เว็บตัวร้าย กับออนไลน์คอนเทนต์

artboard-1-copy-2

เราอยู่ในยุคที่มนุษยชาติรุ่นใหม่อาจกล่าวทักทายกันด้วยประโยคที่ว่า

“นี่เธอ ดูคลิปนี้จากยูทูบยัง ตะโล๊ก ตัลหลก”

เช่นนี้แล้ว หนังสือพิมพ์และนิตยสารบนแผง จะทำอะไรได้นอกจาก ค่อยๆ โบกมืออำลากันไปทีละราย -สองสามสี่ห้าหก- ราย

การปรับตัวสู่การเป็น ‘สื่อออนไลน์’ อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ หากสำหรับคนที่ “เมื่อวานเพิ่งเขียนงานลงนิตยสาร วันนี้ต้องเปลี่ยนมาเขียนข่าวให้สั้นและเร็วบนโลกออนไลน์” คือโจทย์สำคัญและยังไม่ทันได้ปรับตัว อาจถือว่าสำคัญยิ่งกว่า

สำหรับท่านผู้อ่าน การได้ฟังว่าสื่อสิ่งพิมพ์หัวนั้นนู้นนี้ เปลี่ยนโฉมเข้ามาเล่นในเกมออนไลน์แล้วอาจให้รู้สึก “เฉยๆ ก็ดีนะ มีตัวเลือกให้อ่านเยอะดีอะ เขี่ยกันมันไปเลย” แต่ในฐานะคนผลิตสื่อ เราได้แต่คิดว่า…เอ่อ พี่ทำไม่ทันแล้วลู้กกก

เพื่อไม่ให้ผู้อ่าน เพียงอ่านแล้วเขี่ยทิ้งไป สื่อออนไลน์ที่ประกาศว่าจะปรับตัว เข้าเล่นในเกม ก็ต้องทำตามกติกาของโลกออนไลน์ที่ว่า “เร็ว อย่ายาว แต่ต้องลึกนะ ไม่งั้นไม่แชร์” อย่างนี้ แกนกระดูกสันหลังที่นิตยสารทั้งหลายเคยมี จะยังจำเป็นอยู่ไหม ในยุคที่ใครๆ ก็พร้อมจะเขี่ยคอนเทนต์นั้นทิ้งได้ และมันอาจหายไปภายใน 24 ชั่วโมง

บทความชิ้นนี้ต้องการกลับไปสอบถามเพื่อนพ้องพันธมิตร ที่เพิ่งประกาศบอกลาการทำงานแบบเก่า เซ็นสัญญาใหม่เข้าสู่องค์กรสื่อออนไลน์ อยากถามว่า จุดแข็งอ่อนของเว็บไซต์เขาคืออะไร และจะมีกลวิธีอย่างไรเพื่อให้ท่านผู้อ่านคลิกเข้าไปอ่านเนื้อหานั้นจริง ไม่ใช่เพียงไถนิ้วผ่านไป

เริ่มได้!

writter

เว็บไซต์ WRITER ให้สัมภาษณ์โดย ใหญ่-พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล ผจก.สำนักพิมพ์ The Writer’s secret

เว็บ writerssecret.co เป็นใคร จะมีอะไรอยู่ในนั้น และจะแตกต่างกับเว็บออนไลน์อื่นๆ อย่างไร

หลักๆ เลย มันเริ่มมาจากการเปิดเว็บเพื่อขายหนังสืออนไลน์ก่อน แต่ไหนๆ เปิดแล้ว ก็ใส่พาร์ทคอนเทนต์นี่เพิ่มเข้าไปด้วยเลย

เว็บ writerssecret.co จะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกที่เปิดใช้งานแล้วคือร้านหนังสือออนไลน์ อีกส่วนคือ blog ที่จะเอาไว้ลงข่าวสารและข้อเขียนต่างๆ เนื้อหาจะคล้ายๆ กับนิตยสาร Writer คือรายงานความเคลื่อนไหวในแวดวงการอ่านเขียน และนำเสนอบทความ บทสัมภาษณ์ ของผู้คนในแวดวง

จุดแข็งของตัวเว็บอยู่ที่ตัวนักเขียน-คอลัมนิสต์ เป็นทีมเดียวกับที่ทำนิตยสาร Writer อาทิ บินหลา สันกาลาคีรี, วรพจน์ พันธุ์พงศ์, ศุภชัย เกศการุณกุล ที่มีกลุ่มคนอ่านของตัวเองอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็มีนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาร่วมเขียนคอลัมน์ให้ อาทิ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ, หฤษฎ์ มหาทน, ช่างภาพกลุ่ม Realframe

ทำไมคนต้องมาอ่านงานในเว็บคุณด้วย มีอะไรดีนะ หืม?

จริงอยู่ที่ทุกวันนี้มีคอนเทนต์ให้อ่านมากมายบนโลกออนไลน์ ทว่าความสนใจของคนก็หลากหลายและเฉพาะเจาะจงขึ้นเช่นกัน writerssecret.co เป็นอีกพื้นที่หนึ่ง สำหรับคนที่สนใจการอ่านการเขียน ศิลปะวรรณกรรม ดังที่บอกไปแล้ว ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ยังมีอยู่ไม่มากนัก

คงเริ่มจากเพจเฟซบุ๊คของเรา (Writer Thailand) ซึ่งมีกลุ่มคนอ่านที่คอยติดตามอยู่แล้ว เป็นประตูเพื่อนำผู้อ่านไปสู่เว็บไซต์ของเราอีกทอดหนึ่ง

กลัวไหมว่าจะไม่ป๊อป

ไม่กลัวครับ เพราะ Writer ไม่ได้ป๊อปมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และในสภาพความเป็นจริง กลุ่มคนที่สนใจเนื้อหาแนวนี้ ในประเทศนี้ ก็เป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ แต่เราเชื่อว่าเนื้อหาที่เรานำเสนอนั้น มีพลังมากพอที่จะกระตุ้นความคิดอ่าน และให้แง่มุมดีๆ กับคนที่เสพได้

แง่หนึ่งเราก็จับสังเกตได้ว่า ตั้งแต่ที่นิตยสาร Writer ปิดตัวไป ก็ยังมีสื่ออื่นๆ ที่เข้ามาทำหน้าที่บอกเล่าข่าวสารของคนในแวดวงอย่างจริงจัง แต่เวลามีกลุ่มสำนักพิมพ์เล็กๆ หรือนักเขียนหน้าใหม่ที่น่าสนใจ จะไม่มีสื่อที่คอยรองรับ หรือคอยนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาเหล่านี้โดยตรง

อีกส่วนหนึ่ง เราพบว่า กลุ่มคนอ่านเดิมยังคงโหยหา-คิดถึง Writer อยู่ การมีพื้นที่นี้ขึ้นมา ก็อาจทำให้ผู้อ่านของเราคลายความคิดถึงลงได้บ้าง และในมุมผู้จัดทำเอง ก็ถือว่าได้กลับมานำเสนอสิ่งที่เราถนัดอีกครั้ง บนพื้นที่ออนไลน์ซึ่งเท่าทันกับกระแสของยุคสมัย

paperless

นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ อดีต บก. รุ่นเก๋าแห่ง จุดประกายวรรณกรรม ที่ผละจากกระดาษผันตัวมาทำ www.thepaperless.co สดๆ ร้อนๆ

ขณะนี้ สื่อทุกกระแสปรับตัวลงออนไลน์หมด ทางเลือกคนอ่านมีมาก จะทำยังไงให้เขาเข้ามาอ่าน ไม่ใช่เขี่ยเลยไป

ตรงนี้แหละมันยาก  แต่พอเราลองดูเว็บอื่นๆ โดยเฉพาะของสำนักพิมพ์ต่างๆ แล้ว นอกจากจะทื่อๆ ไม่มีอะไร เอาแต่ขายของ  ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจเลย….ผมนึกแล้วก็เห็นช่องทางเลย นั่นคือเราต้องนำเสนอให้แตกต่าง และต้องให้คน 4 รุ่นเข้ามาอ่านให้ได้ คือคนรุ่นใหญ่อย่างพี่อาจินต์ ถัดมาก็รุ่นกลางอย่างแดนอรัญ แล้วก็มาถึงคนรุ่นใหม่ และอีกรุ่นก็คือเด็กๆ อย่างในหมวด “PLAYGROUND สนามเด็กเล่นตัวหนังสือ”

ยกตัวอย่างเช่น ในหมวดดนตรี HIGHWAY SONG นอกจากจะมีทั้งเรื่องรายงานการแสดงสดในเมืองไทยของศิลปินมือทับบล้าระดับโลกอย่างอุสตาด ซากีร์ ฮุสเซ็น แล้ว เราก็ยังมีบทสัมภาษณ์วงอินดี้ของเด็กหนุ่มจากเชียงใหม่ที่มาแรงอย่างวง ‘สภาพสุภาพ’ ด้วย ส่วนอีกอารมณ์หนึ่งเราก็จะพูดถึง “เพลงรัก ของ จิตร ภูมิศักดิ์”

เช่นเดียวกับหมวดท่องเที่ยว GOOD TRIP FOR GOOD LIFE เราก็จะไปเที่ยวอีกแบบหนึ่ง อย่างพาไปดูความสวยงามของสะพานมอญตอนที่มันขาดๆ หรือพาไปดูสถานีรถไฟเล็กๆ แต่สวยงามอย่างมาก

เหล่านี้แหละคือสิ่งที่จะทำให้คนอ่านได้เห็นในสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น

ทำไมคนอ่าน ต้องอ่าน Paperless

ความเป็น Paperless ที่สำคัญอย่างแรกคือใจ…ผมลงทุนทำครั้งนี้ด้วยใจจริง ไม่ใช่เอาธุรกิจหรือเงินทองเป็นตัวตั้ง ทุกคนที่มาร่วมงานกับผมแรกสุดทุกเรื่องที่ปรากฏมาด้วยใจกันทั้งนั้น

อย่างที่สองก็คือผมคิดว่าผมมีศักยภาพพอที่จะทำได้ โดยเฉพาะประสบการณ์ที่มีอยู่

อย่างที่สามก็คือกลุ่มคนอ่าน เมื่อเขาเชื่อมั่นในฝีมือการทำของเรา เขาจะไม่ทิ้งเรา แม้ว่าจะไม่มีจุดประกายวรรณกรรม แต่พอมีเว็บไซต์และมีเว็บเพจเฟซบุ๊คขึ้นมา เขาก็ตามมาอ่านกัน ซึ่งมันสะดวกกว่าการรออ่านในหนังสือพิมพ์ด้วย

อย่างที่สี่ก็คือ เราต้องมีคุณภาพ ไม่ใช่เป็นเว็บที่ใครเขียนอะไรๆ ตีหัวหมาด่าแม่เจ๊กก็ลงเผยแพร่ได้ …แต่เราไม่ใช่อย่างนั้น เรามีระบบเอดิเตอร์ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่ควรภาคภูมิใจ เป็นอีกเวทีหนึ่งเหมือนเป็นนิตยสารอีกเล่มหนึ่งที่ช่วยแจ้งเกิดให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ได้

และสุดท้ายเลยก็คือ “มนุษย์เราเป็นคนสร้างคอมพิวเตอร์” คอมพิวเตอร์ไม่ได้สร้างมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นผู้ใช้มัน ไม่ใช่มันมาใช้เรา

สำหรับ The MATTER แม้จะไม่ได้มีต้นทางมาจากนิตยสารหรือสิ่งพิมพ์เหมือนสองสำนักทางด้านบน แต่พวกเขาก็มีทางของตัวเอง ที่ชัดเจนและน่าสนใจ ในฐานะสำนักข่าวที่คิดเยอะและพยายามทำข่าวให้คนเข้าถึงได้ง่าย อารมณ์ขันและการแทนตัวเองเป็นคนอ่านก่อนจะเขียนมันออกมาจึงจำเป็นมากๆ

thematter

บอกเล่าเรื่องราวของ The MATTER โดย แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

อะไรคือจุดแข็งของเว็บไซต์ และทำไมคนอ่านถึงต้องอ่าน The MATTER

จริงๆ จะให้พูดถึงจุดแข็งของตัวเองก็ลำบากเหมือนกันนะครับ แต่ผมคิดว่าหากจะย้อนไปพูดถึงแนวคิดดั้งเดิมแรกเริ่มตอนที่ทำ The MATTER ขึ้นมาก็คือ เราอยากทำข่าวให้คนสัมผัสได้ เพราะตัวเองก็เป็นคนที่อยากอ่านข่าว แต่ข่าวต่างๆ มันเหมือนไม่ถูกนำเสนอแบบที่หันแง่มุมที่เราอยากอ่าน หรืออยากรู้ว่าทำไมเกี่ยวข้องกับตัวเอง เข้าหาเรา เราเลยรู้สึกว่า คงจะดี ถ้าเราสามารถพลิกเหลี่ยมพลิกมุมของข่าว หรือของเรื่องราวที่น่าสนใจ (ที่อาจจะไม่เป็นข่าว ในฐานะที่บอกว่ามันไม่ ‘current’) เข้าหากลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้ครับ

มีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะทำให้คนอ่านเข้ามาอ่านเนื้อหาของ The MATTER

เราพยายามที่จะถามตัวเองก่อนว่า ทำไมคนต้องสนใจเรื่องเรื่องนี้ และถ้าเราไม่เคยสนใจเรื่องนี้ เราจะสนใจมันไหม ทุกครั้งที่สื่อสารออนไลน์ ไม่ว่าจะกับ The MATTER หรือกับการสื่อสารส่วนตัว ถ้าเป็นการสื่อสารที่ผมอยากให้ไปถึงคนในวงกว้างหน่อย ผมมักจะถามตัวเองว่า Why should I care? คือ ทำไมเราต้องสนใจวะ ในเมื่อมันเป็นเรื่องที่อาจจะไม่เกี่ยวกับตัวเราเลย มีวิธีแบบไหนที่ทำให้รู้สึกว่าเกี่ยวได้ เช่น อาจจะอรรถาธิบายจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว หรืออาจจะใช้วิธีอื่น เช่น ใช้วิธีการนำเสนอที่แปลกไปจากปกติ หรือใช้อารมณ์ขันครับ

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า