไร วันพรุ่งนี้หากเราไม่มีสามีด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ เราก็อาจจะเป็นทุกข์อยู่ แล้วมีใครสักคนหนึ่งเข้ามาดูแล ซึ่งใครสักคนนั้นเขาอาจจะเป็นทรานส์แมน ทรานส์วูแมน นอนไบนารี หรือเควียร์ แล้วเราก็รู้สึกดีกับเขา อยากใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน คือมันจำเป็นอย่างมากที่เราทุกคนจะต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้เพื่อขับเคลื่อนประเด็นของ LGBTQIA+ เรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่ม

นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้ เวลาเราช่วยเหลือคนกลุ่มที่เฉพาะมากๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ เราจะต้องมองให้เห็นว่าเราคือส่วนหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่เรื่องของคนที่มีคุณสมบัติหรือมีศักยภาพมากกว่า ก็เลยไปช่วยคนที่มีโอกาสน้อยกว่า เวลาเราทำงานเรื่องสิทธิโดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐาน เราต้องมองให้เห็นว่าเรื่องที่เรากำลังผลักดันเป็นเรื่องของเราทุกคน นี่เป็นข้อสรุปของตัวเองที่คิดได้

ณ ตอนนั้นก็เลยทำให้เห็นว่า เรื่องที่เราจะต้องขับเคลื่อนให้กับสิทธิของพลเมืองหลากหลายเพศ คือเราต้องเพิ่มพื้นที่ให้เขา สิ่งที่มองเห็นช่วงแรกเลยคือเรื่องการถูกจำกัดพื้นที่ทางการศึกษา ถูกจำกัดพื้นที่ในการทำงาน กระทั่งถูกจำกัดการมีส่วนร่วมทางสังคม เราก็เลยพยายามให้ความสำคัญกับเรื่องนั้น แต่ก็ลืมไปว่าสิทธิความหลากหลายทางเพศที่สำคัญมากๆ อีกอย่างคือเรื่องของการก่อตั้งครอบครัว 

สิ่งที่เป็นข้อจำกัดสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจนคือ เขาไม่สามารถที่จะมีครอบครัวอย่างเป็นทางการได้ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ เพราะการจดทะเบียนสมรสจะนำมาซึ่งสิทธิสวัสดิการ การคุ้มครองต่างๆ และเรื่องการตัดสินใจร่วมกันในการบริหารจัดการทรัพย์สินต่างๆ 

อยากให้ช่วยฉายภาพประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิสมรสของชาว LGBTQIA+ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

มันมีคดีสำคัญๆ เกิดขึ้น อย่างที่ยกตัวอย่างไปว่า กระทรวงกลาโหมระบุใน สด.43 ว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นโรคจิตถาวร หรือใช้คำเรียกอะไรก็ตามที่เป็นการละเมิด ซึ่งศาลปกครองได้พิจารณาแล้วว่า การที่กระทรวงกลาโหมระบุแบบนี้เป็นการใช้ถ้อยคำที่ละเมิดและขอให้แก้ไข ต่อมากระทรวงกลาโหมจึงได้มีการแก้ไขถ้อยคำเป็น ‘มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ 

อีกคดีหนึ่งที่สำคัญคือ กรณีอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นทรานส์วูแมน ได้รับการบรรจุจ้างโดยสอบผ่านตามขั้นตอนถูกต้องทั้งหมด แต่สภามหาวิทยาลัยซึ่งประกอบไปด้วยผู้อาวุโสจากแต่ละคณะ เขามีความเห็นว่าการที่อาจารย์เป็นทรานส์วูแมนอาจไม่เหมาะสมที่จะไปสอนนักศึกษา บุคลิกและทัศนคติของอาจารย์จะมีผลต่อการหล่อหลอมนักศึกษา 

แต่เท่าที่ทราบ การให้ความเห็นในเอกสารไม่ใช่ประเด็นนี้โดยตรง เพราะว่าถ้าให้ความเห็นแบบนี้ก็จะเป็นการละเมิดสิทธิ แต่มันเป็น hidden agenda (วาระซ่อนเร้น) ที่กระทำผ่านการไปติดตามดูการใช้สื่อโซเชียลของอาจารย์ท่านนี้ ซึ่งอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาเกี่ยวกับ gender และได้โพสต์ภาพสื่อการสอนที่เป็นลิปสติกรูปอวัยวะเพศชาย สิ่งนี้ถูกนำไปเป็นข้อมูลพิจารณาว่าไม่สมควรเป็นอาจารย์ แต่ศาลปกครองไม่เห็นด้วย ให้ความเห็นว่าอาจารย์ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะเรียบร้อยแล้ว ในที่สุดอาจารย์ก็ได้กลับมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก็คืออาจารย์เคท (เคท ครั้งพิบูลย์)

พอมีคดีตัวอย่างแบบนี้ขึ้นมา ก็มีคนพูดถึงเรื่องสิทธิสมรสของกลุ่ม LGBTQIA+ มีกรณีข้าราชการคนหนึ่งออกมาเล่าประสบการณ์ที่อยู่กับคนรักมานาน วันหนึ่งคู่รักของเขาเกิดอุบัติเหตุ แต่เขาไม่สามารถให้คู่รักใช้สวัสดิการของเขาได้ ทั้งที่เขาเป็นข้าราชการและควรจะเบิกค่ารักษาพยาบาลให้ได้ หรือในกรณีที่ตัวเขาเองไม่สบาย คู่รักของเขาก็ไม่สามารถให้ความยินยอมกับหมอเพื่อรักษากรณีเร่งด่วนได้ ต้องไปตามพ่อแม่ที่อยู่ไกลเพื่อมาให้ความยินยอม

แล้วส่วนใหญ่คนที่เป็นคู่รัก LGBTQIA+ มักมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว จากการที่ครอบครัวไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้นหลายคนก็ไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวเป็นเวลานาน เรื่องแบบนี้สร้างความยากลำบากกับเขา จึงมีเรื่องร้องเรียนที่เขาไม่สามารถใช้สิทธิการเป็นคู่ชีวิตได้ 

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากจริงๆ มันสะท้อนว่าคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศถูกละเมิดสิทธิ ทั้งที่เขาก็เสียภาษีมาตลอดชีวิตเหมือนกัน แต่กลับถูกรัฐเลือกปฏิบัติ เราก็เลยคุยกันว่าเรื่องแบบนี้ถ้าต้องการแก้ไขจะต้องแก้ไขกฎหมายอะไรบ้าง

ในที่สุดก็มีคนเสนอว่า ถ้าเราจะไปแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในหมวดครอบครัวและมรดก มันจะแก้ยากมากเพราะต้องรื้อทั้งฉบับ แล้วอีกอย่างกฎหมายครอบครัวเป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติกับผู้หญิงอยู่แล้ว ถ้าบุคคลหลากหลายทางเพศเข้าไปใช้กฎหมายฉบับนี้ด้วยก็จะตกอยู่ในสถานะถูกเลือกปฏิบัติเช่นเดียวกัน ฉะนั้นจึงมีการเสนอให้ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ขึ้นมา

จุดเริ่มต้นสำคัญคือ กรณีของคู่รักชาย-ชายที่เผชิญกับความยากลำบากที่ไม่สามารถใช้สิทธิแทนกันได้เวลาเจ็บป่วย เขาไปจดทะเบียนสมรสแล้วถูกปฏิเสธ เขาจึงอยากท้าทายให้มันรู้ไปสิว่า ชาย-ชาย หญิง-หญิง เดินไปจดทะเบียนสมรส เจ้าหน้าที่จะว่าอย่างไร 

คู่รักคู่นั้นเขาได้เอาเอกสารที่ถูกปฏิเสธมาร้องเรียนกับ กมธ.สิทธิมนุษยชนและกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในยุคนั้นมีพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยอยู่ใน กมธ. ชุดนี้ ซึ่งเขามองว่าหากต้องการจะแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มันจะยุ่งยาก เพราะมีกฎหมายลำดับรองอีกเยอะแยะมากมายที่จะต้องแก้ตาม จึงตั้ง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ขึ้นมาเป็นครั้งแรก

โดยปกติกฎหมายจะต้องถูกเสนอขึ้นมาจากฝ่ายปฏิบัติ คือฝ่ายกระทรวง ทบวง กรม ที่เขาเห็นว่ามีอุปสรรคปัญหาในระดับปฏิบัติ แล้วค่อยเสนอให้ยกร่างกฎหมายต่อรัฐบาล แล้วรัฐบาลก็เสนอเข้ามาในสภา แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ตัวเราเองเห็นว่า มันเป็นเรื่องที่ดีนะที่กฎหมายถูกริเริ่มจากประชาชนที่เดือดร้อน แล้วในที่สุด สส. ก็ตอบสนองด้วยการยกร่างอย่างรวดเร็ว 

พอเป็นกฎหมายที่ไม่ได้มาจากหน่วยปฏิบัติ จึงจำเป็นที่ต้องมีการรับฟังความเห็นประชาชนด้วยอย่างเป็นระบบ แต่ ณ ตอนนั้นยังไม่มีการดำเนินการชัดเจน กระทรวงยุติธรรมไปจัดเวทีสี่ภาคอะไรของเขา แล้วก็สรุปออกมาว่ารับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว และมีร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของ กมธ. ออกมา ซึ่งก็มีข้อกังขาอยู่เยอะมาก 

ในช่วงเวลานั้นภาคประชาชนจึงลุกขึ้นมารวมกลุ่มกัน ตัวเองก็หมดวาระในคณะกรรมการสิทธิฯ แล้วก็มาอยู่ที่มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ร่วมกับภาคประชาชนอีกหลายกลุ่ม แล้วก็ยกร่างขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับ โดยมีอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีส่วนสนับสนุนข้อมูลเยอะมาก อาจารย์ทำวิจัยให้เห็นว่าระบบกฎหมายทั้งประเทศนี้มันละเลยประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ไม่มีการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองที่หลากหลายทางเพศ นี่คือความผิดพลาดที่ต้องแก้ไข จึงออกมาเป็นร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับประชาชน 

เรานำเสนอคู่กันกับร่างของ กมธ. เพื่อให้เห็นว่าร่างของ กมธ. มีการเลือกปฏิบัติ จากการที่ระบุว่า พวกคุณมีสิทธิก่อตั้งครอบครัวนะ แต่คุณไม่มีสิทธิที่จะมีสมาชิกในครอบครัว คุณไม่มีสิทธิรับบุตรบุญธรรม ไม่มีสิทธิส่งทอดสวัสดิการต่อกันและกัน

ในยุคนั้นก็มีปัญหาการเมืองทำให้ยุบสภาไปก่อน จึงไม่มีการนำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาเลยแม้แต่วาระเดียว เพียงแต่เป็นร่างอยู่ที่ กมธ. เท่านั้นเอง 

อะไรเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเริ่มมีการโอบรับความหลากหลายทางเพศแล้ว

สิ่งที่เป็นหมุดหมายรูปธรรมที่สุดก็คงเป็นเรื่องการบันทึกสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศลงในรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ 

ช่วงเวลาที่คณะกรรมการสิทธิฯ ชุดแรกทำงานอยู่ก็กำลังมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เราจึงมีข้อเสนอว่าจะต้องกำหนดเรื่องความหลากหลายทางเพศไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย จากที่กฎหมายกำหนดว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน จึงเสนอให้ต่อท้ายว่า ‘ชาย หญิง และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ มีสิทธิเท่าเทียมกัน ห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ เพศสภาพ เพศวิถี’ แต่ปรากฏว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ตั้งคำถามสำคัญกลับมาอยู่ 2-3 ข้อว่า เพศ เพศสภาพ เพศวิถี มันต่างกันอย่างไร เขาคิดว่าคำว่าเพศอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว พจนานุกรมไม่เคยมีคำว่าเพศสภาพ เพศวิถี เขาเลยคิดว่ามันจะเป็นปัญหาที่ทำให้นักกฎหมายไม่รู้ว่าจะต้องตีความคำว่าเพศสภาพ เพศวิถี ว่าอะไร 

อีกข้อที่เขาตั้งคำถามคือ คำว่าความหลากหลายทางเพศแปลว่าอะไร ซึ่งเป็นปัญหาของพจนานุกรมบ้านเราที่ไม่ได้บัญญัติคำนี้ไว้ ซึ่งตอนนั้นก็ต้องขอบคุณ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายกฎหมาย ที่เขามีความก้าวหน้า เอ่ยชื่อได้เลย เช่น อาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล คุณอังคณา นีละไพจิตร อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และอีกหลายๆ คน เขาก็เสนอให้มีคำเหล่านี้ไว้ 

จนในที่สุดก็ถูกบันทึกไว้ในฐานะที่เป็นเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญว่า การห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ให้หมายรวมถึงความหลากหลายทางเพศด้วย และวงเล็บภาษาอังกฤษไว้เรียบร้อยเลยทั้งคำว่า sexual diversity (ความหลากหลายทางเพศ) gender identity (เพศสภาพ) และ sexual orientation (เพศวิถี) ถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เราได้พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศเอาไว้ในเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ในสมัยถัดมาที่มีร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีอะไรบ้างที่ถูกมองว่าเป็นข้อกังขา

ร่างฉบับนั้นเป็นร่างที่เรารู้สึกว่ามันไม่ควรจะเป็นกฎหมาย เพราะไม่ให้รับบุตรบุญธรรม ไม่ให้รับสวัสดิการ แต่ให้แต่งงานกันได้ ให้จัดการทรัพย์สินร่วมกันได้

เขาก็พูดกันว่า นี่ก็ได้เยอะแล้วนะ คุณได้รับสิทธิสมรส มีสิทธิจัดการทรัพย์สินร่วมกัน กู้เงินร่วมกันก็ได้ แล้วคำหนึ่งที่กลุ่ม LGBTQIA+ เขาขัดใจกันมากคือการที่คนมีอำนาจเขาพูดว่า “พวกนี้ได้คืบจะเอาศอก” พูดเหมือนกับว่าพลเมืองที่เป็น LGBTQIA+ คือกลุ่มคนที่เขายื่นมือเข้าไปช่วยถึงขนาดนี้แล้ว แล้วเขายืนอยู่ข้างบน ยืนอยู่เหนือกว่า แล้วก็พูดว่าคนกลุ่มนี้ได้คืบจะเอาศอก เรารู้สึกว่าท่าทีแบบนี้มันไม่ได้ เขายังไม่เข้าใจ นี่มันเป็นท่าทีของคนที่มีอำนาจตัดสินใจแทนเขา แล้วคุณจะออกกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิของเขา โดยที่ไม่ให้เขาเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ไปคิดแทนเขาหมด เราก็เลยลุกขึ้นมาบอกว่า เราไม่ต้องการกฎหมายแบบนี้ เราต้องการกฎหมายที่มาจากประชาชนจริงๆ

ตั้งแต่เข้าสู่ช่วง Pride Month มีการพูดคุยกันในโซเชียลว่า จุดเริ่มต้นของสมรสเท่าเทียมคือช่วงรัฐบาลทักษิณ แต่ถูกต่อต้านอย่างมากจึงไม่สามารถไปต่อได้ อยากให้ช่วยเล่าบรรยากาศตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร แล้วรัฐบาลทักษิณมีทัศนคติต่อการสมรสในเพศเดียวกันอย่างไร

คิดว่าตอนที่คุณทักษิณอยู่มันไม่มีประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศเลยนะขอยืนยัน 

ขอยืนยันโดยอ้างอิงจากเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งตอนนั้นตัวเองเป็นคณะกรรมการสิทธิฯ อยู่ หลังจากนั้นก็มีการให้องค์กรอิสระทั้งหลายเสนอชื่อคนที่่จะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในตอนนั้นจำได้ว่าคณะกรรมการสิทธิฯ เสนอชื่อคุณอังคณา นีละไพจิตร และนั่นคือหมุดหมายที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าเรามีเครื่องมือที่จะแก้ไขเรื่องความไม่เป็นธรรมทางเพศ ด้วยการบันทึกลงไปเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่า ห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ โดยให้หมายรวมถึงการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะความหลากหลายทางเพศ เพศสภาพ เพศวิถี

ณ ตอนนั้นคุณทักษิณไม่ได้อยู่ อาจจะมีคนที่เป็นตัวแทนคุณทักษิณอยู่ แต่ก่อนหน้านั้นในเวลาที่คณะกรรมการสิทธิฯ เสนอเรื่องประเด็นปัญหาความหลากหลายทางเพศไปก็ไม่ได้อยู่ในการพิจารณาของรัฐบาล หรือ สส. เลย 

ก่อนหน้าที่กรรมการสิทธิฯ จะมาทำเรื่องนี้ ภาคประชาชนเขาก็แข็งขันในเรื่องนี้กันอยู่แล้ว เขาขับเคลื่อนด้วยตัวเขาเอง เช่น กลุ่มอัญจารี กลุ่มบางกอกเรนโบว์ เขาขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งต่อมาก็ได้ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขกฎหมาย

สมัยก่อน กลุ่มอัญจารีเขาเอา ICD-10 (บัญชีจำแนกโรค) เครื่องมือที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่าอะไรเป็นโรคที่จะต้องรักษา อะไรไม่เป็นโรค ซึ่งตอนที่ WHO ยกเลิกโรคบางโรคที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าต้องมีการรักษาใน ICD-10 หนึ่งในนั้นคือยกเลิกการระบุว่าคนรักเพศเดียวกันคือโรค เขายกเลิกสิ่งเหล่านี้ออกไปนานแล้วด้วย แต่ตอนนั้นประเทศไทยไม่ได้พัฒนาในเรื่องนี้ กลุ่มอัญจารีจึงนำเสนอไปที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่าประเทศไทยควรจะยกเลิกเช่นเดียวกัน

หมอในกรมสุขภาพจิต ส่วนใหญ่ก็เป็นหมอที่มีความรู้เชื่อมโยงกับ WHO อยู่แล้ว เขาก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้จึงออกหนังสือรับรองว่าคนที่เป็นทรานส์และอื่นๆ ไม่ได้เป็นคนที่ผิดปกติ และกลุ่มอัญจารีก็ใช้เอกสารนี้ไปเคลื่อนไหวในเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่อง ซึ่งอันนี้คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคม

อันนี้เป็นสิ่งที่มีหลักฐานปรากฎในสื่อเท่าที่จำได้ ไม่ได้เป็นการทำงานของรัฐบาลคุณทักษิณ เพราะตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลทักษิณอยู่ ตัวเองก็อยู่คณะกรรมการสิทธิฯ ชุดแรก ต่อมารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ได้มาทำเรื่องความหลากหลายทางเพศ ผ่าน กมธ.ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และมีพรรคการเมืองฝ่ายค้านร่วมด้วย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่ประชาชนใช้สิทธิของตัวเองไปจดทะเบียนสมรสและถูกปฏิเสธ

-2-

ระบบสองเพศในกฎหมายที่ฉุดรั้งความเสมอภาค

ในวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว มีความรู้สึกอย่างไรบ้างในฐานะคนที่มีส่วนผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด

ดีใจและยินดีมากๆ ที่มีกฎหมายออกมา 

แรกเริ่มเลยเขาไม่ได้ใช้คำว่าสมรสเท่าเทียมนะ พอพ้นจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่สุดท้ายก็ตกไปเพราะยุบสภา หลังจากนั้นก็มีการเมืองแบบใหม่เกิดขึ้น มีภาคประชาชนที่ทนไม่ได้กับอำนาจเผด็จการมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าทหารใช้อำนาจบริหารบ้านเมืองมานานเกินไปแล้ว ช่วงนั้นประชาชนก็ลงมาอยู่บนท้องถนนกันเยอะ

คนรุ่นใหม่ก็เข้าไปร่วมกับพรรคอนาคตใหม่กันเยอะ และยังมีพรรคสามัญชนด้วย ซึ่งพรรคสามัญชนเองก็เข้มแข็งมาก เพราะเป็นพรรคที่มาจากภาคประชาชนฐานราก และเขาก็พูดเรื่องที่ประชาชนต้องการหลายเรื่อง ในหลายเรื่องนั้นก็มีเรื่องของสมรสเท่าเทียมที่จะต้องไปแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่ด้วย 

ภาพมันชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เราไม่ควรจะมีกฎหมายสำหรับพลเมืองชั้นสองอีกต่อไปแล้ว ทำไมเราจะต้องมี พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้วเราควรใช้กฎหมายฉบับเดียวกันกับประชาชนทุกคนไม่ใช่เหรอ ทำไมต้องมีกฎหมายฉบับที่ 1 หรือฉบับที่ 2 

ก่อนหน้านั้นที่ภาคประชาชนเสนอ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็เสนอว่าทุกคนสามารถที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ไม่ใช่แค่ LGBTQIA+ เท่านั้น เพราะเรามองว่าการสมรสในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเวลานั้นก็เป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติกับผู้หญิง แล้วเราก็จะถูกเลือกปฏิบัติอยู่ต่อไป จึงมองว่าถ้าเราไม่อยากอยู่ใต้อคติทางเพศในกฎหมายแบบนี้น่าจะต้องพาตัวเองออกมาอยู่กับพลเมืองหลากหลายทางเพศ เหมือนเป็นการประกาศอิสรภาพ และใช้กฎหมายก่อตั้งครอบครัวฉบับเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดก็ตกไปเพราะยุบสภา

ช่วงรัฐบาลประยุทธ์ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 (ที่ระบุว่าการสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์) ขัดกับรัฐธรรมนูญและถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาค ซึ่งคำพิพากษาศาลนี้ทำให้นักกฏหมายและประชาชนออกมาวิพากษ์ศาลแบบไม่กลัวติดคุก เป็นแรงขับสำคัญในสังคมไทย

การกลับมาอีกครั้งของกระแสเรียกร้องสิทธิสมรสก็ไม่ได้ใช้คำว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ อย่างทุกวันนี้ แต่ใช้คำว่า ‘1448 for all’ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับขบวนการต่อต้านเผด็จการ เพราะเราอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลทหารมายาวนานมาก เสนออะไรไปก็ไม่ได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรม มีการพูดถึงเรื่องได้คืบจะเอาศอกอยู่ซ้ำๆ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องการประชาธิปไตย

แล้วประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศก็เป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่พูดถึง สื่อโซเชียลก็พัฒนามาไกลมาก ทำให้เราเห็นว่าการใช้สื่อเป็นเครื่องมือทำให้ขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว แล้วก็มองเห็นด้วยว่าถ้าเราจะแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จริงๆ มันดูเป็นไปได้ เพราะมีคนเอาด้วยเยอะ

มีเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องเล่ากันในกลุ่มคนทำกิจกรรม น้องๆ LGBTQIA+ ที่เขาจัดงานไพรด์ทางภาคเหนือเล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกๆ เวลาไปรณรงค์ก็จะตะโกนว่า ‘marriage for all’ ‘marriage equality’ อะไรเทือกนี้ แต่ชาวบ้านที่เขาอยากจะร่วมด้วยกับเรา เขาก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไร จึงมีคนที่คิดว่าเราต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเพื่อสร้างแนวร่วมให้มากขึ้น มีการไปอธิบายให้เขาฟังว่าเรากำลังเรียกร้องอะไรแล้วคนไร้บ้านที่เชียงใหม่ก็พูดขึ้นมาว่า นี่มันคือสมรสเท่าเทียม ก็เป็นเรื่องเล่าในกลุ่มภาคประชาชนคนทำกิจกรรมที่พูดต่อกันมา

ทางฟากฝั่งของพรรคการเมือง พอพรรคอนาคตใหม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาก็สร้างการเปลี่ยนแปลงนะ เพราะเป็นครั้งแรกที่เรามี สส. LGBTQIA+ เข้ามาในสภา แล้วก็สร้างความตื่นเต้นให้กับพวกเราเหมือนกัน รู้สึกว่าเราต้องไปทำความรู้จักกับเขา และรู้สึกว่าเขาจะเป็นแนวร่วมช่วยเราขับเคลื่อนเรื่องนี้

จนวันที่เรามีกฎหมายฉบับนี้ก็รู้สึกดีใจมาก เพราะเราไม่คิดว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะแก้ได้จริง แต่มันก็ทำได้

ในนาทีที่พรรคเพื่อไทยเข้ามาทำงานในฐานะรัฐบาล เขาก็ให้ความสำคัญที่จะหยิบร่างนี้ขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกๆ เพราะตอนช่วงการหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด ประชาชนก็ชูธงเลยว่าคุณต้องให้ความสำคัญกับสมรสเท่าเทียม พวกเรากลุ่มประชาชนก็ไปตั้งคำถามกับพรรคการเมืองทุกพรรคเลยว่า ในวาระเริ่มแรกคุณจะทำอะไร แล้วการดีเบตก็มีน้อง LGBTQIA+ ไปตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้แทบทุกเวที เราบันทึกไว้เลยว่าเมื่อพรรคการเมืองพูดว่าจะให้ความสำคัญกับสมรสเท่าเทียม คุณต้องรับผิดชอบ ถ้าคุณเป็นรัฐบาลแล้วไม่ทำ เราจะทวงถามคุณไปตลอด

ตอนที่คุณเศรษฐาเข้ามาเป็นนายกฯ จำได้ว่าในเวลาไม่นานคุณเศรษฐาก็เปิดทำเนียบให้ภาคประชาชนเข้าไปพบ และพูดว่าจะเอากฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 7 วันข้างหน้า ซึ่งเราเองก็สงสัยจะเป็นไปได้เหรอใน 7 วัน ปรากฏว่าเขาก็เอาเข้า ครม. และผ่านการพิจารณาอย่างรวดเร็ว

หลังจากนั้นเราก็ยังมีความกังวลว่าจะทันสมัยประชุมหรือไม่ เพราะกฎหมายอื่นในสภาก็เยอะมาก เราก็ลุ้นว่าเขาจะทำด้วยวิธีไหน ปรากฏว่าเขาใช้วิธีบรรจุให้เป็นวาระเร่งด่วน ทั้งที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางเพศไม่เคยถูกบรรจุให้เป็นวาระเร่งด่วน ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาปากท้อง ปัญหาการเงินเท่านั้น ซึ่งระยะเวลาจาก ครม. ไปถึงสภา นับนิ้วดูมันใช้เวลาเพียง 6-7 เดือนเท่านั้นเอง ฉะนั้นย่อมนำมาซึ่งความรู้สึกยินดีให้กับพลเมืองหลากหลายทางเพศ รวมทั้งคนที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานอยู่แล้ว

สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำเลยก็คือ กฎหมายสมรสเท่าเทียมมาจากภาคประชาชนจริงๆ การพูดว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมสำเร็จในรัฐบาลเศรษฐาไม่ผิด แต่นั่นเป็นเพราะคุณรับปากว่าจะทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน กฎหมายสมรสเท่าเทียมขับเคลื่อนมาพร้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นเสียงแห่งความต้องการทางการเมือง สถานการณ์มันสุกงอม เพราะถูกฟรีซมาเป็นสิบปี พรรคการเมืองก็บรรจุลงไปในนโยบายพรรค เพราะเป็นความต้องการของประชาชน

ย้อนไปเมื่อครั้งที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาของ สส. มีการเรียกร้องให้ระบุคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ ลงในกฎหมาย อยากให้ช่วยขยายความว่าคำคำนี้หมายถึงอะไร

สิ่งหนึ่งที่ตัวเองตั้งข้อสังเกตคือ ความเร็วของการได้มาซึ่งกฎหมายฉบับนี้ทำให้มันไม่ได้ลงรายละเอียด พอไม่ได้ลงรายละเอียดก็เลยมองข้ามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวไป

ด้วยความที่เรามุ่งมั่นว่าต้องให้ทุกคนสมรสกันได้ เราจึงแก้กฎหมายทุกที่ที่มีคำว่า ‘หญิง ชาย’ เป็นคำว่า ‘บุคคล’ และคำว่า ‘สามี ภรรยา’ ซึ่งเป็นคำแบ่งแยกเพศ ก็แก้เป็นคำว่า ‘คู่สมรส’ หมดเลย ดังนั้นในหมวดของการสมรสอันนี้ไม่ต้องสงสัย มันมีการแก้ไขครบถ้วนทุกอย่าง 

แล้วมันก็สร้างความมหัศจรรย์ให้ตัวเราเองเหมือนกัน เพราะเราแก้กฎหมายแพ่งมาทั้งชีวิต การจะแก้คำแต่ละคำมันยากมากๆ เลยนะ ไม่น่าเชื่อเลยว่าเราแก้ไขคำว่าหญิง ชาย หรือสามี ภรรยา ให้เป็นกลางทางเพศได้ เมื่อมีคำว่า ‘บุคคล’ สามารถสมรสกันได้ สิ่งต่างๆ มันก็เท่าเทียมกันทันที นี่คือความมหัศจรรย์ในความรู้สึกจริงๆ เพราะเราผ่านการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องครอบครัวมาหลายครั้งหลายหนมาก แต่ยังมีร่องรอยที่ทำให้เห็นว่ามีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ คือกฎหมายนี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2478 ในยุคนั้นค่านิยมสังคมชายเป็นใหญ่มันเยอะมาก และมันก็หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน 

กฎหมายในหมวดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบิดา มารดา และบุตร เราจะเห็นได้ว่าเขามีความกังวลใจและความกลัวว่า ครอบครัวเพศหลากหลายจะเลี้ยงดูเด็กออกมาได้ดีเหมือนกับครอบครัวที่มีพ่อแม่หรือเปล่า ไอ้ความกลัวอันนี้มันมีมาช้านานในทุกครั้งที่มีการประชุมเรื่องนี้ อยากจะใช้คำว่ามันคือ homophobia คือความรู้สึกเกลียดกลัวคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และมันยังคงอยู่ในความรู้สึกของผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ 

เรื่องนี้ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร เราทุกคนต่างถูกหล่อหลอมและเติบโตมากับปู่ย่าตายาย หรือกระทั่งพ่อแม่ ที่เขาแบ่งคนแค่ 2 เพศ แล้วก็ปลูกฝังเรามาว่าผู้หญิงต้องทำแบบนี้ ผู้ชายต้องทำแบบนี้ จะไปทำอะไรที่แตกต่างจากบทบาทของผู้หญิง ผู้ชาย ‘ดีๆ’ ที่ถูกกำหนดมาแล้วไม่ได้ ไม่งั้นจะถูกเรียกว่าไม่ดี ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ถูกประณามหยามเหยียด ถ้าอยากจะมีความสุขและได้รับการยอมรับในสังคมเราต้องเป็นแบบนี้

เพราะฉะนั้นเราเห็นเลยว่าแม้ในหมวดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องพ่อ แม่ ลูก มันไม่เปลี่ยน แต่ชีวิตของคนมันดำเนินไปไกลมากแล้ว ทุกวันนี้เรามีครอบครัวที่มีพ่อ-พ่อ แม่-แม่ หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ที่เขาอยากจะกำหนด เรามีคนที่เพศกำเนิดเป็นชาย แต่ลุกขึ้นมาใส่กระโปรงเก๋ๆ แล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องจัดการกับขนหน้าแข้งตัวเอง หรือผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาผูกเนคไท ใส่สูท ตัดผมเกรียน ไปทำงาน โดยที่ถ้าหากคุณจะไปนั่งถามเขาว่าเขาเป็นเพศอะไร เด็กไปโรงเรียนก็จะถูกครูเข้ามาถามว่าคนไหนเป็นพ่อ คนไหนเป็นแม่ ไปโรงพยาบาลหมอก็ถามคนไหนเป็นสามี คนไหนเป็นภรรยา ถ้าใช้คำถามแบบนี้ก็กำลังละเมิดเขาอยู่ถูกไหม

ถ้ากฎหมายไม่กำหนดความสัมพันธ์ด้วยคำที่เป็นกลางทางเพศเอาไว้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่การศึกษา พื้นที่การทำงาน โรงพยาบาล โรงพัก ที่ว่าการอำเภอ มันจะมีปัญหาไปหมด

ในเวลานี้กฎหมายอนุญาตให้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้แล้วนะ แต่ไม่ให้ระบุคำที่เป็นกลางทางเพศลงในกฎหมาย ในตัวบทกฎหมายเราใช้คำว่า ‘ผู้รับบุตรบุญธรรม’ กับ ‘บุตรบุญธรรม’ อันนี้เป็นสิ่งที่ใช้บรรทัดฐานเดียวกันกับหญิงชาย แต่ในโลกของความเป็นจริง ผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมจะต้องไปโรงเรียน ไปโรงพยาบาล ไปสถานที่ต่างๆ แล้วเจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็จะลำบากที่จะปฏิบัติงาน ถ้าหากประมวลกฎหมายไม่ระบุให้ชัดเจนว่าความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวคือความสัมพันธ์ที่ควรจะถูกเคารพด้วยการใช้คำที่เป็นกลางทางเพศในกฎหมาย

ฝ่ายประชาชนจึงเสนอว่าเราควรจะมีคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ เพราะคำว่าบุพการีเฉยๆ มันหมายรวมถึงปู่ย่าตายายด้วย ดังนั้นถ้าเราจะหมายถึงเฉพาะคนที่เลี้ยงดูเราในครอบครัวที่อยู่ด้วยกันทุกวันๆ เราก็ควรจะต้องระบุให้ชัดว่านี่คือคนที่อยู่บ้านเดียวกัน มีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่ใกล้ชิดผูกพันกันมากกว่าญาติในอยู่กันคนละบ้าน จึงเลือกใช้คำว่าบุพการีลำดับแรก

เราเข้าใจว่าประชาชนจำนวนมากก็ยังรู้สึกว่าคำว่า ‘พ่อ’ และ ‘แม่’ มันเป็นความรู้สึกที่ผูกพันคุ้นเคย ในกฎหมายหมวดความสัมพันธ์ระหว่างบิดา มารดา และบุตร ภาคประชาชนจึงเสนอให้ใช้คำว่า ‘หมวดความสัมพันธ์ระหว่างบิดา มารดา บุพการีลำดับแรก และบุตร’ เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับทุกคนให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายได้อย่างเต็มที่อย่างแท้จริง

การกำหนดให้มีบุพการีลำดับแรก ไม่เพียงแต่เคารพสิทธิของคู่สมรสเพศหลากหลายเท่านั้น แต่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐทั้งหลายสามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ไปละเมิดสิทธิโดยไม่รู้ตัว เพราะที่ผ่านมามีการปฏิบัติแบบที่ละเมิดสิทธิโดยไม่รู้ตัวเยอะมาก สิ่งนี้จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้คนเคารพสิทธิความหลากหลายทางเพศกันมากขึ้น

ส่วนตัวคิดว่าการกำหนดความสัมพันธ์ในครอบครัว เราควรจะเคารพการตัดสินใจของเจ้าของเนื้อตัวร่างกายและครอบครัวนั้น กฎหมาย ศีลธรรม ประเพณี ไม่ควรไปกำหนดแทนเขา การก่อตั้งครอบครัวจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ตราบเท่าที่เราอยู่ในความสงบเรียบร้อย ไม่ได้ไปทำให้ใครต้องเดือดร้อน เราควรจะมีสิทธิกำหนดความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวด้วยตัวเอง 

ครั้งแรกที่เสนอให้บรรจุคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ ลงในกฎหมาย มีการปะทะกันทางความคิดอย่างไรบ้างกับ กมธ. เสียงข้างมากที่ไม่เห็นด้วย 

คนที่ไม่เห็นด้วยเขาก็มองว่าบุพการีลำดับแรกเป็นคำที่ไม่เคยใช้มาก่อน พอไม่มีการใช้มาก่อนก็ต้องมีคำนิยาม มีการกำหนดไว้ให้ชัดเจน

เราก็แย้งว่าจริงๆ แล้วคำว่าบุพการีมีอยู่ในกฎหมายอื่นๆ มานานแล้ว ในฐานะนักกฎหมายทุกคนเข้าใจตรงกันว่า บุพการีหมายถึงคนที่เป็นญาติสืบสายโลหิตตั้งแต่พ่อแม่ขึ้นไป 

เพียงแต่เราเติมคำว่า ‘ลำดับแรก’ ลงไป ซึ่งคำนี้ก็เคยมีการใช้มาก่อน เช่น เวลาเราพูดถึงการรับมรดก จะมีการพูดถึงบุพการีลำดับแรกอยู่ หากเราเสียชีวิตไปแล้ว พ่อแม่เรายังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์สินของเราก็จะเป็นของพ่อแม่ด้วย ไม่ใช่แค่คู่สมรสและลูกเท่านั้น ซึ่งตรงนี้หมายความว่าถ้าปู่ย่ายังอยู่ เขาก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของเรา เพราะเขาถูกตัดสิทธิด้วยบุพการีลำดับแรกไปแล้ว 

จะเห็นว่าคำว่าบุพการีลำดับแรก ถูกพูดถึงในกฎหมายว่าด้วยเรื่องมรดกไว้อยู่แล้ว ซึ่งก็คือหมวดเดียวกัน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เรื่องครอบครัว) มันไม่ได้เป็นคำใหม่ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นมา แต่เป็นภาษากฎหมายที่ทุกคนเข้าใจได้ตรงกัน

คนที่เขาไม่เห็นด้วยอีกกลุ่มหนึ่งเขามองว่า คำว่าบิดา-มารดา กับคำว่าบุพการี คือคำเดียวกัน ถ้าใช้คำว่าบิดา-มารดาแล้ว ก็ไม่ควรใช้คำว่าบุพการีเพราะเป็นคำซ้ำ 

เราจึงตั้งคำถามกลับไปว่า แล้วลูกของคู่สมรสเพศหลากหลาย คุณจะให้เขาเรียกว่าอะไร ก็ไม่มีคำตอบ 

พอไม่มีคำตอบก็เลยไปจบที่ว่า นี่คือร่างกฎหมายที่มาจากรัฐบาลแล้ว ร่างที่ผ่านกฤษฎีกามาแล้ว หากจะแก้ไขเพิ่มเติมก็ต้องผ่านการรับฟังความเห็น ผ่าน ครม. มาใหม่ ต้องไปใช้เวลาในการพิจารณาร่วมกันอีก

แม้กระทั่งใน กมธ. ชั้น สว. เราก็อภิปรายเรื่องนี้กัน ทาง สว. ก็บอกว่าเขาเข้าใจปัญหาของเรา เห็นด้วยกับเรา แต่ถ้าหากจะแก้ไขตามที่เราบอกกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็จะยังไม่ออกโดยเร็ว ต้องเอาร่างกฎหมายกลับไปพิจารณาในชั้น สส. ใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลา แล้วกฎหมายก็จะช้าไปอีก แล้ววาระของ สว. ก็กำลังจะหมดลง ถ้าเราไม่พิจารณาโดยเร็วก็ไม่รู้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะได้รับการพิจารณาอีกทีเมื่อไร 

ทาง สว. จึงเสนอว่าถ้าอยากได้กฎหมายโดยเร็วให้ตั้งข้อสังเกตไปว่า รัฐบาลควรจะดำเนินการอะไรโดยเร็วเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านพ้น 120 วัน หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว

ต้องยอมรับว่าข้อสังเกต 5 ข้อของ สว. เป็นข้อสังเกตที่ดี และใน กมธ. องค์ประกอบของ สว. ที่ได้รับเลือกให้เข้ามาทำงานใน กมธ. ก็เป็นคนมีคุณภาพ มีความรู้ทางด้านกฎหมายและภาษาไทยอย่างดี ฉะนั้นเขาก็จะช่วยเรากำหนดคำหรือภาษาที่ไม่เคยมีการเขียนมาก่อน ให้เข้าใจง่ายและเป็นที่ยอมรับ

มีข้อสังเกตส่วนตัวว่า การทำงานใน กมธ.ของ สส. กับ สว. มีความแตกต่างกัน เพราะ กมธ. ฝั่ง สส. คนเยอะ แต่ละพรรคการเมืองเขาก็จะแต่งตั้งกันมาตามโควต้าของเขา แต่พอเอาเข้าจริงเขาก็มีภาระที่ต้องไปอยู่ใน กมธ. ชุดอื่นๆ อีกเยอะมาก ต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่างห้องประชุม 

แต่ กมธ. ในชั้น สว. จะชัดเจนว่าหลายคนสนใจเรื่องนี้ มีการทำการบ้านก่อนมาประชุม เวลาอภิปรายก็นำเสนอข้อมูลอย่างเต็มที่ อาจเพราะว่าทาง สว. เขาตั้งธงไว้แล้วว่าเขาจะสนับสนุนกฎหมายนี้ให้ผ่านโดยเร็วก่อนจะหมดวาระ อาจจะอยากสร้างประวัติศาสตร์ว่าทำกฎหมายเพื่อประชาชน อันนี้ก็เป็นเรื่องของจังหวะเวลา สถานการณ์ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ส่วนตัวคิดว่าถ้าไม่มีเรื่องของจังหวะเวลามาเป็นตัวกดดัน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับนี้ก็คงไม่ได้แก้ไขได้เร็วขนาดนี้ หรือแก้ไขออกมาหน้าตาแบบนี้ แต่เพราะข้อจำกัดเรื่องเวลาทำให้ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ และทำให้ทุกคนต้องทำตามหลักการ ไม่อย่างนั้นคุณก็จะถูกบันทึกเอาไว้ว่าไม่ได้ให้ความสนใจกับประเด็นที่ประชาชนต้องการ

การให้ความสำคัญกับคำที่เป็นกลางทางเพศ จะมีผลต่อเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวเพศหลากหลายอย่างไร

เมื่อแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สมรสได้อย่างเท่าเทียมแล้ว จะทำให้พื้นที่การศึกษา พื้นที่การทำงาน พื้นที่อะไรอีกต่างๆ นานา เข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้น ถึงแม้ว่ายังไม่มากพอ แต่ก็จะช่วยให้ครอบครัวเพศหลากหลายที่เขามีลูกอยู่ด้วยมีความสุขขึ้น

แต่การที่เขาจะถูกเรียกด้วยคำที่เป็นกลางทางเพศหรือไม่ อันนี้เป็นปัญหาของพวกคนที่ทำงานในหน่วยงานที่เป็นทางการ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล จะต้องแก้ไข 

สำหรับครอบครัวเพศหลากหลายเขาก็มีคำเรียกในบ้านเขาอยู่แล้ว เขาอาจจะเรียกว่า แม่กับมัม หรือแดดดี้กับพ่อ แล้วแต่เขากำหนดกันเองเพื่อให้รู้ว่าใครเป็นใครในบ้านของเขา แต่การที่คนหนึ่งเป็นแดดดี้ อีกคนเป็นพ่อ เวลาไปยังสถานที่ทางการ เช่น โรงเรียน คุณก็ไปตัดสินเขาเลย ไปเรียกคนหนึ่งคุณพ่อ อีกคนคุณลุง ซึ่งเด็กเขาไม่โอเคไง เพราะอยู่ในบ้านไม่มีใครเป็นลุง เรื่องแบบนี้มันมีเยอะมาก มันเป็นปัญหาหน้างานที่คนทำงานไปละเมิดเขาโดยที่ไม่รู้ตัว

หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วเราต้องเตือนกันเลย ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ คุณต้องมีความละเอียดอ่อน คุณจะปฏิบัติกับเขาอย่างไร เพื่อที่จะเคารพและไม่ไปละเมิดเขาโดยไม่รู้ตัว

มีตัวอย่างที่ทำให้รู้สึกจริงๆ ว่ามีการไม่เคารพกัน เช่น ตอนที่มีการพูดถึงกฎหมายที่บอกว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อยู่แล้วไปจดทะเบียนหย่ากับสามี ถ้าจะไปแต่งงานใหม่ต้องให้พ้นจาก 310 วันก่อนถึงจะแต่งงานใหม่ได้ ทีนี้ในกฎหมายเขาใช้คำว่า ‘หญิงตั้งครรภ์’ มันคือการบอกว่าคนที่ตั้งครรภ์ได้คือหญิงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ใช่ 

ใน กมธ. ชุดที่เราพิจารณากฎหมายในชั้น สส. มีน้องที่เป็นทรานส์แมน เขาก็บอกว่าเขามีมดลูกอยู่ เขามีรังไข่ เขาพร้อมตั้งครรภ์ แต่เขาไม่ใช่ ‘หญิงตั้งครรภ์’ ตามที่กฎหมายเรียก จึงขอให้ใช้้คำว่า ‘บุคคลตั้งครรภ์’ เพื่อให้เป็นกลางทางเพศและเคารพทุกฝ่าย ปรากฏว่ามีนักกฎหมายคนหนึ่งบอกว่า “คุณจะเรียกตัวคุณว่าเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ในภาษากฎหมายคุณคือหญิงตั้งครรภ์ คุณไปเปิดพจนานุกรมดู ผู้หญิงหมายถึงคนที่ตั้งครรภ์ได้ ออกลูกได้” 

เราเลยถามว่าแล้วผู้หญิงทุกคนเลยเหรอที่ตั้งครรภ์ได้ ออกลูกได้ บางคนก็ตั้งครรภ์ไม่ได้ คือภาษามันถูกกำหนดขึ้นมาจากกรอบที่มีทัศนคติที่ตายตัวและมีอคติ ซึ่งไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เราจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจว่าเราควรจะเปลี่ยนตรงไหนบ้าง ซึ่งภาษานี่มันเป็นสิ่งที่ตัดสินและตีตราคนเยอะมากเลยนะ เราจึงต้องเลือกใช้คำที่เคารพคนอย่างเสมอกันจริงๆ ไม่อย่างนั้นมันจะไปละเมิดเขา

ถ้าอย่างนั้นมองว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ยึดโยงด้วยระบบสองเพศมาโดยตลอด

ปัญหามาจากการที่เราไม่เคยมีพื้นที่ให้กับคนที่แตกต่างจากขนบเดิมเขาได้ส่งเสียง ถ้าหากว่าเขามีพื้นที่สื่อสารมากกว่านี้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นทางการ อย่างเช่น ถ้าสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้กำหนดถ้อยคำในพจนานุกรม สิ่งที่เราตั้งคำถามคือ เรามี LGBTQIA+ ที่เป็นหนึ่งในสำนักงานราชบัณฑิตยสภาบ้างไหม มันควรจะมีคนที่เขาเป็นเจ้าของเรื่องราวกำหนดภาษาหรือถ้อยคำต่างๆ เหล่านี้ด้วยตัวเองได้

ใน กมธ. ทั้งในชั้น สส. และ สว. ก็ได้ยินเขาขอบคุณภาคประชาชนที่ทำให้เขาได้มีโอกาสทำงานด้วย ทำให้เขาได้เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศว่าคืออะไร นั่นเป็นเพราะมีการเปิดพื้นที่ให้เจ้าของเรื่องราวได้เข้าไปทำงาน ไม่ใช่เขาไปคิดเอาเอง พิจารณาตัดสินใจเอาเอง

เมื่อประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว ต้องมีการแก้กฎหมายอื่นๆ เพื่อให้สอดรับกันหรือไม่ หรือในแง่หนึ่งยังมีกฎหมายใดอีกบ้างที่ไม่เป็นกลางทางเพศ

ในระยะเวลาอันใกล้จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมคำที่เป็นกลางทางเพศ เพราะว่าเรามีกฎหมายลำดับรองตามมาอีก เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ เพราะในที่สุดครอบครัวเพศหลากหลายบางครอบครัวเขาก็ต้องการมีสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้น เมื่อเขาจดทะเบียนสมรสกันแล้วเขาก็ควรจะมีสิทธิที่จะไปตั้งครรภ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เขาก็ควรจะกำหนดได้ว่าทายาทของเขาจะเรียกเขาว่าอะไร

ในระยะต่อไปกฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์จะต้องแก้ไขโดยเร็ว เพื่อที่จะทำให้คู่สมรสเพศหลากหลายเกิดความมั่นคงได้อย่างแท้จริง

-3-

celebration of ‘gender equality’

ท่ามกลางบรรยากาศการเฉลิมฉลอง จะทำอย่างไรไม่ให้มีเพียงความยินดีแล้วจบลง แต่ให้สังคมมีความเคารพความหลากหลายทางเพศ และคำนึงถึงความเสมอภาคอย่างแท้จริง

นี่คือสิ่งที่เราต้องหยิบประเด็นที่ยังไม่มีพื้นที่มาพูดถึง เราต้องชี้ให้เห็นว่า ถ้ากำลังอยู่ในช่วงของการรอคอยเวลา 120 วันที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ แล้วต้องการทำงานในหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขกฎหมายลำดับรอง ระเบียบปฏิบัติ เพื่อที่จะรองรับให้คนที่ต้องการสมรสกันเขาสามารถที่จะสมรสกันได้จริง แล้วก็ไม่ไปละเมิดเขา ต้องดูอย่างรอบคอบว่ามีหน่วยงานไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้

อย่างตอนนี้เขาจะต้องไปแก้กฎหมายทะเบียนราษฎร กฎหมายสัญชาติ กฎหมายเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร (กฎหมายที่ให้อำนาจกรมสรรพากรจัดเก็บภาษี 5 ประเภท) อะไรต่างๆ นานา เพราะทุกๆ กฎหมายที่มีอยู่ในตอนนี้จะมีคำว่า สามี-ภรรยา หญิง-ชาย พอมีคำแบบนี้ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า คนไหนที่เป็นคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะได้รับสิทธิตามกฎหมายนั้น

เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำงานกันต่อ หน่วยงานต่างๆ ต้องคำนึงถึงและปฏิบัติให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขไปแล้ว

นอกเหนือจากเรื่องสิทธิสมรส ยังมีประเด็นอื่นใดอีกบ้างที่จะต้องเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย

เรื่องกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศอันนี้สำคัญ เพราะตอนที่เราจะกำหนดคำที่เป็นกลางทางเพศในกฎหมายสมรสเท่าเทียม คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะหยิบยก พ.ร.บ.คำนำหน้านาม มายืนยันว่ากฎหมายกำหนดให้คนที่เกิดมาต้องใช้คำนำหน้าแบบนั้นแบบนี้ และเขาก็บอกว่ามันต้องไปแก้กฎหมายฉบับนี้ก่อน แล้วค่อยมาแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สมรสกันอย่างเท่าเทียม 

เราก็บอกว่า อ้าว…กฎหมายคำนำหน้าบุคคลมันเป็นกฎหมายรอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายหลัก แท้ที่จริงเมื่อแก้กฎหมายหลักแล้วต้องทำให้กฎหมายรองทุกฉบับแก้ไขให้สอดคล้องกันสิ มันเลยเหมือนมานั่งถกเถียงกันว่าไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่ 

เลยรู้สึกว่ากฎหมายที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำโดยเร็วหลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็คือการยกร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศสภาพ เพื่อที่จะทำให้มีการกำหนดคำเป็นกลางทางเพศให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในการนิยามตัวตนของ LGBTQIA+ โดยมีประชาชนที่เป็นเจ้าเรื่องราวเข้าไปมีส่วนร่วม อย่าปล่อยให้นักกฎหมายหรือคนที่มีอำนาจตัดสินใจทำกันเองโดยลำพัง จะต้องฟังเสียงของประชาชนอย่างเต็มที่ เราต้องเคารพการตัดสินใจของคนที่เป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกาย ไม่ใช่ให้กฎหมายมาเป็นตัวกำหนด

ในทัศนะส่วนตัวมองว่าสังคมที่มีความเสมอภาคทางเพศต้องเป็นอย่างไร

สังคมที่มีความเสมอภาคทางเพศ คือสังคมที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิเสรีภาพ และตัวกฎหมาย ระเบียบ กติกา ต้องรองรับคนทุกคนเสมอกัน โดยไม่นำเรื่องเพศมาเป็นข้อจำกัด

เคยมีการพูดว่า “ผู้หญิงลาคลอดได้ 90 วัน แล้วผู้ชายล่ะ” ก็ผู้ชายไม่ได้มีมดลูก ไม่ต้องให้นมลูก แต่เขาต้องการสิทธิเสมอกัน ไม่ให้แตกต่างกันเลย ซึ่งการตั้งคำถามแบบนี้มันสะท้อนว่า คุณไม่ได้เข้าใจเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรมเลย

เวลาเราพูดถึงเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรม เราต้องดูข้อเท็จจริงด้วย เช่น หากเราพูดถึงการให้สิทธิคนพิการ สิทธิเด็ก สิทธิคนชรา เราก็ไม่ได้ให้เขาได้รับสิทธิเท่ากับเรานะ แต่เขาควรจะได้มากกว่าเรา เราต้องเคารพและเข้าใจข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่แตกต่างกันมันก็ต้องได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันไปด้วย จึงจะเกิดความเป็นธรรม ไม่ใช่ให้เหมือนกันไปหมด 

ความเสมอภาคและความเป็นธรรม คือการที่เราจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายและเคารพความแตกต่างนั้น ความเท่าเทียมไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเหมือนกันหมด แต่หมายถึงทุกคนต้องมีโอกาสเข้าถึงสิทธิได้อย่างเท่ากันต่างหาก

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

Photographer

นฤภรกมล แมงกะพรุน
คุยกับหมารู้เรื่องกว่าคุยกับปลา มีเพื่อนเป็นหมาทั่วจังหวัดเชียงใหม่ หลงใหลในเรื่องนามธรรม แต่บ้าคลั่งการซื้อโคมไฟมือสอง โดยปกติทำงานวิชวล แต่ก็แอบๆ อยากเขียนด้วยบ้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า