วิธีทำลายรัฐประหารด้วย ‘สภา’ ที่มาจากประชาชน

เป็นเรื่องเหลือเชื่อ ประเทศซึ่งผ่านการรัฐประหารมาอย่างโชกโชนถึง 13 ครั้ง (นี่นับเฉพาะที่สำเร็จเท่านั้นนะ) ไม่น่าเชื่อ! ประเทศที่ผ่านความรุนแรงทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน เพิ่งจะมีการเสนอญัตติการป้องกันรัฐประหารโดยสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2563)

กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อราว 11.00 น. ที่สภาผู้แทนราษฎร เมื่อผู้แทนจากพรรคอนาคตใหม่ เสนอญัตติ เรื่อง ‘ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) เพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหาร’ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ลุกขึ้นอภิปราย

หนึ่งในนั้นคือการอภิปรายของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา สส.จากพรรคประชาชาติ อดีตประธานรัฐสภา ได้อภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าวว่า

“ทหารนั้น เราสร้างไว้เพื่อป้องกันประเทศจากอริราชศัตรู และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ เรามีกฎหมายอนุญาตให้ทหารมีอาวุธได้ มีเรือรบ เครื่องบิน ด้วยภาษีประชาชน แต่เราไม่มีกฎหมายฉบับใดบอกว่าเอาภาษีของประชาชนที่สภาฯ นี้อนุมัติให้ซื้ออาวุธในแต่ละปี เพื่อเอามารัฐประหาร”

การหยิบยกการป้องกันรัฐประหารขึ้นมาถกเถียงกันในสภาฯ นับเป็นสัญญาณที่ดีในการเสริมสร้างประชาธิปไตยให้ตั้งมั่น เพราะผู้แทนของประชาชนมีศักดิ์และสิทธิ์ในการออกแบบกลไกที่เหมาะสมในการป้องกันการรัฐประหารได้จริง ซึ่งสวนทางกับความเข้าใจทั่วไปที่ว่า กระบวนการทำให้ประชาธิปไตยเกิดเสถียรภาพภายในประเทศ จะต้องอาศัยแรงผลักดันจากภายนอก เช่น องค์กรระหว่างประเทศ หรือองค์กรภูมิภาคหรือประเทศมหาอำนาจ ที่จะสามารถสนับสนุนให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้น

นั่นอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

Oona A. Hathaway (Photo: Eric Gibson/New America)

ในงานวิจัยเมื่อนานมาแล้วของ โอนา เอ. แฮธาเวย์ (Oona A. Hathaway) เรื่อง Do Human Rights Treaties Make a Difference แสดงให้เห็นการคลี่คลายความรุนแรงว่า ต้องเกิดจากปัจจัยภายในประเทศ และต้องมีการจัดการผลพวงรัฐประหารอย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง แฮธาเวย์เข้าไปศึกษากฎหมายหรือบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ว่ามีผลต่อการลดทอนหรือยุติความรุนแรงของรัฐหนึ่งๆ หรือไม่ โดยวิเคราะห์ผ่านพฤติกรรมของรัฐบาลจำนวน 166 ประเทศ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ถึง 2000

ก่อนจะพบว่า การร่วมลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งหลายไม่ได้ส่งผลให้รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนน้อยลง ปัจจัยที่สำคัญกว่าการลงนามในสนธิสัญญา คือพัฒนาการทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ตนเองลงนามมากที่สุด

ในประเทศไทย หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ยืนยันให้เห็นว่า การเลือกตั้งไม่ได้เป็นดัชนีชี้วัดว่าประเทศได้เปลี่ยนมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด เหตุเพราะโครงสร้างสถาบันทางการเมืองยังไม่มีการเชื่อมโยงกับประชาชนมากพอ เช่น วุฒิสภา องค์กรอิสระ เป็นต้น ยังไม่รวมถึงระบบเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยปัญหา การคุกคามประชาชนที่ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งกิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุง’ ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนบางแห่งเปิดเผยข้อมูลว่า มีประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมถูกติดตามคุกคามในหลายพื้นที่ทุกภูมิภาค

ความพยายามติดตั้งกลไกในการป้องกันการรัฐประหาร (รวมถึงผลพวงการรัฐประหาร) จากสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ จึงนับเป็นการป้องกันความรุนแรงและบาดแผลทางการเมืองต่อประชาชนในระดับถาวร

ประเทศไทยมิใช่ประเทศเดียวที่เผชิญวิกฤติการเมืองจากการรัฐประหารมาก่อน มีอีกหลายประเทศที่เผชิญวิกฤตินี้ และมีประสบการณ์ในการจัดการปัญหาเหล่านี้มาก่อน สิ่งสำคัญที่แฮธาเวย์เสนอไว้คือ เป็นการแก้ไขปัญหาจากกระบวนการภายในประเทศเป็นสำคัญ

เกาหลีใต้

บทเรียนจากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการของกองทัพกว่า 20 ปี ในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 จนเมื่อสามารถเปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตย กฎหมายพิเศษนี้อุทิศแด่ขบวนการประชาธิปไตย ‘May 18’ ซึ่งเริ่มต้นบังคับใช้ในทศวรรษที่ 1990 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับการคืนความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือ ‘ขบวนการประชาธิปไตย’ (Democratization Movement) ซึ่งตกเป็นเหยื่อการปราบปรามของระบอบเผด็จการที่เมืองกวางจูเมื่อปี 1980

ในปี 1994 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและญาติผู้เสียชีวิต ได้เรียกร้องให้มีการค้นหาความจริงและดำเนินคดีกับผู้นำกองทัพและพวกในข้อหากบฏ ฆาตกรรม และทรยศต่อชาติ แรกเริ่มเดิมทีอัยการของกรุงโซลตัดสินใจที่จะระงับการดำเนินคดีกับอดีตผู้นำกองทัพ 2 คน

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับรองกฎหมายฉบับนี้ ด้วยคำนึงถึงหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ การชำระสะสางความผิดพลาดในอดีตเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพื่อให้สังคมคลายความเคลือบแคลงสงสัย

การดำเนินการดังกล่าวของเกาหลีใต้ไม่ได้กระทำในรัฐสภาอย่างโดดเดี่ยว หากแต่มีกระบวนการค้นหาความจริง การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจในยุคเผด็จการ และกระบวนการเอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความรุนแรงต่อประชาชน น่าสนใจว่าในกรณีของเกาหลีใต้พุ่งเป้าไปที่ ‘ผู้นำ’ ที่ใช้อำนาจออกคำสั่ง มากกว่า ‘เจ้าหน้าที่’ ผู้ปฏิบัติการ โดยการผลักดันพร้อมๆ กับการเสนอกฎหมายในสภาฯ ได้มีภาคประชาสังคมเข้าร่วมสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง

แอฟริกาใต้

ขณะที่แอฟริกาใต้ ซึ่งเผชิญกับความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติกินเวลาหลายทศวรรษ (1950-1990) กลับเลือกวิธีการจัดการปัญหาดังกล่าวที่แตกต่างออกไป พลเมืองแอฟริกาใต้ที่รอดพ้นจากวิกฤติความรุนแรง ได้ผลักดันกฎหมาย ‘การสนับสนุนการสร้างความสามัคคีและการคลี่คลายความขัดแย้ง’ (Promotion of National Unity and Reconciliation Act)

วัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ต้องการนำประเทศไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงและการคลี่คลายความขัดแย้ง (Truth And Reconciliation Commission) และมีการออกรัฐบัญญัติส่งเสริมเอกภาพและการคลี่คลายความขัดแย้งแห่งชาติ (Promotion of National Unity And Reconciliation Act No.34 of 1995) จนกระทั่งสามารถยกเลิกกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมและก่อให้เกิดการกีดกันทางเชื้อชาติได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พลเมืองของแอฟริกาใต้เผชิญความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างสูง

โมร็อคโค

Hassan II of Morocco

ต่างออกไปที่โมร็อคโค ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกษัตริย์ฮัสซันที่ 2 (Hassan II of Morocco) กับประชาชน ก่อให้เกิดความรุนแรงตามมามากมาย การเริ่มต้นในการออกมาขอโทษประชาชนของสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 แห่งโมร็อคโค นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญ จนนำมาสู่การปรึกษาหารือกันว่าจะไม่เดินกลับไปซ้ำเดิม

รัฐบาลใหม่หลังการเปลี่ยนย้ายอำนาจมาสู่ประชาชนได้เปิดพื้นที่สาธารณะให้ชาวโมร็อคโคเล่าประสบการณ์การถูกรัฐละเมิดสิทธิและถูกทำร้าย และมีการตกลงกันระหว่างผู้มีอำนาจเก่าและใหม่ออกแบบสถาบันการเมืองขึ้น ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ประการที่เป็นแก่นแกนของความรุนแรงทางการเมือง ได้แก่ 1. แก้ไขรัฐธรรมนูญที่จำกัดอำนาจและบทบาททางการเมืองของกษัตริย์ 2. ยอมรับให้ผู้ชนะการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ 3. ลดโทษกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์

ชิลี

Patricio Aylwin

ขณะที่ชิลี ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนโดยสันติได้ทันที รัฐบาลเผด็จการทหารของนายพลปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ซึ่งสืบทอดอำนาจทางการเมืองยาวนาน ระหว่างช่วง 1973-1990 เจ้าหน้าที่คณะรัฐประหารกระทำการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยใช้เครื่องมือทางกฎหมายหลายฉบับเพื่อบริหารประเทศ สำหรับกฎหมายสำคัญ ได้แก่ รัฐกำหนดที่ 5 ประกาศ ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ ในประเทศ และกำหนดให้สถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่เทียบเท่า ‘ภาวะสงคราม’ การประกาศภาวะสงครามเช่นนี้เป็นไปเพื่อให้คดีบางประเภทต้องตกอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร

จนกระทั่งประเทศชิลีสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างค่อยเป็นไปค่อยไป ในสมัยประธานาธิบดีพาทริชิโอ เอลวิน (Patricio Aylwin) ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อค้นหาความจริงเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ แต่การค้นหาความจริงดังกล่าวไม่ใช่การค้นหาความจริงเพื่อให้อภัยกันเช่นโมร็อคโคและแอฟริกาใต้ หากแต่เป็นการค้นหาความจริงเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและฟ้องคดีสู่ศาล

กำจัดวงจรรัฐประหารด้วยกระบวนการของรัฐสภา

ตัวอย่างการป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลเผด็จการในบางประเทศข้างต้น บอกเราว่าสิ่งสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้แก่ประชาธิปไตยคือการหาฉันทามติร่วมกันเพื่อแก้ไขความรุนแรง ไม่ปล่อยผ่านละเลย โดยอาศัยกลไกทางการเมืองในการแก้ปัญหา

บทเรียนจากหลายประเทศชี้ว่า กระบวนการรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นช่องทางสำคัญในการยุติปัญหาทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขและบริบทของปัญหาที่ต่างกัน ก็ทำให้วิธีการในการป้องกันการรัฐประหารและความรุนแรงต่างกันด้วย เช่น อาจะมีการตั้งคณะกรรมการคลี่คลายความขัดแย้งแทนการลงโทษผู้มีอำนาจ บางกรณีอาจใช้เวลายาวนานหลายสิบปีในการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมาย แต่ถึงที่สุดตัวอย่างที่กล่าวมาก็ทำให้เราเห็นว่า การป้องกันการรัฐประหารและความรุนแรงทางการเมือง สามารถทำได้หลายวิธีภายใต้ความชอบธรรมทางการเมืองที่มาจากประชาชน

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า