“ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ส่วนเพื่อนสนิทของผมไปเรียนที่ ม.ขอนแก่น ช่วงไหนคิดถึงก็ไปหากัน เผอิญเขาเช่าบ้านอยู่ใกล้กับพี่ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ทำให้ผมได้รู้จักไปด้วย ก่อนหน้านั้นผมรู้จักพี่ไผ่ตามสื่อบ้าง เคยเห็นภาพเขากับเพื่อนคล้องแขนเป็นกำแพงมนุษย์ดันตำรวจ (การเคลื่อนไหวคัดค้านกรณีขอประทานบัตรเหมืองทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย) มองว่าเขาเป็นนักเคลื่อนไหวคนหนึ่ง แต่ไม่ได้รู้จักอะไรมาก ตอนเจอตัวจริงครั้งแรก พี่ไผ่เป็นคนขี้เมา (หัวเราะ) กินเหล้าแล้วโวยวายเสียงดัง ช่วงนั้นเขาเคลื่อนไหวเรื่องเหมืองทองที่อำเภอวังสะพุงมาสักระยะแล้ว เป็นที่ที่เขาได้เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เขาชวนผมไปช่วยงานด้วย การลงพื้นที่ทำให้ผมได้รับประสบการณ์จากพ่อๆ แม่ๆ ได้รู้ว่าพวกเขาเจอผลกระทบอะไร ภูเขาหายไปเป็นลูก เจอกับสารพิษ ข้าวปลากินไม่ได้ หลังจากนั้นไม่นานพี่ไผ่ก็ติดคุก (เขาเคยถูกกุมขังทั้งหมด 870 วัน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ)
“ช่วงที่ผมเข้ามาในขบวนการเคลื่อนไหว ผมคือเด็กวัยรุ่นที่ชอบตีชอบต่อย อยากใช้ความรุนแรงตอบโต้ พี่ไผ่คือคนที่สอนผมเรื่องสันติวิธี เขาอธิบายว่า ‘สันติวิธีจะทำให้เกิดความชอบธรรมในการเรียกร้อง และทำให้การใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ไม่มีความชอบธรรม’ ผมมองว่ามันยากในการปฏิบัติจริง ทำใจได้ยาก เวลาเห็นพี่ไผ่โดนจับ ยอมรับว่าผมอยากใช้ความรุนแรงกลับ แต่มันทำไม่ได้ เพราะขบวนของเราตกลงกันว่าจะใช้หลักการนี้ พี่ไผ่สอนผมหลายเรื่อง ทั้งเรื่องแนวคิดทางการเมืองและการใช้ชีวิต เขาคือคนที่ทำให้ผมเข้าที่เข้าทาง
“ผมเป็นคนจันทบุรี ช่วงที่ผ่านมาก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่ที่นั่น จนวันหนึ่งพี่ไผ่ชวนมาเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ วันที่ 13 ตุลาคม 2563 เราตั้งเวทีอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันนั้นจะมีขบวนเสด็จผ่าน ตำรวจเลยต้องมาเคลียร์ เรายืนยันว่าจะไม่ย้าย ตำรวจจับผู้ชุมนุมไปทั้งหมด 21 คน วันนั้นพี่ไผ่โกรธจนร้องไห้ออกมาเลย เขาเสียใจที่เห็นน้องโดนตีต่อหน้าแล้วช่วยอะไรไม่ได้ พวกเราถูกพาไปที่ ตชด. พอวันรุ่งขึ้น พี่ไผ่ถูกพาไปศาลอาญา เพราะโดนคดีแกนนำยุยงปลุกปั่นด้วย คนที่เหลือถูกแยกไปศาลแขวงดุสิต หลังจากนั้นก็ถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพ พอเข้าไปก็เห็นคนนอนกองในห้องขังอยู่ 4-5 คน ผมเห็นคนนึงคุ้นๆ เราเข้ามากันเยอะก็เสียงดัง อยู่ๆ คนที่นอนอยู่ก็ลุกขึ้นมาร้องว่า ‘เฮ้ย…’ คนนั้นคือพี่ไผ่ เขามาถึงก่อนแล้ว
“ช่วงที่เข้าไปเป็นสถานการณ์โควิดแล้ว พวกเราต้องอยู่ในห้องลูกกรงตลอด เป็นมาตรการของเรือนจำที่กักตัว 14 วัน ห้ามออกไปหาหนังสืออ่านในห้องสมุด ห้ามเล่นกีฬา ห้ามนั่นห้ามนี่ แต่พอกินข้าววันแรก เขากลับให้พวกผมกินช้อนเดียวกัน โดยอ้างว่าเตรียมของให้ไม่ทัน ทั้งที่คุณบอกว่าคือห้องกักโรค แต่สิ่งที่คุณทำโคตรแพร่กระจายโรคเลย เรื่องอำนาจนิยมก็เหมือนที่ทุกคนรู้กัน เช่น ผู้คุมทำตัวโหดกับคนถูกขัง คนส่วนใหญ่แทบจะหมอบกราบ คนที่มาคนเดียวก็ไม่กล้ามีปัญหา แต่พวกเราเข้าไปกันหลายคน เวลาเจ้าหน้าที่พูดจาไม่ดี เราก็แข็งใส่เลย ‘พี่พูดดีๆ ไม่ได้เหรอ พวกผมก็คนนะ’
“พี่ไผ่มีประสบการณ์ในคุกมาก่อน ก็มาคอยแนะนำว่าอยู่ในคุกต้องใช้ชีวิตยังไง ต้องระวังอะไรบ้าง เพื่อนบางคนเป็นซึมเศร้า อยู่ในนั้นแล้วมีความคิดว่าอยากฆ่าตัวตาย เห็นภาพตัวเองผูกคอในคุก พี่ไผ่ก็ช่วยเยียวยา ปรับความคิดความรู้สึก เขาบอกว่า ‘เรื่องนี้อยู่ที่วิธีคิดนะเว้ย เรากำลังต่อสู้กับคนใช้อำนาจ การเคลื่อนไหวแล้วต้องเข้าคุก มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้’ เราอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพทั้งหมด 6 วัน รวมกับ 1 วันที่ ตชด. ในสำนวนที่ผมโดนเขียนความผิดไว้ว่า พ.ร.บ.ความสะอาด เวลาใครถามว่า ‘โดนคดีอะไรมาวะ’ ผมโคตรเขินเลย (หัวเราะ) มันเป็นความผิดที่ไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่กลับต้องมาติดคุกแบบนี้
“หลังจากวันนั้น พวกเราอยู่ด้วยกันตลอด ตระเวนกันไปเรื่อยๆ ทั้งงานราษฎรออนทัวร์ในต่างจังหวัด และแฟลชม็อบในกรุงเทพฯ ถ้าใช้การแบ่งคนเป็น 4 ประเภท คือ กระทิง หนู เหยี่ยว หมี (สัตว์ 4 ทิศ) ผมว่าพี่ไผ่คือกระทิง ลุยแหลก ไม่พูดเยอะ แต่ขณะเดียวกัน เขาเชื่อในสันติวิธี และเรียน ป.โท (สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล) ด้านนี้เลย เขาเลยเป็นคนที่บุคลิกแบบกระทิง แต่เคลื่อนไหวแบบสันติวิธี ผมเถียงพี่ไผ่เรื่องนี้ประจำ สิ่งที่เขาพูดกลับมาคือ ‘มึงใช้ความรุนแรงแล้วได้ประโยชน์อะไร มึงก็โดนจับ แล้วใครจะทำต่อ’ ซึ่งเวลาผมเถียงกลับ เขาไม่เคยโกรธเลย ไม่เคยถืออภิสิทธิ์ สอนเรื่องคนเท่ากัน เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสันติวิธี เอาสิ่งเหล่านั้นมาหักล้างกับนิสัยส่วนตัวของผมตลอด จนแนวคิดของผมเปลี่ยนไป
“ผมเคยพยายามถามว่า ‘สันติวิธีมันจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงเหรอ’ พี่ไผ่ตอบว่า ‘กูก็ไม่รู้เหมือนกัน ทำไปก่อน มันอาจชนะผู้มีอำนาจไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันจะชนะใจคน’ พี่ไผ่ไม่เคยแสดงความเศร้าหรือความกลัวให้ใครเห็น มีแค่วันที่ 13 ตุลาคม ปีที่แล้ว เขาโกรธจนร้องไห้ ปกติเขาใช้ชีวิตร่าเริงตลอด ผมเรียกพี่ไผ่ว่า ‘แอนท์’ มาจาก ‘ไจแอนท์’ เพราะเขาเป็นคนขี้แกล้ง ชอบเล่นกันแรงๆ เมื่อเช้า (8 มีนาคม 2564) ผมถามเขาว่า ‘เฮ้ย แอนท์ วันนี้ไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้วนะ เอายังไงดี’ เขาพูดแค่ว่า ‘ไปกินกาแฟด้วยกันก่อน’ เราเตรียมใจกันมาแล้วว่าพี่ไผ่อาจติดคุก โอเค เราจะเคลื่อนไหวด้วยสันติวิธีกันต่อไป”
สัมภาษณ์ ปีก-วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ จากกลุ่ม UNME of Anarchy ที่มาร่วมให้กำลังใจผู้ต้องหาคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทั้ง 18 คน ที่มีกำหนดเข้าฟังคำสั่งคดีกับอัยการ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เวลาประมาณ 11.20 น. อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 18 คน โดย จตุภัทร์, ภาณุพงศ์ และ ปนัสยา ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ขณะที่ผู้ต้องหาอื่นๆ ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
การพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างรอผลว่าผู้ต้องหาจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ ภายหลังศาลสั่งปล่อยตัวจำเลย 15 คน ยกเว้น จตุภัทร์, ภาณุพงศ์ และ ปนัสยา ที่ไม่ได้รับการประกันตัว