หมดยุค กอ.รมน. มือปราบผีคอมมิวนิสต์ สงครามเย็นยุติแล้ว แต่ทหารยังไม่หยุด

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็น ‘ยุบ กอ.รมน.’ กลายมาเป็นกระแสอีกครั้ง ภายหลัง นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์สเตตัสลงในเฟสบุ๊กส่วนตัว เสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือ พ.ร.บ.กอ.รมน. โดยชี้ให้เห็นถึงเหตุผลในการยกเลิกว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้อำนาจข้าราชการทหารในการดำเนินงานด้านความมั่นคงภายในประเทศมากเกินไป ทั้งยังมีความซับซ้อนในด้านโครงสร้างองค์กร สิ้นเปลืองงบประมาณ ขณะที่พันธกิจของ กอ.รมน. เองไม่ได้ตอบโจทย์สังคมในปัจจุบัน จากหลายกรณีที่ผ่านมาที่เน้นการคุกคามและปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองเป็นหลัก 

นายรอมฎอนได้ผุดแคมเปญชักชวนประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นภายในเว็บไซต์ของรัฐสภา ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญที่เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป โดยได้รับความสนใจจากประชาชนกว่า 45,000 รายชื่อ มีผู้เห็นด้วย 27.18 เปอร์เซ็นต์ และ 72.25 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วย 

นายรอมฎอนได้ระบุต่ออีกว่า การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นดังกล่าว ผู้ตอบคำถามความเห็นจะต้อง ‘อ่านคำถามดีๆ’ เนื่องจากมีคำถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการยุบเลิก กอ.รมน. ไม่ใช่เพียงแค่เห็นด้วยหรือไม่กับการมีอยู่ของ กอ.รมน. อย่างไรก็ตาม นายรอมฎอนยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนผู้ไม่เห็นด้วยต่อการยุบ กอ.รมน. เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจจะเป็น ‘ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร’ (IO) ของกองทัพไซเบอร์ใช่หรือไม่ เพราะองค์กรของตนเองอาจจะถูกยุบได้ในอนาคต 

ด้านหมอแคน อดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านเอ็กซ์ (X) ของตนเองว่า เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ยุบ กอ.รมน. โดยมองว่าองค์กรดังกล่าวเป็น ‘รัฐซ้อนรัฐ’ พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ทหารยังมีอำนาจเหนือพลเรือน เหนือประชาชน ทำไมต้องมีรองผู้ว่าราชการมาจากทหาร บ้านเมืองผ่านยุคคอมมิวนิสต์มาแล้ว ยกเลิก กอ.รมน. เท่ากับมอบเสรีภาพ เสมอภาคให้แก่ประชาชน สร้างประชาธิปไตย!!!!!”

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 31 ตุลาคม ระบุว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน. แต่ภายในวันนี้จะมีการแถลงข่าวใหญ่ที่ กอ.รมน. ส่วนการแสดงความคิดเห็นของนายอดิศร เพียงเกษ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ผม (นายเศรษฐา) ‘ไม่เคยพูดเลย’ ว่าจะยุบ กอ.รมน.

ความพยายามของฝ่ายการเมืองในการยุบ กอ.รมน. เกิดขึ้นมาตลอดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยมีเหตุผลสำคัญคือ ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ได้หมดไปแล้ว ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง แต่ทหารยังคงโครงสร้างเดิม เพิ่มเติมความซับซ้อนเข้าไปอีก โดยเฉพาะขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคาบเกี่ยวกับฝ่ายปกครองและตำรวจ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณมหาศาล โดยงบประมาณปี 2566 กอ.รมน. ได้รับการจัดสรรค์งบประมาณทั้งสิ้น 7,772 ล้านบาท เฉพาะงบการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้มีมากถึง 1,400 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะพบกับสันติภาพแต่อย่างใด

องค์กรพญาอินทรีย์สรรสร้าง มือปราบผีคอมมิวนิสต์

ภายใต้ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ที่รายล้อมประเทศไทยในช่วงสงครามเย็น สหรัฐในฐานะพี่ใหญ่โลกเสรี ได้ให้การสนับสนุนในการจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) ในปี 2508 เพื่อประสานงานการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศ ภายหลังจากวันเสียงปืนแตก เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เข้าปะทะกับรัฐไทยด้วยอาวุธเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 สิงหาคม 2508 และในเวลาต่อมา บก.ปค. ได้แปรสภาพมาเป็น ‘กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร’ (กอ.รมน.) ในปี 2516 โดยยังคงปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามคอมมิวนิสต์เช่นเดิม ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจผูกขาดในการบังคับบัญชาเป็นของกองทัพมาโดยตลอด 

สภาวะลงแดงของความขยาดกลัวคอมมิวนิสต์มาถึงขีดสุดก่อนเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะมาถึง กอ.รมน. ในขณะนั้นในฐานะหมอผีปราบคอมมิวนิสต์ ได้สร้าง ‘ผีบริวาร’ ขึ้นมาตนหนึ่งชื่อว่า ‘นวพล’ ซึ่งมีการโฆษณาชวนเชื่อและกล่าวอ้างว่ามีสมาชิกทั่วประเทศไทยกว่า 1 ล้านคน มีพันธกิจในการพิทักษ์ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยมีชนชั้นนำ นักธุรกิจ ข้าราชการจำนวนมากเข้าร่วม เช่น พลโทสำราญ แพทยกุล (ยศในขณะนั้น) อดีตองคมนตรี พลตำรวจโทสุรพล จุลละพราหมณ์ ผบ.ตำรวจตระเวนชายแดนในขณะนั้น เป็นต้น ที่ประกาศตัวเป็นสมาชิกนวพล ทั้งยังได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสหรัฐ แต่ดูเหมือนว่า ความเชื่อดังกล่าวจะเป็นเพียงการทำสงครามจิตวิทยา เพื่อการปราบปรามคอมมิวนิสต์ผ่านโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายขวา

พลเอกสำราญ แพทยกุล ถูกระบุว่าเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่ม ‘นวพล’ พร้อมรหัส ‘นวพล 001’ 

จากการศึกษาของ รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากลุ่มนวพลมีอยู่จริงหรือไม่อย่างไร เพราะจากการสนทนากับ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา อาจารย์ธงชัยไม่สามารถติดต่อสมาชิกนวพลเพื่อขอสัมภาษณ์ได้เลยสักคน แตกต่างจากขบวนการฝ่ายขวาอื่นๆ ที่มีเต็มไปหมด เหมือนเป็น ‘องค์กรผี’ ที่ กอ.รมน. สร้างขึ้นมาเพื่อทำสงครามจิตวิทยาต้านคอมมิวนิสต์เท่านั้น 

ถึงแม้ว่านวพล ของ กอ.รมน. จะดูเหมือนเป็นองค์กรผี แต่ รศ.ดร.พวงทอง ไม่ได้ปฏิเสธว่ามีการปฏิบัติงานของ กอ.รมน. ในช่วงเวลาดังกล่าวจริง มีเอกสารจำนวนมากของ กอ.รมน. ในการจัดตั้งองค์กรมวลชนเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ไปทั่วประเทศ เช่น อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) อันเป็นมวลชนจัดตั้งในโครงการหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ไทยอาสาป้องกันตนเอง ราษฎรอาสาสมัครพัฒนาท้องถิ่นและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม กองกำลังติดอาวุธ กลุ่มเสียงชาวบ้าน กลุ่มบางระจัน เป็นต้น ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอกสายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอ.รมน. ทั้งยังมีการ ‘ล่าสังหาร’ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสายจัดตั้งให้กับ พคท. อีกด้วย ซึ่ง พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี นายทหารคนดัง ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เป็นความจริงว่า เขาคือหนึ่งในหน่วยล่าสังหารคอมมิวนิสต์ของ กอ.รมน.

ในปี 2523 กอ.รมน. ได้ปรับพันธกิจสำคัญจากการต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีทางทหาร มาเป็นการนำด้วยการเมืองแทน เพื่อให้สอดคล้องกับการประกาศนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ หรือนโยบาย 66/2523 ของรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จนนำไปสู่เหตุการณ์ ‘ป่าแตก’ เมื่อสมาชิก พคท. ได้วางอาวุธ กลับออกจากป่ามาเป็น ‘ผู้พัฒนาชาติไทย’ ทำให้ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์คลี่คลายลง และมีการปรับโครงสร้างของ กอ.รมน. ให้ปฏิบัติภารกิจทางด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จัดระเบียบและเสริมความมั่นคงชายแดน การพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ การแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยและผู้หลบหนีเข้าเมือง การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี แต่ยังคงการปฏิบัติงานด้านการข่าวและปฏิบัติการจิตวิทยาแบบในสมัยต่อสู้กับคอมมิวนิสต์อยู่เช่นเดิม 

สงครามเย็นจบ แต่ภารกิจ กอ.รมน. ไม่เคยจบ

การปรับโครงสร้างและพันธกิจของ กอ.รมน. มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2520 จากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ที่ลดลงอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมือง แม้ในที่สุดสงครามเย็นจะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี 2534 และมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศของไทยที่มีต่อกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนในสมัยรัฐบาลของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จากนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ แต่ตัวองค์กร กอ.รมน. ก็ยังคงอยู่ แม้จะมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองในการยุบองค์กรนี้อยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถทำได้นอกจากการปรับโครงสร้างเท่านั้น

แม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดลงไปเกือบทศวรรษ ในปี 2543 คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายชวน หลีกภัย ได้ลงมติ ครม. ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และเตรียมยุบ กอ.รมน. แต่กลับต้องยุบสภาเสียก่อน ต่อมาในปี 2544 รัฐบาลของ พลตำรวจโททักษิณ ชินวัตร มีการลดบทบาทของ กอ.รมน. ลงและเพิ่มบทบาทการประสานงาน ปรับเพิ่มตำแหน่งจากเดิมที่ รอง ผอ.กอ.รมน. คือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตำแหน่งเดียว เป็น 3 ตำแหน่ง และมีผู้ช่วย ผอ.กอ.รมน. ที่ประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพิ่มเป็น 5 ตำแหน่ง โดยตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ ตำแหน่งรอง ผอ.กอ.รมน. เพิ่มฝ่ายปกครองคือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และแต่งตั้ง ผอ.กอ.รมน. ฝ่ายการเมืองเข้าไป ส่วน ผู้ช่วย ผอ.กอ.รมน. ได้เพิ่มอธิบดีกรมการปกครองเข้าไป 

ภายหลังการรัฐประหารปี 2549 นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน มีความพยายามในการจัดตั้งและขยายฐานมวลชนอีกครั้งเหมือนเมื่อสมัยสงครามเย็น ทั้งยังมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นผลให้ กอ.รมน. เป็นส่วนราชการที่มีรูปแบบเฉพาะ ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือว่าเสมือนการเพิ่มอำนาจเข้าไป โดยเฉพาะภายหลังรัฐประหารในปี 2557 ในสมัยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กอ.รมน. ได้กลายเป็นประหนึ่งองค์กรการเมืองของกองทัพที่สามารถใช้งบประมาณแผ่นดินมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามวาระทางลับและเปิดเผยได้ อีกทั้งมีกลไกอยู่ทั่วทุกภูมิภาค

ทหารหาญผลาญงบองค์กร กับภารกิจหลงยุคในโลกดิจิทัล

ภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 กอ.รมน. กลับมามีบทบาทในฐานะเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลทหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการแก้ไข พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อยกฐานะของ กอ.รมน. ให้เข้าควบคุมงานด้านความมั่นคงทั่วประเทศ รวมไปถึงการขยายขอบเขตงานไปยังงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งในความเป็นจริงมีหน่วยงานฝ่ายปกครองที่รับผิดชอบอยู่แล้วคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย อีกทั้งยังสามารถกำหนดเป้าหมายภัยคุกคามได้ รวมไปถึงการออกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านองคาพยพทั้งหมดของ กอ.รมน. เพื่อการหวังผลทางการเมือง

ในปี 2563 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผอ.กอ.รมน. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยอภิปรายว่า กอ.รมน. ได้ใช้งบประมาณมหาศาลในการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ผ่านการสร้างเพจเฟซบุ๊กจำนวนมาก เว็บไซต์ กรุ๊ปไลน์ เพื่อนำไปสู่การแชร์บทความที่สร้างความเกลียดชัง เพิ่มเชื้อไฟความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อีกทั้งยังมีการโจมตีนักการเมือง ซึ่งเป็นการขัดขวางขบวนการสันติภาพ ดองปัญหาที่เรื้อรัง ผลาญงบประมาณมหาศาลที่จะนำไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ก่อนที่นายวิโรจน์จะเปิดเผย QR Code ของกรุ๊ปไลน์เพื่อให้ประชาชนเข้าไปทลายรัง IO ของ กอ.รมน. จนแตกกระเจิงในที่สุด ซึ่งทาง กอ.รมน. ได้ออกมาปฏิเสธอีกตามเคย

 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล แจก QR Code ทลายรัง IO กลางสภา 

ต่อมาในปี 2564 นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล ได้ออกมาเปิดโปงขบวนการ IO อีกครั้ง ในส่วนของกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งมีเครือข่ายรัฐซ้อนรัฐของ กอ.รมน. ภาค 2 (20 จังหวัดภาคอีสาน) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ขณะที่ขบวนการคนรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในช่วงปี 2563-2564 กอ.รมน. ก็มีส่วนในการข่มขู่ คุกคาม ติดตามแกนนำนักศึกษาหลายครั้งหลายคราอย่างเห็นได้ชัด โดย กอ.รมน. มองว่านักกิจกรรมเหล่านี้คือภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ รวมไปถึงความพยายามในการจัดตั้งมวลชนเพื่อแสดงพลังสนับสนุนการทำงานของพลเอกประยุทธ์ และต่อต้านฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอ ไม่ต่างอะไรกับเมื่อสมัยการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เหมือน ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’

จริงหรือ หาก ยุบ กอ.รมน. แล้ว จะไม่มีใครดูแลความมั่นคง? 

เสียงคัดค้านต่อการยกเลิก กอ.รมน. นอกจากจะมาจากกลุ่ม IO แล้ว คนจำนวนมากก็เป็นกังวลว่า หน่วยงานไหนจะเข้ามาดูแลความมั่นคงของประเทศ หากพูดแบบไม่ต้องคิด ประเทศไทยก็มีหน่วยงานความมั่นคงอยู่แล้วคือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคณะรัฐมนตรีเป็นสมาชิก ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติอยู่ในรูปแบบ ‘พลเรือนเป็นใหญ่’ (civillian supremacy) เหนือกองทัพ องค์กรนี้มีภารกิจด้านความมั่นคงที่ชัดเจนแต่ต้น พร้อมเป็นที่ปรึกษา เสนอแนะนโยบายด้านความมั่นคง อำนวยการ และประสานงาน พร้อมจัดทำแผนด้านความมั่นคงให้กับ ครม. แต่ที่ผ่านมาเราแทบไม่ค่อยเห็นบทบาทของ สมช. มากนักในฐานะกลไกด้านความมั่นคงของรัฐ

หากพิจารณาภารกิจด้านความมั่นคงในหลายประเทศทั่วโลก จะเห็นได้ว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติมีอำนาจและประสิทธิภาพในการดูแลงานด้านความมั่นคงของประเทศ เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ (NSC) ส่วนกิจการความมั่นคงภายในของสหรัฐ เป็นหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (HSC) ซึ่งเป็นองค์กรพลเรือนเป็นใหญ่ ขณะที่อังกฤษก็มี สมช. เช่นกัน ซึ่งประกอบไปด้วยคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น หาได้มีผู้บัญชาการกองทัพเข้ามานั่งในสภานี้ไม่ ทว่า สมช. ของประเทศเหล่านี้ก็มีอำนาจมากพอที่จะสั่งการให้กองทัพให้ปฏิบัติการด้านความมั่นคงในสภาวะฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่ กอ.รมน. ดำเนินการภายใต้การควบคุมของกองทัพโดยตรง อีกทั้งงานด้านความมั่นคงภายในนั้น แท้จริงแล้วก็ไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพโดยตรง เพราะภารกิจหลักคือ การป้องกันภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ 

ดังนั้น การยุบ กอ.รมน. จึงมิได้ส่งผลอะไรต่อความมั่นคงภายใน แต่หากไม่มีการยุบ อย่างน้อยก็ควรโอนย้าย ปรับโครงสร้าง ลดขนาด หรือให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานใหญ่ เช่น สมช. ที่มีพลเรือนเป็นผู้มีบทบาทหลัก รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจ ให้เหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ โดยไม่ไปสร้างผีแห่งยุคสมัย ไม่ไปกำหนดว่าใคร ‘ศัตรูภายใน’ (enemy within) เหมือนสมัยสงครามเย็นที่สิ้นสุดไปแล้วกว่า 32 ปี 

อ้างอิง:

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า