วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบ มาตรา 23 ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่พิจารณากันในวาระสอง มาตราดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับสูตรคำนวณแบบ ‘หาร 100’ ที่กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเสนอ ด้วยคะแนนเสียง 392 ต่อ 160 จึงต้องลงมติกันอีกรอบว่าจะเอาแนวทางใดมาแทน ระหว่างแนวทางของนายแพทย์ระวี มาศฉมาดล กมธ. เสียงข้างน้อย ซึ่งเสนอสูตร ‘หาร 500’ หรือแนวทางของพรรคก้าวไกล ซึ่งเสนอสูตร ‘หาร 100’ แต่จะไม่มี ‘ส.ส. ปัดเศษ’
ผลการลงมติครั้งที่ 2 ปรากฏว่า ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบสูตรหาร 500 ของนายแพทย์ระวี ด้วยคะแนนเสียง 354 ต่อ 162 และหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยครั้งต่อไป เราจะได้เห็นสูตรเลือกตั้งที่เอื้อต่อพรรคเล็กและ ‘ส.ส. ปัดเศษ’ เหมือนอย่างที่เคยใช้มาแล้วเมื่อปี 2562
สูตรไหนที่ว่าดี ‘หาร 100’ หรือ ‘หาร 500’
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้การเลือกตั้งทั่วไปของไทยเป็นระบบใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต (เลือกคนที่รัก) และเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (เลือกพรรคที่ชอบ) จำนวนทั้งสิ้น 500 คน โดยแบ่งเป็น ส.ส. แบ่งเขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 100 คน
เกณฑ์การนับคะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขต เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก หากผู้สมัครรายใดได้คะแนนมากที่สุดในเขตนั้นๆ ก็จะได้เป็น ส.ส. แต่ปัญหาอยู่ตรงที่การคำนวณคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะต้องคำนวณจำนวนที่นั่งตามคะแนนที่แต่ละพรรคจะได้รับ
แต่จะคำนวณอย่างไร?
หลักการ ‘ความสัมพันธ์ทางตรง’ มีอยู่ว่า ให้เอาคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองทั้งหมด มาหารกับด้วยตัวเลข ‘XXX’ ผลลัพธ์ที่ได้สัดส่วนคะแนนเสียงต่อ ส.ส. 1 คน
เมื่อนำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับมาหารด้วยตัวเลขนี้ จึงได้เป็นจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคควรได้รับในที่สุด
ปัญหาก็คือแต่ละฝ่ายกลับเห็นไม่ตรงกันว่า ควรใช้หลักการอะไรในการกำหนด เจ้าตัวเลข ‘XXX’ ข้างต้นกันแน่ ระหว่างจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ (100 คน) หรือจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (500 คน)
นั่นจึงเป็นที่มาของการถกเถียงกันว่าจะเอาสูตรหาร 100 หรือหาร 500 เราคงต้องลองคำนวณด้วยสูตรทั้ง 2 ดูว่าแต่ละสูตรมีจุดเด่น จุดด้อย อย่างไร และจะทำให้ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ
สูตรหาร 100
หากสมมติให้มีคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองทั้งหมด 40 ล้านเสียง จะต้องนำมาหารกับจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ (100 คน) คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน จึงเท่ากับ 400,000 (จาก 40,000,000/100)
ถ้าพรรคการเมืองหนึ่งได้คะแนนเสียงทั้งหมด 10 ล้านเสียง ก็จะได้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 25 คน (จาก 10,000,000/400,000)
หากพรรคการเมืองนี้มี ส.ส. แบบแบ่งเขตอยู่แล้ว 200 คน พรรคนี้ก็จะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 225 คน (200+25)
สูตรหาร 500
สูตรหาร 500 กลับมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและพิสดารกว่าสูตรแรกตรงที่เพิ่มการคำนวณ ‘ส.ส. พึงมี’ ขึ้นมา
ตัวอย่างสมการนี้คือ หากคะแนนเสียงของพรรคการเมืองมีทั้งหมด 40 ล้านเสียงเหมือนแบบแรก จะต้องนำมาหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (500 คน) คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน จึงเท่ากับ 80,000 (จาก 40,000,000/500)
ถ้าพรรคการเมืองหนึ่งได้คะแนนเสียงทั้งหมด 10 ล้านเสียง ก็จะมีจำนวน ส.ส. พึงมี 125 คน
แต่ความพิสดารของสูตรหาร 500 นี้ก็คือ หากพรรคการเมืองเดียวกันนี้มี ส.ส. แบบแบ่งเขตอยู่แล้ว 200 คน พรรคนี้ก็จะมี ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มอีกไม่ได้แล้ว เพราะสูตรนี้มีข้อกำหนดไว้ด้วยว่า ต้องนำ ส.ส. พึงมี ลบกับจำนวน ส.ส. แบ่งเขต ซึ่งเท่ากับ 125-200 = -75 จำนวนติดลบที่ว่าจึงเท่ากับหมดสิทธิ์ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อไปโดยปริยาย นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่พรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยเคยเจอในการเลือกตั้งปี 2562
เลือกตั้งครั้งหน้าจะออกมาเป็นอย่างไร
จากข้อมูลการเลือกตั้งปี 2562 เช่นเดิม ที่มีคะแนนเสียงถึง 35 ล้านคะแนน เมื่อคำนวณด้วยสูตรหาร 100 ก็เท่ากับ 350,000 คะแนน หากใช้สูตรหาร 500 คำนวณ ก็จะได้ 70,000 คะแนน
นั่นหมายความว่าหากยึดสูตรหาร 500 พรรคเล็กที่เคยต้องใช้คะแนนเสียงมากถึง 300,000 คะแนน เพื่อให้ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพียง 1 คน ก็ต้องการคะแนนแค่เพียง 70,000 ก็จะได้ที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์แล้ว ซึ่งง่ายขึ้นกว่าเดิมถึง 5 เท่า
เมื่อสูตรหาร 100 ที่เคยเอื้อให้พรรคการเมืองใหญ่ได้ประโยชน์จากการกวาดที่นั่ง ส.ส. มากขึ้น อาจจำต้องหลีกทางให้สูตรหาร 500 แล้วทำไมฝั่งรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐซึ่งก็เป็นพรรคใหญ่จึงอยากให้เปลี่ยนสูตรหารจาก 100 เป็น 500?
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้คำอธิบายไว้ว่า เดิมพรรคพลังประชารัฐก็คิดว่าตนจะได้เปรียบ แต่เนื่องจากการลาออกของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และพรรคอยู่ในสถานการณ์แพแตก จึงรู้ว่าพรรคอาจไม่ได้เปรียบอีกต่อไป หรืออาจถึงขั้นเสียทีให้กับพรรคเพื่อไทยที่อาจสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ได้
ดังนั้นปริญญาจึงสรุปไว้ว่า การเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากหาร 100 มาเป็นหาร 500 ก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากเพื่อลดความได้เปรียบของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง
หากเป็นเช่นนี้ เลือกตั้งรอบหน้าเราคงได้รัฐบาล ‘สหพรรค’ อีกครั้ง เนื่องจากไม่มีพรรคไหนครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาได้ นอกจากพลพรรค ส.ว. อีก 250 เสียง ที่ได้รับการแต่งตั้งมา!