เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์ / ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
ภาพ: ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
“เราไม่เคยไม่ชอบคำว่าฮิปสเตอร์ คือถ้าให้เลือกระหว่างฮิปสเตอร์กับเด็กที่ไม่ทำอะไรเลย เราเลือกฮิปสเตอร์ก็ได้นะ เพราะอย่างน้อยเขาก็หาอะไรไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) เลยไม่คิดว่าเป็นคำแง่ลบ เหมือนกับที่คนอื่นพยายามเอามาแซะ คือเรารู้สึกว่ายุคหนึ่งเราก็เติบโตมากับสิ่งนั้น แต่มึงอะลืม”
คือส่วนหนึ่งของความหัวร้อนที่เราจับต้องได้จากบทสนทนาว่าด้วยความตายตามคอนเซ็ปต์เรื่อง Die Tomorrow ภาพยนตร์ลำดับที่ 5 ของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่กำลังจะเข้าฉายวันที่ 23 พฤศจิกายน ก่อนที่บทสนทนาจะกระโดดมาสู่ความอัดอั้นตันใจว่าด้วยวัยรุ่นที่เขายืนยันว่า ไม่เกี่ยวกับช่วงวัย แต่อยู่ที่คุณเอง
“มันจะจบต่อเมื่อเราบอกว่ามันจบแล้ว”
หมุนเวลากลับไปตอนบ่ายโมงตรงของวันเสาร์ ระหว่างที่กองบรรณาธิการวัยรุ่นยุค 90 และยุคต้น 2000 นั่งเม้ามอยถึงประเด็นหนังเรื่อง Die Tomorrow อย่างสนุกสนานพลางจิบอเมริกาโน่เย็น ในร้านกาแฟที่เหมือนจะเปิดแอร์ประชดอากาศข้างนอก
ชายตัวสูง สวมแว่นตาสี่เหลี่ยมสีดำ เสื้อแขนสั้นสีขาวและกางเกงสีกากี เดินเข้ามานั่งฝั่งตรงข้ามเราอย่างไม่ทันตั้งตัว บทสนทนาชะงักไปสักพักก่อนจะ “อ๋อ” เต๋อ-นวพล นี่เอง
ต่างฝ่ายกล่าวทักทายกันไม่ถึงนาที ก่อนจะกดปุ่มชัตเตอร์เพื่อบันทึกช่วงเวลาและบทสนทนาว่าด้วยความตายกับวัยรุ่นที่ไม่น่าจะข้องเกี่ยวกัน แต่ก็ถักร้อยเชื่อมโยงกันอย่างกลมกลืน
การที่หนังพูดถึงความตาย คิดว่าจะสื่อสารยากกว่าเรื่องเก่าไหม
เท่าที่ดูช่วงนี้นะ จากคอมเมนต์ คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพราะทุกคนต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ใช่แค่คนแก่ แต่เกี่ยวข้องกับแทบทุกเพศทุกวัย ซึ่งถือว่าโชคดี เพราะเราก็แอบกังวลด้วย คือเนื้อหามันเข้มกว่า เครียดกว่า โตกว่า ฟรีแลนซ์ฯ เยอะ (ฟรีแลนซ์ห้ามป่วยห้ามพักห้ามรักหมอ 2015)
พอเรายิ่งทำสคริปต์ ยิ่งเห็นว่าความตายมันมีหลายมิติ มีมากกว่าความเศร้าหรือความแก่ คือความตายเกี่ยวข้องกับคนอายุเท่าไรก็ได้ ถ้าทำหนังความตายและเกี่ยวข้องกับความแก่ คนดูก็จะแบบ “อ้อ ก็ตามนั้นแหละ” “ก็แหงสิวะ”
คือทุกคนมีคอนเซ็ปต์นี้อยู่ในหัวเพียงแต่ว่าสังคมไม่ค่อยอยากให้พูดสักเท่าไหร่ ‘อย่าพูดเรื่องนี้เลยเป็นลางไม่ดี’ มันเป็นหัวข้อที่ไม่มีใครชวนคุยกันเล่นๆ เรามองว่าประเด็นนี้มันเหมือนกับสมัยเรียนเพศศึกษาสมัยก่อน “เฮ้ย อย่าพูดเลย” ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องใกล้ตัว ก็คล้ายๆ กัน แต่เราไม่รู้ว่าวัฒนธรรมฝรั่งเขาพูดเรื่องนี้กันได้เป็นปกติหรือเปล่า แต่คนไทยกับคนจีนคือชัดเจนมากว่า “อย่าพูด”
พอทำหนังความตายที่เป็นช่วงวัยวัยรุ่นก็รู้สึกว่าน่าสนใจกว่าประมาณหนึ่ง แต่เอาจริงหนังมีหลายวัยอยู่ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยประมาณกลางคน แค่ไม่ได้ลงไปสุดถึงช่วงวัยแก่ อาจเป็นเพราะว่าช่วงวัยเราน่าสนใจกว่าที่จะพูดเรื่องนี้ อย่างว่ามันมีหลายมิติ วัยรุ่นก็สามารถใกล้ชิดกับเรื่องนี้ได้ อย่างเช่น สเต็ปง่ายๆ สมมุติว่าคนใกล้ตัวเขาเสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุสัก 17-18 ปี เขาอาจเรียนรู้สิ่งนี้ก่อนหน้าเราสักสิบปีได้
การที่มองว่า ความตายเป็นเรื่องของคนแก่ๆ หรือคนโตๆ มันเป็นความเข้าใจเก่า เพราะอย่างนี้แหละ มันเลยเป็นอะไรที่น่าสนใจกว่าถ้าจะพูดเรื่องความตายด้วยคนที่เด็กกว่าหรือช่วงอายุเท่าเรา
หนังเรื่องนี้ถือเป็นการพยายามส่งสารบอกสังคมหรือเปล่า ว่าให้หันมาคุยเรื่องนี้กันอย่างเปิดเผย ไม่ใช่เรื่องของลางร้ายนะ
อาจไม่ถึงขั้นเพื่อบอกสังคมขนาดนั้น แต่เป็นทัศนะเรื่องความตายของเรามากกว่า เรามองว่าความตายไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่จะพูดไม่ได้ คือความคิดดังกล่าวอาจจะปะทะกับความเชื่อทางสังคมเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่แบบ “เรามาคุยเรื่องนี้กันเถอะ” อีกอย่างคือช่วงปีสองปีนี้เราสนใจเรื่องนี้มากกว่า มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเราที่แชร์กับคนอื่นได้ เอาจริงเวลาใครสักคนเล่าถึงเพื่อนที่จากไป คือมันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขานะ แต่มันเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับคนอื่นได้ เพียงแต่ว่ามันอาจดูโดดมาหน่อยตรงที่คนไม่ค่อยคุยกัน ไม่รู้ว่าเราหยิบเรื่องความตายมาพูดถึงได้ครอบคลุมหรือครบหมดทุกมุมแล้วหรือเปล่า เราตอบไม่ได้ แต่คิดว่าเท่าที่เราอ่าน เราค้นมาก็คิดว่านี่คือ 6-7-8 หัวข้อที่เราสนใจและหยิบยกมา แต่ส่วนตัวคิดว่าความตายไม่น่าจะมากกว่านั้น ความจริงคือความตายมันง่ายมากด้วยซ้ำ อยู่ที่ว่าเคสใคร มีดีเทลมากน้อยแค่ไหน หรือพิสดารกว่ายังไงมากกว่า เราเลยบอกว่าเรื่องนี้เป็นความส่วนตัวของเราที่สุด เพราะมันพูดถึงเรื่องธรรมดามากๆ
ถ้าข้ามไปยังประเด็นที่สังคมกำลังถกเถียงอย่างเรื่อง สิทธิที่จะตาย (right to die) คิดว่าถ้าเขาดูหนังเรื่องนี้จะมองประเด็นนี้อย่างไร
ผมคิดว่าคนที่ดูหนังเรื่องนี้จะกลับไปนั่งย้อนดูประสบการณ์ตัวเอง มันไม่ได้เป็นหนังที่ “เรามาลุ้นกันเถอะว่า นาทีที่ 50 พวกเขาจะตายไหม” เรื่องนี้เป็นเหมือนหนังสือที่มีหลายคอลัมน์หรือรวมเรื่องสั้น หมายความว่าหนังไม่เน้นหรือไฮไลท์อะไรเป็นพิเศษ แค่เกี่ยวข้องกับความตาย เวลาคุณดูคุณอาจคิดถึงเพื่อนคุณสักคน คิดถึงคุณน้าในครอบครัวที่สนิทกัน หรือใครก็ตาม คือเป็นเหมือนสปริงบอร์ดไปสู่การทบทวนตัวเองหรือคิดถึงใครสักคน ประมาณนั้น
ได้รับแรงบันดาลใจทางงานศิลปะเรื่องความตายจากไหน
โห… คิดยากเหมือนกันนะ ถ้าจะให้ถามแล้วตอบได้เลย คงเป็นการไปพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่นี่เคยเป็นอะไรมาก่อน เหมือนของเก่าที่ข้ามเวลา เพราะว่าปีที่แล้วได้ไปสองที่คล้ายๆ กันคือ Auschwitz-Birkenau Memorial and Museum ที่โปแลนด์ กับ National September 11 Memorial & Museum ที่อเมริกา เป็นสเปซที่เคยมีคนอยู่ แต่ตอนนี้ไม่มีคนแล้ว เรารู้สึกถึง live and dead จริงๆ
หรือการนำคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับ conceptual album มาใช้ อย่าง วงพรู (Pru) อัลบั้ม Zero (0) อาจเป็นคอนเซ็ปชวลอัลบั้มแรกๆ ที่ได้ฟัง ก่อนหน้านี้อาจมี Pink Floyd แหละ แต่เราเพิ่งเคยฟังจากอัลบั้มนี้ครั้งแรกแล้วเราฟังสองแผ่นรวด รู้สึกว่ามันพิเศษ ให้ความรู้สึกเหมือนเรานั่งดูหนังอยู่ คือไม่ค่อยรู้สึกแบบนี้กับการฟังเพลงสักเท่าไหร่ แล้วเพลงแต่ละเพลงก็ยาวจนเหมือนหนังสั้นเรื่องหนึ่ง พุ่งไปข้างหน้าจนจบไม่มีการเล่าย้อน มีความคล้ายภาพยนตร์
เราเลยอยากทำหนังที่เป็นอะไรแบบนี้บ้าง ประกอบกับความโชคดีที่เราทำหนังแยกส่วนเล็กๆ น้อยๆ เราก็ไม่อยากต่อเรื่องด้วยการจะให้มีตัวละครตัวหนึ่งรู้จักกัน เดินสวนกัน หรือบังเอิญมาร้านเดียวกัน เลยอยากใช้เทคนิคอื่นมาต่อกัน อย่างการฟังเพลงมันให้ความรู้สึกอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนกันนะ อาจเพราะนักร้องเป็นนักร้องคนเดิม เราเลยใช้คอนเซ็ปต์นี้มาจับ ถึงวันนี้เราก็ไม่รู้ว่าดีไหม แต่เราพึงพอใจกับมัน การได้ใช้ conceptual album มาทำก็สนุกดี
เรารู้สึกว่าทุกวงพอถึงจุดหนึ่งก็จะทำคอนเซ็ปต์นี้เหมือนกันอย่าง Modern Dog อัลบั้ม Love Me Love My Life หรือ Bodyslam อัลบั้ม ดัม-มะ-ชา-ติ ของเราก็อาจเป็นเรื่องนี้ หรือเปล่าวะ (หัวเราะ)
ความสนุกสนานของการถ่ายทำแบบลองเทค (long take) แต่คุยกันเรื่องความตายคืออะไร
อย่างน้องที่อยู่ต้นเทรลเลอร์หนัง (มรรค-มรรค สพโชคชัย) มีความคิดที่พิเศษมาก เราคิดว่าเราจิ้มถูกคน บางคนอาจคิดว่าน้องพูดตามสคริปต์ จริงๆ คือมันไม่มีสคริปต์ น้องเขาพูดเอง แต่พอดูในเทรลเลอร์มันตัดเหลือเพียงเท่านั้น ถ้าดูในหนังเราจะเห็นเลยว่านี่คือความคิดเด็กนะ แต่บางอย่างก็แฉลบออกไปผู้ใหญ่และกลับไปเด็กอีกรอบ ถือว่าเป็นการพบเจอกันตามโชคชะตามากๆ โชคดีมากๆ
แล้วทำไมต้องลองเทค
บางคนอาจคิดว่าการถ่ายในลักษณะลองเทคนี้เป็นเหมือนลายเซ็นที่ต้องการรักษาเอาไว้ แต่เราคิดว่ามันเป็นสำนวน วิธีการเล่าเรื่องที่เราสนใจและเหมาะกับโปรเจ็คท์นี้ เรื่องหน้าอาจเป็นคัทยับ ช็อตเยอะ มันอยู่ที่สตอรีว่าเหมาะหรือเปล่า แต่หนังเรื่องนี้มันพูดถึงเรื่องจริงในสังคมมากๆ เป็น everyday life ของทุกคน เป็นช่วง 10 นาทีหรือ 5 นาทีของคนกลุ่มหนึ่ง พอถ่ายแบบนี้นานๆ ไปเรื่อยๆ มันก็ดูธรรมดามันเลยเข้ากับคอนเซ็ปต์ของหนังที่พูดว่า วันสุดท้ายก่อนตายก็เป็นวันธรรมดา
นักแสดงในเรื่องนี้เป็นนักแสดงคนโปรดหมดเลย
จริงๆ มันก็คอนเซ็ปต์นิดหนึ่งพอทำเรื่อง Die Tomorrow ก็ไม่แน่นะ เรื่องนี้อาจเป็น final film ของเรา หากเป็นอย่างนั้นก็อยากให้มีนักแสดงที่เราเคยทำงานมา คล้ายๆ กับงานศพนิดหนึ่งคือทุกคนกลับมา reunion กัน เป็นเหมือนทำหนังสืองานศพตัวเอง จะดีแค่ไหนที่ได้ทำหนังสืองานศพตัวเอง ก็เลยรู้สึกว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่ดีในการคัดเลือกนักแสดง แต่บทก็ไม่ได้อำนวยกับทุกคนมากๆ เราก็เลือกคนที่เหมาะกับบทด้วย ไม่ใช่เราต้องเชิญทุกคนมาให้ครบเพื่อให้ตรงกับคอนเซ็ปต์ แล้วถ้าเขามาเล่นแล้วมันแย่ก็ไม่ดีกับเขาด้วย ข้อเสียคือ ไม่ได้เชิญทุกคน แต่ก็คิดถึงทุกคนอยู่ในใจ
ที่บอกว่านักแสดงเรื่องนี้เป็นนักแสดงที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน จากวันนั้นจนวันนี้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวพวกเขาไหม
ถ้าเป็นความรู้สึกพิเศษหน่อยก็ จูนจูน (พัชชา พูนพิริยะ) กับ เมโกะ (ชนนิกานต์ เนตรจุ้ย) คือไทม์ไลน์ช่วงอายุตรงกับตัวละคร อย่างเรื่อง แมรี่
(MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY 2013) ก็ตรง เรื่อง Die Tomorrow ก็เช่นกัน คือมันมีเซนส์แบบ Before Sunset (2004) นิดๆ หมายถึงตัวละครมันคู่ขนานกับนักแสดงจริงๆ เป็นคอนเซ็ปต์ที่เราชอบ คนอื่นอาจไม่ได้อะไร แต่พอเราเห็นสองคนนี้กลับมาอยู่ในเฟรมด้วยกัน จากครั้งล่าสุดคือเรื่อง แมรี่ เราเลยเห็นความโต ความเปลี่ยนแปลงหรืออะไรบางอย่าง อาจเป็นวิธีคิดบางอย่างแค่นิดๆ หน่อยๆ เหมือนเราได้บันทึกเด็กสองคนนี้ผ่านเวลามาจริงๆ
ถ้าไกลหน่อยก็อย่าง ทราย (กรมิษฐ์ วัชรเสถียร) ทรายก็ไม่ค่อยเปลี่ยน เป็นแบบนั้นแหละ แก่ไปพร้อมกับกูนี่แหละ (หัวเราะ) อย่าง วี (วิโอเลต วอเทียร์) หรือ ซันนี่ (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) ก็เพิ่งทำด้วยกันไม่นาน ยังไม่เห็นความเปลี่ยนอะไรมาก
หนังที่เต๋อทำมาส่วนใหญ่คนดูมักเป็นกลุ่มวัยรุ่นด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม?
ตอนทำทุกเรื่องคือเราไม่รู้เลยว่าหนังจะตรงกับกลุ่มไหน อย่างเช่น เราไม่สามารถบอกได้ว่ากลุ่มไหนตรงกับเรื่อง แมรี่ ตอนแรกคิดว่ามันเป็นหนังสำหรับเด็กโตคือ มหา’ลัยอัพ ปรากฏว่าหนังทะลุลงไปถึงเด็ก ม.2-3
เราเลยมองว่าจริงๆ แล้วคนดูมี approach หลายแบบตามวัยหรือตามยุค จากตอนแรกคิดว่าน่าจะเป็นหนังเด็กโต ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขามีวิธีตั้งต้นว่าหนังต้องเป็นแบบนี้สิ แต่เด็กมีการ approach อีกแบบ ซึ่งเป็นคำถามที่เราพยายามถามตัวเองว่า น้องเขาดูหนังเรื่องนี้ด้วยวิธีคิดแบบไหน อาจเป็นวิธีที่เหมือนกับแมรี่แล้วสนุกก็ได้ ก็ไม่แน่ คือตอนทำเรื่อง แมรี่ เราไม่ได้คิดว่า “นี่แหละ ไวยากรณ์หนังกระโดดๆ แบบนี้เด็กต้องชอบแน่ๆ” เราทำแบบนี้เพราะคิดว่าคอนเซ็ปต์น่าจะเป็นแบบนี้ และรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจ
Die Tomorrow ก็เหมือนกัน คือหนังก็ดูเหมือนเหมาะกับเด็กโตอีกละ แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ว่า “เดี๋ยวน้องๆ จะไม่ดูว่ะ เอา จูนจูน – เมโกะ มารวมกันดีกว่าเด็กจะได้มาดู” คือหนังก็มีหลากหลายวัยปนๆ กันไป
จากที่ตอนแรกไม่ได้จะตั้งใจเจาะกลุ่มเด็กหรือวัยรุ่นขนาดนั้น แต่พอรู้ว่าเด็กดูเยอะขึ้น เวลาทำหนังเคยลิมิตตัวเองหรือเบรกตัวเองไว้ไหมว่าพูดเรื่องนี้สุดไม่ได้นะ เพราะมีเด็กดูอยู่
ไม่มีเบรกเลยครับ คือทำหนังแล้วปล่อยให้หนังหากลุ่มคนดูเอง เช่น เดอะมาสเตอร์ (2015) คนดูน้อยมากนะ ส่วนใหญ่เป็นคนโตจริงๆ เพราะเด็กไม่เข้าใจ เวลาเราทำหนังจะพอรู้อยู่แล้วว่าเด็กน่าจะไม่เข้าใจแน่ๆ แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่มันไม่ใช่เหตุผลที่จะมาบอกว่า เด็กไม่ดู ไม่ทำดีกว่า คืออยากทำไรเราก็ทำ
แล้วเราก็เชื่อว่าคนดูฉลาดพอที่จะตัดสินใจเอาออกเองว่าหนังเรื่องนั้นเหมาะกับเขาหรือเปล่า ตัดสินใจจากเนื้อเรื่องนี่แหละ มันก็ดีตรงที่ครั้งที่แล้วทำ ฟรีแลนซ์ ได้ 89 ล้าน ครั้งนี้ต้องได้อีกแน่ๆ ซึ่งก็อาจไม่จริง มันอยู่ที่ว่าคนดูเขาอยากดูอะไร
ถ้าอย่างนั้นสำหรับเต๋อมองว่าวัยรุ่นคืออะไร
เราว่ามันเป็นช่วง เป็นระยะเวลาหาของใหม่ เพราะไม่รู้จะเอาไง ไม่รู้ว่าที่เจอถูกหรือเปล่า หาสิ่งที่ถูกต้องเพื่อตนเอง เป็นเรื่องเซนส์ไม่ใช่อายุ เรามองว่าที่วัยรุ่นรู้สึกงานเราเชื่อมกับเขาเพราะมันมีลักษณะของคอนเซ็ปต์คล้ายๆ แบบนั้น
อย่างเรื่องนี้ ถามว่าเหมือนปกติไหม ไม่ปกติ ถามว่าเวิร์คไหม ก็ยังไม่รู้ แต่อยากลองดู ไม่ได้ไม่ปกติเพื่อที่จะได้อยากไม่เป็นปกติ แต่ไม่ปกติเพื่อที่จะทดสอบว่ามันโอเคไหม เวิร์คไหมวะ เป็นความสงสัยใคร่รู้ของคนทำงานสร้างสรรค์มากกว่า
เซนส์นี้เลยตรงกับวัยรุ่นมั้ง แบบอะไรวะ ขอลองหน่อย มีอะไรก็อยากลอง
คิดอย่างไรกับวัฒนธรรมของวัยรุ่นสมัยนี้ที่เรียกว่า ‘ฮิปสเตอร์’
สมัยก่อนใช้คำว่า ‘แนว’ ต่อมาเป็น ‘อินดี้’ ตอนนี้ก็ ‘ฮิปสเตอร์’ คือเราไม่เคยไม่ชอบคำว่าฮิปสเตอร์ คือถ้าให้เลือกระหว่างฮิปสเตอร์กับเด็กที่ไม่ทำอะไรเลย เราเลือกฮิปสเตอร์ก็ได้นะ เพราะอย่างน้อยเขาก็หาอะไรไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) เราเลยไม่คิดว่าเป็นคำแง่ลบ เหมือนกับที่คนอื่นพยายามเอามาแซะ คือเรารู้สึกว่ายุคหนึ่งเราก็เติบโตมากับสิ่งนั้น แต่มึงอะลืม ยุคหนึ่งมึงก็ฟังเพลงอินดี้ โดนคนเมนสตรีมด่าว่า “โห ฟัง Modern Dog อะไรอะ”
ช่วงหนึ่ง ฮารุกิ มุราคามิ (Haruki Murakami) หน่อยวะ ช่วงหนึ่งฟังเพลงสแกนดิเนเวียนหน่อยวะ ก็ดีออก อย่างน้อยได้ลอง ได้ค้นหาอะไร แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือ ไม่ชอบก็อย่าฟัง จบ อย่าทน อย่าฝืนตัวเอง หรืออย่าไปว่าเหน็บแนมคนอื่น “เฮ้ย มึงหนาวมากหรอ ใส่เสื้อโค้ททำไม” “มึงอยากเด่นเหรอทำผมสีนี้” นั่นคือความผิดร้ายแรง เรามองว่าเป็นการกดทับให้คนกลับไปที่เดิมหมดเลย ถ้าเขาได้อยู่ในสังคมที่คนทำอะไรก็ทำ ไม่มีใครว่าอะไร เราว่าเขาก็จะสามารถพัฒนาตัวเองได้จนถึงจุดหนึ่งที่เหมาะกับเขามากหรือเชื่อมโยงกับคนอื่นได้
คือมันเป็นเหมือนเรื่องผู้ใหญ่แกล้งเด็ก คือมึงก็เคยทำแบบนี้ เป็นแบบนี้ ทำเป็นลืม
คือไม่มีกฎว่า “แหม… สามปีก่อนฟังสแกนดิเนเวียนเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแล้วหรอ” แล้วทำไมกูจะเปลี่ยนไม่ได้วะ ไปยุ่งอะไรกับเขา ถามจริง ถ้าเขาจะฟังเมนสตรีมบ้าง อินดี้บ้าง แต่ประสบการณ์จากการฟังเหล่านั้นทั้งหมด รวมกันแล้วอาจได้ของใหม่บางอย่างมาก็ได้ เพราะเราสลับไปสลับมาระหว่างอินดี้กับเมนสตรีมแล้วรู้สึกว่ามันก็ดี คือนำทั้งสองอย่างมาผสมผสานกันได้ คือทุกวันนี้โลกมีปัญหาเพราะเรานิยามกันหนักหน่วงจนไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร
โห ไม่ค่อยมีใครถามนะเนี่ย ถามแล้วขึ้นเลย แบบหยุดได้แล้วทุกคน จะบ้าแล้ว (หัวเราะ)
แล้วเต๋อเป็นวัยรุ่นแบบไหน
ถ้ายุคนี้ก็โดนเรียกว่า ‘ฮิปสเตอร์’ ได้เลย ฟังเพลง อ่านหนังสือ ไม่เหมือนคนอื่น อาจเป็นโชคดีที่ยุคนั้นไม่มีโซเชียลรุนแรง ไม่มีใครมาว่าอะไร แต่เพื่อนก็จะรู้ว่าไอ้นี่ อ่านไม่เหมือนคนอื่น “มึงอ่านไรวะ ไม่รู้จักเลย” ไม่ใช่มาแบบ “อี๋ ทำมาเป็นแนวเหรอ อ่านหนังสือ ปราบดา หยุ่น” คือไม่มี ใครจะอ่านก็อ่านไป
อาจจะมีเพื่อนอีกคนที่สนใจเหมือนกัน แต่ก็มีแค่คนเดียว เราเลยรู้สึกว่าโตถูกสมัยจริงๆ เป็นช่วงที่ทุกคนเรียกร้องหาสิ่งใหม่จริงๆ ยุคที่ Summer กับ A Day ออกเล่มแรก เป็นบรรยากาศที่ดีมาก เป็นสิ่งใหม่ที่ทุกคนพร้อมใจกัน “เปิดแล้ว ดีใจจังเลย เราไม่เคยรู้มาก่อน ว่าโลกนี้มีวงชื่อ Cornelius เป็นเพลงอิเล็กทรอนิกส์ คือสมัยนั้นเพลงอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร ไม่มีใครรู้ จะทำความรู้จักกับมันอย่างไร มีวงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย
แล้วบรรยากาศมันดีเพราะทุกคนเปิดกว้าง จนวันหนึ่งสายอินดี้ขยับขยายเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ปะทะกับสายเมนสตรีมเดิม ซึ่งไม่รู้ใครเริ่มก่อนใคร และกลายเป็นข้อวิพากษ์จนถึงตอนนี้ แต่ถามว่าเราอยู่กลุ่มไหน เราก็สลับไปสลับมาสองโลก ในระหว่างที่เราฟังเพลงอินดี้ เราก็ฟัง เฟย์ ฟาง แก้ว ด้วย คือ “ชอบมาก เพราะห้าเพลงเลยว่ะ ทำได้ไง” คือฟังกามิกาเซ่สลับไปสลับมากับเพลงอินดี้ ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย คือจะฟังไรก็ฟังไป จะทะเลาะกันทำไม มีปัญหาไรกันเหรอ
จริงๆ ก็อาจมีมุมดีอย่างพอเพื่อนเราสายอินดี้แนะนำเพลงป๊อปเบลเยียม เราก็อาจจะชอบก็ได้แบบ “โห เป็นสิ่งที่ตามหามานาน” หรืออาจแบบ “ไม่ไหวว่ะ ฟังไม่ได้จริงๆ” ก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะเรารู้อยู่ว่าคนเราชอบไม่เหมือนกัน
คิดว่าถ้าเกิดช่วงต้นทศวรรษที่ 20 จะเป็นวัยรุ่นแบบไหน
คงติดอินเทอร์เน็ตมากๆ ขนาดเกิดยุคก้ำกึ้งยังติดขนาดนี้เลย อาจไม่ทำหนังก็ได้ อาจจะทำพวกวรรณกรรม
คิดว่าเด็กสมัยนี้เข้าใจยากไหม
ไม่ยาก เพราะเราไปในฐานะนักเรียน ทำไมทำแบบนี้ อย่างตอนถ่ายโฆษณากับ ซอนญา (ชิษณุชา ดอนเนลลี่) วง Sweat16! เขาอายุน้อยกว่าผมเกือบ 20 ปี เราก็ถามว่า ทำไมคิดแบบนี้ ทำไมทำแบบนั้น คุยไปคุยมาเริ่มรู้ว่าความคิดเขาโตมาก ล้ำมาก มีเป้าหมายในชีวิตชัดเจนเลย
เด็กสมัยนี้ไม่ได้เด็กขนาดนั้นจะด้วยสื่อหรือข้อมูลก็ตามที่เข้าถึงพวกเขาได้เร็วกว่ายุคเรามาก เด็กอายุ 16 ยุคนี้อาจอายุ 19-20 ของยุคเรา คุยกับจูนจูนก็เหมือนคุยกับคนอายุ 24-25 ทั้งๆ ที่มันเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยเอง เลยรู้สึกสนุกดีเวลาคุย
เป็นห่วงอะไรในวัยรุ่นยุคนี้
เราจะเห็นเด็กสอบเทียบสามปีหรือเด็กไม่ได้เรียนตามระบบมากขึ้น แล้ววิธีคิดของเด็กยุคนี้เขาจะไม่เดินตามแนวทางเรียนมหาวิทยาลัยสี่ปีแล้ว คือก็ยังมีอยู่บ้าง แต่กลุ่มที่ไม่เรียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาคิดว่าไม่ต้องเรียนก็ได้ เราจะทำงาน เราอยากเป็นบาริสต้าก็ไปเรียนบาริสต้ากัน แต่สุดท้ายพอเราได้ลองคุยกับพวกเขา ก็คิดว่าพอถึงจุดหนึ่งเดี๋ยวพวกเขาก็เบื่อแล้วไปหาทำอย่างอื่นแทน ถามว่าสิ่งที่พวกเขาอยากทำหรืออยากเป็นเกิดขึ้นได้ไหม มันก็ได้ แต่มันก็มีความยาก อย่างขายของออนไลน์ ใครก็ขายได้ แต่ความยากคือเต็มไปหมดเลย หันไปทางไหนก็ขายของออนไลน์ เยอะแยะมหาศาล แต่ถ้าทำได้ดีก็อยู่ได้ ก็โอเค ถ้ารู้สึกว่าเรียนไปแล้วไม่ได้ใช้
แต่บางครั้งรู้สึกว่าพวกเขาปฏิเสธระบบบางอย่างที่ถูกวางหรือถูกออกแบบให้อย่างเหมาะสมมากเกินไป คือยุคเรามันมีคนจัดให้แล้ว 1-2-3-4 แต่ยุคนี้ ข้ามไป 1-4-7 “อ้าว ต้องรู้ 2 เหรอ” กลับไปใหม่ แต่ก็ครบสิบเหมือนกัน สมมุติความรู้พื้นฐานบางอย่างถูกคิดไว้แล้วว่าถ้าไม่รู้สิ่งนั้นจะไปต่อยอดสิ่งนี้ไม่ได้ บางทีพวกเขาปฏิเสธเยอะไป แต่ท้ายที่สุดเราคิดว่าเดี๋ยวเขาก็รู้ตัวเอง ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบนั้นมีความเสี่ยงมากกว่า มีความไม่มั่นคงมากกว่า แต่ถามว่าชีวิตใครมั่นคงบ้าง ก็ไม่มี ไปถามคนถูกเลย์ออฟก่อนปี 1997 ดูสิ ก่อนหน้านั้นไม่มีใครคิดหรอกว่าชีวิตจะเจอความเสี่ยง
คือเขาอยากทำไรก็ทำ อยากเปิดร้านกาแฟก็เปิด แต่แค่ต้องรู้ไว้ว่าไม่มีอะไรง่าย ถ้าน้องรู้แล้วอยากทำก็ทำไปเลย น้องอาจสามารถค้นพบบางอย่างแล้วรู้ว่าทำแบบนี้จะไม่ซ้ำรอยความล้มเหลวของพี่ที่แนะนำ แต่ถ้าไม่สวยงามก็ต้องยอมรับ มันก็เจ็บปวดหน่อย
จริงๆ มันเป็นเรื่องเบสิคนะ ไม่เกี่ยวกับช่วงวัยหรอก คือรู้ว่าการทำอะไรต้องมี cost ที่บางครั้งเด็กบางคนอาจลืมไป ดูแต่รูปใน pinterest.com แล้วว่ามันสวยดี เกิดขึ้นได้เลย แต่รู้ไหมว่ารูปใน pinterest.com กว่าจะประสบความสำเร็จต้องผ่านอะไรมาบ้างแค่นั้นเอง
เป็นเพราะข้อมูลสมัยนี้เข้าถึงง่ายและทุกคนชอบโชว์ให้เห็นแต่ด้านสวยงาม ประสบความสำเร็จเลยทำให้พวกเขาคิดว่ามันง่ายหรือเปล่า
พูดยาก ขึ้นอยู่กับว่าเข้าเว็บอะไร (หัวเราะ) ถ้าเข้า pinterest.com ก็คงเห็นแต่แบบนั้น แต่เว็บที่คุยว่าเส้นทางก่อนประสบความสำเร็จเป็นอย่างไรก็มี แต่การเข้าถึงเว็บที่พูดแต่เรื่องแบบนั้นมีเต็มไปหมดแล้วมั้ง เลยทำให้ได้เจอหรืออ่านอะไรแบบนั้นเยอะ จนคิดว่าทุกอย่างง่ายไปหมด คิดเล่นๆ ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการออกสื่อที่ง่ายกว่าอดีต 100 เท่า คือเมื่อก่อนจะออกหนังสือต้องใช้ความพยายามและเวลานานมาก แต่ทุกวันนี้คนเราสามารถลงรูปโปรโมตตัวเองได้ง่ายๆ จัดเลย์เอาท์นิดหน่อย โพสต์รูปไม่ถึง 10-15 ภายใน 1 นาทีหลังจากโพสต์ และดังเพียงหนึ่งวัน จากนั้นหายไป ข้อดีคือความเป็นไปได้เต็มไปหมด ข้อเสียคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว โอเค มันเกิดขึ้นจากความรู้พื้นฐานยุคเก่าบางอย่างหรือขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างก็เท่านั้น
เคยคุยกับวัยรุ่นแบบ ‘แจ๊ส ชวนชื่น สไตล์’ ไหม
ไม่ค่อย แต่ก็ไม่ปฏิเสธนะถ้าได้เจอ อยากคุยอยากรู้ว่าคิดไรกัน แต่ไม่มีโอกาสสักที แต่รู้สึกว่าน่าจะสนุกดี คือก็พอรู้วัฒนธรรม อย่างหนังที่เขาดู เพลงที่เขาชอบ เลยคิดว่าน่าสนใจและอาจชอบอะไรตรงกันก็ได้
เคยสนใจทำหนังในเซนส์ภูธรบ้างไหม
เซนส์ภูธรไม่รู้ คือเราเป็นคนเมืองมากๆ รู้แต่เซนส์เมืองกับความเละเทะของที่นี่ ก็อาจเป็นภูธรที่เกิดจากการผสมฝรั่ง จีน เทคโนโลยี ไสยศาสตร์ ที่กรุงเทพฯมีทุกอย่าง ที่ต่างจังหวัดอาจมีบางอย่าง แต่ที่นี่เห็นครบ
คิดว่ามีจุดสิ้นสุดของวัยรุ่นไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ไหม
คำว่าวัยรุ่นมันเป็นเซนส์ไม่ใช่อายุ เราก็จะยังเจอผู้ใหญ่บางคนที่ยังเหมือนเดิม อย่าง พี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) แก่ตรงไหน เก๋าขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ เพราะประสบการณ์ชีวิตเขาเยอะมาก
เลยรู้สึกว่าไม่มีช่วงจบ มันจะจบต่อเมื่อเราบอกว่ามันจบแล้วมากกว่า การ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก หรือเราไม่ควรทำไรติงต๊อง มันไม่เกี่ยวกับช่วงเวลาหรืออายุ
5 คำถามความตาย
กลัวตายไหม
คิดว่าเข้าใจมันมากขึ้นมากกว่า แต่ถ้าอยู่ในจุดสถานการณ์คับขันก็กลัวแหละ แต่อาจวางได้เร็วหน่อย แบบไม่ยื้อนานเท่าไหร่ รู้ว่าสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ถ้ามีคนจากไปจะเศร้าไหม คงเศร้า แต่อาจก้าวต่อไปเร็วหน่อย
ถ้าตายแล้วแล้วกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนมีเวลาอยู่ในโลก 3-7 วันก่อนหายไปจะไปไหน
ไปที่ที่ไม่เคยไป ไปที่ที่ไม่เคยเข้า ไม่ได้หมายถึงไปต่างประเทศนะ อย่างบ้านเพื่อนบางคนยังไม่เคยเห็นเลย ไม่รู้ว่าห้องเพื่อนเป็นยังไง เลยชอบดูรายการบุกบ้านดารามาก เพราะอยากรู้ห้องเขาเป็นอย่างไร เป็นความชอบส่วนตัว (ยิ้ม)
มีผู้กำกับคนไหนที่เสียชีวิตแล้วและถ้าเต๋อตายอยากไปเจอเขาไหม
โห ยากจัง คนที่ชอบยังไม่ตาย (หัวเราะ) เดี๋ยวนะ ใครตายแล้วบ้าง… อ่อ คิดออกละ ผมอยากเจอคนทำหนังยุคแรกๆ แบบที่เพิ่งประดิษฐ์กันได้ คือรู้ได้ไงว่าภาพนี้ชนกับภาพนี้เกิดเป็นความหมายใหม่ได้อย่างไร มันเป็นความรู้สึกที่เราไม่เข้าใจ ต้องลองคิดถึงโลกที่ไม่มีหนังมาก่อนเลย เราจะคิดถึงแก๊งนักประดิษฐ์
อยากให้ใครทำหนังชีวประวัติตัวเอง
อยากให้เพื่อนทำมากกว่า จะมีกลุ่มเพื่อนที่เวลาเราทำสคริปต์เราจะคอยปรึกษาเขา คอมเมนท์นู่นนี่ แก๊งนี้รู้จักเราดีมากๆ ซึ่งพวกเขาไม่ได้ทำหนัง คือเรารู้สึกว่าไม่ได้ต้องการหนังที่พูดเกี่ยวกับเราว่า เต๋อดีมากเลยครับ ไม่ต้องการไรเนี้ยบๆ คือไอ้พวกนี้รู้จักเราเยอะทั้งสิ่งดีและไม่ดี รู้เยอะสุด
ตายแล้วอยากไปไหน
จริงๆ มืดๆ ไปก็ดีนะ เหนื่อย รู้สึกว่ามืดๆ น่าจะสบายดี (อยากนอนเหรอคะ – WAY) ใช่ๆ ไม่ค่อยได้นอน (หัวเราะ) ไม่รู้ว่าการตายคือตายแล้วดับหรือตายแล้วไปเกิดใหม่หรือเปล่า แต่ถ้าไม่ต้องไปต่อก็ดี เพราะว่าถ้าไปไหนต่อก็ไม่จบอะสิ อุตส่าห์ดำเนินชีวิตมาตั้ง 30 กว่าปี ยังต้องไปอีกกี่ปี แต่ถ้าสนุกก็น่าสนใจ (ยิ้ม)