นับตั้งแต่ประเทศไทยเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐชาติ’ (nation-state) ขึ้นมาในกลางศตวรรษที่ 19 คำว่า ‘ชาติไทย’ ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลาย และบางครั้งถูกใช้จนนำไปสู่ความรุนแรง จนคำว่า ‘รัฐชาติ’ กลายเป็นเครื่องมือในการห้ำหั่นเข่นฆ่าในทางการเมือง ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และอีกนับไม่ถ้วนตั้งแต่ปลายแม่น้ำสายบุรีถึงเชียงแสน ตะวันออกสุดถึงทิศตะวันตก คำถามที่น่าสนใจคือแนวคิดนามธรรมที่เรียกว่า ‘ชาติไทย’ มีความหมายอย่างไร เริ่มถูกนำมากล่าวอ้างกล่าวหาประชาชนร่วมผืนแผ่นดินกันตั้งแต่เมื่อไหร่ และถูกใช้อย่างไร
จากหนังสือเรื่อง ชาติไทย ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า เขียนโดย โสภา ชานะมูล ตีพิมพ์ในปี 2550 เสนอไว้ว่า ปัญญาชนไทยมีส่วนสำคัญในการให้คำอธิบายต่อความหมายของคำว่า ‘ชาติไทย’ ขึ้นมา ประดิษฐกรรมที่ถือเป็นของนำเข้านี้ ก็เช่นเดียวกับของหลายอย่างที่เรานำเข้ามาแล้วให้ความหมาย ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จนซึมลึกลงไปในความทรงจำร่วมของประชาชน
ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชาติเหมือนร่างกาย
ในหนังสือเล่มดังกล่าวเสนอว่า ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งไทยเริ่มก่อรูปความเป็นรัฐชาติ อันหมายถึงเริ่มมีการคิดถึงเขตแดน มีการจัดตั้งรัฐบาลและสำรวจสำมะโนประชากรขึ้นมา ชนชั้นนำหลายคนต่างเริ่มสร้างประวัติศาสตร์กระแสหลัก หรือประวัติศาสตร์ ‘ชาติ’ ขึ้นมา ปัญญาชนคนสำคัญเหล่านี้ อาทิ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6
หากแต่ผู้มีบทบาทมากที่สุดในการผลิตงานด้านประวัติศาสตร์ได้แก่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และรัชกาลที่ 6 ในช่วงเวลานี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้นบทบาทหน้าที่ไปที่การสร้างอัตลักษณ์ของเมืองไทย มากกว่าพยายามหาความหมายหรือนิยามคำว่า ‘ชาติไทย’ เช่นเดียวกับรัชกาลที่ 6 ก็ทรงเน้นบทบาทหน้าที่ในการสร้างหรือนิยามความหมาย ‘ชาติไทย’ ในงานเขียนโดยใช้นามปากกาต่างๆ กัน
กรณีนี้ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยอย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายมโนภาพของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีกรอบโครงเรื่อง ‘ชาติ’ ไว้ว่ามีหัวใจอยู่ที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ใครอยากแสดงว่ามีชาติ สามารถแสดงออกได้เป็นรูปธรรมด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นอุดมคติสูงสุดของสังคมไทยและกลายเป็นศูนย์รวมที่ทุกหมู่เหล่าย่อมอยู่ภายใต้การปกครองที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ความเป็นพระมหากษัตริย์นั้น รวมถึงการมีวัฒนธรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย
ด้วยเหตุนี้ชนชั้นนำทางอำนาจจึงเลือกที่จะใช้วัฒนธรรมผสมของราชสำนักและวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เป็นรากฐานวัฒนธรรมแห่งชาติ จนถึงปัจจุบันเราจึงเห็นภูมิกายาของชาติถูกเปรียบเสมือน ‘ร่างกาย’ แบ่งลำดับตามโครงสร้างหน้าที่ที่ควรจะเป็น
วิธีการเผยแพร่ให้ชาติไปอยู่ในการรับรู้และสำนึกของราษฎร เราอาจจะเห็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2435 เมื่อทางราชการได้ระบุจุดมุ่งหมายให้เรียนพงศาวดารในโรงเรียนสามัญชั้นสูง เพื่อถ่ายทอดสำนึกประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันทางสังคมที่ได้รับความสำคัญมากที่สุด ดังที่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ประทานแก่กองเสือป่าที่ให้ความสามัคคีร่วมใจและให้ถือชาติเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าตน ทรงกล่าวเน้นความสำคัญของพระมหากษัตริย์ที่มีนัยสำคัญต่อ ‘ชาติ’ ไว้ว่า
แลชาตินั้นจำเป็นต้องมีหัวหน้าผู้ชักนำให้ดำเนิรไปในกิจการเหมือนร่างกายแลเรือที่กล่าวเปรียบไว้ข้างต้น ร่างกายก็ย่อมมีใจเป็นผู้นำ เรือก็ย่อมมีนายเรือเปนผู้บัญชาการ หัวหน้านี้แล เรียกว่าพระราชหรือพระเจ้าแผ่นดิน ชาติที่ขาดหัวหน้า ย่อมเป็นเหมือนร่างกายที่ปราศจากจิตต์ และดุจเรืออันหาผู้บัญชาการมิได้ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ พระเจ้าแผ่นดินที่ดีย่อมเปนสง่าแห่งชาติ ทำให้มีอำนาจเปนที่นับถือและยำเกรงของชาติอื่นฯ… สมเด็จพระบรมพิตรพระราชสมภาร เจ้าผู้เปนพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมเป็นเหมือนสีสะของชาติ พวกพศกเปนเหมือนอวัยวะอันเหลือมีมือแลเท้าเป็นต้น (น.10)
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พยายามสร้างอุดมการณ์ของ ‘ชาติ’ อันประกอบด้วยชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขึ้นมา มีการสร้างเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นไทย (แต่ใช้ภูมิปัญญาแบบตะวันตกที่นิยมใช้สัญลักษณ์แทน ตระกูล, ราชวงศ์ ฯลฯ) เช่น ธงไตรรรงค์เป็นธงชาติไทยหรือการสร้างสื่อผ่านข้อเขียนด้วยนัยทางภาษาต่างๆ ดังเช่น พระองค์ทรงให้ความหมายของธงไตรรงค์ในบทกลอนที่ทรงพระราชนิพนธ์ ว่า
… ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน และธรรมคุ้มจิตไทย
แดง คือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้ เพื่อรักษะชาติศาสนา
น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์…
อย่างไรก็ตาม โสภา ชานะมูล มองว่า งานชิ้นนี้ของรัชกาลที่ 6 อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนักเพราะไม่สามารถจะสื่อผ่านประชาคมหรือสร้างสำนึกร่วมได้อย่างเช่นงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โสภาใช้ประเด็นโต้แย้งนี้จากงานของ แมทธิว โคปแลนด์ (Matthew Copeland) นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาวัฒนธรรมมวลชนในช่วงปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้กล่าวว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีกลุ่มหนังสือพิมพ์ที่ได้โต้ตอบกับแนวคิดของพระองค์อยู่เสมอ เช่น ศรีกรุง และ บางกอกการเมือง
เกณฑ์หลักในการจำแนกคนใน/นอกชาติ คือภาษา
ผลผลิตอย่างหนึ่งในการนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘ชาติไทย’ คือการที่ปัญญาชนชนชั้นนำเขียนผ่านสารคดี สิ่งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกในสารคดี คือการใช้เกณฑ์มาตรฐานทาง ‘ภาษา’ ในการเปรียบเทียบเพื่อชี้ให้เห็นว่าการใช้ภาษาที่ต่างกันหมายถึง ‘คนต่างจำพวก’ ฉะนั้นกลุ่มที่พูดภาษาไทยเท่านั้นจึงจะได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘ไทย’ ซึ่งประเด็นเดียวกันนี้ ในงานเขียนของรัชกาลที่ 6 ได้พยายามใช้ ‘ภาษา’ เป็นเส้นแบ่งเช่นกัน ดังที่ทรงแบ่ง ‘พวกเขา’ หมายถึงคนจีนที่ไม่ยอมกลายเป็นไทย เช่น ไม่ยอมใช้ภาษาไทย และ ‘พวกเรา’ คือคนไทยที่พูดภาษาไทยและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งปรากฏต่อมาในแบบเรียนโรงเรียนได้ยึดตามแนวพระราชวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในการสร้างความรู้ว่าด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทย
ประเด็นข้างต้นสอดคล้องกับการศึกษาของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งได้ค้นคว้าและวิเคราะห์ไว้ว่าเป็นการครอบงำทางความคิดในยุคสมัยต่อมาที่มักอ้างเอาพระราชวินิจฉัยของพระบิดาทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นความรู้ที่ตายตัว อันทำให้ความรู้กระแสหลักนี้ลงรากปักฐานอย่างมั่นคงในสังคมไทยยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายถึงวัฒนธรรมอันดีงามประจำชาติ (ตัวอย่างเช่น วรรณกรรมและนาฏกรรมล้วนเป็นวัฒนธรรมจากส่วนกลางทั้งสิ้น)
ขณะเดียวกันภาพของ ‘ศัตรูของชาติ’ ก็เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น ดังเช่น ศัตรูในอดีตของชาติคือพม่าและขอม และศัตรูในปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ 6 คือ คนจีน (และสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม คือ คนจีนและคอมมิวนิสต์) (น.14)
ดังนั้นหลังผ่านการปฏิรูปแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 จนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สยามประเทศปรากฏแนวคิดใหม่ในการอธิบายว่า ‘ชาติ’ จำนวนหนึ่งขึ้นแล้ว และมีการบรรจุเรื่องนี้ลงใน ‘แบบสอนอ่านหน้าที่พลเมือง’ ระบุให้ราษฎรทุกคนเป็นหน่วยของชาติ และราษฎรมาจาก ‘รัฏฐ’ แปลว่า แว่นแคว้น บ้านเมือง คือคนที่อยู่ในบ้านเมืองหรือประเทศนั้นๆ เช่น คนที่เกิดและอยู่ในประเทศสยาม เรียกว่า ‘คนไทย’ หรือ ‘ชาวสยาม’ หรือเรียกว่า ‘ราษฎรของประเทศสยาม’ จิตสำนึกที่ว่าพลเมืองหรือราษฎรเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ชาติ’ จึงได้ปรากฏในโครงเรื่องประวัติศาสตร์ ‘ชาติ’ เช่นเดียวกัน
ชาติไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
แนวคิดเรื่องชาติไทย ยังคงสืบเนื่องและมีพลวัตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ความคิดของชาติไทยถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับโครงสร้างการเมืองการปกครองใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตยเป็นทางนำ
ปรีดี พนมยงค์ พยายามให้ความหมายใหม่แก่รัฐไทยหลัง 2475 ดังที่พยายามอธิบายถึงลักษณะความเป็น ‘ชาติ’ (nation) ว่า
…ชาติปัจจุบันชนิดที่ประกอบขึ้นโดยรวมหลายกลุ่ม, เผ่าพันธุ์, หลายกลุ่มชาติ, เป็นเวลานานช้าจนกระทั่งเผ่าพันธุ์และชนชาติต่างๆ ได้มีความเคยชินและจิตสำนึกว่าเป็นสมาชิกแห่งชาติเดียวกัน ชาติดังกล่าวนั้นก็มีฐานะที่จะเป็นหรือเป็น ‘รัฐ’ อันหนึ่งอันเดียวของชาตินั้นได้
ถึงกระนั้นก็ตามปรีดีไม่ได้แตะไปถึงการนิยามหรือการสร้างอัตลักษณ์ของชาติ สิ่งที่เขาสนใจกลับเป็นรัฐธรรมนูญ ที่เป็นประเด็นของ ‘สัญชาติ’ มากกว่าเรื่อง ‘ชาติ’ หรือ ‘เชื้อชาติ’ ในการนิยามความเป็นไทย (น.18)
ฉะนั้นโครงเรื่องของชาติไทยจึงเป็นเรื่องเก่า โดยเฉพาะความสืบเนื่องของอาณาจักรและราชธานีต่างๆ ยังคงเป็นแกนหลักของงานเขียนประวัติศาสตร์ไทยจนถึงปัจจุบัน
กรณีนี้เช่นนี้เกิดขึ้นกับหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นปัญญาชนคนสำคัญข้ามยุคสมัย วิธีการที่หลวงวิจิตรทำคือเน้นการเขียนประวัติศาสตร์ในเชิงปลุกใจ และนำการเขียนประวัติศาสตร์มาเล่นในเชิงของ ‘วัฒนธรรม’ เพื่อเป็นภาพตัวแทน (representation) ในการแสดงอัตลักษณ์ถึงความเป็นไทยทางวัฒนธรรมในความหมายแรกที่สื่อถึงคือ รูปแบบทางวัตถุ เช่น สถาปัตยกรรม การแต่งกาย และศิลปะ ซึ่งมีส่วนสร้างเสริมความก้าวหน้าของชาติ อีกแง่หนึ่งวัฒนธรรมมีนัยทางพฤติกรรมและศีลธรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนาชาติให้เกิดความมั่นคง ซึ่งมีทั้งหมด 4 ด้านคือ ความขยันขันแข็ง ความประณีต ความชื่นชมต่อความงาม และความอุตสาหะพยายาม
กรณีนี้เช่นนี้ เคร็ก เจ เรย์โนลด์ส นักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลีย เสนอว่า การบรรยายเรื่องชาติไทยของหลวงวิจิตรวาทการมักใช้ใจความสำคัญ (motif) เป็นเรื่องวีรบุรุษนักรบผู้กู้บ้านเมืองจากการปกครองของต่างชาติ หรือผู้ปกป้องแผ่นดินจากผู้รุกรานภายนอก ใจความสำคัญนี้ทำให้พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตกลายเป็นวีรบุรุษผู้กู้บ้านเมือง เช่น พ่อขุนรามคำแหงผู้กู้บ้านเมืองจากขอม พระนเรศวรทรงกอบกู้บ้านเมืองจากพม่า พระนารายณ์ทรงกอบกู้ไทยพ้นจากอำนาจฝรั่งเศส ทั้งหมดนี้จึงทำให้เกิดการสร้างนามมหาราชต่อท้ายกษัตริย์เหล่านี้ให้เป็นวีรบุรุษของชาติ (น.25)
ถึงตรงนี้ ผลกระทบอย่างไม่ตั้งใจของการผลิตความหมายของชาติไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางนอกพื้นที่รั้ววังและข้อเขียนของปัญญาชนชั้นนำแล้ว เมื่อมีการผลิตผลงานที่โดดเด่นสอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับวาทกรรมเรื่อง ‘ชาติไทย’ ซึ่งเป็นผลงานเขียนที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2490 คือกลุ่มปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทย ได้แก่ เสนีย์ เสาวพงศ์, อุดม ศรีสุวรรณ, อัศนี พลจันทร, สุภา ศิริมานนท์ โดยในกลุ่มนี้ยังมีคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มเติบโตและเริ่มต้นบทบาทงานเขียนอย่างจริงจังในทศวรรษ 2490 ได้แก่ เปลื้อง วรรณศรี, ทวีป วรดิลก, จิตร ภูมิศักดิ์
อย่างไรก็ตาม กลุ่มปัญญาชนทั้งสองรุ่นต่างตีความหมายและให้ความหมายชาติไทยที่ต่างออกไปจากปัญญาชนชั้นนำในยุคแรก ด้วยการประสานอุดมคติเกี่ยวกับเรื่องชาติบ้านเมืองเข้าด้วยกัน และประกอบกิจกรรมชนิดเดียวกันคือการเปิดพื้นที่ทางการเขียนตามหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเสนอความคิดเห็นวิพากษ์อำนาจรัฐ นำเสนออุดมคติเรื่อง ‘ชาติ’ ที่กลายเป็นวาทกรรมอีกชุดหนึ่งในเวลาต่อมา จนเกิดการเรียกขานในกลุ่มพวกเขาว่า ‘กลุ่มหัวก้าวหน้า’ (น.45)
การเคลื่อนไหวของปัญญาชนหัวก้าวหน้ากลุ่มนี้มีจุดร่วมกันประการหนึ่งคือการใช้ปากกาเป็น ‘อาวุธ’ อันหมายถึง การใช้การเขียนเป็นอาวุธในการทิ่มแทงไปที่ศูนย์อำนาจรัฐ กระบวนการวิพากษ์อำนาจรัฐที่กลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าได้สร้างวาทกรรมขึ้นในช่วงทศวรรษ 2490 จนถึง 2500 ซึ่ง โสภา ชานะมูล เสนอว่ามีความหมายในการต่อต้าน ‘อำนาจรัฐ’ 3 นัยด้วยกันคือ
- ความหมายที่หนึ่ง หมายถึงต่อต้านอำนาจเผด็จการของกลุ่มผู้ปกครองที่ครองอำนาจในขณะนั้น เป็นการต่อต้านการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมของระบบราชการ ที่เป็นฐานของการค้ำจุนอำนาจรัฐบาล เช่น กองทัพ กรมตำรวจ รวมทั้งกลไกอำนาจรัฐที่ส่งผ่านหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งต่อต้านการกอบโกยผลประโยชน์ของบรรดากลุ่มการเมือง ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน ที่สร้างเครือข่ายทางอำนาจและแผ่ฐานอำนาจทางธุรกิจ รวมถึงกลุ่มพ่อค้า นักธุรกิจ นายธนาคารบางกลุ่ม ที่เอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
- ความหมายที่สอง หมายถึงต่อต้านระบบจักรวรรดินิยมและทุนนิยมที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือรัฐไทยและทำให้รัฐไทยดำเนินนโยบายคล้อยตามประเทศมหาอำนาจ
- ความหมายที่สาม หมายถึงต่อต้านแนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์ ‘ชาติไทย’ ที่เป็นอุดมการณ์ฝังรากลึกในสังคมไทย ซึ่งผ่านกระบวนการสร้างความรู้ และการรับรู้ต่อสังคมที่สืบเนื่องยาวนาน และได้เพาะบ่มในจิตสำนึกการรับรู้ของคนในสังคมไทยนับตั้งแต่สมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งถึงยุคทศวรรษ 2490 ซึ่งปัญญาชนเหล่านี้รู้สึกว่าอุดมการณ์หรือสำนึกที่ถูกสร้างขึ้น เป็นแนวคิดแบบถอยหลังเข้าคลองและเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ เช่น ‘ระบบศักดินา’ หรือความคิดเรื่อง ลัทธิ ‘ความรักชาติ’ ของชนชั้นผู้นำไทยที่ปลูกฝังผ่านการรับรู้ประวัติศาสตร์ ‘ชาติไทย’ (น.50) ดังปรากฏในงานของอุดม ศรีสุวรรณ เรื่อง ความใฝ่ฝัน ตีพิมพ์ในปี 2495
ในตอนหน้าเราจะมาพิจารณาถึงการช่วงชิงความหมายของคำว่า ‘ชาติไทย’ จากปัญญาชนฝ่ายซ้ายและอิทธิพลของความคิดนี้ว่าส่งผลอย่างไรในยุคสมัยถัดจากนั้น