ในคืนเลือกตั้ง เสียงข้างมากที่เงียบงันจะเผยโฉม ทำความเข้าใจ silent majority และ vocal minority

-1-

ความเงียบเป็นสิ่งที่น่ากลัว 

silent majority มีคำแปลแบบไทยๆ ที่นิยมใช้กันมาอย่างยาวนานก็คือ ‘พลังเงียบ’

ทว่าหากแปลว่า ‘เสียงข้างมากที่เงียบงัน’ ก็น่าจะตรงตัวกว่า

ความหมายที่คุ้นเคยกันทั่วไปของ silent majority ก็คือ เสียงข้างมากที่เห็นตรงกันในทางใดทางหนึ่ง แต่ไม่แสดงตัวหรือแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งในสังคมเท่าไรนัก กว่าจะเผยตัวก็ต่อเมื่อหลังผลการเลือกตั้งประกาศออกมาแล้ว

ตัวอย่างเช่นในสังคมสหรัฐอเมริกาที่เสียงข้างมากที่เงียบงันเหล่านี้ กลายเป็นพลังที่เปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งแบบพลิกโผ ชนิดที่ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนต่างพากันประหลาดใจ

เหตุการณ์แรกคือการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ในปี 1969 

ในช่วงเวลานั้น สหรัฐอเมริกากำลังพัวพันกับสงครามเวียดนาม โดยให้การสนับสนุนฝั่งเวียดนามใต้ในการต่อสู้กับฝั่งเวียดนามเหนือ เมื่อรัฐบาลสหรัฐส่งทหารของตนเข้าร่วมสมรภูมิเวียดนามจำนวนมาก ก็สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนภายในประเทศตามมาด้วย โดยเฉพาะวัยรุ่นในสมัยนั้น เพราะ ‘คนรุ่นใหม่’ เหล่านี้บางส่วน (หรือที่เรียกว่า ‘ฮิปปี้’) เริ่มตื่นตัวในประเด็นสิทธิมนุษยชน ออกมารณรงค์เพื่อสันติภาพ และเดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนามกันอย่างต่อเนื่อง 

หากคุณเดินบนถนนในสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลานั้น หรือเสพสื่ออเมริกันกระแสหลักขณะนั้น ซึ่งอวลไปด้วยบรรยากาศการต่อต้านสงคราม ย่อมยากจะจินตนาการได้ว่า ริชาร์ด นิกสัน ตัวแทนพรรครีพับลิกันที่มีจุดยืนชัดว่าจะไม่ถอนทหารออกจากสงครามเวียดนาม จะได้รับเลือกจากเสียงส่วนใหญ่ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 37 ของประเทศ

บรรยากาศในสังคมอเมริกันขณะนั้น ในระดับผิวน้ำอาจเป็นบรรยากาศของสิทธิเสรีภาพและการต่อต้านสงคราม แต่ลึกลงไปในห้วงน้ำแห่งเสรีภาพนั้น กลับซุกซ่อนความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งถูกสร้างเมื่อไม่นานมานัก แต่ยังคงฝังแน่นในความรู้สึกของผู้คนอย่างยากจะขจัดออก 

คนเหล่านี้คือ silent majority หรือเสียงข้างมากที่เงียบงันโดยแท้จริง การกล่าวเช่นนี้หาได้เป็นการวิเคราะห์แบบลอยๆ ของบรรดานักวิชาการ เพราะตัวนิกสันเองก็เรียกผู้สนับสนุนของตนว่า silent majority ในสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์ เพื่อดึงฐานคะแนนผู้เงียบงันเหล่านี้ให้ออกมาสนับสนุนเขามากขึ้น

กรณีต่อมาเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัย นั่นคือการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในปี 2016

มองกันแบบหยาบๆ ทรัมป์คือมหาเศรษฐี ผู้เชื่อในความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และมาพร้อมนโยบายที่ตัดขาดกับประเทศต่างๆ และกีดกันคนเชื้อชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำแพงบริเวณชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก เพื่อกีดกั้นผู้อพยพ รวมถึงเขายังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อชาวมุสลิมนัก 

แน่นอนว่า แนวคิดของทรัมป์ไม่สอดคล้องกับค่านิยมในปัจจุบัน ที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายและการไม่เหยียดเชื้อชาติ ทำให้กระแสสังคมในอเมริกาในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ตและโพลสำนักต่างๆ ล้วนชี้ไปในทางใกล้เคียงกันว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งหนนี้จะตกเป็นของคู่แข่งจากพรรคเดโมแครตอย่าง ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) เป็นแน่

ทว่าก็อย่างที่เราเห็น ทรัมป์เป็นผู้กำชัยในท้ายที่สุด บรรดากูรูพากันวิเคราะห์สาเหตุที่ผลเลือกตั้งพลิกโผเช่นนี้ว่า เป็นเพราะเหล่าผู้สนับสนุนทรัมป์เลือกที่จะไม่แสดงตัวบนโลกออนไลน์ และมักไม่อยากยอมรับในโพลต่างๆ ว่า ตนเทใจให้ทรัมป์ เพราะเกรงว่าจะถูกโจมตีจากฝั่งตรงข้ามที่ตื่นตัวบนโลกอินเทอร์เน็ต

ในเวลาต่อมา นิยามของคำว่า silent majority จึงเลื่อนไหล และกินความหมายถึง ฐานเสียงของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองฝ่ายขวา ที่ไม่ร่วมสนทนาหรือโต้เถียงทางการเมืองใดๆ บนอินเทอร์เน็ต แต่พร้อมใจกันแสดงพลังในคูหาทีเดียว

-2-

เมื่อเสียงที่ดังอาจไม่ทรงพลังเท่าความเงียบ

หากจะมีคำศัพท์ใดที่ตรงข้ามและล้อไปกับ silent majority คำคำนั้นก็คงหนีไม่พ้น vocal minority ที่หากแปลตรงตัวก็น่าจะหมายความว่า ‘เสียงข้างน้อยที่เสียงดัง’ หากนิยามอย่างละเอียดขึ้นก็คือ คนจำนวนหนึ่งที่มีเสียงดัง ดังนั้นพวกเขาจึงตีขลุมว่า คนส่วนใหญ่ก็น่าจะมีความคิดเห็นเหมือนๆ กันกับพวกตน

แล้วคนกลุ่มไหนบ้างที่เป็น vocal minority? ตัวอย่างคร่าวๆ มี 3 กรณี ได้แก่

กรณีแรก หากคนที่ลงคะแนนให้นิกสันได้รับชัยชนะจนขึ้นสู่อำนาจในปี 1969 คือเสียงข้างมากที่เงียบงัน พวกเสียงข้างน้อยที่เสียงดังก็คงจะเป็นเหล่าฮิปปี้และพวกต่อต้านสงครามในเวลานั้น เพราะแม้จะมีบทบาทสำคัญในหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง และแผ่กระจายความคิดของตนบนท้องถนนได้ดี แต่ก็ทำได้เพียงสร้างบรรยากาศที่ฉาบลงบนผิวน้ำเท่านั้น หาได้หยั่งลึกลงสู่ใต้ท้องทะเลลึก

กรณีที่สอง ในเหตุการณ์การขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ในปี 2016 เสียงข้างน้อยที่เสียงดังก็คงเป็นเหล่าอเมริกันชนที่ตื่นตัวบนโลกโซเชียล ส่วนเสียงข้างมากที่เงียบงันก็คือเหล่าอเมริกันชนเดินถนน ที่ยังคงมีความรู้สึกไม่มั่นคง และกลัวว่าเหล่าผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาแย่งงานของตน

กรณีสุดท้ายอาจไม่ต้องมาหาที่ไหนไกล เพราะอาจเป็นสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ (14 พฤษภาคม 2566) เมื่อเหล่าผู้คนที่ใฝ่ฝันถึงความเปลี่ยนแปลงกำลังอยู่ในห้วงของความปีติ หลังโพลจากสำนักต่างๆ เป็นไปในทำนองเดียวกันว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองฝ่ายที่พวกเขาเชื่อมั่น มีคะแนนความนิยมนำโด่งในผลการสำรวจแทบทุกครั้ง ในทางกลับกัน คะแนนความนิยมของนักการเมืองและผู้นำประเทศหน้าเก่าทั้งหลายกลับอยู่ในระดับต่ำ คนจำนวนหนึ่งจึงคิดว่า การหยั่งเสียงในโลกเสมือนจะเป็นตัวสะท้อนว่า คนในสังคมทั้งหมดต่างก็ล้วนปรารถนาผู้นำหน้าใหม่ๆ และไม่พอใจรัฐบาลชุดก่อนทั้งสิ้น

แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เสียงที่เราเปล่งจะไม่ได้เป็นเพียงเสียงข้างน้อยที่เสียงดัง เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เสียงที่ (ยัง) ไม่ได้เปล่งออกมานั้น จะไม่ใช่เสียงข้างมากที่เงียบงัน และพร้อมจะแสดงพลังอย่างพร้อมเพรียงเมื่อก้าวเท้าเข้าคูหา และจรดปากกาเลือกผู้แทน

เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เสียงที่เราเปล่งและได้ยินจะไม่ได้อยู่ใน echo chamber และเป็นเพียงเสียงก้องกังวานในโลกอันคับแคบที่เลือกสรรมาแล้วโดยระบบอัลกอริทึม ที่ต้องการให้เราพึงพอใจ ให้เราเห็นในสิ่งที่อยากเห็น และได้ยินในสิ่งที่อยากฟัง

เราจะแน่ใจได้อย่างไร?

คำตอบคือ เราไม่อาจแน่ใจได้เลย

เพราะฉะนั้น แด่ผู้ใฝ่ฝันที่มุ่งแสวงหาความเปลี่ยนแปลง จงอย่าได้ไว้ใจเสียงของตัวเอง จงอย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น จงอย่าหลงระเริงในสิ่งที่ได้ยินมา 

จงอย่าประมาท จงสู้ต่อไป จงเดินหน้าต่อไป

เพื่อให้เสียงที่เราได้ยินเป็นเสียงที่สะท้อนความเป็นจริงอย่างแท้จริง และหวังว่าในท้ายที่สุด เสียงเสียงนี้จะเป็นเสียงที่สร้างความเปลี่ยนแปลงแบบที่ฝันใฝ่ได้จริง

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า