หลังการรัฐประหาร ปี 2557 จำนวนผู้ถูกดำเนินคดี 112 เพิ่มสูงขึ้น มีการจับกุมและสอบสวนด้วยอำนาจพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก หรือ คำสั่งหัวหน้า คสช. โดยมีทหารเป็นทั้งผู้จับกุม สอบสวน และพิจารณาคดีในคราวเดียวกัน อีกทั้งยังมีการใช้อัตราโทษสูงขึ้น และยังคงจำกัดสิทธิประกันตัวกับผู้ต้องหา
แต่หลังการเปลี่ยนรัชสมัยในรัชกาลที่ 10 แนวโน้มการบังคับใช้มาตรา 112 ได้ลดน้อยลง ทั้งในแง่การนำมาใช้ลงโทษหรือการตั้งข้อหาดำเนินคดี แต่ถึงอย่างนั้น มาตรา 112 ก็ไม่ได้หายไป หากแต่ถูก ‘ซ่อนรูป’ อยู่ในกฎหมายฉบับอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ)
การจับกุมผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อบัญชีว่า ‘นิรนาม_’ (@ssj_2475) และตั้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากได้ทวีตภาพและข้อความเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูง ก็ทำให้เห็นรูปแบบการบังคับใช้กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาทดแทนมาตรา 112 ซึ่งผู้ต้องหารายนี้ไม่ได้รับ ‘สิทธิประกันตัว’
ทบทวนปัญหา ม.112 ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีบทบัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
จริงอยู่ว่ามาตราดังกล่าวมีขึ้นเพื่อคุ้มครองสถานะและความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในทางกลับกัน มาตรา 112 ก็ได้สร้างปัญหาตามมาอย่างน้อย 2 ประการ
หนึ่ง ปัญหาที่เกิดจากตัวบทกฎหมาย เช่น การบัญญัติองค์ประกอบความผิดไว้กว้างตั้งแต่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ที่เปิดช่องให้ตีความได้อย่างหลากหลาย รวมถึงการคุ้มครองสถานะของบุคคลในหลายตำแหน่ง อีกทั้ง มาตรา 112 ยังมีอัตราโทษจำคุกที่สูงกว่าโทษดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาททั่วไป โดยมีการกำหนดโทษจำคุกสามถึงสิบห้าปี ซึ่งสูงเทียบเท่าความผิดฐานตระเตรียมการกบฏ ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ทั้งที่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก
นอกจากนี้ มาตรา 112 ยังไม่มีหลักความสุจริตในการใช้สิทธิเสรีภาพเหมือนกับความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ที่คุ้มครองการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและเป็นประโยชน์สาธารณะ เพื่อใช้เป็นเหตุในการยกเว้นความผิดหรือละเว้นโทษจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกได้
สอง ปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้ เช่น การตีความที่มีลักษณะกว้างขวางและครอบคลุมการกระทำหลายรูปแบบอย่างไม่มีขอบเขต เช่น การดำเนินคดีกับ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ปัญญาชนสยาม ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้งที่พระนเรศวรก็ไม่อยู่ในสถานะที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่มีการตีความเกินไปจากตัวบท และเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ
ปัญหาถัดมาคือ มาตรา 112 ซึ่งถูกบัญญัติอยู่ในลักษณะ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” และเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ทำให้บุคคลทั่วไปทุกคนสามารถเป็นผู้กล่าวโทษได้จึงนำไปสู่การฟ้องกลั่นแกล้งหรือการฟ้องคดีจำนวนมาก ในหลายๆ พื้นที่ เพื่อสร้างภาระให้กับผู้ต้องหา
นอกจากนี้ คดี 112 ยังเป็นคดีที่มีแรงกดดันจากสังคมสูง เจ้าหน้าที่รัฐจะถูกกดดันทางสังคมไม่ให้ใช้ดุลพินิจที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย เช่น การสั่งไม่ฟ้องคดี การไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาประกันตัว โดยอ้างถึงความร้ายแรงของคดี ยกตัวอย่างเช่น คดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณที่ไม่ได้รับสิทธิในการประตัวตลอดการสู้คดีกว่า 6 ปี
ในบางคดีที่ผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เช่น คดีไผ่ ดาวดิน ที่ศาลอ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาแสดงความคิดเห็นเชิงเย้ยหยันอำนาจศาล อันเป็นเหตุผลที่ไม่มีความสมเหตุสมผลในการไม่ให้ประกันตัวตามกฎหมายก็ยิ่งทำให้ผู้ต้องหาและครอบครัวต้องเผชิญความกดดันในการต่อสู้คดี และหลายครั้งนำไปสู่การจำนนต่อระบบ หรือ การยอมรับสารภาพผิด ทั้งที่ไม่เต็มใจ
การเปลี่ยนผ่านจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สู่ ม.112
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯของไทย เป็นกฎหมายที่ออกมาในยุคหลังการรัฐประหารปี 2549 โดยเหตุผลของกฎหมายแต่เดิมคือ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งตามอนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Convention on Cybercrime) ของยุโรป จะหมายถึงการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ (illegal access) หรือพูดง่ายๆ ว่า หลักการของกฎหมายคือ การรับมือกับการกระทำผิดเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ โดยมาตราสำคัญของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2550 ที่ใช้เอาผิดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ คือ มาตรา 14 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่ หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
แต่ด้วยการเขียนกฎหมายแบบไทยๆ ทำให้มาตรา 14 ที่ต้องการเอาผิดกับการหลอกลวงออนไลน์ หรือ computer fraud หรือ เอาผิดกับการปลอมแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ให้ผู้ใช้เข้าใจผิดเพื่อขโมยข้อมูลของผู้ใช้ หรือที่เรียกว่า phishing ถูกนำไปใช้กับการหมิ่นประมาทออนไลน์ ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย
โดยมีการตีความบทบัญญัติที่ว่า “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” หมายถึง การโพสต์ข้อความในระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งเชื่อมโยงกับความผิดฐานหมิ่นประมาท และซ้ำร้าย คือ มาตรา 14 (2) และ (3) เอาเรื่องการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ไปผูกโยงกับความเสียหายด้านความมั่นคงหรือความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทำให้มาตรา 14 (2) และ (3) ถูกใช้ควบคู่กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เรื่องความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ
แม้ในปี 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยป้องกันไม่ให้มีการใช้ มาตรา 14 (1) กับความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่การไม่ยอมแก้ไขมาตรา 14 (2) และ (3) ให้มีความชัดเจนว่า ไม่เกี่ยวกับการเอาผิดเนื้อหาบนโลกออนไลน์ ทำให้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังถูกใช้กับกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความมั่นคงอื่นๆ ทั้ง มาตรา 112 และ มาตรา 116 ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ
จนมาถึงการเปลี่ยนรัชสมัย แนวโน้มการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ควบคู่กับ มาตรา 112 ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป สำนักงานอัยการสูงสุดได้ออกแนวปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับการทำคำสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 โดยให้รวบคดีแล้วส่งให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา ทำให้คดี 112 ลดน้อยลง รวมถึงมีการยกฟ้องคดี 112 เพิ่มมากขึ้น เช่น คดีทอม ดันดี ปราศรัยที่จังหวัดราชบุรี แม้ว่าเขาจะให้การรับสารภาพ
แต่ทว่า ความผิดตามมาตรา 112 ก็ไม่ได้หายไปเสียทีเดียว หากแต่ถูก ‘ซ่อนรูป’ อยู่ในกฎหมายฉบับอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยกตัวอย่าง คดี ‘ประเวศ’ ที่โพสต์ข้อความในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ แต่ในคำพิพากษากลับระบุความผิดตามมาตรา 116 แต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีความผิดตามมาตรา 112 แม้จะมีการแจ้งข้อหาดังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้
หรืออย่างกรณี นักกิจกรรมโพสต์ข้อความเกี่ยวสถาบันกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ต่างประเทศ ก็ทำให้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (3) รวมถึงกรณีล่าสุดอย่างการจับกุมและสอบสวนผู้ใช้ทวิตเตอร์ในบัญชีชื่อ ‘นิรนาม_’ ที่ทวีตข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 ก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 14 (3) ด้วยเช่นกัน ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการดำเนินคดีมาตรา 112 กับผู้ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาใช้เพียง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แทน
แม้เปลี่ยนกฎหมายใหม่ แต่ปัญหาก็ยังเหมือนเดิม
จริงอยู่ว่า การเปลี่ยนผ่านการบังคับใช้มาตรา 112 มาเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทำให้ผลของการดำเนินคดีมีส่วนที่ดี เช่น เพดานของอัตราโทษจำคุกลดลง เนื่องจาก อัตราโทษของมาตรา 112 อยู่ที่ จำคุกสามถึงสิบห้าปี แต่โทษของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) อยู่ที่จำคุกไม่เกินห้าปี
แต่ทว่า ปัญหาเดิมของกฎหมายมาตรา 112 ก็ยังคงติดอยู่กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากบทบัญญัติของมาตรา 14 (3) ก็ยังเกี่ยวพันกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำให้ปัญหาจากตัวบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น บทบัญญัติที่ตีความได้กว้างก็ยังคงอยู่ อีกทั้ง ยังทำให้การใช้ดุลพินิจที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลยไม่เกิดขึ้น เช่น การไม่ให้สิทธิในการประกันตัวกับผู้ต้องหา
ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาใหญ่ของทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 112 คือ ไม่มีหลักเรื่องความสุจริตที่ผู้ต้องหาสามารถใช้เป็นเหตุในการยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษได้ในกรณีที่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งหากมีหลักการดังกล่าวจะทำให้ผู้ต้องหามีช่องทางการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้ แต่ถ้าหลักการดังกล่าวหายไปก็จะเปิดช่องให้จำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงออก
สุดท้ายแล้วกฎหมายที่มุ่งจะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกก็จะทำหน้าที่เป็นเพียง ‘อาวุธทางการเมือง’ ไว้เพื่อกดปราบหรือลงโทษคนที่แสดงความคิดเห็นออกนอกลู่นอกทางที่ผู้มีอำนาจกำหนด