ชาติ สาด กระสุน: หนังบู๊รักชาติ ใต้ยุคทมิฬมาร

ปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อผ่านภาพยนตร์ไทยใน 3 ทศวรรษ (2490-2520)

Part 2 (2500-2518)

หนังบู๊รักชาติ ใต้ยุคทมิฬมาร

2502 สฤษดิ์ครองเมือง

หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 โดยการรัฐประหารรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร (ซึ่งสมรู้ร่วมคิดกับจอมพลสฤษดิ์ทำการรัฐประหารตัวเอง เพื่อรวบอำนาจไว้ในมือ ตัดปัญหาความขัดแย้งภายในคณะรัฐบาลและสมาชิกสมาผู้แทนราษฎร) หลังจากนั้นเพียง 10 วัน (19 กุมภาพันธ์) จอมพลสฤษดิ์ได้รับพระราชทานยศ จอมพลเรือ และ จอมพลอากาศ พร้อมกับ พลเอกถนอม กิตติขจร ที่ได้รับพระราชทานยศ พลเรือเอก พลอากาศเอก เมื่อได้อำนาจไว้ในมือเบ็ดเสร็จ จอมพลสฤษดิ์จึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ที่มีมาตราสำคัญคือมาตรา 17 อันมีเนื้อความว่า

“ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

“เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ”

หนึ่งในคำสั่งที่จอมพลสฤษดิ์ใช้มาตรา 17 คือ คำสั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาคดีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ตลอดช่วงที่เขาอยู่ในอำนาจจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2506 ซึ่งหากนับจากการจับกุมกบฏสันติภาพในปี 2495 ในรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เข้าด้วยแล้ว การประกาศใช้มาตรา 17 นี้นับเป็นการใช้กฎหมายจัดการผู้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่มีมา

สอดคล้องกับการมาถึงของกลุ่มหนังไทยในช่วงการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ (2502-2506) ที่เริ่มจะนำเสนอภาพ ‘ผู้ร้ายคอมมิวนิสต์’ บนจอภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้คราบโฉมของหนังบู๊ ได้แก่เรื่อง เจ็ดแหลก (2501) แผ่นดินของใคร (2502) และเจ็ดประจัญบาน (2506)

เจ็ดแหลก และ เจ็ดประจัญบาน เป็นภาพยนตร์ที่สร้างต่อจากความนิยมของเรื่อง หนึ่งต่อเจ็ด (2501) กำกับโดย ส. อาสนจินดา อดีตพระเอกละครเวทีชื่อดังในช่วงสงครามที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงและผู้สร้างภาพยนตร์ ส.อาสนจินดา สร้าง หนึ่งต่อเจ็ด ขึ้นในแนวทางหนังคาวบอยตามแบบฉบับเรื่อง 7 สิงห์แดนเสือ (The Magnificent Seven) คือเล่าเรื่องพระเอก 7 คนที่มีชื่อคล้องกัน รวมตัวกันเพื่อปราบ ‘เสือ’ โจรผู้ร้ายจำนวน 7 คน หนึ่งต่อเจ็ด ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนมีการสร้างภาคต่อในปีเดียวกันตามมาทันที

เจ็ดแหลก พลิกกลับมาใหม่ โดยนำพระเอกทั้ง 7 ไปเผชิญผู้ร้ายกลุ่มใหม่ ในคราวนี้เป็นขบวนการคอมมิวนิสต์ (ดูภาพประกอบ) จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งการออกแบบภาพโปสเตอร์ก็เน้นย้ำว่าภารกิจครั้งใหม่นี้เป็นการต่อสู้ ‘เพื่อปกป้องเอกราชของชาติไทย’ คำโปรยสำคัญบนใบโฆษณาหนังเรื่องนี้อีกแผ่น ยังเน้นย้ำ 3 สถาบันสำคัญของประเทศไทยเพื่อจูงใจผู้ชมว่า

“เพราะ เจ็ดแหลก มีสาระด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง คือ สำแดงความรักชาติ บูชาศาสนา และเทิดทูนพระมหากษัตริย์”

ชุดคำกล่าวนี้เองจะเป็นสาระสำคัญของกลุ่มหนังบู๊ไทยในอีกทศวรรษถัดมา เมื่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มขวาจัด (โดยรัฐไทย) กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ยกระดับไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธสงคราม เกิดการปะทะกันตลอดบริเวณตะเข็บชายแดนและพื้นที่สีแดงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ สอดคล้องกับนโยบายของยูซิส (USIS – United State Information Service) ที่ผลิตสื่อและเผยแพร่สื่อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งในรูปของหนังข่าวและสารคดีตลอดช่วงทศวรรษ 1960 ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนก่อน (ชาติ สาด กระสุน: รุ่งอรุณของปฏิบัติการ ‘ล้างสมอง’)

แผ่นดินของใคร เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ตอกย้ำความรักชาติ จึงต้องทำสงครามกับคอมมิวนิสต์เพื่อปกป้องอธิปไตยของประเทศไทย และพื้นที่สู้รบในคราวนี้ก็คือเขาพระวิหาร โดยออกฉายควบคู่กับการนำคดีขึ้นศาลโลกในปีเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าการต่อสู้ของขบวนการสายลับไทยที่ร่วมมือกับกองทัพไทย ต่อต้านกองกำลังคอมมิวนิสต์ที่บุกเข้ามาประชิดพื้นที่ชายแดนประเทศไทย โดยมาถึงเขาพระวิหารเป็นด่านหน้า ในฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องเป็นการยิงต่อสู้กันระหว่างฝ่ายรัฐไทยกับคอมมิวนิสต์บนพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร หนังเรื่องนี้ยังบันทึกภาพธงไตรรงค์ไทยที่โบกสะบัดเหนือเขาพระวิหารไว้ได้ ก่อนคำพิพากษาศาลโลกจะตัดสินให้เป็นของกัมพูชาในปี 2505

ในปีสุดท้ายก่อนถึงแก่อสัญกรรมของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภาพยนตร์เรื่อง เจ็ดประจัญบาน ออกฉายเพื่อตอกย้ำความสำเร็จจาก หนึ่งต่อเจ็ด และ เจ็ดแหลก ทั้งยังสานต่ออุดมการณ์ชาติในการต่อสู้ปกป้องอธิปไตยจากการรุกรานของขบวนการคอมมิวนิสต์ หนังยังสร้างหลังจอมพลสฤษดิ์อาศัยกฎหมายข้อหากบฏต่อความมั่นคงและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ จับกุมผู้ต้องสงสัยเข้าข่ายถึง 108 คน และยังใช้คำสั่งมาตรา 17 ประหารชีวิต นายครอง จินดาวงศ์ นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวชาวสกลนครที่อำเภอสว่างดินแดน จังหวัดสกลนครเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504

เจ็ดประจัญบาน เสนอภาพ ‘อันตรายของชาติ’ เมื่อคอมมิวนิสต์บุกประชิดเขตแดนของไทย ขบวนการ 7 ประจัญบานที่ประกอบด้วยพระเอกทั้ง 7 คน จาก หนึ่งต่อเจ็ด จึงต้องกลับมารวมทีมกันเพื่อปกป้องชาติไทยอีกครั้ง เสริมทัพด้วย ‘จารสตรีสาวเจ้าเสน่ห์ กลับใจช่วยไทยเพราะความรัก’ ข้อความบนใบปิดเรื่อง เจ็ดประจัญบาน นี้ก็ยังฉายภาพความสำคัญของชาติที่ต้องปกป้องเหนือชีวิต ผ่านถ้อยคำที่ว่า “เมื่อแผ่นดินไทยจะถูกเชือด ต้องหลั่งเลือดประจัญบาน”

‘ความเป็นชาติ’ ในหนังบู๊ไทยจึงถูกผูกติดกับ 3 สถาบัน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ลงหลักปักฐานอย่างมีนัยสำคัญในช่วงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนเมื่อสิ้นจอมพลผ้าขาวม้าแดงผู้นี้ไปแล้ว ประเทศไทยผลัดสู่ยุคเผด็จการสืบทอดที่มีผู้นำอย่าง จอมพลถนอม กิตติขจร รับไม้ต่อยาวนานจนถึงปี 2516 สังคมไทยถึงจะปลดล็อคยุคเผด็จการครองเมืองก้าวเท้าเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย (ครึ่งใบ) หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทว่าภาพยนตร์บู๊และผู้ร้ายคอมมิวนิสต์ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญบนจอภาพยนตร์อยู่ ซ้ำยังเพิ่มจำนวนและบทบาทขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตลอดทศวรรษถัดมา

ผู้สร้างหน้าใหม่ ผู้ร้ายหน้าเดิม (2510-2520)

ในช่วงต้นทศวรรษ 2510 แม้ยูซิสจะลดบทบาทในการผลิตภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อลง ทว่ากลับเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติการฉายหนังในภูมิภาคแทน หลังจากเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกเมื่อ 8 สิงหาคม 2508 ตามด้วยการเพิ่มกำลังพลทหารอเมริกันเข้าสู่เวียดนามอย่างต่อเนื่องเพื่อรบแตกหักกับกองทัพเวียดนามเหนือของโฮจิมินห์

ในปี 2510 จี. ลีวิส ชมิดท์ (G. Lewis Schmidt) เริ่มเข้าประจำการที่ยูซิส ชมิดท์บอกว่าคำสั่งแรกที่เขาได้รับคือ ให้พุ่งเป้าไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้เป็นพื้นที่สำคัญสุดในการปฏิบัติการจิตวิทยา ยูซิสจัดตั้งกองบัญชาการย่อยในจุดสำคัญๆ เพิ่มเติม อาทิ แถบชายแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย รวมทั้งที่หนองคายซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเมืองเวียงจันทน์ นครหลวงของประเทศลาวพอดี

สำหรับกองบัญชาการย่อยแต่ละแห่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นนั้น ภายในประกอบไปด้วยส่วนสำนักงาน ห้องสมุด และสื่อ (ที่ใช้ในการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ ทั้งแผ่นพับตลอดจนฟิล์มภาพยนตร์) สุดท้ายคือรถฉายหนังเคลื่อนที่หลายหน่วยประจำการพร้อมออกปฏิบัติการ การจัดชุดปฏิบัติการฉายหนังมีทั้งที่เจ้าหน้าที่ยูซิสไปพร้อมเจ้าหน้าที่ไทย (คนขับรถและคนฉาย) บางครั้งก็มีเพียงเจ้าหน้าที่ไทยออกภาคสนามทั้งชุด (โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ถูกฝึกอบรมให้สามารถพูดปราศรัยเรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตยติดรถไปด้วย) หน่วยปฏิบัติการแต่ละชุดมีจำนวนราว 3-4 คนเท่านั้น พวกเขาใช้เวลากว่าครึ่งในงานภาคสนามอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อฉายหนังและปราศรัยโน้มน้าวทางการเมือง นอกจากเจ้าหน้าที่ยูซิสเอง แต่ละหน่วยมักจะมีเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ หรือบางครั้งเป็นกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ติดรถไปด้วย นอกจากจะฉายหนังและปราศรัยการเมือง พวกเขายังต้องนำหยูกยาอาหารไปให้แก่ชาวบ้านด้วย

แม้บทบาทของยูซิสในทศวรรษนี้จะเปลี่ยนไปเน้นที่การเป็นผู้ฉายมากขึ้น ทว่าตัวอุตสาหกรรมหนังไทยเองกลับ ‘รับไม้ต่อ’ ด้วยการทำหนังที่มีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อแทน คราวนี้ไม่ใช่การสร้างที่มาจากฝรั่งหรือตัวแทนฮอลลีวูดเช่นทศวรรษก่อน หากเป็นงานหนังที่เกิดขึ้นโดยทีมคนไทยและนำเสนอประเด็นต่อต้านคอมมิวนิสต์ผ่านเนื้อหาบันเทิงสุดขีด โดยได้รับการสนับสนุนทางลับจากรัฐบาลขวาจัดในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ให้การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์และพิทักษ์สามสถาบันหลักอย่างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นพิเศษ (ดูใน – วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ดร.ภัสสร สังข์ศรี Thai Cinema as National Cinema: An Evaluative History ในหัวข้อ ‘The Role of Government in Film Indrustry in 1970s’)

ภาพยนตร์เรื่องสำคัญในต้นทศวรรษนี้ที่มีเนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน อาทิ อินทรีทอง (2513) นอกจากจะเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในชีวิตพระเอก มิตร ชัยบัญชา ที่เสียชีวิตระหว่างการถ่ายทำแล้ว ยังเป็นภาพยนตร์ที่นำเอาความกลัวคอมมิวนิสต์จีน-เวียดนาม ผสมผสานเข้ากับตัวละครสำคัญทางการเมืองไทยอย่างเปิดเผย ผ่านตัวผู้ร้ายของเรื่องที่ชื่อนาย ‘ปรีดา พนายันต์’ (ออกเสียงคล้ายชื่อ ปรีดี พนมยงค์) ก็จะพบการซ่อนนัยทางการเมืองไว้ชัดเจนว่า ตัวหนังวาง ‘ปรีดี’ ไว้เป็นตัวร้ายตั้งแต่แรกเริ่ม และยังบ่งบอกว่าตัวละครนายปรีดานี้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ปักกิ่ง (เพื่อบ่งชี้ว่ามีความเกี่ยวพันกับขบวนการคอมมิวนิสต์) แต่ยังมีลูกชายคนเดียวอยู่ที่เมืองไทย ลูกชายของนายปรีดาผู้นี้แหละที่กลายมาเป็นอินทรีแดงตัวปลอม เป็นผู้ร้ายหลักของหนัง ทำให้ โรม ฤทธิไกร (มิตร ชัยบัญชา) อินทรีแดงตัวจริงต้องสวมบทเป็นอินทรีทองมาปราบตัวปลอมอีกที หนังเต็มไปด้วยบทสนทนามุ่งโจมตีการขายชาติของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่หันไปร่วมมือกับพวกคอมมิวนิสต์เพื่อเป้าหมายยึดเมืองไทย คือจินตนาการความกลัวสูงสุดต่อภัยคอมมิวนิสต์ในเวลาดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ผลพวงจากการที่พรรคคอมมิวนิสต์เปิดแนวรบต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐบาลไทยนับแต่ปี 2508 ทำให้การสู้รบตามตะเข็บชายแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา เข้มข้นมากขึ้นตามความดุเดือดของสงครามเวียดนาม พื้นที่ในภูมิภาคอีสานกลายเป็นสมรภูมิหลักตลอดทศวรรษนี้ นอกจากเป็นพื้นที่ใกล้เส้นทางลับของโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh trail) เส้นทางที่ใช้ในการขนยุทโธปกรณ์และกำลังพลของเวียดนามเหนือเข้าสู่เวียดนามใต้ เส้นทางส่วนใหญ่อยู่ในลาว บางส่วนข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งไทย อาศัยต้นไม้และแนวป่าเป็นกำบัง และอำพรางการโจมตีจากทหารอเมริกันทั้งทางบกและทางอากาศ

‘ทอง’ แท้นั้นมีน้อยนัก

การรบที่ลึกเข้าไปในป่านี้เอง เป็นผลให้การทำสงครามกับคอมมิวนิสต์บนจอภาพยนตร์ไทยหันไปมุ่งเน้นการฉายภาพปฏิบัติการในส่วนภูมิภาคมากขึ้น หนังเรื่องสำคัญเรื่องแรกๆ ในทศวรรษนี้ที่ฉายภาพการรบกับคอมมิวนิสต์ในรูปแบบใหม่นี้คือ ทอง (2516) สร้างจากเรื่องสั้นของ พันตำรวจตรีประชา พูนวิวัฒน์ ที่อ้างว่าเขียนขึ้นจากเรื่องจริงเมื่อเครื่องบินขนทองคำสัญชาติอเมริกัน จำเป็นต้องร่อนจอดฉุกเฉินในเขตซำทอง ประเทศลาว ทางหน่วยสืบราชการลับอเมริกาจึงจ้างเจ้าหน้าที่นอกราชการ (เกร็ก มอริส) มาฟอร์มทีมจารชนชาวไทยขึ้นเพื่อปฏิบัติการชิงทองคำออกมาจากแดนคอมมิวนิสต์ อันประกอบไปด้วย ชาวไทย 2 นาย (สมบัติ เมทะนี และ กรุง ศรีวิไล) อดีตทหารคอมมานโดจากญี่ปุ่น (ดามพ์ ดัสกร) และทหารรับจ้างชาวไต้หวัน (กฤษณะ อำนวยพร) ทั้ง 5 หนุ่ม ต้องเดินเท้าข้ามเขาและทุ่งเข้าสู่แดนลาว ผจญกองกำลังคอมมิวนิสต์ติดอาวุธที่ต้องการทองคำเช่นกัน ระหว่างทางทั้งห้าได้พบ จันทร์แรม (อโนมา ผลารักษ์) ตำรวจหญิงจากกองปราบไทยที่ปลอมตัวมา และสายลับสาวชาวเวียดนามใต้ (ถั่ม ทุย หั่ง) เข้ามาทั้งช่วยและขัดขวางแผนการชิงทองคำครั้งนี้

ทอง ได้ฉายภาพปฏิบัติการอันเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐ ในสงครามปราบคอมมิวนิสต์อย่างเปี่ยมด้วยสีสัน ยกระดับการ ‘กู้ชาติ’ รบกับคอมมิวนิสต์ในทศวรรษก่อนที่เป็นการรบระหว่างรัฐไทย vs คอมมิวนิสต์ ผ่านหน่วยงานของรัฐ (ตำรวจ/ทหาร/หน่วยสืบราชการลับเฉพาะกิจที่มีแต่เพียงในภาพยนตร์) มาสู่การเป็นรัฐไทย-พันธมิตร (สหรัฐ ฮ่องกง ไปจนถึงมาเลเซีย) เพื่อรบกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในทศวรรษนี้ที่มีการขยายตัวของขบวนการเป็นองค์กรระดับนานาชาติเช่นกัน ซึ่งจะปรากฏในภาพยนตร์เรื่องต่อๆ ไปนับจากความสำเร็จของ ทอง

หากเรื่อง ทอง นี้ก็ยังมีเกร็ดอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ภาพยนตร์มีส่วนโหมกระพือความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ไม่ใช่แค่ในจอ แต่ยังมีอิทธิพลถึงนอกจอด้วย เมื่อปรากฏมีบทความ ‘สิ้นแสงดาว บนฟ้าญวน’ ตีพิมพ์ในนิตยสาร ดาราไทย เมื่อปี 2518 โดยเนื้อหาในบทความนี้ระบุว่า ถั่ม ทุย หั่ง นางเอกสาวชาวเวียดนามที่สมรสกับสามี หั่ง อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดี เหงียน วัน เทียว ทั้งสองได้ถูกพวกเวียดกงจับตัวได้ในเดือนกันยายน 2518 ที่ไซง่อน และถูกฆ่าทิ้งอย่างเลือดเย็น

ข่าวความตายของ ถั่ม ทุย หั่ง ถูกเขียน ‘ราวกับตาเห็น’ และระบุชื่อบุคคลที่ให้ข่าวอย่างชัดเจน ประหนึ่งว่าข่าวนี้จริงแน่แท้แล้ว ในปี 2518 นั้นเป็นปีที่กองทัพเวียดกงของโฮจิมินห์บุกเข้ายึดเมืองไซง่อน เมืองหลวงทางตอนใต้ของเวียดนามได้สำเร็จในวันที่ 30 เมษายนปีเดียวกัน การโหมกระพือข่าวการตายของดาราเอกจากเรื่อง ทอง นี้สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้อ่านมากในเวลานั้น ก่อนที่เวลาต่อมาจะมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่า ถั่ม ทุย หั่ง ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ และยังได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติเวียดนาม ขณะที่สามีของเธอแท้จริงคือ ดร.เหงียน ซวน หวัญ (Nguyen Xuan Oanh) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเวียดนาม เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งเวียดนามใต้ ใน พ.ศ. 2507 และ 2508

ข้อมูลอันเป็นเท็จเช่นนี้ถูกปล่อยออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อโหมกระพือความเป็นปีศาจร้ายของคอมมิวนิสต์ให้คนไทยรู้สึกหวาดกลัว บทความ ‘สิ้นแสงดาว บนฟ้าญวน’ นี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า การใช้สื่อภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างความกลัวภัยคอมมิวนิสต์ในทศวรรษดังกล่าว ไม่ได้จบลงแค่ภาพบนจอ

ภัยซ่อนเร้น

ย้อนกลับไปเล็กน้อยในปี 2516 เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ความเปลี่ยนแปลงในวงการภาพยนตร์เกิดระลอกคลื่นผู้กำกับลูกใหม่ที่ทำหนังสะท้อนสังคม พูดถึงปัญหาข้าราชการคอร์รัปชัน ความอยุติธรรมในสังคม และการกดขี่เอาเปรียบโดยรัฐในรูปแบบต่างๆ เช่น เขาชื่อกานต์ (2516) ตลาดพรหมจารีย์ (2516) ขณะที่หนัง ‘โปรทหาร’ เรื่องเดียวในปีนี้คือ ผู้กองยอดรัก (2516) ที่เล่าความสัมพันธ์ระหว่างทหารเกณฑ์รับใช้กับนายร้อยหญิงในบ้านพักทหาร

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ล่วงเข้าสู่ปี 2517 สังคมเปิดกว้างมากขึ้น วงการหนังเองก็ได้อิสระในการนำเสนอเนื้อหาใหม่ๆ พ้นจากกรอบการกู้ชาติ-ปราบคอมมิวนิสต์หรือรักประโลมโลกไปวันๆ สู่การพูดเรื่องปัญหาเฉพาะปัจเจกที่แทนภาพใหญ่ของสังคมมากขึ้น เกิดหนังอย่าง เทพธิดาโรงแรม ที่พูดถึงปัญหาการค้าประเวณีและความรุนแรงในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ทั้งยังพยายามเปิดด้านที่มีมิติของชีวิตให้แก่ตัวละครที่ถูกมองว่าเลวร้ายในหนังไทยมาตลอด อย่างโสเภณีและแมงดา มองอย่างเป็นปุถุชนธรรมดาที่ต้องหาเช้ากินค่ำภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่ผันผวนในช่วง 14 ตุลาฯ หรือ ขัง 8 ที่พูดถึงความรุนแรงในทัณฑสถานหญิง พร้อมๆ กันนั้นความสำเร็จของ เทพธิดาโรงแรม ทำให้เกิดหนังที่ชูเรื่องเซ็กส์เป็นจุดขาย สอดแทรกประเด็นทางสังคมที่ผู้หญิงถูกผู้ชายกดขี่เอาเปรียบ และการพยายามต่อสู้ดิ้นรนหลุดจากสังคมชายเป็นใหญ่ อาทิ ทองประกายแสด, รอยมลทิน, หัวใจ 100 ห้อง

จุดเปลี่ยนสำคัญในทศวรรษนี้เกิดขึ้น 3 ครั้ง ในปี 2518 เหตุการณ์แรกคือ กองทัพเขมรแดงบุกยึดกรุงพนมเปญในวันที่ 17 เมษายน เปลี่ยนการปกครองจากประชาธิปไตยเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ โดยมี นายพลพอล พต ‘สหายหมายเลขหนึ่ง’ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยเหตุการณ์กองทัพเวียดกงบุกยึดกรุงไซง่อนเอาไว้ได้ในวันที่ 30 เมษายน เป็นจุดจบสมบูรณ์ของสงครามเวียดนาม เวียดนามรวมประเทศเป็นหนึ่งและเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์เช่นกัน และสุดท้ายคือขบวนการปฏิวัติลาวในชื่อ ‘ปะเทดลาว’ (ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศเวียดนามเหนือ) ได้ล้มล้างการปกครองของรัฐบาลในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (ที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา)

ความ ‘ตื่นภัย’ ความมิวนิสต์ในหมู่ชนชั้นปกครองไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าทวีในปี 2518 ภัยสีแดงที่พวกเขาหวาดกลัวล้อมรั้วบ้านไว้หมดแล้ว ทั้งเวียดนาม กัมพูชา และลาว พร้อมๆ กับการถอนตัวออกจากภูมิภาคอาเซียนของสหรัฐ โดยสหรัฐยอมยุติบทบาททางการทหาร ถอนกำลังออกจากฐานทัพในไทยเกือบทั้งหมด แม้แต่ยูซิสเองก็ไม่ได้ทำการรบจิตวิทยาใน ‘แนวหน้า’ เช่นเมื่อต้นทศวรรษอีกต่อไป ทำให้รัฐบาลฝ่ายขวาไทยถูกโดดเดี่ยวในสงครามคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรกนับแต่เริ่มต้นการต่อสู้ด้วยอาวุธในปี 2508 หากแนวรบด้านวัฒนธรรมบันเทิงกลับเพิ่มบทบาทมากขึ้น จนเป็นหัวหอกสำคัญในการสู้รบทางความคิดในช่วงท้ายทศวรรษนี้ ก่อนจะนำมาสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

จากยุคแห่งเสรีประชาธิปไตยในช่วง 2 ปีก่อนหน้า นับจาก 14 ตุลาฯ เมฆหม่นสีแดงเลือดเริ่มตั้งเค้าในปี 2518 นี้แล้ว เริ่มจากการกลับมาของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ใน ตัดเหลี่ยมเพชร หนังแอคชั่นที่พูดถึงขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ (ภาพแทนคอมมิวนิสต์ในระดับอินเตอร์) ที่มีแผนจะเอานิวเคลียร์มาถล่มประเทศไทย ฉลองขยายภาพการร่วมมือระหว่างประเทศในสงครามปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ไปสู่แนวทางหนังสายลับ พระเอกชาวไทย (ไพโรจน์ ใจสิงห์) ต้องร่วมมือกับสายลับฝรั่งมือพระกาฬ (คริส มิทชัม) ต่อกรกับมือขวาฝ่ายผู้ร้ายสุดเท่ (กรุง ศรีวิไล) ตามมาด้วย ผมไม่อยากเป็นพันโท ที่สร้างจากเรื่องของ พันตำรวจตรีประชา พูนวิวัฒน์ คราวนี้เป็นปฏิบัติการแฝงตัวทำงานจารชนในลาว

สิ่งที่น่าสนใจคือ ผมไม่อยากเป็นพันโท เป็นหนัง anti-genre หรือเรียกกันภาษาชาวบ้านว่า ‘หักสูตรหนังสายลับ’ เปรียบกับหนังของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ที่มักจะขายความใหญ่โตของสเกลเรื่อง ฉากแอคชั่นระเบิดถล่มทลาย ใน ตัดเหลี่ยมเพชร ฉลองเอาหัวรถจักรสองหัวมาชนกันระเบิด ขณะที่ใน ผมไม่อยากเป็นพันโท หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล อาศัยเนื้อหาเหมือนหนังทำนองนี้ที่พระเอกไปหน้าเหมือนฝ่ายผู้ร้ายคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งเสียชีวิตไป ก็เลยสวมรอยเป็นผู้ร้ายไปสืบราชการลับในลาว แต่ในฉบับหนังหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้เปลี่ยนฉากจบจากนิยายอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการให้พระเอกถูกตำรวจไทยยิงตายตอนกำลังข้ามแม่น้ำโขงกลับมาฝั่งไทย เพราะคิดว่าเป็นผู้ร้ายตัวจริง

นอกจากหนังที่พูดถึงภัยคอมมิวนิสต์โดยการวางผู้ร้ายเป็นขบวนการคอมมิวนิสต์อย่างตรงไปตรงมาแล้ว ยังมีการกลับมาของหนังกลุ่มบู๊ภูธรที่พูดถึง ‘ผู้มีอิทธิพลเถื่อน’ ในภูมิภาคมากขึ้น หนังกลุ่มนี้เลือกจะฉายภาพเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งต้องปลอมตัว/แฝงตัวในคราบโจร ไปทำภารกิจทลายรังโจรด้วยวิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน ขายฉากแอคชั่นดุเดือดสะใจสมนิยาม ‘ระเบิดภูเขา เผากระท่อม’ ในปี 2518 หนังกลุ่มนี้มีการสร้างและฉายเป็นจำนวนมาก อาทิ นักเลงป่าสัก, นักเลงเทวดา, นายอำเภอใจเพชร, มัน, มือปืนพ่อลูกอ่อน และ ไอ้เหล็กไหล        

ขณะที่สถานการณ์การรบระหว่างรัฐไทยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น มีการปะทะกันตามยุทธภูมิสำคัญๆ หลายแห่ง อาทิ ยุทธภูมิบ้านห้วยโก๋น จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2518 ผกค. ได้เข้าโจมตีฐานที่มั่นแห่งนี้ที่มีทหารในสังกัดทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ 69 นาย จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต 17 นาย

ปีเดียวกันนี้เองเพลงปลุกใจในตำนานอย่าง ‘หนักแผ่นดิน’ ประพันธ์คำร้องโดย พันเอกบุญส่ง หักฤทธิ์ศึก และขับร้องโดย สิบเอกอุบล คงสิน และ ศิริจันทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้ใช้เปิดออกอากาศทางสถานีวิทยุ จส. กรมการสื่อสารทหารบก กองทัพบก เป็นครั้งแรก เพื่อต่อสู้ทางการเมืองกับขบวนการคอมมิวนิสต์นับตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี พ.ศ. 2523

ไม่มีใครคาดคิดว่า เพลง ‘หนักแผ่นดิน’ นี้จะเป็นเพลงเอกสำคัญสำหรับเปิดฉากรบเต็มกำลังกับขบวนการคอมมิวนิสต์ทั้งในส่วนภูมิภาคและในใจกลางเมืองกรุงเทพฯ เอง ในช่วงปลายทศวรรษ 2510 ต่อต้นทศวรรษ 2520


อ้างอิง
  • บทสัมภาษณ์ เอิร์ล วิลสัน (Earl Wilson) วิคเตอร์ แอล. สเตียร์ (Victor L. Stier) และ พอล กู๊ด (Paul Good) จากเว็บไซต์ https://adst.org/ (Association for Diplomatic Studies and Training) ค้นหาเอกสารด้วยคำค้นว่า Thailand จะพบเอกสารชุดแรกชื่อ Thailand ซึ่งรวมบทสัมภาษณ์อดีตเจ้าหน้าที่ USIS ที่ปฏิบัติการในไทยตั้งแต่ปี 1948-1998
  • เอกสาร CIA จากฐานข้อมูลกลาง www.cia.gov/library/readingroom/ เอกสารหมายเลข CIA-RDP82-00457R005000410006-9 ค้นหาด้วยคำสำคัญ หัวเรื่อง ‘Confiscation of Thai Films’
  • เอกสาร CIA จากฐานข้อมูลกลาง www.cia.gov/library/readingroom/ เอกสารหมายเลข CIA-RDP80-01065A000300020002-1 ค้นหาด้วยคำสำคัญ หัวเรื่อง ‘U.S. PSYCHOLOGY STRATERGY BASED ON THAILAND’
  • วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก Thai Cinema as National Cinema: An Evaluative History นำเสนอแก่มหาวิทยาลัย Murdoch University ในปี 2004
  • การก่อกรณี 6 ตุลาฯ https://doct6.com/learn-about/how/chapter-4
  • Grant Watts (2014), Communism Amongst the Stars: Anti-Communism in Film during the 1940s-50s
ที่มาภาพ
  • https://thaibunterng.fandom.com/
  • https://www.facebook.com/ThaiMoviePosters

Author

ชาญชนะ หอมทรัพย์
ชาญชนะ หอมทรัพย์ เกิดในยุคโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเต็มเมือง ผ่านทั้งยุควิดีโอเทป ติดหนังจีนชุดจนถึงซีรีส์ Netflix ปัจจุบันทำงานเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทย-เทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า