ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่กำลังคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การดำเนินชีวิตของประชากรในแต่ละประเทศเริ่มมีการปรับตัวไปสู่ ‘วิถีชีวิตปกติแบบใหม่’ หรือที่เรียกว่า New Normal Life และในฐานะที่ไทยเป็นประเทศซึ่งมีเกษตรกรเป็นประชาชนส่วนใหญ่ และมีการส่งออกสินค้าด้านอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ทำให้ต้องประเมินกันว่า New Normal Life ของเกษตรกรไทยหลัง COVID-19 จะเป็นอย่างไรต่อไป มิพักต้องกล่าวว่า ชีวิตปกติแบบใหม่ของเกษตรกรไทยจะมีความเป็นธรรมมากขึ้นหรือน้อยลงแค่ไหนเพียงใด
เพื่อจะร่วมกันกางแผนที่ให้เห็นหมุดหมายของความเป็นธรรมที่ควรจะปักลงไปยังสังคมเกษตรกรรมยุคหลัง COVID-19 ที่กำลังจะมาถึง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จึงเชื้อเชิญนักวิชาการ ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเกษตรกรรุ่นใหม่ มาร่วมกันปักหมุดเพื่อให้เห็นธงร่วมกันของความเป็นธรรมที่เกษตรกรควรพึงมี และควรพึงได้รับในยุคหลัง COVID-19
วงจรหนี้ของเกษตรกร
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คลี่ภาพให้เห็นว่าเกษตรกรในประเทศกว่า 9.6 ล้านครัวเรือน ยังคงพึ่งพารายได้จากนอกภาคการเกษตร และกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และเมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 แรงงานภาคเกษตรกรในส่วนนี้จึงได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งต้องหยุดงาน ไม่ได้รับเงินเดือน กระทั่งถูกเลิกจ้าง นำมาซึ่งการขาดรายได้ในครัวเรือน ส่งผลต่อเนื่องไปสู่ภาวะการเงินที่ตึงตัว เกิดหนี้สินสะสม โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง มีหนี้เฉลี่ยสูงถึง 250,000 บาทต่อครัวเรือน
โสมรัศมิ์สะท้อนว่า หากภาครัฐคลี่คลายปัญหาไม่ถูกจุด ไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาของเกษตรกรเหล่านี้ไม่ได้ ยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักมากขึ้นไปอีก โดยมีตัวเลขคาดการณ์ว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนจะมีรายได้ไม่เพียงพอ อันเป็นผลพวงจากมาตรการปิดเมือง ซึ่งนำไปสู่การกู้ยืมเงินทั้งในและนอกระบบ เกิดเป็นวงจรหนี้สินที่เกษตรกรไม่อาจหลุดพ้น และยิ่งถูกกระหน่ำซ้ำเติมภายใต้ COVID-19
“นโยบายเยียวยาของรัฐจะต้องรวดเร็ว ทั่วถึง และมุ่งเป้าไปยังครัวเรือนที่เปราะบาง และในอนาคตนโยบายจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างระบบประกันสังคมให้กับครัวเรือนเกษตรและแรงงานนอกระบบ สนับสนุนให้เกษตรกรปรับตัวให้ทันต่อพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ต่อมาคือพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยอาศัยแรงงานที่อายุน้อยเข้ามาพัฒนาภาคการเกษตร และสุดท้ายคือการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งเรื่องที่ดิน น้ำ โลจิสติกส์ และปัญหาหนี้”
สร้างนวัตกรรม-ปรับวิถีการผลิต
ด้าน รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ มองว่าเกษตรกรภาคอีสานค่อนข้างมีความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากทุกครัวเรือนมีที่นา มียุ้งข้าวเก็บไว้กินในครัวเรือน ถ้าเหลือจึงค่อยมาขาย ซึ่งจากข้อมูลของโสมรัศมิ์บอกให้เรารู้ถึงสภาพปัญหาของภาคการเกษตรที่อาจจำเป็นต้องใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ปัญหา แล้วค่อยมาพัฒนาเรื่องการเพิ่มรายได้ เพราะความมั่นคงทางอาหารในภาคอีสานไม่กระทบมากนัก
สมพรเสนอแนวทางการแก้ปัญหาไว้ว่า การปรับโครงสร้างหนี้ของภาคเกษตรจะต้องเกิดขึ้นควบคู่กับการปรับตัวของเกษตรกรเอง ขณะที่กลุ่มเกษตรกรประมง หรือเกษตรกรเฉพาะกลุ่ม เช่น เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ปลูกอินทผาลัม จะได้รับผลกระทบไม่มากนักและมีช่วงเวลาจำกัด ดังนั้นมาตรการของภาครัฐควรจะมีการจำแนกประเภทของเกษตรกรให้ชัดเจน ไม่ใช่ออกนโยบายที่ครอบคลุมจนเกินขอบเขตของเกษตรกร
ขณะที่กลุ่มเกษตรกรขนาดเล็กและกลาง รวมถึงกลุ่มเกษตรกรคนรุ่นใหม่ จะต้องมีการส่งเสริมนวัตกรรม ปรับแนวคิดจากการผลิตแบบจำนวนมากไปสู่การคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานทางการเกษตร เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสินค้าทางการเกษตรมากขึ้น
“คำถามคือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรในกลุ่มเปราะบางเปลี่ยนความคิด เพื่อจะเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ แต่ที่ผ่านมากลไกของรัฐจะเอาเงินเข้าไปแก้ปัญหาเป็นหลัก ซึ่งไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเลย”
‘เราไม่ทิ้งกัน’ มาตรการเยียวยาที่ไม่ตอบโจทย์
ขณะที่ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมุมมองของสังคมไทยที่มักเข้าใจว่า ชีวิตเกษตรกรไม่ได้มีแค่การทำนาทำไร่อย่างเดียว ซึ่งถูกเพียงส่วนหนึ่ง เพราะจากการสำรวจพบว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนในภาคการเกษตรได้เข้าไปสู่การขายแรงงาน และผลพวงจากมาตรการปิดเมืองของรัฐบาลทำให้แรงงานเหล่านี้กลับบ้านได้เพียง 4.1 เปอร์เซ็นต์เพราะถูกตำหนิติเตียนจากคนในหมู่บ้านเอง ขณะที่อีก 22 เปอร์เซ็นต์ ตั้งใจกลับบ้านเพื่อมาทำเกษตรกรรมอยู่แล้ว โดยปัจจัยจากสถานการณ์ COVID-19 เป็นเพียงตัวเร่งหนึ่งเท่านั้น
ในแง่ของผลกระทบต่อพืชหลักทางการเกษตรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งก่อนที่จะเกิดสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งนำไปสู่การปลูกพืชทดแทนในช่วงที่เกิดโรคระบาด ซึ่งมาตรการที่ควรเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ การพยายามหนุนเสริมการตลาดให้กับพืชทดแทนทางการเกษตรเหล่านี้ เพื่อให้เกษตรกรได้มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
ทว่าท่ามกลางวิกฤติของสถานการณ์ ประภาสยังพบประเด็นที่น่าสนใจคือ ภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น แต่สำหรับเกษตรกรบางส่วน บางชุมชน กลับมีการปรับตัว มีการแลกเปลี่ยนอาหารกันเกิดขึ้น อาทิ เกษตรกรจากภาคอีสานส่งข้าวไปแลกปลากับเกษตรกรประมงภาคใต้ ซึ่งรูปแบบการปรับตัวของชุมชนที่ว่านี้นำมาสู่ข้อเสนอเรื่องการฟื้นฟูเยียวยาหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย โดยภาครัฐสมควรที่จะต้องหนุนเสริมให้สิ่งเหล่านี้เข้มแข็ง มากกว่ามาตรการเยียวยาด้วยจำนวนเงิน 400,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’
ประภาสมองว่า การที่รัฐบาลมอบเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อหนึ่งครัวเรือนนั้น ไม่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างที่วาดหวัง ซึ่งรัฐควรจะมอบเงินเยียวยาแบบถ้วนหน้าในอัตราเฉลี่ย 3,000 บาทต่อคน จะเป็นการให้ความช่วยเหลือที่ครอบคลุมมากกว่า
“เวลาพูดถึงการฟื้นฟูเยียวยา เราจะเห็นว่าเงินก้อนนี้มันมีปัญหาเรื่องของฐานคิดและทิศทางการฟื้นฟูที่รัฐทำอย่างลุกลี้ลุกลน การเยียวยาเต็มไปด้วยข้อจำกัด และแต่ละโครงการของภาครัฐก็มักเป็นโครงการเดิมๆ เช่น นาแปลงใหญ่หรือเกษตรแปลงใหญ่ ที่ไม่เคยมีการประเมินผลอย่างจริงจังเลยว่ามันทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน”
ตลาดชุมชนคือความหวัง
ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า สถานการณ์ COVID-19 ทำให้เห็นปัญหาของภาคเกษตรกรชัดเจนมากขึ้น และจำเป็นที่สังคมจะต้องช่วยกันเปล่งเสียงให้ภาครัฐได้ยินมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหา และการซ้ำเติมที่อรรถจักร์มองเห็นคือ มาตรการเยียวยาด้วยเงิน 400,000 ล้านบาทของรัฐบาลผ่านนโยบายที่ลงไปยัง 9 จังหวัด 3 พื้นที่ 3 กระทรวง เป็นการดำเนินนโยบายที่ล้มเหลวและเป็นการทำลายระบบนิเวศโดยสิ้นเชิง
“ปัญหาในชนบทมีความสลับซับซ้อนสูงขึ้น ความสลับซับซ้อนนี้เรียกร้องให้เราคิดเพื่อจัดการแก้ปัญหาที่สั่งสมมานาน ไม่ใช่แค่ปัญหา COVID-19 เนื่องจากพี่น้องชนบทยากจนมาอย่างต่อเนื่อง แรงงานในชนบทที่หวังจะได้เป็นคนงานในภาคอุตสาหกรรม มีโอกาสเหลือแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นความหวังของเราจึงอยู่ที่ภาคเกษตร เพียงแต่ต้องมีความเข้าใจภาคเกษตรมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือความหลากหลายของภาคเกษตร เราต้องเห็น ต้องเดินไปให้ได้ และเราจำเป็นต้องบอกกับรัฐว่า ถ้าคิดได้แค่นี้ลาออกดีกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ควรจะลาออก”
ในด้านเกษตรกรระดับเล็กและระดับกลาง อรรถจักร์เห็นด้วยว่าเกษตรกรกลุ่มนี้มีนวัตกรรมและศักยภาพที่เพิ่มสูงขึ้นภายใต้เทคโนโลยีในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ก็จำต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเหรียญอีกด้านที่ภาครัฐควรจะใส่ใจคำนึงถึง
“สิ่งสำคัญคือถ้าเราสามารถผลักดันเกษตรกรรายเล็กและรายกลางให้สร้างนวัตกรรมที่หลากหลายมากขึ้น จะเป็นฐานในการดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้กลับมาสร้างนวัตกรรม หรือทำอย่างไรให้กลุ่มรายเล็ก รายกลาง ขยายนวัตกรรมออกไป ถ้ารัฐคิดตรงนี้ออก เงิน 400,000 ล้านจะเปลี่ยนรูปแบบออกไป
“สำหรับผม ผมคิดว่ากลุ่มเกษตรกรรายเล็ก รายกลาง มีสัดส่วนค่อนข้างมาก ถ้าหากเรามองเห็นความซับซ้อนของชนบท แล้วมองว่าเขาเป็นผู้ประกอบการในชนบท แล้วขยับให้เขาเข้มแข็งมากขึ้น เราจะสามารถสร้างสังคมเกษตรกรรมแบบญี่ปุ่นได้ และสามารถทำให้เกิดพลังในการเคลื่อนไหวได้”
ไม่เพียงแต่การมองความซับซ้อนของภาคเกษตรกรรมให้ออกเท่านั้น อรรถจักร์ยังกล่าวว่า นโยบายของ 9 จังหวัด 3 พื้นที่ 3 กระทรวง ไม่มีส่วนไหนของนโยบายเลยที่กล่าวถึงการตลาดชุมชน ทั้งๆ ที่ชุมชนจะเป็นตัวช่วยที่ขับเคลื่อนให้เกิด supply side เพื่อไปกระตุ้น demand side ทำให้เกิดสมดุลในพื้นที่ชุมชนนั้นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตและการเชื่อมโยงอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าภาครัฐคิดเรื่องการสร้างตลาดใหม่ด้วยงบโครงการ 400,000 ล้านบาท โดยอิงจากฐานของการตลาดชุมชน จะสามารถสร้างนวัตกรรมจากคนในพื้นที่ได้อีกมากมาย ทว่านอกจากรัฐจะละเลยตลาดชุมชนแล้ว ภาครัฐยังมองข้ามปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างเช่นที่ดิน ทั้งๆ ที่ที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ดังนั้น หลังสถานการณ์ COVID-19 จึงเป็นจังหวะที่ดีในการเสนอนโยบายการจำกัดการถือครองที่ดิน หรือทำให้ที่ดินที่เหมาะสมในการทำการเกษตรกลับคืนสู่ชาวไร่ชาวนา
“เราคงต้องหวังว่า รัฐระบบราชการที่ไม่เคยเข้าใจภาคเกษตรเลย จะสามารถได้ยินเสียงเราและเริ่มคิดได้บ้าง ในอนาคตของรัฐไทย สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม แต่เป็นภาคเกษตรกรรม ถ้าเราเน้นการตลาดได้ และสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ จะช่วยดึงดูดชาวบ้านจำนวนหนึ่งเข้ามาสู่ตรงนี้ ผมคิดว่าเราควรมาทำปัญหาของภาคเกษตรให้ชัดขึ้น และสะท้อนกลับไปด้วยว่า เงินเยียวยา 400,000 ล้าน ต้องไม่ใช่การจ้างงานแบบโง่ๆ ที่กำลังทำอยู่ แต่การจ้างงานต้องทำให้เกิดการทวีคูณ” อรรถจักร์กล่าว
เกษตรกรรุ่นใหม่อยู่ยากเพราะภาระหนี้
ส่วนตัวแทนเกษตรกรคนรุ่นใหม่จากจังหวัดขอนแก่น ปาณิศา อุปฮาด กลุ่มทำเป็นทำเกษตร สะท้อนภาพสถานการณ์ก่อน COVID-19 เอาไว้ว่า ก่อนหน้านี้การค้าขายภายในชุมชนยังไปได้ดี แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาด ร้านค้าในจังหวัดขอนแก่นต้องปิดตัว รายได้หายไปเท่ากับศูนย์ เพราะเกษตรกรรายย่อยในต่างจังหวัดไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงกับระบบใหญ่ ไม่สามารถเข้าถึงโครงการของราชการได้เหมือนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และในช่วงวิกฤติที่ผ่านมายังไม่เห็นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ จนนำมาสู่คำถามว่ารัฐจะเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยอย่างไร เช่น การส่งเสริมระบบขนส่ง ซึ่งภาครัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนเพราะมองว่าเป็นเพียงการเกษตรในครัวเรือน
ปาณิศามองสถานการณ์หลัง COVID-19 ว่า ถึงอย่างไรเกษตรกรรายย่อยก็จำต้องอาศัยอยู่ในชุมชน และเท่าที่ทำการสำรวจพบว่า มีเกษตรกรคนรุ่นใหม่หลายคนตั้งใจกลับมาทำเกษตรมากขึ้น แต่จะทำอย่างไรในเมื่อนโยบายจากภาครัฐไม่มีทิศทางที่หนุนเสริมเกษตรกรรายย่อยเท่าที่ควร ในแง่นี้ปาณิศาจึงมองว่า เกษตรกรจะต้องกลับมาบริหารทรัพยากรตัวเอง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตของเกษตรกรก็ยังต้องกินต้องใช้ ไม่ว่าจะก่อนหรือหลัง COVID-19
“ถ้าสุดท้ายรัฐไม่ได้ส่งเสริมเกษตรกรอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สินที่เป็นพื้นฐานเดิม เพราะเท่าที่คุยมาไม่มีบ้านไหนเลยที่ไม่เป็นหนี้ แล้วเกษตรกรรุ่นใหม่จะกลับมาแบกภาระหนี้สินของครอบครัวต่อก็ยากมากๆ และการเติบโตของเกษตรกรที่จะอยู่ในอาชีพนี้จริงก็ยากอีกเช่นกัน เพราะไม่มีใครทำเกษตรแล้วอยู่ได้ ต้องอาศัยอาชีพอื่นๆ ร่วมด้วย”
ดังนั้นแล้ว ปาณิศาจึงมองเห็นตรงกันดังเช่นที่หลายคนได้ปักธงทิศทางที่เป็นธรรมให้กับชีวิตใหม่ของเกษตรกรหลัง COVID-19 เอาไว้ว่า เพราะภาครัฐไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และหากยังเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป เกษตรกรไทยก็ยังประสบปัญหาในวงจรแบบเดิม มีรายได้เพียงแค่พอประทังชีวิต และยังต้องแบกรับความเสี่ยง ดังนั้นเกษตรกรรุ่นใหม่จะต้องผลักดันตัวเองให้มีรายได้มากขึ้นผ่านช่องทางการตลาดเสริมอื่นๆ เช่น ตลาดออนไลน์ ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจมีความคุ้นเคยกับเครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัยเหล่านี้
ตั้งหลักที่ชุมชน ออกจากระบบผูกขาด
ประเด็นท้ายสุด อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มองในแง่การจัดการแก้ปัญหาของภาครัฐที่ไม่ควรอาศัยแต่กลไกราชการเพียงลำพัง เพราะจะเอื้อให้มีการฉ้อฉลเกิดขึ้น ไม่นับประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งภาคการเกษตรหลายครัวเรือนถูกกวาดต้อนเข้าสู่ระบบการบริโภคภายใต้การผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่ ยกตัวอย่าง บริษัทเอกชนเข้าไปควบกิจการโรงฆ่าสัตว์ในชุมชนเพื่อทำการส่งออก
“ครอบครัวเป็นหน่วยการผลิตที่สำคัญของสังคม การเกษตรในชนบทเป็นเรือนใจที่คนจะเอาชีวิตมาอยู่ในขั้นสุดท้าย ถ้ารัฐสนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้ที่เชื่อมโยงกับการบริโภคภายในท้องถิ่น การผลิตอาหารที่หลากหลายในท้องถิ่นยังมีโอกาสทางเศรษฐกิจอยู่ หากได้รับการสนับสนุน ถ้ามีนโยบายที่เชื่อมโยงการผลิตที่หลากหลายกับการบริโภคในท้องถิ่น ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่กวาดต้อนคนเข้าสู่สายพานของบริษัทใหญ่”
กล่าวให้จำเพาะเจาะจงลงไปที่สุด ชีวิตใหม่ของเกษตรกรหลัง COVID-19 จึงไม่ควรฝากการแก้ปัญหาไว้เพียงกลไกราชการเพียงอย่างเดียว แต่ควรส่งเสริมการแก้ปัญหา การเยียวยาที่หนุนเสริมภาคท้องถิ่นเป็นสำคัญ ทั้งในแง่ของการตลาดชุมชน การแบ่งปันอาหารของเกษตรกรระหว่างชุมชน การส่งเสริมนวัตกรรมการเกษตร รวมไปถึงการกระตุกภาครัฐให้ทบทวนในนโยบายที่อาจทำลายระบบนิเวศของภาคการเกษตรทั้งหมด มิเช่นนั้น New Normal Life ที่ควรจะเป็นอนาคตอันยั่งยืนของเกษตรกรไทย อาจกลับกลายเป็น Old Normal Life ภายใต้วงจรปัญหาซ้ำซากที่ภาครัฐซ้ำเติมเกษตรกรให้จมปลักอยู่กับความยากจนอย่างไม่อาจเปล่งเสียงใดๆ ให้สังคมได้ยินอีกต่อไป