มาตรา 12 สิทธิการตายที่เลือกได้ก่อนถึงลมหายใจสุดท้าย

ความตายคือความจริงแท้ของชีวิต ไม่มีใครหนีพ้นความตายได้ การทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมสำหรับความตายในขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเลือกได้ว่าจะขอตายอย่างสงบ ตายอย่างเป็นธรรมชาติ หรือจะขอรับการรักษาพยาบาลต่อไปเพียงเพื่อจะเหนี่ยวรั้งชีวิตจนถึงนาทีสุดท้าย

มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อให้สิทธิประชาชนในการเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาได้ หากการรักษานั้นไม่สามารถช่วยให้หายจากโรคหรือเป็นเพียงการยืดเวลาออกไปโดยไม่เกิดประโยชน์ กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้มาร่วม 13 ปี แต่ที่ผ่านมาประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมถึงแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข อาจยังไม่เข้าใจความหมายและแนวปฏิบัติที่ถ่องแท้เท่าใดนัก

ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายจึงได้จัดมหกรรม ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’ ครั้งที่ 3 เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง และยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในการเลือกตายตามธรรมชาติ ตามมาตรา 12

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์และความจำเป็นของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (palliative care) ตอนหนึ่งว่า การดูแลแบบประคับประคองเป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่นานาประเทศปฏิบัติกันโดยทั่วไป เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่าการตายดี คือการจากไปอย่างสบายและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดว่าการดูแลแบบประคับประคองมักใช้กับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงคือมีเด็กที่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง ฉะนั้นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นต่อไปก็คือ การทำให้คนทุกกลุ่มวัยเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง และขยายการบริการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มโรคที่เข้าสู่ภาวะสุดท้ายของชีวิต

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ขณะเดียวกัน แนวโน้มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในคนไทยก็เพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่าอัตราการเจ็บป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุนแนวทางการดูแลแบบประคับประคองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายการดูแลแบบประคับประคองให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบสุขภาพ (Service Plan) รวมทั้งจะสนับสนุนให้เกิดการทำงานแบบไร้รอยต่อ โดยให้มีการประสานและส่งต่อระหว่างชุมชน หน่วยบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และสามารถสร้างสุขที่ปลายทางได้อย่างแท้จริง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ที่ให้การรับรองสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียงเพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พร้อมทั้งคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่ได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลที่ได้ทำหนังสือแสดงไว้ โดยให้ถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดและพ้นจากความรับผิดทั้งปวง

นพ.ประทีป กล่าวว่า ทุกวันนี้การรับรู้ของประชาชนรวมถึงบุคลากรด้านสาธารณสุขในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง และสิทธิการตายตามธรรมชาติยังมีอยู่จำกัด เนื่องจากองค์ความรู้เหล่านี้เพิ่งเริ่มมีในประเทศไทยไม่นานนัก ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน สช. จึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 10 องค์กร เพื่อให้เกิดการบูรณาการ นำไปสู่การขยายผลในการทำงาน และยกระดับการรับรู้ของสังคม

“มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันให้นโยบายการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะท้ายขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยบริการหรือชุมชน ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยในวาระสุดท้าย” นพ.ประทีป กล่าว

ทั้งนี้ รูปธรรมประการหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองเพื่อการตายตามธรรมชาติก็คือ การทำ ‘หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต’ โดยการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ล่วงหน้า จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติ และผู้ให้การรักษา ให้มีความเข้าใจตรงกันในความต้องการของผู้ป่วยเมื่อไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว ทำให้บุคลากรในระบบสุขภาพสามารถวางแผนการรักษาได้ อีกทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่จำเป็น รวมถึงภาระงานของบุคลากรสาธารณสุข สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถศึกษาตัวอย่างการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ได้ที่ www.thailivingwill.in.th

 

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Illustrator

เสฎฐวุฒิ โกมารกุล ณ นคร
บีชบอยจากบางแสนผู้ใช้เวลาว่างไปกับการการเสพดราม่าของประเทศไทย บางครั้งถ้าสิ่งที่เสพเข้าไปเป็นพิษ ก็จะขับถ่ายมันออกมาเป็นงานศิลปะและการ์ตูนแนวเสียดสีสังคม ภายใต้ชื่อ Sukhumvit Dangerous :): ติดตาม Dangerous Comics ได้ที่ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า