มอง ‘วันอนุรักษ์ป่า’ ผ่านวิธีคิดของรัฐไทย เมื่อประชาชนกลายเป็น ‘ผู้ร้าย’ ในเรื่องเล่าทางการเมือง

14 มกราคม ของทุกปี ถูกบัญญัติให้เป็น ‘วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ’ โดยพิจารณาจากเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2484 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2532 พระราชกำหนดดังกล่าวส่งผลให้สัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลง

นัยสำคัญของวันอนุรักษ์ป่า อ้างอิงตามการให้ความหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นั่นคือ การสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดไม้ทำลายป่า และเพื่ออนุรักษ์ไปจนถึงการเพิ่มพูนพื้นที่ป่า อันจะเห็นได้จากกิจกรรมปลูกป่าในทุกๆ ปีของเหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไล่เลียงมาจนถึงชั้นผู้น้อย รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ 

ทว่าหากพิจารณาถึงความพยายามในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่เคลือบผ่านวาทกรรมของการ ‘อนุรักษ์’ เราจะพบถึงความขัดแย้งรุนแรง เนื่องจากการจัดการทรัพยากรที่ดินระหว่างรัฐและประชาชนที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุค ระหว่างฝ่ายรัฐที่ต้องการพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ และฝ่ายประชาชนที่ต้องการที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยและการเกษตร

นับแต่อดีต พื้นที่ป่าอยู่ในการครอบครองของรัฐในหลายรูปแบบ ทว่าป่าไม้ในประเทศไทยกลับมีจำนวนลดลงรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

  • พ.ศ. 2507 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 171 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 53.7 ของพื้นที่ประเทศ 
  • พ.ศ. 2528 พื้นที่ป่าลดลงเหลือ 93.2 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 29.4 ของพื้นที่ประเทศ 
  • พ.ศ. 2541 พื้นที่ป่าเหลืออยู่เพียง 80.8 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 25.2 ของพื้นที่ประเทศ 
  • พ.ศ. 2553 พื้นที่ป่าเหลือประมาณ 80 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ
  • พ.ศ. 2558 พื้นที่ป่ามีทั้งสิ้น 102,285,400 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.62 ของพื้นที่ประเทศ 
  • ปัจจุบัน พ.ศ. 2561 – 2562 พื้นที่ป่าในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 102,484,072.71 คิดเป็นร้อยละ 31.68 ของประเทศ ซึ่งลดลงจากปี พ.ศ. 2560 – 2561 จำนวน 4,229.48 ไร่ 

การลดลงของป่าไม้ในประเทศไทย มีสาเหตุจากหลายประการ ไม่ว่าจะการให้สัมปทานป่าไม้เพื่อการใช้สอยและการส่งออกช่วงปี 2532 ทำให้พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ถูกสัมปทาน กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม มีการบุกรุกแผ้วถางของราษฎรและนายทุนที่ใช้ประโยชน์จากนโยบายรัฐ หรือนโยบายของรัฐเองที่มุ่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน อ่างเก็บน้ำ รวมถึงการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้เกิดการบุกรุกป่าเพิ่มมากขึ้น

ทว่าสาเหตุสำคัญที่สุด คือความไร้ประสิทธิภาพขององค์กรภาครัฐ ไม่ว่าจะกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดูแลป่าไม้แต่เพียงผู้เดียว และประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะในระยะเวลา 50 ปี ป่าไม้ของประเทศไทยลดลงกว่าครึ่ง 

ทบทวนประวัติศาสตร์ ยุคสัมปทานป่าไม้โดยมีรัฐไทยเป็นผู้รับเหมา

ย้อนกลับไปก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มีการให้สัมปทานไม้สัก จนกระทั่งไม้สักค่อยๆ ลดจำนวนลงไป พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2507 เป็นต้นมา ซึ่งมีการให้สัมปทานแก่บริษัทภายในประเทศ เรียกว่า ‘บริษัท ทำไม้ จำกัด’ แต่ละจังหวัดจะมีบริษัททำไม้ในแต่ละพื้นที่ คนมากหน้าหลายตาเข้าไปมีเอี่ยวกับธุรกิจไม้ โดยมีรัฐเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ ชาวบ้านที่แบกคันไถทำกินมาก่อน เริ่มกลายสภาพเป็นผู้ต้องหาจากการทำกินบนผืนไร่ผืนนาของตัวเอง

กระทั่งเมื่อมีกฎหมายรวมศูนย์อำนาจจัดการป่าเพิ่มขึ้น เริ่มมีการจัดโซนนิ่ง (zoning) การใช้ทรัพยากร โดยกำหนดเป็นเขตป่าสงวน เขตป่าสงวนเสื่อมโทรม เพื่อส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส หรือปัจจุบันเป็นสวนยาง ประเด็นสำคัญคือ รัฐเริ่มไล่คนออกจากป่า เกิดธุรกิจการกว้านซื้อที่ดินทั้งในและนอกเขตป่า มีระบบนายหน้าที่อยู่ในชุมชนติดต่อค้าที่ดิน โดยเกือบทั้งหมดไม่ได้ซื้อเพื่อเข้าไปอยู่อาศัย แต่ซื้อเพื่อใช้ทำประโยชน์ทางธุรกิจ

สิ่งที่ตามมาคือ การข่มขู่ชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าก่อนหน้าที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ว่าทำผิดกฎหมาย และขับไล่ชุมชนออก เกิดการไล่รื้อหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตป่า ซึ่งภาพเหล่านี้ปรากฏในสื่อกระแสหลักอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี 

อย่างไรก็ตาม วิธีการของรัฐในการรักษาที่ดินและป่าไม้ที่ว่ามานั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ อาจพิจารณาได้จากนโยบายของรัฐในแต่ละยุคสมัย

เสน่ห์ จามริก และคณะ ได้เขียนไว้ในหนังสือ ป่าชุมชนในประเทศไทย: แนวทางการพัฒนา ตีพิมพ์ในปี 2536 เสนอว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการสัมปทานป่า เนื่องจากมีการตัดไม้ขนาดใหญ่ออกจากพื้นที่ ผลกระทบทางอ้อมคือแหล่งต้นน้ำลำธารถูกทำลาย และกระทบต่อประเพณีความเชื่อ ว่าไม้ใหญ่ที่อยู่ตามขุนน้ำ จะมีผีขุนน้ำหรือมีเทพารักษ์คอยคุ้มครองดูแลอยู่ เมื่อมีการตัดไม้เหล่านั้นก็จะเกิดเหตุเภทภัยตามมา

เมื่อชุมชนหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ก็เป็นธรรมดาที่ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาต่อสู้ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ภาวะของการขัดขืนระหว่างชาวบ้านที่ต้องการที่ดินทำกินกับนโยบายรัฐที่มีการออกกฎหมายป่าไม้หลายฉบับ ดำเนินไปบนความพ่ายแพ้ของประชาชนที่ต้องการหักร้างถางพงเพื่อทำมาหากิน

ถึงกระนั้น นับตั้งแต่ปี 2507-2532 ที่มีการบีบบังคับให้คนออกจากป่า กลับกลายเป็นว่าสภาพป่าเสื่อมโทรมลง จำนวนป่าไม้ของไทยลดลงอย่างน่าใจหาย ซึ่งในช่วงต้นทศวรรษ 2530 ที่ประเทศไทยยังคงให้สัมปทานป่าทั่วประเทศ ได้เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่อย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน นำมาสู่ข้อสรุปว่า การตัดไม้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา จนกระทั่งมีนโยบายยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศในปี 2533

สิ่งที่เข้ามาทดแทนคือ การที่รัฐออกนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศควรจะมีพื้นที่ป่าเท่ากับ 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเแบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์ (พื้นที่อนุรักษ์คือ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) และป่าเศรษฐกิจ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่จะอนุญาตให้เอกชนสามารถปลูกปาล์ม ปลูกยูคาลิปตัส หรือไม้เศรษฐกิจทั้งหลาย

ในช่วงเวลานี้เกิดความขัดแย้งอีกหลายระลอก เมื่อป่าชุมชนที่ชาวบ้านรักษาอยู่แต่เดิม ถูกทำให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และกลายเป็นเขตหวงห้ามของรัฐตามกฎหมาย การเคลื่อนไหวใหญ่ของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่ากลับมาอีกครั้ง ด้วยการเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเรียกกันว่า ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน’ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2540 รับรองให้สิทธิประชาชนสามารถเสนอกฎหมายโดยตรงได้

ยุค คสช. เรืองอำนาจ ประกาศแผนแม่บทป่าไม้ ไล่คนออกจากป่า

สถานการณ์ป่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลเพียง 1 เดือน หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 64/2557 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ป่าในการทำไม้อย่างเฉียบขาด ผลที่ตามมาคือเกิดการกวาดจับประชาชนและยึดที่ดินทำกินชาวบ้านในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

และจากคำสั่งที่ 66/2557 ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 เมื่อ คสช. อนุมัติใช้แผนแม่บทการจัดการป่าไม้ เรียกว่า ‘แผนแม่บททวงคืนผืนป่า’

สาระสำคัญก็คือ เพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดมาตั้งแต่ปี 2528 จนปัจจุบันก็ยังกำหนดเป้าไว้ที่ 40 เปอร์เซ็นต์เช่นเดิม

ณ เวลาที่มีการประกาศใช้แผนแม่บท พื้นที่ป่าในประเทศไทยคงเหลือประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เป้าหมายต้องการอีก 9 เปอร์เซ็นต์ (ประมาณ 26 ล้านไร่) ทำให้รัฐเปิดปฏิบัติการทวงคืนที่ดินในกรอบเวลา 10 ปี โดยกำหนดให้มีการทวงคืนให้ได้ปีละ 2.8 ล้านไร่ 

คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง ‘การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้’ ตามมาด้วยแผนแม่บทป่าไม้ และนโยบายทวงคืนผืนป่า สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งสะท้อนได้ว่ารัฐเผด็จการไม่เคารพในสิทธิของชาวบ้าน และไม่ยอมเปิดโอกาสให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน รัฐยังคงเดินหน้ายึดที่ดินทำกินของชาวบ้านด้วยข้ออ้างในนามของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

เครื่องมือที่ คสช. ใช้ในการพิสูจน์สิทธิผู้ถือครองที่ดิน คือการระบุให้ได้ว่าประชาชนคนใดอยู่ก่อนหรืออยู่หลังมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541

ในความเข้าใจของชาวบ้านโดยทั่วไปมองว่า หากอาศัยอยู่ก่อนปี 2541 ชาวบ้านก็สามารถที่จะอยู่ในป่าต่อไปได้ แต่ในความเป็นจริง ดูเหมือนว่าข้อมูลจะยอกย้อนมากกว่านั้น เนื่องจากว่าปี 2541 ยังไม่มีภาพถ่ายทางอากาศพิสูจน์สิทธิเอาไว้ ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้ภาพถ่ายทางอากาศตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นเกณฑ์ในการคัดกรองว่าที่ดินใดสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ

ปัญหาหลายอย่างเกาะกินตามมาในทั่วทุกภูมิภาค ตัวอย่างเกณฑ์การวัดที่ คสช. นำมาใช้ก็เช่นเดียวกัน คือกำหนดให้ผู้มีสิทธิต้องไม่มีที่ดินในพื้นที่ล่อแหลม เช่น 1. จะต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันเกิน 35 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งจังหวัดน่านมีพื้นที่ลาดชัน 85 เปอร์เซ็นต์) 2. ต้องไม่เป็นพื้นที่สวยงามตามธรรมชาติ

ในแง่นี้ แม้ว่าชาวบ้านจะเข้าอยู่อาศัยก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ก็ยังไม่ได้สิทธิตามมติ ครม. นี้ เนื่องจากถูกจัดอยู่ในเกณฑ์พื้นที่ล่อแหลม ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิได้

ปี 2562 มีการดำเนินมาตรการทวงคืนผืนป่า ผ่านการออกคำสั่ง 2 ฉบับ ได้แก่ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนมากถูกไล่ออกจากที่ดิน ไร้ที่ทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย ชาวบ้านหลายชุมชนถูกดำเนินคดี เช่น ชุมชนซับหวาย จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ปัญหาการบุกรุกป่าของไทยผันเปลี่ยนไปตามตัวแสดงในแต่ละยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือวิธีคิดในการจัดการป่าไม้ ซึ่งผู้มีอำนาจมักได้รับการยกเว้นอยู่เสมอ ขณะที่ประชาชนที่ทำมาหากินในพื้นที่ของตัวเอง ล้วนเดิมพันชีวิตไปกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยมีมาตรการทางกฎหมายเป็นหอกข้างแคร่ซ้ำเติม

เมืองป่าตามนิยามทางการเมือง ต้อง ‘ปลอดคน’

แนวคิดว่าด้วยการไล่คนออกจากป่าและเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน เป็นโมเดลที่รัฐดำเนินอย่างต่อเนื่องนับแต่ยุคการให้สัมปทานแก่เอกชนเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า โดยแนวคิดนี้ได้แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นคัมภีร์สำคัญของรัฐไทยในหลายยุคสมัย ยกตัวอย่างเช่น การจัดการพื้นที่ป่าไม้ ปี 2534 ช่วงรัฐบาลชุด พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งทำโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) แต่ในทางปฏิบัติหมายถึง การบังคับย้ายคนที่เคยอยู่อาศัยมาก่อนออกจากถิ่นที่ทำกินเดิมและไปหาที่ใหม่ให้ โดยฝ่ายรัฐอ้างว่า ต้องการช่วยประชาชนผู้ยากไร้ จัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่พร้อมออกเอกสารสิทธิ์ แต่ในความเป็นจริง ที่ดินที่รัฐจัดสรรให้กลับมีผู้ทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้วทั้งสิ้น อีกด้านหนึ่ง รัฐกลับเปิดพื้นที่สัมปทานการตัดป่าไม้และให้เอกชนเช่าปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น ยูคาลิปตัส 

กรณีตัวอย่างเช่น หมู่บ้านบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ คนในชุมชนอยู่อาศัยและทำกิน ณ ตรงนั้นมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แต่แล้วในปี 2516 มีการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนซ้อนทับชุมชน หลังจากนั้น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้ขอใช้พื้นที่ป่าสงวนภูซำผักหนาม เพื่อปลูกยูคาลิปตัสตามโครงการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าจากการสัมทานทำไม้ จำนวนกว่า 20,000 ไร่ ในปี 2521 กรณีนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมการยึดพื้นที่จากคนในชุมชน โดยมีผู้เดือดร้อนจากการปลูกสร้างสวนป่าคอนสารราว 277 ราย 

ความขัดแย้งและการต่อสู้ของชุมชนถือเป็นมหากาพย์นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา กระทั่งในปี 2552 คนในชุมชนถูกดำเนินคดีทางแพ่งจำนวน 31 ราย

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ปรากฏในหลายมิติ เช่น กรณีของ นายวัก โยธาธรรม เกษตรกรในชุมชนบ่อแก้วที่ยืนหยัดต่อสู้ในพื้นที่ทำกิน และไม่ยอมโยกย้ายถิ่นตามคำสั่งของรัฐ ไม่นานนัก นายวักถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมในบ้านของตน ข้อหามีอาวุธสงครามร้ายแรงในครอบครอง ส่งผลให้นายวักและครอบครัวต้องสู้คดียาวนานจนกระทั่งศาลยกฟ้อง เมื่อนายวักได้กลับมายังที่ดินทำกินของตน ปรากฏว่าจากเดิมที่เขาและครอบครัวมีที่ดินอยู่ 50 ไร่ กลับเหลือเพียง 4 ไร่เท่านั้น เนื่องจากที่ดินอีก 46 ไร่ของเขา ถูก อ.อ.ป. นำไปปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสเสียแล้ว 

ประวัติศาสตร์วนซ้ำอีกครั้งในปี 2557 เมื่อ คสช. ประกาศนโยบาย ‘คืนความสุข’ และออกคำสั่งจัดการผืนป่าครั้งสำคัญ คือ คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 ให้อำนาจทหารเข้ายึดคืนที่ดินจากประชาชนทั่วประเทศเพื่อเติมเต็มความฝันที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ ยกเว้นไม่ให้ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าที่กระทบต่อผู้ยากไร้ ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้ แต่ขณะเดียวกันกลับกำหนดข้อยกเว้นให้เอกชน เหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต

แม้ว่า คสช. จะกำหนดข้อยกเว้นไม่บังคับใช้มาตรการนี้กับผู้ยากไร้ แต่ในทางปฏิบัติผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่กลับเป็นชาวบ้านผู้ยากไร้ ชาวบ้านต้องถูกบังคับย้ายถิ่นฐานโดยไม่มีที่ทำกินรองรับ หลายคนยังไม่มีที่อยู่อาศัยใหม่จนปัจจุบัน ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน และสุราษฎร์ธานี 

กรณีของหมู่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ก็เช่นกัน ยุทธการขับไล่ผู้คนออกจากป่าต้นน้ำของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2535 โดยเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ การเผาบ้านเรือนชาวกะเหรี่ยงเมื่อปี 2554 เพื่อผลักดันให้คนออกจากป่า ภายใต้ ‘ยุทธการตะนาวศรี’

ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนยังคงดำเนินเรื่อยมา กระทั่งต้นเดือนมีนาคม 2564 เมื่ออุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้แจ้งความดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าและสนธิกำลังจับกุมชาวบ้าน 22 คน และบังคับโยกย้ายชาวบ้าน 85 คน ลงมาจากบ้านบางกลอยบน

นิติ ภวัครพันธุ์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา ได้เขียนไว้ในบทความเรื่อง ‘แม่น้ำคือบุคคล: การคืนอำนาจให้ชนพื้นเมือง’ ตอนหนึ่งระบุว่า “ปัญหาของคนกะเหรี่ยงบางกลอยคงมิใช่เรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร ทำลายหรือไม่ทำลายธรรมชาติ หรือข้อกล่าวหาอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ตั้งขึ้นกับพวกเขา หากเป็นเรื่องความขัดแย้งกับรัฐไทย ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลมิได้มีความพยายามในการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งมากนัก ตรงกันข้าม กลับดูเป็นฝ่ายที่ใช้อำนาจในการบังคับ ควบคุม หรือแม้แต่ผลักดันคนกะเหรี่ยงให้ออกจากบ้านเรือนของตน ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลมุ่งหมายที่จะให้แก่งกระจาน ผืนป่าอันงดงามและอุดมสมบูรณ์ ถูกยกฐานะด้วยการประกาศให้เป็นมรดกโลก แต่คำถามก็คือการกระทำเช่นนี้คุ้มค่ากับความเสียหาย ทุกข์ยาก เจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับประชากรของประเทศอย่างคนกะเหรี่ยงบางกลอยหรือ?”

นิติ ภวัครพันธุ์ ตั้งคำถามถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่าเกี่ยวข้องกับ ‘โครงการไทยไดมอนด์ซิตี้ แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี’ หรือไม่ ดังที่มีการรายงานข่าวว่า โครงการนี้จะเป็น “ศูนย์รวมของแหล่งท่องเที่ยว ศูนย์การประชุม ศูนย์การวิจัย ศูนย์สุขภาพและกีฬา ศูนย์การศึกษา ศูนย์การถ่ายทำภาพยนตร์ ศูนย์สมุนไพรไทยและนานาชาติ ศูนย์แสดงสินค้าและแฟชั่นโชว์ รวมถึงการเป็นเมืองที่อยู่อาศัย … อาณาจักรแห่งนี้จะเป็นศูนย์นิคมอุตสาหกรรมด้านการบริการและการท่องเที่ยวแห่งแรกของไทยที่ให้บริการท่องเที่ยว พร้อมที่ประกอบอาชีพ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาครัฐ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไอทีเอที” โดยใช้เนื้อที่กว่า 35,000 ไร่ ภายใต้การลงทุนของเจ้าสัวรายใหญ่ของประเทศ 

ไม่ว่าคำตอบคืออะไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนคือ รัฐบาลไทย ‘เอารัฐเป็นตัวตั้ง’ เน้นผลประโยชน์และการดำรงไว้ซึ่งอำนาจของรัฐมากกว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามโฆษณาถึงความพยายามในการสร้างความผาสุกของประชาชน ความสงบสุขและสันติ ความปรองดองในสังคมไทย มากมายเพียงใดก็ตาม ทว่าความจริงที่ปรากฏดูจะตรงกันข้ามกับการกระทำของรัฐบาลโดยสิ้นเชิง

อะไรคืออนุรักษ์ แล้วอนุรักษ์สิ่งใดกันแน่ 

จนถึงปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้ถูกควบคุมโดยรัฐอย่างชัดเจน มีกฎหมายรองรับ รวมถึงการกำหนดโดยมติ ครม. สำหรับพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นกิจการป่าไม้ หรือการใช้ประโยชน์จากป่า การสงวนป่า ป่าชุมชน และสวนป่า เป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้ ส่วนด้านการอนุรักษ์ตามกฎหมายอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ อยู่ในความคุ้มครองของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ทั้ง 2 กรม สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมอุทยานฯ แยกจากกรมป่าไม้ เมื่อ พ.ศ. 2545) ทั้งนี้ การบริหารจัดการป่าไม้มีความเกี่ยวข้องกันกับการจัดการที่ดินของประเทศด้วย พื้นฐานทั้งสองแนวคิดจึงคู่ขนานกัน คือ ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาที่ดินที่เป็นพื้นที่ป่า อีกฝ่ายหนึ่งต้องการพื้นที่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและกิจกรรมอื่นๆ เช่น การเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว 

ความขัดแย้งทางความคิดและการปฏิบัติที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐ รัฐกับรัฐ รัฐกับองค์กรพัฒนาเอกชน รัฐกับกลุ่มนายทุนเอกชน และกลุ่มนายทุนเอกชนกับประชาชน ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชน ซึ่งโดยภาพรวมแล้วประชาชนในท้องถิ่นยังไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการจัดการป่าไม้ แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวในรูปของกลุ่มหรือเครือข่ายร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนอยู่บ้าง ทว่าในทางปฏิบัติแล้ว ประชาชนก็ยังไม่มีปากเสียงหรืออำนาจใดในการจัดการทรัพยากรเหล่านี้

จากข้อมูลสถานการณ์ป่าไม้ ปี 2562-2563 ฉบับล่าสุดโดยกรมป่าไม้ ระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าของประเทศไทยเหลือเพียงร้อยละ 31.64 หรือ 102,353,484.76 ไร่ และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าลดลงถึงกว่า 130,000 ไร่ ซึ่งยังห่างไกลเป้าหมายของรัฐที่ระบุให้ต้องมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 และนโยบายป่าไม้แห่งชาติ อีกทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

ปัจจุบันภาครัฐกำลังมีโครงการขอใช้พื้นที่ป่าเพื่อโครงการพัฒนาต่างๆ หากอ้างอิงตามเอกสาร ‘โครงการขอใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ’ ระบุว่ามีทั้งสิ้น 77 โครงการ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม 

  1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 29 โครงการ
  2. โครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ 5 โครงการ
  3. โครงการสำคัญที่ยังอยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ 13 โครงการ
  4. โครงการที่อยู่ในกระบวนการพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดล้อม 26 โครงการ
  5. โครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาวิจัย 4 โครงการ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ยังไม่รวมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ บางโครงการซึ่งกำลังมีประเด็นการคัดค้านอยู่ในขณะนี้ แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าว เช่น 7 อ่างเก็บน้ำในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว อ่างเก็บน้ำคลองตารอง ที่มีแผนจะก่อสร้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เป็นต้น

จากการรวบรวมข้อมูลของ อรยุพา สังขะมาน ในบทความ ‘ความย้อนแย้งของนโยบายรัฐ การอนุรักษ์ที่มักถูกเลือกไว้ข้างหลังการพัฒนา’ พบว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ต้องใช้พื้นที่ป่าไม้มีทั้งสิ้น 91 โครงการ (เท่าที่ปรากฏในเอกสารทางราชการ) 

หากประเมินความเสียหายของทรัพยากรหากมีการเกิดขึ้น 25 โครงการจาก 91 โครงการดังกล่าว พบว่า พื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ป่าที่ต้องหายไปกินพื้นที่กว่า 40,000 ไร่ ประเทศไทยจะสูญเสียการเก็บกักคาร์บอนกว่า 1 ล้านตัน และปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 5 ล้านตัน ซึ่งขัดแย้งกับกลไกการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรม (Reducing Emission from Deforestationa and Forest Degradation: REDD+) ที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีสมาชิกและลงสัตยาบันภายใต้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) 

เราไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงบทบาทประเทศไทยในเวที COP26 หรือ การประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาด้านสภาพอากาศ ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564 โดย แดนนี มาร์คส์ (Danny Marks) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและการเมือง มหาวิทยาลัยดับลินซิตี้ (Dublin City University) ได้เขียนไว้ในบทความ ‘บทบาทประเทศไทยกับโอกาสที่พลาดไปในเวที COP26’ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยธรรมชาติในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่พรากชีวิตประชาชนไปกว่า 800 ชีวิต และส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 1.4 ล้านล้านบาท จนมาถึงเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่ส่งผลกระทบกับประชาชนกว่า 1 ล้านครัวเรือน และคร่าชีวิตประชาชนไปอีกอย่างน้อย 14 ชีวิต ภาวะอุทกภัยปีล่าสุดนี้ยังสร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและเกษตรกรรม โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท (ร้อยละ 0.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) รวมทั้งทำให้ผลผลิตน้ำตาล ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญที่สุดของประเทศ ลดลงกว่าร้อยละ 30

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งคือสภาวะความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งส่งผลให้ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2543-2562) ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 9 ของการจัดลำดับดัชนีความเสี่ยงจากผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index)

ในขณะเดียวกัน ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2552-2562 ระดับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด และอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชากร 1 คน ก็เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

ในการประชุม COP26 เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะได้แสดงความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาวิกฤติสภาพอากาศดังกล่าว ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ถึงเจตนารมณ์ในการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง

ทว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยเลือกที่จะปฏิบัติในระหว่างการประชุม COP26 กลับไม่เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าว นั่นคือ รัฐบาลไทยไม่ได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์กลาสโกว์ด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ หรือ ‘Glasgow Leaders Declaration on Forest and Land Use’ ซึ่งเป็นการแถลงการณ์ร่วมระหว่างประเทศสมาชิก 128 ประเทศ ในการยุติการทำลายป่าไม้ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ผ่านการปรับปรุงกระบวนการห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) และการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยเพื่อให้ลดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อการเกษตร ถึงแม้ว่าอัตราการบุกรุกทำลายป่าไม้ในประเทศไทยจะลดลงเป็นลำดับในช่วงที่ผ่านมา แต่ประเทศไทยก็ยังคงประสบกับปัญหาการเผาทำลายป่าเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตรอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไร่ข้าวโพด อีกทั้งกลุ่มธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ของไทยก็ยังมีส่วนในการสนับสนุนการเผาทำลายป่าเพื่อพื้นที่การเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย หากรัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์การอนุรักษ์ป่าไม้แล้ว นอกจากจะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยการรักษาผืนป่าของประเทศ ก็ยังเป็นการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรในประเทศอีกด้วย

ภายใต้วาทกรรมอนุรักษ์และนโยบายการจัดการป่าอนุรักษ์ของรัฐไทย จึงเต็มไปด้วยความย้อนแย้งในทางปฏิบัตินานัปการ การมองพื้นที่ผ่านสายตาของรัฐและชุมชนที่ต่างกันอาจกล่าวได้ว่าเป็นแกนของปัญหา และมักเป็นรัฐเสียทุกครั้งที่ได้รับชัยชนะที่ไม่เป็นธรรมนักจากการถืออำนาจทางกฎหมายอยู่ในมือ อีกทั้งรัฐยังใช้ทุกวิถีทางในการจัดการกับชาวบ้าน คนในชุมชน หรือชาติพันธุ์ในพื้นที่ ด้วยการเผาบ้านเรือน จับกุม ทุบทำลาย และใช้กฎหมายปราบปรามจึงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง 

จะเห็นได้ว่า วิธีคิดและวิธีการของรัฐไทยในการมองป่าและการอนุรักษ์ ถูกมองผ่านแว่นทางการเมือง (political forest) โดยไม่ได้ตั้งต้นจากฐานคิดทางนิเวศวิทยา แต่กลับใช้การอนุรักษ์เป็นบันไดเพื่อปีนป่ายสู่เป้าหมายทางการเมือง ด้วยกลไกเช่นนี้ รัฐจึงได้สร้างคู่ขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ มองชาวบ้านดั่งศัตรู เป็นผู้ร้าย ผู้ทำลายล้าง เป็นปฏิปักษ์ต่อป่า และไม่อนุญาตหรือให้อำนาจประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการป่าร่วมกันแต่อย่างใด

เนื่องในวันนี้เป็น ‘วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ’ ประชาชนจะต้องไม่ลืมว่า การอนุรักษ์โดยเฉพาะภายใต้รัฐเผด็จการ กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชนพื้นเมือง ผูกขาดสิทธิโดยรัฐ และไร้ซึ่งภาวะรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อประชาชน ดังที่ปรากฏสู่สายตาสาธารณะอย่างต่อเนื่อง 

อ้างอิง 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า