เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ส่งผลสืบเนื่องถึงปัจจุบัน เพราะแม้จะผ่านมาถึง 16 ปี ประชาธิปไตยไทยก็ยังดูกระท่อนกระแท่นและไม่เข้าร่องเข้ารอยเสียที
คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้ายึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ขณะที่ปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ถัดมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จากนั้นได้แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ในวันที่ 1 ตุลาคม
รัฐประหารครั้งนี้ เป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมาตั้งแต่ปลายปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ได้วิจารณ์ปมการทุจริต ใช้อำนาจโดยมิชอบ และไร้ความสามารถในการจัดการปัญหาชายแดนใต้ของรัฐบาลทักษิณ
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2549 เมื่อตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ เทขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่ เทมาเส็ก โฮลดิ้ง จำกัด จำนวนถึง 73,271 ล้านบาท สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจแก่ชนชั้นกลางไทยเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีการเสียภาษีรายได้ เสมือนการเอื้อประโยชน์แก่ครอบครัว ทำให้ผู้คนจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวในนามกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เหตุการณ์คุกรุ่นเรื่อยมา เพราะแม้ว่าจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หากแต่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ เพราะเป็นการเลือกตั้งที่มิชอบ แล้วจึงกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 โดยที่สถานะรักษาการนายกฯ ของทักษิณยังคงอยู่ตามกฎหมาย ทำให้การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เรียกร้องให้ทักษิณลงจากตำแหน่งยังดำเนินต่อไป
เดือนกันยายน พ.ต.ท.ทักษิณ มีกำหนดการปฏิบัติภารกิจต่างประเทศระหว่างวันที่ 10-21 กันยายน โดยช่วงท้ายคือการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งเช้าของวันที่ 19 กันยายน ตามเวลาของสหรัฐฯ เมื่อเกิดกระแสข่าวการรัฐประหาร ทักษิณจึงมีคำสั่งการให้เผยแพร่สัญญาณสดจากนิวยอร์กมาไทย แต่ยังไม่ทันอ่านแถลงการณ์จบ สัญญาณภาพก็ขัดข้อง สืบเนื่องจากในตอนนั้นเองที่ทหารเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ รวมถึงสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ ไว้หมดแล้ว
ตรงกับช่วงค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2549 ตามเวลาประเทศไทย คณะรัฐประหารนำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จึงแถลงยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณผ่านสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง อ้างว่า “การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทักษิณ ทำให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย” พร้อมให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยใน 1 ปี
นับแต่วันนั้น ผ่านมา 16 ปี เหตุการณ์ยังคงวนลูป ทั้งกระแส ‘รับไปก่อน แก้ทีหลัง’ ในการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ช่างดูละม้ายคล้ายคลึงกับช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 2560 หรือกระแส ‘ปรองดอง’ ที่มักหลุดออกมาจากปากของผู้มีอำนาจในแต่ละยุค รวมไปถึงรัฐประหารในปี 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อ้างถึงจุดประสงค์เพื่อมุ่งสร้างความปรองดองของคนในชาติเช่นกัน
การต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนับแต่นั้น ทั้งเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคม 2553 เพื่อเรียกร้องให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เรื่อยมาจนถึงการเคลื่อนไหวของม็อบราษฎรปี 2563 จึงอาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหารของ ‘บิ๊กบัง’ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในวันนั้น ส่งผลต่อภูมิทัศน์การเมืองไทยในวันนี้อย่างใหญ่หลวง
ในวาระครบ 15 ปี รัฐประหาร (ปี 2564) จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้วิเคราะห์ความสำคัญของเหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า เป็นครั้งแรกที่ขบวนการตุลาการภิวัฒน์และองค์กรอิสระทำผิดกฎหมายอย่างไม่จำกัด คณะรัฐประหารใช้การทำประชามติที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม มาสร้างความชอบธรรมแก่รัฐธรรมนูญที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นครั้งแรก ขณะที่การรัฐประหารในปี 2557 เป็นความต่อเนื่องของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคงมากยิ่งขึ้นและสืบทอดต่อเนื่องไปให้ยาวนานที่สุด
ทั้งกฎกติกาและการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนในฉบับปัจจุบัน ก็มีไว้เพื่อสกัดกั้นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมถึงขั้วการเมืองที่มีอุดมการณ์ต่างจากฝ่ายทหาร ดังกรณีรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ห้ามการดำรงตำแหน่งนายกฯ เกินระยะเวลา 8 ปี (ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กลับเป็นคนแรกที่ต้องรอคำวินิจฉัย) สิ่งนี้สะท้อนว่า ในช่วงเวลา 16 ปี การเมืองไทยยังดูเหมือนเทปเล่นซ้ำ คำถามจึงอยู่ที่ว่า เราจะถอดบทเรียนจากอดีตและก้าวต่อไปในปัจจุบันอย่างไร หรือเรามาถึงองค์สุดท้ายของละครการเมืองเรื่องนี้แล้วกันแน่
อ้างอิง
- 19 กันยา 2549 : อดีตข้าราชการทำเนียบฯ เล่าเหตุการณ์ในนิวยอร์กเมื่อทักษิณรู้ว่าถูกรัฐประหาร
- ย้อนรอย 15 ปี ครบรอบ “รัฐประหาร” รัฐบาลทักษิณ 19 กันยายน 2549
- 16 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 พล.อ.สนธิ นำทีมโค่นอำนาจทักษิณ
- รัฐประหารกว่า 13 ครั้ง 19 กันยายน 2549 เสียหายกว่าครั้งอื่นอย่างไร?
- “16 ปี” รัฐประหาร 49 จาก คมช.ถึง คสช. ข้ามไม่พ้น “ทักษิณ”