ย้อนไป 6 ปีก่อน เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2557 ควรจะเป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ทว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เคยดำเนินต่อเนื่องมากว่า 17 ปี ต้องหยุดชะงักลง เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมกับการทยอยออกประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารเป็นจำนวนมาก
นอกจากกลไกการบริหารราชการแผ่นดินที่เปลี่ยนแปลงไปในระดับ ‘แกรนด์’ แล้ว ปีกหนึ่งในการเมืองการปกครองไทยที่ คสช. พุ่งเป้าเข้าไปจัดการคือ ‘การปกครองส่วนท้องถิ่น’
นับถึงปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยทั้งหมด 7,852 แห่ง ประกอบไปด้วย
- องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง
- เทศบาลนคร 30 แห่ง
- เทศบาลเมือง 187 แห่ง
- เทศบาลตำบล 2,237 แห่ง
- องค์การบริหารส่วนตำบล 5,320 แห่ง
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง (กรุงเทพมหานครและพัทยา)
จึงไม่มีการเลือกตั้งเลย
อย่างไรก็ตาม แม้ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การครองอำนาจของรัฐบาลคณะรัฐประหาร จะไม่มีการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้ความสำคัญพื้นที่ฐานรากของระบอบประชาธิปไตยไทยเลย ในทางตรงกันข้ามเป็นพื้นที่ที่ คสช. เข้าไปแทรกแซงของอำนาจคณะรัฐประหาร โดยอาศัยกลไกบริหารราชการแผ่นดินจากส่วนกลาง รวมไปถึงกองทัพที่เข้าไปสวมซ้อนในพื้นที่อำนาจที่เคยมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ตัวอย่างที่ยืนยันเรื่องนี้มีให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่า
เพียงสัปดาห์ที่สองของการยึดอำนาจ วันที่ 5 มิถุนายน คสช. ออกคำสั่งให้อำนาจศาลเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งท้องถิ่น 255 แห่งที่ครบวาระและต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ คำสั่งนั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปิดกั้นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของกลุ่มองค์กรชาวบ้าน ชุมชน หรือประชาสังคม อย่างน้อย 155 กลุ่มองค์กร โดยประเด็นที่ถูกปิดกั้น เช่น สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ที่ดิน แม่น้ำ เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า สุขภาพ แรงงาน หรือนโยบายสาธารณะอื่น
ไม่นาน คำสั่งหัวหน้า คสช. ในวันที่ 12 มิถุนายน ก็ตามมา ครั้งนี้เริ่มมีการถอนสิทธิของผู้บริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีคดีความติดตัว
21 กรกฎาคม คสช. ออกคำสั่งให้มีการงดเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ
“ให้งดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นไปก่อนจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง”
ในประกาศเดียวกันระบุว่า หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดครบวาระและมีตำแหน่งที่ว่างลง ก็ให้มีคณะกรรมการสรรหา 1 ชุด โดยโครงสร้างส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยข้าราชการจากส่วนกลางและทหาร เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด ผู้อํานวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด รองผู้อํานวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร) เป็นต้น และยังให้ในสภาท้องถิ่นต้องมีข้าราชการหรืออดีตข้าราชการ ระดับชํานาญการพิเศษ เป็นจำนวนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหมด ส่วนผู้บริหารท้องถิ่นให้ปลัดของท้องถิ่นทำหน้าที่แทน
30 กรกฎาคม มีคำสั่งของหัวหน้า คสช. ให้เพิ่มอำนาจของกลไกการบริหารราชการแผ่นดินจากส่วนกลาง โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเข้ามาควบคุมการใช้งบประมาณ ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดสรรเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งคณะกรรมการมีโครงสร้างหลักๆ จากทหารเสนาธิการ อาทิ เสนาธิการทหาร เป็นประธานกรรมการ รองเสนาธิการทหาร เป็นรองประธานกรรมการ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ปลัดบัญชีทหาร เป็นกรรมการและเลขานุการ ฯลฯ
ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษอย่าง สภากรุงเทพมหานคร หรือ ‘ส.ก.’ ก็ถูกแทรกแซงโดยมีการกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ารับการสรรหา ต้องเคยหรือรับราชการในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครตำแหน่งตั้งแต่นักบริหารระดับสูงหรือระดับ 10 หรือเทียบเท่าขึ้นไป เช่นเดียวกันโครงสร้างคณะกรรมการสรรหาส่วนใหญ่ก็ประกอบไปด้วยข้าราชการจากส่วนกลางและทหาร
5 มกราคม 2558 คสช. เริ่มเปลี่ยนวิธีการการสรรหาผู้บริหารท้องถิ่น เช่น กรุงเทพฯ พัทยา และประกาศให้สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการแต่งตั้ง ซึ่งในปี 2558 มีสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมดวาระลง และจะมีการเลือกตั้งกว่า 1,000 ตำแหน่ง
ตัวอย่างที่สำคัญ เช่น วันที่ 18 ตุลาคม 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 ปลด หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และแต่งตั้ง พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีกที่คือเมืองพัทยา เมื่อ นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา หมดวาระ คสช. จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 6/2560 แต่งตั้ง พลตำรวจตรีอนันต์ เจริญชาศรี ทำหน้าที่นายกเมืองพัทยาแทน
การเจาะลงไปในกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่จบแค่นั้น ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 มีการประกาศให้คณะกรรมการกลางเข้ามาจัดสอบพนักงานท้องถิ่นแทนวิธีการเดิม
กระทั่งการปกครองส่วนท้องถิ่นไทยมาถึงจุดพีคที่สุดในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 เมื่อมีประกาศแต่งตั้งรอง ผอ.รมน. จังหวัดฝ่ายทหารขึ้นมาทำหน้าที่ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งสื่อมวลชนเรียกตำแหน่งนี้ว่า ‘ผู้ว่าฯ ทหาร’
ทั้งหมดที่ไล่เรียงมาสะท้อนย่างก้าวในการเข้าควบคุมพื้นที่ของการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่นับจากวันนั้นถึงวันนี้ นอกจากจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ ในการปกครองท้องถิ่นไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนว่าจะทำให้องค์กรปกครองที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดกลับอยู่ห่างไกลออกไป กระทั่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยังเปิดช่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ เช่น ในมาตรา 252 ระบุให้
“ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นหรือในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้”
อ้างอิง
ตั้งผู้ว่าฯ ทหารคุมเลือกตั้ง