การสู้รบระหว่างกองทัพอาระกัน (Arakan Army: AA) กับตัดมะด่อ (Tatmadaw) หรือกองทัพเมียนมา ในพื้นที่รัฐยะไข่ (Rakhine State) มีความเข้มข้นมากขึ้น ภายหลังกองทัพอาระกันประกาศว่า สามารถยึดพื้นที่มองดอ (Maungdaw) ทางตะวันตกของรัฐยะไข่ ติดกับพรมแดนบังกลาเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ ภายหลังฐานปฏิบัติการที่ 5 ที่มั่นสำคัญของกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน (Boarder Guard Police) ถูกโจมตีจนแตกพ่าย
สถานการณ์ในรัฐยะไข่เช่นนี้ ทำให้ชาวโรฮิงญา (Rohingya) จำนวนมากอยู่ในภาวะถูกบีบคั้น เนื่องจากตกเป็นเป้าหมายการโจมตีจากทั้ง 2 ฝ่าย และไม่อาจทราบถึงความเป็นไปของพวกเขาได้ เนื่องจากมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่จากการเปิดเผยของกองทัพอาระกันพบว่า มีชาวโรฮิงญาต้องไร้ที่อยู่อาศัยและพลัดถิ่นราว 130,000 คน จำต้องหนีภัยสงครามออกจากถิ่นที่อยู่อาศัยไปยังประเทศอื่นแทน ผ่านนายหน้าค้ามนุษย์ที่ให้สัญญาว่าจะพาไปทำงาน โดยมีจุดหมายปลายทางที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดินทางถึงแล้วจะเก็บเงินค่าเดินทางทีหลัง
สุไรมาน พฤฒิมณีรัตน์ รองประธานสมาคมโรฮิงญาประเทศไทย (Association Rohingya Thailand) ระบุว่า “ขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญามีการวางระบบอย่างชัดเจน โดยจะเข้าไปสำรวจสืบข้อมูลภายในพื้นที่ว่า เหยื่อการค้ามนุษย์โรฮิงญาเหล่านี้มีทรัพย์สิน ที่ดิน หรือญาติพี่น้องหรือไม่ เพื่อดำเนินการเรียกค่าไถ่ รีดไถเงินจากญาติพี่น้อง หรือเข้ายึดทรัพย์สินที่มีอยู่ของเหยื่อ พร้อมกับทารุณกรรมเหยื่อในระหว่างการเดินทางไปยังประเทศที่ 3 โดยค่าหัวในการเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียอยู่ที่ 70,000-150,000 บาท หากเหยื่อไม่มีทรัพย์สินให้ก็จะปล่อยลอยแพเหยื่อกลางทาง”
เส้นทางการค้ามนุษย์โรฮิงญาเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนที่เน้นทางเรือในทะเลอันดามัน แต่หลังจากถูกปิดเส้นทางโดยกองทัพเรือไทย ทำให้เปลี่ยนไปใช้เส้นทางทางบกมากขึ้น
สุไรมานขยายความว่าเส้นทางค้ามนุษย์โรฮิงญาสามารถแยกออกเป็น 2 ทางคือ ทางเรือและทางรถยนต์ จุดพักแต่ละแห่งจะมีการทารุณกรรม เพื่อเรียกค่าไถ่จากญาติของเหยื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทางเรือนั้นจะเริ่มต้นจากรัฐยะไข่มายังเมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ ก่อนเดินทางด้วยรถยนต์มายังจุดพัก เมืองเมียวดี ก่อนข้ามพรมแดนท่าข้ามตามธรรมชาติมายังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยจะถูกขังภายในโกดังหรืออาคารที่มีกำแพงสูงล้อมอยู่
ส่วนการเดินทางด้วยรถยนต์ จะเริ่มเดินทางจากรัฐยะไข่มายังเมืองปะเต็งหรือพะสิม ก่อนมุ่งลงใต้ผ่านเข้ามายังนครย่างกุ้งและเมืองพะอัน มาถึงจุดพักที่เมืองเมียวดีเช่นกัน และลักลอบเข้าเมืองโดยใช้ไทยเป็นทางผ่าน
“ตัวเลขจำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในปัจจุบันที่ถูกนำมาพักไว้ที่เมืองเมียวดีมีราว 1,500-2,000 คน หากมีการเรียกเงินค่าไถ่ได้เพิ่มแล้ว จะถูกส่งต่อให้กับนายหน้าทางฝั่งไทยที่แม่สอดราววันละ 100 คน โดยจะเดินเท้าข้ามพรมแดนธรรมชาติตามริมฝั่งแม่นํ้าเมยในช่วงเวลากลางคืน ผ่านไร่อ้อยที่มีรถมาจอดรอรับ เพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดในภาคใต้ต่อไป” สุไรมานชี้ให้เห็นภาพ
ในอีกด้านหนึ่ง สุไรมานตั้งข้อสังเกตว่า “ขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญาในคลื่นใหม่นี้ มีกองกำลังชนกลุ่มน้อยเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อหาประโยชน์มากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่มีเพียงตัดมะด่อเท่านั้น ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะมีการส่งต่อระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยเป็นทอดๆ ตั้งแต่ต้นทางที่รัฐยะไข่”
นอกจากนี้ จำนวนของชาวโรฮิงญาที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์นี้ ถูกพบว่าร้อยละ 80 คือ เด็กและผู้หญิง ที่จะถูกนายหน้าจัดหาไปเพื่อบังคับแต่งงานกับชาวโรฮิงญาด้วยกันเองในประเทศมาเลเซีย