เขาตายที่ชายป่า ความคิดแหวกแนวของ จิตร ภูมิ​ศักดิ์

แม้ความตั้งใจเดิมในการจัดงานเปิดตัวหนังสือ ความคิดแหวกแนวของไทย จิตร ภูมิ​ศักดิ์​ และ โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน จะจัดขึ้นในวันเกิดของนักคิดนักเขียนคนสำคัญของประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 กันยายน​ที่ผ่านมา แต่ด้วยภารกิจของงานและการไม่ลงตัวของกรอบเวลาต่างๆ ในที่สุดงานเปิดตัวหนังสือของ เครก เจ. เรย์โนลด์ส เล่มนี้ก็เลื่อนมาตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม ในวาระ 42 ปี เหตุการณ์​ 6 ตุลาคม 2519

เบื้องต้น ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวถึงประเด็นในการนำ โฉมหน้าศักดินาไทย กลับมาพิมพ์อีกครั้ง เพราะจิตรเป็นบุคคลสำคัญ การขุด จิตร ภูมิศักดิ์ ขึ้นมา เหมือนกับสถานะของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกขุดแต่งขึ้นมามีสถานะต่างจากในอดีต

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

“สมัยที่ผมเรียนธรรมศาสตร์ 2503-2506 เราไม่รู้จักคำว่าปรีดี พนมยงค์ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครตั้งธรรมศาสตร์

“อาจารย์เครกพูดไว้น่าสนใจมาก ว่าจิตรนั้นเป็นผู้มีการก่อเกิดสองครั้ง ครั้งแรกเขาเกิดและดับไปตามวิถี ครั้งที่สองเป็นกำเนิดตำนานแห่ง จิตร ภูมิศักดิ์ นับเป็นตำนานที่ได้รับการกล่าวขานจนถึงยุคปัจจุบัน

“วันเกิดครั้งที่สองนี้อุบัติขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 แต่ผมฟันธงว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เกิดสามครั้ง เขาเกิดอีกครั้งหนึ่ง เป็นนักวิชาการ”

จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ตอนอยู่ในคุก เมื่อต้องเข้าป่า ประมาณปี 2508 ต้นฉบับนี้ฝากไว้กับ สุภา สิริมานนท์ ซึ่งต้นฉบับถูกนำไปใส่กล่องขนมปัง บัดกรี แล้วฝังดิน

“ผมว่ามันเป็นงานวิชาการซึ่งร้อยปีอาจจะมีสักคนที่เขียนงานอย่างนี้ได้ มันเป็นงานที่ยิ่งกว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสามปริญญาเสียอีก”

ธิบดี บัวคำศรี

เราควรอ่านจิตรในบริบทปัจจุบันอย่างไร

ต่อมา ธิบดี บัวคำศรี จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘รุ่นน้อง’​ ของจิตรในอีกแง่หนึ่ง นำเสนอประเด็นแหลมคมในการมองจิตรบนฐานที่ไม่ได้ยกย่อง หากแต่กลับตั้งคำถามว่า จิตรใช้วิธีการอย่างไรในการแสวงหาความรู้หรือเขียนหนังสือ รวมไปถึงการศึกษาชีวิตของจิตรสมัยอยู่พระตะบองก่อนจะกลับมาสยาม ซึ่งธิบดีได้ข้อสรุปกับตัวเองต่อเรื่องจิตรออกมาสามเรื่องด้วยกัน

“เรื่องแรกนะครับ ผมจะพูดให้ฟังว่า ผมอ่านเล่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของอาจารย์เครก ที่เป็นคนแรกๆ ที่บูรณะจิตรขึ้นมา ซึ่งในส่วนของบทที่ 1 บทที่ 2 ผมจะไม่พูด แต่สิ่งที่ผมอ่านแล้วผมตระหนักขึ้นมาได้ว่า มีบางเรื่องที่ผมเข้าใจอีกแบบ ซึ่งไม่ตรงกับอาจารย์เครก นั่นเป็นเรื่องแรกที่ผมจะพูดในวันนี้

“เรื่องที่สอง มันบังคับให้ผมไปหาอ่านงานของคนอื่นที่พูด ทำ เขียน เกี่ยวกับจิตร ซึ่งในแง่หนึ่งฟังดูเข้าที ทั้งสองเรื่องนี้ผมอาจจะพูดไปพร้อมๆ กัน สุดท้ายผมอยากจะเสนอว่าเราควรจะอ่าน โฉมหน้าศักดินาไทย ในปัจจุบันของจิตรอย่างไร ในจำเพาะบางประเด็น ซึ่งผมไม่สามารถอ่านอย่างตระหนักรู้จริงๆ ในทั้งหมดของเนื้อหาว่าจิตรต้องการอะไร”

ความและหมายของศักดินา

ประเด็นต่อมา ธิบดีต้องการนำเสนอถึงคำว่า ‘ศักดินา’ คืออะไร แปลว่าอะไร อันที่สองคือ ‘ศักดินาที่ชายขอบ’ ซึ่งจิตรสรุปเกี่ยวกับที่ดินในตอนต้นว่าจิตรพูดถึงที่ดินของเมืองหลวงในเอกชน หลายประเด็นของจิตร ธิบดีเข้าใจด้วยความที่เอกสารชั้นต้นมีจำกัด จึงบังคับให้จิตรพูดถึงบางพื้นที่เท่านั้น คือศูนย์กลางอำนาจของศักดินาที่มีอำนาจอย่างเข้มข้น

ธิบดีหยิบยืมทัศนะของแวดวงวิชาการต่างประเทศที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ของเครกไว้ว่า เป็นการวิพากษ์มาร์กซิสต์ที่ยังไร้เดียงสาอยู่ ซึ่งธิบดีเคยเชื่อเช่นนั้น รวมถึงความเห็นของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช เอง ล้วนชี้ไปยังงานของจิตรว่ามีลักษณะแนวคิดมาร์กซิสต์แบบกลไก

“แต่พอมาอ่านของอาจารย์เครก อาจารย์เครกบอกว่าไม่ใช่การวิเคราะห์ทางวัตถุนิยมประวัติศาสตร์แบบนั้น แบบนั้นคือการวิเคราะห์ว่าสังคมไทยเป็นสังคมศักดินา มีการกดขี่ข่มเหงกันอย่างไร ไม่ใช่การวิเคราะห์แบบนั้นหรอกที่เป็นการรบกวนผู้มีอำนาจ แต่เป็นการใช้อุปมาอุปไมยโดยผิดไปจากเดิมต่างหาก คือการใช้คำว่า ‘ศักดินา’ ผิดไปจากเดิม ดังนั้น คุณูปการของจิตรในการใช้คำนี้ในการใช้ความหมายอย่างใหม่ต่างหากที่ทำให้ผู้มีอำนาจเสียการควบคุมอันเหมาะสม ซึ่งกำลังถูกทำให้ประณีตขึ้นโดยเฉพาะในสมัยจอมพลสฤษดิ์

“อันที่จริงผมคุ้นกับคำว่าระบบไพร่มากกว่าด้วยซ้ำไป ผมว่าคำว่าระบบมูลนายไพร่มันทำให้ระบบมันอ่อนโยนลง ในแง่หนึ่งการใช้คำหรือการวางคำอธิบายมันทำให้เราไม่เห็นการขูดรีดหรือความยากลำบาก”

“แต่ผมคิดว่า พอคำมันเปลี่ยน มันทำให้เรารู้สึกต่อระบบนี้ต่างกันไปอย่างมาก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผมสะดุดขึ้นมาเมื่อผมอ่าน ซึ่งโยงไปยังเรื่องความสำคัญของคน เวลาเราพูดถึงการควบคุมกำลังคน คำอธิบายที่มันตามมาด้วยเสมอ คือที่ดินมันมาก แต่คนน้อย สิ่งที่สำคัญมากก็คือกำลังคน เวลาไปทำสงคราม สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอก็คือการกวาดต้อนคนเข้ามา เพราะว่าเราต้องการคนมาส่งส่วย โดยปริยายมันทำให้สิ่งที่จิตรพูดหรือเน้นอย่างมากก็คือเรื่องของที่ดิน การขูดรีดที่มันเกิดขึ้นมันเริ่มจากตรงนั้น”

ธิบดีทิ้งท้ายผ่านรูปคำว่า ‘ศักดินา’ ไว้ว่า ตกลงศักดินานั้นแปลว่าอะไร เพราะว่าศักดินาเป็นการสร้างคำจากสันสกฤตและไทย ทว่าธิบดีออกตัวว่าตนไม่มีความรู้มากพอในการระบุว่าการสร้างคำอย่างนี้ในสมัยอยุธยามันเป็นปกติหรือไม่ ถ้าไม่ ทำไมถึงมีคำนี้ขึ้นมา

“ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องมาทบทวนคือคำว่าศักดินามันแปลว่าอะไร อำนาจเหนือที่นา หรืออำนาจที่มันมาจากที่นาหรือเปล่า ในเชิงเปรียบเทียบ ผมโยงกลับเข้ามาในกัมพูชา ถามว่ามีศักดินาไหม เราอาจตอบว่ามี แต่ถามว่ามีคำนี้ไหม ไม่มีนะครับ ในแง่หนึ่งมันน่าสนใจที่เราจะมาเทียบดูเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องศักดินาถ้ามันมีจริง ซึ่งเราอาจจะต้องขยายความพรมแดนของเราออกไปในอีกที่หนึ่งเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นหรืออาจจะไม่ก็ตามแต่ พูดง่ายๆ ก็คือ การศึกษาในเชิงเปรียบเทียบอาจจะทำให้เราดีขึ้นว่า ตกลงระบบศักดินาของเราคืออะไร”

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

‘เจ้า’ ที่ดิน

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อจากธิบดีบนคำว่า ‘ศักดินา’ ที่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในวงกว้างในห้วงปี 2516-2519 จากการชี้นิ้วว่าใครบ้างเป็นศักดินา ใครบ้างเป็นเจ้าของที่ดินหรือ land lord ทว่าประจักษ์ก็อ้างอิงงานของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ที่ศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำของการถือครองที่ดินในประเทศไทย ซึ่งผาสุกอธิบายไว้ว่าในยุคปัจจุบันนี้ต่างหากที่เกิดเจ้าครองที่ดินขึ้นจริงๆ

“ความเหลื่อมล้ำของคน 99 เปอร์เซ็นต์กับคน 1 เปอร์เซ็นต์ที่ครอบครองที่ดินอย่างมหาศาลไม่น่าเชื่อ อันนี้ก็เป็นปัญหารุนแรงมาก”

ในขณะ ดุลยภาพ จาตุรงคกุล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับไปอ่าน โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน ในฉบับภาษาอังกฤษเพื่อจะตอบคำถามว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักคิดในโลกตะวันตกคนไหนบ้าง ก่อนจะได้คำตอบจากการศึกษาออกมาว่าจิตรน่าจะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากนักคิดของรัสเซีย นอกเหนือจากงานของ คาร์ล มาร์กซ์ โดยมีงานของ แม็กซิม กอร์กี เป็นเหมือนหมุดหมายตั้งต้น

ดุลยภาพ จาตุรงคกุล

จิตรกับกอร์กี

“หากเราพูดตามอาจารย์ชาญวิทย์คือจิตรมีสามชีวิต แต่เรามักจะเข้าใจกันว่าจิตรมี audience แค่ในประเทศไทย จนกระทั่งมีคนอย่างอาจารย์เครกกับ อาจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน มาทำให้จิตรเป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการต่างประเทศ แต่การที่จิตรถูกทำให้เป็น other function ในประเทศไทยคือในช่วงสามปีระหว่างปี 2516-2519 อาจจะเรียกได้ว่าตอนนั้นคนในยุคนั้นต้องการที่จะมีฮีโร่ และเขาไม่รู้ว่าจะหาใครดี

คือคนอย่างปรีดีแม้จะมีความคิดค่อนข้างไปในทางสังคมนิยม แต่ปรีดีก็ไม่ได้ใกล้ชิดกับคนในช่วงปี 2516-2519 ขณะที่จิตรถือว่าเป็นคนที่อยู่ใกล้มากกว่า คำถามคือ จิตรกลายเป็นคนสำคัญขึ้นมาเพราะหาคนอื่นไม่ได้หรือ

ดุลยภาพมองประเด็นนี้ว่าไม่ใช่ แต่เป็นเพราะจิตรได้สร้างทฤษฎีขยายต่อจากทฤษฎีเดิมของมาร์กซ์ให้ครอบคลุมหรือมีความสามารถในการอธิบายระบบศักดินาแบบไทย ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดในเรื่องศักดินาตามทฤษฎีของมาร์กซ์ ซึ่งมีพื้นฐานแตกต่างจากระบบศักดินาในประเทศไทย โดยจิตรเป็นผู้ที่ทำให้ทฤษฎีของมาร์กซ์ไปไกลมากกว่าการอธิบายเรื่องศักดินาเฉพาะในภาคพื้นยุโรป

“เพื่อจะเข้าใจว่าจิตรสามารถอธิบายเรื่องศักดินาที่เคยมีความเข้าใจในแง่บวกมาตลอดว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องของการที่มีคนมาคอยดูแล จิตรเขาได้ทำให้มันกลายจากหน้ามือเป็นหลังได้ แต่เมื่อเราเทียบกับนักคิดคนอื่นๆ ในบริบทอื่นๆ ที่แหวกแนวเหมือนๆ กับจิตร เราจะเห็นเขามีบริบทที่คล้ายกับของจิตรมากเลย อันนี้คือเหตุผลหนึ่งที่ทำไมผมถึงต้องการเทียบจิตรกับนักคิดต่างๆ ในรัสเซีย โดยที่ผมจะไม่พยายามเทียบกับนักคิดในช่วงปฏิวัติรัสเซียใน ค.ศ. 1917 เท่านั้น แต่ยังจะเทียบกับใน ค.ศ. 1848 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการปฏิวัติทั่วยุโรป”

แนวคิดสำคัญที่ดุลยภาพมองว่าคล้ายคลึงกันระหว่างรัสเซียกับไทย อันนำมาสู่แนวคิดที่มองว่าจิตรได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากนักคิดรัสเซียมากกว่ามาร์กซ์ คือระบบสังคมที่เปรียบเสมือนเป็นรัฐกึ่งอาณานิคมในตัวเองของรัสเซีย อีกทั้งยังเป็นรัฐที่ให้ความสำคัญกับชาวนาค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้ชนชั้นนำของรัสเซียจะมุ่งเน้นไปที่ความเรียบง่ายของวิถีชีวิตชาวไร่-ชาวนา คนพวกนี้จะระแวงคนอย่างเฮเกล คนอย่างมาร์กซ์ คนพวกนี้จะระแวงอำนาจรัฐมาก

ความคล้ายคลึงตรงนี้ระหว่างรัสเซียกับไทยนี่เองที่ทำให้เกิดนักคิดแบบกอร์กีขึ้นมาในรัสเซีย และเกิดคนแบบจิตรขึ้นมาในไทย

“เราสามารถพูดได้ว่าการที่จิตรพยายามจะต่อสู้ จิตรจำต้องแหวกแนว จะไม่แหวกแนวไม่ได้ มันไม่มีตัวชนชั้นกลาง มันไม่ได้มีความคิดที่มาจากฐานของชนชั้นกลางที่ทำให้ตัวความคิดไม่แหวกแนว ดังนั้น ในยุคของจิตร ใครก็ตามที่ต้องการจะสู้กับรัฐ โดยปริยายก็ต้องมีความคิดที่แหวกแนว และอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ไทยคล้ายกับรัสเซีย”

แม้ดุลยภาพจะอธิบายว่าจิตรไม่น่าจะได้อ่านงานของนักคิดในช่วง ค.ศ. 1838-1848 แต่จากการที่จิตรนำวรรณกรรมชิ้นสำคัญของ แม็กซิม กอร์กี มาแปลในเรื่อง แม่ นั้น บอกได้ว่าจิตรอาจจะชื่นชมในตัวกอร์กีที่มีความคิดต่อแวดวงปัญญาชนรัสเซีย ไม่ต่างจากที่จิตรมองแวดวงปัญญาชนในไทยว่า พวกคุณไม่มีทางเข้าใจชนชั้นล่างอย่างแท้จริง พวกคุณไม่เข้าใจจริงๆ หรอกว่าคนจนเป็นยังไง เพราะคุณไม่เคยอยู่กับพวกเขาอย่างแท้จริง

“คุณเป็นแค่คนที่มองห่างๆ และบางคนเขาก็ไม่ได้อยู่ในรัสเซียด้วยซ้ำ เพราะเขาโดนเนรเทศไปอยู่ต่างแดน ดังนั้น หลายคนเขาจึงไม่ได้ใกล้ชิดและมาจากฐานชนชั้นสูง เพราะฉะนั้น ผมจึงมองว่าจิตรเขามองว่าชีวิตของตนเองคล้ายกับกอร์กีมาก โดยเฉพาะเรื่องการมองว่าการเขียนเป็นอาวุธแบบหนึ่ง เราไม่ได้เขียนเพื่อรักษาศิลปะ แต่เราเขียนเพื่อทำให้มันเกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ”

ผศ.ดร.วิลลา วิสัยทอง

อาหารการกินของจิตรกับการควบคุมอำนาจรัฐ

ไม่เพียงแต่เป็นลูกศิษย์โดยตรงของ เครก เจย์. เรย์โนลด์ส แต่ในฐานะของนักวิชาการอิสระด้วยแล้ว ผศ.ดร.วิลลา วิสัยทอง นำเสนอมุมมองที่พ้นจากการนำจิตรเป็นศูนย์กลางอธิบายแนวคิดต่างๆ ด้วยการตั้งคำถามไปยังอาหารการกินของนักโทษในห้วงสมัยนั้น โดยไม่ได้มุ่งไปที่คำถามว่าจิตรกินอะไรบ้าง แต่มุ่งไปที่นักโทษร่วมเรือนจำลาดยาวกับจิตรกินอะไรบ้างในบริบทการกำกับของรัฐ

วิลลามองว่าการกลับไปมองจิตรในฐานะนักวิชาการทำให้สามารถศึกษาบริบทของประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของจิตร และสามารถนำมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ โดยไม่ได้ยึดโยงให้จิตรเป็นศูนย์กลางของการเล่าเรื่อง

“ดิฉันจึงอยากนำเสนอว่าการเล่าเรื่องอาหารของผู้ถูกคุมขังในลาดยาว ว่าอาหารได้แสดงนัยยะทางการเมือง และความแตกต่างทางสังคมผ่านจินตนาการที่เป็นตัวตนทางด้านรสชาติภายใต้บริบทสงครามเย็น”

“วันนี้ดิฉันก็จะเน้นเรื่องรสชาติเป็นพิเศษ อาหารเป็นส่วนหนึ่งของความสามัคคี การต่อสู้ และความขัดแย้ง ผู้ต้องขังใช้รสชาติอาหารแย่งและสร้างรสชาติพวกเขา-พวกเรา ให้ได้รสชาติที่ดี รสชาติใหม่ แตกต่างจากอาหารทางการ หรืออาหารของราชทัณฑ์ ซึ่งเราก็คงเดาออกว่าอาหารของทางการถูกผลักให้เป็นอาหารที่แย่ คุณภาพด้อย รสชาติไม่ต้องพูดถึง”

โดยวิลลาใช้งานศึกษาจำพวกบันทึกประจำวันมาเป็นหลักฐานในการประกอบการอธิบาย โดยหนังสือเล่มหลักๆ ก็คือ คอมมิวนิสต์ลาดยาว ของ ทองใบ ทองเปาด์ ดาวแดง คนสองคุก ของ สุวัฒน์ วรดิลก จดหมายจากลาดยาว ของ ศิวะ ดลชิต ซึ่งเป็นอีกนามปากกาของ สุวัฒน์ วรดิลก ซึ่งจากหลักฐานเหล่านี้ล้วนมีข้อบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นว่าอาหารของคนที่คุมขังนั้นมีความสำคัญ

วิลลาโยงกลับไปยังการพยายามแทรกแซงนโยบายด้านอาหารของรัฐในชาติตะวันตกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อหยุดยั้งภาวะขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกทั้งสองครั้ง ก่อนจะมาสู่ยุคสงครามเย็นที่วิลลาอธิบายว่าภูมิศาสตร์ของอาหารโลกได้เปลี่ยนไปสามระดับ คือ

  1. การเริ่มเลือนของรูปแบบอาหารแบบเดิม แบบระบบจักรวรรดิ ปรัชญาอาหารตะวันตกและสังคมนิยมสะท้อนความขัดแย้งด้านการทหารและการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต
  2. ชาติจำนวนหนึ่งวางรูปแบบอาหารชนชาติตัวเองในฐานะอาหารประจำชาติที่หาจากประเทศไหนไม่ได้ แทนที่จะต้องอยู่ภายใต้เจ้าอาณานิคมอื่นๆ
  3. ผู้คนในชนบทเริ่มกินอาหารที่ปรุงจากธัญพืชที่รสชาติดีขึ้น ได้กินเนื้อ ได้กินไขมัน ได้กินน้ำตาล ตามหลักโภชนาการใหม่

สำหรับ จิตร ภูมิศักดิ์ วิลลากล่าวว่า การเปลี่ยนด้านโภชนาการของโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกานำมาสู่การเปลี่ยนแปลงด้านโภชนาการในประเทศไทยตั้งแต่ระดับรัฐบาลจนมาถึงระดับราชทัณฑ์ในเรือนจำ โดยเฉพาะในเรือนจำลาดยาว วิลลากล่าวว่าเรื่องอาหารการกินสำหรับนักโทษเป็นเรื่องที่ ‘เป็นเรื่อง’ มาตั้งแต่อดีต

“บทความของ อาจารย์ศรัญญู เทพสงเคราะห์ นำเสนอในงานเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ที่ผ่านมา ศึกษาชีวิตนักโทษในคุกต่างชาติ ในเรือนจำมหันตโทษ และการปฏิรูปราชทัณฑ์ช่วงปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม อาจารย์ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่นี้ที่ขังนักโทษต่างชาติในเรือนจำมหันตโทษนี้มีลักษณะเป็นอาณานิคมขนาดย่อม รัฐไม่สามารถที่จะคุมนักโทษได้อย่างเต็มที่ นักโทษได้รับการคุ้มครองจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ได้รับเบี้ยสูงกว่านักโทษคนไทย ไม่ต้องใส่ตรวน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาดกว่า”

ตัวอย่างในบทความของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ เช่น นักโทษฮินดูสองคนในบังคับอังกฤษถูกนักโทษมุสลิมปาทานในบังคับอังกฤษทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากครัวมุสลิมใช้เนื้อวัวปรุงอาหาร และอยู่ติดกับครัวฮินดูที่นับถือวัว นักโทษฮินดูร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ว่าให้ย้ายครัวมุสลิมออกไป แต่กลุ่มมุสลิมยกพวกมาทำร้ายต่อหน้าปลัดกรมคุกต่างประเทศ

“พอมาถึงในสมัยจิตรถูกคุมขัง การจัดหาอาหารให้กับนักโทษก็ยังไม่ได้นึกถึงเรื่องโภชนาการมากนัก ทางราชทัณฑ์ได้รับการจัดสรรเบี้ยเลี้ยงสำหรับนักโทษ 2 บาท 50 สตางค์ต่อวัน ปัจจุบัน 50 กว่าบาท เวลาทานข้าวเช้า 9 โมง อาหารเย็น 5 โมงครึ่ง 2 ทุ่มก็ฟังข่าว แล้วเข้านอน อันนี้เป็นวิถี เป็นเวลาของพวกเขา เราสุดจะเข้าใจว่าอาหารเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทัณฑ์ ถ้าอยากจะกินดีอยู่ดีก็ออกไปอยู่นอกคุกสิ

“จิตรและผองเพื่อนต่อต้านผ่านการควบคุมอาหาร ทำให้เจ้าหน้าที่เสียอำนาจในการควบคุมทัณฑสถาน ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน มีอิสระผ่านเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเตรียมและผลิตอาหาร และสร้างคุณภาพ ที่สำคัญ รสชาติอาหารที่ดีกว่าและเหนือกว่ารสชาติอาหารที่แย่ๆ ของทางการ การต่อสู้ทางด้านรสชาติจึงได้เกิดขึ้น”

วิลลาบอกเล่าต่ออีกว่า สิ่งที่จิตรทำต่อมาคือการเขียนจดหมายร้องเรียนไปถึง ทองใบ ทองเปาด์ เพื่อให้เตรียมตัวว่าเมื่อเข้ามาอยู่ในลาดยาวแล้วจะต้องเจอกับอาหารแบบใดจึงจะรับประทานได้ลง เมื่อทองใบถูกจับและถูกนำตัวมาอยู่ลาดยาว มีหรือที่ทนายอย่างทองใบจะยอมรับประทานอาหารแย่ๆ ทั้งทองใบและจิตรจึงร่วมกับผองเพื่อนนักโทษสร้างคอมมูนขึ้นในเรือนจำลาดยาว กลายเป็นอีกบทของการต่อสู้ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ผ่านเรื่องโภชนาการ

วิลลาสรุปปิดท้ายว่า แม้เรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมดจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานของ เครก เจย์. เรย์โนลด์ส แต่ผลงานชิ้นนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้สนใจศึกษาเรื่องราวและผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า