เรื่อง : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพ : ธาณินทร์
ค่ำวันที่ 13 พฤศจิกายน พัน ซอ เดินทางจากสำนักงานย่านสีลมไปยังที่พักแรงงานต่างด้าวในจังหวัดกาญจนบุรี ที่นั่นไม่มีใครเงยหน้ามองดวงจันทร์บนฟ้าเพราะในโทรทัศน์กำลังแจ้งข่าวสำคัญข่าวหนึ่ง เสียงกู่ร้องดังขึ้นภายหลังรายงานข่าวรัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัว ออง ซาน ซู จี ให้เป็นอิสระจากกำแพงบ้านพักของตัวเอง
ในฐานะหัวหน้ากลุ่มสหภาพแรงงานกะเหรี่ยง (Migrant Karen Labour Union) พัน ซอ ถามเพื่อนแรงงานต่างด้าวว่า อยากกลับบ้านไหม
สำหรับเขา ไม่ว่าออง ซาน ซู จีจะถูกปล่อยตัวหรือไม่ พัน ซอ อยากกลับบ้านเพียงชั่วคราวเท่านั้น
เวลาเดียวกัน ในกรุงเทพมหานคร ชู เค ผ่อง เดินทางออกจากหมู่บ้านจัดสรรย่านบางนาไปรวมตัวกับเพื่อนชาวพม่า คืนนั้นพวกเธอร่วมกันลุ้นข่าวใหญ่นี้ผ่านสถานีโทรทัศน์ ทันทีที่ข่าวออง ซาน ซู จีถูกปล่อยตัวอย่างเป็นทางการ สาวๆ เหล่านี้ต่างตะโกนออกมาพร้อมกันว่า
เขาปล่อยเธอแล้ว
ความจริง พวกเธอใช้สรรพนามสำหรับผู้ปลดปล่อยซูจีว่า ‘พวกมัน’
1.
ไม่มีใครแปลกใจต่อปรากฏการณ์การเลือกตั้งในปี 2010 ของพม่า รวมทั้งผลลัพธ์ของมัน ยกเว้นระยะเวลา 20 ปี จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 ซึ่งพรรค NLD (The National League for Democracy) ชนะการเลือกตั้ง แต่พรรคโครงการสังคมนิยมพม่าของนายพลเน วินผู้วายชนม์ก็ทำการปล้นชัยชนะนั้นไป
ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐบาลทหารพม่าได้ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ โดยเขียนป้องกันไม่ให้คู่แข่งทางการเมืองขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งไม่ได้เปลี่ยนการเมืองพม่า เพียงแต่ปรับรูปโฉมการปกครองของทหารให้เสียงบางส่วนมาจากการเลือกตั้ง โดยสภามีอำนาจหน้าที่เพียงออกกฎหมายและลงชื่อรับรอง ส่วนการแต่งตั้งรัฐมนตรีนั้นมาจากการเลือกของประธานาธิบดี ซึ่งอาจเป็นผู้ที่มาจากสภา (ได้รับการเลือกตั้ง) หรือไม่ก็ได้ อีกทั้งยังกำหนดให้รัฐมนตรีต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสเข้าร่วม
ตามรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของพม่าได้กำหนดให้พม่ามีกองกำลังเดียว ที่ผ่านมารัฐบาลพม่าได้ประกาศให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ ต้องแจ้งภายในวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ว่าจะปรับเปลี่ยนให้เป็นกองกำลังปกป้องชายแดน (Border Guard Force: BGF) โดยภายหลังจากนั้นจะถูกประกาศจากรัฐบาลให้เป็นกองกำลังเถื่อน
ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ในพม่าต่อสู้เพราะต้องการ ‘ข้อตกลงปางหลวง’ ซึ่งมีหลักประกันสิทธิ 3 ประการ คือสิทธิในการปกครองตนเอง ประชาธิปไตย และการมีสิทธิเสรีภาพ หากรัฐบาลไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว กลุ่มชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรับข้อตกลงจากสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (The State Peace and Development Council: SPDC) หรือจากรัฐบาลทหารพม่า
รูปธรรมของความรู้สึกต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกแสดงออกผ่านเสียงปืนของ DKBA (Democratic Karen Buddhist Army)
การเมืองพม่าและเสียงปืนได้ถีบชีวิตของชาวพม่ารวมถึงชนกลุ่มน้อยต่างๆ หนีเข้าไปหาชีวิตที่ดีกว่าในประเทศไทย
มันทั้งใช่และไม่ใช่การเริ่มต้น
2.
กว่า 10 ปี ในเมืองไทย พัน ซอ ในวัย 40 ยังคงติดตามข่าวความเคลื่อนไหวในประเทศพม่า เขาเป็น 1 ใน 1,080,000 คน ที่เป็นแรงงานข้ามชาติมีใบอนุญาตทำงาน
“ผมอยู่ที่นั่นไม่ได้อีกแล้ว” พัน ซอ บอก “ผมเกลียดทหาร”
เขาเกิดในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งใกล้พะอันในรัฐกะเหรี่ยง ครอบครัวมีที่นาและทำเกษตรกรรม เช่นเดียวกับชาวกะเหรี่ยงและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ครอบครัวของเขาถูกทหารพม่าไล่ที่เผาบ้าน
ในชีวิต-เขาได้รับความช่วยเหลือจากทหารพม่าในการย้ายบ้านมาแล้ว 4 ครั้ง
ก่อนถึงวันปีใหม่กะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงต้องจ่ายภาษีให้ทางการเพื่อจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เขาผ่านบรรยากาศแบบนี้มาจนอายุ 18 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งเข้ามาหาแนวร่วมในชนบทเพื่อเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ในปี 1988
พัน ซอ บอกตัวเองว่า “ผมเชื่อว่าเราต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”
เขาเริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ที่รัฐบาลพม่าไม่เห็นด้วย บ่มเพาะแนวทางในการต่อสู้ จึงเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษาในย่างกุ้ง โดยรับผิดชอบพื้นที่ในชนบทของรัฐกะเหรี่ยง เริ่มจากพูดคุยกับคนหนุ่มคนสาวในแต่ละหมู่บ้าน เมื่อการเคลื่อนไหวใหญ่เริ่มขึ้นในย่างกุ้งในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 พัน ซอ และพรรคพวกต่างเดินขบวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในวันที่ 12 เดือนเดียวกัน
เมื่อนักศึกษาย่างกุ้ง พระสงฆ์ และประชาชนโดนปราบปรามอย่างรุนแรงในย่างกุ้ง การเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่เขารับผิดชอบมีอันต้องอ่อนแรงไปตามๆ กัน
“เราก็เสียขวัญไม่กล้าเคลื่อนไหวต่อ เราสู้มาได้ 5 วัน วันสุดท้ายเราก็…โอเค พูดคุยกันว่าสักวันเราต้องชนะ ถึงวันนี้เราแพ้แต่ก็ไม่เป็นไร”
ไม่เป็นไร-เที่ยงวันนั้น เขาและผู้ร่วมชุมนุมบุกไปเผาโกดังเก็บเสบียงของรัฐบาลซึ่งได้มาจากการรีดไถประชาชนในหมู่บ้านต่างๆ
“เราตัวแทน 10 คนเข้าไปคุย ไปเจรจาขอข้าว เราเข้าไปคุยว่าเราลำบาก ขอข้าวสาร 10 กระสอบ เขาบอกให้ไม่ได้ เขาต้องส่งให้ทหารหน่วยใหญ่ๆ โอเค ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ครึ่งชั่วโมงผ่านไปก็กลับเข้าไปใหม่พร้อมไฟ ผมไม่ได้เผากับเขา แต่ช่วยแบกข้าวสารมาใส่เกวียน”
ผ่านพ้นเหตุการณ์ในปี 1988 ข่าวร้ายก็เดินทางมาหาพัน ซอ ชื่อของเขาถูกเก็บในบัญชีรายชื่อผู้ประสงค์ร้ายต่อประเทศ พี่ชายของพ่อเป็นทหารของ KNU (Karen National Union) พัน ซอ จึงเข้าร่วมกับ KNU โดยรับผิดชอบงานไม้สัก
ชีวิตในป่าต้องเผชิญกับการรุกรานของทหารพม่า จนครั้งหนึ่งเขาเคยจับปืนเดินไปยิงไป ใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับทหารไม่ว่า KNU หรือ DKBA บนผืนดินเกิดได้อีก จึงตัดสินใจหนี
“ตอนที่อยู่ KNU มาได้ 2 ปี เท่าที่ดูๆ แล้ว ผมก็ไม่ชอบ เพราะว่าโอเค เขาขายไม้ในแต่ละเดือนแต่ละปีได้เงินเยอะ แต่ชาวบ้านกลับลำบาก เขาไม่ได้พัฒนาการศึกษาหรืออนามัยให้ประชาชน ทหารกะเหรี่ยงก็มีเด็กๆ เพิ่มขึ้น พวกเขาล้วนยากจน แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ได้กินดี รวมถึงลูกหลานกินดีอยู่ดีทั้งนั้น
“ผมดูแล้วไม่ชอบ มองหน้าไม่ได้เลยนะทหาร ผมรู้สึกว่าไม่ดี คนที่ถืออาวุธทุกคนเราไม่ชอบแล้ว หลังจากนั้นก็ไปบอกแม่ว่าจะไม่อยู่แล้ว”
3.
ในปี 1988 เค ชู ผ่อง อายุ 5 ขวบ เธอตัวเล็ก กำลังยืนมองคนตัวโตเดินขบวนเปล่งเสียงร้องด้วยความฮึกเหิม เธอเป็นหนึ่งเสียงที่ร่วมตะโกนออกไปด้วยว่า ‘เราต้องชนะ!’
“จำได้คือ เขามาประท้วงแถวหมู่บ้านแล้วเอาบาตรพระคว่ำบนไม้แล้วเขาก็ถือยกไป แห่ขบวนประท้วง แล้วเขาก็พากันร้อง ‘เรื่องของเรามันต้องชนะ’ เราเป็นเด็กก็ร้องตามเขา ผู้ใหญ่เขาก็ห้ามไม่ให้ร้องเดี๋ยวเขามาจับ เราก็ทำไมล่ะ มันก็ไม่มีใครได้ยิน เราก็ร้องสบายๆ”
เหตุการณ์ปี 1988 ไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตของเธอ ทหารพม่าในสายตาของเธอก็ไม่ได้โหดร้ายเหมือนที่พัน ซอ รู้สึก
“เคยมีทหารเข้ามา พวกนี้จะมีอาหารกระป๋องติดมาด้วย หรือของใช้ต่างๆ ทหารเงินเดือนน้อยใช่มั้ย แล้วเงินเดือนเขาจะไม่พอใช้ เขาจะเอาอาหารกระป๋องหรือของใช้เหล่านี้ที่เขาได้มาจากรัฐบาลมาขายให้ชาวบ้านในราคาถูกๆ แล้วชาวบ้านก็ซื้อในราคาถูกๆ ชาวบ้านก็ดีใจ
“แล้วยารักษาโรคที่เขาได้จากรัฐบาลเขาก็มาแจกให้คนป่วย เห็นใครไม่สบายไปหาหมอ ทหารก็จะเอายาให้ โอเคนะ ไม่เลวนะ แต่พ่อไม่ชอบทหาร เพราะพ่อเคยถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน พ่อเจ็บใจพอสมควร เขาไปแบกของ 3 เดือน ตอนนั้นเราจำความไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง”
เธอเกิดในชนบทแห่งหนึ่งในรัฐกะเหรี่ยง ที่บ้านทำเกษตรกรรม พม่าเคยส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก แต่ไม่ใช่ช่วงชีวิตที่เธอเติบโตมา ผลผลิตทางการเกษตรไม่สามารถเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวที่มี 6 คน ในฐานะพี่คนโต เธอต้องตัดสินใจ
เมื่ออายุ 19 หลังจากสอบเอนทรานซ์ได้ 3 วัน เธอตัดสินใจหนี
“ตอนนั้นเราคิดว่าลำพังตัวเราเองก็อยู่ในวัยที่พอทำงานได้ แต่ยังเรียนหนังสืออยู่ มันก็เสียดาย เราเรียนมาตั้งหลายปีแล้ว ถ้าเราเดินต่อไปให้จบมันก็สามารถออกมาทำงานได้ มีระดับหนึ่งที่เทียบเท่าคนอื่นได้ ก็ตัดสินใจอยากช่วยพ่อแม่ด้วย”
ลูกพี่ลูกน้องของเธอหลบหนีมาอยู่เมืองไทยก่อน เป็นคนให้ความช่วยเหลือในการหนีและหางาน เธอเหมือนเด็กสาวในครอบครัวอบอุ่นทั่วไป ที่ต่างก็คือภูมิประเทศที่ครอบครัวของเธอพำนักอยู่
“เราคิดล่วงหน้ามาก่อน ว่าถึงเมืองไทยเราจะทำงานอะไร ก็คิดไว้ว่าอาจจะทำงานบ้าน ลูกพี่ลูกน้องที่อยู่เมืองไทยมาก่อนเขาบอกเราว่าไม่ให้ทำโรงงาน เขาบอกโรงงานคนเยอะ เดี๋ยวไปทำอาจจะมีแฟน เขาไม่ไว้ใจให้เราไปอยู่โรงงาน
“ก็คิดไว้ว่าถ้าเป็นงานบ้านเราก็ต้องเจอกับเจ้านาย ก็มีคนเล่าให้ฟังว่ามีทั้งเจ้านายที่ดีและเจ้านายที่งี่เง่า แบบว่าเรื่องมาก เราก็คิดว่าถ้าเจอแบบนั้น เราพร้อมเผชิญมั้ย สามารถสู้เขาไหวมั้ย แต่การจากบ้านไปก็เสียใจเป็นธรรมดา ก็คิดเมื่อไหร่เราจะได้กลับบ้านอีกครั้ง ตลอดทางที่เรามา เราก็คิดว่าไม่รู้อีกกี่ปีจะกลับมาเจอความเปลี่ยนแปลงอะไรก็ไม่รู้ เหงาอยู่นิดหนึ่ง แต่พอเดินมาถึงฝั่งไทยแล้ว มันตัดสินใจได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องสู้ให้ได้”
เธอเดินเท้าผ่านป่า ข้ามภูเขา พักงีบในเพิงพักไร้หลังคา รอรถมารับ เมื่อถึงด่านตำรวจ เธอและผู้หลบหนีเข้าเมืองอีก 2 คน ต้องลงจากรถ เดินเท้าไปยังบริเวณที่ปลอดหูตากฎหมาย จนถึงปลายทาง ซึ่งเป็นจุดเดียวกับ ‘การเริ่มต้น’
4.
หลังถูกปล่อยตัว ออง ซาน ซู จีเริ่มเคลื่อนไหวด้วยการขอเจรจากับทหารพม่า รวมถึงชนกลุ่มน้อย เธอต้องการให้ทุกฝ่ายกลับมาหาสัญญาปางหลวง
ในสุสานของความหวัง การขยับตัวของหิ่งห้อยย่อมสวยงาม แม้ พัน ซอ จะยอมรับว่าสวยงาม แต่เขายังมองไม่เห็นทางออก
“วันนั้นผมไปทำงานลงพื้นที่ที่เมืองกาญจนบุรี ก็ได้ยินข่าวซู จีโดนปล่อยตัว ผมถามแรงงานที่นั่น ว่าถ้าวันข้างหน้าประเทศดีขึ้นจะกลับบ้านมั้ย แรงงานที่อยู่ในเมืองไทยเขาดีใจว่าซู จีโดนปล่อยตัวแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าซู จีจะทำอะไรได้แค่ไหน ถ้าประเทศดีขึ้นคนเหล่านั้นพร้อมจะกลับไป เพราะแต่ละคนที่มาเมืองไทย ที่นั่นเขามีทรัพย์สิน ที่นา”
ถามเขา “ผมไม่หวังเท่าไหร่ ต้องร่วมกับหลายฝ่าย คนเดียวไม่พอหรอก”
“คุณไม่คิดถึงบ้าน?”
“คิดถึงแต่ไม่อยากกลับ ไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตที่นู่น แต่ทุกคนในครอบครัวอยู่ที่นั่นหมด ตอนนี้น้องสาวน้องชายดูแลครอบครัว ที่นั่นเขาอยากให้ผมกลับเหมือนกัน แต่พูดตรงๆ ไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตที่นั่น ถ้าเป็นไปได้ผมอยากใช้ชีวิตในประเทศที่ 3 ฐานะผู้ลี้ภัย แต่คิดว่าโอกาสยากแล้ว”
ที่นี่-เขาตัวคนเดียว
ที่นั่น-พ่อ แม่ ลูก เมีย รอเขาอยู
“ก็ห่วงอยู่เหมือนกัน กลัวว่าจะไม่มีโอกาสอยู่พร้อมหน้ากัน แม่ก็เรียกกลับ ผมคิดอยู่ ผมกลับได้แต่ไม่อยากใช้ชีวิตอยู่ ไม่อยากเจอกับกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ เพราะหากเรากลับไปที่นั่น เราต้องไปคุยกับเขา (DKBA) ถ้าเราเข้าไปไม่บอกใคร วันหนึ่งเขาอาจมาทำร้ายเรา
“เราต้องไปบอกเขาว่าอยากใช้ชีวิตแบบปกติ อยากเข้าร่วมกับพวกคุณนะ ผมไม่อยากอยู่ต่างประเทศแล้ว ถ้าเรากลับไปคุยกับเขา เขาก็สามารถสั่งเราได้ ถ้าอย่างนั้นมึงอยากใช้ชีวิตปกติใช่มั้ย ไปใช้แรงงานก่อน เขาจะใช้เราอยู่แล้ว ถ้าเขาไม่ยอมเขาจะบอกมึงยังใช้ชีวิตปกติไม่ได้ มึงต้องทำงานให้กู”
5.
“ตอนแรกไม่อยากมาเมืองไทย” เค ชู ผ่อง บอก
ชาวกะเหรี่ยงที่เดินทางมาขุดทองที่เมืองไทยมีจำนวนน้อยที่กลับภูมิลำเนา และส่วนมากที่กลับไปบ้านอีกครั้ง พวกเขาและเธอล้วนเปลี่ยนแปลง
“คนเฒ่าคนแก่จะปลูกฝังเลยว่าไม่ต้องไปพึ่งต่างประเทศ ให้พึ่งตัวเอง เอาชนะตัวเอง เขาจะปลูกฝังให้อยู่บ้าน คนที่นู่นเขาดูถูก คนที่มาเมืองไทยแล้วกลับบ้าน ชอบแต่งตัวประหลาดๆ เหมือนคนขายตัว เซ็กซี่ ดูไม่ดีไม่งาม”
คนรุ่นเดียวกับชู เค ผ่อง ต่างทำมาหากินในเมืองไทย คนร่วมสมัยกับเธอต่างฝากชีวิตไว้ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ในวัย 29 เธอฝากชีวิตไว้ที่ไหน
“ไม่อยากเป็นคนของที่ไหนทั้งนั้น ที่นั่นเขาจะพูดว่าทหารกะเหรี่ยงไม่ดี พอมาเมืองไทยเขาบอกว่าทหารกะเหรี่ยงสู้เพื่อประชาชนของเขานะ ทหารพม่าต่างหากที่ไม่ดี มายึดอำนาจเขา แต่พอโตขึ้น จะมี KNU บางส่วนเข้าร่วมกับทหารพม่า ก็แตกไปเป็น DKBA
“หลังจากที่ DKBA ปกครองปีสองปีแรก ก็ไม่เห็นผลเท่าไหร่ ผ่านไปเราก็ไม่ชอบ DKBA เลย เพราะเขาทำงานไม่มีกฎหมายเท่าไหร่ ซึ่งพม่าเขายังมีกฎหมายอยู่ แต่ DKBA ไม่มีเลย
“ถ้าถามว่าโอเคมั้ย เมืองไทยโอเค แต่ปัจจุบันเราไม่ค่อยมั่นใจ การเมืองตอนนี้เรารู้สึกไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ ตอนแรกที่มาอยู่ เรารู้สึกว่าเมืองไทยมีประชาธิปไตย”
ประวัติศาสตร์การเมืองพม่าสร้างคนรุ่นพัน ซอ
สร้างคนรุ่น ชู เค ผ่อง
คนสองรุ่นล้วนต่อสู้
คนรุ่นพัน ซอ ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย คนรุ่น ชู เค ผ่อง ต่อสู้เพื่อเศรษฐกิจของครอบครัว จุดร่วมของคนทั้งสองรุ่น
คือพวกเขาต่างรู้สึกไร้หวังในบ้านของตัวเอง
*******************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์เมื่อ ธันวาคม 2553)