เรื่อง: กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ + WAY
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
หลังงาน ‘มันส์สมอง: พื้นที่แห่งความรู้ในศตวรรษที่ 21’ (OKMD Knowledge Festival 2016) เมื่อ 10 ธันวาคม 2559 ที่ใครหลายคนคงได้คำแนะนำและแรงบันดาลใจจากวิทยากรทั้งสี่ท่านไปอย่างเต็มอิ่ม
WAY ฉกตัวอดีตครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อารมณ์ดี นักวิชาการด้านการศึกษาฟินแลนด์ระดับเวิลด์คลาส เจ้าของหนังสือ Finnish Lessons 2.0 ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ กว่า 20 ภาษา รวมทั้งฉบับภาษาไทยที่เพิ่งออกในปีนี้
ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) คือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถถอดรื้อความสำเร็จของระบบการศึกษาฟินแลนด์และสรุปให้เราเข้าใจได้ง่ายๆ แต่ไม่ละเลยที่จะย้ำเสมอว่า “Don’t Try This at Home”. เพราะความสำเร็จในแบบฟินแลนด์ ใช่จะ copy & paste กันได้เป๊ะๆ
WAY ยังได้รับเกียรติจาก ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาข้ามวัฒนธรรมและระบบการศึกษาฟินแลนด์ มาร่วมตั้งคำถาม เผื่อเป็นไอเดียปิ๊งๆ ให้การศึกษาไทยในอนาคตอันใกล้
ครูจุ๊ย: ลักษณะที่ดีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคืออะไร หรือรัฐมนตรีในอุดมคติควรเป็นอย่างไร
สำหรับผมลักษณะที่ดีของ รมว.ศึกษา ควรเริ่มจากเขาหรือเธอควรยอมรับได้ก่อนว่าเขาหรือเธอไม่รู้ทุกอย่าง ความรู้ของเขาและเธอมีจำกัด และรู้ว่าต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ การศึกษาเป็นเรื่องซับซ้อน และหลากหลาย ไม่มีใครหรอกที่จะรู้และเข้าใจทุกอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ
ประการที่สองคือ รมว. ที่ดีต้องสามารถหาทีมงาน ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นคนในวงการการเมืองก็ได้ แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะแนะนำช่วยเหลือ ผมคิดว่า รมว. ที่ดีต้องยอมรับฟังความคิดเห็นต่าง และคอยมองหาคำแนะนำจากผู้ที่เห็นต่าง มากกว่าที่จะหาความเห็นจากผู้ที่คิดเหมือนตน
และ รมว. ที่ดียังต้องคอยมองหา small data คือปกติเราจะมองหา big data กัน อย่างพวกสถิติ หรือรายงานของ OECD ตัวเลข ตัวเลขเยอะๆ และเราก็นำมาวิเคราะห์ และสรุป ผมคิดว่า รมว. ต้องทำตรงนี้
แต่ผมคิดว่า รมว. ที่ดีนั้นยังต้องเข้าใจว่าข้อชี้แนะอาจมาจากข้อมูลที่ผมเรียกว่า small data ซึ่งเป็นข้อมูลที่เก็บจากการเดินทางไปที่ต่างๆ อย่างห้องเรียน โรงเรียน มหาวิทยาลัย และต้องทำมากกว่าการเดินดูตามทางเดินรอบๆ สถานที่เหล่านั้นเท่านั้น แต่ต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในบริบทของการเรียนรู้จริงๆ
ตัวอย่างของคนที่ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของ รมว. ศึกษาก็คือ รมว. ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลียคนปัจจุบัน เขาชื่อ เอเดรียน พิโคลี (Adrian Piccoli) เป็น รมว. มาหลายปีแล้ว และเล่าให้ผมฟังว่าเขาใช้เวลา 30 เปอร์เซ็นต์ไปกับการหา small data ไปเยี่ยมโรงเรียน เข้าไปดูห้องเรียน มหาวิทยาลัย พยายามเข้าใจว่าทำไมคนถึงทำแบบนี้แบบนั้น และใช้ข้อมูลนี้ร่วมกับ big data ในการออกแบบนโยบาย ถ้า รมว. ศึกษาจะมีลักษณะบางอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ผมว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเชียว
ครูจุ๊ย: เขาหรือเธอจำเป็นต้องเป็นครูไหม
ไม่จำเป็นนะ เรามีสุภาษิตว่า สงครามมันสำคัญเกินกว่าจะให้คนในกองทัพเป็นผู้นำ เราต้องมีคนจากวงนอกบ้าง เพื่อให้ข้อมูลและตัดสินใจ บางครั้งในวงการศึกษา มันก็เป็นแบบนี้เช่นกัน การศึกษามันสำคัญมากเกินกว่าที่จะปล่อยไว้ในมือของนักการศึกษาเพียงอย่างเดียว
ผมว่า รมว. ไม่จำเป็นต้องเป็นครูหรือนักการศึกษาหรอก แต่เขาหรือเธอต้องมีลักษณะที่ผมกล่าวไปข้างต้น ถ้าคุณเป็น รมว. แล้วไม่เคยเข้าไปดูห้องเรียนเลย แล้วบอกว่าคุณรู้ทุกอย่าง ผมถือว่านั่นคือลางร้าย
อย่าง รมว. จากออสเตรเลียท่านนี้เขาไม่ใช่ครู ไม่ใช่นักการศึกษา แต่คุณลักษณะอันยอดเยี่ยมของเขาทำให้เขาเป็น รมว. ที่ดี เขาทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่ใช่ เขาใช้เวลามากมายไปกับการเรียนรู้ และเขายอมรับว่าเขาไม่ได้รู้ทุกอย่าง รอบตัวเขามีแต่คนที่ท้าทายเขาด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นตัวอย่างที่ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หากคุณมีคุณลักษณะที่จำเป็นเหล่านี้ คุณน่าจะเป็นรัฐมนตรีที่ดีได้
ครูจุ๊ย: การคิดนอกกรอบจำเป็นไหมสำหรับคนเป็น รมว.
การคิดนอกกรอบจำเป็นสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือใครก็ตามควรตั้งคำถามที่ต่างออกไป หรือตัดสินใจด้วยมุมมองที่ต่างออกไปบ้าง
ผมคิดว่าปัจจุบันนี้ในวงการการศึกษาต้องใช้การคิดนอกกรอบมากกว่าบริบทอื่น เพราะทางออกของเรื่องการศึกษาสำหรับคนในรุ่นถัดไปเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ว่าเราจะไปทางไหน ถ้าเรายังอยู่ในพื้นที่สบายใจ ใช้วิธีเดิมๆ กันต่อไป ทางออกคงไม่น่าจะดีแน่
ครูจุ๊ย: ในประเทศที่ สมมุติว่าเป็นประเทศที่ไม่มีจริง ไม่มีอะไรพร้อมเลย สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานก็ไม่พอ ความเสมอภาคก็น้อย ความเท่าเทียมก็ไม่ค่อยมี วัฒนธรรมของคนที่นั่นก็ไม่ค่อยพร้อม คือไม่เข้าใจแก่นของการศึกษา ผู้ที่บริหารประเทศนั้นก็ยังไม่พร้อมจะพาการศึกษาของประเทศนั้นไปข้างหน้า ว่าง่ายๆ คือไม่มีอะไรพร้อมเลย ประเทศแบบนี้ควรเริ่มตรงไหนดี คือเราต้องจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ใช่ไหม
คำถามถัดไปเลยครับ
เอาจริง ถ้าบอกว่านี่เป็นสถานการณ์ในประเทศสมมุติอาจจะจริงหรือไม่ก็ได้ อาจมีที่แบบนี้อยู่จริงก็ได้ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องซับซ้อน และไม่มีจุดใดจุดหนึ่งที่จะให้เริ่มได้ ไม่มีคำตอบที่ถูกเพียงคำตอบเดียวว่าคุณจะต้องทำอย่างไร
ในสถานการณ์ที่คุณกล่าวมาคือความจำเป็นขั้นพื้นฐานยังไม่มี อาจมีอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ไม่มีใครแก้ปัญหาแบบนี้ได้รวดเร็วหรอก ผมว่าถ้าอยากได้ความก้าวหน้าที่สมเหตุสมผล ที่คนจะยอมรับว่าเราได้ทำสำเร็จไปบ้างแล้ว เราอาจกำลังพูดถึง 20-25 ปี แต่นักการเมืองหรือ รมว. ศึกษาอาจรอไม่ได้ เขาหรือเธออาจอยากทำให้สำเร็จเลยปีหน้า หรือปีถัดไป อายุงานของ รมว. ศึกษานั้นสั้นทีเดียว พวกเขามาและไป พวกเขามีกรอบการทำงานที่จำกัด
ผมคิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ หากอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นที่ประจักษ์ คือต้องยอมรับก่อนว่าเราต้องมีการวางแผนและแผนระยะยาวสำหรับ 20 ปี และเราก็ต้องได้รับฉันทามติจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ คนทำงาน นักการเมือง ว่านี่คือเป้าหมายที่เราต้องการจะไปถึงในอีก 20 ปีข้างหน้า ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญ เพราะถ้าคุณไม่ทำสิ่งเหล่านี้ คุณจะเดินต่อไปไม่ได้เลย มันจะพาคุณไปไหนไม่ได้เลย เพราะคุณไม่รู้ว่าคุณกำลังจะเดินไปไหน
บางคนบอกผมว่าที่ไม่ใช่ว่าประเทศไทยขาดวิสัยทัศน์ แต่เรามีวิสัยทัศน์มากมายเกินไป ซึ่งมันเดินกันไปคนละทิศละทาง และสถานการณ์แบบนี้เป็นสถานการณ์ที่ลำบาก เพราะมันไม่มีทางให้คนเดินไปด้วยกัน วิธีที่น่าจะเริ่มต้นกันได้คือการออกแคมเปญระดับประเทศเพื่อสร้างฉันทามติเกี่ยวกับเป้าหมายและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับประเทศนี้ว่าเราควรจะเป็นอย่างไรในปี 2035 หรือ 2040 เป็นต้น
ตัวอย่างที่ดีคือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสังคมที่ออกแบบวิสัยทัศน์และแผนการร่วมกัน แล้วคนก็ร่วมกันทำงานตามแผนการไปข้างหน้า และเพิ่มเป้าหมายขึ้นไปเรื่อยๆ ฟินแลนด์ก็เป็นแบบนี้ เรามีแผนร่วมกันที่ชัดเจน และทำตามแผนการไป มีหลายระบบที่ทำตามแผนการเหล่านี้ คุณอาจเริ่มจากแผนที่ชัดให้รู้ว่าคุณต้องทำอะไรแล้วก็ทำเพื่อไปถึงเป้าหมาย แต่ถ้าไม่มีแผนก็จะลำบาก
ครูจุ๊ย: ทราบว่าคุณมาถึงประเทศไทยไม่กี่วัน แต่อยากรู้ว่าคุณคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้ควรจะมาจากระดับบริหาร หรือระดับบุคคลทั่วไป
ผมคิดว่าต้องมาจากทั้งสองทาง ถ้ามาจากผู้บริหารอย่างเดียวมันก็ลดทอนศักยภาพที่มีอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะในระดับกลาง ระดับโรงเรียน และอำนาจการจัดการบริหารของโรงเรียน และหากการเปลี่ยนแปลงมาจากระดับบุคคลเท่านั้นมันก็ลดทอนคุณค่าของวิสัยทัศน์ของนโยบาย และกลไกการเมืองต่างๆ
ผมคิดว่าในบริบทอย่างประเทศไทยมันสำคัญมากที่ต้องมาดูกันว่าบทบาทของผู้บริหารนโยบายเป็นอย่างไร กฎหมาย และทรัพยากรต่างๆ การบริหารงานเป็นอย่างไร และศักยภาพของระดับท้องถิ่นเป็นอย่างไร
สำหรับผมคำแนะนำสำหรับเมืองไทยคือ เราต้องมาดูการเปลี่ยนแปลงจากระดับกลางด้วย ไม่ใช่ว่าดูแต่ระดับบนหรือรากหญ้าอย่างเดียว ต้องดูว่าพลังการเปลี่ยนแปลงจากระดับกลางก็สำคัญเช่นกัน ผมคิดว่าองค์ประกอบเหล่านี้ต้องดำเนินไปพร้อมๆ กัน ทำงานร่วมกัน
พลังจากระดับกลางนั้นสำคัญ ถ้าทำได้ มันจะทำให้เกิดวัฒนธรรมที่คนทั้งสามระดับสามารถมีภาวะผู้นำได้ ผมคิดว่าความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจะเป็นที่น่าพอใจ มากกว่าการพึ่งพาคนระดับใดระดับหนึ่งเท่านั้น
ครูจุ๊ย: เราเห็นการเพิ่มขึ้นของระบบโฮมสคูลและโรงเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษากระแสหลักในประเทศไทย การเติบโตลักษณะนี้จะก่อให้เกิดผลเสียอย่างไรบ้างต่อภาพรวมของระบบการศึกษาในอนาคต
สิ่งที่เราเรียนรู้จากประเทศที่ระบบการศึกษาหลักนั้นกระจายออกเป็นส่วนๆ ผ่านโฮมสคูล โรงเรียนทางเลือก หรือโรงเรียนเอกชนนั้น หรืออะไรก็ตาม มันยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพาชิ้นส่วนเหล่านี้กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ เหมือนกับปล่อยจีนีออกมานอกตะเกียงแล้ว การจะพากลับเข้าไปนั้นเป็นเรื่องยากไปแล้ว
สวีเดน ชิลี เป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ ออสเตรเลียก็เป็นตัวอย่างของระบบการศึกษาที่มีนักเรียนอยู่ในระบบเอกชนเป็นจำนวนมาก ประเทศเหล่านี้พบว่ามันยากแม้ว่าในระดับบริหารต้องการที่จะรวบรวมโรงเรียนเหล่านี้เข้ากับระบบ หรือมีความเข้าใจแล้วว่าการมีระบบที่แยกส่วนลักษณะนี้จะนำมาสู่การแบ่งแยกในที่สุด ที่มีโรงเรียนที่ดี โรงเรียนที่แย่ และพ่อแม่ก็อยากจะให้ลูกไปโรงเรียนที่ดีกันหมด
และแม้ประเทศเหล่านี้อยากจะทำอะไรก็ตามเพื่อย้อนกลับไปที่จุดเดิมแม้เพียงเล็กน้อย ในแง่การบริหารและการเมืองแล้วมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะพ่อแม่และนักการเมืองไม่ได้อยากจะกลับไปแล้ว
ดังนั้นคำแนะนำที่จะให้สำหรับใครก็ตามที่ยังไม่มีระบบแบบนั้น จงพยายามหาทางอื่นๆ เพื่อให้พ่อแม่มีทางเลือกมากขึ้นผ่านกลไกอื่นๆ มากกว่าทางเลือกเสรีลักษณะนี้ หรือการเปิดโรงเรียนนอกระบบการศึกษา
ผมไม่ได้ต่อต้านระบบการศึกษาเอกชนนะครับ ผมแค่วิพากษ์การจัดการการศึกษาในลักษณะเดียวกับตลาดเสรีที่ปราศจากการควบคุมว่าใครจะบริหารโรงเรียน หรือใครจะทำเงินจากการศึกษาบ้าง มีหลักฐานอยู่แล้วว่าระบบแบบนี้นำมาสู่การแบ่งแยก และการแบ่งแยกย่อมนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ
WAY: ระหว่างความเข้าใจผิด (myth) ยอดฮิตที่ทุกคนมักพูดถึงระบบการศึกษาฟินแลนด์ คุณคิดว่าข้อไหนอันตรายที่สุด
ถ้าคุณเชื่อจริงๆ ว่า ที่ฟินแลนด์ไม่มีการบ้าน และใช้มันเป็นนโยบายในประเทศไทย ผมคิดว่านั่นจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ยากและอันตราย อาจพูดได้ว่า ความเข้าใจผิดเรื่องไม่มีการบ้านนั้นอันตรายที่สุด ถ้าคุณเข้าใจมันตามตัวอักษร และนั่นคือแนวคิดที่แย่
WAY: นอกจากผล PISA จาก OECD คุณใช้อะไรชี้วัดว่าการปรับปรุงการศึกษาในฟินแลนด์มาถูกทางแล้ว
เราไม่ได้ใช้ผลของ PISA ในการกำหนดทิศทางการศึกษา อาจพูดได้ว่า ถ้าผล PISA ของฟินแลนด์เปลี่ยน ก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเปลี่ยนหรือเรามาผิดทาง เพราะเรารู้ว่า สิ่งที่ปรากฏในรายงาน PISA นั้นคือสิ่งที่เราพอทราบอยู่แล้ว เพราะเรามีระบบประเมินผลและติดตามตรวจสอบ
ที่ฟินแลนด์ ผล PISA ถูกใช้ประโยชน์ในบริบทของการศึกษาระหว่างประเทศ เรารู้ว่าเด็กผู้ชายที่นี่ไม่ค่อยสนใจเรียนเท่าเดิม อ่านหนังสือน้อยลง และผลการเรียนด้านคณิตศาสตร์ตกลงไป สำหรับเราผล PISA อาจไม่จำเป็นเท่าไหร่ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามีข้อมูลอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราไม่รู้คือ ประเทศต่างๆ เป็นอย่างไรกันบ้าง ซึ่งผมคิดว่า บทบาทของผลคะแนน PISA สำหรับฟินแลนด์อาจจะต่างจากประเทศอื่นๆ
ครูจุ๊ย: แล้วผลตอบรับของผู้กำหนดนโยบายเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเห็นว่าคะแนนด้านไหนตก ก็จะต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหรือเปล่า
เมื่อตอนผลคะแนน PISA ปี 2015 ออกมา ถ้าคุณดูสิ่งที่สื่อฟินแลนด์รายงาน หรือแถลงการณ์ของ รมว.ศึกษา ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา แต่ก็มีที่เอ่ยถึงผลการเรียนโดยรวมอยู่บ้าง
ข้อกังวลส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ความเสมอภาคทางการศึกษาลดลงไหม ช่องว่างระหว่างนักเรียนชายและหญิงเพิ่มขึ้นไหม
สิ่งที่ฟินแลนด์ให้ความสำคัญมาก คือการรักษามาตรฐานการศึกษาในแต่ละพื้นที่ ไปจนถึงผลสัมฤทธิ์และช่องว่างทางการศึกษาระหว่างประชากรกับผู้อพยพ ที่กล่าวมาคือ 95 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่ฟินแลนด์ให้ความสำคัญและสื่อสารต่อสาธารณะ
น่าจะมีเพียงประโยคเดียวที่กล่าวว่า ผลคะแนนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่านของนักเรียนลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับมาตรฐาน แต่นอกจากนั้นก็จะมุ่งเน้นที่ความเสมอภาคและความเท่าเทียม ซึ่งก็ยังไม่มีแผนหรือข้อสรุปว่าเราต้องทำอะไร
ส่วนใหญ่ในแถลงการณ์ รมว.ศึกษา จะระบุว่า เราต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อลดช่องว่างทางการเรียนรู้ของเด็กชายหญิง และมั่นใจได้ว่าการพัฒนาของโรงเรียนในแต่ละภูมิภาคจะได้มาตรฐาน
WAY: คำเตือนของหนังสือ Finnish Lessons 2.0 คุณพยายามบอกว่า ‘Don’t Try This at Home”. แต่เราก็ยังอยากได้คำแนะนำสำหรับประเทศไทยจากคุณ พอจะเป็นไปได้ไหม
คือคุณต้องนึกเสมอว่า คุณไม่สามารถอ่านหนังสือหรือดูสิ่งที่เกิดขึ้นในฟินแลนด์แล้วคิดว่าจะสามารถลอกเลียนหรือทำตามอย่าง
สิ่งแรกคือ ผมอยากให้ตัวอย่างเหล่านี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เรามากกว่า อาจเป็นข้ออ้างที่ดีที่จะถามว่าเราทำอะไรกันบ้างที่เมืองไทย แล้วทำไมเราถึงทำแบบนั้น แต่ทำไมที่ฟินแลนด์เป็นอีกแบบหนึ่ง หรือเกิดอะไรขึ้นถ้าเราทำแบบที่ฟินแลนด์ทำ และนั่นอาจจะนำไปสู่การพูดคุยปรึกษาหารือ แทนที่จะลอกตามฟินแลนด์
ผมว่ามีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถทดลองทำที่เมืองไทยได้ แต่อย่าทดลองกับระบบใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณไม่รู้ว่าการศึกษาที่ฟินแลนด์เป็นอย่างไร โรงเรียนในหลายๆ ประเทศ ก็ไม่ค่อยมีเวลาพักให้เด็กๆ อย่างเหมาะสม เด็กๆ ควรมีสิทธิ์ออกจากห้อง มาเล่น หรือทำอย่างอื่นด้วย เพราะการ ‘เล่น’ ไม่ได้รบกวนเวลาเรียนของเด็กๆ
สิ่งที่ผมแนะนำเสมอว่าให้พวกคุณขโมยจากฟินแลนด์ นั่นคือ ระบบดูแลเด็กก่อนวัยเรียนของที่นี่ การเล่นคือหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ เราไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใหญ่มาคอยช่วยเหลือและแนะนำเด็กๆ ว่าพวกเขาควรทำอะไร
ยังมีแนวคิดเล็กๆ ที่อาจส่งผลใหญ่กว่าที่คิด อยากให้ใช้โมเดลของฟินแลนด์เป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้เราคิด นี่คือสิ่งที่ทุกคนเวลามาฟินแลนด์มักคิดว่านี่คือที่ที่เหมาะกับการคิดนอกกรอบ ซึ่งก็ใช่ ฟินแลนด์เป็นประเทศนอกกรอบในเรื่องการศึกษา
หากคุณเห็นการศึกษาแบบเดิมๆ ที่มีข้อจำกัดที่เมืองไทย ถ้าได้ไปฟินแลนด์จะเห็นว่าหลายอย่างเป็นไปได้ และนั่นจะช่วยให้คุณเข้าใจและคิดหาทางทำให้การศึกษาดีขึ้นได้
WAY: เราพอจะทราบว่าเด็กๆ น่าจะมีทางตามหาสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีและอยากทำ แต่ปัญหาคือ อิทธิพลบางอย่างจากครอบครัวและสังคม เป็นอุปสรรคต่อการทำสิ่งเหล่านั้น โดยเฉพาะในแถบเอเชีย คุณมีคำแนะนำไหมหรือมองเรื่องนี้อย่างไร
ผมคิดว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมทำวิจัยไม่น้อยเกี่ยวกับสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทุกๆ ที่ดูเหมือนจะมีปัญหานี้ พ่อแม่ ครอบครัว และสังคม มีความคาดหวังสูงต่อเด็กๆ ไม่ใช่ว่าพวกเขาควรเรียนอะไร แต่คาดหวังว่าพวกเขาจะเป็นอะไร พวกเขาควรเรียนที่ไหน จบจากที่ไหน และนั่นสร้างความ… ผมไม่แน่ใจว่าควรจะทำอย่างไรเหมือนกัน
ในหลายประเทศ ผมมักได้รับถามคำถามนี้ รู้ไหมว่า ตอนผมสอนที่ฮาร์วาร์ด จะมีลูกศิษย์เอเชีย ทั้งไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ผมถามพวกเขาว่า พวกเขาจะทำอย่างไร
อย่างแรกเลย ไม่มีใครมีความสุขกับการเรียน ไม่มีเลย มีหลายอย่างที่พวกเขาต้องทำเพราะได้รับแรงกดดัน โดยเฉพาะเกาหลีใต้ พวกเขาคิดว่ามันคือแรงกดดันและการกระทำอันไร้มนุษยธรรมที่พวกเขาต้องทุ่มเทชีวิตไปกับการเรียน ซึ่งพ่อแม่เป็นผู้ส่งเสีย
ถามว่าเราจะเปลี่ยนมันอย่างไร ผมมักตอบว่า ผมเองก็ไม่ทราบ ผมคิดว่า การลดความคาดหวังจากระบบโรงเรียนลงบ้างก็อาจพอช่วยได้ แต่สุดท้ายแล้วน่าจะขึ้นอยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจทางเลือกของลูกๆ จะทำอย่างไรให้ลูกได้รับการเรียนการสอนที่ดี ซึ่งแต่ละที่ก็คงแตกต่างกัน
ผมเข้าใจเรื่องนี้นะ เพราะผมได้พบกับพ่อแม่ของเด็กๆ ไม่น้อยในเอเชีย พวกเขาถามว่า พวกเขาผิดอะไรที่หวังจะให้การศึกษาที่ดีกับลูก แล้วจะให้ผมพูดอะไรล่ะ เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ ลูกๆ ได้เข้าโรงเรียนดีๆ มหาวิทยาลัยดีๆ มีงานดีๆ ทำ และพวกเขาก็จะทำทุกทางเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น
ดังนั้น ถ้าใครพูดขึ้นมาว่า คุณก็ไม่ควรหวังอะไรแบบนั้น ซึ่งก็คงไม่มีใครพูด มันจึงค่อนข้างแตกต่างจากที่ฟินแลนด์
ที่ฟินแลนด์ อย่างแรกคือ เราไม่มีสิ่งที่หลายประเทศมี เช่น gold star university อย่างเกาหลีใต้น่าจะมีอยู่สามสี่สถาบันที่ใครๆ ก็อยากเข้าเรียน แล้วจากนั้นก็ยังมี ออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ กลุ่มมหาวิทยาลัยไอวีลีค และอีกหลายแห่งที่พ่อแม่อยากให้ลูกเข้าเรียน แต่ฟินแลนด์ไม่มีอะไรแบบนี้
ไม่ว่าคุณจะเข้าเรียนที่ไหนก็ใช้โปรแกรมเดียวกัน เรียนไม่ต่างกัน อีกอย่างคือ เรามีสวัสดิการการศึกษาถึงระดับปริญญาเอกที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น เราจึงไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ เราไม่ต้องเสียค่าเรียนแพงๆ นี่จึงเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่สามารถออกแบบสิ่งที่พวกเขาอยากทำเองได้
เรื่องน่าตื่นเต้นในฟินแลนด์ก็คือ ถ้าคุณเดินไปเจอเด็กนักเรียนอายุ 16 ระหว่างทาง แล้วคุณถามเขาหรือเธอว่า ใครคือคนตัดสินใจว่าคุณควรเลือกเรียนอะไร หรือควรไปทางไหน 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนจะตอบว่า “ตัวฉันสิ” แม่หรือพ่อของฉันไม่มีสิทธิ์พูดเรื่องนี้ เขาอาจจะบอกต่อว่า พ่อแม่อาจจะแนะได้ว่าลองทำนี่หรือนั่นดูไหม แต่สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับตัวเด็ก นี่ผมกำลังพูดถึงเด็กอายุ 16 ไม่ใช่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย
ทุกคนในฟินแลนด์ เมื่อจบไฮสคูลแล้ววางแผนว่าจะทำอะไรต่อ ผมยืนยันว่า 100 เปอร์เซ็นต์จะบอกว่า “ฉันคือคนตัดสินใจ” นี่คือการตัดสินใจของฉัน ผู้ปกครองไม่เกี่ยว พ่อแม่อาจจะดีใจหรือผิดหวังก็ได้ ฉันไม่แคร์ เพราะฉันจะทำในสิ่งที่ฉันอยากทำ และคุณก็เตรียมระบบแบบนี้ไว้รองรับพวกเขา