สำรวจฉันทามติใหม่ การเมือง-เศรษฐกิจไทยในรอบทศวรรษ ภายใต้อุ้งมือชนชั้นนำ 1%

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์วิจัยความเหลื่อมลํ้าและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดซีรีส์สัมมนา ‘สำรวจภูมิทัศน์ใหม่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย ตอนที่ 1: ฉันทามติใหม่การเมืองไทย’ เพื่อฉายภาพความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 ผ่านการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ถึง 2 ครั้ง รวมไปถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา แล้ว ‘ความเหลื่อมลํ้า’ ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเมืองไทยอย่างไร

การสัมมนาในครั้งนี้เป็นตอนที่ 1 จากทั้งหมด 3 ตอน ภายใต้ชื่อว่า ‘ฉันทามติใหม่การเมืองไทย’ โดยเน้นไปที่การเมืองไทยในทศวรรษที่ผ่านมา จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคมปี 2566 ที่ชัยชนะในการเลือกตั้งตกเป็นของฝ่ายประชาธิปไตย ที่ต้องการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการสถาปนาอำนาจทางการเมืองจากการรัฐประหารในปี 2557 โดยได้ผู้เชี่ยวชาญทางรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ท่าน มาร่วมพูดคุย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเรียกว่าเป็นฉันทามติใหม่ได้หรือไม่ และความเหลื่อมลํ้านี้ส่งผลอย่างไรต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของไทย

1% ชนชั้นนำ VS 99% มวลชนส่วนใหญ่ 

รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย กล่าวว่า นับตั้งแต่การสำรวจภูมิทัศน์การเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราเห็นความขัดแย้งของฐานมวลชนขนาดใหญ่ 2 กลุ่ม อันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นกลางระดับบนที่เติบโตช้า อันมีปัจจัยส่งผลจากโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้ชนชั้นกลางระดับบนถูกบีบคั้นทางเศรษฐกิจและการเมือง จนไม่สามารถเติบโตได้ทันชนชั้นนำ ในทางตรงข้ามนั้น ชนชั้นล่างเติบโตได้อย่างรวดเร็วจากสภาวะทางการเมืองและเศรษฐกิจภายหลังปี 2540 จนกลายมาเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง และกำลังไล่กวดชนชั้นกลางระดับบนอย่างไม่เว้นระยะ ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้นคือ การเมืองแบ่งขั้ว (polarised politics) นั่นคือ เหลือง-แดง 

แต่ภายหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างเหลือง-แดง ดำเนินมาสู่จุดสิ้นสุด หลังเกิดการจัดตั้ง ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ อันก่อให้เกิดความขัดแย้งในระหว่าง 2 ขั้วใหม่ ที่ไม่ใช่ความขัดแย้ง ‘แนวราบ’ ระหว่างสีเสื้อ 2 ขั้ว แต่เป็นความขัดแย้งเชิงชนชั้นมากขึ้นใน ‘แนวตั้ง’ ระหว่างชนชั้นนำ 1 เปอร์เซ็นต์ และมวลชนส่วนใหญ่ 99 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงของโลก จากโลกาภิวัตน์ย้อนกลับ (deglobalization) ลัทธิคุ้มครอง (protectionism) การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ หรือเรียกได้ว่าเป็น สงครามเย็นใหม่ (new cold war) โรคระบาด (pandemic) และซัพพลายเชน (supply chain) ใหม่

ความขัดแย้งระหว่างเหลือง-แดง ในทศวรรษก่อนหน้า ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เติบโตได้ช้า แต่รัฐยังคงมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบเดิมที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างเข้มข้น แรงงานราคาถูก เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2557 ยิ่งซํ้าเติมสภาพการณ์เหล่านี้ จนทำให้ไทยนั้นเต็มไปด้วยความเหลื่อมลํ้าในระดับสูง ภายใต้สภาวะ ‘ต้มกบ’ หรือ slow-burning death ที่ยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

ด้านความสามารถในการแข่งขันของทุนไทยในระดับโลกที่ตํ่า ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ทำให้ทุนไทยจำนวนมากที่ดำเนินรูปแบบธุรกิจแบบครอบครัว (family capitalism) เน้นไปที่การลงทุนภายในประเทศ กระชับความสัมพันธ์กับรัฐ เข้าไปอยู่วงในของระบบอุปถัมภ์ (clientelism) จนนำไปสู่การผูกขาดภายในประเทศมากกว่าแข่งขันนอกประเทศ

ดังนั้นด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้าลง ความขัดแย้งทางชนชั้นยิ่งเพิ่มขึ้น นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองใน 2 กระแสธาร ระหว่างคน 1% กับ 99% คือ 

  1. เกิดการรวมศูนย์อำนาจที่เข้มข้นขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลุ่มเล็กและแคบลง คือ ชนชั้นนำเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ กุมอำนาจทางการเมืองอย่างเข้มข้นขึ้นโดยเฉพาะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
  2. การมีส่วนร่วมทางการเมือง ตั้งแต่ความขัดแย้งเหลือง-แดง แสดงให้เห็นการตื่นตัวและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของมวลชนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา มวลชนแสดงการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งถึง 75 เปอร์เซ็นต์

ฉะนั้นรัฐบาลข้ามขั้วจึงเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดของความขัดแย้ง 2 กระแสธาร 2 เสมือนฉันทามติทางการเมืองระหว่างคนสองกลุ่ม 

กำเนิด ‘การเมืองอุดมการณ์’

รศ.ดร.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ มองว่า การเลือกตั้งปี 2562 เป็นการเลือกตั้งที่นำไปสู่การ set zero คือรื้อโครงสร้างสถาบันทางการเมือง (deinstitutionalisation) และการกระจายอำนาจที่กำลังตั้งตัวจากผลลัพธ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์กำลังจะเปลี่ยนรูปแบบไปสู่พรรคการเมืองเข้มแข็ง สนามการเลือกตั้งที่เคยอิงหัวคะแนน มาสู่การเมืองที่มีพรรคการเมืองเป็นตัวตั้งทางนโยบาย ดังนั้น การเลือกตั้งในปี 2562 จึงไม่ใช่การเลือกตั้งที่นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ใช้การเลือกตั้งที่นำไปสู่การทำลายเครือข่ายแบบเดิม (จากรัฐธรรมนูญ 2540) ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนแตกดับลง ทั้งยังเป็นการรวมกำลังสร้างความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์แบบดั้งเดิมก่อนปี 2540 สู่การสถาปนาระบบรัฐราชการรวมศูนย์ และเครือข่ายอุปถัมภ์ระบบราชการที่เข้มแข็งขึ้น

ขณะที่การเลือกตั้งปี 2566 ก่อให้เกิด ‘การหยุดชะงัก’ (disruption) นำมาสู่ฉันทามติทางการเมืองแบบใหม่ที่ปฏิเสธความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในพื้นที่ของกลุ่มบ้านใหญ่ รศ.ดร.เวียงรัฐ กล่าวว่า “เกิดกระแสไม่เอาความสัมพันธ์อุปถัมภ์จากกลุ่มผู้มีอิทธิพล เพราะมันคือเรื่องของอุดมการณ์ที่ไปไกลกว่าการหล่อหลอมด้วยโซเชียลมีเดียและ narrative ที่นักวิชาการ ชนชั้นกลาง สื่อ ทำให้กลายเป็นฉันทามติในสังคม” ซึ่งเป็นการเมืองที่ดำเนินไปไกลกว่าการเมืองที่เน้นเครือข่าย ภายใต้ระบบรัฐราชการที่เข้มแข็งและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงลำบาก ทว่ามันสะท้อนการต่อสู้ระหว่าง ‘การเมืองอุดมการณ์’ กับ ‘การเมืองแบบเครือข่าย’ อีกทั้งชัยชนะของพรรคก้าวไกลยังสะท้อน ‘การเมืองอุดมการณ์’ ที่อยู่ตรงข้ามกับ ‘การเมืองปากท้อง’ อย่างชัดเจน 

ฉันทามติการเมืองใหม่ในนามของชนชั้นนำ

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะที่สังคมได้สร้าง ‘ฉันทามติ’ ขึ้นมา เพราะประชาชนแสดงเจตจำนงในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เทคะแนนให้ฝ่ายค้านเดิมเป็นรัฐบาล ซึ่งมีลักษณะเสมือนฉันทามติ แต่ด้วยกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ชนชั้นนำได้ทำลายฉันทามติของประชาชนด้วยการแยกสลายฝ่ายค้าน อันนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว และฉันทามติของประชาชนต้องจบสิ้นลง 

รัฐบาลข้ามขั้ว เป็นตัวสะท้อน ‘ฉันทามติของชนชั้นนำ’ ได้ดีที่สุด เพราะ “ชนชั้นนำมองว่าเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด ขจัดพรรคที่ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อระเบียบอำนาจเดิมที่เขาสร้างเอาไว้ เพราะจะทำลายการผูกขาดที่เขาหวงแหน” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่า ชนชั้นนำต้องการรักษาสถานภาพ (status quo) ของตนเองเอาไว้ ไม่ต้องการกระจายอำนาจหรือทรัพยากรออกไป อีกทั้งยืนฝั่งตรงข้ามกับการปฏิรูปอย่างชัดเจน สิ่งนี้คือฉันทามติใหม่ที่เป็นของชนชั้นนำเอง

ฉันทามติใหม่ของชนชั้นนำนี้ จะเป็นการกระชับอำนาจของชนชั้นนำเอง ในการปกป้องผลประโยชน์แบบ ‘คณาธิปไตย’ (oligarchy) ที่เน้นความสัมพันธ์ส่วนตัว สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง คือ การกระชับอำนาจที่เพิ่มมากขึ้น สืบต่อจากระบอบ คสช. ที่ได้สถาปนารูปแบบความสัมพันธ์นี้ขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

นอกจากนี้ การเมืองไทยยังอยู่ในลักษณะของ ‘การเมือง 3 ขั้ว’ จากการสลับตำแหน่งทางการเมือง (political realignment) เพราะขั้วที่ 1 และ 2 ที่เคยต่อสู้กันมา จับมือกันอย่างหลวมๆ และชั่วคราว เพื่อต่อสู้กับขั้วที่ 3 แทน อย่างไรก็ตาม การสลับขั้วนี้ อาจไม่ส่งผลลงลึกโดยตรงต่อมวลชนผู้สนับสนุน (voter) เหมือนตัวชนชั้นนำระหว่างสองขั้วนั้น

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า