อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: การรับรู้ ‘กาละ-เทศะ’ ในสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลง

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

1. คุณลักษณะใหม่

การทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ ที่ก่อให้เกิดคุณลักษณะใหม่ของช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะจะเอื้อให้มองเห็นถึงพลังสร้างสรรค์ของมนุษย์ในการกระทำการที่ก่อให้เกิด ‘สิ่งใหม่’ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการกระทำใหม่บางอย่างเพื่อทดแทนบางส่วนของโครงสร้างเก่าที่สึกกร่อนลงไป หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้มีลักษณะก้าวหน้าขึ้น

การศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของสังคมและมนุษย์ โดยคำนึงถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจตจำนงของมนุษย์กับโครงสร้างทางสังคมที่แวดล้อมอยู่เช่นนี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญในการจัดความสัมพันธ์ของทุกสังคมในโลกให้ก้าวหน้าขึ้น

2. ‘กาละ-เทศะ’ กับ อำนาจ

การจัดวางความสัมพันธ์ทางสังคมของสังคมไทยเท่าที่ผ่านมา จะฝังแน่นอยู่บนฐานความเข้าใจและการจัดวางตนเองใน ‘กาละ-เทศะ’ ให้ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งกระบวนการจัดวางตนเองให้เหมาะสมกับ ‘กาละ-เทศะ’ นั้นเป็นการควบคุมผู้คนให้ดำรงตนอยู่ภายในกรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ด้วยการสร้างการควบคุมพฤติกรรมของ ‘ตนเอง’ ในความสัมพันธ์ทั้งหมดของสังคม

มิติสำคัญที่ซ้อนทับเชื่อมต่อกับการสร้างการรับรู้ ‘กาละ-เทศะ’ ได้แก่ การสถาปนาความคิดเรื่อง ‘มารยาท’ ขึ้น เพื่อเชื่อมตัวตนของแต่ละคนเข้ากับระบบของอำนาจที่ครอบคลุมสังคมในช่วงเวลาหนึ่งๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับการมี/ไม่มี  ‘มารยาท’ ได้ฝังลงไปในความสำนึกและเป็นพลังกำกับผู้คนให้ดำเนินชีวิตส่วนตัวในพื้นที่สังคมอย่างถูกต้อง คน ‘มีมารยาท’ ก็จะได้รับการยอมรับ โดยที่คน ‘มีมารยาท’ เอง ก็รู้สึกว่าตนเองได้กระทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ส่วนคน ‘ไม่มีมารยาท’ ก็จะถูกมองว่าไม่รู้เรื่องอะไร โง่เขลา และตนเองก็จะถูกโบยตีด้วยความรู้สึกว่าตนเองได้ทำสิ่งที่ผิดเพราะความ ‘ไร้มารยาท’

ความเข้าใจใน ‘กาละ-เทศะ’ ซึ่งสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับปฏิบัติการอันเกี่ยวเนื่องกับ ‘มารยาท’ นั้น ประกอบขึ้นมาได้ด้วยการสร้าง/ให้ความหมายแก่ ‘ตัวตน’ ของผู้คน ว่าตัวเองคือใคร อยู่ในสถานะอะไร และในช่วงจังหวะขณะนั้นอยู่ในสถานการณ์อย่างไร หากสามารถให้ความหมายได้อย่างถูกต้องเหมาะสมก็จะสามารถแสดงออกหรือปฏิบัติตัวตามมารยาทได้อย่างสอดคล้องกับระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ได้รับการสถาปนาขึ้น เช่น  สอดคล้องกับระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบประชาธิปไตย อันมีอุดมคติคือความเสมอภาคทางสังคมและความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย เป็นต้น

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมไทยในอดีตที่ชนชั้นนำได้ดูดซับส่วนเกินจากสังคมไปใช้ในการสร้าง ‘รัฐ’ ทำให้ต้องจัดระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจลดหลั่นกันลงไปเป็นลำดับชั้น เพื่อที่จะทำให้กระบวนการดึงเอาทรัพยากรทั้งหลายจากสังคมให้ไหลขึ้นไปข้างบน โดยเปิดโอกาสให้มีการแบ่งสรรส่วนเกินบางส่วนให้แก่คนในระดับชั้นต่างๆ ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปสู่ชนชั้นนำระดับบนสุด ซึ่งจะได้รับส่วนแบ่งมากกว่าคนในลำดับชั้นอื่นๆ

ในอดีตที่ผ่านมา กระบวนการจัดสรรและกระจายทรัพยากรทั้งหลายมีลักษณะ ‘กึ่งรวมศูนย์’ อยู่ที่ส่วนบนสุด แต่มิได้รวมศูนย์อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะมีการแบ่งสรรบางส่วนให้แก่ชนชั้นนำระดับล่างลงมาได้มีส่วนแบ่งในทรัพยากรมากน้อยตามลำดับชั้น แม้ว่าคนระดับล่างลงมาจะไม่ได้มีอำนาจโดยตรงหรือมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรนี้ก็ตาม

กล่าวได้ว่า การสร้างครรลองของอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดให้ดำเนินชีวิตไปตามระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจ ทำให้คนในสังคมตระหนักถึงและ ‘รู้อะไรควร/ไม่ควร’ ในแต่ละ ‘กาละ-เทศะ’ พร้อมกับการสร้าง ‘เทศะ’ บน ‘กาละ’ ขึ้นอย่างสลับซับซ้อน ประเพณีของรัฐที่ดึงเอาไปจากวิถีชีวิตชาวบ้านไปปรับแต่งแทรกความหมายของความสัมพันธ์ทางการเมืองถูกถ่ายโอนลงไปสู่พื้นที่ชีวิตของชาวบ้าน

ครรลองของอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ถูกฝังลงไปในการรับรู้ในระดับ ‘ซาบซึ้ง’ ของชาวบ้าน จึงเป็นเรื่องของการต้องปฏิบัติตัวตามมารยาทแบบ ‘รู้ที่ต่ำ/ที่สูง’ ในความสัมพันธ์ทั้งระหว่างคนกับคนและระหว่างคนกับพื้นที่ เช่น ระหว่างคนกับคนก็จะหมายรู้ได้ทันทีว่าเมื่อพบกับขุนนาง/เจ้านายควรจะยอบตัวลงต่ำระดับใด ระหว่างคนกับพื้นที่ ก็จะหมายรู้ได้ว่าพื้นที่ใดมีความศักดิ์สิทธิ์/มีอำนาจอะไรที่เหนือกว่าตนดำรงอยู่ และจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในพื้นที่นั้นๆ

ดังนั้น โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ทรัพยากรส่วนใหญ่ตกอยู่แก่ชนชั้นนำ โดยที่ชนชั้นนำยินยอมให้ผู้น้อยได้ส่วนแบ่งพอสมควรแก่อัตภาพนั้น ได้เกิดการสร้างอารมณ์ความรู้สึกแบบ ‘ผู้ใหญ่/ผู้น้อย’  ขึ้นมาซ้อนทับกับอารมณ์ความรู้สึกแบบ ‘รู้ที่ต่ำ/ที่สูง’ โดยที่  ‘ผู้ใหญ่’ ที่แบ่งทรัพยากรให้ ‘ผู้น้อย’ ย่อมได้รับความรู้สึก ‘จงรักภักดี’ เป็นการตอบแทน

ในการเปลี่ยนมาสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้ว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปมากจากอำนาจของชาติตะวันตก แต่การกระจุกตัวของการถือครองทรัพยากรยังคงดำเนินต่อเนื่องต่อมา การจรรโลงระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมจึงยังคงเดินไปในธารแห่งความรู้สึกแบบเดิม การขยายตัวของรัฐแบบใหม่ในด้านการบริการและควบคุมได้สร้าง ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ ให้มีมากหลายขึ้นกว่าเดิม พื้นที่ราชการแบบใหม่ถูกทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในฐานะ ‘ผู้น้อย’ ต้องให้ความยำเกรง กล่าวได้ว่า แม้รูปแบบของรัฐจะแปรเปลี่ยนไป แต่ความต่อเนื่องของชนชั้นนำได้ทำให้รัฐแบบใหม่กลืนเอาระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของรัฐเดิมมาปรับใช้ ในการจรรโลงให้ความต่อเนื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจดำเนินต่อไปอย่างไม่ขาดตอน

การเปลี่ยนรูปแบบของรัฐหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยพยายามจะเปลี่ยนระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดจาก ‘ผู้ใหญ่/ผู้น้อย’ และ ‘ที่ต่ำที่สูง’ มาสู่ความเสมอภาค/เท่าเทียมกันมากขึ้นนั้น ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เพราะความแตกแยกทางความคิดและทางการเมืองในกลุ่มชนชั้นนำใหม่ ประกอบกับช่วงเวลาการครองอำนาจของชนชั้นนำกลุ่มใหม่นั้น ต้องประสบกับวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศจนทำให้ไม่สามารถประคับประคองกรอบคิดของตนไปสู่กระบวนการฝังลงไปในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน และต่อมาไม่นานคนรุ่นใหม่ของกลุ่มชนชั้นนำเดิมก็ได้หวนกลับมาแบ่งเอาอำนาจคืนไปได้ไม่น้อย

ภายหลังจากกลุ่มชนชั้นนำเดิม (แต่เป็นคนหน้าใหม่) ขึ้นมามีอำนาจในทศวรรษ 2500 กระบวนการสร้าง ‘อัตลักษณ์เฉพาะของชาติ’ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ทำให้กลุ่มชนชั้นนำไทยสถาปนาระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในเรื่อง ‘กาละ-เทศะ’ – ‘ผู้ใหญ่/ผู้น้อย’ ให้กลายรูปมาสู่ ‘ความเป็นไทย’ ซึ่งยิ่งทำให้คนในสังคมรู้สึกอย่าง ‘ซาบซึ้ง’ มากขึ้นไปอีก เพราะได้ยึดโยงเอา ‘มารยาท’ ในพื้นที่ต่างๆ ให้กลายเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคนไทย

แต่ประวัติศาสตร์บอกกับเราว่าไม่เคยมีอะไรหยุดนิ่ง แม้แต่ความรู้ทางฟิสิกส์ก็บอกกับเราว่าไม่มีระบบอะไรที่ปิดสนิทจนไม่มีความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสองสามทศวรรษหลังนี้ ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างไพศาลและลึกซึ้ง

3. ‘กาละ-เทศะ’ ในสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลง

โครงสร้างทางเศรษฐกิจในระดับล่างของสังคมไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ขยายตัวออกอย่างกว้างขวาง ชาวบ้านจำนวนมากเคลื่อนย้ายตัวเองออกจากการทำการเกษตรแบบเดิมมาสู่การทำการเกษตรเพื่อตลาดโดยตรง พร้อมกันนั้นการแสวงหารายได้นอกภาคเกษตรก็กลายเป็นแหล่งรายได้หลัก

ขณะเดียวกัน การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการสื่อสาร ก็ได้เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสให้แก่การทำงานอิสระที่ใช้ทักษะความสามารถส่วนตัวมากขึ้น คนรุ่นใหม่ระดับกลางรับรู้ถึง ‘อิสรภาพ’ เพราะหลุดออกจากการงานประจำ แม้ว่าจะถูกขูดรีดจากระบบเสรีนิยมใหม่ แต่ก็ยังพึงพอใจที่จะเป็นแรงงานเสรี พร้อมกับการขยายตัวของความหลากหลายของการท่องเที่ยว ยิ่งทำให้การดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจของผู้คนระดับกลางปรับเปลี่ยนได้มากขึ้น

วิถีการดำเนินชีวิตผู้คนในเขต ‘เมือง’ เปลี่ยนแปลงไปมากจากการขยายตัว/เพิ่มจำนวนของคนทำงานนอกระบบ (informal sector) การประกอบการในภาคบริการของแรงงานนอกระบบขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ เป็นการทำมาหากินเพื่อตอบสนองความต้องการของชีวิตชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในเขตเมือง

ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตภาคเกษตรกรรม การขยายตัวของคนทำงานอิสระ และการเพิ่มจำนวนของคนทำงานในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่อยู่ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งภาคการผลิตไม่เป็นทางการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าสามทศวรรษนี้ก็มีคนเข้า/คนออกอยู่ตลอดเวลา และได้กลายเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมไทยสมัยใหม่ไปแล้ว

กระบวนการกลืนกลายคนเข้าสู่ภาคการผลิตไม่เป็นทางการ ไม่ได้ส่งผลเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตการเมืองแบบไม่เป็นทางการ (informal life politics) อีกด้วย

กล่าวคือ การดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ในสังคมไทย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการทางสังคมที่มีลักษณะเป็นลำดับชั้นแบบเดิม หากแต่ขึ้นอยู่กับความสามารถ/ทักษะส่วนตัว ประกอบเข้ากับเครือข่ายแบบใหม่ที่ถักทอขึ้นจากคนที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน หรือคนที่มีความสนใจ/ใส่ใจในเรื่องคล้ายคลึงกัน ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นเพื่อทำให้ ‘การประกอบอาชีพอิสระ’ ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นมากที่สุด ก็คือ ‘ความสัมพันธ์ที่เสมอภาค’ นั่นเอง

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ที่ดำเนินชีวิตในอีกลักษณะของเสรีชนนั้น นำไปสู่การถักสานความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงเสมอภาคขึ้นมาในกลุ่มเครือข่ายใหม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่จำเป็นต่อการประกอบการในเศรษฐกิจนอกระบบ ทั้งหมดนี้ได้ส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างลึกซึ้ง

คนกลุ่มใหม่ในสังคมตระหนักถึงสิ่งที่ควรทำ/ไม่ควรทำใน ‘กาละ-เทศะ’ ก็จริง แต่เป็น ‘กาละ-เทศะ’ ของ ‘เครือข่าย’ หรือ ‘กลุ่ม’ ของพวกเขา ไม่ใช่ ‘กาละ-เทศะ’ แบบเดิม การวางความสัมพันธ์แบบ ‘ผู้ใหญ่/ผู้น้อย’ เลือนหายไปจากระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกถึง ‘ที่ต่ำ/ที่สูง’ แบบเดิมไม่มีพลังในการกำกับพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ อาจกล่าวได้ว่า ‘มารยาท’ ของความเป็นไทยที่วางอยู่บนฐานของความคิดสองประการดังที่กล่าวข้างต้นสลายไปโดยสิ้นเชิง

กระบวนการเกิดอารมณ์ความรู้สึกแบบใหม่นี้เอง เป็นรากฐานให้เกิดปรากฏการณ์เชิง ‘ต่อต้าน’ ระบบความสัมพันธ์เชิงลำดับชั้นแบบเดิมในสังคม ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นกรณีเสือดำ นาฬิกา พ่อของฟ้า ประเทศกูมี ฯลฯ ล้วนแต่สะท้อนความรู้สึก ‘ต่อต้าน’ ทั้งสิ้น

ที่น่าสนใจมาก ได้แก่ ข้อความที่ว่า ‘ขอบคุณค่ะ/ครับ โตแล้ว เลือกเองได้’ เป็นข้อความที่สะท้อนการตกผลึกทางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวนี้ได้ชัดเจนที่สุด

คนชั้นกลาง (เก่า) จำนวนหนึ่งในสังคมรู้สึกว่าคนกลุ่มใหม่ๆ ในสังคมไม่มี ‘มารยาท’ ไม่มีความรู้ ไม่มีสติปัญญา จนทำให้เกิดการใช้คำที่มีความหมายด้านลบ เช่น ‘กลุ่มตลาดล่าง’ โดยที่ไม่ได้มีความพยายามที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ในขณะภาครัฐก็พยายามทำให้คนยอมรับ ‘ค่านิยมเดิม’ เช่น การเน้นลำดับชั้น ความเชื่อฟัง การสยบต่ออำนาจ ฯลฯ โดยที่ไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าการยอมรับอำนาจรัฐไทยตามค่านิยมเดิมเหล่านี้ จะทำให้ชีวิตของแต่ละคนและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมเจริญเติบโตขึ้นดังกรณีสิงคโปร์หรือจีน ตรงกันข้าม ความเหลื่อมล้ำและหนี้ครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปมปัญหาที่ทำให้คนสองกลุ่มที่มี ‘กาละและเทศะ’ ในชีวิตไม่เหมือนกัน มีความขัดแย้งระหว่างกันมากขึ้น ก็เพราะรัฐและชนชั้นนำไทยไม่ปรับตัวทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ของสังคม รัฐยังคงพยายาม ‘ยัดเยียด’ ความรู้สึกถึง ‘กาละ-เทศะ’ แบบลำดับชั้นให้แก่สังคม ไม่ว่าจะผ่านการศึกษา (แบบเรียนสังคมศึกษาทั้งหมด) ผ่านสื่อสมัยใหม่ หรือผ่านโครงการของรัฐ โดยถือเสมือนว่าการจัดระบบความสัมพันธ์ทางสังคมและอารมณ์ความรู้สึกอย่างที่มีมานั้นเป็นความจริงแท้ไม่แปรเปลี่ยน และมองว่าหากใครทำอะไรนอกกรอบของ ‘กาละ-เทศะ’ แบบนี้เป็นพวกรับวัฒนธรรมตะวันตก เป็นพวกที่ไม่ใช่ ‘ไทย’

เอาเข้าจริงๆ แล้ว ชนชั้นนำที่ยึดกุมรัฐอยู่ พยายามที่จะทำให้กลุ่มตนเองเชื่ออย่างนั้น ก็เพราะความเชื่อชุดนี้จะเป็นชุดความคิดที่จรรโลงความเหนือกว่าของพวกเขาให้คงอยู่ต่อไป ที่น่าแปลกใจก็คือ คนชั้นกลางจำนวนมากยังคงเดินตามความเชื่อดังกล่าวอย่างเซื่องๆ ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อที่ไม่สอดคล้องความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ยังคงเป็นกระแสหลักในสังคมไทย

เพราะคนกลุ่มใหม่เริ่มสร้างวิถีชีวิตแบบ ‘นอกกรอบ’ ขึ้นมา แต่อีกกลุ่มหนึ่งยังคงยึดถือกรอบความรู้สึกนึกคิดแบบเดิมเอาไว้ จึงทำให้เกิดความตึงเครียดในสังคมโดยไม่จำเป็น และไม่เป็นผลดีต่อการปรับตัวของคนไทยในโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

4. หนทางข้างหน้า

ความรู้สึกถึง ‘กาละ-เทศะ’ ของคนในสังคมไทยปัจจุบันมีความแตกต่างและหลากหลายมากขึ้น การวัดความเหมาะสมของการกระทำของกลุ่มคนทุกกลุ่มบนมาตรฐานเดียวกัน รังแต่จะเกิดความตึงเครียดและความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่ปฏิบัติตนใน ‘กาละ-เทศะ’ ต่างๆ ที่พวกเขาสามารถให้ความหมายได้โดย ‘กลุ่ม’ ของพวกเขาเอง (โดยไม่ละเมิดหลักการต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตย เช่น การยึดหลักกฎหมาย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ฯลฯ) ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีและมีโอกาสเท่าเทียมกันมากขึ้น มีทางเลือกที่คนแต่ละกลุ่มสามารถกำหนดได้ด้วยตัวเองมากขึ้นว่าชีวิตที่ดีสำหรับพวกเขาคืออะไร รวมทั้งเลือกได้อย่างแท้จริงว่าพรรคการเมืองใดควรจะมีอำนาจในรัฐบาลและรัฐสภา ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

ที่สำคัญ ถ้าหากพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของระบอบอารมณ์ความรู้สึกชุดใหม่ของคนกลุ่มใหม่ ว่าเป็นกระบวนการ ‘ทำให้เป็นประชาธิปไตย’ ของอารมณ์ความรู้สึก (democratization of emotion) เราก็จะสามารถช่วยกันสร้าง ‘วัฒนธรรมใหม่’ สำหรับการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมของคนทุกกลุ่มใน ‘กาละ-เทศะ’ ใหม่ที่มี ‘ความเสมอภาค’ เป็นรากฐาน รวมทั้งสามารถยึดถือ ‘มารยาท’ ที่เน้นการเคารพ ‘สิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น’ แทนการเกรงกลัวและเชื่อฟัง ‘ผู้ใหญ่’ แล้วคอยแต่ประณามหรือลงโทษการกระทำที่เห็นว่า ‘ผิดกาละ/เทศะ’ หรือแม้แต่พยายามจะตั้งข้อกล่าวหาแก่บางคนอย่างไม่เป็นธรรมว่า เขามีการกระทำที่ “ทำลายความมั่นคงของชาติ” ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

Author

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ นักวิจัย นักเขียน มีผลงานหลายเล่ม เช่น การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาล ๔ - พ.ศ.๒๔๗๕ (2538) จะรักกันอย่างไรในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน (2553) และ ลืมตาอ้าปาก จาก "ชาวนา" สู่ "ผู้ประกอบการ" (2559) งานเขียนของเขาพยายามทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า