ก่อนการเคลื่อนไหวจะเริ่มต้น: เสียงสะท้อนต่อปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

การเมืองนอกสภากลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากโหวตไม่เห็นชอบคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องกรณีคุณพิธาถูกร้องว่าขาดคุณสมบัติในการสมัคร ส.ส. และสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประชาชนที่คาดหวังจะใช้การเลือกตั้งเป็นช่องทางยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. ย่อมอดไม่ได้ที่จะใช้การเคลื่อนไหวนอกสภาเป็นเครื่องมือสั่นคลอนระบอบของชนชั้นนำ 

อย่างไรก็ดี ภาพจำที่มักถูกผลิตซ้ำควบคู่กับการเคลื่อนไหวนอกสภาก็คือ การเดินขบวนประท้วง ‘ลงถนน’ จะนำไปสู่ความรุนแรงและความสูญเสีย ซึ่งเป็นภาพจำที่ควรถูกตั้งคำถามถึงความซับซ้อนและพัฒนาการของการเคลื่อนไหว มากกว่าจะสรุปอย่างง่ายๆ ว่า การเคลื่อนไหวก่อให้เกิดความรุนแรงเสมอ 

รอบปีที่ผ่านมา ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานวิจัยเรื่อง ข้อจำกัดของการเคลื่อนไหว แนวทางไม่ใช้ความรุนแรงในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองไทย เพื่อจะทำความเข้าใจว่า เหตุใดแนวทาง ‘ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง’ (nonviolent action)1 จึงไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างคงเส้นคงวาโดยขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือพูดให้เข้าใจง่ายว่า ทำไมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เริ่มต้นด้วยเจตนาจะไม่ใช้ความรุนแรง แต่ต่อมาก็กลับมีการใช้ความรุนแรงร่วมด้วย 

จากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายแกนนำขบวนการเคลื่อนไหว ตั้งแต่ยุคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กปปส. คนเสื้อแดง และขบวนการเยาวชนในช่วงปี 2563-2564 ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชนทั้งระดับบรรณาธิการข่าวและผู้สื่อข่าวภาคสนาม รวมถึงทนายความ นักสิทธิมนุษยชน รวม 60 คน ผู้เขียนขอเลือกประเด็นเชิงบทเรียน เพื่อป้องกันความรุนแรง ซึ่งไม่ได้มาจากหลักการในตำราเท่านั้น แต่เป็นทัศนะจากการทบทวนตัวเองของผู้ให้ข้อมูลในงานวิจัย 


1  ผมตั้งใจจะแปลคำนี้ว่า ‘ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง’ ขณะที่สังคมไทยมักจะคุ้นกับคำว่า ‘สันติวิธี’ มากกว่า เนื่องจากคำว่า สันติวิธีมักติดกับภาพจำการเคลื่อนไหวแบบมหาตมะ คานธี ที่มีความหมายแคบกว่า ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง (nonviolent action) ในความหมายของ ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) ที่มีขอบเขตความหมายกว้างกว่า คือ ครอบคลุมปฏิบัติการต่างๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรือไม่มีเจตนาก่อให้เกิดการทำร้ายร่างกาย 

เปลี่ยน Mindset ใหม่: ความรุนแรงหลีกเลี่ยงได้ และต้องหลีกเลี่ยง 

สิ่งสำคัญประการแรก คือ เราจำเป็นต้องเปลี่ยน mindset หรือ ความคิดความเชื่อที่นำไปสู่การกำหนดพฤติกรรม จากเดิมที่เข้าใจกันว่า การเคลื่อนไหวมักนำไปสู่ความวุ่นวายและความรุนแรงเสมอ แต่ความรุนแรงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ และต้องหลีกเลี่ยง เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร 

เริ่มจากฝั่งรัฐ ทฤษฎีปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ชี้ว่า รัฐที่ใช้ความรุนแรงกับขบวนการเคลื่อนไหวที่ใช้แนวทางไม่ใช้ความรุนแรง ย่อมสูญเสียความชอบธรรม ไม่เพียงแต่ในทัศนะของขบวนการเคลื่อนไหว แต่รวมถึงคนกลุ่มกลางๆ ในสังคม แม้กระทั่งกลไกส่วนอื่นๆ ของรัฐเอง ในสังคมไทยเอง ตั้งแต่สมัย 14 ตุลา 2516 เผด็จการที่ใช้ความรุนแรงสังหารประชาชน จึงมักถูกเรียกว่า ‘ทรราชย์’ 

ในทางกลับกัน สำหรับฝั่งผู้ชุมนุม หากขบวนการเคลื่อนไหวใช้ความรุนแรงเสียเอง จะทำให้ขบวนการเสียความชอบธรรมในสายตาของสาธารณะหรือสื่อมวลชน และกลับสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหว ภายใต้ข้ออ้างต่างๆ เช่น ผู้ชุมนุมขว้างปาสิ่งของ อิฐตัวหนอน ทำร้ายเจ้าหน้าที่ก่อน ผู้ชุมนุมยิงหนังสติ๊กใส่เจ้าหน้าที่ก่อน 

ในบริบทความขัดแย้งที่พัฒนาเป็นความรุนแรงทางการเมือง จะพบว่าหลายกรณีที่ฝ่ายรัฐใช้ความรุนแรง แต่กระแสสังคมกลับไม่ได้ประณามรัฐดังที่ควรจะเป็นในทางทฤษฎี นั่นก็เพราะรัฐประสบความสำเร็จในการสร้างความชอบธรรมว่า ฝ่ายผู้ชุมนุมมีกลุ่มติดอาวุธบ้าง ทำร้ายเจ้าหน้าที่ก่อนบ้าง 

ผู้สื่อข่าวอาวุโสท่านหนึ่ง ให้ความเห็นและน่าจะสะท้อนทัศนคติของคนในสังคมด้วย คือ เมื่อเกิดความรุนแรง แล้วไม่ชัดเจนว่าความรุนแรงมาจากฝ่ายไหน ใครเริ่มก่อน เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมมักใช้ความรุนแรงร่วมด้วย การถกเถียงจึงกลายเป็นเรื่องรายละเอียดว่าใครเริ่มก่อน ระดับเครื่องมือที่รัฐใช้เหมาะสมสมควรแก่เหตุหรือไม่ จึงกลายเป็นภาพสีเทา ไม่อาจแยกแยะถูก-ผิด ขาว-ดำ ง่ายๆ 

ผลกระทบระดับรองลงมา คือ การเคลื่อนไหวที่มีกลุ่มฮาร์ดคอร์ปะทะกับเจ้าหน้าที่ในแถวหน้า ทำให้คนอื่นๆ ที่ไม่พร้อมจะเสี่ยง ไม่อยากมาร่วมด้วย ท้ายที่สุดการนัดหมายเคลื่อนไหวครั้งต่อไปจะมีผู้เข้าร่วมน้อยลง ผู้สื่อข่าวภาคสนามหลายคนสะท้อนประเด็นนี้ตรงกัน ยกตัวอย่างเช่น การนัดหมายชุมนุมโดยกลุ่มรีเดม (REDEM) ที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งมากันเป็นครอบครัว คนกลุ่มหนึ่งมาแบบ ‘พร้อมบวก’ พยายามดึงตู้คอนเทนเนอร์ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำใส่ ต่อมาชุลมุนพัฒนาเป็นการยิงด้วยแก๊สน้ำตา ไล่จับผู้คน ทำให้คนอีกจำนวนมากไม่อยากมาร่วมอีกแล้ว ท้ายที่สุดทำให้การเคลื่อนไหวไม่บรรลุเป้าหมาย 

ไม่ล้ำเส้นแนวทางไม่ใช้ความรุนแรง 

แกนนำหลายคนที่ให้สัมภาษณ์ในงานวิจัย สะท้อนว่า บทเรียนในช่วงปี 2563-2564 ที่เริ่มต้นด้วยการเคลื่อนไหวที่มุ่งมั่นแนวทางสันติวิธี กระทั่งเวลาทอดยาวไป คนจำนวนหนึ่งชักเริ่มไม่มั่นใจว่า การต่อสู้แบบสันติวิธีจะได้ผล อีกทั้งถูกรัฐกระทำหลายครั้ง จึงอยากตอบโต้บ้าง และคิดว่าการตอบโต้ของประชาชนเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับเครื่องมือของรัฐ อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ชุมนุมเริ่มตอบโต้ รัฐก็ยกระดับเครื่องมือ กลายเป็นวงจรความรุนแรงที่ยกระดับขึ้น จนท้ายที่สุด การมาร่วมเคลื่อนไหวก็กลายเป็นความเสี่ยงที่คนจำนวนมากถอยห่างออก เหลือคนจำนวนน้อยที่ถูกโดดเดี่ยว และรัฐก็มีความชอบธรรมในการใช้เครื่องมือปราบปราม

จากบทเรียนดังกล่าวทำให้ตระหนักว่า การออกนอกแนวทางไม่ใช้ความรุนแรง ก็ไม่ได้นำไปสู่ชัยชนะเช่นกัน ดังนั้นการเคลื่อนไหวระลอกใหม่ จำเป็นต้องรักษาแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงอย่างมั่นคง เพื่อตัดวงจรความรุนแรงนี้ แกนนำหลายคน ตระหนักถึงขนาดว่า จำเป็นต้องมีผู้เข้าร่วมที่ตกผลึกและชัดเจนในแนวทางไม่ใช้ความรุนแรง ที่ผ่านการฝึกซ้อมที่จะไม่ตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะ ‘ปะทะ’ ที่มีจำนวนมากพอ จนชี้นำกระแสและรักษาแนวทางการเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรงได้ ดังเช่น กลุ่มทะลุฟ้า คราวถูกสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 มีนาคม 2564 โดยไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง กระทำเพียงการนั่ง นอน ให้ถูกจับ คือการท้าทายรูปแบบหนึ่ง 

อย่างไรก็ดี การจะรักษาเส้นสันติวิธีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแรงกดดันที่ขบวนการเคลื่อนไหวต้องเผชิญคือ การนัดชุมนุมบ่อยๆ แล้วไม่เกิดผลสำเร็จ ทำให้กังวลว่าครั้งต่อไปคนจะมาร่วมน้อยลง ต่อประเด็นนี้ ทั้งแกนนำและผู้เข้าร่วมจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงเงื่อนไข สถานะของการเรียกร้องในประเด็นทางการเมือง การเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจออกจากตำแหน่ง หรือเปลี่ยนกติกา แก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎหมาย ที่จะทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจเดิมเสียประโยชน์ว่า ฝ่ายที่จะสูญเสียย่อมต้องพยายามอย่างที่สุดเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเอง 

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เกมเร็ว อย่าคาดหวังทำนองว่า ‘วันนี้เป็นวันเผด็จศึก’ ‘วันนี้ไม่ชนะไม่เลิก’ เพราะเป็นความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ต้องรักษาทรัพยากรเพื่อต่อสู้ในระยะยาว 

ประการต่อมา จำเป็นต้องเข้าใจว่า วิธีการที่ง่ายที่สุดของรัฐในการเอาชนะขบวนการเคลื่อนไหว คือ การยื้อและปล่อยให้ขบวนการเคลื่อนไหวอ่อนล้าเอง หรืออดรนทนไม่ได้ หันมาใช้ความรุนแรง หรือส่งคนมาแทรกแซงกระตุ้นให้ขบวนการเคลื่อนไหวใช้ความรุนแรง จนเสียความชอบธรรมเอง การที่ฝ่ายรัฐยื้อได้ เพราะสรรพกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่ถูกระดมมาเป็นกลไกของรัฐ มีเงินเดือน ได้เบี้ยเลี้ยง (แม้จะล่าช้าหรือไม่ครบตามที่เป็นข่าวก็ตาม) แต่ประชาชนมีต้นทุนในการไปเคลื่อนไหวสูงกว่า 

ดังนั้นโจทย์ของขบวนการคือ ทำอย่างไรให้เวลาที่ทอดยาวออกไปนั้น ทำให้ฝ่ายรัฐอ่อนแอลง เช่น ถูกเปิดแผลความไม่ชอบธรรมหลายประเด็นมากขึ้นทุกวัน ถูกต่อต้านจนรัฐไม่สามารถบริหารประเทศได้ กลไกรัฐง่อยเปลี้ย หรือกล่าวให้ชัดเจนคือ การชุมนุมเดินขบวนไม่ใช่วิธีการเดียวของการเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรง ยังมีรูปแบบอื่นๆ เช่น การบอยคอตทางเศรษฐกิจและทางสังคม ต่อผู้ที่เป็นกลไกของรัฐในการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม 

ต่อต้านการใช้ความรุนแรงอย่างจริงจัง

ที่กล่าวมา อาจดูเหมือนเรียกร้องต่อขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายเดียว แต่ความจริงแล้วภาคส่วนอื่นๆ ล้วนมีความสำคัญเช่นเดียวกัน ส่วนสำคัญที่จะกำหนดว่าความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ก็คือ ฝ่ายรัฐ จำเป็นต้องยอมรับว่า การเคลื่อนไหวอย่างสงบปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิในระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐต้องอำนวยการให้ประชาชนแสดงออกได้ ไม่ใช่ขัดขวาง หากรัฐใช้ความรุนแรงอย่างไม่สมควรแก่เหตุ ต้องถูกสังคม สื่อมวลชน ประณามอย่างจริงจัง และต้องตรวจสอบลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรง อย่าปล่อยให้เจ้าหน้าที่ใช้กระทำความรุนแรงต่อประชาชน โดยไม่ต้องรับผิด ดังกรณี คุณพายุ บุญโสภณ ผู้ชุมนุมในช่วงการประชุมเอเปค ถูกยิงด้วยกระสุนยางจนต้องสูญเสียดวงตา 

เสียงสะท้อนหนึ่งจากแกนนำขบวนการเคลื่อนไหว คือ อยากเห็นนักสันติวิธีแสดงออกถึงการปกป้องการชุมนุมอย่างสันติ และต่อต้านการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ อย่างจริงจังและแข็งขันมากกว่านี้ 

ภาคประชาสังคมต้องยอมรับว่า สังคมมีคนที่เห็นต่างกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงต่อกัน หากมีกลุ่มบุคคลใดใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่าง และรัฐเพิกเฉย จะยิ่งทำให้แต่ละฝ่ายใช้กำลังตอบโต้กันไปมา จนกลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เหมือนการปะทะกันระหว่างการเมืองสีเสื้อต่างๆ

ตัวอย่างดีๆ ที่ควรกล่าวถึงกรณีที่คุณนิติธร ล้ำเหลือ หรือ ‘ทนายนกเขา’ แกนนำ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ยืนชูกระดาษที่มีข้อความ “ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ห้ามผ่าน” ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร 63 ที่กำลังเดินไปทำเนียบรัฐบาล ในตอนหัวค่ำของวันที่ 21 ตุลาคม 2563 แต่กลุ่มผู้ชุมุนมก็ห้ามปรามกันเอง ไม่มีใครทำร้ายคุณนิติธร ดังนั้นสังคมและสื่อต้องไม่ยอมรับเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยกพวกทำร้ายคนที่เห็นต่างอย่างเด็ดขาด นักสิทธิมนุษยชน นักสันติวิธี ต้องร่วมกันเรียกร้องให้ตำรวจดำเนินคดีกับบุคคลที่ทำร้ายคนที่เห็นต่างอย่างจริงจัง โดยไม่เลือกปฏิบัติ

หากทุกฝ่ายช่วยกันสร้าง mindset ใหม่ว่า การเคลื่อนไหวนอกสภา ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความรุนแรง และจับจ้องผู้ที่ใช้ความรุนแรงไม่ให้ล้ำเส้น เราก็จะช่วยป้องกันความรุนแรง เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเมื่อการปะทะกันเกิดขึ้น มีแต่รัฐที่ได้ประโยชน์ แต่คนที่เดือดร้อนที่สุดคือ คนบาดเจ็บ ล้มตาย พิการ และครอบครัว ส่วนขบวนการเคลื่อนไหวก็หาได้บรรลุเป้าหมายไม่ ‘14 ตุลา โมเดล’ ที่ว่า รัฐใช้ความรุนแรงแล้วต้องถูกเนรเทศ ไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

สังคมต้องช่วยกันแสดงออกอย่างชัดเจนว่า จะไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

Photographer

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า