ด้วยระดับความร้ายแรงของกลุ่ม โรคไม่ติดต่อ (Noncommunicable diseases: NCDs) โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคเบาหวาน กินสัดส่วนสาเหตุการเสียชีวิตเกินครึ่งของประชากรทั้งโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ในปี 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนด 9 เป้าหมายการดำเนินงานเพื่อป้องกันควบคุมสถานการณ์โรคไม่ติดต่อ และกำหนดให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในปี 2568
ก่อนจะไปถึงเวลานั้น ‘การสํารวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5’ เมื่อปี 2557 ของ ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยข้อมูลสำคัญจากการลงสำรวจสุขภาพในพื้นที่ ละเอียดขนาดตรวจเลือด วัดรอบเอว ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และถามด้วยคำถามง่ายๆ ว่า ออกกำลังกายบ่อยแค่ไหน
“เรากำลังเตรียมตัวลงภาคสนามเพื่อทำสำรวจอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ ข้อมูลจะได้อัพเดทมากขึ้น” ศ.นพ.วิชัย เผย “แต่ยอดรวมคงยังไม่ต่างจากเดิมมากนัก เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง และบรรยากาศการสร้างความรับรู้ที่ยังไม่มากพออยู่ดี”
สถานการณ์กลุ่มโรคไม่ติดต่อล่าสุดเป็นอย่างไรบ้าง
สาเหตุการตายจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อยังอยู่ที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ตัวที่นำมาเลยก็มีโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจ ซึ่งสัดส่วนการเสียชีวิตในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะน้อยกว่าประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากในอดีตเมื่อ 20-30 ปีก่อน
สมัยก่อนส่วนใหญ่ตายกันจากโรคติดต่อเรื้อรัง นิวมอเนีย ปอดบวม ติดเชื้อ แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงด้านความเป็นอยู่ มีคนอ้วนมากก็เลยตายด้วยโรคไม่ติดต่อมากขึ้น ส่วนที่กลุ่มประเทศพัฒนาซึ่งมีกำลังทรัพย์มากก็มีอัตราการตายน้อยกว่าด้วยวิธีการรักษาและป้องกัน
เพราะปัจจัยโรคเปลี่ยนแปลงไปด้วย?
สาเหตุก็ยังคงเป็นไปตามงานวิจัยที่เคยศึกษาและพูดกันมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งเรื่องการกินอาหารและการออกกำลังกาย ปัจจัยโดยรวมก็มีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น อายุ พันธุกรรม และปัจจัยที่ป้องกันได้ คือ วิถีชีวิต การกินอาหาร ออกกำลังกาย โดยที่โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองยังมาเป็นอันดับหนึ่งจากปัจจัยของการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่
นอกจากนี้คุณภาพและราคาของอาหารที่กินก็มีส่วน อย่างที่เราเห็นกันคืออาหารที่ไม่ดีราคาถูก อาหารดีราคาแพง บางคนที่มีรายได้น้อยก็ไม่ค่อยเลือกซื้ออาหารจากคุณภาพแต่จะเลือกจากราคาถูกมากกว่า
มีสาเหตุอื่นอีกหรือเปล่าที่ทำให้สถิติการอุบัติโรคดูแล้วไม่มีทีท่าจะลดลงเลย
ภาวะอ้วนที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อหลักๆ ก็เกิดจากสาเหตุง่ายๆ คือการรับพลังงานเข้าไปและการใช้พลังงานไม่สมดุล เป็นเรื่องของชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงจากอดีต ตอนนี้แม้แต่ชาวนาชาวไร่ยังใช้แรงงานน้อยลงเพราะมีเครื่องทุ่นแรงมากขึ้น
จากการสำรวจหลายๆ ครั้งจะเห็นว่า เกิดภาวะอ้วนในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงเป็นแม่บ้านส่วนผู้ชายใช้แรงงานมากกว่า แต่ช่วงหลังๆ ผมวิเคราะห์แล้วพบว่าอัตราความอ้วนในผู้ชายเริ่มไล่ทันผู้หญิงแล้ว เพราะหลายความเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิด วิถีชีวิต และระดับการศึกษาของคนในปัจจุบันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้หญิงเกิดความกังวลในสุขภาพ ขณะที่ผู้ชายยังไม่ยอมหยุด ต่างจากรูปแบบทั่วไปของประเทศกำลังพัฒนาที่ผู้หญิงจะอ้วนกว่าผู้ชาย ตอนนี้ประเทศไทยจึงกำลังขยับไปเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (High middle income country) แนวโน้มก็เลยเริ่มไปทางประเทศรายได้สูงที่ผู้ชายจะอ้วนกว่าผู้หญิง
5 อันดับสาเหตุการตายของคนไทย ชาย-หญิง
ชาย
โรคหลอดเลือดสมอง | 11.1% |
โรคหัวใจขาดเลือด | 7.8% |
อุบัติเหตุทางถนน | 7.4% |
โรคมะเร็งตับ | 6.5% |
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง | 6.0% |
หญิง
โรคหลอดเลือดสมอง | 14.6% |
โรคเบาหวาน | 8.8% |
โรคหัวใจขาดเลือด | 8.8% |
โรคไตอักเสบและไตพิการ | 4.0% |
โรคมะเร็งตับ | 3.7% |
ที่มา: การสำรวจสุขภาพประชากรไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557
ถ้าตอนนี้ไทยอยู่ในช่วง High middle income แล้วแนวโน้มกราฟของโรคกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามันถึงจุดสูงสุดหรือยัง อาจจะขึ้นไปอีกระยะหนึ่งแล้วค่อยคงที่ก็ได้ อย่างที่ญี่ปุ่น เมื่อไปสุดแล้วก็คงที่ ส่วนของสิงคโปร์ก็คงที่แล้ว ของไทยเราเองเริ่มรับรู้มากขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้น ตัวเลขก็คงจะคงที่ได้ในอนาคต
มีเครื่องมือการตรวจสอบโรคไม่ติดต่อด้วยตัวเองหรือไม่
มีหลายเครื่องมือ เป็นแบบประเมินความเสี่ยงซึ่งเป็นการดูภาพรวม โดยจะประเมินเพื่อนำไปดูผลอีกที เช่น ประเมินภาวะอ้วน น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง แต่สิ่งสำคัญคือเราจะป้องกันปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ได้อย่างไร
จากตัวเลขผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อรวมทั้งประเทศ ส่งผลกระทบอย่างไรบ้างในแง่ของภาพรวมของประเทศ
ผมคิดว่าบ้านเรายังขาดการศึกษาเรื่องเหล่านี้เพิ่มเติม ข้อมูลไม่อัพเดท คนทำวิจัยเรื่องนี้มีน้อย ทำให้เราอยู่แต่กับตัวเลขเก่าและคิดว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลง ทำให้การสร้างความตื่นตัวเพื่อนำไปสู่การป้องกันจึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ผมไม่ได้หมายถึงแค่การสำรวจเท่านั้น แต่ยังพูดถึงงานวิจัยที่เป็นเชิงหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงด้วย รัฐบาลน่าจะสนับสนุนให้มีงานวิจัยเหล่านี้ตามสถานการณ์ตลอดเวลา ซึ่งบรรยากาศวิชาการที่ออกมาสู่สาธารณะยังน้อยอยู่ แม้จะมีการเผยแพร่เป็นระยะแต่ไม่มากเท่าที่ควรทำให้คนไม่ตระหนัก
จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย มีวิธีการสำรวจและเก็บข้อมูลอย่างไร
เรายังทำเป็นแบบสอบถามอยู่ โดยเราจะสุ่มตัวแทน ขั้นต้นก็เป็นผู้ใหญ่ราว 20,000 คน กระจายทั่วประเทศ ภาคละ 5 จังหวัด ก่อนจะสุ่มอำเภอ หมู่บ้าน จนถึงพื้นที่เฉพาะ เป็นการตรวจเลือด วัดรอบเอว ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง แล้วก็สัมภาษณ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลและตรวจสุขภาพเบื้องต้น
ข้อมูลชุดนี้เราดูความชุกของโรคที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปคำนวณต่อไป ส่วนหนึ่งถูกใช้เพื่อกระตุ้นให้คนที่เกี่ยวข้องเกิดความตื่นตัวขึ้น เราชี้ให้เห็นปัญหา และนำไปสู่การตื่นตัวต่อเรื่องนี้ อย่างกรณีความดันโลหิตสูง ข้อแนะนำทางการแพทย์คือ เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไปควรวัดความดันทุกปี ซึ่งหากไม่เคยสื่อสารเรื่องนี้ออกไปประชาชนก็ไม่รับรู้ จนอายุ 30 ปีก็ยังไม่เคยวัดความดัน เมื่อเกิดการตื่นตัวขึ้นในหมู่ประชาชน ผู้ให้บริการก็ตามมา ผลการสำรวจเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างโปรแกรมขึ้นมาเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
งานชิ้นนี้ช่วยบ่งชี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและยังเป็นการเฝ้าระวังโรคด้วย ในกลุ่มโรคติดต่อจะมีระบบการรายงานอาการที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ไม่มีสำหรับกลุ่มโรคไม่ติดต่อ เป็นเหตุผลที่ทำให้มันเรื้อรังเพราะคนเป็นไม่รู้ว่าเป็นและไม่รู้ว่าเป็นเมื่อไหร่ เว้นแต่จะทำการสำรวจเท่านั้น
จาก 9 เป้าหมายระดับโลกในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ดูจากแนวโน้มแล้ว เป้าหมายใดที่เป็นไปได้มากที่สุด
ง่ายที่สุดคงเป็นเรื่องบุหรี่ แต่เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับแบบสำรวจของผมที่สุดคงเป็นกรณีกิจกรรมทางร่างกาย หรือการออกกำลังกาย ปัญหาคือคนส่วนใหญ่มองว่าตัวเองออกกำลังกายมากแล้ว เคลื่อนไหวร่างกายพอแล้ว ซึ่งคำถามหลักๆ ของเราในการสำรวจสุขภาพประชาชนในหัวข้อนี้คือ การทำงานของเขาทุกวันนี้เหนื่อยหรือเปล่า เหนื่อยในระดับใด ทำงานติดต่อกันเป็นเวลากี่นาที ซึ่งผลที่ได้น่าจะเกินความจริงอยู่เหมือนกัน เพราะคนส่วนใหญ่มักตอบแบบเกินความจริง
จริงๆ มันไม่มีอันไหนที่จะได้ตามเป้าเลย ทุกอย่างมันเกินมาแล้ว แต่ผมก็หวังว่าเรื่องอ้วนจะทำได้นะ ส่วนเรื่องการบริโภคเกลือนี่อาจจะยังคงที่ แต่ก็ตอบยากเพราะเรายังมีข้อมูลจากการสำรวจยังไม่พอ
ผมมองว่าปัจจัยเสี่ยงที่น่าห่วงอีกตัวแต่ไม่ได้อยู่ใน 9 เป้าหมายคือเรื่องไขมันที่ดูมีเกณฑ์ว่าลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงของโรคกลุ่มนี้แทบไม่แตกต่างกันในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ประเด็นคือเราไม่ค่อยมีข้อมูลของตัวเองเท่าไหร่จึงยังฟันธงไปเลยไม่ได้ว่าจะทำเป้าหมายใดผ่านได้บ้าง ที่ผ่านมาเรามักพูดถึงเรื่องเบาหวานเสียมาก แต่ไม่ค่อยพูดเรื่องความดันซึ่งจริงๆ ต้องทำทั้งหมดเพราะมันก็มาจากปัจจัยเสี่ยงกลุ่มเดียวกัน
การเผยข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชาชนฯ ว่าส่วนใหญ่มาจากโรคไม่ติดต่อ ส่งผลให้คนหันมาตรวจสุขภาพมากขึ้นใช่ไหม
แน่นอน แต่ก็ต้องนึกถึงคนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ตรวจด้วย เราจึงมักพบคนที่เป็นแล้วไม่รู้ตัว แบบสอบถามของเราจึงถือเป็นข้อดีเพราะเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ได้ ทำให้เราพบคนที่น้ำตาลสูงแต่ยังไม่เป็นเบาหวาน สามารถดึงเขามาปรับพฤติกรรมด้วยกิจกรรมให้ความรู้ เพิ่มทักษะในการปรับเปลี่ยนผ่านคลินิก NCD plus ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้น
อย่างไรก็ตาม คลินิกเหล่านี้ต้องเดินหน้าในเชิงรุกด้วย ไม่ใช่เป็นเชิงรับรอข้อมูลอย่างเดียว เพราะต้องเข้าใจด้วยว่าหลายๆ คนไม่มีแรงจูงใจพอที่จะเข้าไปรับยาสม่ำเสมอ แต่ข่าวดีคือเปอร์เซ็นต์ของคนที่เป็นเบาหวานความดันแล้วเข้ารับการรักษาของบ้านเราถือว่าดีมาก ด้วยระบบการเข้าถึงการรักษา คุณภาพการรักษา และมีประกันสังคม
ถึงอย่างนั้นก็ยังมีช่องว่างสามจุดที่เราต้องพัฒนาต่อไป คือการวินิจฉัยโรคที่คนบางกลุ่มยังเข้าไม่ถึง การติดตามผลการรักษา และกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับการปรับพฤติกรรม ในส่วนนี้คงต้องอาศัยโปรแกรมการจัดการที่ดี มีบุคลากรที่เพียงพอและมีความรู้ความสามารถ จึงจะสามารถถมช่องว่างทั้งสามนี้ได้