คำถามดั่งคำสัญญาเรื่องสิทธิมนุษยชน

‘สิทธิมนุษยชน’ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประกาศเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948 จำแนกได้เป็น 2 ส่วนกว้างๆ คือ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งครอบคลุมไปถึงสิทธิในชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงของมนุษย์

ก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อ ‘เปิดแนวคิดพรรคการเมืองกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน’ สำรวจว่าแนวคิดและนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่เป็นเหมือนคำมั่นสัญญาก่อนเลือกตั้ง เมื่อเข้าไปมีส่วนในการบริหารประเทศแล้ว แต่ละพรรคจะนำแนวคิดไปสู่การปฏิบัติจริงได้เพียงใด ผ่าน 9 ประเด็นหลัก

  1. ยุติการทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย
  2. ยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ
  3. คุ้มครองเสรีภาพและการแสดงออก
  4. ส่งเสริมสิทธิ์ในการชุมนุมอย่างสงบ
  5. คุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชน
  6. คุ้มครองผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติ
  7. ส่งเสริมสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวในการใช้งานคอมพิวเตอร์
  8. ให้การเยียวยาเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  9. ยกเลิกโทษประหารชีวิต

ภายใต้ 9 คำถามนี้ถูกหยิบยกมาย่นย่อให้เหลือ 2 ประเด็นสำคัญ คือ การยุติการทรมานและบังคับคนสูญหาย กับส่งเสริมสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ผ่านตัวแทนจากพรรคการเมือง ประกอบด้วย อลงกรณ์ พลบุตร จากพรรคประชาธิปัตย์ พาลินี งามพริ้ง พรรคมหาชน เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร พรรคสามัญชน และ พรรณิการ์ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่ และ  วัฒนา เมืองสุข จากพรรคเพื่อไทย

และคำถามยาวๆ ที่ ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ ทิ้งไว้บนเวทีต่อประเด็นการยุติการทรมานและบังคับคนสูญหายคือ

“ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทรมานและอุ้มหายในปัจจุบันขาดมาตราสำคัญซึ่งตรงกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งกลับ และการรับผิดของผู้บังคับบัญชา พรรคของคุณมีแนวทางในการป้องกันการทรมานและการอุ้มหายอย่างไร และจะคืนความยุติธรรม ให้กับผู้เสียหาย และครอบครัวอย่างไร?”

อลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์

อลงกรณ์ให้คำตอบว่า การทรมานและสูญหายเป็นการกระทำผิดอาญาร้ายแรง ทั้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน แต่ด้วยสภาพที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นภาคีอนุสัญญาเรื่องของการทรมานหรือการอุ้มหาย เราให้สัตยาบันเรื่องการทรมานไปแล้ว ขณะที่การสูญหายยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ อลงกรณ์จึงบอกว่า

“เราพยายามร่างเป็นกฎหมายป้องกันปราบปรามการทรมานและการอุ้มหาย เสียดายว่าเมื่อวันที่ 7 มีนาคม สนช. ได้ถอนร่างนี้ออกไป แต่เราจะผลักดันให้มีการออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหาย สองก็คือ จะพิจารณาในเรื่องของการให้สัตยาบันอนุสัญญา ICPD (International Conference on Population and Development) ที่ยังค้างอยู่เพื่อให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ นี่เป็นศตวรรษที่ 21 แล้ว ประเทศไทยประกาศจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยแล้ว มันก็ต้องเข้าสู่หลักนิติรัฐนิติธรรม เข้าสู่หลักสิทธิมนุษยชน

“สามคือ ตัวอย่างกฎหมายที่เราจะยกร่าง ต้องกำหนดไว้เพื่อให้เกิดความยับยั้งชั่งใจของผู้มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการกระทำผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นในตัวหลักกฎหมายจะไม่เหมือนของ สนช. ทำอยู่ ที่มีปัญหาในเรื่องของการแสดงความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ การเยียวยา แต่จะเป็นร่างกฎหมายที่วางอยู่บนรากนิติรัฐ นิติธรรม และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงก็จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการยกร่างและในขั้นกรรมาธิการของสภา ซึ่งประชาธิปัตย์จะผลักดันร่างกฎหมายนี้หากได้เสียงส่วนมาก แต่หากได้เสียงส่วนน้อยก็จะผลักดันกฎหมายนี้ในรัฐสภาโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญครับ”

พาลินี งามพริ้ง พรรคมหาชน

พาลินีจากพรรคมหาชนออกตัวอย่างสารภาพว่าหนักใจ เพราะมองตัวเองในฐานะนักการเมือง จะไม่สามารถพูดแทนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบได้เลย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่จะให้คำมั่นสัญญาได้โดยง่าย

“เราจะคิดแบบนักการเมืองได้หรือเปล่า เพราะว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับคนคนนั้นมันคือการสูญเสียทุกอย่าง สิทธิในความเป็นมนุษย์ สิทธิในความเป็น LGBT มันไม่เหลือเลย เขาพรากทุกอย่างไปจากเรา ประชาธิปไตยก็ไม่มีในคนตาย สิ่งเหล่านี้มันเป็นความกระอักกระอ่วนใจในฐานะที่อาสามาเล่นการเมือง แล้วจะต้องพูดในเรื่องที่อ่อนไหวเช่นนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอะไรไม่ได้ ในแง่ของตัวบทกฎหมาย เราก็ต้องให้ความชัดเจนโดยไม่มองปัญหานี้ เป็นหนึ่งในปัญหาทุกปัญหา มันเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับการที่คนคนหนึ่งถูกละเมิด ถูกทรมาน หรือถูกทำให้หายไป

“ในนโยบายของพรรคมหาชนนั้น มีนโยบายหนึ่งที่เราจะผลักดันให้การพัฒนาในด้านสิทธิมนุษยชนเป็นแผนเกรด A ของประเทศชาติ ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะถ้าคนเราไม่มีสิทธิในความเป็นมนุษย์แล้ว ก็ไม่รู้เศรษฐกิจมันจะดีไปทำไม”

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร พรรคสามัญชน

จากพรรคซึ่งมีที่มาจากสามัญชน เกรียงศักดิ์กล่าวว่า พรรคสามัญชนมีสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองเป็นผู้ปกป้องสิทธิจำนวนมาก ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนคือสิ่งที่พรรคสามัญชนภาคภูมิใจ นโยบายเกือบทุกเรื่องจึงมีมิติของสิทธิมนุษยชนแทรกซึมอยู่ในนั้น

“พรรคสามัญชนมีความกังวลและมีความห่วงใยในเรื่องนี้อย่างมาก แล้วถึงแม้จะไม่มีกระบวนการในการทำนโยบายเรื่องนี้อย่างชัดเจน เราเองก็สามารถพูดได้ว่า เรามีคำมั่นใจในเรื่องของหลักการด้วยความตระหนักว่าการไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ มันทำให้ภาระในการสืบค้นความจริงต้องตกอยู่กับญาติพี่น้องของผู้สูญหาย เพราะฉะนั้นพรรคเราเห็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันให้ พ.ร.บ. ที่อยู่ในวาระที่ 2 ที่ยังมีปัญหาในหลายๆ มาตรา เราเองก็จะต้องทำการติดตามและร่วมผลักดันตัวกฎหมายซึ่งต้องใช้ได้จริง”

พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่

และคำตอบจากอนาคตใหม่ พรรณิการ์มองว่า เมื่อเห็นชัดเจนว่าตัวกฎหมายนี้มีปัญหาอย่างไรบ้าง แก้ไขอย่างไรได้บ้าง ที่ผ่านมาการอุ้มหายมีกว่า 80 คดีที่ไม่ได้รับการคลี่คลาย เพราะครอบครัวไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะเป็นคดีที่ไม่มีผู้เสียหาย

“ในร่างนี้ ครอบครัวสามารถที่จะเป็นผู้เสียหายได้แล้ว แต่มาตราที่มีปัญหาคือมาตราที่ 12 คือมาตราที่ห้ามรัฐส่งคนออกนอกราชอาณาจักร ถ้าพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นจะต้องเผชิญอันตรายที่ถูกตัดออกไป ก็ต้องเอากลับเข้ามา เพราะนี่คือหลักการสากล นี่คือมาตรา 12

“แล้วก็มาตรา 32 เรื่องการรับผิดชอบของผู้บังคับบังชา ว่าถ้าผู้ใต้บังคับบัญชาทำ ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดเช่นเดียวกัน จริงๆ มันคือหลักจิตวิทยาทั่วไปเลย ถ้าเกิดว่าผู้บังคับบัญชาจะต้องรับผิดด้วย ก็จะต้องมีการเข้มงวดกวดขัน การซ้อมทรมาน ไม่ให้มีการอุ้มหาย เพราะฉะนั้นผู้บังคับบัญชาย่อมมีส่วนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นมาตรานี้จะต้องนำกลับเข้ามา ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ หากเกิดกรณีซ้อมทรมานและอุ้มหาย นี่คือสิ่งที่เราอยากแก้ไข

“แต่สิ่งที่สำคัญมาก อย่าลืมนะคะ การซ้อมทรมานในไทยส่วนใหญ่เกิดในค่ายทหาร เป็นการซ้อมทรมานทหารเกณฑ์ เพราะฉะนั้นการปฏิรูปกองทัพการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เป็นการเข้าร่วมโดยสมัครใจ และกระบวนการทั้งหมดเป็นการฝึกตามมาตรฐานที่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนสากล รวมถึงการฝึก รด. ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามสิทธิมนุษยชน สามารถตรวจสอบและควบคุมได้ง่ายขึ้น ในส่วนของรูปธรรม 20 เสียงที่เราจะมีในสภา กฎหมายต่างๆ เราจะเสนอแน่นอน รวมทั้งต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนด้วย”

วัฒนา เมืองสุข พรรคเพื่อไทย

วัฒนาจากพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงประเด็นความปรองดอง ซึ่งในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประเทศไทยยังไม่พร้อมปรองดอง และยังคงไม่พร้อมในปัจจุบัน เนื่องจากต้องมีการสืบหาความจริงและการเยียวยา ซึ่งการเยียวยาไม่ใช่แค่ตัวเงิน ต้องใช้หลักการเพื่อให้เกิดความพึงพอใจ

“มันแสดงให้เห็นว่าคนไทยยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง บางคนถือว่านักโทษทางการเมืองเป็นนักโทษทางความคิด เราไม่ควรเอาเขาไปอยู่ร่วมกับนักโทษในคดีอาญา รัฐบาลที่แล้วก็มีการแยกนักโทษทางการเมืองออกไป ปรากฏว่ารัฐบาลนี้ยึดอำนาจมาก็เอากลับมาหมด ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายในปัจจุบันยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง

“สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ภาคประชาชน ไม่ใช่เพียงแค่ผลักดัน ประชาชนต้องหนุนหลังนักการเมือง พรรคการเมืองถือเป็นของต้องห้าม เพราะทุกคนรังเกียจที่จะทำกิจกรรมร่วมกับนักการเมือง กลัวจะมีส่วนได้ส่วนเสีย แต่วันนี้นโยบายเขาต้องขับเคลื่อนผ่านนักเมืองทั้งสิ้น ถ้าภาคประชาสังคม ภาควิชาการ หรือนักกิจกรรมทั้งหลาย ว่าฉันต้องไม่ยุ่งกับการเมือง มันผลักดันไม่ได้ กฎหมายบางฉบับมีความละเอียดอ่อนต้องอาศัยการขับเคลื่อนของคนทั้งประเทศ ถ้าประชาชนไม่หนุนหลัง พรรคการเมืองเสนอไป บางทีมันไปไม่รอด เช่นกฎหมายหลายฉบับ เพราะฉะนั้นอยากจะบอกทุกๆ คนที่อยู่ที่นี่ กรุณาหนุนหลังและเป็นกำแพงให้กับนักการเมืองที่จะเดินหน้าไปทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไปครับ”

สิทธิ์ในการใช้คอมพิวเตอร์

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล ณัฏฐาถามว่า ประการที่หนึ่ง ทุกพรรคการเมืองมีความคิดแก้ไขเรื่อง พ.ร.บ.ไซเบอร์หรือไม่ ประการต่อมาคือ จะมีมาตรการกำกับการใช้อำนาจของรัฐอย่างไรให้ได้สัดส่วนระหว่างความมั่นคงของรัฐกับความเป็นส่วนตัวของประชาชน และสาม พรรคจะมีมาตรการอื่นๆ เช่น การส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความรู้เท่าทันความปลอดภัยไซเบอร์ หรือส่งเสริมประชาชนในการใช้งานอย่างปลอดภัยคอมพิวเตอร์อย่างไร?

คำถามนี้ถูกส่งไปให้ตัวแทนจากพรรคมหาชนตอบก่อนว่า

“ประเทศไทยมีความมั่นคงเป็นข้ออ้างตลอดเวลา สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นอุปสรรค ไม่ใช่แค่เรื่องของสิทธิความเป็นส่วนตัว เป็นอุปสรรค์ในทุกอย่าง ทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ออกมาส่ายหัวให้กับ พ.ร.บ. นี้ แทบทุกบริษัท แต่อย่างไรก็ตาม การควบคุมในเรื่องของไซเบอร์อาจจะต้องมีบ้าง อย่างเรื่องของอาชญากรทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ หรือที่เสี่ยงกับศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราฉะนั้นพรรคมหาชนไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ตัวนี้แน่นอน คิดว่าถ้าเข้าไปก็คงเป็นเรื่องแรกๆ ที่จะต้องทำ เพราะเราจะต้องเอาสิ่งที่เป็นปัญหาของการแสดงเสรีภาพของประชาชนออกไปก่อน”

คำมั่นต่อมาของพรรคสามัญชน เกรียงศักดิ์กล่าวตอบว่า

“เราไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. นี้นะครับ หลักการของพรรคสามัญชนก็คือ ความมั่นคงของข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องอยู่เหนือความมั่นคงของรัฐ แต่ว่าบ่อยครั้งความมั่นคงของรัฐถูกเอาไปใช้มากกว่า ประเด็นที่สอง เรายืนยันว่าจะต้องมีการคุ้มครองสิทธิของบุคคลหรือข้อมูลนั้นมีสิทธิในการเลือกว่าจะให้แชร์อะไรได้ ให้เอาไปใช้อะไรได้ เราต้องมีส่วนในการให้ความยินยอม ซึ่งเรารวมถึงเอกชนด้วย

“ทุกวันนี้ข้อมูลคืออำนาจ เราเชื่อว่า พ.ร.บ. ลักษณะแบบนี้ นอกจากจะไม่คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของบุคคลแล้ว ยังทำให้เปิดทางให้คนเอาข้อมูลของเราไปใช้โดยที่เราไม่มีความยินยอมอีกด้วย”

ขณะที่โฆษกพรรคอนาคตใหม่มองการแก้ พ.ร.บ.ไซเบอร์ต้องทำควบคู่ไปกับการ พ.ร.บ.สิทธิมนุษยชน เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก โดยพรรณิการ์ตอบว่า

“พ.ร.บ.ไซเบอร์ และ พ.ร.บ.สิทธิมนุษยชน เป็นกฎหมายข้อแรกๆ ที่เราจะแก้ไข เพราะว่าเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างชัดเจน และยังทำให้ไทยขาดศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีโลกด้วย เพราะความมั่นคงไซเบอร์เป็นส่วนสำคัญในการประกอบธุรกิจ

“การแก้ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์อย่างไรให้สอดคล้องกับโลก และสอดคล้องกับความมีเสรีภาพของคนไทยด้วย ดังนั้น แก้สามอย่าง หนึ่ง – นิยามความมั่นคงทางไซเบอร์ให้เป็นเรื่องของระบบจริงๆ ไม่ใช่เนื้อหา ต้องให้ความปลอดภัยกับระบบ โดยเฉพาะ infra-structure หลักอย่างโรงพยาบาล ธนาคาร ข้อมูลภาครัฐ สอง – ก็คือการจำกัดขอบเขตการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขตของรัฐจะต้องไม่เกิดขึ้น ซึ่งกรณีเหล่านี้ต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อาจทำเรื่องเหล่านี้เองได้ สุดท้ายคือ อย่าให้เรื่องนี้เกี่ยวข้องยึดโยงกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ”

สอดคล้องกับวัฒนาที่กล่าวเห็นด้วยกับตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ และเสริมว่าความเป็นส่วนตัวของบุคคลนั้นจำเป็นต้องมี แม้กระทั่งในครอบครัว หรือคู่รัก สามี-ภรรยา ก็ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน

“ผมว่าความเป็นส่วนตัวของคน แม้แต่คนในครอบครัวยังต้องมีระยะ แล้วรัฐถือสิทธิอะไรถึงขนาดเข้ามาย่างก้าวเราในทุกเรื่อง ซึ่งมันไม่มีหลักคิด สิ่งเหล่านี้มันไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมอยู่แล้ว ในส่วนของพรรคเพื่อไทย เราจะออกกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อฆ่ากฎหมายฉบับต่างๆ ที่มันเป็นปัญหา แล้วอยากจะยืนยันสิ่งที่ได้กล่าวไว้ว่าทุกการดำเนินการจะเกิดขึ้นได้ต้องมีประชาชนหนุนหลัง ผมเชื่อว่าถ้ามีประชาชนหนุนหลัง ถ้าจะแก้มันแก้ได้ เราสามารถนำพาประเทศของเรากลับเข้ามาเป็นสังคมที่ถูกต้องได้อย่างแน่นอน”

สุดท้าย ความเห็นจากตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ มองไปยังความเป็นสิทธิส่วนบุคคลกับการก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิตอล ที่จะแยกไม่ขาดกับภัยร้ายแรงทางข้อมูลไซเบอร์ ซึ่งจำเป็นต้องผ่านการพิจารณาจากศาล

“ในมุมมองของประชาธิปัตย์นั้น เรามองว่าเรามีความต้องการที่จะก้าวเข้าสู้ยุคดิจิตอลหรือไม่ และคำตอบคือใช่ แล้วเรามาแรงมากในเรื่องของไซเบอร์ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอล ทั้งเรื่องของส่วนบุคคล ธุรกิจ เศรษฐกิจ ฯลฯ โลกเปลี่ยนไปแล้ว เนื้อหาของกฎหมายนั้นจะเน้นไปที่ข้อมูลที่เป็นภัยร้ายแรง ส่วนกฎหมายที่ไม่เป็นภัยร้ายแรงเราต้องขอหมายศาลก่อน

“กฎหมายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจำเป็นต้องมี เราโดนโซเชียลมีเดียเอาข้อมูลไปใช้ทางธุรกิจโดยที่เราไม่ได้ข้อตอบแทนอะไรเลย ดังนั้นกฎหมายตรงนี้มันต้องมี ผมยืนยันว่าถ้าเราจะก้าวสู่ยุคดิจิตอลต้องมีกฎหมายพื้นฐานอย่างน้อย 10 ฉบับ แต่ว่าการทบทวนกฎหมาย โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย เราจะดูและจะปรับปรุงทันที ถ้าเห็นว่าเป็นการคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล”

บางส่วนของคำถาม-คำตอบในเรื่องสิทธิมนุษยชน ถูกย่นย่อพอให้เห็นถึง คำมั่นสัญญา ที่จะถูกนำไปปฏิบัติต่อหรือไม่เมื่อได้เข้าไปเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งที่ใกล้จะเกิดขึ้น อาจจำเป็นต้องฉุกคิดถึงคำถามอีกคำถามที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ คำมั่นสัญญาในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ได้มาตามระบอบประชาธิปไตย จะถูกฉีกและละเมิดด้วยอำนาจนอกระบบอีกหรือเปล่า

นั่นก็เป็นอีกคำถามสำคัญในฐานะที่ว่า สิทธิทางการเมืองย่อมต้องมาพร้อมสิทธิมนุษยชน และย่อมไม่สมควรถูกละเมิด ไม่ว่าในนามของนิยามใด

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า