นัยนา สุภาพึ่ง: คลี่ sexual consent บนความไม่เก็ทของสังคมไทย ทำแบบไหนถึงเรียก ‘คุกคาม’

ในบรรดาผู้มีบทบาทต่อประเด็นเรื่องเพศในสังคมไทย ชื่อของ นัยนา สุภาพึ่ง ปรากฏขึ้นในหลายเครือข่าย เธอเป็นทนายความประจำศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร องค์กรขับเคลื่อนเรื่องความรุนแรงทางเพศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในสังคมไทย 

เรานัดพบกัน ณ ที่ทำการมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) องค์กรที่มีเป้าประสงค์เพื่อพิทักษ์สิทธิและความเป็นธรรมแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และนั่นก็เป็นอีกบทบาทสำคัญของนัยนาในฐานะที่ปรึกษา ที่ไม่ใช่แค่ผู้พิทักษ์สิทธิสตรี แต่ยังข้องเกี่ยวกับการผลักดันสิทธิทางเพศของคนทุกเพศภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน

ย้อนไปเมื่อปี 2550 นัยนาคือหนึ่งในตัวตั้งตัวตีสำคัญในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ว่าด้วยความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเธอมองว่าล้าหลังและไม่เป็นธรรม เพราะมีขอบเขตการตีความที่แคบเกินกว่าจะคุ้มครองเหยื่อจากการถูกกระทำทางเพศอย่างสมเหตุสมผล และการแก้ไขกฎหมายในครั้งนั้นก็นำมาสู่วิวัฒนาการของกฎหมายความผิดทางเพศที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติมากขึ้น

ปัจจุบัน นัยนายังคงเป็นที่ปรึกษาให้กับการแก้ไขปัญหาล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่คนในสังคมเกิดความตื่นรู้มากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสียงเรียกร้องเพื่อผู้ถูกละเมิดทางเพศ โดยมีคำสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของการผลักดัน นั่นคือ ความยินยอม (consent)

ทว่าภายใต้จารีตแห่งสังคมไทยที่เรื่องเพศไม่สามารถจะถูกหยิบมาพูดในที่แจ้งได้อย่างสะดวกใจ อีกทั้งความแตกต่างทางเพศยังแฝงมาด้วย ‘อำนาจ’ ที่มองไม่เห็น การจะปลุกคนนับล้านให้ตื่นขึ้นจากค่านิยมที่สร้างบาดแผลให้ผู้ถูกกระทำนั้นยังเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลา

WAY สนทนากับนักกฎหมายผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศ และสตรีคนหนึ่งที่เติบโตภายใต้สังคมที่ปกคลุมด้วยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ถึงความเข้าใจต่อความยินยอมทางเพศ (sexual consent) และความตื่นตัวต่อการคุกคามทางเพศ (sexual harassment) ในสังคมไทย

ความหมายของการคุกคามทางเพศ (sexual harassment) ในแง่กฎหมาย นิยามไว้อย่างไร

ถ้าเอาตรงตัวตามร่างมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 เลยก็คือ

‘พฤติกรรมหรือการกระทำทางเพศใดๆ ที่เป็นการบีบบังคับด้วยการใช้อำนาจที่ไม่พึงปรารถนาด้วยวาจา ข้อความ ท่าทาง การมองด้วยสายตา การแสดงด้วยเสียง รูปภาพ เอกสาร ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งของลามกอนาจารเกี่ยวกับเพศ หรือกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกัน โดยทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกอึดอัดใจ รำคาญ ได้รับความอับอายเสื่อมเสียเกียรติ หรือรู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม และให้หมายรวมถึงการติดตาม รังควาน หรือการกระทำใดที่ก่อให้เกิดความที่ก่อให้เกิดบรรยากาศไม่ปลอดภัยทางเพศ’

ฟังดูแล้วมันเยอะมาก แต่ก็เป็นความพยายามอธิบายให้ครอบคลุมลักษณะการกระทำที่ชัดเจนและสอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ส่วนการกำหนดโทษตามกฎหมายอาญา ม.397 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี เเละปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจะคาบเกี่ยวกับ ม.278 ที่กำหนดโทษของการคุกคามทางเพศในที่สาธารณะ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การคุกคามทางเพศเป็นคำศัพท์ที่ค่อนข้างใหม่ในสังคม ก่อนจะมีนิยามการคุกคามทางเพศ ประเทศไทยใช้กฎหมายอะไรในการควบคุมการกระทำลักษณะนี้

เริ่มแรก สังคมเข้าใจว่าการคุกคามทางเพศเป็นแค่การหยอกเย้ากระเซ้าแหย่ ไม่ได้เป็นความรุนแรงถึงขนาดจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายมาจัดการ เพราะเวลาเราพูดถึงกฎหมายอาญาซึ่งใช้ดำเนินการกับคดีทางเพศ ความหมายของมันคือการเอาผิดเมื่อเกิดการกระทำต่อร่างกาย ซึ่งเป็นไปในทางที่รุนแรงกว่าแค่การแตะเนื้อต้องตัว

เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดเรื่องนี้กันในสังคมก็มักจะมีเสียงโต้แย้งว่า แค่จับตัวกันแค่นี้ จะต้องเอาจริงเอาจังขนาดที่ต้องเอาคนเข้าคุกเลยเหรอ พอถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ข้อเสนอให้กำหนดมาตรการลงโทษอย่างเป็นรูปธรรมในทางอาญาจึงกลายเป็นข้อถกเถียงกันอย่างยาวนาน

ในบ้านเราจะแบ่งเรื่องความรุนแรงทางเพศไว้หลายมิติ ส่วนการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ยังไม่ได้กำหนดโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญาเสียทีเดียว ขณะที่การกระทำลักษณะคล้ายกันที่ถูกกำหนดโทษทางอาญาไว้อย่างชัดเจนคือ การทำอนาจาร ซึ่งอยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับเพศที่เบากว่าการข่มขืนกระทำชำเรา

อธิบายเพิ่มก็คือ ‘การข่มขืนกระทำชำเรา’ ในทางกฎหมายเขียนว่าเป็นการที่อวัยวะเพศชายสอดใส่ไปในอวัยวะเพศหญิงแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้มีการร่วมเพศกันตามนิยามนั้น จะถูกเรียกว่า ‘การพยายามข่มขืนกระทำชำเรา’ ส่วนที่เบาไปกว่านั้นอีก คือยังไม่ได้ถอดเสื้อผ้าเลย แต่มีการพยายามเอามือไปจับหน้าอก จับก้น ล้วงควัก แกะเกา เพื่อเจตนาในทางเพศ จะถูกจัดอยู่ในขอบเขตของ ‘การกระทำอนาจาร’

การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องของการใช้คำพูด สายตา หรือการแตะเนื้อต้องตัว ซึ่งการแตะเนื้อต้องตัวก็ทับซ้อนอยู่กับการทำอนาจาร สิ่งที่แตกต่างกันคือการทำอนาจารอาจพัฒนาไปสู่การพยายามข่มขืน หรืออาจไปถึงการข่มขืนได้

กฎหมายแรงงานเกี่ยวข้องอย่างไรกับการคุกคามทางเพศ

การคุกคามทางเพศเป็นการต่อรองเชิงอำนาจโดยใช้เพศเป็นองค์ประกอบ ซึ่งอำนาจนี้เป็นอำนาจที่ไม่พึงปรารถนา ตามนิยามที่บอกไปในตอนแรก ซึ่งสถานที่ทำงานเป็นพื้นที่ที่คนที่มีอำนาจเหนือกว่าสามารถใช้อำนาจกับคนที่มีอำนาจน้อยกว่าได้ และสามารถนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ได้

บนบรรทัดฐานของกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่อิงกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งใช้ร่วมกันทั่วโลก การต่อรองเชิงอำนาจทางเพศในที่ทำงานจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ และไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น เพราะจะส่งผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลในองค์กร และมีผลต่อภาพรวมในการทำงานอย่างแน่นอน ILO จึงกำหนดมาตรฐานให้องค์กรสร้างระเบียบเข้มงวดในเชิงรุก รวมถึงกำหนดบทลงโทษต่อการคุกคามทางเพศในที่ทำงานอย่างชัดเจน

การแสวงหาผลประโยชน์จะมาในรูปแบบใดได้บ้าง

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการเลือกปฏิบัติ การให้ผลประโยชน์กับคนที่ยินยอมต่ออำนาจนั้นเป็นพิเศษ ซึ่งจะทำให้องค์กรขาดธรรมาภิบาล เกิดการบริหารจัดการที่ไม่เป็นธรรม

การคุกคามทางเพศที่พบบ่อยๆ ในไทยมีลักษณะอย่างไรบ้าง

เคสที่พบมากที่สุดจากประสบการณ์การทำงาน มักมาในรูปแบบของการหยอกล้อกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นเคสที่ไม่ถูกร้องเรียน เพราะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกันตามประสาคนที่อยู่ร่วมกันภายใต้สังคมหนึ่ง 

อีกอันที่เกิดการร้องเรียนบ่อยๆ คือการใช้อำนาจบังคับหรือกดดันให้เกิดสถานการณ์ที่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันตามลำพัง เช่น การเรียกพบส่วนตัวหลังเลิกงาน การออกไปทำงานร่วมกันข้างนอกสองต่อสอง

พอจะชี้ได้ไหมว่า การกระทำอะไรบ้างที่กฎหมายระบุว่าเข้าข่ายคุกคามทางเพศ

ถ้าอ้างอิงตามนิยาม จะเห็นว่าการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้หลายช่องทางมาก ซึ่งไม่จำเป็นต้องสัมผัสตัวกันเลยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นการตามรังควาน ถ้าเราพูดกันง่ายๆ ก็คือการตามตื๊อ ไม่ว่าจะเป็นภายในพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันหรือในที่สาธารณะก็ตาม บางครั้งพฤติกรรมนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำจนเป็นความเคยชินและไม่ได้คิดว่าจะเป็นการคุกคามทางเพศได้ หรืออย่างการมอง การเอ่ยชมเพศตรงข้าม ก็จะเกิดคำถามว่า ถ้าการกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นจากความปรารถนาดี และในบางกรณีคนที่ถูกทำแบบนี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเดือดร้อนอะไร แล้วเราจะใช้อะไรมาเป็นเกณฑ์กลางตัดสินว่าเป็นการคุกคามล่ะ

พอเกิดข้อถกเถียงนี้ขึ้น ILO เลยกำหนดเกณฑ์กลางในการพิจารณา ซึ่งบอกว่าองค์ประกอบสำคัญในการพิสูจน์ว่าการกระทำใดเข้าข่ายการคุกคามทางเพศ คือ จะต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ถูกกระทำเป็นหลัก

แม้จะเป็นการกำหนดความผิดทางอาญา แต่เราไม่สามารถจะเอาเจตนาของผู้กระทำมาเป็นเครื่องวัดเหมือนกับการกระทำความผิดทางอาญาโดยทั่วไป เพราะการตีความตามกฎหมายอาญาเป็นการตีความอย่างเคร่งครัด และจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์หลักฐาน รวมไปถึงการมีพยานเพื่อมายืนยันข้อเท็จจริง และการลงโทษทางอาญาก็ต้องเกิดขึ้นในการทำความผิดอย่างชัดเจน ในเคสการคุกคามทางเพศเลยเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์เจตนาที่แท้จริง และอาจทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถให้ความคุ้มครองอย่างแท้จริงแก่ผู้ถูกกระทำได้

ดังนั้นต่อให้เป็นสถานการณ์เดียวกันและผู้ถูกกระทำคนหนึ่งไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่ถ้ามีผู้ที่เดือดร้อนต่อการกระทำนั้น ก็ต้องฟังเสียงของผู้ที่รู้สึกเดือดร้อนและรู้สึกไม่ปลอดภัยเป็นหลัก รวมไปถึงมีกระบวนการลงโทษหลังจากการตัดสินคดีด้วย เพราะผู้ถูกกระทำอยู่ในสถานะที่มีอำนาจน้อยกว่า

คำสำคัญของการคุกคามทางเพศคือการใช้ ‘อำนาจ’ ?

อำนาจคือส่วนหนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกระทำที่ไม่พึงปรารถนาต่อคนที่ถูกกระทำ จนทำให้รู้สึกอึดอัด รำคาญ ไม่ปลอดภัย ซึ่งส่วนนี้ทำให้การคุกคามทางเพศแตกต่างจากการกระทำความผิดทางอาญาอื่นๆ เกี่ยวกับเพศ

มีคนเคยพูดว่า นี่คนนะ ไม่ใช่ปลากัด ที่แค่นั่งจ้องตากันแล้วทำให้ท้องได้ แต่ถ้าคนโดนจ้องรู้สึกอึดอัด รำคาญ ไม่ปลอดภัย นั่นก็ถือเป็นการคุกคามทางเพศแล้ว

พอมาถึงปัจจุบัน นิยามการกระทำที่เข้าข่ายคุกคามมันขยายวงกว้างออกไปเพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย บางครั้งเราไม่ได้ถูกกระทำโดยตรงต่อร่างกาย แต่เราตกอยู่ในบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยทางเพศ เช่น การไปทำงานแล้วเพื่อนร่วมงานที่นั่งข้างๆ เปิดหนังโป๊ดู พร้อมทำเสียงซี้ดซ้าดไปด้วย จนทำให้เรารู้สึกอึดอัดรำคาญใจ สถานการณ์นั้นก็กลายเป็นการคุกคามทางเพศได้

นอกจากกฎหมายแรงงานแล้ว มีการบังคับใช้ในสถานที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ที่ทำงาน เช่น สถานศึกษา หรือพื้นที่สาธารณะด้วยไหม

ความเข้มงวดในการกำหนดโทษจะต่างกัน ในสถานศึกษาจะมีมาตรการที่เข้มข้นกว่า 

เพราะมีเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเข้ามาควบคุมอีกชั้นหนึ่ง เป็นสถานการณ์ที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือกว่าอย่างชัดเจน ในกรณีที่ผู้กระทำเป็นครูหรือผู้บริหาร คนเหล่านี้จะสามารถให้คุณให้โทษต่อผู้ถูกกระทำได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะถ้าฝ่ายถูกกระทำคือนักเรียน

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่าอำนาจนั้นจะต้องมาพร้อมกับตำแหน่งที่สูงกว่าเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งอำนาจทางเพศที่ต่างกันของเพศชายและเพศหญิง ก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการคุกคามได้เช่นเดียวกัน

ปัจจุบันที่เพศสภาพเปิดกว้างและเลื่อนไหลมากขึ้น ความหมายของการคุกคามทางเพศสำหรับคนข้ามเพศ เพศทางเลือก หรือแม้แต่เพศชายเอง ได้รับการคุ้มครองภายใต้กติกาเดียวกันไหม

จริงๆ ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ คงต้องพูดถึงการแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2550 ซึ่งเดิมทีให้ขอบเขตความผิดไว้ว่า ‘ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตน’ หมายความว่า ความผิดนั้นเกิดขึ้นภายใต้คำสำคัญคือ ‘ข่มขืน’ ‘ผู้หญิง’ และ ‘ไม่ใช่ภรรยา’ แปลว่าการข่มขืนผู้ชายไม่นับเป็นความผิด และการข่มขืนภรรยาก็ไม่นับเป็นความผิดเช่นกัน

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นเลยว่า สังคมไทยยอมรับให้เกิดการข่มขืนในสถาบันการสมรสได้ จนทำให้ในอดีตเกิดคดีที่ภรรยาฆาตกรรมสามีเยอะมาก ด้วยเหตุผลเพราะไม่อยากร่วมเพศกับสามี แต่ไม่สามารถขัดขืนได้ อีกทั้งยังมีคดีที่เด็กผู้ชายถูกข่มขืนโดยชาวต่างชาติในย่านท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อนำคดีดังกล่าวนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คดีก็สรุปให้เป็นการทำอนาจาร ซึ่งโทษไม่รุนแรงเท่าการข่มขืน เพราะรูปคดีไม่เข้าข่ายที่จะเอาผิดด้วยมาตรา 276 ได้

ดังนั้นเราจึงผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมาย การให้ความหมายจะต้องครอบคลุมในวงที่กว้างขึ้นเพื่อความเป็นธรรม คำว่า ‘ผู้ใด’ ในที่นี้จะไม่ใช่แค่ผู้ชาย แต่ไม่ว่าจะเป็นเพศใดที่พยายามทำให้เกิดการข่มขืน แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้เป็นผู้กระทำเองก็ย่อมมีความผิด 

ตอนเราที่พยายามต่อสู้เรื่องนี้ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส.ส. และ ส.ว. หลายคนให้ความเห็นว่า ในเมื่อผู้หญิงยอมแต่งงานมาเป็นเมียผู้ชายแล้ว ถ้าไม่ยอมนอนกับผัวแล้วจะแต่งงานด้วยทำไม ซึ่งนี่เป็นทัศนะของผู้ชายไทยและสังคมไทย ไปจนถึงประเทศอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ 

มิหนำซ้ำ บางคนพูดได้อย่างไม่อายเลยว่า “ถ้าอย่างนั้นผมก็ข่มขืนเมียทุกวันแหละ” แล้วก็มองว่าการที่เพศหญิงแสดงท่าทีไม่ยอม หรือไม่พอใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย เป็นจริตหนึ่งของผู้หญิงเท่านั้น นี่เป็นมุมมองของผู้ชายที่เราเจอเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว และอาจจะยังหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน

วิธีการของเราในตอนนั้น คือการพาความคิดขององค์ประชุมออกไปให้ไกลกว่าเรื่องที่ภรรยาไม่ยอมหลับนอนกับสามี ไปสู่ประเด็นการคุ้มครองเด็กผู้ชายจากการถูกข่มขืน เพราะถ้าเรายังอภิปรายวนเวียนอยู่กับการให้เมียได้รับความคุ้มครองจากการบังคับของผัว มตินี้คงไม่ผ่านการอนุมัติแน่นอน เพราะในสภาฯ เต็มไปด้วยผู้ชาย

เราชี้แจงว่าการเอาประโยค ‘หญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยา’ ออกไป แล้วแทนที่ด้วย ‘ผู้อื่น’ แทน จะช่วยให้สามารถคุ้มครองเด็กผู้ชายที่ถูกข่มขืนได้ และในหลายๆ ประเทศเขาก็ทำแบบนี้กันหมดแล้ว จนในที่สุดวรรคที่เป็นปัญหานั้นก็ถูกเปลี่ยนเป็น ‘ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น’ ซึ่งให้ความหมายที่กว้างและปกป้องคนได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น

ใช้เวลานานไหมกว่าจะแก้ข้อกฎหมายนี้ได้

นานมาก เราขลุกอยู่กับคดีข่มขืนมาตั้งแต่ช่วงปีแรกที่เริ่มทำงานเป็นทนาย คดีแรกๆ ที่ได้ทำคือ คดีที่ผู้หญิงฆ่าสามีเพราะไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ด้วย ในช่วงนั้นก็มีโอกาสได้ฟังผลวิจัยของสูตินรีแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช เกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพของผู้หญิงไทยที่เข้ารับการตรวจภายใน ซึ่งพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่มาตรวจเป็นโรคช่องคลอดแห้ง เนื่องจากช่องคลอดไม่หลั่งสารหล่อลื่นออกมาขณะมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอน

สาเหตุสำคัญคือการที่ผู้หญิงไม่ได้มีอารมณ์ร่วม แต่จำเป็นต้องทำ เพราะคู่นอนต้องการ เพราะเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์กับสามีคือหน้าที่ที่ไม่ควรปฏิเสธ บวกกับการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ช่วย ท้ายที่สุดผลลัพธ์จึงมาตกอยู่ที่สุขภาพช่องคลอดของเพศหญิง

ตอนที่เราฟังหมอท่านนั้นนำเสนอการวิจัย ทัศนคติของหมอผู้ชายก็มองว่า นี่คือโรคของผู้หญิงซึ่งเกิดจากความผิดปกติในร่างกายของผู้หญิงเอง ด้วยความที่ประสบการณ์ทางเพศของผู้หญิงและผู้ชายในสังคมไทยมันไม่เท่ากันตั้งแต่แรก กลายเป็นว่าเพศหญิงเป็นผู้ที่ไม่พร้อม ไม่รู้จักเตรียมตัวสำหรับการร่วมเพศ หมอยังบอกว่าจำเป็นต้องสอนเรื่องเพศให้กับผู้หญิงมากกว่านี้ เราฟังแล้วรู้สึกอึดอัดมาก

เรื่องนี้ในแง่มุมการแพทย์ มันเกี่ยวข้องกับการออกแบบนโยบายสุขภาพโดยตรง เพราะหมอคือคนที่มีอำนาจมากในการกำหนดงบประมาณและทิศทางการเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ เราก็เลยอดคิดไม่ได้ว่าผู้หญิง 80 เปอร์เซ็นต์ ในงานวิจัยนั้นคงจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนผิดที่ปรนนิบัติคู่นอนได้ไม่ดีพอ รู้สึกว่าตัวเองบกพร่อง ทั้งที่จริงแล้วเรื่องนี้จำเป็นต้องทำความเข้าใจร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่าควรจะเป็นแบบใด ถ้าถึงเวลาที่ต้องมีเซ็กส์แล้วร่างกายยังไม่พร้อม เราจะทำยังไงกับมันได้บ้าง

พอพูดถึงเรื่องนี้ สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นความยินยอมทางเพศ (sexual consent) ได้หรือเปล่า

แน่นอน consent ในสถานการณ์แบบนี้มันสำคัญมาก ซึ่งไม่ใช่แค่กับผู้หญิงและผู้ชาย แต่คือทุกๆ เพศ มันไม่ใช่เรื่องที่จะเอาแต่ใจตัวเองได้ คุณต้องคำนึงถึงคู่นอนของคุณและเรียนรู้เพื่อหาแนวทางในการสุขสมร่วมกัน และในที่นี้ consent ก็อาจไม่ได้หมายถึงแค่ความยินยอมอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวโยงถึงความเหมาะสมในบริบทแวดล้อมนั้นด้วย

ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่อง sexual consent คือ ความเข้าใจผิดของผู้ชายว่าตัวเองต้องเป็นฝ่ายนำในเรื่องเพศ ในขณะเดียวกันผู้หญิงก็เข้าใจผิดว่าตัวเองต้องเป็นฝ่ายตาม หรือฝ่ายที่ยอมในเรื่องเพศเสมอ

คนที่ตื่นตัวในเรื่องนี้คือ คนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยี และรับรู้ข้อตกลงของสังคมผ่านโซเชียลมีเดียได้ ซึ่งเป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ ในสังคม เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมยังคงอยู่ในบริบทแบบเดิม การใช้อำนาจเหนือยังคงเป็นแนวทางที่ถูกยอมรับในสังคมใหญ่ ไม่ว่าจะในเรื่องเพศหรือเรื่องอื่นๆ 

ความเข้าใจของสังคมไทยปัจจุบันต่อเรื่อง consent ทางเพศ มีอะไรแตกต่างหรือเปลี่ยนแปลงจากอดีตบ้าง

สิ่งที่ดีขึ้นคือเราสามารถทำให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจยอมรับฟังเรื่องนี้ได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนแทบจะไม่ถูกยอมรับเลย เพราะเขาไม่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องถูกยกขึ้นมาพูดในสภานิติบัญญัติฯ หรือที่ประชุม ครม. ด้วยเหตุผลว่า ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่โดนคุกคามทางเพศ ประเด็นนี้จึงถูกมองว่าเป็นความผิดของผู้หญิงเพียงส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่รูปร่างหน้าตาดี ผู้หญิงที่แต่งตัวเก่ง หรือผู้หญิงที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง

ในอดีต เวลาเกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศขึ้น ฝ่ายหญิงมักจะถูกตัดสินทันทีว่าเป็นเพราะการแต่งตัว ท่าทาง และการแสดงออกที่ไปเชื้อเชิญให้เพศตรงข้ามมายุ่งด้วย แต่พอมาถึงปัจจุบัน เหตุผลพวกนี้จะถูกสังคมโจมตีทันที เพราะถือเป็นการตัดสินตีตราผู้ถูกกระทำ สมควรถูกประณาม ปฏิกิริยาเหล่านี้ของสังคมมันแตกต่างจากช่วง 10 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด โดยมีปัจจัยสำคัญคืออิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย เพราะมีตัวอย่างของคนที่กล้าออกมาพูด ซึ่งไม่ได้แปลว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามันไม่มีเหตุการณ์คุกคามทางเพศเกิดขึ้นเลย เพียงแต่มันไม่มีใครออกมาพูดให้เราฟัง เพราะเขารู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเองสามารถพูดได้

ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สังคมมีพื้นที่ให้ผู้ถูกกระทำสามารถบอกเล่าความรู้สึกของตัวเองได้มากขึ้น และทำให้เขารู้สึกมั่นคงทางจิตใจมากขึ้น กล้าหาญที่จะออกมาพูดและเรียกร้องให้ตัวเองมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนการตัดสินตีตราเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายมาก การที่ผู้หญิงเข้าบ้านผู้ชาย การอยู่ในห้องเดียวกัน ก็ถูกนับว่าเป็นการยินยอมพร้อมใจให้ผู้ชายทำอะไรก็ได้ ซึ่งทัศนะเหล่านี้ ในอีกมุมหนึ่งมันคือการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ชายทุกคนบนโลกให้สามารถทำแบบนั้นได้เพียงแค่ผู้หญิงเปิดประตูเข้าไปในพื้นที่ของคุณ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นลักษณะไหน หรือแม้แต่การยอมรับให้เลี้ยงข้าว เลี้ยงกาแฟ ก็ถูกตัดสินว่าเป็นการยินยอมให้เกิดการร่วมเพศขึ้นได้ จนสิ่งนี้กลายเป็นกติกาสังคมขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นการที่มีใครสักคนออกมาบอกเล่าเรื่องของตัวเองให้สังคมได้ยิน เราจึงควรยกย่องชื่นชมในความกล้าหาญของเขา

มากไปกว่านั้น สังคมต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า การยินยอมเหล่านั้นไม่ได้แปลว่าจะเป็นการยินยอมไปจนถึงปลายทาง ตัวอย่างเช่น การไปเที่ยวกันสองต่อสองด้วยความเต็มใจ และมีเป้าหมายคือการร่วมเพศกัน แต่ถ้าถึงเวลาขึ้นเตียงแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธ มีสิทธิจะบอกให้อีกฝ่ายหยุดได้ นี่คือความหมายของ consent

การตีตรา ไปจนถึงการตำหนิ และตั้งคำถามกับผู้ถูกกระทำ (victim blaming) ที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมไทย มีสาเหตุมาจากอะไร

เพราะบรรทัดฐานระหว่างเพศชายและเพศหญิงในสังคมไทยไม่เหมือนกัน สังคมไทยใช้ไม้บรรทัดคนละอันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ในขณะที่ประสบการณ์ทางเพศของผู้ชายถูกมองเป็นวีรกรรม เป็นสิ่งที่ต้องอวดกัน หรือประกาศให้โลกรู้อย่างภาคภูมิ แต่ประสบการณ์ทางเพศของผู้หญิงกลับเป็นสิ่งที่ต้องปกปิด มิเช่นนั้นจะถูกประณาม ถูกด้อยค่าในความเป็นเพศหญิง ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำแบบเดียวกัน แต่มุมที่สังคมมองเห็นกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

หลายๆ ครั้ง คนที่เบลมผู้ถูกกระทำก็เป็นเพศเดียวกัน สิ่งนี้ก็เป็นผลมาจากไม้บรรทัดทางเพศที่ไม่เท่ากันด้วยใช่ไหม

ใช่ ถ้าถามว่าทำไมเป็นแบบนั้น เราคิดว่าการใช้บรรทัดฐานที่ไม่เท่ากันระหว่างเพศนี่แหละที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่รู้ตัว มันทำให้เกิดการตัดสินตีตรา แล้วก็แก้ไขปัญหาอย่างผิดที่ผิดทาง คือหลายครั้งแทนที่การแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศหรือการข่มขืนจะเป็นการเยียวยาผู้ถูกกระทำ มันกลายเป็นการซ้ำเติม หรือข่มขืนซ้ำทางคำพูดจากคนในสังคม

สมัยก่อนเวลาเราขึ้นโรงพักเพื่อพาผู้เสียหายไปแจ้งความคดีข่มขืน เราไม่อยากพูดเลยว่าเรามาแจ้งความเรื่องอะไร เพราะเราเป็นผู้หญิง แต่พื้นที่บนโรงพักมันเป็นของผู้ชาย ตอนนั้นตำรวจผู้หญิงก็ไม่มี เราจึงขอพบร้อยเวรเพื่อสื่อสารกับเขาโดยตรง เพราะถ้าเราพูดทันทีว่ามาแจ้งความคดีข่มขืน ต่อให้จะพูดแบบกระซิบ คนที่รับเรื่องก็จะพูดเสียงดังจนคนรู้กันทั้งโรงพัก ซึ่งมันส่งผลเสียต่อผู้ถูกกระทำซึ่งอยู่ในสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมและไม่มั่นคง พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยเข้า ก็เลยต้องมีการแยกพนักงานสอบสวนหญิง ห้องสอบสวน ห้องชี้ตัวต่างๆ เพื่อไม่ให้ผู้ถูกกระทำต้องถูกตีตราจากสังคมไปมากกว่านี้

อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการผลักดันความเข้าใจเรื่องความยินยอม และการคุกคามทางเพศสู่สังคม

การทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกมั่นคงจากข้างใน เพราะเมื่อเกิดเรื่องร้องเรียนขึ้นมา เขาจะรู้สึกกังวลกับเสียงของสังคมและคนรอบข้าง เพราะสังคมถูกหล่อหลอมมาภายใต้บริบทชายเป็นใหญ่ เหมือนทุกคนพร้อมที่จะตำหนิ ดูถูก และด้อยค่าผู้หญิงที่ถูกกระทำอยู่แล้ว ทุกกระบวนการจึงยากมากสำหรับผู้ถูกกระทำ โดยเฉพาะการบากหน้าพาตัวเองไปแจ้งความคดีข่มขืน เพราะเขาต้องรวบรวมความกล้าไปเรียกร้องเพื่อตัวเองในขณะที่สภาพจิตใจไม่ได้เข้มแข็งพอจะจัดการกับมัน

สิ่งที่เราต้องทำคือการสร้างความมั่นคงในจิตใจให้เขา ช่วยเขาค้นหาว่าอะไรที่ทำให้เขารู้สึกแบบนี้ คอยย้ำเตือนว่ามันไม่ใช่ความผิดของเขา ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากตัวเขา มันเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง เป็นความรุนแรงที่มองไม่เห็น

เราทุกคนยืนอยู่เฉยๆ ความรุนแรงมันก็เกิดขึ้นได้แล้ว เราเกิดมาปุ๊บเราก็เจอความรุนแรง เพราะโครงสร้างของสังคมกำหนดผลการกระทำของแต่ละเพศออกมาไม่เท่ากัน และมันถูกยอมรับในบรรทัดฐานทางศีลธรรม จริยธรรม และกฎหมาย ส่งผลไปถึงสถาบันครอบครัว ความสัมพันธ์ของสามีภรรยา สุขภาพอนามัย และความรู้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

บรรทัดฐานระหว่างเพศที่ไม่เท่ากันของหญิงชาย มีผลไปถึงส่วนใดของระบบกฎหมายบ้าง

ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยจะลงโทษเฉพาะการ ‘ขาย’ บริการทางเพศ แต่ไม่ได้ระบุโทษของการ ‘ซื้อ’ บริการทางเพศ เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นการซื้อบริการจากเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อป้องกันและคุ้มครองไม่ให้นำเด็กมาค้าประเวณี นี่คือทัศนคติในการพิจารณาคดีของตำรวจและผู้บังคับใช้กฎหมาย 

คดีลักษณะนี้มักไม่มีการสู้คดี เพราะผู้ที่ขายบริการมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า และการต่อสู้คดีมันจะเดือดร้อนต่อตัวเขาเอง จนเราอดคิดไม่ได้ว่า ในกระบวนการพิจารณากฎหมายอาญา ตัวอย่างเช่นคดีลักทรัพย์ที่ขโมยปีนเข้าบ้านคนอื่นเพื่อขโมยเพชร โดยมีคนดูต้นทางอีกคนเป็นผู้ร่วมขบวนการ ทั้งสองคนมีความผิดเท่ากันฐานเป็นตัวการลักขโมยสร้อยเพชร แต่กรณีของการค้าประเวณี ต่อให้ผู้ชายเข้าไปร่วมเพศและมีจ่ายเงินค่าจ้างเป็นที่เรียบร้อย ครบองค์ประกอบความผิดที่บอกว่าเป็นการยอมรับการร่วมเพศเพื่อสินจ้าง แต่ความผิดกลับเป็นของฝ่ายหญิงเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมันย้อนแย้งมากในความรู้สึกเรา

เคยมีคดีข่มขืน sex worker เกิดขึ้นไหม

มี ส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่ตกลงกันไว้อย่างหนึ่ง แต่พอถึงเวลาจริงๆ มันไม่เป็นไปตามข้อตกลง มีการใช้ความรุนแรง รูปแบบการร่วมเพศเป็นลักษณะที่ฝ่าย sex worker ไม่ยินยอมและไม่ต้องการ

แล้วกับ sex creator ที่ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการขายบริการ แต่ถูกมองว่าเต็มใจหรือยินยอมในเรื่องเพศอยู่เสมอ สถานการณ์ที่เจอจะแตกต่างจาก sex worker มากน้อยแค่ไหน

เราคิดว่า sex creator เป็นคนที่มีอำนาจภายในสูงมาก เพราะเขามีความกล้าในการแสดงออกเรื่องเพศในรูปแบบที่ตัวเองชอบ และเขามีพละกำลังที่จะก้าวข้ามโครงสร้างทางเพศที่ไม่เป็นธรรมที่สังคมมอบให้ เราอาจจะพูดแทนคนอื่นไม่ได้ แต่ในมุมมองของเรา คนที่ลุกขึ้นมาแสดงออกแบบนี้ได้เป็นคนที่น่านับถือมาก เพราะเขารู้จักตั้งคำถามและหาคำตอบกับตัวเอง 

sex creator ในสังคมปัจจุบัน เป็นกลุ่มคนที่มีความเข้าใจเรื่องการคุกคามทางเพศพอสมควร และเขาเองก็จำเป็นต้องแสวงหาความรู้กับมัน เพราะสังคมพร้อมจะโจมตีสิ่งที่เขาทำอยู่ตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือเขาต้องเข้าใจว่า เขามีสิทธิที่จะปกป้องตัวเองจากคอมเมนต์หรือคำพูดที่ทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ 

จากการทำงานเพื่อผลักดันประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศมาเป็นเวลานาน มองเห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในอนาคตเป็นอย่างไร

อิทธิพลของโซเชียลมีเดียคือสิ่งสำคัญที่จะผลักดันประเด็นนี้ให้ไปไกลขึ้นได้ รวมถึงการที่เราตั้งคำถามเกี่ยวกับ consent ก็จะช่วยให้สังคมได้เรียนรู้และเติบโตขึ้น เรื่องนี้มันไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูป เราเองก็ต้องทบทวนตัวเองว่าอยู่ใต้บริบทที่ถูกครอบงำหรือเปล่า เวลาคุยกับลูกหรือสามี หลายๆ ครั้งเราก็ต้องถอยหลังกลับมาทบทวนเหมือนกันว่ากำลังใช้โครงสร้างความรุนแรงทางเพศมาตัดสินตีตราเขาหรือไม่
การตั้งคำถามและหาคำตอบกับตัวเองอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่จะทำให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจกับเรื่อง consent มากขึ้น มนุษย์ทุกคนล้วนโหยหาเสรีภาพ แต่เรื่องเพศในสังคมไทยกลับมีการกำกับควบคุมบนบรรทัดฐานที่เลือกปฏิบัติ ฉะนั้นเราต้องรู้เท่าทันว่า เรื่องเพศที่กำกับควบคุมเราอยู่นั้นมันเป็นธรรมหรือเปล่า ถ้าเราอึดอัดคับข้องใจ เราต้องหาคำตอบว่าเราจะจัดการมันยังไงได้บ้าง เราจะปฏิเสธมันยังไง และที่สำคัญที่สุดคือจะก้าวข้ามมันให้พ้นได้ยังไง

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ช่างภาพและวิดีโอที่เริ่มจากงานถ่าย food และ portrait ปัจจุบันรับงาน production ครอบคลุมหลาย segment ตั้งแต่ food, product, event, wedding, portrait, interview, travel โดยมีเป้าหมายหลักคือ personalize งานทุกชิ้นให้ได้ตรงตามความต้องการจากบรีฟของลูกค้า รับงานได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีมเพื่อให้ผลงานออกมาเหมาะสมกับ scale งานที่ต้องการมากที่สุด

FB : Truetone Photography
IG: truetone_photography

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า