ศูนย์วิจัยความเหลื่อมลํ้าและนโยบายสังคม (Center for Research on Inequality and Social Policy: CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาซีรีส์ ‘สำรวจภูมิทัศน์ใหม่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย ตอนที่ 3: คนรุ่นใหม่ไทย การผันเปลี่ยนในสังคมแปรผัน?’ ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของการสำรวจภูมิทัศน์และความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมาต่อจากประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจ
หลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการกำเนิดขึ้นของแนวคิดใหม่ๆ ทางสังคมมากมายที่ถูกแสดงออกมาด้วยการปะทะคะคานกับระเบียบทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ผ่านการตั้งคำถามต่อระบอบอำนาจนิยม การศึกษา ความเป็นธรรมในสังคม และอคติทางเพศ รวมไปถึงระเบียบทางการเมืองของสังคมไทย ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหารในปี 2557
ความเปลี่ยนแปลงนี้ ล้วนเป็นผลมาจากการเติบโตของ ‘คนรุ่นใหม่’ ในห้วงทศวรรษที่ 2560 เป็นต้นมา พวกเขาเหล่านี้มีวิธีคิดอย่างไร มีอุดมคติทางสังคมอย่างไร เหตุและปัจจัยอะไรที่ทำให้พวกเขาคิดเช่นนั้น ปัจจัยใดที่ผลักดันให้คนกลุ่มนี้ออกมาขับเคลื่อนให้สังคมเป็นธรรมขึ้น และในอนาคตมีปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่จะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่เหล่านี้? ร่วมหาคำตอบจากวิทยากรทั้ง 3 คนคือ อาจารย์พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สรัช สินธุประมา ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง 101 Public Policy Think Tank (101 PUB)
ม็อบสมาร์ตโฟน: ความ(ผิด)หวังของ ‘คนรุ่นใหม่’ และการเมืองที่เป็นไปได้
อาจารย์พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนออดีตของสังคมไทยระยะใกล้ โดยนับจากปี 2563 ในช่วงที่ ‘ม็อบเยาวชน’ ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
หากนึกย้อนกลับไปในช่วงระหว่างปี 2563-2564 สื่ออินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์มออนไลน์ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น ทวิตเตอร์หรือ X ในปัจจุบัน เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เราไม่เคยเห็นกันมาก่อน ซึ่งสะท้อนชีวิตภายใต้โลกดิจิทัลของพวกเขา ทั้งวัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture) ที่เชื่อมร้อยกับ การเคลื่อนไหวทางการเมือง (political movement) ทำให้เรามองเห็นสำนึกและทัศนคติทางการเมืองของพวกเขาได้อย่างชัดเจน
ช่วงเวลาดังกล่าวมีการนำสื่อดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมของพลเมืองและแสดงออกทางการเมือง (collective and connective action) และวัฒนธรรมสมัยนิยมเข้ามามีบทบาทในการสร้างเครือข่ายทางสังคม เช่น รูปแบบเครือข่ายแฟนคลับศิลปินเกาหลี ผ่านการระดมทุน การกระจายข่าว เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การสร้างสำนึกการเป็นพลเมืองและสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง (participatory culture and politics) จนกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนานใหญ่ทั่วประเทศหรือกล่าวได้ว่าคือ ‘ม็อบสมาร์ตโฟน’
ม็อบสมาร์ตโฟนได้เชื่อมเยาวชนจากทั่วประเทศเข้าด้วยกันเพื่อแสดงการมีส่วนร่วมทางการเมือง จากการแชร์ภาพ แชร์คลิป แสดงความคิดเห็น และการใช้แฮชแท็ก (#) โดยเฉพาะในช่วงการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน 16 ตุลาคม 2563 อันเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เยาวชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยต่อการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐ พวกเขาจึงตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งออนไลน์และออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองออฟไลน์ในที่พื้นที่การชุมนุม สิ่งเหล่านี้สะท้อนการ ‘ซิงค์’ (synchronisation) ของความคิดต่อแนววิธีของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ความสนใจร่วมกัน และอารมณ์ขันที่ปฏิสัมพันธ์ในบริบทเฉพาะ (meme)
ภายใต้บริบทเช่นนี้สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิดต่อการเมืองในสังคมไทยได้ เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับวิธีคิดการเป็นพลเมืองที่ลงมือเปลี่ยนแปลง (self-actualising citizen) มากกว่าการเป็นพลเมืองที่ยึดหน้าที่ (dutiful citizen) เช่น การรณรงค์ร่วมลงชื่อต่างๆ ซึ่งพวกเขามีความต้องการในการเปลี่ยนแปลงการเมืองเชิงสถาบันด้วย เป็นต้น การแสดงความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมือง ที่เข้ามาแทนที่การทำหน้าที่ตามกฎหมาย และการใช้สิทธิและตรวจสอบ เปลี่ยนเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นสังคม
นอกจากนี้ ‘ความหวัง’ และ ‘ความผิดหวัง’ กลายมาเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ก่อให้การเคลื่อนไหวทางการเมือง อันสามารถเห็นได้จากแฮชแท็กคำขวัญในการเคลื่อนไหว เช่น #ให้มันจบที่รุ่นเรา #ถ้าการเมืองดี เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น ทำในสิ่งที่ตนเองทำได้ เพราะถ้าไม่ทำตอนนี้ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในสังคมไทย
จากข้อค้นพบทั้งหมดนี้ อ.พรรณราย สรุปได้ว่า จากปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เห็นภาพความผิดหวังของคนรุ่นใหม่ที่ได้สะท้อนช่องว่างต่อสิ่งที่คาดหวังว่า เราอยากให้โลกนี้เป็นอย่างไร หรือที่เรียกว่า ‘ช่องว่างของความคาดหวัง’ ช่องว่างนี้เองได้สะท้อนเสียงที่แตกต่างเข้ามาให้ถกเถียงกัน เพื่อนำไปสู่การตกผลึกในสังคมและนำไปสู่ความต้องการมีส่วนร่วมและร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม แม้การเคลื่อนไหวทางการเมืองจะหายไป แต่ก็ยังมี ‘ความหวัง’ ว่าการเมืองจะต้องเปลี่ยนแปลง แม้พวกเขาจะไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองของประเทศนี้ได้ แต่อาจจะได้รับชัยชนะทางวัฒนธรรม เรียนรู้ว่าความผิดหวังนี้เหมือนการต่อสู้แบบลุยโคลน (slogging through disappointment) ไม่ได้เป็นเส้นตรง ต้องฝ่าฟันเส้นทางที่คดเคี้ยว ซึ่งพวกเขาได้แสดงออกด้วย ‘การมีส่วนร่วม’ ทางการเมือง
ชีวิตและงานในฝันของวัยรุ่นสร้างตัว
สรัช สินธุประมา ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง 101 PUB ให้ความสนใจทางสังคมอันเกี่ยวข้องกับ ‘คนรุ่นใหม่ชายขอบ’ โดยตั้งคำถามทบทวนว่า คำว่าชายขอบนี้อยู่ตรงไหน และมีอะไรบ้าง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563-2564 ดูเหมือนว่ามีพลังของคนรุ่นใหม่ที่จะออกมาเปลี่ยนแปลงสังคม พลังของคนรุ่นใหม่ที่ว่านี้มองเห็นได้ผ่านกลุ่มความสนใจที่แยกกันอยู่แต่มารวมตัวกัน โดยใช้ต้นทุนบางอย่างจากสังคมและวัฒนธรรมที่ตัวเองมีเพื่อร่วมกันเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันหรือกลุ่มก้อนเดียวกันเสียทั้งหมด มากกว่านั้นยังมีอีกกลุ่มก้อนใหญ่ที่สามารถแยกชั้นออกมาได้ชัดเจน นั่นคือกลุ่ม ‘วัยรุ่นสร้างตัว’
การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563-2564 ผู้ที่เช็ตวาระทางการเมือง (political agenda) คือ นักเรียน นักศึกษา แต่วัยรุ่นสร้างตัวอยู่ในอีกเลเยอร์หนึ่ง คนเหล่านี้คือ คนที่ตกหล่นออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับ
เมื่อเจาะประเด็นลงไปถึง ‘งานในฝัน’ ของคนรุ่นใหม่ในปี 2567 จะพบว่า งานที่มีทักษะสูงได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น ครู อาจารย์ ติวเตอร์ การเป็นผู้ประกอบการ แพทย์ พยาบาล อินฟลูเอนเซอร์ สตรีมเมอร์ และยูทูบเบอร์ เป็นต้น ซึ่งงานเหล่านี้กระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่งานที่พวกเขาจะหาได้นอกภาคการเกษตรคือ งานทักษะปานกลาง ซึ่งรายได้ระหว่างงานทักษะสูงกับกลางมีช่องว่างห่างออกจากกันมากยิ่งขึ้น มีความเหลื่อมลํ้ามากยิ่งขึ้น ขณะที่คนที่จบการศึกษาสูงอย่างน้อยในระดับปริญญาตรี ย่อมมีความคาดหวังสูงและมีความสามารถจะไปถึงความฝันที่สูงด้วยเช่นกัน ซึ่งคนที่มีพื้นฐานมาจากครอบครัวรายได้น้อย ยิ่งมีโอกาสน้อยในการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีสามารถเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาตามตัวเลขของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ในขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงคนจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษา สิ่งนี้เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับคนอีกจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจออกจากระบบการศึกษาเองด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น การศึกษาไม่ตอบโจทย์ อัตลักษณ์และตัวตนที่มองว่า การเรียนในระดับปริญญาตรีจะต้องถูกท้าทาย ความคิดเช่นนี้สามารถพบเห็นได้จากคำขวัญต่างๆ ตามท้ายรถกระบะ เช่น ปริญญาไม่ต้อง ขับกระบะก็พอกิน อาชีพพ่อ ไม่ต้องง้อปริญญา เป็นต้น การทำอาชีพโดยไม่ต้องง้อปริญญาเหล่านี้ ไม่ใช่เพราะว่าเขาขาดโอกาส แต่เป็นความชอบในชีวิตแบบนี้ เน้นประสบการณ์แบบโรงเรียนชีวิต
เมื่อพูดถึงคนรุ่นใหม่ สรัชจึงอยากชวนคิดถึงคนรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งคือ ทรงซ้อ ทรงเอ แม่น้องออนิว ทรงเชง ฟอร์มช่าง วัยรุ่น ป.กุ้งเผา เป็นต้น ทั้งหมดนี้ถูกมองว่าเป็นคนชายขอบของสังคม แต่ในปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีความเป็นสถาบันขึ้นมามากกว่าแต่ก่อน มีอำนาจต่อรองสูง มีวัฒนธรรมที่ซับซ้อน มีวิธีคิดเป็นของตนเอง จึงน่าสนใจว่าแท้จริงแล้วคนเหล่านี้มีความเป็นชายขอบมากแค่ไหน
ยกตัวอย่าง ‘ทรงซ้อ’ ซึ่งมีความเป็นสถาบันสูงมาก มีวัฒนธรรมลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง มีความสามารถในการสร้างรายได้สูงจากการค้าขายออนไลน์ พื้นที่หลักคือ TikTok มีผู้ชมผู้ติดตามสูง นำมาสู่คำถามว่า คนเหล่านี้อยู่ที่ชายขอบจริงหรือไม่ แต่แน่นอนว่า พวกเขาขยับเข้ามาสู่จุดศูนย์กลางใหม่ของวัฒนธรรมแบบหนึ่งที่มีอำนาจในการต่อรองสูงในภูมิทัศน์ทางสังคมที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนชีวิตจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (ที่ไม่ใช่การพูดถึงยูนิคอร์น) เขาสามารถสร้างเรื่องเล่า (narrative) ของตนเองที่ท้าทายต่อระบบเดิมหรือเศรษฐกิจแบบเดิมที่กำกับคนให้เดินบนสายพานเดียวกัน ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ต้องมีชีวิตเดียวกัน
เป้าหมายในชีวิตของคนที่มีต้นทุนชีวิตในระดับล่างเหล่านี้ มีความคิดรวบยอดคือ การดูแลและเลี้ยงดูครอบครัวได้ มีบ้านมีรถ สะท้อนผ่านบทเพลง ‘อยากมีก็ต้องสร้าง’ ของ นิว พงศกร TIG ตัวอย่างทรงซ้อนี้ก็คือ คนที่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้จากการขายของออนไลน์ เมื่อคาบเกี่ยวไปถึงการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ก็จะมีอาชีพอื่นๆ เข้ามา เช่น การโปรโมตเว็บพนันออนไลน์ หรืออาชีพสีเทาอื่นๆ นี่คือภาพจำของทรงซ้อ ซึ่งมาพร้อมกับกำแพงบางประการของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถเป็นผู้ประกอบการหรือนายตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ไม่สามารถนำไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพได้
นอกจากนี้ คุณค่าของการทำงานได้เปลี่ยนแปลงไปจากความคาดหวังของพ่อแม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ยังคงมีค่านิยมการงานแบบเดิม จนก่อให้เกิดสภาวะความตึงเครียดและปัญหาสุขภาพในครอบครัวมากกว่าคนในเมือง
เมื่อนำคนรุ่นใหม่มาจัดเรียงกลุ่มทางเศรษฐฐานะ คุณค่าต่างๆ เช่น คุณค่าเรื่องเพศ เศรษฐกิจการเมือง ประเด็นทางสังคม ความสัมพันธ์กลุ่ม และความสัมพันธ์เชิงอำนาจของเยาวชนอายุ 15-25 ปีในไทย พบว่า กลุ่มวัยรุ่นสร้างตัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจตํ่า เชื่อในการเอาตัวรอดด้วยตัวเอง จะเป็นคนที่ ‘ไม่ซื้อ’ ในคุณค่าความเท่าเทียมทางเพศ รัฐสวัสดิการ ที่รัฐเข้าไปคุ้มครองสนับสนุนบุคคลต่างๆ ในสังคม ซึ่งตรงข้ามคนรุ่นใหม่ในเมืองที่เป็นผู้ตั้งวาระทางการเมืองเหล่านี้ มีมุมมองประชาธิปไตย สิทธิเท่าเทียมต่างๆ แต่กลุ่มวัยรุ่นสร้างตัวนี้แม้จะเห็นด้วยกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 2563-2564 ก็ตาม แต่เป็นการตีความทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแบบแคบคือ ประชาธิปไตยแบบตัวแทน ต่อต้านเรื่องอำนาจนิยม เป็นต้น แต่เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เศรษฐกิจการเมืองต่างๆ พวกเขาไม่ได้มองว่ามีความสำคัญหรืออาจไม่สนใจเลยก็ได้ แต่ปากท้องนั้นสำคัญกว่า ดังเช่นเพลง ‘ไม่สนโลก’ ของ Rapper Tery Feat. เต้ย ณัฐพงษ์ ซึ่งสะท้อนความเป็นไปของคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี ว่าชีวิตนี้ไม่สนอะไร ชีวิตมันปากกัดตีนถีบ นอกจากการอยู่เพื่อสร้างครอบครัวให้สุขสบายเท่านั้น
สรัชกล่าวโดยสรุปว่า เวลาเราพูดถึงวัฒนธรรมของวัยรุ่นสร้างตัว คนที่สนใจในเรื่องของวัฒนธรรมคงหนีไม่พ้นที่จะสนใจมโนทัศน์ว่าด้วย ‘ชาติร่วมกันของวัฒนธรรมชิดเชื้อ’ (cultural intimacy) ที่รัฐพยายามสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชาติ ความเป็นคนไทย ที่ผลักลบกลบเสียงอื่นๆ ของคนตัวเล็กน้อยที่ไม่สอดคล้องต่อคุณค่าที่รัฐต้องการให้เป็น แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเอง คุณค่าที่รัฐไทยต้องการให้เป็นก็ไม่ได้อยู่โดยลำพัง แต่อยู่ท่ามกลางระดับชั้นตั้งแต่ในระดับโลก (global heirachy of value) ลงไปถึงในระดับสังคมย่อยอื่นๆ ซึ่งเมื่อมองรัฐไทยในปัจจุบัน รัฐไทยกำลังเผชิญกับ ‘วิกฤตอัตลักษณ์’ (identity crisis) ว่าเราต้องการมีตัวตนอย่างไร มีวัฒนธรรมแบบไหน เรายังมองไม่เห็นสิ่งเหล่านั้น แต่แน่นอนว่า สิ่งนี้กำลังท้าทายระบบ ทำให้คนที่เคยมีสถานะที่ชายขอบสามารถผลักดันตัวเองขึ้นมาผ่านเรื่องเล่าและวัฒนธรรมของตนเอง ขึ้นมามีอำนาจต่อรองมากขึ้น ระดับชั้นทางสังคมจึงเปลี่ยนไป วัฒนธรรมชายขอบกลับมีที่ยืนอย่างมั่นคง ได้รับการยอมรับอย่างกลายมากขึ้น อย่าง พิมรี่พาย ต้นแบบทรงซ้อที่คนไม่ได้มองเธออย่างเหยียดหยามเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
คนรุ่นใหม่ ผลผลิตของช่วงอายุ ช่วงเวลา หรือกลุ่มรุ่น?
รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อรรถาธิบายว่า คำว่า ‘คนรุ่นใหม่’ จำเป็นที่จะต้องแยกให้ชัดถึงอายุ (age) ช่วงเวลา (period) และกลุ่มรุ่น (cohort) เราแยกสิ่งนี้ออกจากกันได้ชัดขนาดไหนนั้น เป็นประเด็นที่ต้องศึกษาต่อไป ดังนั้น คนรุ่นใหม่ที่เราสนใจกันอยู่ตอนนี้ พฤติกรรม ค่านิยม ของพวกเขาที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากอายุ ช่วงเวลา หรือว่ากลุ่มรุ่น ของคนเหล่านี้
ลักษณะการดำรงชีวิตของคนไทยในปัจจุบันมีลักษณะของ ‘ความเป็นเมือง’ (urbanity) มากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีความสะดวกสบายและเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น คนที่เกิดมาแล้วเจอสิ่งที่ไม่มีในสมัยก่อนอย่างคนรุ่นใหม่คือ ปัญหาของกลุ่มรุ่น ที่เติบโตมาในยุคที่สิ่งอำนวยความสะดวก การตั้งถิ่นฐานและโครงสร้างแบบหนึ่ง แต่เมื่อพูดถึงช่วงเวลาแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่ได้เกิดมาพร้อมแพลตฟอร์ม แต่กำลังเติบโตพร้อมกับ ‘แพลตฟอร์มภิวัตน์’ (platformisation) ดังนั้น สิ่งที่กำลังเสนอนี้คือ ต้องการให้ทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่ ในมุมมองที่แตกต่างจากการทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่ในยุคก่อน อย่างคนเดือนตุลา คนยุคม็อบมือถือ เป็นต้น ด้วยกรอบการมองข้างต้น
หากจะให้มองไปสู่อนาตคตว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไร อนาคตก็จะเป็นไปตามแนวโน้มที่มีอยู่ในปัจจุบัน 10-20 ปีข้างหน้านั้น แนวโน้มก็ยังคงอยู่ สิ่งต่างๆ ที่เป็นผลก็คงเป็นไปตามเหตุของแนวโน้มนั้นไม่มีทางเลือกอื่น มนุษย์จะถูกทำให้เป็นดิจิทัลและแพลตฟอร์มภิวัตน์ที่จะต้องเป็นไปตามช่วงเวลา แต่ในเรื่องของอายุนั้นจะเป็นอย่างไรก็ต้องคิดต่อว่า เมื่อคนรุ่นใหม่มีอายุมากขึ้นแล้ว ความเป็นอยู่ของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรภายใต้ระบอบแพลตฟอร์มที่มาพร้อมกับความเป็นปัจเจกชน เป็นมนุษย์เมือง ที่เพิ่มมากขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน แต่ก็ยังพอจะมีความหวังว่า การทำให้เป็นเมือง (urbanisation) ของสังคมไทย ในอนาคตอาจไม่ได้มาพร้อมกับการทำให้เป็นปัจเจก (individualisation) เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ทางแพร่งที่มองออกเป็นสองทางนี้ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ เพราะเป็นไปได้ว่าคนที่มีความเป็นเมืองมากกว่า (urban native) อาจจะไม่ได้เป็นปัจเจกมากกว่าคนที่เพิ่งย้ายเข้ามาในเมืองก็เป็นได้