นโยบายต่างประเทศของ บอริส จอห์นสัน 1 ปีหลังขึ้นสู่ตำแหน่ง

หากไม่นับวาระการเลือกตั้งเมื่อตอนปลายปี 2019 ขณะนี้ก็ถือว่าครบรอบ 1 ปีหลังจากที่ บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เขาบอกกับสื่อเสมอว่า รัฐบาลภายใต้การนำของเขาจะต้องเป็นรัฐบาลที่สามารถสานฝันให้แก่คนอังกฤษได้รับเสรีภาพ ทั้งเสรีภาพจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป และเสรีภาพจากการไม่ต้องนำรายได้ของประเทศไปเทลงให้กับองค์กรพหุภาคีนิยมที่แทบไม่ได้ช่วยให้อังกฤษมีสถานะที่ดีขึ้น แถมยังเป็นตัวถ่วงอังกฤษเสียอีก พอถึงช่วงหาเสียงหรือในโอกาสที่ได้ปราศรัยต่อสาธารณะ บอริส จอห์นสัน ก็มักจะชูสโลแกนประจำตัวของเขาตลอดว่าเขาจะทำให้การออกจากสหภาพฯ กลายเป็นเรื่องจริงให้ได้ “GET BREXIT DONE” และให้คำสัญญาว่าจะไม่มีการขอเลื่อนเส้นตายของ BREXIT ออกไปจนเสียเวลาอีก เพราะเขาตั้งใจจะทำให้ได้ภายในปี 2020 นี้ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ

จนถึงตอนนี้ การเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้าเพื่อเตรียมตัวออกจากสหภาพฯ อย่างสมบูรณ์ในปีถัดไป ก็ยังไม่เห็นมีวี่แววของความเป็นรูปธรรมจากทีมเจรจาที่รัฐบาลได้ส่งไปหาทีมของสหภาพฯ เลย ข้อขัดแย้งและข้อกังวลต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ก็ยังคงดำรงอยู่อย่างหาข้อยุติไม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นข้อพิพาทเรื่องเขตการตกปลา และการประกอบกิจการการประมงในน่านน้ำรอบๆ พรมแดนของประเทศอังกฤษที่กำลังเป็นปัญหาที่ทั้งตัวแทนของฝ่ายสหภาพฯ และตัวแทนของฝ่ายอังกฤษมองว่าเป็นประเด็นที่โอนอ่อนผ่อนปรนให้กันไม่ได้ ฝ่ายสหภาพฯ ก็อ้างว่านโยบายการประมงนั้นเป็นเงื่อนไขขั้นบังคับประการแรกๆ หากอังกฤษต้องการทำข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพฯ ให้ผ่านไปได้ด้วยดี ส่วนทางอังกฤษนั้นก็ยืนยันอย่างชัดเจนว่า อังกฤษต้องการสงวนน่านน้ำรอบๆ ไว้ให้เป็นสิทธิพิเศษของชาวประมงอังกฤษ และอุตสาหกรรมการประมงของอังกฤษเป็นหลัก

ดูเหมือนความพยายามของ บอริส จอห์นสัน คือการรีดเอาสิทธิประโยชน์และข้อได้เปรียบทางการค้ามาจากสหภาพฯ ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ชาวอังกฤษได้ประโยชน์สูงสุดจากการถอนตัวออกจากสหภาพฯ ครั้งนี้ แต่ในทางกลับกัน มันมีมิติของการดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยขาดความระมัดระวังอยู่ด้วย บอริส จอห์นสัน ในฐานะผู้ที่เป็นหัวหอกของแคมเปญ BREXIT น่าจะทราบอยู่แก่ใจดีว่า ในสมรภูมิของการเจรจาข้อตกลงทางการค้าในกรอบใหญ่ๆ ตัวอย่างเช่น ระหว่างอังกฤษและสหภาพฯ นั้น ฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าย่อมเป็นฝ่ายอังกฤษเอง เพราะอังกฤษเป็นฝ่ายริเริ่มที่จะเนรเทศตัวเองออกมาจากกรอบภาคีการค้าดังกล่าวนั้นเอง โดยที่ไม่มีหลักประกันอะไรค้ำไว้ใช้เป็นแต้มต่อในการต่อรอง

มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วที่อังกฤษจะสามารถคงไว้ซึ่งสิทธิพิเศษทางการค้า และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามกรอบของสหภาพฯ ทุกประการ (ไม่อย่างนั้นจะเรียกว่า BREXIT ได้อย่างไร) การดึงดันที่จะเจรจาให้ได้ข้อตกลงที่ตัวเองต้องการอยู่ฝ่ายเดียวจึงไม่ต่างอะไรกับความฝันที่ทั้งอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริง และห่างไกลจากจุดที่ความประนีประนอมจะสามารถเกิดขึ้นมาได้ ในช่วงปีที่ผ่านมา บอริส จอห์นสัน ส่งทีมเจรจาการค้าระหว่างออกไปพยายามแสวงหาข้อตกลงทางการค้ากับประเทศพันธมิตรทั่วโลกอย่างร้อนรน ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย อินเดีย หรือแม้แต่ประเทศไทยเองเมื่อเดือนก่อนอังกฤษก็ส่งทีมเจรจาเข้ามาติดต่อยังกระทรวงพาณิชย์ผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจาก บอริส จอห์นสัน ต้องการข้อตกลงการค้าชุดใหม่มาแทนที่ข้อตกลงเดิมที่จะเสียไปจากสหภาพฯในช่วงสิ้นปี 2020 นี้

ท่าทีเหล่านี้ของอังกฤษได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อังกฤษกำลังตกอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งขาดแต้มต่อในการต่อรองเจรจา ขาดแรงจูงใจ และข้อตกลงที่ดึงดูด ใครเห็นก็มองด้วยความสงสัยว่าถ้าจะทำข้อตกลงทางการค้ากับอังกฤษที่ขนาดของเศรษฐกิจไม่ได้ใหญ่มากอย่างนั้น สู้หันไปทำข้อตกลงกับสหภาพยุโรปที่มีสถานะเป็นผู้เล่นระดับต้นๆ ของโลก น่าจะเป็นตัวเลือกที่มีเหตุผลและคุ้มค่ามากกว่า (เช่นเดียวกัน หลายประเทศก็คงจะข้องใจไม่น้อยว่าอังกฤษอยู่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันกับสหภาพฯ ก็ดีอยู่แล้ว จะออกมาทำไม) พฤติกรรมของอังกฤษในขณะนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการบากหน้าไปร้องขอให้ประเทศพันธมิตรของตนเองยอมทำข้อตกลงการค้าด้วยภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก อย่างกรณีความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงทางการค้าร่วมกับสหรัฐอเมริกา ก็เป็นตัวอย่างที่สะท้อนสภาวะดังกล่าวของอังกฤษออกมาได้ค่อนข้างดี

หากสังเกตในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ก็คงจะพอได้เห็นกันว่า ภาวะจนเเต้มของ บอริส จอห์นสัน ต่อนโยบาย BREXIT นั้น แสดงออกมาชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เช่นตอนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามเปิดฉากกดดันรัฐบาลจีนตั้งแต่ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Basic Law) ของฮ่องกงโดยพลการของรัฐบาลจีน เมื่อทรัมป์ประกาศเรียกร้องให้พันธมิตรของสหรัฐอเมริกาตัดสินใจกดดันจีนด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรจีนและฮ่องกง บอริส จอห์นสัน ก็ไม่รอช้าที่จะประกาศระงับสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังฮ่องกงในฐานะมาตรการตอบโต้ พร้อมกับประกาศเชิญชวนให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยของฮ่องกงอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศอังกฤษ (สำหรับกลุ่มที่ถือพาสปอร์ต BNO) เมื่อทรัมป์เรียกร้องให้พันธมิตรคว่ำบาตรและเลิกการทำมาค้าขายกับบริษัท Huawei บอริส จอห์นสัน ก็ไม่ลังเลที่จะออกมาประกาศตัดสัมพันธ์กับ Huawei

ล่าสุด รัฐบาลสหรัฐอเมริกากล่าวหารัฐบาลจีนว่า จงใจปล่อยให้เกิดการใช้แรงงานทาสภายในอุตสาหกรรมการผลิตที่มณฑลซินเจียง จนนำไปสู่การใช้กลไกของกฎหมาย Global Magnitsky Act ในการประกาศอาญัติทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ในสาขาซินเจียง ทั้ง 4 คนที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง (คือ Chen Quanguo, Zhu Hailun, Wang Mingshan และ Huo Liujun) รัฐบาลอังกฤษมีท่าทีที่ลังเลอิดออดไม่ได้ออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อแนวทางของ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าอีกไม่นานรัฐบาลของ บอริส จอห์นสัน ก็คงออกมาใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันกับประเทศจีน ด้วยการอ้างถึงชุดเหตุผลชุดเดียวกันกับที่รัฐบาลทรัมป์ ได้งัดออกมาใช้ก่อนหน้านี้ ทั้งหมดก็เพื่อที่จะเอาใจประธานาธิบดีทรัมป์ ให้รีบๆ ตัดสินใจตอบรับข้อตกลงทางการค้าระหว่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกาโดยเร็ว

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอะไร ถ้าพิจารณาจากฐานและประสบการณ์ในช่วง 4 ปีนับตั้งแต่ที่ทรัมป์ขึ้นสู่อำนาจมานี้ สหรัฐอเมริกามีท่าทีและพฤติกรรมทางการทูตเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก หนึ่งในนั้นก็คือ แบบแผนการจัดการเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่ตัวทรัมป์นั้นมีทัศนคติทางการทูตในรูปแบบ ‘Transactionalism’ หรือ การยื่นหมูยื่นแมว การจะเรียกร้องหรือคาดหวังอะไรจากประธานาธิบดีทรัมป์นั้นย่อมจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งของมาตอบแทนและเซ่นไหว้เป็นเครื่องบรรณาการ เพราะสำหรับทรัมป์นั้นทุกสิ่งทุกอย่างมีมูลค่ามีราคาของมัน ดังจะเห็นได้จากสุนทรพจน์ของทรัมป์ ที่มักจะกล่าวอย่างติดปากว่า “ถ้ายังอยากให้สหรัฐอเมริการักษาพันธะเดิมๆ (ของการเป็นผู้คุมกฎระเบียบโลก) เอาไว้ ก็ต้องจ่ายเงินให้กับสหรัฐอเมริกาเป็นข้อแลกเปลี่ยน” (ขอให้ดูกรณีของภาคีสนธิสัญญาแอตแลนติคเหนือ หรือ NATO เป็นตัวอย่าง)

เมื่อทัศนคติของทรัมป์เป็นเช่นนี้ บอริส จอห์นสัน ก็หลีกเลี่ยงลำบากหากอยากได้ข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา ก็ต้องยอมใช้มาตรการแบบสหรัฐอเมริกา ยอมนำเอาแนวทางในรูปแบบเดียวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ไปปรับใช้ในประเทศของตนเองอย่างเชื่อฟัง เพื่อก่อร่างบรรยากาศให้ โดนัลด์ ทรัมป์ รู้สึกว่าสิ่งที่เขาจะทำให้แก่พันธมิตรของเขานั้นมันคุ้มค่า (กับตัวเขา) มากเพียงพอที่เขาจะลงมือทำให้ พักหลังๆ มานี้จึงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อวิธีการบริหารงานของรัฐบาล บอริส จอห์นสัน กันมากขึ้น และมีการนำเอาศัพท์คำว่า ‘Poodleism’ (นโยบายหมาประดับ) ที่หมายถึง การดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะที่เอาอกเอาใจ คอยเดินตามมหาอำนาจระดับโลกอย่างสหรัฐอเมริกาอยู่ฝ่ายเดียวโดยไม่ห่าง กลับมาใช้ในการอธิบายแบบแผนการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษกันในแวดวงของนักนโยบายอีกครั้ง เพราะความกระสันอยากได้ข้อตกลงทางการค้าของ บอริส จอห์นสัน

อย่างไรก็ดี บอริส จอห์นสัน นั้นกำลังละเลยข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง คือเรื่องที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้ยึดแค่เพียงแนวทาง Transactionalism เพียงอย่างเดียว หากเขายังมีแนวทางในการเจรจาที่เชื่อในการขูดรีดผลประโยชน์สูงสุดจากคู่เจรจาอีกด้วย (zero-sum game) เมื่อใดก็ตามที่เขารู้สึกว่าคู่เจรจาได้ประโยชน์ไม่ว่าจะมากหรือน้อย เขาจะรู้สึกว่าตนเองนั้นขาดทุน ทำให้การเจรจาข้อตกลงการค้าที่ บอริส จอห์นสัน พยายามจะผลักดันให้สำเร็จภายในรัฐบาลทรัมป์ 1.0 นี้จะกลายเป็นเกมที่ทำให้เขาเข้าใกล้ความสำเร็จได้ยากเอาพอสมควร เพราะทรัมป์คงไม่ปล่อยให้อังกฤษหาเรื่องสูบผลประโยชน์จากสหรัฐอเมริกาไปง่ายๆ แน่ ดังจะเห็นได้จากประเด็นข้อเน้นย้ำหลายๆ ข้อที่ทีมเจรจาของทางฝั่งสหรัฐอเมริกาพยายามจะบีบให้อังกฤษยอมปฏิบัติตาม หากต้องการที่จะบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา เช่น การทุ่มสินค้าทางเกษตรกรรมของสหรัฐอเมริกาลงไปที่ตลาดของอังกฤษ จนนำมาสู่ข้อกังวลของทางฝั่งอังกฤษว่าชาวนาชาวไร่ของอังกฤษอาจจะโดนเนื้อไก่แช่คลอรีน และเนื้อวัวฉีดฮอร์โมนเข้ามาแย่งตลาดในอนาคต

แต่ถึงกระนั้นอังกฤษก็ยังไม่ล้มเลิกความพยายาม และยังมุ่งที่จะดึงตัวเองเข้าไปใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาให้มากขึ้น พฤติกรรมทางนโยบายต่างประเทศของอังกฤษในรัฐบาลบอริส จอห์นสัน จึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างสูงว่าเขาและรัฐบาลกำลังโยนไข่ทั้งหมดใส่ในตะกร้าใบเดียวหรือไม่ ในขณะที่พันธมิตรทางการค้าสำคัญๆ อย่างสหภาพยุโรป และจีนพยายามที่จะเข้าหาอังกฤษ พยายามส่งทีมเจรจามาปรับความเข้าใจ อย่างทางฝั่งจีนนี้รัฐบาลของ สี จิ้นผิง ก็มีแผนขยายการลงทุนและการพัฒนาร่วมกับกลุ่มทุน และอุตสาหกรรมภายในประเทศอังกฤษอยู่หลายอุตสาหกรรม ในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมเทคโนโลยี อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการพลังงาน รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 100,000,000,000 ปอนด์ ยิ่งโดยเฉพาะกับทางกลุ่ม Huawei และบริษัทลูกนั้นยังมองอังกฤษเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญภายในภูมิภาคด้วยซ้ำ เพราะมีโครงการพัฒนาร่วมกันกับภาคีมหาวิทยาลัยในอังกฤษอยู่ตั้งหลายโครงการ

แต่อังกฤษแทบจะมองไม่เห็นความสำคัญทางด้านเหล่านั้นเลย เห็นแต่ความสำคัญของสหรัฐอเมริกา จริงอยู่ที่ว่าสหรัฐอเมริกากับอังกฤษนั้นมีกรอบความร่วมมือในหลายๆ ด้านร่วมกันมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รวมไปถึงในมิติทางด้านยุทธศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกามองอังกฤษเป็นคู่สัมพันธ์ระดับพิเศษ (special relationship) เป็นพันธมิตรในกรอบด้านข่าวกรอง (Five Eyes: FVEY) เป็นผู้คุมความสมดุลและตัวแทนของสหรัฐอเมริกาประจำภูมิภาคยุโรป คอยทำหน้าที่ควบคุมและคานอำนาจกับมหาอำนาจเกิดใหม่อย่างเยอรมนีไม่ให้มีความทะเยอทะยาน แล้วพยายามขยับขึ้นมาท้าทายอำนาจของสหรัฐอเมริกาอีกเหมือนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ แต่สิ่งที่อังกฤษกำลังละเลยไปก็คือ สถานะของคู่สัมพันธ์พิเศษที่สหรัฐอเมริกามีต่ออังกฤษนั้นไม่ใช่แค่ว่าอังกฤษต้องทำตัวเป็นลูกไล่ที่ดีของสหรัฐอเมริกาแต่เพียงอย่างเดียว แต่จากเงื่อนไขและแบบแผนทางยุทธศาสตร์ดั้งเดิมของอังกฤษนั้น อังกฤษจำเป็นที่จะต้องมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในแถบยุโรปด้วย

เพราะตำแหน่งคู่สัมพันธ์พิเศษอังกฤษ-อเมริกานี้ จะมีมูลค่าและความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ต่ออังกฤษได้ก็ต่อเมื่ออังกฤษสามารถควบคุมความสมดุลของเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่าง 2 กลุ่ม กล่าวคือ อังกฤษต้องสามารถเล่นได้ทั้งบทพันธมิตรที่คอยทำหน้าที่เป็นไม้กันหมาให้สหรัฐอเมริกา ไม่ให้เยอรมนีตั้งตัวเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งมหาอำนาจกับสหรัฐอเมริกา คอยจับตาดูเยอรมนีให้แก่สหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด และในขณะเดียวกันอังกฤษก็ต้องสามารถเล่นบทตัวแทนของสหภาพยุโรปคอยนำประเด็นปัญหา หรือข้อพิจารณาของทางฝั่งยุโรปไปเจรจา ไปปรึกษาและพูดคุยกับทางสหรัฐอเมริกาได้ด้วย แต่ถ้าหากอังกฤษละเลยสภาพเงื่อนไขพื้นฐานเหล่านี้ออกไป แล้วเลือกที่จะเอนไปหาสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มตัว โดยที่ไม่ได้รักษาสายสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรเก่าแก่อย่างสหภาพยุโรป (หรือแม้แต่กับจีน) นั้น จะส่งผลต่อโครงข่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกรอบพันธมิตรของอังกฤษเอง

อังกฤษต้องไม่ลืมว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นเป็นปัจจัยที่ไม่แน่นอน บวกกับคะแนนความนิยม และกระแสการต่อต้าน โดนัลด์ ทรัมป์ ภายในประเทศสหรัฐอเมริกาขณะนี้ยิ่งตอกย้ำความไม่แน่นอนเหล่านั้นให้มีสูงขึ้น ว่าการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน ปลายปี 2020 นี้ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะไม่ได้รับการโหวตให้กลับมาเป็นรัฐบาลในสมัยที่ 2 อีก และ โจ ไบเดน เองก็แสดงตัวออกมาแต่แรกแล้วว่าเขาไม่สนับสนุน BREXIT ต่อให้มีในกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งกลับมาก็ยังไม่แน่นอนว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะยอมตกลงทำข้อตกลงการค้ากับอังกฤษเมื่อใด หรือจะต้องมีการทดสอบความภักดีของอังกฤษด้วยการเล่นไพ่จีนกันต่ออีกกี่ยก

ส่วนประเด็นสุดท้ายที่อังกฤษต้องพิจารณาเอาไว้ให้มากก็คือ สหรัฐอเมริกานั้นคงไม่สามารถที่จะคงสถานการณ์เป็นมหาอำนาจหมายเลข 1 ของโลกได้ตลอดไป กระแส America First และกระแสการตั้งคำถามต่อภารกิจนอกประเทศที่ก่อตัวขึ้นภายในช่วงรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ นี้กำลังเป็นตัวชี้วัดที่ดี ถึงความเหนื่อยล้าและรอยเท้าที่น้อยลงของสหรัฐอเมริกา อังกฤษจึงไม่ควรที่จะปล่อยให้สมดุลภายในเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับมหาอำนาจกลุ่มต่างๆ ทั้งจีน และสหภาพยุโรปต้องพังทลายลง แล้วเกิดนโยบายประเภท Poodleism ขึ้นมาอีก เพราะ Poodleism นั้นจะทำให้แบบแผนยุทธศาสตร์ทางด้านนโยบายต่างประเทศในระยะยาวของอังกฤษ ทำให้บทบาทของอังกฤษจากเดิมที่เคยเป็นผู้เล่นบนกระดาน กลายเป็นหมากตัวเล็กๆ บนกระดานแทน

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า