Thriller Bark: ในม่านหมอกบนเกาะผีสิง เหล่าซอมบี้ล้วนถูกขูดรีดเยี่ยงแรงงานทาส

ทันทีที่เรือ Thousand Sunny ของกลุ่มหมวกฟาง แล่นผ่าน ‘Florian Triangle’ น่านน้ำอาถรรพ์ที่ปกคลุมไปด้วยหมอก และซุกซ่อนเรือผีสิงอย่างทริลเลอร์บาร์ค (Thriller Bark) (Bark หรือ Barque คือเรือสำเภาชนิดหนึ่งที่มีเสากระโดงมากกว่าหรือเท่ากับ 3 เสา) เอาไว้ เหล่านักอ่านต่างก็ประหลาดใจไม่น้อยที่มังงะยอดนิยมเรื่อง One Piece กลับปรากฏตัวละครลึกลับอย่างผี วิญญาณ ซอมบี้ และมนุษย์ประหลาดนานาชนิด

แม้จะทำให้เหล่าแฟนๆ งุนงง และเนื้อเรื่องก็ดำเนินไปอย่างเนิบช้า จนทำให้ ‘Thriller Bark’ น่าจะเป็นหนึ่งในภาคที่ underrated ที่สุด แต่ขึ้นชื่อว่า เออิจิโร โอดะ (Eiichiro Oda) แล้ว เรื่องที่เขาเล่าย่อมอ่านได้หลายระดับ และยังแอบแฝงนัยและประเด็นทางการเมืองและสังคมที่แหลมคมเอาไว้เฉกเช่นภาคอื่นๆ

ภายใต้ม่านหมอกของเกาะผีสิงที่เปี่ยมไปด้วยสิ่งลี้ลับและมนุษย์ประหลาดกลับซุกซ่อนประเด็นใหญ่โตอย่างการขูดรีดแรงงานอย่างถึงที่สุด แม้จะตายกลายเป็นศพไปแล้วก็ยังถูกปลุกขึ้นมาใช้แรงงาน เส้นแบ่งระหว่างสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต มโนทัศน์ความเป็นมนุษย์ ความรักและมิตรภาพ ตลอดจนความป่วยไข้ทางจิตที่เกิดขึ้นจากระบบสังคม

‘ซอมบี้’ เรือนร่างไร้จิตวิญญาณ แรงงานในอุดมคติ

คงไม่ใช่เรื่องเกินเลยนักหากจะกล่าวว่า สิ่งมีชีวิตครึ่งเป็นครึ่งตายที่เรียกว่า ‘ซอมบี้’ ถือกำเนิดและแพร่พันธุ์ไปทั่วโลกผ่านวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ เพราะตั้งแต่ย่างเข้าศตวรรษที่ 21 ซอมบี้ก็ปรากฏกายผ่านสื่อต่างๆ มากมายหลายแขนง อาทิ วิดีโอเกมชื่อดังอย่าง Resident Evil (1996) ซีรีส์โทรทัศน์อย่าง The Walking Dead (2010) หนังใหญ่ๆ อย่าง World War Z (2013) และ Train to Busan (2016) หรือเพลงฮิตอย่าง Zombie ของวง The Cranberries

งานศึกษาซอมบี้ (Zombie Studies) หลายชิ้น โดยเฉพาะงานของ เดเนียล ดับเบิลยู. เดรซเนอร์ (Daniel W. Drezner) เห็นว่า ภาพจำของฝูงผีดิบกระหายเลือด แพร่เชื้อมรณะด้วยการกัดอาจเริ่มต้นเมื่อหนังเรื่อง Night of the Living Dead ของ จอร์จ เอ. โรเมโร (George A. Romero) ออกฉายในปี 1968 นับแต่นั้น แม้จะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ซอมบี้ที่ปรากฏในป๊อปคัลเจอร์ร่วมสมัยจะต้องยึดติดกับกฎ 3 ประการ ได้แก่ 1) ซอมบี้กระหายเนื้อมนุษย์ แต่ไม่กินเนื้อซอมบี้ด้วยกัน 2) ซอมบี้ฆ่าไม่ตาย เว้นแต่จะทำลายสมองหรือตัดหัว และ 3) มนุษย์หน้าไหนก็ตามที่ถูกซอมบี้กัดก็จะกลายเป็นซอมบี้ไปด้วย

ทว่าซอมบี้ในเรื่อง One Piece ไม่ใช่ผีดิบบ้าคลั่งที่วิ่งพล่านกัดกินเลือด เนื้อ และสมองของมนุษย์ชนิดไม่เลือกหน้า แต่กลับคล้ายซอมบี้ในความหมายดั้งเดิม (traditional zombie) มากกว่า กล่าวคือ ชาวเฮติแห่งทะเลแคริบเบียนเชื่อว่า ซอมบี้ หรือ ‘zombi’ คือศพที่ฟื้นกลับมามีชีวิต (อย่างน้อยก็เคลื่อนไหว) ได้ จากพิธีกรรมหรือมนต์ดำของเหล่าพ่อหมดหมอผีแห่งลัทธิวูดูหรือที่เรียกว่า ‘บอคอร์’ (Bokor)

ซอมบี้ประเภทนี้ไม่มีความคิดของตนเอง มันจะทำงานรับใช้และทำตามคำสั่งของพ่อมดที่ปลุกมันขึ้นมาราวกับทาสเชื่องๆ ทุกประการ กล่าวอีกนัย การสร้างซอมบี้ก็ไม่ต่างจากการปลุกคนตายมาเป็นแรงงานฟรีๆ โดยไม่ต้องจ่ายค่าแรง ทั้งนี้ เจ้านายยังไม่ต้องกังวลว่ามันจะหิว เหนื่อย ร้อน หนาว เจ็บปวด ป่วยไข้ ต้องการความรัก ต้องการครอบครัว หรือกระทั่งตาย เพราะซอมบี้คือคนที่ตายไปแล้ว มันคือความตายที่ยังมีชีวิต (living dead) อันที่จริง ก็แค่เคลื่อนไหวใช้กำลังแรงงานได้เท่านั้น

Thriller Bark Zombies

เฉกเช่นเดียวกัน ฝูงซอมบี้ที่เดินว่อนบนเกาะทริลเลอร์บาร์ค เป็นสิ่งประดิษฐ์ในฐานะแรงงานในอุดมคติของมนุษย์ประหลาด 2 คน นั่นคือ เก็กโค โมเรีย (Gecko Moria) หนึ่งในเจ็ดเทพโจรสลัด และผู้ถือครองพลังควบคุมเงาจากผลปิศาจ ‘kage kage’ และ ด็อกเตอร์ฮอกแบ็ค (Dr.Hogback) หมอผ่าตัดอัจฉริยะนอกคอก ผู้มักฝ่าฝืนจรรยาบรรณแพทย์ (Hippocratic oath) เพื่อทดลองกับชีวิตและความตายของมนุษย์

ด็อกเตอร์ฮอกแบ็คอาศัยความรู้ทางกายวิภาคในการปรับแต่งศพของมนุษย์ (และสิงสาราสัตว์อื่นๆ) ให้กลายเป็น ‘มาริโอ’ (Mario) หรือตุ๊กตามรณะที่มีความแข็งแกร่งเกินมนุษย์ ตั้งแต่การปลูกถ่ายกล้ามเนื้อสัตว์ป่า หรือตัดต่อพันธุกรรมที่โดดเด่นของสิ่งมีชีวิตอื่นลงไป เพื่อให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น จากนั้น โมเรียก็จะนำ ‘เงา’ ที่ตนช่วงชิงมาจากคนเก่งๆ โดยเฉพาะโจรสลัดที่มีค่าหัวสูงๆ ยัดใส่ลงไป เพื่อทำให้มาริโอฟื้นคืนชีพกลับมาเป็นทาสรับใช้ในฐานะซอมบี้

กล่าวคือ ความสามารถทางกายเป็นของศพ (ฝืมือฮอกแบ็ค) ความสามารถทางจิตใจ ทักษะอื่นๆ ความคิด ความทรงจำ ฯลฯ เป็นของเงา (ฝีมือโมเรีย)

“สำหรับโมเรียแล้ว จุดเด่นที่สุดของซอมบี้อาจจะอยู่ที่การเชื่อฟังคำสั่งก็เป็นได้”

ต่อให้เป็นคนเก่งกาจและหัวดื้อแค่ไหน ขอเพียงจับเงามาสร้างซอมบี้ก็จะยอมทำตามคำสั่งทุกอย่าง ซอมบี้ที่ถือกำเนิดขึ้นในทริลเลอร์บาร์คจึงเชื่อฟังเพียงเก็กโค โมเรีย และพรรคพวกของเขาเท่านั้น ซอมบี้ที่แสนว่าง่ายจึงเปรียบเสมือนกองทัพแรงงานที่เป็นกองหนุน (reserve army of labour) ในการไล่คว้าตำแหน่งเจ้าแห่งโจรสลัดของโมเรีย

อย่างไรก็ดี โทนี ช็อปเปอร์ กวางเรนเดียร์ และแพทย์ประจำกลุ่มหมวกฟาง กลับเห็นว่า การเอาชีวิตและความตายมาล้อเล่นเป็นเรื่องน่ารังเกียจ และทำให้ความรู้สึกชื่นชมที่เขาเคยมีต่อฮอกแบ็คในฐานะหมออัจฉริยะแปรเปลี่ยนเป็นความชิงชัง และพยายามยุติกระบวนการสร้างซอมบี้ในที่สุด

“นั่นมันมนุษย์ตรงไหนงั้นเหรอ มนุษย์ที่ร่างกายและจิตใจไม่เชื่อมต่อกันไม่เรียกว่ามนุษย์อีกแล้วล่ะ เอาศพของคนอื่นมาทำบ้าๆ ได้ยังไง ทั้งๆ ที่หัวใจซึ่งเติบโตมาด้วยกันตายไปแล้วแท้ๆ กลับมีเพียงร่างกายที่ยังต้องทำตามคำสั่งของคนอื่น แบบนี้มันอะไรกัน”

“ขอแค่เคลื่อนไหวได้ก็พอเหรอ ถ้าเป็นมนุษย์มันต้องมีอิสระมากกว่านี้สิ” ช็อปเปอร์ตวาดด้วยความโกรธา

ผู้ถูกช่วงชิงเงา ความป่วยไข้ทางจิต และชีวิตที่ต้องแสงอาทิตย์ไม่ได้ 

“ผู้คนที่หลงเหลืออยู่ในดินแดนแห่งนี้ต้องหวาดกลัวป่าที่มืดมิดและซอมบี้ มีชีวิตที่ต้องหวาดกลัวการออกทะเลไปเผชิญกับแสงอาทิตย์ สักวันก็คงไม่เหลือความรู้สึกว่า ร่างกายนี้มีชีวิตหลงเหลืออยู่แน่ ก่อนตายอยากจะเดินภายใต้แสงอาทิตย์อีกสักครั้ง”

ปู่สปอยล์ ชายแก่ไร้เงา หน้าตาน่ากลัวที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นซอมบี้ เผยความทุกข์ระทมแทนเพื่อนๆ อีกนับร้อยนับพันชีวิต ในฐานะผู้อาวุโสแห่งสมาคมผู้สูญเสียเงา เนื่องจากใครก็ตามที่ถูกโมเรียชิงเงาไปจะไม่สามารถสัมผัสแสงอาทิตย์ได้อีก มิฉะนั้น ร่างกายจะสลายหายไปจนไม่เหลือแม้แต่ขี้เถ้า ผู้ถูกชิงเงาซึ่งมักเป็นโจรสลัดจึงไม่สามารถออกทะเลเพื่อทำตามความฝัน ขณะเดียวกันก็จนปัญญาจะใช้กำลังแย่งชิงเงาของตนกลับมาจากขุมกำลังที่แข็งแกร่งของโมเรีย พวกเขาจึงต้องใช้ชีวิตท่ามกลางเงามืดและฝูงซอมบี้อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ด้วยความกลัว

ชีวิตเช่นนี้ก็แทบไม่ต่างจากชีวิตเทียมๆ (false life) ในความหมายของ อาแล็ง บาดียู (Alain Badiou) นักปรัชญาฝ่ายซ้ายชาวฝรั่งเศส ที่กล่าวถึงชีวิตแร้นแค้นของเหล่าแรงงานในโลกทุนนิยมว่า เป็นชีวิตที่ถูกลดทอนความเป็นไปได้ในทุกๆ ด้าน จนเหลือเพียงการตอบสนองความพึงพอใจจากแรงกระตุ้นเฉพาะหน้า อย่างความหิวโหย ร้อน หรือหนาวเท่านั้น และเป็นชีวิตที่ดิ้นรนอย่างหนักหน่วงเพื่ออำนาจและเงิน (แน่นอนว่า ผู้รอดชีวิตในทริลเลอร์บาร์คไม่มีทั้งอำนาจและเงิน)

Brook

ผู้ถูกช่วงชิงเงาที่โดดเด่นที่สุดก็คือ บรูค (Brook) โครงกระดูกประหลาด เคลื่อนไหวได้ พูดได้ ร้องเพลงก็ได้ จริงๆ แล้วบรูคเคยเป็นหัวหน้ากลุ่มโจรสลัดที่มีชื่อเสียงกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องพ่ายแพ้แก่ศัตรูที่ใช้ยาพิษจนถึงแก่ความตายทั้งกลุ่ม บรูคกลับฟื้นคืนชีพด้วยพลังแห่งผลปิศาจ ‘Yomi Yomi’ เพียงแต่ระหว่างที่วิญญาณกำลังหาทางกลับเข้าร่าง เขาดันหลงทางในม่านหมอกของ ‘น่านน้ำอาถรรพ์’ (Florian Triangle) เป็นเวลานับสิบปี จนร่างกายเหลือแต่กระดูกแล้ว

“งั้นนายก็ไม่ใช่ผีน่ะสิ? สรุปก็คือเป็นมนุษย์แต่ก็ไม่ใช่มนุษย์สินะ” อุซป (Usopp) พลซุ่มยิงแห่งกลุ่มหมวกฟาง ถามอย่างหวาดหวั่นในการเผชิญหน้ากันครั้งแรกบนเรือผีสิง

“ครับ ผมกลัวผีที่สุดเลย ขืนเห็นของแบบนั้นมีหวังได้ร้องลั่นแน่”

“นายไม่เคยส่องกระจกเลยสินะ?” แก๊งหมวกฟางถามพลางยื่นกระจกให้บรูคส่องสารรูปของตนเองที่ไม่คล้ายมนุษย์เลยแม้แต่น้อย แน่ล่ะว่า เมื่อถูกชิงเงาไป ภาพสะท้อนในกระจกของบรูคจึงย่อมไม่ปรากฏออกมาให้เห็น แต่นัยเบื้องลึกอาจสื่อถึงความป่วยไข้ทางจิตของบรูคในฐานะผู้มีอาการซึมเศร้า (depression) ประเภทหนึ่งก็ได้ เพราะสูญเสียพวกพ้องอันเป็นที่รักและเงาของตัวเองไป ทั้งยังต้องอาศัยอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางหมอกและความมืดของทะเลอาถรรพ์ จะสู้ก็ไม่ชนะ จะถอยก็ไม่สามารถหนีไปไหนไม่ได้

Ryuma

คู่ต่อสู้ของบรูคในภาคนี้ คือ ริวมะ ศพซามูไรในตำนานผู้เคยฟาดฟันมังกรจนร่วงหล่นจากท้องฟ้า และเป็นที่สิงสถิตของเงาที่ถูกชิงไปของบรูค จึงไม่ใช่อะไรนอกจากสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมของความป่วยไข้ทางจิตที่ขัดขวางไม่ให้บรูคออกท่องโลกกว้างภายใต้แสงอาทิตย์ได้ เพื่อที่จะเป็นอิสระ บรูคจำต้องช่วงชิงเสี้ยวส่วนของตัวตนกลับคืนมา

“ไม่รู้จักชื่อของฉันงั้นเหรอ ขอเพียงได้ยินชื่อนักดาบริวมะ ไม่ว่าใครก็ต้องกลัวหัวหดทั้งนั้น” ซอมบี้นักดาบในตำนานข่มขวัญ

“หุบปาก! แกเป็นเงาของฉันต่างหาก กลับมาได้แล้วล่ะ มาอยู่ใต้เท้าของฉัน”

เพราะเป็นอุปลักษณ์ความซึมเศร้าของบรูค ริวมะเองไม่อาจฆ่าบรูคได้ (มิฉะนั้น ตัวมันก็จะหายไปพร้อมเงาของบรูค) แต่ริวมะก็จ้องจะคุกคามและทำลายอัตลักษณ์เฉพาะตัวหรือ ‘ตัวตน’ ของบรูคตลอดเวลาที่เผชิญหน้ากัน นั่นคือ ทรงผมแอโฟร เพราะในฐานะโครงกระดูก บรูคแทบไม่เหลือเอกลักษณ์ระบุตัวตนอื่นใดเพื่อกลับไปยืนยันกับเพื่อนที่รออยู่อีกฟากของทะเลอีกแล้ว

“ถ้าพูดถึงตัวฉัน ก็ต้องบอกว่าสูญเสียทุกอย่างหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพวกพ้อง ใบหน้า หรือว่าร่างกาย ต่อให้ได้พบกันอีกครั้ง แต่โครงกระดูกขาวๆ แบบนี้ เจ้าคงจำไม่ได้หรอกว่าเป็นใคร”

“อย่ายุ่งกับทรงผมแอโฟรนี่นะ ถ้าเป็นเงาของฉันล่ะก็ ทำไมถึงไม่เข้าใจความสำคัญของทรงผมแอโฟรล่ะ ร่างกายของฉันหยุดเจริญเติบโตแล้ว ดังนั้นผมคงไม่ยืดออกมาเป็นครั้งที่ 2 แน่” 

บรูคโมโหที่ริวมะพยายามทำลายตัวตนของเขา แต่ลงท้ายเขาก็เอาชนะความป่วยไข้ทางจิตใจเพียงลำพังไม่ได้ โซโล นักดาบแห่งกลุ่มหมวกฟาง ได้เข้ามาช่วยปราบริวมะ และทำให้บรูคสามารถก้าวข้ามอุปสรรคทางจิตใจของตนเองได้ในที่สุด หากยังจำกันได้ในตอนแรกที่ถูกชวนร่วมกลุ่ม บรูคตอบปฏิเสธลูฟี่ เพราะไม่คิดว่าคนที่เพิ่งรู้จักกันจะมาช่วยแก้ปัญหาอะไรได้ ผู้ป่วยไข้ไม่ได้ปฏิเสธความช่วยเหลือ เพียงแต่คิดว่าต้องจัดการปัญหาของตนเองตามลำพัง แต่เมื่อการต่อสู้ปิดฉากลง โอดะได้ทำให้เห็นว่า เพื่อนพ้องมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการต่อสู้กับความป่วยไข้ทางจิต (ซึ่งจะกล่าวในส่วนต่อไป)

มนุษย์ประหลาดสยองขวัญ 

“เดิมทีบนเกาะนี้ก็มีแต่พวกมีความสามารถที่ใช้หลอกล่อคนอยู่เพียบ ทั้งมนุษย์ล่องหน มนุษย์วิญญาณ หรือผู้ควบคุมเงา”

โซโลประเมินกำลังรบของฝ่ายศัตรูให้เพื่อนฟังว่า นอกจากฝูงซอมบี้ทั้งหลายที่เปรียบได้กับทหารเลว (พลทหาร) แล้ว ขุนพลแห่งกองทัพของโมเรียคือ มนุษย์ประหลาดทั้ง 4 ได้แก่ ตัวโมเรียเอง ด็อกเตอร์ฮอกแบ็ค อับซาลอม (Absalom) มนุษย์หน้าสิงโต ผู้มีพลังล่องหน และ เพโรนา (Perona) เจ้าหญิงผี หรือ ‘Ghost Princess’ ผู้มีพลังควบคุมวิญญาณ

แม้จะเป็นมังงะแนวโชเน็นที่เน้นการต่อสู้ด้วยพลังเหนือมนุษย์ของบรรดาตัวละคร แต่ภาคทริลเลอร์บาร์ค โอดะกลับแฝงนัยอื่นๆ ผ่านฉากต่อสู้ได้อย่างแนบเนียน โดยเฉพาะเรื่อง ‘เงา’ กล่าวคือ คู่ต่อสู้ที่สมาชิกกลุ่มหมวกฟางแต่ละรายต้องเจอก็ไม่ใช่อะไรนอกจากเงาหรือบุคลิกภาพด้านมืดของตนเอง

ตัวอย่างเช่น คู่ช็อปเปอร์และฮอกแบ็คที่ต่างก็เป็นแพทย์ฝีมือดี แต่ความแตกต่างของทั้งคู่คือ ขณะที่ช็อปเปอร์เห็นความสำคัญและพยายามปกป้องชีวิต ฮอกแบ็คกลับดูถูกเหยียดหยามและใช้งานมันในทางที่ผิด 

Absalom

คู่ซันจิและอับซาลอม ซึ่งต่างก็เป็นพวกวิตถารและบ้าผู้หญิงทั้งคู่ แต่อับซาลอมกลับเลวร้ายกว่าตรงที่เขาไม่ได้สนใจตัวตนและจิตใจของผู้หญิงเลย นอกจากมองเป็น ‘วัตถุทางเพศ’ ที่ตอบสนองความพึงพอใจของตนเท่านั้น อับซาลอมบังคับขืนใจให้ นามิ ต้นหนเรือของกลุ่มหมวกฟาง แต่งงานกับเขาโดยปราศจากสติและความสมยอม (เพราะวางยานอนหลับ) เพียงเพราะถูกใจเรือนร่างของเธอ

คู่ของอุซปและเพโรนาก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า แม้ทั้งคู่จะใช้ ‘พลังงานลบ’ หรือความคิดติดลบ (negativity) ได้ แต่เพโรนากลับใช้มันเพื่อดึงคนอื่นให้จมดิ่งลงในความหดหู่ แต่อุซปกลับใช้ความไม่มีอะไรเลยของตน เพื่อต้านทานพลังวิญญาณของเพโรนา และปกป้องพวกพ้องจากอันตราย

ดูเหมือนว่า การต่อสู้เพื่อก้าวข้ามด้านมืดของตนเองจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการผลักดันตัวละครให้เติบโตไปข้างหน้า ทั้งยังเป็นเงื่อนไขสำคัญในการนำกลุ่มหมวกฟางออกจากเกาะผีสิงแห่งนี้

จิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) ตามแนวทางของ ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan) มองจิตใจของมนุษย์ว่ามีความขาดพร่อง และไม่สมบูรณ์แบบ เพราะไม่เพียงจิตใจของมนุษย์คนอื่นจะเป็นสิ่งลี้ลับที่เราไม่อาจเข้าใจได้ แต่แม้กระทั่งจิตใจของเราเองก็ลี้ลับเกินกว่าเจ้าของจะเข้าใจได้ทะลุปรุโปร่ง เราล้วนขาดพร่องและมีอะไรบางอย่างในตัวเราที่ไม่ใช่เรา การเผชิญหน้า ‘เงา’ ของตนเองเหล่านี้ และการยอมรับความไม่สมบูรณ์หรือความขัดแย้งในตัวเราเอง เป็นหนทางที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปได้ โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของความป่วยไข้ทางจิตเสียก่อน การยอมรับและทำความเข้าใจ ‘สิ่งแปลกปลอมที่เราไม่รู้’ (unknown unknowns) ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้มนุษย์เชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ได้ด้วย

ชายผู้ควบคุมเงากับเงาที่ไม่อาจควบคุมได้

เก็กโค โมเรีย อดีตโจรสลัดค่าหัว 320,000,000 เบรี ได้รับพลังในการควบคุมเงาหลังกินผลปิศาจ ‘เงา’ (Kage Kage no Mi) เข้าไป โมเรียในวัยหนุ่มก็เคยใฝ่ฝันจะเป็นเจ้าแห่งโจรสลัด ไม่ต่างกับลูฟี่และบรรดาเด็กหนุ่มอีกมากในโลก One Piece แต่เมื่อเดินทางเข้าสู่ ‘โลกใหม่’ ที่เต็มไปด้วยโจรสลัดเขี้ยวลากดิน โมเรียก็ต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมอันโหดร้าย เขาพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่าให้กับ ไคโด หนึ่งในสี่จักรพรรดิ จนพวกพ้องที่เขาผูกพันด้วยอย่างแน่นแฟ้นตายลงไม่เหลือแม้แต่ชีวิตเดียว

“ก็เพราะพวกพ้องต่างก็มีชีวิตอยู่ ถึงได้สูญเสียไปยังไงล่ะ แต่ถ้าหากทุกคนตายกลายเป็นซอมบี้ ก็ไม่มีอะไรต้องสูญเสียอีก” 

บทเรียนจากความพ่ายแพ้สอนโมเรียว่า ลูกน้องที่มีชีวิตนั้นเปราะบางเกินไป เขาจึงหันมาใช้พลังชิงเงาของผู้ที่แข็งแกร่ง แล้วร่วมกับด็อกเตอร์ฮอกแบ็คผลิตกองทัพซอมบี้ กำลังรบอมตะไม่มีวันตายที่ทำตามความปรารถนาของเขาเพียงผู้เดียว

“ฉันจะใช้กองทัพคนตายนี้ไต่เต้าสู่บัลลังก์ของเจ้าแห่งโจรสลัดอีกครั้ง”

ทว่าโมเรียก็ต้องผิดหวังอีกหลายครั้ง เมื่อลูกน้องทั้งที่เป็นเงาและซอมบี้ พยายามแข็งขืนอยู่เนืองๆ และมักไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติของเขานัก ตัวอย่างเช่น ซินดี้ เงาของสาวใช้ในร่างศพของดาราสาวเจ้าเสน่ห์ ที่ร่างกายไม่ยอมขยับตามคำสั่งราวกับจะฝ่าฝืนเจ้านาย หรือกระทั่งเงาของลูฟี่ที่ถูกจับยัดใส่ร่างคนยักษ์ในตำนานเมื่อ 500 ปีก่อน นามว่า ออร์ส (Oars) ซึ่งแสดงอาการต่อต้าน ไม่ยอมเป็นลูกน้องของโมเรียตั้งแต่แรกฟื้นคืนชีพ ออร์สจะไม่พอใจเสมอเมื่อโมเรียออกคำสั่ง และเมื่อใดที่โมเรียเข้ามายุ่มย่ามกับการอาละวาดของตน ออร์สก็จะเถียงกลับอย่างไม่ไว้หน้า

‘เงา’ หรือจิตวิญญาณ ความรู้สึก ความคิด ความทรงจำ ฯลฯ ของมนุษย์จึงไม่ใช่สิ่งที่ใครจะควบคุมได้โดยง่าย สิ่งที่โมเรียต้องการคือ ความสัมพันธ์ที่ปราศจากความเสี่ยง เขาต้องการแรงงานซอมบี้ที่คิดเองไม่ได้ ไม่ต่างจากกาแฟไร้คาเฟอีน (decaf coffee) น้ำอัดลมไร้น้ำตาล เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ในแบบที่นักมาร์กซิสต์ไทยอย่าง สรวิศ ชัยนาม แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มักกล่าวอยู่เสมอ โมเรียต้องการรักที่ปราศจากความทรมานอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ พูดอีกนัย สิ่งที่โมเรียต้องการไม่เรียกว่าความรัก แต่คือโรแมนซ์ต่างหาก เพราะเขามองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเพียงแค่เครื่องมือเพื่อนำไปสู่เป้าหมายแห่งการทำให้ตนเองสมบูรณ์แบบ

“เมื่อก่อนฉันก็เคยมั่นใจในพลังของตัวเองพอสมควร แต่ว่าในที่สุดก็เข้าใจถึงความสำคัญของการมีลูกน้องที่ยอดเยี่ยม ฉันคือชายผู้ที่จะกลายเป็นเจ้าแห่งโจรสลัดด้วยกำลังของคนอื่น โดยที่ตัวเองไม่ต้องทำอะไร”

หากมองผ่านแว่นของ บยอง ชอล ฮัน (Byung-Chul Han) นักปรัชญาชาวเกาหลี ผู้เขียนหนังสือ สังคมแห่งการหมดไฟ (The Burnout Society) (2015) โมเรียเองก็กำลังทนทุกข์กับโรคทางจิตอย่างสภาวะหมดไฟไม่ต่างจากคนอื่น มิหนำซ้ำ เขายังทำตัวเป็นคนขี้แพ้ (loser) ที่คอยขัดขวางกำลังใจในการต่อสู้ของคนอื่นอีกด้วย

“ปิศาจที่แท้จริงรอเขมือบแกอยู่ข้างนอกนั่น ฉันปราบมันไม่ได้ ฉันพ่ายแพ้มา แกเองก็คงไม่ต่างกันหรอก ไอ้ขี้แพ้เอ้ย”

มิตรภาพอันลึกซึ้ง ความรักที่จริงแท้ การร่วมต่อสู้ของจิตวิญญาณที่ขาดพร่อง

องก์สุดท้ายของทริลเลอร์บาร์คยิ่งขับเน้นความต่างระหว่างกลุ่มโมเรียกับกลุ่มหมวกฟาง เพราะแม้จะพึ่งพาการช่วยเหลือของผู้อื่นเหมือนกัน แต่ในขณะที่โมเรียไล่คว้าตำแหน่งเจ้าแห่งโจรสลัดด้วย ‘เงา’ ของผู้อื่น โดยรวบอำนาจตัดสินใจ (และควบคุมบงการ) ไว้เพียงลำพัง ลูฟี่รู้ว่าเขาไม่สามารถไล่ตามฝันได้ลำพังเพียงคนเดียว แต่ต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนพ้องที่มีชีวิตจิตใจจริงๆ ไม่ใช่หุ่นชักใยที่เคลื่อนไหวตามความประสงค์ของตน

แม้จะได้รับการพาวเวอร์อัปด้วยการยัดเงาจำนวนมากกว่า 100 ตน ใส่ร่างกาย แต่โอดะก็เลือกที่จะไม่เขียนให้ร่าง ‘ไนท์แมร์ลูฟี่’ เป็นผู้เอาชนะศัตรูในบั้นปลาย เพราะถ้าร่างกายที่ได้รับพรสวรรค์จากเงาของคนอื่นสามารถโค่นล้มศัตรูได้ ลูฟี่จะแตกต่างอะไรจากโมเรียที่ขโมยความสามารถจากเงากันเล่า ถ้าไนท์แมร์ลูฟี่ใช้ดาบเอาชนะศัตรูได้ เขาจะต้องการนักดาบฝีมือพระกาฬอย่างโซโลไปเพื่ออะไร ถ้าทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง พวกพ้องก็คงไม่มีความหมายอะไรต่อลูฟี่

ในการต่อสู้ฉากสุดท้าย กลุ่มหมวกฟาง ทุกคน ร่วมมือกันต่อสู้เพื่อโค่นโมเรียลง ปลายพู่กันของโอดะพยายามขับเน้นพลังแห่งมิตรภาพ และทำให้เห็นว่า การเอาชนะอุปสรรคเพื่อไล่ตามความฝันไม่อาจทำได้ด้วยการยัดหรือช่วงชิงเงาคนอื่น แต่ต้องกระทำผ่านการร่วมมือกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือดเนื้อ ชีวิต และจิตใจ

อาแล็ง บาดียู (Alain Badiou) เสนอว่า ถ้าจะมีชีวิตอย่างแท้จริง เราจะต้องรู้จักรักคนอื่นจริงๆ ด้วย แน่นอนว่า ไม่มีการรับประกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จะไม่นำมาซึ่งความเจ็บปวด แต่ในการตกหลุมรักใครสักคนหรือการมีมิตรภาพอันลึกซึ้ง เราต้องพร้อมยอมรับความเสี่ยง ไม่ว่าผลที่เกิดตามมาจะเป็นอย่างไร

หากโมเรียมีความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด หรือ ‘casual hookups’ กับเงา ซอมบี้ และมนุษย์ประหลาดแล้วล่ะก็ หมวกฟางและผองเพื่อนก็มีความสัมพันธ์แบบมนุษย์ที่แท้จริง และหากซอมบี้เป็นเครื่องมือเพื่อการบรรลุเป้าหมาย (means to an end) ของโมเรีย ความรักและมิตรภาพก็เป็นวิธีการที่ไม่ได้ทำให้บรรลุเป้าหมาย (means without ends) และไม่มีใครให้สัญญาได้ว่า ผลตอบแทนของการลงทุนในความรักและความเชื่อใจจะออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่ความรักก็เป็นสิ่งสำคัญที่ยึดเหนี่ยวมนุษย์ที่ต่างก็ขาดพร่องเอาไว้ด้วยกันได้ เพื่อรวมตัวเปลี่ยนแปลงและท้ายระบบระเบียบของสังคมที่ทำร้ายพวกเขา

พูดอย่างถึงที่สุด ในทัศนะบาดียู รักแท้จึงมีลักษณะต้านทุนนิยม เพราะในสังคมทุนนิยม เราไม่อาจมีความรักในสิ่งใดหรือใครได้จริงๆ หรอก ทุกอย่างถูกตีราคาและประเมินค่าอยู่เสมอ สิ่งต่างๆ จึงพร้อมแลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่นได้ ไม่ต่างจากการหาเงาใหม่ๆ มาใส่แก่ร่างศพที่ได้รับการชำระ เพื่อสร้างเครื่องมือใช้งานส่วนตัวอีกครั้ง

แต่เหล่าตัวละคร One Piece ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ทางลัดเช่นนั้นไม่มีอยู่จริงหรอก เราจำต้องผ่านหนทางอันยากลำบากไปพร้อมๆ กับคนอื่นเท่านั้น จึงจะเข้าถึงชีวิตที่ควรค่าต่อการดำรงอยู่ได้ อย่างที่ ลอร่า หนึ่งในผู้สูญเสียเงา กล่าวอย่างไม่หวั่นเกรงขณะยืนลุ้นผลการต่อสู้ของหมวกฟางกับโมเรียที่ลากยาวมาถึงรุ่งสาง แม้ร่างของเธอกำลังสลายหายไปเพราะแสงอาทิตย์

“ไม่เป็นไร การฝากฝังความหวังไว้บนบ่าของผู้อื่น มันก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ”

ผีร้ายที่ยังคงตามหลอกหลอน

“พวกพ้องนี่มันดีจริงๆ นะครับ ผมดีใจที่ยังมีชีวิตอยู่”

บรูคเอ่ยออกมาด้วยความตื้นตันพลางเช็ดน้ำตาและน้ำมูกที่ไหลรินออกมาทั้งๆ ที่เป็นโครงกระดูก เมื่อได้รับเงาคืนมา และได้รับการยอมรับให้ร่วมกลุ่มหมวกฟาง เขาจึงสามารถออกเดินทางภายใต้แสงอาทิตย์ได้อีกครั้งหลังจากหลงวนเวียนเพียงลำพังในม่านหมอกและเงามืดนานนับทศวรรษ

ฉากจบของทริลเลอร์บาร์คดูจะแฮปปี้เอนดิ้งด้วยพลังแห่งมิตรภาพ ราวกับว่าเมื่อเก็กโค โมเรีย ถูกปราบจนหมดสภาพ เรื่องลี้ลับ บรรยากาศอลเวง ตลอดจนสิ่งมีชีวิตประหลาดๆ ได้อันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่ต่างจากอาการตาสว่างจากภาพลวงตาหรือลืมตาตื่นจากฝันร้าย

“ช่างเป็นบ้านผีสิงที่เหลือเชื่อจริงๆ นะ”

สมาชิกหมวกฟางต่างพากันโล่งใจ แต่ลืมไปแล้วว่าเมื่อออกจากเกาะผีสิง พวกเขาก็ยังต้องเผชิญหน้ากับระบบโลกที่โหดร้าย โครงสร้างสังคมแห่งการแข่งขัน การแย่งชิงอำนาจของเหล่าโจรสลัด รัฐบาลโลก และกองทัพเรือ 

และหากกำแพงของทริลเลอร์บาร์คได้พังทลายลงพร้อมกับ ‘กำแพงที่ 4’ (the fourth wall) เหล่าผู้อ่าน One Piece ย่อมดีรู้ว่า ผีร้ายได้ออกอาละวาดโลกแห่งความเป็นจริงมานานแสนนานไม่เว้นแต่ละวัน เราทั้งหลายล้วนเป็นซอมบี้ ถูกช่วงชิงเงา ตกเป็นเหยื่อของสังคมบูชาความสำเร็จ ต้องแข่งขันในระบบตลาดในฐานะปัจเจกไม่ต่างจากโจรสลัด ในโลกของเรานี้ ‘ผีร้าย’ ในเชิงโครงสร้างยังคงหลอกหลอนผู้คนให้จิตใจแตกสลายไม่ต่างจากโมเรีย

ที่มา
  • เออิจิโระ โอดะ. (2540). วันพีซ. กรุงเทพฯ: สยามอินเตอร์คอมิกซ์.
  • สรวิศ ชัยนาม. (2562). ทำไมต้องตกหลุมรัก: Alain Badiou ความรัก และ The Lobster. กรุงเทพฯ: Illumination Editions.
  • Daniel W. Drezner. (2011). Theories of International Politics and Zombies. Princeton, New Jersey: Princeton University Press.

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า