อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: การสถาปนา ‘รัฐบรรษัทอำนาจนิยม’ ในสังคมไทย

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

1

สังคมไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ความเปลี่ยนแปลงนี้จะเปลี่ยน ‘พื้นที่/สังคมประเทศไทย’ ทั้งหมดอย่างหน้ามือเป็นหลังมือและจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจในทุกมิติ โดยที่ประชาชนไทยส่วนใหญ่จะถูกผลักให้รับผลกรรมโดยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หากสังคมไทยปล่อยให้คณะรัฐประหารและกลุ่มทุนที่ควบรวมอำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้กระทำการตามที่พวกเขาต้องการ สังคมไทยก็จะเดินไปสู่จุดที่ไม่สามารถหวนกลับได้อีกแล้ว 

 

2

การวิพากษ์วิจารณ์การเขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ ‘กลุ่มคณะรัฐประหาร’ มีมาไม่น้อยแล้ว หากแต่อยากจะให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจความหมายของการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้ให้ชัดเจน เพราะความหมายของการวางแผนนี้จะส่งผลอย่างสำคัญต่อสังคมและภาคประชาชน  กล่าวได้ว่าหากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้ได้มีการปฏิบัติการจริงและเต็มที่แล้ว ก็เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทยทีเดียว

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ถูกสร้างขึ้นมานี้ แยกไม่ได้จากการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมาในช่วง 10 กว่าปีหลัง  และแยกไม่ออกจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 หรือกล่าวได้ในอีกนัยหนึ่งว่า เป็นผลผลิตโดยตรงจากกระบวนการการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมา ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลใหม่ชุดนี้ยังใช้รัฐมนตรีทางเศรษฐกิจชุดเดิม เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้ดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องของกระบวนการเปลี่ยนประเทศไทย

การมองแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นกระบวนการทางการเมืองที่ดำเนินมา ก็จะทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มชนชั้นนำไทยที่สนับสนุนการรัฐประหารนั้น กำลังคิดและวางแผนจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับสังคมไทยในรูปลักษณะใหม่  แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้ เป็นความปรารถนาของกลุ่มชนชั้นนำในอันที่จะวางกระบวนการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม  ซึ่งจะเปลี่ยนสังคมไทยให้เป็นไปตามความคาดหวังของพวกเขา

กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสถาปนาระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมรูปแบบใหม่นี้ ถือได้ว่าเป็นโปรเจกต์การเมือง (Political Project) ของชนชั้นนำไทย ซึ่งส่งผลลัพธ์ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะเป็นแผนในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจลักษณะใหม่ที่จะแยกและประสานกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ให้เข้ามาดำรงอยู่ตามความปรารถนาของกลุ่มทุนที่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา   

โปรเจกต์การเมืองที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ไม่ใช่เพียงแต่การวางนโยบายทางการเมืองตามปรกติธรรมดา หากแต่เป็นโปรเจกต์ของกระบวนการการเปลี่ยนรูปรัฐ (State Transformation Program) ซึ่งจะมีพลัง ‘กระแทก’ และผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างไพศาลและลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากรในทุกภูมิภาค/ทุกพื้นที่ของสังคมไทย หรือการใช้เงินงบประมาณในการสร้างรัฐแบบใหม่

กล่าวอย่างสรุปได้ว่า กระบวนการการเปลี่ยนรูปรัฐนี้คือการเปลี่ยนแปลงรัฐไทยให้เป็น ‘รัฐบรรษัท’ ในลักษณะใหม่ (Neo-Corporatist State) ซึ่งจะมีมิติของ ‘อำนาจนิยม’ สูงมากขึ้น

การศึกษาที่ดีเยี่ยมเรื่อง ‘ระบอบประยุทธ-การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมช่วงชั้น’ ของ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ และ อาจารย์วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร (ฟ้าเดียวกัน, 2561) ได้ชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่อย่างน้อย 20 กว่ากลุ่มของไทย กับคณะทหารที่เข้ามายึดอำนาจใน พ.ศ. 2557 ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมือกันในโครงการประชารัฐ  พร้อมกันนั้น การศึกษาฉบับนี้ ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า โครงการประชารัฐได้มีส่วนของนักพัฒนาเอกชนสายประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมคิดและเขียนแผน  ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะนักพัฒนาเอกชนกลุ่มนี้ เป็นฐานในการระดมคนเข้าไปร่วมกดดันทางการเมืองจนนำมาซึ่งการรัฐประหาร พ.ศ. 2557

ที่สำคัญ อาจารย์วีระยุทธได้ชี้ให้เห็นว่าโครงการประชารัฐสะท้อนความพยายามร่วมกันของกลุ่มทุนใหญ่ ที่อยากผลักดันเศรษฐกิจไปในทิศทางของทุนนิยม ซึ่งอาจารย์วีระยุทธใช้คำว่า ‘ทุนนิยมแบบช่วงชั้น’  โดยได้กล่าวอธิบายว่า เป็นการจัดสร้างสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เชื่อมต่อจากทุนขนาดใหญ่ไปสู่ทุนระดับล่างและกลุ่มแรงงาน อันเป็นกระบวนการที่ทำให้ลดแรงเสียดทานของระบบตลาดลง 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะทางมิติเศรษฐกิจ ก็จะเห็นถึงสิ่งที่เรียกได้ว่า ‘ระบบทุนนิยมแบบช่วงชั้น’  แต่ถ้าหากพิจารณาอย่างเป็นกระบวนการทางประวัติศาสตร์และมองให้สัมพันธ์กับมิติของการเมือง โดยพิจารณาเป็น ‘โปรเจกต์การเมือง’ ที่เชื่อมกับปรากฏการณ์หลังการรัฐประหาร เรื่อยมาจนถึงความปรารถนาที่ปรากฏในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็จะพบว่าไม่ใช่มิติทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เป็นการปรับโครงสร้างทางการเมืองของรัฐซึ่งเป็นการทำงานควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ 

การจัดสร้าง ‘โปรเจกต์การเมือง’ ของรัฐบาลนี้ที่ปรากฏชัดเจนในแผนยุทธศาสตร์  20 ปี (และก่อนหน้านี้) รวมถึงโครงการประชารัฐทั้งหมดที่ทำกันมานั้น มีรูปลักษณะที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนรูปรัฐของประเทศจีน จากรัฐสังคมนิยมมาสู่ ‘รัฐบรรษัท/อำนาจนิยม’ (Corporatism and Authoritarian State) แบบจีน 

หลักการของรัฐบรรษัทแบบจีน คือ รัฐร่วมมือกับทุนหลักระดับชาติ ผลักดันให้ทุนระดับชาติขยายออกไปไกล และจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ให้แก่การเติบโตของทุนใหญ่  กล่าวได้ว่า ด้านหนึ่งรัฐบรรษัทแบบจีนจะผลักดันโดยสร้างนโยบายของรัฐมาอุ้มชูกลุ่มทุนระดับสูง  แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐจีนก็จะปล่อยให้ทุนระดับเล็กหรือคนข้างล่างล่องลอย หรือต่อสู้ทางเศรษฐกิจไปตามลำพัง บทความผู้เชี่ยวชาญจีนชี้ว่าในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีน ผ่านทุนนิยมมาจากบรรษัทขนาดใหญ่ที่มาจากการได้รับความอุดหนุนจากรัฐ  ก็มีธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากที่ถูกปล่อยให้ล่องลอยในกระแสเศรษฐกิจเองโดยไม่ได้รับความสนใจจากรัฐ 

รัฐบรรษัทแบบจีนจึงเป็นรัฐที่จะผนวกรวมเฉพาะกับทุนขนาดใหญ่ ปล่อยทุนขนาดเล็กต่อสู้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันก็จะใช้อำนาจรัฐในการควบคุมแรงงานอย่างเข้มงวด  โดยที่ไม่ได้พยายามผนวกแรงงานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘บรรษัทรัฐ’ อันทำให้แรงงานตกอยู่ในสภาวะยากแค้นลำเข็ญ  

กระบวนการเปลี่ยนรูปรัฐที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกับจีนอย่างยิ่ง กล่าวคือ ด้านหนึ่ง รัฐจะสรรสร้างแนวทางการโอบอุ้มทุนขนาดใหญ่ (กลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังโครงการประชารัฐมีถึง 24-26 กลุ่มทุน และเป็นกลุ่มที่ควบรวมเข้ากับรัฐไทยจากนี้ไป) แล้วกลุ่มเหล่านี้จะขยายตัวไปเรื่อยๆ และเชื่อว่าจะสถาปนาได้อย่างเข้มแข็งมั่นคง ผ่านการเปลี่ยนประเทศไทย ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี    

เชื่อได้ว่า หากการเปลี่ยนรูปรัฐดำเนินต่อไป การขยายตัวของ GDP น่าจะเพิ่มมากขึ้น แต่คนไทยส่วนใหญ่จะได้อะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตัวอย่างการขยายตัวของกลุ่มทุนการเกษตรขนาดยักษ์ ที่ขยายตัวไปพร้อมกับการค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้ผนวกกลุ่มชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยให้เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาทุนของพวกเขา ซึ่งในท้ายที่สุดคน ตัวเล็กตัวน้อยก็จะมีทางเลือกในชีวิตน้อยลงๆ

การโอบอุ้มทุนหรือกระบวนการผลิตต่างๆ เข้ามาอยู่ภายใต้ทุน จะได้รับการสนับสนุนให้ขยายตัวมากขึ้นในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่แทบไม่มีข้อความใดที่พูดว่าจะช่วยชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อย เพราะกรอบคิดที่หยิบยืมมาจากจีนนั้น จะจัดสรรทรัพยาการส่วนใหญ่เพื่อให้กลุ่มทุนใน ‘รัฐบรรษัท’ ขยายตัว แล้วคาดหวังว่าการขยายตัวนี้จะดึงเอาชาวบ้านทั่วไปเข้ามาร่วมทำงานให้แก่กลุ่มทุน ซึ่งในด้านหนึ่ง ก็อาจจะส่งผลทางด้านจิตใจให้ชาวบ้านรู้สึกว่า เขานั้นพอจะมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นบ้าง หากชาวบ้านได้เข้าไปร่วมการผลิตกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่นั้น

การเปลี่ยนรูปรัฐด้วยการผนวกรวมทุนและรัฐเข้าด้วยกันนี้ จะทำให้กลุ่มทุนขยายตัวมากขึ้น จะมีผลลัพธ์ในสองด้านด้วยกัน คือ ด้านหนึ่งจะทำให้เกิดภาพลวงตาที่ทำให้มองเหมือนกับว่า ทุกคนกำลังโตขึ้นและทำให้ทุกคนถูกดึงไปอยู่ในบรรษัทมากขึ้น  แต่ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งคือมันทำให้การผลิตของชาวบ้านตกไปอยู่ภายใต้ทุนใหญ่ และเป็นเบี้ยล่างมากขึ้นจนถึงระดับที่เป็นเพียงแรงงานรับจ้างในภาคการผลิตทุกระดับของกลุ่มทุน/รัฐ   

กระบวนการนี้ทำให้เกิดการแยกกลุ่ม (compartmentalization) คือ กระบวนการแยกเป็นส่วนๆ โดยทำให้กลุ่มชาวบ้านแต่ละกลุ่มที่ถูกดึงไปอยู่ภายใต้ทุน ประชาชนจะไม่มีทางหรือไม่สามารถเชื่อมกันในแนวระนาบได้ กลุ่มที่เข้ามาสัมพันธ์กับทุนขนาดใหญ่ที่ขยายตัวออกไปทั้ง 26 กลุ่มทุนนี้ ไม่ว่าจะทำการผลิตพืชก็จะได้ผลประโยชน์  แต่ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะถูกตัดสินว่าไม่เหมาะสม โดยกลุ่มทุนใหญเป็นผู้ตัดสิน  กลุ่มทุนจะบอกว่ากลุ่มชาวบ้านเหมาะสมไหมที่จะเข้าร่วม ถ้าหากไม่เหมาะสมก็ไม่เอาชาวบ้านเข้าร่วม แล้วผลักคนส่วนใหญ่เหล่านี้ไปรอรับเฉพาะส่วนที่เป็น ‘ประชานิยม’ สิ่งที่ชาวบ้านที่ไม่เหมาะสมในทัศนะของทุนใหญ่ได้จากรัฐก็คือประชานิยมรายหัวเท่านั้น  ซึ่งส่งผลให้การเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชนอ่อนแอลงอีก

พร้อมกันนั้น การเปลี่ยนรูปรัฐที่กำลังเกิดขึ้นนี้ก็จะใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ประเทศไทย โครงการแผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะต้องใช้เงินงบประมาณราว 700,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่ใช้ไปในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกลุ่มทุนการก่อสร้างที่อยู่ร่วมในการเปลี่ยนรูปรัฐนี้ ก็จะเป็นผู้ได้รับงบประมาณการก่อสร้าง การเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ทรัพยากรน้ำก็จะเน้นเฉพาะการส่งน้ำมาสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก (โปรดดู รายงานหลักแผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (พ.ศ. 2560-2564))

แผนพัฒนาภาคใต้ซึ่งจะเปลี่ยนพื้นที่ภาคใต้ไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าการสร้างท่าเรือปากบารา ท่าเรือน้ำลึกสงขลา การให้สัมปทานแก่บริษัทเหมืองแร่จีน  การวางแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ราคา 1,800 ล้านบาท การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะบ้าย้อย 

แผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเห็นการขยายตัวของโรงงานน้ำตาลจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 1 โรง เพิ่มเป็น 30 โรง และจะเปลี่ยนพื้นที่ไพศาลให้กลายเป็นไร่อ้อยแบบพาณิชย์ขนาดใหญ่ (Plantation) แบบที่เคยเกิดขึ้นในลาตินอเมริกา ชาวบ้านภาคอีสานก็จะมีโอกาสเพียงการเข้ามาเป็นคนงานในโรงงานน้ำตาล พร้อมกันนั้น การขยายตัวของการให้สัมปทานเหมือนแร่แก่กลุ่มทุนจีนก็ได้กระจายทั่วไปในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ

ความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลและลึกซึ้งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ กลุ่มทุน 26 กลุ่มได้รับการเอื้อโอกาสจากรัฐอย่างสมบูรณ์แบบในการเปลี่ยนพื้นที่ประเทศไทยเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุน ประชาชนคนไทยทั่วไปอาจจะรู้สึกว่ามีงานทำเพิ่มมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง การกระจุกตัวของทุนจะมีสูงมากขึ้นกว่าเดิมมากมายหลายร้อยเท่า ความเหลื่อมล้ำก็จะทวีมากขึ้นมาก คนไทยส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นแรงงานระดับกลางที่ไม่มีโอกาสจะลืมตาอ้าปากได้

การเปลี่ยนรูปรัฐนี้ ไม่ได้เปลี่ยนเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเท่านั้น หากยังเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับสังคมอย่างลึกซึ้งพร้อมกันไปด้วยดังนั้น การเปลี่ยนรูปรัฐไทยจึงได้ปรากฏการวางแผนด้านความมั่นคงไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้รัฐไทยเข้มแข็งและผลักดันการควบรวมให้เป็น ‘รัฐบรรษัทอำนาจนิยม’ ได้

กลุ่มทุนได้แบ่งอำนาจโดยให้พลเอกประยุทธ์และเครือข่ายอำนาจ เข้ามาจัดการในเรื่องของความมั่นคงเป็นหลัก ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะพบว่าแผนความมั่นคงจะเน้นไปทางด้านการสร้างองค์กรของรัฐเพื่อควบคุมประชาชน ดังจะเห็นการรื้อฟื้นชีวิตขององค์กรที่จะควบคุมความคิดเห็นและชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะ กองกำลังรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งก็คือการให้อำนาจแก่กลุ่มทหารให้ดูความมั่นคงเพื่อเป็นหลักค้ำประกันให้กลุ่มทุนขยายตัวได้ การควบคุมประชาชนเป็นไปได้ในทุกระดับตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับชาติ กระบวนการนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและปรากฏชัดเจนในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ภายใต้ ‘รัฐบรรษัทอำนาจนิยม’ ที่ถูกสถาปนาขึ้นนี้ ประชาชนก็จะถูกควบคุมไม่ให้มีโอกาสได้พูดหรือแสดงความคิดเห็นเยี่ยงพลเมืองไทย เพราะกองกำลังความมั่นคงมีความพร้อมที่จะส่งหน่วยทหารไปคุมหน้าบ้าน หรือ คอยฟ้อง คอยก่อกวน ฯลฯ โดยที่บอกแก่สังคมแบบไม่รับผิดชอบว่า ‘ทำตามหน้าที่’

กระบวนการสร้างรัฐแบบใหม่นี้เกิดขึ้นโดยที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้เข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐแล้ว ไม่ใช่การอยู่ภายใต้อำนาจรัฐเหมือนในสมัยก่อนหน้านี้ และก็ไม่ใช่กลุ่มทุนคอยแย่งชิงผลประโยชน์กับทุนอื่นในสมัยของ ทักษิณ ชินวัตร (และเครือข่าย) หากแต่สามารถก้าวขึ้นมาเหนือรัฐ  การที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ขึ้นกำกับรัฐแบบนี้เป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเปิดหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์พัฒนาการทุนนิยมไทย 

กระบวนการเปลี่ยนรูปรัฐให้เป็น ‘รัฐบรรษัทอำนาจนิยม’ ตามตัวแบบของประเทศจีน ยิ่งจะทำให้พี่น้องไทยในชนบทยิ่งตกอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ลงกว่าเดิม การอพยพเข้ามาทำงานในพื้นที่เมืองหรือเมืองอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นแต่ประการใด ความเหลื่อมล้ำจะทวีสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและถ่างห่างจากกันมากขึ้น โอกาสในการเลื่อนสถานะของพี่น้องคนธรรมดาก็จะสูญสลายไป

 

3

กระบวนการเปลี่ยนรูปรัฐมาสู่ ‘รัฐบรรษัทอำนาจนิยม’ นี้ได้ดำเนินมาตลอด 5 ปีที่รัฐบาลของคณะรัฐประหารครองอำนาจมา และจะถูกสถาปนาให้เข้มแข็งขึ้นภายใต้การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลทหารที่แปลงกายมาอยู่ในการเมืองเลือกตั้งนี้ ก็จะต้องสืบทอดอำนาจต่อไปอีกจนกว่าการสร้างกลไกการควบคุมประชาชนพลเมืองไทยในนามความมั่นคงแห่งชาติ จะสามารถทำงานได้อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการสถาปนารัฐแบบใหม่ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว แต่การใช้อำนาจรัฐเอื้อหนุนให้กลุ่มทุนขยายตัว จะก่อปัญหาความตึงเครียดให้มากขึ้นในสังคม ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของประชาชนพลเมืองในการที่จะรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับอำนาจแบบใหม่ของรัฐ 

ความหวังทั้งหมดอยู่ที่มวลชนคนไทย

Author

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ นักวิจัย นักเขียน มีผลงานหลายเล่ม เช่น การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาล ๔ - พ.ศ.๒๔๗๕ (2538) จะรักกันอย่างไรในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน (2553) และ ลืมตาอ้าปาก จาก "ชาวนา" สู่ "ผู้ประกอบการ" (2559) งานเขียนของเขาพยายามทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า