[On This Day] 17 มีนาคม 2566 วันนอนหลับโลก (World Sleep Day) คำแนะนำ: ผู้สูงอายุควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 

วันนอนหลับโลก (World Sleep Day) เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2008 โดยสมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก (The World Association of Sleep Medicine: WASM) จุดประสงค์ของการประกาศให้มีวันดังกล่าวเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้คนถึงประโยชน์ของการนอนหลับ ว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ พร้อมมุ่งไปที่การป้องกันและจัดการกับปัญหาการนอนหลับที่ผิดปกติที่คนในสังคมต้องเผชิญ ซึ่งนำไปสู่การนอนหลับที่ไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพ

วันนอนหลับโลกถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะกำหนดให้อยู่ในช่วงก่อนวัน ‘วสันตวิษุวัต’ (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) ของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งก็คือวันที่กลางวันกับกลางคืนมีช่วงเวลาเท่ากัน โดยในปีนี้กำหนดให้วันที่ 17 มีนาคม เป็นวันนอนหลับโลกประจำปี 2023

ธีมของวันนอนหลับโลก ปี 2023 คือ ‘Sleep Is Essential for Health’ หรือ ‘การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพ’ เหมือนๆ กับการกินอาหารดีๆ หรือการออกกำลังกาย ทว่าการนอนหลับกลับไม่ถูกใส่ใจว่าเป็นส่วนสำคัญต่อสุขภาพเท่าไรนัก ซึ่งในวันนอนหลับโลก สมาชิกสมาคมนอนหลับโลก (World Sleep Society) ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกว่า 70 ประเทศ จะร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสังคมในเรื่องการนอนหลับมากยิ่งขึ้น

ในประเทศไทยเอง ภาคส่วนต่างๆ ก็มีการจัดกิจกรรมในวันนอนหลับโลกขึ้นทุกปี และด้วยความที่ประเทศไทยเป็นประเทศสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (aged society) ตั้งแต่ปี 2565 โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ หรือมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นนอกจากการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการนอนหลับสำหรับคนทั่วไปแล้ว ยังต้องสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ผู้สูงวัยอีกด้วย เพราะการนอนหลับเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจที่ดี ใช้ชีวิตได้อย่างแข็งแรง และมีความสุขกับชีวิตในบั้นปลาย

ข้อแนะนำสำหรับการนอนหลับของผู้สูงอายุ 

1. ผู้สูงอายุไม่ควรนอนกลางวัน เพราะอาจส่งผลต่อการนอนไม่หลับในช่วงกลางคืนได้

2. ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยทำให้นอนหลับง่ายขึ้น

3. งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เพราะมีสารออกฤทธิ์ขัดขวางการนอนหลับในเวลากลางคืนได้

4. หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักในช่วงก่อนจะเข้านอนประมาณ 4 ชั่วโมง

5. ก่อนเข้านอน ควรหากิจกรรมที่สร้างความผ่อนคลาย เช่น สวดมนต์ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ

6. ไม่รับประทานยานอนหลับโดยปราศจากการแนะนำของแพทย์ เนื่องจากยานอนหลับจะส่งผลเสียต่อสมอง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น การพลัดหกล้มได้

คำเตือน: การนอนหลับที่ไม่เพียงพอในผู้สูงอายุจะส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เครียด อารมณ์ฉุนเฉียวระหว่างวัน ไม่สดชื่น ทำให้ความจำแย่ลงอีกด้วย

อ้างอิง

อายุที่เพิ่มขึ้นกับปัญหาการนอน

World Sleep Day

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า