สิทธิการตาย…วาระสุดท้ายที่เลือกได้

ปรากฎการณ์ ‘การุณยฆาต’ ของคนคนหนึ่งที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองโดยไม่รอพึ่งพาการรักษา เป็นหนึ่งในหัวข้อถกเถียงที่ท้าทายความคิดของสังคมไทยว่า คนเรามีสิทธิเลือกที่จะตายได้ไหม อะไรคือขอบเขตของการตัดสินใจ ที่สำคัญผู้คนส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจกระบวนการนี้แค่ไหนอย่างไร

เวทีเสวนาหัวข้อ ‘เร่งตาย VS เลือกตาย สิทธิในวาระสุดท้าย ใครกำหนด?’ ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา มีจุดประสงค์เพื่อหาคำตอบของกระบวนการสู่ความตายอย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่ขัดต่อศีลธรรม ด้วยการใช้สิทธิตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

ก่อนจะหาข้อสรุปในเรื่องนี้ควรทำความเข้าใจให้ตรงกันในเบื้องต้นว่า ความหมายของการุณยฆาตแท้จริงแล้วก็คือกระบวนการ ‘เร่งตาย’ ตามความประสงค์ของบุคคลนั้นๆ ซึ่งแตกต่างจากวิธีการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เลือกตัดสินใจยุติการรักษา เพื่อเผชิญความตายอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องทุกข์ทรมานจากการถูกยื้อชีวิต

ก่อนหน้านี้ผลสำรวจในเฟซบุ๊คแฟนเพจ Drama-addict มีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นกว่า 50,000 ราย พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยที่จะให้มีการการุณยฆาตได้ แต่ผลสำรวจนี้ก็สะท้อนถึงภาวะของความรู้ความเข้าใจที่ยังไม่รอบด้านเสียทีเดียว

นพ.วิทวัส ศิริประชัย หรือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน แอดมินเพจ Drama-addict ให้ข้อสังเกตต่อผลสำรวจครั้งนี้ว่า ผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นเรื่องการุณยฆาตส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักวิธีการดูแลรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งเชื่อว่าหากมีการให้ข้อมูลแก่คนไทยอย่างทั่วถึงมากกว่านี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากขึ้น และอาจไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้นการุณยฆาตก็ได้

“ไม่ว่าจะเป็นการุณยฆาต หรือ Palliative care เป้าหมายทั้งคู่ก็คือ การตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่การุณยฆาตจะเป็นการเร่งกระบวนการตาย ส่วน Palliative care เป็นการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเข้าสู่วาระสุดท้ายอย่างเป็นไปตามธรรมชาติและราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย .แสวง บุญเฉลิมวิภาส คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิสุขภาพ สช. มองเรื่องนี้ว่า สิทธิการตายที่กฎหมายรับรองในระดับสากลได้แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ หนึ่ง-ตายแบบธรรมชาติ สอง-ตายแบบเร่งรัด หรือขอตายก่อนเวลาอันควร เช่น กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อความเจ็บปวดต่อไปได้จึงร้องขอให้แพทย์ทำการุณยฆาต ซึ่งปัจจุบันมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายรับรองให้สามารถกระทำได้

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส

สำหรับประเทศไทย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ให้การรับรองการตายตามธรรมชาติ โดยผู้ป่วยที่ยังมีสติสัมปชัญญะสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตได้ กรณีนี้ถือเป็นการใช้สิทธิ ‘เลือกตาย’ อย่างสงบโดยปราศจากการเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือแพทย์ ซึ่งต่างจากการเร่งตายแบบการุณยฆาต

“แพทย์ที่ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วยจะไม่ถือว่ามีความผิดใดๆ ส่วนการ ‘เร่งตาย’ ขณะนี้กฎหมายไทยยังไม่รองรับ การทำให้ตายเร็วขึ้นไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ที่ดีหรือไม่ก็ตาม ในแง่กฎหมายถือว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่าทั้งสิ้น”

จากประสบการณ์ตรงที่เคยสัมผัสในสหรัฐอเมริกา ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้ป่วยในสหรัฐที่ขอการุณยฆาตมักจะเป็นผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนทนไม่ได้ รักษาไม่หาย ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก และมีความเครียดสูง

ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร

“ในสหรัฐหากผู้ป่วยตัดสินใจขอการุณยฆาตจะถือว่าผู้ป่วยได้เลือกแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ต้องผ่านการประเมินทั้งจากทีมแพทย์ ทีมจิตแพทย์ ทีมจริยธรรม เพื่อให้แน่ใจว่าการร้องขอไม่ได้เป็นไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ และอาการป่วยก็ไม่มีแนวทางการรักษาอื่นแล้วจริงๆ” ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าว

สำหรับการใช้สิทธิการตายตามธรรมชาตินั้น ในมุมมองของ ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า หากแพทย์ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วย ย่อมไม่ขัดแย้งต่อจรรยาบรรณแพทย์แน่นอน เพราะการใช้สิทธิตามมาตรา 12 จะเข้าข่ายการดูแลรักษาแบบประคับประคองที่ผ่านการพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่รักษาไม่หายจริงๆ

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ดูแลแบบประคับประคอง การรักษาเพื่อยื้อชีวิต
สถานที่ บ้าน โรงพยาบาล
ความเป็นอยู่ ใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัว และรับยาระงับอาการปวด ใช้เครื่องมือแพทย์และสายระโยงระยาง
ค่าใช้จ่าย ต่ำ สูง
ผู้กำหนดวาระสุดท้าย ตัวผู้ป่วย ญาติและคนใกล้ชิด

อีกหนึ่งมุมมองจากนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง ‘ดีเจพี่อ้อย’ นภาพร ไตรวิทย์อารีกุล ให้ความหมายของการ ‘ตายดี’ คือ การเลือกเผชิญวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี ในขณะที่ครอบครัวและญาติไม่รู้สึกผิดหวัง จึงเห็นด้วยกับแนวคิดในการดูแลแบบประคับประคอง เพราะเป็นทางเลือกที่ให้สิทธิผู้ป่วยตัดสินใจได้เอง อีกทั้งยังเป็นทางเลือกที่ไม่ทำร้ายจิตใจของทุกฝ่าย

“พี่อ้อยคิดว่าแนวทางนี้คือการไม่ยื้อและไม่รั้งชีวิต หากแต่เป็นการดูแลรักษาและร่วมกันประคับประคองผู้ป่วยโดยที่ต่างฝ่ายต่างมองเห็นหัวใจของกันและกัน” ดีเจพี่อ้อยกล่าว

นภาพร ไตรวิทย์อารีกุล

ดีเจพี่อ้อยเล่าจากประสบการณ์ด้วยว่า ในช่วงเวลาสำคัญที่ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวผู้ป่วยมักจะมองว่าตัวเองไม่ต้องการความเจ็บปวดและเป็นภาระใคร ขณะที่ญาติมักต้องการรั้งชีวิตออกไปให้นานที่สุดเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกผิด แต่หลักคิดสำคัญในเรื่องนี้คือ การเปิดใจรับฟังกัน สื่อสารต่อกันด้วยความรัก และเคารพการตัดสินใจของกันและกัน

“เคยมีคนโทรเข้ามาและเล่าว่าแม่ตัวเองประสบอุบัติเหตุ คำปลอบใจที่ว่า สู้ๆ นะ หรือบอกให้เขาเข้มแข็ง คงไม่สามารถจะทำให้เขาหายเจ็บปวด ในเวลานั้นเราก็ต้องให้เขาระบายออกมา ให้เขาได้ร้องไห้ ใช้เวลาเพื่อยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นให้ได้ ทุกข์ก็ต้องยอมรับให้ได้ เพราะเราคงแก้ไขให้เขาฟื้นมาไม่ได้แล้ว” ดีเจพี่อ้อยกล่าว

ความตายคือเรื่องใกล้ตัวและเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่การุณยฆาตก็ไม่ใช่ทางออกสุดท้ายเสมอไป ทางเลือกที่สังคมไทยมีอยู่ ณ ขณะนี้คือ สิทธิการตายตามมาตรา 12 และการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งจำเป็นต้องยกระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดมองเห็นหนทางสู่การตายดีอย่างมีคุณภาพที่แท้จริง

ภาพ: กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

 

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า