เมื่อพวกชังชาติริอ่านเขียนประวัติศาสตร์ ‘ชาติไทย’

จากตอนที่หนึ่ง จะเห็นว่าแนวคิดเรื่อง ‘ชาติ’ (nation) นับเป็นประดิษฐกรรมจากตะวันตก ที่ชนชั้นนำหลังการปฏิรูปแผ่นดินนำเข้ามาเพื่อใช้รวมศูนย์อำนาจจากแว่นแคว้นเข้าสู่รัฐบาลราชสำนักกรุงเทพฯ ในช่วงหลังรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ต่อจากนั้นความหมายและความสำคัญของสาระสำคัญที่เรียกว่า ‘ชาติไทย’ ก็แปรเปลี่ยนสัมพันธ์ไปกับระบอบทางการเมือง และตัวแสดงทางการเมือง

ดั่งในยุคแรก ที่ถือว่าชาติเปรียบประหนึ่งร่างกายที่มีพระเจ้าแผ่นดินเป็นศีรษะ ส่วนพสกนิกรก็เสมือนมือและเท้า ตามคำของ พระบรมวงศ์เธอกรมพระยาวชิรญาณวโรรส หนึ่งในปัญญาชนราชสำนักนิยามไว้ มาสู่การจำแนกคนจากการใช้ภาษา แต่เมื่อถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ความตระหนักถึงผู้คนหลากหลายเชื้อชาติในเขตแดนไทย ก็ทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นจุดเน้นที่โอบรับเอาคนหลากภาษา เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ไทยใต้ฉลากที่เรียกว่า ‘สัญชาติไทย’

สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมาคือ เมื่อแนวคิดเรื่อง ‘ชาติ’ เริ่มลงหลักปักฐานในสังคมไทย (อย่างน้อยในกรุงเทพและเมืองใหญ่) ก็เป็นธรรมดาที่ปัญญาชนรุ่นใหม่นอกแวดวงชนชั้นนำจะเลือกนิยามความหมายของชาติด้วยเช่นกัน หากแต่มีความหมายที่แทบจะสวนทางคำอธิบายดั้งเดิมของปัญญาชนราชสำนัก

‘ชาติ’ ในนิยามของปัญญาชนหัวก้าวหน้า

ในงานของ โสภา ชานะมูล (2550) อธิบายความเป็นมาของปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าไว้ว่า คนเหล่านี้ประกอบอาชีพนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์สองรุ่น คือกลุ่มปัญญาชนรุ่นทศวรรษที่ 2470 และ 2490 ปัจจัยหนึ่งที่น่าจะมีอิทธิพลต่ออุดมการณ์หรือแนวคิดของกลุ่มปัญญาชนทั้งสองรุ่น คือ ‘การปฏิวัติ 2475’ เพราะเป็นกลุ่มปัญญาชนที่มีพลังในการเสนอทัศนะที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองเป็นแบบประชาธิปไตย ปรากฏผ่านงานเขียนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เรื่อง มนุษยภาพ หรืองานของ สุภา ศิริมานนท์ เป็นต้น (น.80-81)

เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ เป็นปัญญาชนอีกคนที่สำคัญ ซึ่งให้ความหมายเรื่องชาติไว้อย่างน่าสนใจ งานเขียนของเขามีทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี เรื่องแปล ผ่านการเขียนคอลัมน์ต่างๆ ใน ศรีกรุง นิกรวันอาทิตย์ สยามสมัย ที่นี่เองเขาได้สร้างผลงานชิ้นสำคัญคือนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ในช่วงทศวรรษนี้ ถือได้ว่าเป็นงานเขียนที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความคิดของคนหนุ่มสาวในช่วงหลังทศวรรษ 2510 จนมีผู้เรียกหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น ‘ต้นธารวาทกรรมฝ่ายซ้ายไทย’ (น.62)

อย่างไรก็ตามปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าเหล่านี้ก็มีแนวคิดที่หลากหลาย ไม่ได้ ‘ซ้าย’ อย่างเดียว ในสายตาของ โสภา ชานะมูล เสนอว่า มีทั้งเสรีนิยม เช่น มาลัย ชูพินิจ ไปจนถึงกลุ่มที่ศึกษามาร์กซิสต์อย่างจริงจัง เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์, สุภา ศิริมานนท์, สมัคร บุราวาศ, จิตร ภูมิศักดิ์

ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เอง ก็ถูกปราบปรามอย่างหนักทั้งจากรัฐสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสมัยคณะราษฎร (ยุครัฐบาลจอมพล ป.) และคำว่าคอมมิวนิสต์ก็ค่อนข้างคลุมเครือ ทำให้การเผยแพร่ลัทธิมาร์กซิสต์ผ่านทาง พคท. ไม่ได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง และจำกัด จะมีก็แต่ หนังสือพิมพ์มหาชน ที่ยังเผยแพร่ความคิด ความเห็นอย่างสม่ำเสมอ (น.82-85)

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานี้แม้จะถูกปราบอย่างหนัก แต่ความคิด ความเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็ไม่ได้ลบเลือนไป ยังเป็นหนึ่งในฐานที่มั่นของความคิด ‘ชาตินิยมประชาชน’ ซึ่งไม่ได้มองว่า ‘ชาติ’ คือร่างกายแบบปัญญาชนราชสำนัก แต่หันมาให้ความหมายต่อชาติว่าหมายถึงพื้นที่หลอมรวมสำนึกและเจตจำนงของประชาชน ในกลุ่มนี้แม้อาจไม่ได้มีบทบาทอย่างชัดเจนในการก่อรูปทางความคิดต่อกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าทั้งหมด แต่กลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าบางคนที่ดำเนินงานเคลื่อนไหวในฐานะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ได้มีโอกาสไปศึกษาลัทธิมาร์กซิสต์ เช่น อุดม ศรีสุวรรณ และส่งผลต่องาน จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนคนสำคัญที่จะมีความสำคัญไปยังคนรุ่นถัดไปอีกหลายทศวรรษต่อมา

การขับเคี่ยวนิยามของ ‘ชาติไทย’ ในยุคปลายของอิทธิพลคณะราษฎร

สิ่งที่ควรระลึกไว้อย่างหนึ่งคือ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะนำมาสู่การล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ความคิดในการพยายามหวนคืนไปสู่ระบอบเก่าของกลุ่มอนุรักษนิยมไม่ได้หายไปไหน หากแต่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ผ่านการผลิตซ้ำวาทกรรมกระแสหลัก ซึ่งหมายถึงอุดมการณ์ที่มาจากการสร้างความรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของความเป็นไทย

อัตลักษณ์ของความเป็นไทยในที่นี้หมายความว่า เป็นความรู้ที่ถูกสร้างโดยกลุ่มชนชั้นสูง กลุ่มผู้ปกครอง หรือกลุ่มนักปราชญ์ที่มีจินตภาพเกี่ยวกับตัวตนของ ‘คนไทย’ ‘เมืองไทย’ และ ‘ลักษณะของความเป็นไทย’ โดยการสร้างคำอธิบายว่า เราคือใคร มีความเป็นมาอย่างไร มีลักษณะวัฒนธรรมประจำเฉพาะเป็นอย่างไร

การขับเคี่ยวระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายซ้ายไทยนี้ปรากฏคู่ขนานกันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปีกซ้ายของขบวนการเสรีไทยและฝ่ายอนุรักษนิยม ต่างกลับมามีบทบาทในทางการเมือง และมีฐานะเป็นแนวร่วมมุมกลับซึ่งกันเพื่อต่อต้านการกลับมามีอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น กลุ่มผู้แทนจากภาคอีสานอย่าง จำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, เตียง ศิริขันธ์ กลุ่มนี้ได้จัดตั้งพรรคการเมืองคือพรรคสหชีพ โดยมี ดร.เดือน บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรค โดยประกาศแนวทางสังคมนิยม

ดังที่ สงวน ตุลารักษ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกล่าวว่า หลักการและแนวนโยบายของพรรคเกิดจากการที่กลุ่มมีแนวคิดสังคมนิยมคล้ายกัน โดยต้องการเป็นตัวแทนคนชั้นล่างในสังคม เพราะส่วนใหญ่คนในพรรคล้วนมาจากคนในท้องถิ่นหรือผู้นำในชนบท ความเคลื่อนไหวนี้มีผู้กล่าวว่าเป็นความรู้สึกท้องถิ่นนิยมหรือภูมิภาคนิยม แต่ความคิดของ เตียง ศิริขันธ์ ที่ได้ถ่ายทอดผ่านข้อเขียนในหนังสือพิมพ์ เสรีราษฎร์  ไม่ได้คับแคบตีขลุมลงไปเพียงท้องถิ่นนิยมเท่านั้น หากแต่ขยายไปอย่างกว้างขวางแบบราษฎรที่เสมอหน้ากัน ดังปรากฏในความรู้สึกและปณิธานในการเข้าสู่การเมืองของเขาว่า

… ข้าพเจ้าเป็นคนไทย ข้าพเจ้าเป็นไทแก่ตนเอง ข้าพเจ้าเป็นราษฎรสยาม ทั้งข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชาอีกอันหนึ่ง…”

(น.181-182)

จะเห็นได้ว่าความคิดเรื่อง ‘ชาติไทย’ ของปัญญาชนเสรีไทยคือการพยายามสานต่อความคิด ‘ชาติ’ ของ ปรีดี พนมยงค์ ที่กว้างและใหญ่พอจะโอบรับประชาชนโดยเฉพาะคนชั้นล่างให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย

ขณะที่พรรคก้าวหน้าของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พรรคการเมืองแนวอนุรักษนิยมที่เป็นปฏิปักษ์กับแนวคิดของพรรคสหชีพ ซึ่งสมาชิกพรรคมาจากสายอนุรักษนิยม เช่น สอ เสถบุตร, ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ ก็เริ่มประกาศแนวคิดว่าเป็นพรรคนิยมเจ้า (royalists) อย่างชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่อิทธิพลของคณะราษฎรลดลง ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า

… ข้าพเจ้ายอมรับว่าข้าพเจ้าเป็นรอยะลิสต์เพราะเคารพบูชาพระมหากษัตริย์… ข้าพเจ้าเป็นรอยะลิสต์เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าเมืองไทยจะต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นที่รวมความเคารพบูชาและความจงรักภักดีของคนไทยทั้งมวล… ข้าพเจ้าเป็นรอยะลิสต์เพราะข้าพเจ้าเป็นไทยและมีความรักชาติเป็นสันดาน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ ความจงรักภักดีในองค์พระมหากษัตริย์เป็นการสำแดงความรักชาติอย่างสุดซึ้งของข้าพเจ้า… (น.182-183)

ในยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นภาพของการขับเคี่ยวของแนวคิดชาติสองแบบที่เดินขนานกันโดยมีจุดเน้นสาระสำคัญของชาติที่แตกต่างกัน

การรื้อฟื้นบทบาทสถาบันกษัตริย์ หลังรัฐประหาร 2490

จนกระทั่งเมื่อเกิดการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเสรีไทยที่มี ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำในปี 2490 แนวคิดกษัตริย์นิยมถูกรื้อฟื้นให้มี ‘ตัวตน’ อย่างมีนัยสำคัญยิ่งต่อภาพลักษณ์ของ ‘ชาติไทย’ โดยบทบาทของกลุ่มอนุรักษนิยม นักประวัติศาสตร์ยุคหลังอย่าง มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ ได้สรุปบทบาทของกลุ่มเหล่านี้ไว้ 2 ประการ

  • ประการแรก กลุ่มอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยม มีความคิดทางการเมืองที่พร้อมจะปกป้องและให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อเกิดกรณีสวรรคต (2489) จึงมีความพยายามที่จะเชิดชูสถาบันกษัตริย์ออกมาในหลายรูปแบบ
  • ประการที่สอง กลุ่มอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยม เข้ามามีบทบาททางการเมืองสมัยใหม่ในรูปแบบของพรรคการเมือง ได้ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองในรูปแบบรัฐสภาระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยมและผู้นำจากคณะราษฎร โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณีสวรรคต ผู้นำคณะราษฎรปีก ปรีดี พนมยงค์ สายพลเรือนเป็นรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ จึงกลายเป็นเป้าโจมตีทางการเมือง และมีการนำความเชื่อเกี่ยวกับ ปรีดี พนมยงค์ ที่มีความนิยมในระบอบการปกครองที่ปราศจากกษัตริย์มาผนวกเข้ากับกรณีสวรรคต

ดังนั้น กลุ่มนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการรักษาวาทกรรมกระแสหลัก โดยอาศัยอุดมการณ์เก่าคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อมาใช้ทำลายศัตรูทางการเมือง อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ไม่ได้เหมือนวาทกรรมกระแสหลักในทศวรรษก่อนหน้านั้นทั้งหมด เพราะฐานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ฉะนั้นการดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาในบริบทนี้จึงเป็นเพียงการใช้สัญลักษณ์ในฐานะที่เป็นอุดมคติสูงสุดของชาติมาใช้เป็นประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มการเมืองดังที่กล่าวมา หากแต่แนวคิดนี้กลับสอดคล้องอย่างยิ่งกับกลุ่มอนุรักษ์กลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มทหารที่ไม่ได้สืบทอดความคิดจากคณะราษฎร (น.187)

การรัฐประหาร 2490 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มใช้วาทะเรื่อง ‘ชาติ’ ในความหมายเก่าเพื่อหาสาเหตุความชอบธรรมแห่งการรัฐประหาร ดังเช่น แถลงการณ์คณะรัฐประหารที่กล่าวไว้ในข้อ 1 ว่าเป็นการทำเพื่อชาติโดยส่วนรวม และ ข้อ 2 ว่า

….รัฐประหารที่โค่นล้มรัฐบาลหลวงธำรงฯ จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ โดยยึดมั่นในหลักการชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ…

และข้อ 5 กล่าวว่า

…รัฐประหารทำขึ้นเพื่อคลี่คลายคดีวางแผนปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจับกุมบุคคลผู้มีส่วนร่วมมาลงโทษ…

ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่อง ‘ชาติ’ ในความหมายเก่า ได้ถูกนำมาอ้างในการทำรัฐประหารของกลุ่มกองทัพในปี 2490 คำว่า “ทำเพื่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” กลายเป็นข้ออ้างสำหรับหน้าที่หลักของกองทัพคือ การรักษาความมั่นคงให้แก่สถาบันกษัตริย์ เนื่องจากกองทัพแทบไม่ต้องทำหน้าที่ป้องกันประเทศจาก ‘ศัตรู’ ภายนอกอย่างจริงจัง และไม่เคยออกรบจริงๆ ยกเว้นการต่อสู้กับ ‘ศัตรูภายใน’

เมื่อศัตรูของชาติ ไม่ใช่ มอญ พม่า ขอม เจ๊ก เสียแล้ว

‘ศัตรูของชาติ’ กลายมาเป็นคำรณรงค์หลักว่าด้วย ‘ความเป็นอื่น’ นิยามศัตรูของชาติที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างศัตรูของชาติขึ้นมาคือกลุ่มชาวจีน อุดมการณ์นี้ต่อเนื่องมาจนกระทั่งสมัยรัฐประชาชาติ ในยุคหลังรัฐประหาร 2490 รัฐยังมองคนจีนเป็นศัตรูของชาติ พร้อมกับย้ายการต่อต้านไปที่บทบาทความเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อีกด้วย

การสร้างวาทกรรมให้คอมมิวนิสต์ เป็นศัตรูของชาติ มาเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากกลุ่มปัญญาชนผ่ายอนุรักษนิยม เช่น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, สิริ เปรมจิตต์ ดังช่วงต้นทศวรรษ 2500 มีหนังสือรวมบทความของนักเขียนที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เรื่อง ปีศาจการเมือง (น.210) โดยมีกลวิธีการเขียนที่ชี้ให้เห็นความต่างของวาทกรรมสองชุดระหว่างปัญญาชนสายอนุรักษนิยมกับปัญญาชนหัวก้าวหน้า ระหว่างการตีความถึงการต่อต้านคำว่า ‘จักรพรรดินิยมแผนใหม่’ หรือ ‘จักรวรรดินิยมแผนใหม่’ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ถูกนำมาใช้ทั้งสองฝ่าย

ขณะที่กลุ่มปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลังการรัฐประหาร 2490 ก็ยังคงผลิตงานอยู่สม่ำเสมอภายใต้การสอดส่องอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น งานเขียนต่อต้าน ‘จักรพรรดินิยมแผนใหม่’ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งบรรยายการต่อต้านระบบทุนนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ โดยอ้างถึงลักษณะจักรพรรดินิยมว่ามีความหมายถึง ‘นายทุนนายหน้า นายทุนขุนนาง’ โดยกล่าวว่าลัทธิทุนนิยมผูกขาด คือการผูกขาดเพื่อให้นายทุนแสวงหากำไรขั้นสูงสุด โดยมีจักรพรรดินิยมภายนอก (สหรัฐอเมริกา) และกลุ่มศักดินาภายในร่วมมือกัน

จิตร ภูมิศักดิ์

แน่นอนว่า ‘จักรพรรดินิยมใหม่’ ของกลุ่มปัญญาชนหัวอนุรักษ์ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับงานเขียนของจิตร แต่ถูกให้ความหมายถึง ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำที่ได้พยายามเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไปยังประเทศต่างๆ เช่นกัน (น.212-213)

ฉะนั้น โสภา ชานะมูล จึงอธิบายไว้ว่านับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลง 2475 เป็นต้นมา ว่าสำนึกของคนรุ่น จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นสำนึกของยุค ‘รัฐประชาชาติ’ ในความหมายที่เป็นรัฐที่มีประชาชนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐ ฉะนั้นเมื่อมีการเขียนถึงประวัติศาสตร์ ‘ชาติไทย’ จิตร ภูมิศักดิ์ จึงไม่เห็นด้วยกับการเขียนประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของกษัตริย์อีกต่อไป

ซึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์ในยุคหลัง เรียกการเขียนประวัติศาสตร์ที่มีใจกลางเป็นพระมหากษัตริย์ว่าเป็น ‘ประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพ’

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า