เมื่อเครื่องดื่มในคาเฟ่ถูกนำมาบอกเล่า #FEELINGBADISGOOD

ไปดื่มเหล้ากันไหมวันนี้?

เป็นคำชวนที่ได้ยินบ่อยๆ เมื่อใครก็ตามในกลุ่มเพื่อนกำลังมีวันแย่ๆ วิธีแก้ปัญหาหนีไม่พ้นการออกไปดื่มเหล้า กินของอร่อยๆ พ่นคำระบายลงโซเชียล ออกกำลังกาย ไปจนถึงล้มตัวลงนอนแล้วภาวนาว่าเดี๋ยววันพรุ่งนี้ มันก็คงหายไป

แต่ดูเหมือน ตุ้ย-ธิดารัตน์ ไทยานนท์ จาก Faiyen Design Studio เจ้าของโปรเจ็คต์ Mood Hopping ที่เป็นหนึ่งในงาน Bangkok Design Week 2020 ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ จะกำลังบอกเราว่านั่นอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับอารมณ์

จัดการ ไม่ใช่กำจัด

ตรงเข้ามาในซอยอารีย์ 4 ฝั่งเหนือ ป้ายนีออนบนกระจกร้าน Feeling bar เอ่ยคำทักทายเราว่า “How Are You Feeling Tonight?” ร้านที่เคยถูกล้อมรอบไปด้วยแสงไฟสีแดงๆ ม่วงๆ ตอนกลางคืน กลายเป็นร้านที่มีผนังสีขาวเรียบๆ หน้าร้านมีโปสเตอร์งาน Mood Hopping ประดับไว้เป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า ที่นี่ถูกเปลี่ยนจากร้านเหล้าที่คนเศร้ามักพากันมาชำระล้างอารมณ์ เป็น Information Spot ของโปรเจ็คต์ที่ไม่สนับสนุนให้อารมณ์แย่ๆ ของเราถูกกำจัดออกไปอย่างง่ายดายเช่นนั้น

“ไอเดียตั้งต้นของโปรเจ็คต์นี้มาจากการอ่านหนังสือ แล้วก็ดู Ted Talk ของ ซูซาน เดวิด (Susan David) ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Emotions” พี่ตุ้ยเล่าให้ฟังด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม “เขาบอกว่าคนเรามักมี response ต่ออารมณ์อยู่สองแบบ ถ้าไม่วนๆ พ่นๆ บ่นๆ ระบายออกไป แต่ไม่เคยดีลกับมันจริงๆ ก็จะเป็นอย่างที่สอง คือเวลามีอารมณ์แล้วเก็บ ไม่พูด ไม่บอก กดๆ ให้มันหายไป โปรเจ็คต์นี้จึงเป็นการเอาอารมณ์เหล่านั้นมาบรรจุไว้ในขวดที่อยู่ในคาเฟ่บรรยากาศดีๆ ให้คนที่ไป Hop เหมือนดื่มอารมณ์ negative ลงไปแล้วก็ยอมรับมัน ยอมรับว่ามีอารมณ์ตัวนี้นะ จากนั้นก็โชว์อัพโดยการเขียนถึงมันที่ร้าน อารมณ์ของเราก็จะสะท้อนผ่านเครื่องดื่มว่ามันมีส่วนผสมมาจากอะไรบ้าง”

Mood Hopping เป็นโปรเจ็คต์คล้ายกับ Cafe Hopping ที่นิยมกันในยุคหลัง แต่เป็นการนำเอาเครื่องดื่มจากคาเฟ่ทั้งย่านมาเชื่อมกับอารมณ์ เป็นตัวแทนอารมณ์ด้านลบทั้ง 5 อารมณ์ ที่พี่ตุ้ยบอกว่าตอนเริ่มโปรเจ็คต์ ได้ไปคุยกับนักจิตบำบัด แล้วเขาบอกว่าปัญหาสุขภาพจิตของหลายคนมีพื้นฐานมาจากอารมณ์ 5 ตัวนี้ นั่นคือ jealousy (ความอิจฉา) anger (ความโกรธ) sadness (ความเศร้า) anxiety (ความวิตกกังวล) แล้วก็ guilt (ความรู้สึกผิด)

แต่ละร้านที่เป็นตัวแทนแต่ละอารมณ์ก็จะตีความอารมณ์นั้นๆ ออกมาเป็นเครื่องดื่มที่แตกต่างกันไป เป็นโอกาสในการขายความคิดสร้างสรรค์ของร้าน ที่ทำให้นอกจากคนไป Hop จะได้ดื่มอะไรอร่อยๆ แล้ว ยังได้มีโอกาสคุยกับตัวเองผ่านกระดาษที่แต่ละร้านจะแจกให้เราเขียนถึงอารมณ์นั้นๆ ด้วย ตามที่พี่ตุ้ยบอกว่า “เป็นการ exercise mental health คือเราได้คุยกับตัวเองในเรื่องที่ไม่เคยมีใครชวนคุยมาก่อน”

มนุษย์หลายคนมักตั้งตนเป็นศัตรูกับอารมณ์แย่ๆ เป็นเรื่องธรรมดา เพราะการทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดมันไปให้พ้นตัวฟังดูง่ายและเป็นประโยชน์กว่าการยอมรับมัน แต่จริงๆ แล้ว emotional acceptance ต่างหากที่จะทำให้เราคุ้นเคยกับอารมณ์แย่ๆ และเรียนรู้ที่จะรับมือกับมัน ในขณะที่การพยายามหลีกเลี่ยงไม่ได้ช่วยให้เราเรียนรู้อะไรนอกจากต้องเปลืองพลังงานในการกำจัดมันมากกว่าเดิม

“ถ้าพูดถึงเรื่องสุขภาพจิต ส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงโรคซึมเศร้า หรือ mental illness อะไรพวกนี้ ซึ่งจริงๆ ยังมีอีกหลายคนที่ยังไปไม่ถึงตรงนั้น เรื่องสุขภาพจิตไม่ได้มีแค่ mental illness อย่างเดียว mental health ก็ต้องได้รับการทรีตเหมือนกัน คือเราต้องรู้ทันมัน รู้ว่าเราควรจะ react กับมันยังไง ไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเปลี่ยนไปยังไง เราก็จะปรับตัวได้ ตรงกับคอนเซ็ปต์ resilence เลย เพราะเดี๋ยวนี้เมืองมันเปลี่ยนไปเร็วมาก คนเราก็ต้องปรับตัวเรื่องสุขภาพจิตกันเยอะ” พี่ตุ้ยเล่าต่อ

“ทีนี้ ทุกย่านในเมืองก็จะมีคาแรคเตอร์ของมัน แล้วคาแรคเตอร์ของอารีย์ก็คือคาเฟ่ เราเลยดึงคาแรคเตอร์นี้ขึ้นมา เชื่อมกับสิ่งที่เราสนใจ แล้วมันก็เชื่อมกับคนได้ทุกคน นั่นคือเรื่องอารมณ์”

ขวดบรรจุเครื่องดื่มจากทุกร้านวางเรียงรายอยู่บนโต๊ะ ดีไซน์ถูกคุมโทนด้วยคู่สีที่อยู่ตรงข้ามกันอย่างสีฟ้าและสีส้ม แม้จะเป็น Design Studio ที่ฝีมือการออกแบบจัดจ้าน Faiyen กลับเลือกทำโปรเจ็คต์ที่ไม่ได้มีการออกแบบเป็นตัวเอกของงาน

“เราอยากทำงานออกแบบที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนมากขึ้น ไม่ใช่งานที่มายืนดูแล้วสวย ว้าว แล้วก็จบ เราอยากให้ดีไซน์มันไป cross กับคอนเทนต์ที่เป็นชีวิตประจำวัน”

แต่ด้วยความอารีย์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองคาเฟ่ เมืองแฟชั่น เมืองฮิปสเตอร์ ราคาเครื่องดื่มของแต่ละร้านจึงพุ่งขึ้นหลักร้อย และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงราคานี้ได้

พี่ตุ้ยพยักหน้าเห็นด้วย “ยอมรับว่าตรงนี้ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งเหมือนกัน แต่เพราะว่าเราอยากให้ทุกร้านปล่อยของกันให้เต็มที่ที่สุด creative กันให้มากที่สุด คือมีวัตถุดิบอะไรก็ใส่มาให้หมด เราเลยไม่อยากไปกดราคาเขา ให้เขาคิดราคาตาม range ของร้านมาเลย”

“โปรเจ็คต์นี้มันไม่ใช่แค่ creativity ของฝั่งเราอย่างเดียว แต่มันมาจาก creativity ของฝั่งร้านด้วย”

Hor Hidden Cafe: Jealousy

“ความอิจฉาคืออารมณ์ด้านลบที่คนมักไม่ยอมรับมากที่สุด” เป็นประโยคหนึ่งที่ฉันยังคงจำขึ้นใจตั้งแต่เห็นผ่านตาครั้งแรก

คิดเอาเองแบบมั่วๆ สำหรับฉันอาจจะเป็นเพราะว่าความอิจฉาเกิดจากการเห็นคนอื่นได้ดีกว่าแล้วอยากได้อยากมีแบบนั้นบ้าง การยอมรับว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นจนถึงขั้นต้องไปอิจฉาเขาจึงทำให้รู้สึกสมเพชตัวเองอยู่กลายๆ

เพราะเป็นอารมณ์ที่มีภาพลักษณ์แย่มาก รสชาติของความอิจฉาจึงเป็นสิ่งที่ฉันอยากลองดื่มเป็นพิเศษ

Hor Hidden Cafe หนึ่งในร้านที่ได้โจทย์นี้ไป นำเสนอความอิจฉาอย่างตรงไปตรงมาออกมาเป็น 3 เมนูที่แทนด้วย 3 ตัวละคร และเลือกที่จะเล่าเป็นเรื่องรักสามเส้าเพื่อให้คนเข้าใจง่าย

หนึ่ง แรด มือที่สามยั่วๆ ที่มีส่วนผสมของเอสเปรสโซ่ขมๆ รวมกับความเปรี้ยวของแพสชั่นฟรุต

สอง เข็มฉีดยา มือที่หนึ่งที่มีความหวานของสตรอเบอร์รีอยู่ด้านบน ส่วนด้านล่างซ่อนความขมของเอสเปรสโซ่เอาไว้

สาม แมงป่อง คนกลางที่มีเบสเป็นมัทฉะผสมกับอัญชัญมะนาว ออกมาเป็นเครื่องดื่มสีเข้มๆ ที่มองด้วยตาอย่างเดียวคงไม่รู้ว่าในนั้นมีอะไรบ้าง

ฉันเลือกสั่งเมนูแรดตามประสาคนชอบกินอะไรเปรี้ยวๆ และพบว่าความอิจฉาแก้วนี้กินง่ายกว่าที่คิด อาจเพราะว่าเบสเอสเปรสโซ่ไม่ได้เข้มมาก พอมาเจอกับความเปรี้ยวแบบหวานๆ ของแพสชั่นฟรุต ก็ทำให้แก้วนี้กลายเป็นกาแฟที่แม้แต่คนไม่ดื่มกาแฟก็น่าจะดื่มได้ไม่ยาก

ส่วนเพื่อนที่ไปด้วยกันสั่งเมนูสุดท้าย แมงป่องที่มีเบสเป็นมัทฉะ แก้วนี้ไม่ได้รสชาติของชามากนัก เพราะมีอัญชัญมะนาวเข้ามาร่วมบวกด้วย แวบแรกที่กินเข้าไป เราจึงมองหน้ากันงงๆ ว่านี่คือมัทฉะจริงหรือ แต่พออ่านคำอธิบายของเมนูในเว็บแล้วก็เข้าใจได้

“รสชาติแรกก็ดีอยู่แล้ว แต่เห็นเขามีหลายรส ก็อิจฉาอยากมีอยากเป็นเหมือนกับเขาบ้าง เลยเติมรสนั่น ใส่รสนี่ สุดท้ายรสชาติจากส่วนผสมหลากหลายก็เปลี่ยนไป”

Landhaus Bakery: Anger

ความโกรธสองแก้วที่เราสั่งมีสีแดงทั้งคู่

ไม่ใช่เรื่องเข้าใจยาก เพราะใครๆ ก็รู้ว่าสีแดงเป็นสีคลาสสิกของความโกรธ Landhaus จึงเสิร์ฟ Red Berries สีแดงสดมากับแก้วให้เราเทเครื่องดื่มในขวดลงไป เมนูแรกที่ฉันสั่งคือ Furious Cold Brew Coffee กาแฟ Cold Brew ผสมกับ Red Berries สื่อถึงความโกรธที่ถูกพัฒนาไปเป็นความกล้าเสี่ยง และผลลัพธ์ของมันก็ออกมาเป็นรสชาติที่เข้มข้นจากความลงตัวของผลไม้รสเปรี้ยวกับกาแฟรสขม

ส่วนอีกเมนูคือ Rage Against Tea Berry รสชาติของการแข่งขันระหว่างชากับ Red Berries ซึ่งยกนี้ ฉันให้ Red Berries เป็นผู้ชนะ เพราะความเปรี้ยวของมันกลบรสของชาจนเกือบหมด

หลายคนบอกว่า อย่าตัดสินใจทำอะไรเวลาโกรธ

แต่ความโกรธสองแก้วนี้ก็โต้กลับด้วยการบอกว่า บางครั้ง ความบ้าบิ่น กล้าเสี่ยงที่มาจากความโกรธ ก็อาจทำให้ผลลัพธ์ของมันออกมารสชาติดีเหมือนกัน

Perfect Strangers: Anxiety

เพราะว่ากลัวความผิดพลาด กลัวความล้มเหลวจนทำให้ตัวเองพังอยู่บ่อยๆ ฉันจึงมักถูกสอนให้รู้จัก “ช่างแม่ง” อยู่เสมอ

ทำตัวให้ชินกับความผิดพลาด แล้วเราก็จะไม่กลัวมันอีกต่อไป

เป็นอีกเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำยาก

เริ่มจากทำตัวให้ชินกับอารมณ์ที่ผลิตความกลัวนั้นออกมาก่อนเลยแล้วกัน

ความวิตกกังวล หรือ anxiety เป็นอีกอารมณ์ที่ไม่น่าคบหาด้วยเท่าไหร่ แต่มันก็มักดื้อดึงมาขอนั่งข้างๆ เสมอเวลาทำงาน ฉันเดินผ่านประตูไม้สองชั้นเข้ามาในคาเฟ่กึ่งบาร์ Perfect Strangers มี 3 เมนูจากความวิตกกังวลให้เลือก

ฉันสั่งเมนูสุดท้าย ‘ศรีนวล’

ร้านเสิร์ฟเครื่องดื่มมาให้ดื่มจากขวดโดยตรง จึงรู้สึกเหมือนกำลังกระดกเหล้าอยู่หน่อยๆ ศรีนวลคือน้ำเกรปฟรุตที่มีส่วนผสมของใบโหระพา และมีพริกแห้งเม็ดใหญ่ลอยตัวอยู่ข้างใน ได้รสชาติเผ็ดๆ หวานๆ ปนกันจนบอกไม่ถูกว่าแสบคอหรือชุ่มคอ แต่ที่แน่ๆ มันคือรสชาติของความวิตกกังวลไม่ผิดฝาผิดตัวแน่นอน

ฉันเขียนถึง anxiety ของตัวเองลงไปในกระดาษที่ร้านแจกให้ พร้อมกับดื่มศรีนวลไปด้วย

anxiety จริงๆ ไม่ได้อร่อยเหมือนศรีนวลเลย แต่การได้เขียนเรื่องที่กังวลลงไปมันก็เหมือนการได้ถอยหลังกลับมามองดูมันเต็มๆ ตา ทบทวนว่ามันมีส่วนผสมมาจากอะไรบ้าง อาจจะไม่ได้อร่อยและเข้ากันดีเหมือนพริกแห้งกับเกรปฟรุต แต่พอได้มองเห็นมันชัดๆ แล้ว ฉันถึงรู้สึกว่าตัวเองยังพอมีที่ทางให้อารมณ์นี้อยู่ด้วยโดยไม่ทำชีวิตพังได้บ้าง

Sa-ti Handcraft Coffee: Sadness

ทุกร้านที่ Hop มาจะมีเครื่องดื่มอารมณ์ร้านละ 3 เมนู ฉันจึงแปลกใจนิดหน่อยเมื่อเข้ามาในร้านสติแล้วพบว่าร้านนี้มีความเศร้าให้เลือกดื่มเพียงเมนูเดียว

“เราอยากนำเสนอให้มันชัดเจนไปเลยว่าความเศร้าของเราเป็นยังไง เลยตัดสินใจให้มีแค่เมนูเดียว เรื่องเดียว” บาริสต้าสาวที่ประจำอยู่หลังเคาน์เตอร์บอกว่าอย่างนั้น ก่อนจะยกเครื่องดื่มที่เป็นกาแฟ Cold Brew ผสมกับยาหอมมาเสิร์ฟ

“ดื่มแล้วนึกถึงอะไร?”

เธอถามเมื่อเห็นพวกเราจิบเข้าไปคนละอึกใหญ่ๆ ฉันกับเพื่อนมองหน้ากัน ก่อนจะตอบตรงกันว่า “นึกถึงคุณยายที่บ้าน”

เป็นจริงอย่างที่เธอบอกก่อนหน้านี้ ที่ร้านสติมีเครื่องดื่มของความเศร้าเพียงเมนูเดียวเพราะว่าอยากนำเสนอให้ชัดเจน แล้วมันก็ชัดเจนเช่นนั้นจริงๆ ฉันแน่ใจว่าไม่ว่าใครได้ดื่มก็คงนึกถึงคนแก่ที่บ้าน ที่มีกลิ่นยาหอมเป็นกลิ่นประจำตัวเหมือนกัน

แม้ว่าเรื่องราวเบื้องหลังแก้วนี้จะเป็นความเศร้าจากการสูญเสียคุณยายในวัยเด็ก แต่บาริสต้ากลับบอกว่าความสูญเสียไม่ใช่คอนเซ็ปต์ความเศร้าของเรา แต่เป็นความคิดถึงต่างหาก

“เราว่าความคิดถึงมันมักจะมีความเศร้าเข้ามาผสมอยู่ด้วยนะ” เธอบอก

ฉันร้องว้าวในลำคอ ไม่มีอะไรจะพูด นอกจากแสดงความเห็นด้วยอย่างหนักแน่นว่า “จริงค่ะพี่”

สำหรับคนที่ไม่เคยชอบกลิ่นยาหอมของยายเลยอย่างฉัน ก็เพิ่งได้รู้ว่ารสชาติของมันนุ่มนวลกว่าที่คิด

Oh Vacoda Cafe: Guilt

Oh Vacoda เป็นร้านสีชมพูพีชสะดุดตา มีเวสป้าคันสีเหลืองจอดเป็นกิมมิคอยู่ด้านหน้า ดูน่ารักเสียจนแวบแรกฉันเผลอคิดไปว่าที่นี่ดูไม่เข้ากับอารมณ์ guilt หรือความรู้สึกผิดเอาเสียเลย

แต่ก็เพราะเป็นร้านน่ารักๆ อย่างนี้แหละ ความรู้สึกผิดของที่นี่จึงถูกตีความออกมาในแบบน่ารักๆ ไปด้วย

ร้านยังคงคอนเซ็ปต์ของตัวเองที่ใช้อะโวคาโดเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มทุกแก้ว เมนูความรู้สึกผิดที่คิดมาใหม่จึงมีอะโวคาโดผสมอยู่ด้วยเช่นกัน แก้วที่ฉันสั่งคือ Avocado Lime Tea ชาหวานๆ กับอะโวคาโดที่มีส่วนช่วยในการสลายไขมันอุดตันในเส้นเลือดและลดความอ้วน เพราะ guilty ของร้านนี้คือ “guilty pleasure” ร้านจึงนำเครื่องดื่มหวานๆ อ้วนๆ มารวมกับอะโวคาโดที่มีประโยชน์กับร่างกาย ทำให้เราไม่ต้องรู้สึกผิดกับแก้วนี้มากนัก

“จริงๆ แล้วถ้าพูดถึงธีมเรื่องการออกแบบเมือง เราก็อยากเห็นหัวข้ออื่นในอารีย์ถูกหยิบขึ้นมาพูดเหมือนกันนะ” เจ้าของร้านบอกเมื่อฉันถามถึงโปรเจ็คต์ใน Bangkok Design Week “ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าอารีย์คือเมืองคาเฟ่ เราเลยอยากเห็นคนไปทำเกี่ยวกับร้าน local พวกร้านหอยทอดอะไรอย่างนี้ด้วย”

ฉันพยักหน้า หันไปมองนอกหน้าต่างแล้วก็เห็นคุณลุงขายลูกชิ้นเข็นรถไปตามถนนแคบๆ ที่มีทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และคนเดินสวนกันไปกันมา แล้วนึกขึ้นได้ว่าระหว่างเดิน Hop ไปทั่วอารีย์เพื่อสำรวจอารมณ์ผ่านเครื่องดื่มแล้ว ฉันยังได้สำรวจเรื่องการเดินทางของที่นี่ไปด้วยอย่างไม่ได้ตั้งใจ

โปรเจ็คต์นี้มีจักรยานเป็นสปอนเซอร์ก็จริง แต่ดูเหมือนสภาพถนนจะไม่เหมาะกับการปั่นจักรยานนัก “บางซอยยังไม่มีฟุตบาธให้เดินเลยด้วยซ้ำ” เธอพูดติดตลก ส่วนฉันและเพื่อนหัวเราะเสียงดัง เพราะนั่นเป็นปัญหาที่เราเจอมาตลอดหลายชั่วโมง

เย็นวันนั้น กว่าจะเดินจากร้าน Oh Vacoda ไปถึงซอยอารีย์ 1 ฉันเดินตัวลีบติดกำแพง โดนรถบีบแตรใส่ และต้องคอยดึงตัวเพื่อนเข้ามาชิดขอบถนนเพราะเกือบถูกมอเตอร์ไซค์เฉี่ยวไปหลายครั้ง

ทำเอาลืมวิธีจัดการอารมณ์สวยๆ ที่เพิ่งเรียนรู้มาไปเลยทีเดียว

Author

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า