ร้านกาแฟปลอด WiFi และไม่ให้ใช้แล็ปท็อป

credit: http://fraeuleinanker.de/lisbon-hipster-coffee-guide-22/?lang=en

ร้านกาแฟหลายแห่งในมหานครนิวยอร์ค หันมาให้บริการแบบไร้ WiFi บางร้านถึงขนาดไม่อนุญาตให้นำแล็ปท็อปเข้ามา

“ในรถไฟใต้ดินก็มี WiFi เรามี WiFi อยู่ทุกๆ ที่แล้ว” เจเรมี ไลแมน หุ้นส่วนของร้าน Birch Coffee ที่มีสาขาเล็กๆ ในนิวยอร์คอีกแปดสาขาให้เหตุผลอีกว่า “ทำไมเราไม่ใช้พื้นที่นี้ในการหยุดการเชื่อมต่อ (disconnect) แล้วคุยกับคนที่นั่งใกล้ๆ กับคุณแทนล่ะ”

Birch Coffee หยุดให้บริการ WiFi มากว่าหนึ่งปีแล้ว ก่อนหน้านั้นเขาเตรียมตัวรับมือลูกค้าที่จะบ่นว่าเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่อ่อนมาก แต่เอาเข้าจริงแล้ว “ผลตอบรับก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิดเอาไว้” ไลแมนบอก

ขณะเดียวกันยอดขายของร้านก็เพิ่มขึ้น เพราะรอบของการเปลี่ยนโต๊ะถี่ขึ้น – นั่งแช่น้อยลง

แต่ที่ดีที่สุดสำหรับไลแมนคือ เมื่อเดินเข้ามาในร้าน นอกจากจำนวนแล็ปท็อปที่น้อยมาก คือภาพของคนส่วนใหญ่นั่งคุยกัน “มันเป็นภาพที่ดีมากๆ เลย” ไลแมนเผย

Café Grumpy ร้านกาแฟท้องถิ่นอีกร้านในนิวยอร์ค ที่ไม่ได้งดเฉพาะ WiFi แต่ยังไม่อนุญาตให้ลูกค้านำแล็ปท็อปเข้ามา กฎดังกล่าวบังคับใช้กับอีกแปดสาขาย่อยอีกด้วย

“ก่อนหน้านี้ ลูกค้าเหมือนจะมาสร้างโลกส่วนตัวในร้าน โดยไม่คุยกับคนอื่นๆ เลย” แคโรไลน์ เบลล์ หุ้นส่วนและผู้บริหาร Café Grumpy แจงที่มาที่ไป

แล้วผลเป็นยังไงล่ะ?

เบลล์บอกว่า บรรยากาศภายในร้านสนุกขึ้น มีการสื่อสารพูดคุยกันมากขึ้น

“นี่สิถึงจะเรียกว่าอยู่ในมหานครนิวยอร์คจริงๆ” เธอเปรียบเทียบ

Birch Coffee ไปไกลกว่านั้น ด้วยการพยายามให้ลูกค้าใช้เวลาคุยกันมากขึ้น ไลแมนจึงสร้างการ์ดหัวข้อสนทนาขึ้นมา โดยเขาจะวางไว้บนโต๊ะ ชักชวนให้คนแปลกหน้านั่งลงคุยกันตามหัวข้อนั้นๆ เช่น หนังสือที่เปลี่ยนชีวิต ซูเปอร์ฮีโร่คนโปรด ฯลฯ

ไม่ใช่เรื่องเก๋ แต่เพื่อปากท้อง

โจดี วาเลน ก็เป็นอีกคนที่เปิดร้านเบเกอรีแบบปลอด WiFi ชื่อ August First ในเมืองเวอร์มอนท์ รัฐนิวอิงแลนด์ สหรัฐอเมริกา

“เราเห็นลูกค้าหลายคนเดินเข้ามาในร้าน มองหาโต๊ะ แต่ไม่มีก็เดินออกไป มันเหมือนเราทำเงินหายไปด้วย”

สามปีที่แล้ว วาเลนจึงตัดสินใจ แต่ก็ไม่เด็ดขาด เธอเริ่มจากการปิดให้บริการ WiFi ก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ บอกลูกค้า ขอความร่วมมือไม่นำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้ามาในร้าน ขั้นตอนนี้เธอใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน วาเลนบอกว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิต

ผลที่ได้คือ ลูกค้าหลายคนคอตกเดินกลับไป แต่ยอดขายของร้านเพิ่มขึ้น

ในมุมของนักศึกษาและลูกค้าร้าน August First อย่าง ลูนา โคลท์ ไม่เห็นด้วย

“การมานั่งทำงานที่ร้านยาวๆ หมายความว่าคุณต้องลุกไปซื้อเมนูอะไรก็ได้ทุกๆ สองชั่วโมง ตอนเช้าก็ซื้ออาหารเช้า อีกไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงมื้อกลางวัน ฉันคิดว่าเจ้าของร้านไม่น่าจะสูญเสียรายได้อะไรไป”

แต่วาเลนก็อธิบายว่า เมื่อนั่งอยู่ในร้าน ลูกค้าแต่ละคนจะใช้เงินโดยเฉลี่ยชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์หรือต่ำกว่านั้น ขณะที่ลูกค้าที่มาพร้อมแล็ปท็อปจะใช้เงินโดยเฉลี่ยชั่วโมงละ 5 ดอลลาร์โดยสามารถนั่งได้นานถึงสี่ชั่วโมง บางครั้งอาจจะต่ำกว่านั้น เพราะจำนวนคนต่อโต๊ะอาจจะน้อยกว่าเครื่องดื่มและเมนูที่สั่ง

“เราไม่สามารถอยู่รอดได้จริงๆ ถ้าลูกค้าทุกคนมาพร้อมกับแล็ปท็อป” วาเลนย้ำ

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:  theguardian.com
wsj.com
npr.org

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า