One Belt, One Road: 5 โครงการเชื่อมฝัน เชื่อมโลกของจีน

ภาพประกอบ: Shhhh

 

หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า ‘เส้นทางสายไหม’ ที่ถือเป็นมรดกทางอารยธรรมของมนุษยชาติ เป็นเส้นทางการค้าและวัฒนธรรมที่เชื่อมโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน

One Belt, One Road หรือ เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลศตวรรษที่ 21 ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อสร้างความรุ่มรวยโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมโยงโลกทั้งใบที่ถือว่าเป็นความฝันอันสูงสุดของจีน ณ เวลานี้

การประชุมสุดยอดยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Forum) ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงเป็นการชักชวนให้นานาประเทศร่วมกันลงทุนผ่านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน รถไฟ ท่าเรือน้ำลึก หรือโรงงานไฟฟ้าก็ตาม

ชวนอ่านเรื่องราวและเบื้องหลังของประชุมสุดยอดยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Forum)

เนื่องจาก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เห็นโอกาสที่ว่า โลกาภิวัตน์ (ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ต้องการ) สามารถสร้างเงินสร้างทองให้จีน และก้าวผ่านเป็นประเทศพัฒนาแล้วดังที่ฝันเอาไว้ รวมถึงยังแพร่ขยายอิทธิพลของตนให้กลายเป็นมหาอำนาจสำคัญของโลก

WAY ชวนดูห้าโครงการหลักยักษ์ใหญ่ที่จะช่วยเชื่อมโลกทั้งใบ สานฝันให้ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมของมังกรจีนเป็นจริง

รถไฟไปอิหร่าน

นับเป็นการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมให้กลับมาเป็นรูปธรรมอีกครั้ง รวมถึงเป็นการประกาศให้โลกรู้อย่างชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมนี้จะต้องทำให้ได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงหลักนิยม China Dream ของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เท่านั้น

ขบวนรถไฟบรรทุกสินค้ามีทั้งหมด 32 ขบวน ระยะเดินทาง 9,500 กิโลเมตร โดยเริ่มออกเดินทางจากมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) ภาคตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2016 ผ่านคาซัคสถาน เติร์กเมนิสถาน และเดินทางถึงกรุงเตหะราน เมืองหลวงอิหร่าน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2016 – ใช้เวลาน้อยกว่าเส้นทางเดินเรือจากเซี่ยงไฮ้มายังท่าเรือบันดาร์อับบาสที่ยาวนานถึงหนึ่งเดือน

นอกจากนั้น รถไฟเส้นนี้ยังผ่าน Khorgos Gateway ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจ็คท์ของยุทธศาสตร์นี้เช่นกัน โดยข้ามจากคาซัคสถานไปยังเส้นทางเครือข่ายรถไฟของรัสเซีย และหยุดที่เมืองอัลมาตี (Almaty) จุดเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจากจีนไปยังกรุงเตหะราน และจากจีนไปยังลอนดอน

สำหรับจีนแล้ว อิหร่านถือเป็นกุญแจที่สำคัญในการเปิดประตูเข้าไปสู่ภูมิภาคเอเชียกลาง ส่วนเตหะรานเองยังหวังว่า รถไฟเส้นนี้จะช่วยให้อิหร่านกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญของบริเวณรอยต่อยุโรปและเอเชีย หรือ Eurasia โดยทั้งสองต่างคาดว่า จะสามารถเพิ่มพูนมูลค่าการค้าถึง 600,000 ล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 10 ปีหลังจากนี้

รถไฟไปลอนดอน

เส้นทางขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าจากจีนไปลอนดอนเป็นเส้นทางรถไฟที่ยาวที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์จากจีนไปยังกรุงลอนดอน ระยะทางทั้งหมด 12,000 กิโลเมตร โดยเริ่มออกเดินทางเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2017 จากเมืองอี้อู้ (Yiwu) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองสำคัญในแม่น้ำเหลือง ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเส้นทางรถไฟที่สำคัญ ไล่ไปยังคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส และถึงลอนดอนเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2017

น่าสนใจตรงที่ว่า เส้นทางรถไฟไปลอนดอนผ่านหลายเมืองสำคัญ เช่น ในพื้นที่ที่ความขัดแย้งยังคุกรุ่นอย่างเขตปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์ แต่เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมโบราณที่เชื่อมโยงจีนกับตะวันออกกลาง ส่งผลให้เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 จำต้องผ่านอีกครั้ง ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่คาดว่า เป็นไปได้ที่จีนกำลังพยายามใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งในดินแดนดังกล่าว

เมื่อรถไฟมุ่งหน้าเข้าสู่รัสเซียได้ผ่านเมืองเยคาเตรินบูรก์ (Yekaterinburg) เมืองใหญ่อันดับที่ 4 ของรัสเซีย และเคยเป็นศูนย์การผลิตที่สำคัญที่สุดตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต ก่อนจะวิ่งเข้าสู่กรุงมอสโคว์ เมืองหลวงรัสเซีย

ส่วนท่าทีของอังกฤษ นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า สิ้นปีนี้เธอจะไปเยือนจีน เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ทางการค้าร่วมกัน เนื่องจากกระบวนการ Brexit ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากเธอตัดสินใจแจ้งต่อสหภาพยุโรปเพื่อถอนตัวจากการเป็นสมาชิก ตามกระบวนการมาตรา 50 ของสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป (article 50 of the Treaty on European Union)

อย่างไรก็ตาม จีนคงไม่หยุดแค่ลอนดอนแน่นอน เพราะแผนสร้างรถไฟถูกวางให้วิ่งตรงไปยังศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรปอย่างเยอรมนีเรียบร้อยแล้ว

ท่าเรือกวาดาร์ (Gwadar Port)

ท่าเรือกวาดาร์ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน ถัดจากช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ที่ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน ทำให้ท่าเรือกวาดาร์ตั้งอยู่จุดบรรจบของสามภูมิภาคที่มีความสำคัญของโลก และเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดอีกแห่งในโลก กล่าวคือ ท่าเรือแห่งนี้จะเป็นจุดสำคัญในการขนถ่ายสินค้าของเอเชียกลางและประเทศในแถบตะวันออกกลาง

ก่อนหน้านี้ กรรมสิทธิ์ดำเนินงานท่าเรือกวาดาร์เป็นของ PSA International Pte Ltd. บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ แต่ช่วงก่อสร้างท่าเรือ รัฐบาลจีนได้ให้เงินช่วยเหลือเป็นเงิน 2.5 ล้านดอลลาร์ หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด

แม้จะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งของโลก แต่ท่าเรือนี้กลับขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2013 คณะรัฐมนตรีปากีสถานเห็นชอบให้บริษัท China Overseas Port Holdings Limited ซึ่งรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของได้รับกรรมสิทธิ์ให้ดำเนินการในครั้งนี้แทน

การที่จีนได้รับกรรมสิทธิ์ดำเนินการท่าเรือแทนสิงคโปร์เมื่อปี 2013 เอื้อผลประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และการทหารให้กับจีนอย่างยิ่ง จีนสามารถสร้างฐานทัพเหนือมหาสมุทรอินเดียได้โดยตรง – ส่งผลให้จีนอยู่่ในสถานะได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้ไปโดยปริยาย

แน่นอนว่า อินเดียมีความกังวลใจและความไม่พอใจอยู่แล้ว กับการที่จีนเข้ามาตีสนิทกับปากีสถาน เพื่อนบ้านที่อินเดียยังคงมีข้อพิพาทกรณีแคว้นแคชเมียร์ รวมถึงจีนสามารถเข้ามาหาผลประโยชน์ในมหาสมุทรอินเดียได้โดยตรงอีกด้วย รัฐบาลอินเดียจึงกล่าวโจมตีจีนว่า กำลังเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองในภูมิภาคนี้อยู่ ซึ่งจีนก็ให้การปฏิเสธว่า นี่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เห็นโอกาสจากท่าเรือกวาดาร์ที่จะสามารถกลายเป็นเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 ได้ จึงขยายและพัฒนาท่าเรือกวาดาร์ให้กลายเป็นเมกะโปรเจ็คท์ที่ใหญ่ที่สุดในห้าโปรเจ็คท์

ไม่เพียงเท่านั้น จีนและปากีสถานยังตกลงร่วมมือกันทางเศรษฐกิจผ่านกรอบ China-Pakistan Economic Corridor หรือ CPEC ที่มีมูลค่าทางการค้าสูงถึง 62,000 ล้านดอลลาร์ ยิ่งทำให้สายสัมพันธ์ของปากีสถานและจีนแนบแน่นกว่าเดิม

ที่นี้คงพอเดาได้แล้วว่า ทำไมอินเดียถึงปฏิเสธเสียงแข็งไม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ของจีน

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-เอเชียกลาง

จีนเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานต่างๆ สูงติดอันดับหนึ่งของโลกมาหลายต่อหลายสมัย เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน

เดิมทีจีนพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบมะละกา แต่เส้นทางดังกล่าวเต็มไปด้วยภัยอันตราย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน จีนจึงเสาะหาแหล่งพลังงานและเส้นทางใหม่

เขตปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์ จึงกลายเป็นตัวละครสำคัญในการแก้ไขของจีนในครั้งนี้ กล่าวคือ นอกจากจะเป็นเขตปกครองที่ใหญ่ที่สุดของจีนแล้ว ยังมีพรมแดนติดต่อกับรัสเซีย มองโกเลีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิซสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย รวมถึงตัวซินเจียงอุยกูร์เองก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพลังงานธรรมชาติ จึงหนีไม่พ้นที่จะกลายเป็นฮับของเส้นทางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในเอเชียกลาง

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-เอเชียกลาง เป็นความร่วมมือระหว่างจีนและสี่ประเทศ ได้แก่ เติร์กเมนิสถาน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน ปัจจุบันเปิดให้ใช้งานได้สามเส้น มีความยาวรวมทั้งหมด 1,830 กิโลเมตร

ในปี 2006 เติร์กเมนิสถานจับมือกับจีนร่วมกันขุดเจาะและพัฒนาก๊าซธรรมชาติใน Amu Farya ถือเป็นเส้นทางท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นแรก (A pipeline) ของโครงการดังกล่าว เริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2009 (สมัย ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา) โดยทั้งสองประเทศลงนามเป็นคู่ค้าร่วมกัน 30 ปี และคาดการณ์ว่าจะสามารถส่งมอบก๊าซธรรมชาติได้ถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตร โดยโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญของจีน ที่สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานธรรมชาติที่ยังไม่มีใครเข้าถึงได้

ด้านคาซัคสถานตกลงสร้างท่อก๊าซธรรมชาติกับจีนเมื่อปี 2007 และเริ่มใช้งานเมื่อปี 2010 ซึ่งเส้นที่สอง (B pipeline) เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติจากเส้นแรก และเส้นที่สาม (C pipeline) เริ่มก่อสร้างเมื่อกันยายนปี 2012 และเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2013 โดยมีสถานีอยู่ที่อุซเบกิสถาน

ส่วนเส้นสุดท้าย (D pipeline) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รัฐบาลทาจิกิสถานได้เซ็นสัญญากับจีนเมื่อกันยายนปี 2013 และเริ่มก่อสร้างเมื่อมีนาคมปี 2014 ซึ่งหากสร้างเสร็จทั้งหมด ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-เอเชียกลางจะสามารถส่งก๊าซธรรมชาติได้ถึง 55,000 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์การใช้งานก๊าซธรรมชาติทั้งปีของจีน นั่นหมายถึงจีนสามารถวางใจเรื่องความมั่นคงทางพลังงานไปได้สักพักใหญ่เลยทีเดียว

ประตูแห่ง Khorgos (Khorgos Gateway)

Khorgos หรือ Khorgas เป็นเมืองในเขตการปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นศูนย์การขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่สำคัญของโลก เริ่มเปิดใช้งานเมื่อสิงหาคมปี 2015 โดยมีรัฐบาลจีนร่วมลงทุนมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์

โดย Khorgos Gateway จะกลายเป็นพื้นที่พัฒนาใหม่ข้ามพรมแดนระหว่างจีนและคาซัคสถาน เป็นพอร์ตสำคัญในการขนถ่ายสินค้าของรถไฟบรรทุกสินค้าของนานาชาติ เช่น รัสเซีย ยุโรป เอเชียกลางและอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้ถึง 15 ล้านตันต่อปี และจะพัฒนาให้เป็น 30 ล้านตันต่อปีหลังสร้างเสร็จสมบูรณ์

ประธานาธิบดีคาซัคสถาน นูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ (Nursultan Nazarbayev) กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของ Khorgos Gateway ว่าจะสามารถเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์โลกได้เหมือนกับคลองสุเอซ

ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองยังได้ลงทุนที่จะสร้างให้ Khorgos ไม่ใช่เป็นแค่ฮับศูนย์กลางในการขนถ่ายสินค้า แต่ต้องเป็นเมืองที่สามารถอยู่อาศัยได้อีกด้วย ในปี 2020 เฟสแรกของการสร้างเมืองดังกล่าวจะต้องสามารถรองรับคนได้มากถึง 50,000 คน และในปี 2050 Khorgos จะกลายเป็นเมืองเสร็จสมบูรณ์


อ้างอิงข้อมูลจาก:
multimedia.scmp.com
en.khorgosgateway.com
gwadarport.gov.pk
thaiday.com
cnpc.com.cn/en

 

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า